คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551
คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 เป็นคดีที่เป็นคดีที่พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคพลังประชาชน (2 ใบแดง) ถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ส่วนข้อกล่าวหากรณีที่พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีหรือตัวแทนของพรรคไทยรักไทยซึ่งได้ถูกตัดสินให้ยุบพรรคไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2551 คณะกรรมการเลือกตั้งสรุปว่าปรากฏหลักฐานเพียงพอที่พรรคพลังประชาชนเข้าข่ายเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย แต่ได้ยกคำร้องเพราะไม่มีกฎหมายเอาผิด
ประวัติ
แก้คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคของแต่ละพรรคเป็นเวลา 5 ปี ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นว่าทั้ง 3 พรรคกระทำความผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา111 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 94 (1) (2) และมาตรา 95 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค
คำร้องให้ยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย
แก้หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้งพบการทุจริต มีการให้ใบแดงและพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย กับนายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย[1]
วันที่ 16 เมษายน 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 (มติเสียงข้างน้อย 1 เสียงในทั้งสองกรณี คือ นาย สมชัย จึงประเสริฐ) [1] เห็นชอบตามที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอความเห็นให้ส่งสำนวนเรื่องการยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยให้อัยการสูงสุดพิจารณา
แม้ว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้สรุปก่อนหน้านั้นว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นในทั้งสองพรรค ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำผิดของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา และนายสุนทร วิลาวัลย์ แต่การที่ทั้งสองคนต่างก็เป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเอง กกต.จึงพิจารณาตามมาตรา 237 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 103 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติไว้ตรงกันว่า ถ้าการกระทำดังกล่าวปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้นายทะเบียนพรรคการเมือง (ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ไม่อาจใช้ดุลยพินิจในการเลือกที่จะแจ้งหรือไม่แจ้งต่ออัยการสูงสุด
ส่วนกรณีที่พรรคมัชฌิมาธิปไตยแย้งว่านายสุนทร วิลาวัลย์ ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคแล้ว เนื่องจากการลาออกของนาย ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2550 ซึ่งทำให้กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะสิ้นสุดลงพร้อมกันด้วยนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่เห็นด้วย เนื่องจากพบว่าข้อบังคับพรรคข้อ 30 วรรคห้า ได้ระบุให้กรรมการบริหารพรรคอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากรรมการชุดใหม่จะเข้ามารับหน้าที่
ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หากอัยการสูงสุดมีความเห็นสมควร อัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค แต่หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องตั้งคณะทำงานโดยมีผู้แทนจากทั้งนายทะเบียนพรรคและอัยการสูงสุด รวบรวมพยานหลักฐาน และส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แต่หากในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติได้ภายใน 30 วัน นับแต่ที่ได้แต่งตั้งคณะทำงาน นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจยื่นคำร้องเองได้
คำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน
แก้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยเสียงข้างมาก 3 ใน 5 (งดออกเสียงหนึ่งเสียง) ให้ใบแดงและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ส.ส.แบบสัดส่วน ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา[2] เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า อ.แม่จัน เป็นพยานคนสำคัญ
คดีทุจริตเลือกตั้งนี้เกิดจากนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย นำหลักฐานเป็นวีซีดี กล่าวหาว่านายยงยุทธเรียกกำนัน 10 คน ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นำโดยนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ เดินทางไปพบที่กรุงเทพฯ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และเข้าพักที่โรงแรมเอสซีปาร์ค นายยงยุทธขอให้กำนันช่วยเหลือตนและน้องสาว ตลอดจนนายอิทธิเดช ผู้สมัคร เขต 3 จากนั้นคนสนิทของนายยงยุทธได้มอบเงินให้กำนันคนละ 20,000 บาท นายยงยุทธได้ออกมาตอบโต้ตลอดเวลาว่าเป็นการจัดฉาก ถูกสร้างพยานหลักฐานเท็จ ด้าน กกต. กล่าวว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับซีดีเพราะมีพยานบุคคลที่ยืนยันชัดเจน หลัง กกต.มีมติ นายยงยุทธได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาโดยไม่ลาออก
วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยว่ากรณีที่นายยงยุทธให้เงินกับกำนัน อ.แม่จัน ทั้ง 10 คน เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ จึงพิพากษายืนตามมติของ กกต. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่ กกต.เตรียมดำเนินการต่อ โดยสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เสนอยุบพรรคพลังประชาชนต่อไป[3]
การพิจารณาคดีนี้คาดว่าอาจใช้เวลานานหลายเดือน เช่นเดียวกับคดียุบพรรคไทยรักไทย นอกจากนี้ ยังถูกเชื่อมโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตและต่อต้าน[4] เนื่องจากมองว่ามีเจตนาทำเพื่อตัวเอง ไม่ให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ
กรณีพรรคพลังประชาชนเป็นตัวแทนพรรคไทยรักไทย
แก้นายวีระ สมความคิด ประธานอำนวยการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) และนายประสิทธิ์ ดอนโพธิ์งาม ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.พิจารณาพฤติกรรมของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ว่ามีการกระทำเข้าข่ายเป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หรือไม่
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนขึ้น โดยมีนายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการให้เจ้าหน้าที่ กกต.ประสานงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อเปิดโอกาสให้ไปชี้แจงกรณีที่ถูกพาดพิง[5] และ กกต.เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการขยายเวลาสอบสวนไปอีก 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2551[6]
วันที่ 1 พฤษภาคม 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณากรณีดังกล่าวโดยแบ่งเป็นสองประเด็น คำร้องของนายประสิทธิ์นั้น กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดได้ ส่วนคำร้องของนายวีระ กกต.มีมติ 3:1:1 สามเสียงเห็นว่าปรากฏหลักฐานเพียงพอที่พรรคพลังประชาชนเข้าข่ายเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้วไม่เข้าข่ายมีความผิดตามมาตราใดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หนึ่งเสียงเห็นว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดและไม่มีพฤติการณ์เข้าองค์ประกอบความผิด ส่วนอีกหนึ่งเสียงเห็นว่าควรแจ้งนายทะเบียนพรรคดำเนินการตรวจสอบต่อ[7]
การไต่สวนและคำวินิจฉัย
แก้ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมืองมีทั้งหมด 9 คน ซึ่งทั้งหมดมีดังนี้
- นายชัช ชลวร (ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายจรัญ ภักดีธนากุล (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายจรูญ อินทจาร (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายเฉลิมพล เอกอุรุ (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายนุรักษ์ มาประณีต (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายบุญส่ง กุลบุปผา (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายสุพจน์ ไข่มุกต์ (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟังพร้อมเพรียงพยานพรรคมัชฌิมาธิปไตยจำนวน 20 ปาก และขอเพิ่มเติมอีก 29 ปาก พยานพรรคชาติไทยจำนวน 42 ปาก พยานเทปซีดีคำปราศรัยห้ามซื้อเสียง และพยานเอกสาร 33 รายการ พยานพรรคพลังประชาชนจำนวน 60 ปาก
สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
แก้เวลา 12.00-13.32 น. วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยโดยมีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้
สำหรับกรณีของพรรคพลังประชาชน นั้น ตุลาการรัฐธรรมนูญ ระบุว่ากรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ
ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใดๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง
นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้
ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว
สำหรับกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยและนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกันคือวินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี
อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อโต้แย้งของพรรคมัชฌิมาธิปไตยเกี่ยวกับสถานะภาพการเป็นกรรมการบริหารพรรคนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าแม้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ จะได้ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไปตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 อันจะมีผลให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นสภาพไปด้วยก็ตาม แต่ยังมีข้อกำหนดที่ให้กรรมการบริหารพรรคต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น จึงถือว่านายสุนทร ยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย อยู่ในขณะเกิดเหตุ แม้จะมีสถานะภาพเป็นเพียงผู้รักษาการณ์ก็ตาม อันเป็นเหตุให้การกระทำใดๆ ของกรรมการบริหารพรรคที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มีเหตุให้ต้องยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว
พรรคที่สืบเนื่อง
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ไทยโพสต์, มติ กกต. 4:1 เชือด'ชท.-มฌ.', 12 เมษายน 2551, หน้า 2
- ↑ ไทยโพสต์, ระส่ำ! 'ยุบพรรค', 27 กุมภาพันธ์ 2551, หน้า 1,12
- ↑ สำนักข่าวไทย, ศาลฎีกาให้ใบแดงยงยุทธ เพิกถอนสิทธิ 5 ปี[ลิงก์เสีย], 8 กรกฎาคม 2551
- ↑ มติชน, ส.ส.'พปช.'ปัดแก้รธน.ฟอก'แม้ว'นิรโทษฯ 111 ทรท. ยันไม่สนถูกถอดจากตำแหน่ง เก็บถาวร 2008-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 เมษายน 2551
- ↑ ข่าวสด, อนุฯ กกต.เรียกชี้แจงคดีนอมินี, 1 เมษายน 2551, หน้า 10
- ↑ มติชน, ชุด"ไพฑูรย์"เล็งยกกม.ทาบ ส่อสรุป"พปช."นอมินี"ทรท."[ลิงก์เสีย], 16 เมษายน 2551
- ↑ ไทยโพสต์, เข้าข่ายตัวแทนทรท. กกต.ยกคำร้องนอมินี, 2 พฤษภาคม 2551, หน้า 1, 12
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- คำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน เก็บถาวร 2009-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คำตัดสินยุบพรรคชาติไทย เก็บถาวร 2009-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คำตัดสินยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย เก็บถาวร 2009-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน