มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (อังกฤษ: University of Oxford หรือ Oxford University) หรือชื่อเรียกอย่างง่ายว่า ออกซฟอร์ด เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยซึ่งตั้งอยู่ในเมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานประวัติการก่อตั้งที่แน่นอน แต่มีบันทึกเป็นหลักฐานว่าได้เริ่มสอนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1096[2] ทำให้ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และเก่าแก่เป็นอันดับสองในบรรดามหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ยังเปิดสอน[2][10] ออกซฟอร์ดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1167 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงห้ามมิให้นักศึกษาชาวอังกฤษไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส[2] ภายหลังจากการพิพาทระหว่างนักศึกษาและชาวเมืองออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1206 นักวิชาการบางส่วนได้หนีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งพวกเขาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ขึ้น[11] ทั้งสอง "มหาวิทยาลัยโบราณ" มักจะถูกเรียกว่า "ออกซบริดจ์"

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
ละติน: Universitas Oxoniensis
ชื่ออื่นThe Chancellor, Masters and Scholars of the University of Oxford[1]
คติพจน์ละติน: Dominus illuminatio mea
คติพจน์อังกฤษ
The Lord is my Light
(พระเจ้าเป็นนิมิตของข้า)
ประเภทรัฐ มหาวิทยาลัยวิจัย Ancient university
สถาปนาป. 1096; 928 ปีที่แล้ว (1096)[2]
สังกัดวิชาการ
ทุนทรัพย์£6.1 พันล้าน (รวมทั้งวิทยาลัย) (2019)[3]
งบประมาณ£2.145 พันล้าน (2019–20)[3]
อธิการบดีThe Lord Patten of Barnes
รองอธิการบดีLouise Richardson[4][5]
อาจารย์6,995 (2020)[6]
ผู้ศึกษา24,515 (2019)[7]
ปริญญาตรี11,955
บัณฑิตศึกษา12,010
ผู้ศึกษาอื่น
541 (2017)[8]
ที่ตั้ง,
ประเทศอังกฤษ

51°45′18″N 01°15′18″W / 51.75500°N 1.25500°W / 51.75500; -1.25500พิกัดภูมิศาสตร์: 51°45′18″N 01°15′18″W / 51.75500°N 1.25500°W / 51.75500; -1.25500
วิทยาเขตเมืองมหาวิทยาลัย
สี  น้ำเงินออกซฟอร์ด[9]
เครือข่ายกีฬาบลู
เว็บไซต์ox.ac.uk

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเติบโตขึ้นจากความหลากหลายของสถ​​าบันการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงวิทยาลัยร่วมทั้ง 39 แห่ง และหน่วยงานทางวิชาการซึ่งแบ่งออกเป็นสี่แผนก[12] แต่ละวิทยาลัยมีระบบการจัดการอย่างอิสระในการควบคุมสมาชิกรวมทั้งมีระบบโครงสร้างภายในและกิจกรรมเป็นของตนเอง[13] มีลักษณะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยซึ่งมีอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกกระจายอยู่ทั่วใจกลางเมือง การศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ที่ออกซฟอร์ดเป็นการจัดการด้วยวิธีติวเตอร์ตลอดรายสัปดาห์ไปในแต่ละวิทยาลัยและฮอลล์ต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากชั้นเรียน การบรรยาย และการปฏิบัติการซึ่งจัดขึ้นโดยคณะและภาควิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดยังดำเนินงานพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก รวมถึงสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก[14] และมีระบบห้องสมุดทางวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในบริเตน[15] ออกซฟอร์ดมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล 28 คน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร 27 คน ประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลหลายแห่งทั่วโลก[16] ออกซฟอร์ดเป็นแหล่งที่ตั้งของทุนการศึกษาโรดส์ซึ่งเป็นหนึ่งในทุนการศึกษานานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและมีชื่อเสียงมากที่สุด ซึ่งได้นำนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมานานกว่าศตวรรษ

ประวัติ แก้

การก่อตั้ง แก้

 
วิทยาลัยแบเลียน – หนึ่งในวิทยาลัยร่วมที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดไม่มีช่วงเวลาการก่อตั้งที่แน่นอน[17] การสอนที่ออกซฟอร์ดบางส่วนปรากฏอย่างน้อยที่สุดใน ค.ศ. 1096 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยตั้งขึ้นเมื่อไร[2] ออกซฟอร์ดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วใน ค.ศ. 1167 เมื่อนักศึกษาชาวอังกฤษกลับมาจากมหาวิทยาลัยปารีส[2] นักประวัติศาสตร์เจอรัลด์แห่งเวลส์ทำการบรรยายให้กับนักวิชาการต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1188 และนักวิชาการชาวต่างชาติคนแรกที่รู้จักคืออีโมแห่งฟรีสลันด์มาที่ออกซฟอร์ดใน ค.ศ. 1190 ผู้นำของมหาวิทยาลัยใช้ชื่อตำแหน่งว่าอธิการบดี (อังกฤษ: Chancellor) อย่างน้อยที่สุดใน ค.ศ. 1201 และได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยหรือบรรษัทใน ค.ศ. 1231 มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตใน ค.ศ. 1248 ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3[18]

ภายหลังจากข้อพิพาทระหว่างนักศึกษาและชาวเมืองออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1209 นักวิชาการบางส่วนได้หลบหนีจากความรุนแรงไปยังเคมบริดจ์ และได้ก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[11][19]

 
มุมมองทางอากาศบริเวณม็อบควอดของวิทยาลัยเมอร์ตัน เป็นลานสี่เหลี่ยมที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1288 ถึง 1378

นักศึกษามีความเกี่ยวข้องบนพื้นฐานของพื้นเพทางภูมิศาสตร์แบ่งเป็นสอง "ชาติ" ประกอบด้วยทางเหนือ (ชาวเหนือ หรือ โบเรียลิส หมายถึงชาวอังกฤษที่อยู่ทางเหนือของแม่น้ำเทรนต์และชาวสกอต) และทางใต้ (ชาวใต้ หรือ ออสเตรลีส หมายถึงชาวอังกฤษที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำเทรนต์ ชาวไอริช และชาวเวลส์)[20][21] ในหลายศตวรรษต่อมาพื้นเพทางภูมิศาสตร์ยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อมโยงของนักศึกษาจำนวนมากผ่านการเข้าเป็นสมาชิกของวิทยาลัยหรือฮอลล์ซึ่งกลายเป็นขนบธรรมเนียมของออกซฟอร์ด นอกจากนี้สมาชิกของคณะนักบวชจำนวนมากรวมถึงดอมินิกัน ฟรันซิสกัน คาร์เมไลท์ และออกัสติเนียนเข้ามายังออกซฟอร์ดในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีอิทธิพลและดูแลบ้านหรือฮอลล์ต่าง ๆ ให้กับนักศึกษา[22] ในเวลาเดียวกันผู้อุปถัมภ์ต่าง ๆ ได้จัดตั้งวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นชุมชนวิชาการอิสระไม่มีสังกัด ในบรรดาผู้ก่อตั้งกลุ่มแรก ๆ เช่น วิลเลียมแห่งเดอรัมผู้ก่อตั้งวิทยาลัยยูนิเวอซิตีใน ค.ศ. 1249[22] และจอห์น แบเลียน บิดาของกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ในอนาคตได้ก่อตั้งวิทยาลัยแบเลียนตามชื่อของเขา[20] วอลเตอร์ เดอ เมอร์ตันผู้ก่อตั้งอีกคนซึ่งเป็นลอร์ดชานเซลเลอร์แห่งอังกฤษและภายหลังเป็นบิชอปแห่งรอเชสเตอร์ได้ยกร่างกฎระเบียบสำหรับการดำรงชีวิตในวิทยาลัย[23][24] ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยเมอร์ตันได้กลายเป็นตัวอย่างของการใช้กฎปฏิบัติในออกซฟอร์ด[25] รวมถึงมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ภายหลังจากนั้นนักศึกษาที่มีจำนวนมากขึ้นได้อาศัยอยู่ในวิทยาลัยมากกว่าฮอลล์และบ้านของกลุ่มศาสนา[22]

ใน ค.ศ. 1333-34 ความพยายามจากนักวิชาการออกซฟอร์ดบางส่วนที่ไม่พอใจต่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ที่สแตมฟอร์ด, ลิงคอล์นเชอร์ได้ยุติการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่โดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ร้องฎีกาต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3[26] ภายหลังจากนั้นจนกระทั่งทศวรรษที่ 1820 ไม่มีมหาวิทยาลัยใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษแม้แต่ในลอนดอน เพราะฉะนั้นออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์จึงมีลักษณะผูกขาดเพียงสองแห่งซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตก[27][28]

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา แก้

 
ใน ค.ศ. 1605 ออกซฟอร์ดยังคงเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ แต่วิทยาลัยจำนวนมากได้รับการสร้างนอกกำแพงเมือง (ทิศเหนืออยู่ที่ด้านล่างของแผนที่นี้)

การเรียนรู้แบบใหม่ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามีอิทธิพลต่อออกซฟอร์ดอย่างมากตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เป็นต้นไป นักวิชาการของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นคือวิลเลียม โกรซินผู้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูการศึกษาภาษากรีก และจอห์น โคเล็ตผู้เป็นนักวิชาการทางคัมภีร์ไบเบิล

การปฏิรูปศาสนาในอังกฤษและยุติความสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทำให้นักวิชาการที่ไม่เข้าร่วมกิจการของคริสตจักรแห่งอังกฤษจากออกซฟอร์ดหนีไปยังทวีปยุโรป โดยตั้งหลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยดูแอ[29] วิธีการสอนที่ออกซฟอร์ดถูกเปลี่ยนจากอัสสมาจารย์นิยมในยุคกลางเป็นการศึกษาแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาแม้ว่าสำนักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยจะต้องสูญเสียที่ดินและรายได้ จากที่เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และทุนการศึกษา ชื่อเสียงของออกซฟอร์ดเสื่อมลงในยุคเรืองปัญญา การลงทะเบียนเรียนลดลงและการเรียนการสอนถูกละเลย

ใน ค.ศ. 1637 วิลเลียม ลอดจ์ อธิการบดีและอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขึ้น กฎระเบียบเหล่านี้ยังคงอยู่จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ลอดยังเป็นผู้รับผิดชอบต่อการให้สิทธิ์พิเศษแก่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย และเขามีส่วนสำคัญต่อห้องสมุดบอดเลียนซึ่งเป็นห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัย จากการเริ่มต้นของคริสตจักรแห่งอังกฤษในฐานะคริสตจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นจนถึง ค.ศ. 1866 สมาชิกของคริสตจักรถูกกำหนดให้ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (BA) จากมหาวิทยาลัย และ"ผู้คัดค้าน"ได้รับอนุญาตให้รับแต่เพียงปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (MA) ใน ค.ศ. 1871[30]

 
ภาพแกะสลักของวิทยาลัยไครต์เชิร์ชที่ออกซฟอร์ดใน ค.ศ. 1742

มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางของฝ่ายนิยมเจ้าในระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ (ค.ศ. 1642–1649) ในขณะที่เมืองได้รับการสนับสนุนจากผู้ต่อต้านคือฝ่ายรัฐสภา[31] ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมีส่วนร่วมเล็กน้อยในความขัดแย้งทางการเมือง

วิทยาลัยวอแดมได้รับการก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1610 เป็นวิทยาลัยระดับปริญญาตรีของเซอร์คริสโตเฟอร์ เรน เรนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชั้นนำของนักวิทยาศาสตร์เชิงทดลองที่ออกซฟอร์ดในทศวรรษที่ 1650 หรือชมรมปรัชญาออกซฟอร์ดซึ่งรวมถึงรอเบิร์ต บอยล์และรอเบิร์ต ฮุกมักพบปะกันเป็นประจำที่วอแดมภายใต้การแนะนำของผู้อำนวยการวิทยาลัยจอห์น วิลกินส์และกลุ่มนี้ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การก่อตั้งราชสมาคม

วิทยาลัยที่สังกัดมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันนี้ มีวิทยาลัยที่สังกัดมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด 39 แห่ง ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกเข้าไปอยู่ได้ ถ้ามีคุณสมบัติตรงตามที่วิทยาลัยต้องการ วิทยาลัยต่างๆ

เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แก้

ออกซฟอร์ดเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เยล พรินซ์ตัน ฯลฯ ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยหลายแห่งในแคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ ล้วนแต่เคยใช้มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเป็นต้นแบบในการพัฒนา ไม่ว่าจะในรูปสถาปัตยกรรม ระบบการศึกษา วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของนักศึกษาและครูอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย และระบบจัดการศึกษา ตึกเรียนของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเจมส์ บอนด์

วารสาร Research Forthnight ซึ่งเป็นนิตยสารที่เชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป ได้ยกให้ออกซฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในอังกฤษด้านกำลังการวิจัย (Research Power) ออกซฟอร์ดยังมีภาควิชาหลายภาควิชาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น ภาควิชาเคมี และ ภาควิชาคลาสสิกส์ (ภาษาและวรรณคดีกรีกและละติน) ส่วนสถาบันบริหารธุรกิจซาอิด (Said Business School) ของออกซฟอร์ดได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันบริหารธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของยุโรป และสามารถจัดหลักสูตรบริหารจัดการทางธุรกิจหลักสูตรปีเดียวได้ดีที่สุดในสหราชอาณาจักร ส่วนการจัดการเรียนการสอนวิชาบริหารธุรกิจระดับปริญญาตรีในออกซฟอร์ดได้รับการยกย่องจาก Times Good University Guides ว่าดีที่สุดในสหราชอาณาจักรทุกปี ล่าสุด หนังสือแนะแนวมหาวิทยาลัยสำหรับนักเรียนมัธยมอังกฤษของหนังสือพิมพ์ไทมส์ชื่อ Good University Guides และหนังสือพิมพ์ The Guardian ได้จัดอันดับให้ออกซฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของอังกฤษ

ศิษย์เก่าที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แก้

ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจำนวนมากเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ, ร่วมในคณะนักบวชพิวริตันก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ในสหรัฐอเมริกา ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คือ เจเรมี เบนทัม ผู้นำปรัชญาประโยชน์นิยมซึ่งเคยศึกษาที่วิทยาลัยควีนส์ในออกซฟอร์ด เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยเยล, ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอินเดีย, พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างที่ทรงปรับปรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโรงเรียนมหาดเล็ก ก็ทรงได้รับอิทธิพลความคิดจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั่นเอง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดยังได้สร้างนายกรัฐมนตรีอังกฤษมาแล้ว 25 คน เคยมีบุคคลสำคัญมาศึกษาที่ออกซฟอร์ดก่อนได้ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, อินเดียและนายกรัฐมนตรีอินเดีย, นายกรัฐมนตรีไทย, นายกรัฐมนตรีจาไมกา, นายกรัฐมนตรีแคนาดา, นายกรัฐมนตรีศรีลังกา, นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย, วุฒิสมาชิกในรัฐสภาคองเกรส, ประธานาธิบดีกานา เป็นต้น

นอกจากนี้ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในสาขาอื่นที่โดดเด่นได้แก่

มหาวิทยาลัยคู่แข่งในอังกฤษ แก้

มหาวิทยาลัยที่เป็นคู่แข่งขันของออกซฟอร์ด คือ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ จึงจับคู่กันพัฒนา มีหลายนโยบายที่ทำไปในทิศทางเดียวกัน จึงเรียกนักศึกษาและครูอาจารย์ของสองมหาวิทยาลัยนี้รวม ๆ ว่าพวก ออกซบริดจ์ เพราะคนเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วมาจากระบบการศึกษาที่เหมือนกัน เมื่อนโยบายชัดเจนแล้วก็แข่งขันกันด้านคุณภาพวิชาการในหมู่ครูอาจารย์ และการกีฬาในหมู่นักศึกษา โดยเฉพาะกีฬาแข่งเรือจัดเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงที่สุดที่นักศึกษาสองมหาวิทยาลัยแห่งนี้จัดกันขึ้น สถานีโทรทัศน์บีบีซีถ่ายทอดสดการแข่งขันในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนของทุกปี

การแข่งขันทางวิชาการของสองมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่แห่งนี้ ได้เป็นต้นตำรับของการแข่งขันกันทางวิชาการของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ตามมา อาทิ ฮาร์วาร์ด-เยล ในสหรัฐอเมริกา, เคโอ-วาเซดะ ในญี่ปุ่น, เมลเบิร์น-ซิดนีย์ ในประเทศออสเตรเลีย, ปักกิ่ง-ชิงหฺวา ในประเทศจีน เอ็มกู (มหาวิทยาลัยมอสโก)-เซนปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย หรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเทศไทย

ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แก้

ออกซฟอร์ดมีสำนักหอสมุดกลางชื่อว่าบ๊อดเลียน (Bodlean Library) และมีห้องสมุดในเครือข่ายกระจายไปตามภาควิชาต่างๆ มากมาย สำนักหอสมุดของออกซฟอร์ดเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งที่สองที่จดทะเบียนเป็นห้องสมุดสงวนลิขสิทธิ์ (Copyright Library) ถัดจากสำนักหอสมุดแห่งชาติของอังกฤษ (The British Library) หมายความว่า หนังสือที่จัดพิมพ์ทุกเล่มในสหราชอาณาจักรจะต้องส่งไปยังห้องสมุดของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าห้องสมุด ด้วยเหตุนี้ สำนักหอสมุดของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจึงมีหนังสือที่จัดพิมพ์ใหม่ให้ค้นคว้ามากมาย นอกเหนือจากต้นฉบับคัมภีร์โบราณ (Old manuscripts) ที่บันทึกด้วยภาษาต่างๆ อาทิ กรีก ฮิบรู ฮิทไทท์ สันสกฤต ฯลฯ ที่หามิได้ที่อื่น

เพราะมีคัมภีร์ต้นฉบับดั้งเดิมมากมาย คณาจารย์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจึงสามารถจัดทำพจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะออกมาเผยแพร่ได้สำเร็จ เช่น พจนานุกรมภาษากรีก ภาษาละติน ภาษาฮิบรู ภาษาอังกฤษ ฯลฯ หนังสือเหล่านี้สร้างชื่อให้อ๊อกซฟอร์ดมาหลายศตวรรษ มีจัดแสดงที่ร้านหนังสือสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ถนนไฮสตรีต ย่านใจกลางเมือง ออกซฟอร์ด ดังนั้น สำนักหอสมุดออกซฟอร์ดจึงมีการถ่ายเทหนังสือวิชาการเก่าที่มีเนื้อหาล้าสมัยออกจากห้องสมุดทุกๆปี แล้วเอาหนังสือใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยเข้าไปแทน

ออกซฟอร์ดไม่ได้เน้นปริมาณหนังสือว่าจะต้องมากที่สุด แต่มุ่งเน้นคุณภาพของหนังสือที่นำเข้าเก็บในห้องสมุด ตามข้อมูลมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมีหนังสือไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเล่ม หนังสือเหล่านี้ล้วนแต่ผ่านการคัดเลือกอย่างดี มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้นักศึกษาได้ค้นอ่านข้อเขียนของนักวิชาการระดับท็อปของโลก หนังสือไหนที่มีชื่อเสียงล้วนแต่มีให้ค้นอ่านที่ออกซฟอร์ด ถึงไม่มี สำนักหอสมุดก็สามารถขอยืมจากภายนอกมาให้อ่านได้ นอกจากนี้ ยังมีสาระสังเขป (abstract) วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเด่นๆ จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั่วโลกให้นักศึกษาได้ค้นคว้าศึกษาและยังมีระบบอำนวยความสะดวก กล่าวคือมีเจ้าหน้าที่ไว้ช่วยบริการให้นักศึกษาและครูอาจารย์ค้น คว้าทำวิจัยได้อย่างรวดเร็วด้วย

สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับนักศึกษา แก้

แม้ว่าการใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจะได้ชื่อว่าเครียด แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง บัตรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ออกซฟอร์ดสามารถช่วยได้ส่วนลดจากการซื้อสินค้าตามร้านต่างๆ หลายรายการถ้าหากใช้ซื้อสินค้าที่ตั้งอยู่ในเมืองออกซฟอร์ด ลดค่าตั๋วเข้าชมการแสดงหรือละเล่นต่างๆ ได้ส่วนหนึ่ง

สถานที่เล่นกีฬาซึ่งมหาวิทยาลัยเตรียมไว้ให้นักศึกษาปรกติจะได้มาตรฐานโอลิมปิก เช่น สนามเล่นฟุตบอล สนามเล่นสคว็อช สระว่ายน้ำ สถานีสำหรับฝึกพายเรือของวิทยาลัยต่างๆ สนามฝึกแบดมินตัน สนามฝึกเทนนิส สนามฝึกคริเกต นอกจากนี้ ยังมีสำนักหรือกลุ่มผู้ฝึกมวยจีน อันได้แก่มวยไท้เก๊ก (Tai Chi Chuan) เพลงมวยหย่งชุน (Wing Chun Kung Fu) ซึ่งแตกแขนงมาจากเส้าหลินใต้ จัดกิจกรรมกันเป็นระยะๆ เพื่อดึงดูดให้นักศึกษาเข้าร่วม

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "The University as a charity". University of Oxford. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "Introduction and History". University of Oxford. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2014. สืบค้นเมื่อ 21 October 2014.
  3. 3.0 3.1 "Finance and funding". ox.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 3 April 2020.
  4. "Declaration of approval of the appointment of a new Vice-Chancellor". Oxford University Gazette. University of Oxford. 25 June 2015. p. 659. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2015. สืบค้นเมื่อ 28 June 2015.
  5. "New Vice-Chancellor pledges 'innovative, creative' future for Oxford". News and Events. University of Oxford. 4 January 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 January 2016. สืบค้นเมื่อ 6 January 2016.
  6. "Who's working in HE?". HESA. สืบค้นเมื่อ 23 August 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "University of Oxford – Student Statistics". Tableau Software.
  8. "Student Numbers". University of Oxford. University of Oxford. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 September 2017. สืบค้นเมื่อ 2 September 2019.
  9. "The brand colour – Oxford blue". Ox.ac.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 May 2013. สืบค้นเมื่อ 16 August 2013.
  10. Sager, Peter (2005). Oxford and Cambridge: An Uncommon History. p. 36.
  11. 11.0 11.1 "Early records". University of Cambridge.
  12. "Oxford divisions". University of Oxford. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-20. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  13. "Colleges and Halls A-Z". University of Oxford. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-25. สืบค้นเมื่อ 4 October 2008.
  14. Balter, Michael (16 February 1994). "400 Years Later, Oxford Press Thrives". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 June 2011.
  15. "Libraries". University of Oxford. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2017.
  16. "Famous Oxonians". University of Oxford. 30 October 2007. สืบค้นเมื่อ 13 June 2014.
  17. "Preface: Constitution and Statute-making Powers of the University". University of Oxford. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-04. สืบค้นเมื่อ 2017-08-05.
  18. Adolphus Ballard, James Tait. (2010.) British Borough Charters 1216–1307, Cambridge University Press, 222.
  19. Davies, Mark (4 November 2010). "'To lick a Lord and thrash a cad': Oxford 'Town & Gown'". BBC News. BBC. สืบค้นเมื่อ 3 January 2014.
  20. 20.0 20.1 H. E. Salter and Mary D. Lobel (editors) (1954). "The University of Oxford". A History of the County of Oxford: Volume 3: The University of Oxford. Institute of Historical Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-16. สืบค้นเมื่อ 15 January 2014. {{cite web}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  21. H. Rashdall, Universities of Europe, iii, 55–60.
  22. 22.0 22.1 22.2 Christopher Brooke, Roger Highfield. Oxford and Cambridge.
  23. Edward France Percival. The Foundation Statutes of Merton College, Oxford.
  24. Henry Julian White. Merton College, Oxford.
  25. G. H. Martin, J. R. L Highfield. A history of Merton College, Oxford.
  26. May McKisack, The Fourteenth Century, Oxford History of England, p. 501
  27. Daniel J. Boorstin. (1958.) The Americans; the Colonial Experience, Vintage, pp. 171–184 เก็บถาวร 24 มิถุนายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  28. Christopher Nugent Lawrence Brooke. (1988.) Oxford and Cambridge, Cambridge University Press, Cambridge, p. 56.
  29. "Early Modern Ireland, 1534-1691", editors: T. W. Moody, Theodore William Moody, Francis X. Martin, Francis John Byrne, Oxford University Press (1991), p. 618,
  30. "Universities Tests Act 1871". UK Parliament. สืบค้นเมื่อ 30 December 2015.
  31. "Civil War: Surrender of Oxford". Oxfordshire Blue Plaques Scheme. Oxfordshire Blue Plaques Board. 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-01. สืบค้นเมื่อ 30 December 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้