มันสำปะหลัง
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
มันสำปะหลัง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Malpighiales |
วงศ์: | Euphorbiaceae |
วงศ์ย่อย: | Crotonoideae |
เผ่า: | Manihoteae |
สกุล: | Manihot |
สปีชีส์: | M. esculenta |
ชื่อทวินาม | |
Manihot esculenta Crantz |
มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับ 5 รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง[1] ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อเช่น Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า "มันหลา") คำว่า "สำปะหลัง" ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า "ซำเปอ (Sampou)" ของชวาตะวันตก
มันสำปะหลังมีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลอมเบีย และเวเนซุเอลา มานานกว่า 3,000–7,000 ปีมาแล้ว นิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์[2] สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่ร้อน และร้อนชื้น จึงได้มีการสนับสนุนแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีสภาพภูมิอากาศดังกล่าวปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ[3]
ชนิดและสายพันธุ์
แก้มันสำปะหลังที่ปลูกเชิงเกษตรกรรม มีสองชนิด[4] คือ
- ชนิดหวาน มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกต่ำ ไม่มีรสขมและสามารถใช้ทำอาหารได้โดยตรง เช่น พันธุ์ห้านาที, พันธุ์ระยอง 2
- ชนิดขม มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกสูง ต้องนำไปแปรรูปก่อน เช่น พันธุ์ระยอง 1, 3, 5, 60, 90 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก้ไม้พุ่ม สูง 1.3–5 เมตร รากแบบสะสมอาหาร (tuberous root) สายพันธุ์ที่นิยมปลูกสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 10–1.5 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะคล้ายข้อ เพราะจากก้านใบซึ่งแก่ร่วงหล่นไป สีของลำต้นบริเวณใกล้ยอด จะมีสีเขียว ส่วนที่ต่ำลงมาจะมีสีแตกต่างกันไปตามลักษณะพันธุ์ เช่น สีเงิน สีเหลือง สีน้ำตาล ใบมีก้านใบยาวติดกับลำต้น แผ่นใบเว้าเป็นแฉกมี 3-9 แฉก มันสำปะหลังมีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย อยู่ในช่อดอกเดียวกัน แต่อยู่แยกคนละดอก ดอกตัวผู้มีขนาดเล็ก อยู่บริเวณส่วนปลายของช่อดอก ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า อยู่บริเวณส่วนโคนของช่อดอก ดอกตัวเมียจะบานก่อนดอกตัวผู้ประมาณ 1 อาทิตย์ การผสมเกสรจึงเป็นการผสมข้ามระหว่างต้น ผลแบบแคปซูลทรงกลม ประมาณ 1.2 เซนติเมตร มี 3 เมล็ดใน 1 ผล[5]
การจำแนกสายพันธุ์ใช้คุณลักษณะหลายอย่างช่วยในการจำแนกเช่น สีของใบอ่อน สีก้านใบ สีลำต้น ขนที่ยอดอ่อน ลักษณะทรงต้น หูใบ[6]
การเพาะปลูก
แก้ในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี หลังเก็บเกี่ยวแล้ว การปลูกทำได้โดยไถที่เตรียมไว้ พอฝนตกก็พรวนดินแล้วปลูกได้ทันที ความชื้นจะพอให้มันสำปะหลังงอก แม้จะมีฝนเพียงครั้งเดียว กสิกรในจังหวัดชลบุรี ระยอง และนครราชสีมาปลูกมันสำปะหลังกันตลอดปี ส่วนจังหวัดอื่นๆ ปลูกมากในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ตามผลการทดลองของกรมวิชาการเกษตรพบว่า ปลูกมันสำปะหลังในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะให้ผลผลิตสูง
การเตรียมดินและการปลูก
ควรไถก่อนปลูก 2-3 ครั้ง และให้ลึกไม่น้อยกว่า 8-10 นิ้ว เพื่อให้ดินร่วนซุย และปราศจากวัชพืช ส่วนที่ใช้ปลูก คือ ลำต้นมันสำปะหลังตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 25 เซนติเมตร เรียกว่า ท่อนพันธุ์ การปลูกด้วยเมล็ดไม่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นการค้า เพราะเมล็ดหายาก ส่วนมากใช้เฉพาะในการผสมพันธุ์ เพื่อหาพันธุ์ใหม่
ส่วนของท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรเลือกจากต้นที่สมบูรณ์ เลือกใช้ท่อนพันธุ์จากส่วนกลาง และส่วนของโคนลำต้น ควรเก็บต้นที่จะปลูกไว้ในที่ร่ม และวางในลักษณะตั้ง จะเก็บได้นานกว่าการวางนอน
ระยะปลูกใช้ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ระยะระหว่างต้นประมาณ 0.7-1 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ก็ใช้ระยะระหว่างต้นแคบกว่านี้ได้ การปลูกควรตัดต้นมันสำปะหลังเป็นท่อนๆ ในวันที่ปลูก ให้ได้ท่อนพันธุ์ยาวท่อนละประมาณ 25 เซนติเมตร วิธีปลูกใช้ท่อนพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนปักลงไปบนดิน โดยการปักเอียงประมาณ 45 องศา วิธีนี้ทำได้สะดวก และได้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกโดยขุดหลุม ปลูกในแนวราบ แต่ในขณะที่ดินมีความชื้นน้อย วิธีขุดหลุมปลูกในแนวราบแล้วกลบ จะงอกได้ดีกว่าการปลูกโดยวิธีปักท่อนพันธุ์นี้ ต้องปักเอาตาขึ้น การปลูกเอาตาลงดินผลผลิตจะต่ำ
หลังจากปลูกแล้วประมาณ 2 เดือนรากจะเริ่มสะสมแป้ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุเรียกว่า หัว จำนวนหัว รูปร่าง ขนาด และน้ำหนัก แตกต่างกันไปตามพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ปลูกในประเทศไทย เมื่ออายุประมาณ 1 ปี ยาวประมาณ 27.7- 43.3 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4.6-7.8 เซนติเมตร
ประโยชน์และการนำไปใช้
แก้- ประกอบอาหารคาวหวาน โดยนำส่วนของรากสะสมอาหารที่มีการสะสมของคาร์โบไฮเดรตไปใช้ประกอบอาหาร
- แปรรูปเป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร
- อาหารสัตว์
- อุตสาหกรรมกาว
- พลังงานเอทานอล
การส่งออกผลผลิต
แก้การแปรรูปรากสะสมอาหารมันสำปะหลังเพื่อให้เก็บรักษาได้เป็นเวลานาน ถูกส่งออกในรูปแบบมันสำปะหลังอัดเม็ด มันเส้น สาคู แป้งมันสำปะหลัง[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-26. สืบค้นเมื่อ 2008-04-14.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2008-04-14.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-05. สืบค้นเมื่อ 2016-05-10.
- ↑ http://store.farmkaset.net/index.php?option=com_kunena&Itemid=0&func=view&catid=5&id=93[ลิงก์เสีย]
- ↑ https://www.hort.purdue.edu/newcrop/duke_energy/Manihot_esculenta.html#Description
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-05. สืบค้นเมื่อ 2010-06-30.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-21. สืบค้นเมื่อ 2016-05-11.