นพดล ปัทมะ (เกิด 23 เมษายน พ.ศ. 2504) รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2551ได้ยุติบทบาทอาชีพทนายความเพื่อเข้ารับตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและงานในพรรคพลังประชาชนตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190[1]

นพดล ปัทมะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
(0 ปี 158 วัน)
นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช
ก่อนหน้านิตย์ พิบูลสงคราม
ถัดไปเตช บุนนาค
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 เมษายน พ.ศ. 2504 (63 ปี)
อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2530—2548)
ไทยรักไทย (2548—2550)
พลังประชาชน (2550—2551)
เพื่อไทย (2554—2559, 2561—ปัจจุบัน)
ลายมือชื่อ

ประวัติและการศึกษา

แก้

นพดล ปัทมะ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนโยธินบูรณะ ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง)จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับ สุรพล นิติไกรพจน์, อภิชาติ ดำดี, วสันต์ ภัยหลีกลี้, วิฑูรย์ นามบุตร, สมคิด เลิศไพฑูรย์, อัญชลี วานิช เทพบุตร และบุญสม อัครธรรมกุล[2] และนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล พ.ศ. 2531 ต่อมาใน พ.ศ. 2533 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และเนติบัณฑิตอังกฤษแห่งสำนักลินคอร์นอินน์ (Lincoln’s lnn) โดยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล พ.ศ. 2534

การทำงาน

แก้

นพดล ปัทมะ เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2539 ถึงปี พ.ศ. 2544 เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (2538-2539) เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (2542-2544) และเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (2542-2544) ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ลงสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 17 (เขตลาดพร้าว) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 17,823 คะแนน เป็นอันดับที่ 2 แพ้ นายวชิระมณฑ์ คุณะเกษมธนาวัฒน์ ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงได้ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์

ต่อจากนั้นได้ย้ายเข้ามาร่วมงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทย และเข้ามารับหน้าที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ยงยุทธ ติยะไพรัช) ใน พ.ศ. 2549 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช (6 กุมภาพันธ์ - 14 กรกฎาคม 2551) แต่ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบภายหลังจากที่ได้ลงนามคำแถลงการณ์ร่วมกับประเทศกัมพูชา ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 14[3]

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 14[4] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

กรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

แก้

นายนพดล ปัทมะ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินคดีตาม คดีหมายเลขดำ อม.3/2556[5] โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย[6] โดยภายหลังศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมมติรับฟ้อง[7] เมื่อ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556 4 กันยายน 2558 - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาในคดี ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทห์ ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่ นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย

โดยนายนพดลได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความมั่นใจแค่ไหน นายนพดลได้หันมามองและพยักหน้าด้วยสี อมยิ้มเล็กน้อยและได้เดินเข้าไปยังศาล

อย่างไรก็ตามนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชัยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมส.ส.พื้นที่กรุงเทพมหานครเดินทางมาร่วมรับฟังและให้กำลังใจ

ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาโดยมีมติ 6 ต่อ 3 ยกฟ้องนายนพดล ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยให้เหตุผลว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การลงนามแถลงการร่วมดังกล่าวมีความสมเหตุสมผลถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบต่อสิทธิทางเขตแดนและการทวงคืนเขาพระวิหารในอนาคต

ทั้งนี้นายนพดลได้ให้สัมภาษณ์ว่า น้ำตาไหลตั้งแต่องค์คณะตุลาการได้อ่านคำพิพากษาตั้งแต่อ่านยังไม่จบ ซึ่งคดีนี้ใช้เวลานานมากว่า7ปี ที่ความจริงจะปรากฏ ตนรู้สึกดีใจและตื้นตันที่ได้รับความเป็นธรรมจากศาล และขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ ขออโหสิกรรมให้ทุกคนที่เข้าใจตนผิดมาตลอด ว่ากล่าวหาตนขายชาติทำให้เสียดินแดนเขาพระวิหารไป และตนขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ จะไม่มีการฟ้องกลับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรวมถึงนางรสนา โตสิตระกูล ทั้งยังนายสมชาย แสวงการที่กล่าวหาว่าตนและพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชา

นอกจากนี้จะไม่นำคำพิพากษาของศาลไปใช้ผลประโยชน์ทางการเมือง และตนไม่ได้คุยกับ พันตำรวจโททักษิณมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ได้คุยกันคดีนี้ จากนี้จะกลับไปพักผ่อนที่บ้านและไปทำบุญ ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศนั้นยังไม่สามารถเดินทางไปได้เนื่องจากติดคำสั่ง พร้อมขอบคุณข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่มาเป็นพยานในคดี ซึ่งคำแถลงการณ์ร่วมแม้ว่าจะถูกโจมตีอย่างไรก็ตาม ก็พิสูจน์ได้ว่าคำแถลงการณ์ร่วมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสู้คดีที่ศาลโลก

อีกทั้ง วินิจฉัยว่าหนังสือแถลงการณ์ร่วมไม่ใช่หนังสือสัญญา หรือสนธิสัญญาจึงไม่อาจบอกได้ว่าจำเลยหลีกเลี่ยงการนำหนังสือไปให้รัฐสภาพิจารณา และอีกทั้งยังไม่ปรากฏหลังฐานว่านายนพดล และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับประโยชน์หนังสือสนธิสัญญานี้[8]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190[ลิงก์เสีย]
  2. มติชน. (2552). สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้ชายคิดบวก. (เข้าถึงเมื่อ: 27 สิงหาคม 2553).
  3. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  4. เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
  5. ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินคดีตาม คดีหมายเลขดำ อม.3/2556
  6. ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา[ลิงก์เสีย]
  7. "ศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมมติรับฟ้อง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-02. สืบค้นเมื่อ 2013-11-18.
  8. นพดล และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับประโยชน์หนังสือสนธิสัญญา
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๗, เล่ม ๑๔๑ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๔, ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๓๑, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้