จตุพร พรหมพันธุ์ ป.ช. ป.ม. (เกิด 5 ตุลาคม พ.ศ. 2508) ชื่อเล่น ตู่ เป็นนักกิจกรรมและนักการเมืองชาวไทย เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

จตุพร พรหมพันธุ์
จตุพรใน พ.ศ. 2566
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 – 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
แบบสัดส่วน
23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 ตุลาคม พ.ศ. 2508 (59 ปี)
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย
พรรคการเมืองพลังธรรม (2539 - 2544)
ไทยรักไทย (2544 - 2550)
พลังประชาชน (2550 - 2551)
เพื่อไทย (2551 - 2562)
เพื่อชาติ (2562-2565)
คู่สมรสพรหมภัสสร ณ กาฬสินธุ์
ลายมือชื่อ

ประวัติ

จตุพร เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ที่ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนสุดท้องของนายชวน พรหมพันธุ์ กับนางน่วม บัวแก้ว เป็นน้องชายต่างมารดากับ พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

งานการเมือง

จตุพร เป็นอดีตโฆษกพรรคไทยรักไทย และอดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค แจ้งเกิดทางการเมืองจากการเป็นผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เมื่อเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ ถนนราชดำเนิน และผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่รามคำแหง โดยมีจตุพรขึ้นเวทีปราศรัยด้วย โดยร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษาอีกหลายคน เช่น อุสมาน ลูกหยี วัชระ เพชรทอง[1] นายจตุพร ทำงานการเมืองโดยมีกลุ่มนักศึกษารามคำแหง พรรคศรัทธาธรรม ที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้ง จึงมีชื่อที่รู้จักกันดีในสมัยเรียนว่า ตู่ ศรัทธาธรรม เป็นฐานกำลังคอยเคลื่อนไหว เช่น การให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร[2]

เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกด้วยการสังกัดพรรคพลังธรรม ในช่วงที่มีไชยวัฒน์ สินสุวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาเริ่มมีความใกล้ชิดกับภูมิธรรม เวชยชัย รองประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาทำให้ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

จตุพรเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการของประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ต่อมาเข้าร่วมเป็น 1 ใน 8 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมาได้เข้าสังกัดกับพรรคพลังประชาชนพร้อมกับลงรับสมัคร ส.ส. ในระบบสัดส่วนลำดับที่ 4 ของกลุ่ม 6 ที่ประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในสมัยแรก

ในปี พ.ศ. 2551 จตุพรเป็นหนึ่งในพิธีกรรายการ ความจริงวันนี้ ทางเอ็นบีที โดยร่วมกับวีระ มุสิกพงศ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อตอบโต้และวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ

หลังการยุบพรรคพลังประชาชน และการจัดตั้งรัฐบาล โดยการนำของพรรคประชาธิปัตย์ จตุพรทำหน้าที่สมาชิกฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และยังคงร่วมงานกับกลุ่ม นปช. อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมขึ้นปราศรัยในฐานะแกนนำ ภายหลังเหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 จตุพรถูกออกหมายจับพร้อมกับแกนนำคนอื่นๆ ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

ในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 จตุพรเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย และถูกออกหมายจับเมื่อการชุมนุมสิ้นสุดลง โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกันตัวไป[3] ต่อมามีการเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2553 จตุพรเป็นหนึ่งในบรรดา ส.ส.ที่ไม่เคยมาร่วมลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎรเลย เช่นเดียวกันกับเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช[4]

การชุมนุมที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554 จตุพรปราศรัยว่า คุณเอาหน่วยไหนมาฆ่าพวกผม ยังไม่เจ็บปวด ยกเว้นสองหน่วยอย่าเอามาฆ่าผมได้ไหม คือ หนึ่ง ทหารรักษาพระองค์ และสอง ทหารเสือพระราชินี เพราะพวกเรามีความเจ็บปวดว่าเป็นกระสุนพระราชทานใช่ไหม[5]มีประเทศไหนบ้างในโลกนี้ฆ่าลูกเพื่อปกป้องพ่อ ฆ่าลูกเพื่อพ่อ ฆ่าลูกเพื่อแม่ มีไอ้ประเทศบ้าประเทศนี้ประเทศเดียว ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา[6] ผู้บัญชาการทหารบก มอบอำนาจให้นายทหารพระธรรมนญฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นการกล่าวในที่สาธารณะ แต่นาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งไม่ฟ้อง

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 จตุพรได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก มอบอำนาจให้นายทหารพระธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องจตุพร ในข้อหากล่าวหมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษออกหมายเรียก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 ตามพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เรียกรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติอีกจำนวนหนึ่ง อันเนื่องมาจากการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554[7] ต่อมาศาลได้มีคำวินิจฉัยให้ถอนประกัน ส่งผลให้จตุพรถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554[8][9]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 สื่อมวลชนรัฐสภาได้ตั้งฉายาให้จตุพร กับอรรถพร พลบุตร ว่าเป็น "คู่กัดแห่งปี"[10] ซื่งนับเป็นปีที่ 2 ของฉายาดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2553 ได้รับฉายานี้คู่กับวัชระ เพชรทอง

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 มีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ให้สมาชิกภาพสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106(4) ประกอบกับมาตรา 101(3)[11]รวมถึงสิ้นสุดความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 20[12]

จตุพร พรหมพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ประธาน นปช. ต่อจากนางธิดา ถาวรเศรษฐ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556[13]

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ทหารจับจตุพร พรหมพันธุ์[14]ก่อนปล่อยในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารได้เชิญนายจตุพรเดินทางมายังกองทัพภาคที่ 1[15] และ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารได้เชิญนายจตุพรไปพูดคุยที่มณฑลทหารบกที่ 11[16]วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท[17] โดยตำรวจรับแจ้งความ ต่อมา วันที่ 11 ตุลาคม 2559 เขาถูกศาลอาญาสั่งถอนประกัน ส่งผลให้เขาต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทันที

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 จตุพรร่วมกับ นิติธร ล้ำเหลือ จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง คณะหลอมรวมประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยับยั้งความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ[18] ซึ่งเขาได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย อีกด้วย เหตุผลคือกล้าวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์อย่างไร ก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายทักษิณ เพราะมิเช่นนั้นก็เป็นการเมืองแบบเดิม และตัวเองถูกมองว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเหมือนเดิม ฝ่ายตัวเองก็ถูกตลอด อีกทั้งตนเคยต้องทำหน้าที่อธิบายถูกตลอดกันมายาวนานแล้ว คือหมายความว่า อธิบายดำเป็นขาว และขาวเป็นดำกัน[19]

คดีความ

จตุพรตกเป็นจำเลย ในคดีความต่าง ๆ หลายคดี ดังต่อไปนี้[20]

คดีความที่ยังไม่สิ้นสุด

  • คดีก่อการร้าย และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ระบุไว้ ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์
  • คดีดักฟังโทรศัพท์ หมายเลขดำที่ อ.177/2551 กรณีที่จำเลยทั้งสามคือจตุพร, จักรภพ เพ็ญแข และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมกันนำข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่าง พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.; ยศและตำแหน่งขณะนั้น) กับวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกาขณะนั้น ไปเปิดบนเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ
    • ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 จำคุก 2 ปี ปรับ 4หมื่น รอลงอาญา 2 ปี[21]อยู่ระหว่างฎีกา
  • คดีหมายเลขดำที่ อ.4176/2552 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 11 และ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552 จตุพรกล่าวปราศรัย ในการชุมนุมของ นปช.และเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาว่าโจทก์ยึดพระราชอำนาจ ด้วยการเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ต่อฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทาง นปช.รวบรวมรายชื่อคนเสื้อแดงขึ้นทูลเกล้าฯ และกล่าวหาโจทก์เป็นฆาตกร อาชญากร สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนสงครามสังหารประชาชน และสร้างสถานการณ์จลาจล ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ย่านนางเลิ้ง และถนนเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 รวมถึงเหตุการณ์จลาจล ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เมืองพัทยา
    • ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ[22]
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2559 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น[23]
  • คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552 จตุพรแถลงข่าวพาดพิงโจทก์ว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกณฑ์คนต่างด้าวให้ได้ 5,000 คนมาสวมเสื้อสีแดง แฝงตัวร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยวางแผนให้คนกลุ่มดังกล่าว ก่อความปั่นป่วนเพื่อป้ายสีคนเสื้อแดง
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง
  • คดีหมายเลขดำ อ.771/2554 ที่ พลตรี จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร และสื่อมวลชนรวม 4 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
    • ศาลอุทธรณ์พิพาษาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง[24]
  • คดีหมายเลขดำ ด.2635/2551 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) นางทีปสุรางค์ ภรรยาของจรัญ ภักดีธนากุล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรกับพวก และสื่อมวลชนรวม 4 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 22:00-23:00 น. จำเลยที่ 1 ถึง 3 ซึ่งดำเนินรายการความจริงวันนี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นโดยนำคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลจังหวัดสงขลา ในคดีเกี่ยวกับที่ดิน มาอ่านออกอากาศ แล้วอ้างว่าเป็นประเด็นเปรียบเทียบ กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งโจทก์เห็นว่าเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง
  • คดีหมายเลขดำ อ.4977/2555 ที่วัชระ เพชรทอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร, วีระกานต์ หรือวีระ มุสิกพงศ์ และณัฐวุฒิ เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดว่าด้วยพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาท[25]
    • ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 3 คนละ 1 ปี ปรับ คนละ 5หมื่นบาท รอลงอาญาไว้ 2 ปี และชดใช้เงินจำนวน 6 แสนบาท[26]
  • คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร และศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรค 2, 215, 216 ซึ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คดีความที่สิ้นสุดแล้ว

  • คดีหมายเลขดำ อ.3982/2553 ที่รสนา โตสิตระกูล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553 จตุพรให้สัมภาษณ์ทำนองว่า โจทก์เป็นตัวตั้งตัวตีพยายามโยกคดี ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)[27]คดีนี้สิ้นสุดแล้ว เนื่องจากรสนามิได้ฎีกาคำสั่งศาล คดีจึงจบที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง
  • คดีซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ของสำนักงานกรมพระธรรมนูญ กองทัพบก ให้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112[28] ทว่าต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งให้ถอนฟ้อง[29]
  • คดีที่เมธี อมรวุฒิกุล ฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาท[30]คดีจบที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
  • คดีหมายเลขดำ อ.1008/2553 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จตุพรกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับชมผ่านโทรทัศน์ช่องพีเพิลแชนเนล ใส่ความโจทก์ทำนองว่าสั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี[31]
  • คดีหมายเลขดำ อ.404/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 จตุพรแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย กล่าวหาโจทก์กระทำการมิบังควร ตีตนเสมอพระเจ้าแผ่นดิน โดยนั่งเก้าอี้เทียบเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ในการถวายรายงานราชการ
    • ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 57 ให้จำคุก นายจตุพร 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ต่อมา นายจตุพร ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
    • ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2559 ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น[32]
  • คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2552 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จตุพรขึ้นปราศรัย บนเวที นปช.ที่วัดไผ่เขียวทำนองว่า โจทก์ไม่ได้นั่งอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ในช่วงเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และเข้ากลุ้มรุมต่อรถดังกล่าว และยังกล่าวหาว่าโจทก์ เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนคนเสื้อแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมช่วงเดือน เมษายน พ.ศ. 2552 ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 1 ปี สำนวนตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 [33]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ผลงานเพลง

อัลบั้ม

  • ชุดที่ 3 ชีวิตและอิสรภาพ มีเพลงอย่าง เมืองถูกเผาเราถูกฆ่า (มีดนตรีและทำนองคล้ายคลึงกับเพลง วณิพก ของวงคาราบาว),ธารน้ำใจ,เสียงจากหัวใจแม่ ฯลฯ
  • ชุดที่ 4 ธรรมชาติไพร่ มีเพลงอย่าง เพลงไม้ไผ่,ลมหายใจ,เพลงชีวิต,ทางสายกลาง ฯลฯ
  • ชุดที่ 5 วิบากกรรม มีเพลงอย่าง ปล่อยวาง,รักเพื่อรัก,ฟ้าคู่ดิน,วินาศกาเล วิปริตพุทธิ ฯลฯ
  • ชุดที่ 6 นิรโทษกรรม มีเพลงอย่าง นิรโทษกรรม,อรชุน,แพ้และชนะ,ดอกไม้แห่งความรัก ฯลฯ

ซิงเกิล

ซิงเกิลร่วมกับสถานีโทรทัศน์พีซทีวี

  • วันที่รอคอย (พ.ศ. 2558)
  • ใจเป็นของเรา (พ.ศ. 2558)
  • สักวันหนึ่ง (พ.ศ. 2558)
  • ดอกบัว (พ.ศ. 2558)
  • มิตรภาพใต้แสงดาว (พ.ศ. 2558)
  • เพราะเธอ (พ.ศ. 2558)
  • ดอกไม้กับรอยบาป (พ.ศ. 2558)
  • ความฝัน (พ.ศ. 2558)
  • พึ่งพาอาศัย (พ.ศ. 2558)
  • ขวัญข้าว (พ.ศ. 2558,เพลงประกอบรายการ"เกษตรรุ่งอรุณ"ทางพีซทีวี)
  • กราบถวายความอาลัย (พ.ศ. 2558,เพลงพิเศษเพื่อแสดงความอาลัยต่อ พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) หลังการมรณภาพ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558)
  • สี่ขุนพลอีสาน (พ.ศ. 2559)

อ้างอิง

  1. หนังสือร่วมกันสู้ โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (พ.ศ. 2535, กรุงเทพมหานคร ISBN 974-88799-9-2)
  2. ประวัติ นายจตุพร พรหมพันธุ์
  3. ศาลยกคำร้อง ดีเอสไอยื่นถอนประกันตัว จตุพร เก็บถาวร 2010-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเอ็มไทย
  4. แฉข้อมูล ส.ส.หลังยาวเมินโหวตผ่านกฎหมาย[ลิงก์เสีย]จากกรุงเทพธุรกิจ
  5. "จตุพร พรหมพันธุ์ ปราศรัยความในใจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-26. สืบค้นเมื่อ 2016-06-07.
  6. "จตุพร ประกาศจุดยืนเสียงของประชาชนพาดพิงไปถึงสถาบันกษัตริย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-15. สืบค้นเมื่อ 2016-06-07.
  7. "คำพูดของจตุพรบนเวทีเสื้อแดงหมายความว่าอย่างไร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-18. สืบค้นเมื่อ 2011-04-24.
  8. "ศาลได้มีคำวินิจฉัยให้ถอนประกัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-23. สืบค้นเมื่อ 2011-05-13.
  9. "ส่งผลให้จตุพรถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-13.
  10. "สื่อตั้งฉายาสภาผู้แทนฯ เป็น"กระดองปูแดง"/"ปู"เป็นดาวดับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2012-01-07.
  11. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 13/2555 เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) หรือไม่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 100 ก วันที่ 18 ตุลาคม 2555 หน้า 1
  12. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  13. มติเลือก “จตุพร” นั่งประธาน นปช.หลังประเมินอีก 3 เดือนการเมือง
  14. ทหารจับจตุพร พรหมพันธุ์
  15. "ทหารได้เชิญนายจตุพรเดินทางมายังกองทัพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-03. สืบค้นเมื่อ 2016-03-04.
  16. ทหารได้เชิญนายจตุพรไปพูดคุยที่มณฑลทหารบก
  17. แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท
  18. 'จตุพร' จับมือ 'ทนายนกเขา' แจงเหตุผลทำไมประเทศไทยต้องมาก่อน สู่ 'คณะหลอมรวมประชาชน'
  19. 'จตุพร' ชี้กล้าวิจารณ์ทั้ง 'ประยุทธ์-ทักษิณ' ไม่เช่นนั้นการเมืองก็เป็นแบบเดิม
  20. เผย9คดีอาญา'ตู่-จตุพร'ถูกฟ้อง
  21. คุก2ปีปรับ4หมื่น'เต้น-ตู่'ดักฟังโทรศัพท์
  22. ‘จตุพร’จุก ศาลจำคุก2ปี คดีหมิ่น‘อภิสิทธิ์’ ไม่รอการลงโทษ!
  23. "ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-10. สืบค้นเมื่อ 2016-06-10.
  24. คดีหมายเลขดำ อ.771/2554[ลิงก์เสีย]
  25. คดีหมายเลขดำ อ.4977/2555[ลิงก์เสีย]
  26. จำคุกกลุ่ม นปช. จำเลยทั้ง 3[ลิงก์เสีย]
  27. โจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น
  28. ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112[ลิงก์เสีย]
  29. "กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งให้ถอนฟ้อง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-10-13.
  30. ‘จตุพร’ ยิ้มได้! ศาลฎีกายกฟ้อง คดีหมิ่นฯ ‘เมธี อมรวุฒิกุล’
  31. เลขาฯสมช.ขอร้านอาหารใจเย็น อย่าฝืนคำสั่ง ปม แฮชแท็กร้อน"กูจะเปิดแล้วมึงจะทำไม"
  32. ฎีกาพิพากษากลับ 'จตุพร' ผิดหมิ่น 'อภิสิทธิ์' ตีตนเสมอเจ้า
  33. 'จตุพร'น้ำหนักลด28กก. 'เจ๋ง-กีร์'ถูกเบิกขึ้นศาลคดีก่อการร้าย
  34. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 128 (ตอน 24 ข): หน้า 37. 2 ธันวาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-11-19. สืบค้นเมื่อ 2021-05-02.
  35. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 126 (ตอน 16 ข): หน้า 77. 4 ธันวาคม 2552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2011-04-25.