วาจก (อังกฤษ: voice) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำหรือสภาพที่แสดงโดยกริยาหนึ่ง ๆ กับอาร์กิวเมนต์ของกริยานั้น (เช่นประธานหรือกรรม)[1] เมื่อประธานเป็นผู้กระทำ กริยานั้นจะอยู่ในรูปกรรตุวาจก เมื่อประธานเป็นผู้รับการกระทำ เป้าหมาย หรือผู้ทรงสภาพ กริยานั้นจะอยู่ในรูปกรรมวาจก[2][3][4] และเมื่อประธานเป็นทั้งผู้กระทำและผู้รับการกระทำ กริยาดังกล่าวจะอยู่ในรูปวาจกกลาง

คู่ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงการเปรียบต่างระหว่างกรรตุวาจกกับกรรมวาจกในภาษาไทย

  1. ผู้รุกรานโจมตีพลเรือน
  2. พลเรือนถูกโจมตีโดยผู้รุกราน

ในประโยค (1) รูปกริยา โจมตี อยู่ในรูปกรรตุวาจก แต่ในประโยค (2) รูปกริยา ถูกโจมตี อยู่ในรูปกรรมวาจก แต่ไม่ว่าจะเป็นวาจกใดก็ตาม ผู้รุกราน ก็ยังคงเป็นผู้กระทำกริยาโจมตีในทั้งสองประโยค

ในการแปลงหน่วยสร้างกรรตุวาจกให้เป็นหน่วยสร้างกรรมวาจกที่มีความหมายเทียบเท่ากันนั้น บทบาททางไวยากรณ์ของประธานและกรรมจะสลับกัน โดยกรรมตรงจะ "เลื่อนขั้น" ขึ้นมาเป็นประธาน ส่วนประธานจะ "ลดขั้น" ลงเป็นส่วนเติมต่อ (ซึ่งอาจละออกไปได้) ในตัวอย่างข้างต้น พลเรือน ทำหน้าที่เป็นกรรมตรงในประโยคกรรตุวาจก แต่กลายเป็นประธานในประโยคกรรมวาจก ในขณะที่ ผู้รุกราน ซึ่งเป็นประธานของประโยคกรรตุวาจกกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบุพบทวลี โดยผู้รุกราน ในประโยคกรรมวาจก เราสามารถละวลีดังกล่าวออกไปได้โดยไม่เสียแก่นความที่ต้องการจะสื่อ (ในทางไวยากรณ์) นั่นคือ พลเรือนถูกโจมตี

อ้างอิง แก้

  1. Allan, Rutger (2013). "Diathesis/Voice (Morphology of)". Encyclopedia of Ancient Greek Language and Linguistics. doi:10.1163/2214-448X_eagll_COM_00000099.
  2. Crews (1977, pp. 130, 271)
  3. Hacker (1991, p. 294)
  4. Sebranek et al. (2006, p. 510)

บรรณานุกรม แก้