30 บาทรักษาทุกโรค

การบริการทางสุขภาพ

30 บาทรักษาทุกโรค หรือชื่อทางการคือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า[1] หรือต่อมามีคำเรียกว่า สิทธิบัตรทอง เป็นนโยบายของรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามตามมาตรา 52 และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ลงนามภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
วันลงนาม18 พฤศจิกายน 2545
ผู้ลงนามรับรองพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
วันประกาศ18 พฤศจิกายน 2545
วันเริ่มใช้19 พฤศจิกายน 2545
ท้องที่ใช้ประเทศไทย
การร่าง
ผู้เสนอคณะรัฐมนตรีทักษิณ 1
ผู้ยกร่างสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 21
การยกร่างในชั้นสภาล่าง
วาระที่หนึ่ง22 พฤษจิกายน 2544
วาระที่สอง15 พฤษภาคม 2545
วาระที่สาม15 พฤษภาคม 2545
การยกร่างในชั้นสภาสูง
วาระที่หนึ่ง30 พฤษภาคม 2545
วาระที่สอง31 สิงหาคม 2545
วาระที่สาม31 สิงหาคม 2545
คำสำคัญ
หลักประกันสุขภาพ

มาตรา ๕๒

บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากศูนย์สาธารณสุขของรัฐได้ฟรี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การบริการสาธารณสุขของรัฐจะต้องให้บริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเท่าที่เป็นไปได้ด้วย

รัฐพึงป้องกันและขจัดโรคติดต่อที่เป็นอันตรายแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๘๒

รัฐต้องจัดให้มีและส่งเสริมการบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

[2]

โดยทักษิณรับแนวคิดของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มาจัดทำตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ โดยคนไทยทุกคนสามารถรับบริการรักษาโรค โดยจ่ายเพียง 30 บาท โดยภาครัฐจะให้ประชาชนลงทะเบียนกับโรงพยาบาลและรัฐจัดสรรงบประมาณลงในโรงพยาบาลตามจำนวนคน และแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า "บัตรทอง" ปัจจุบันดูแลโครงการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ภูมิหลัง

แก้

ก่อนที่จะมีโครงการสามสิบบาท ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วม 4 ระบบ อันได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ, ระบบประกันสังคม, ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ เสียเงินรายเดือนหรือรายปี) และโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) หรือ บัตรอนาถา ซึ่งเมื่อรวมกับระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชน (ประกันชีวิต) แล้ว เท่ากับว่าไทยมีระบบประกันสุขภาพจำนวน 5 ระบบ ทั้งห้าระบบนี้สามารถครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 70 ของประเทศ จะเห็นได้ว่ายังมีประชากรอีกกว่า 20 ล้านคนหรือร้อยละ 30 ของประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ นี่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้มีการขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลและหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ตกหล่น

จุดเริ่มต้นมาจาก นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชวน หลีกภัย ในขณะนั้นกลับไม่เห็นความสำคัญมากนัก ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป[3]

ภายหลังกฎหมายถูกตีตกไป นายแพทย์สงวนก็ยังทำการวิจัยความเป็นไปได้ต่อไป นายแพทย์สงวนพิมพ์สมุดปกเหลืองขึ้นมาเล่มหนึ่ง สรุปความถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหลักการความเป็นมาและโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการ[3] ซึ่งจะใช้งบประมาณแค่ราว 30,000 ล้านบาทในขณะนั้น นายแพทย์สงวนใช้หนังสือปกเหลืองเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ตาม ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด มีเพียงพรรคไทยรักไทยที่มองว่ามีความเป็นไปได้[3] รัฐบาลพรรคไทยรักไทยนำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" และแต่งตั้งนายแพทย์สงวนเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก

นโยบายจริง

แก้

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เลือกใช้แนวทางการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้สวัสดิการและหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดของประเทศผ่าน "นโยบายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค" ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[4]

จุดเน้นเป้าหมายคือ "รากหญ้า" โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษาสุขภาพ ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชนชาวไทย เมื่อนายแพทย์สงวนนำโครงการนี้ไปเสนอนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับการตอบรับ จนกลายมาเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น จนกลายเป็นนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ในเวลาต่อมาเรียกขานกันในนาม "บัตรทอง" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว บัตรทองเริ่มต้นตั้งที่งบประมาณจากรัฐจ่ายค่าเบี้ยประกันสังคมให้กับประชาชน แรกเริ่มมีงบประมาณให้หัวละ 1,250 บาท โดยไปขึ้นทะเบียนต่อกับโรงพยาบาลในเขตที่ตนอาศัยอยู่แล้ว เมื่อเจ็บป่วยก็เข้ารักษาตามที่ลงทะเบียนไว้ โรงพยาบาลก็ได้เงินส่วนนี้ไปเฉลี่ยรักษาคนที่ป่วยลักษณะคล้ายกับการประกันสุขภาพ โดย สปสช.ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพเอาไว้ว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545[5] โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลจากกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อ เรียกอย่างเป็นทางการว่า "สิทธิหลักประกันสุขภาพ" หรือที่เคยรู้จักกันในนาม สิทธิ 30 บาทหรือสิทธิบัตรทอง เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพคือคนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสวัสดิการรักษาพยาบาลอย่างอื่นที่รัฐจัดให้

นอกจากนี้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ้านโครงการ 30 บาท ฯ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศ เช่น ตุรกี เกาหลีใต้ และเม็กซิโก ที่สามารถจัดให้มีสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนในประเทศ และแซงหน้าประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะมีความพยายามมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2470 ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่สามารถจัดหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมดได้[4]

ข้อวิจารณ์

แก้

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่มภาระงานแก่ลูกจ้างสาธารณสุข จนทำให้แพทย์จำนวนมากลาออก การบริการเป็นไปได้อย่างล่าช้าและด้อยประสิทธิภาพลง โดยในช่วงต้นของโครงการนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาต่อต้านโครงการนี้ โดยเรียกว่า 30 บาทตายทุกโรค[6]

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมโรงพยาบาลลดลง โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหาแหล่งรายได้อื่นเพื่อมาชดเชยในส่วนที่ลดไป[7]

โครงการยกระดับ

แก้

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ขึ้น เพื่อดำเนินโครงการยกระดับของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยมีองค์ประกอบดังนี้[8]

ต่อมาได้มีการจัดทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการยกระดับของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาโรคต่าง ๆ ในโรงพยาบาลในพื้นที่ที่กำหนดได้ทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนราธิวาส โดยเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ลานหน้าหอชมเมืองร้อยเอ็ด ในจังหวัดร้อยเอ็ด และมีการเปิดระบบออนไลน์ไปยังอีก 3 จังหวัดที่เหลือ[9]
  2. ระยะที่ 2 ใน 8 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดพังงา โดยแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เป็นประธานทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่โคราช ชาติชาย ฮอลล์ และลิปตพัลลภ ฮอลล์ ภายในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ในจังหวัดนครราชสีมา[10]
  3. ระยะที่ 3

อ้างอิง

แก้
  1. "เส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-17. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17. จุดเริ่มต้นมาจากนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 จากการเสนอแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่พรรคการเมืองหลายพรรค ในช่วงเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย เห็นถึงความเป็นไปได้ จึงนำมาเป็นนโยบายในการหาเสียง และได้นำมาใช้เมื่อพรรคได้รับเลือกให้จัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้ประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชน ในชื่อ โครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และถือเป็นภารกิจสำคัญยิ่งของรัฐบาล
  2. https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/055/1.PDF
  3. 3.0 3.1 3.2 ย้อนรอย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” พลิกโฉมระบบสุขภาพไทย hfocus
  4. 4.0 4.1 ตันมันทอง, สุนทร. "โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค พ.ศ. 2545 – 2552" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-10-17. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  5. "พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕". สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 2016-07-20.
  6. "ลักษณะ ย้อนแย้ง 30 บาท ′รักษาทุกโรค′ อารมณ์ หงุดหงิด". matichon.co.th. มติชน. 29 ธันวาคม 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-31. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2017.
  7. "ปรากฏการณ์ "รัฐบาลพรรคเดียว" ไทยรักไทย ทำไมชนะถล่มทลาย14 ปีก่อน". www.thairath.co.th. 2019-03-14.
  8. "นายกฯ เซ็นตั้งบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ดึง "อุ๊งอิ๊ง" นั่งรองประธาน". ผู้จัดการออนไลน์. 8 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "นายกฯ เศรษฐา ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด พร้อมคิกออฟ "30 บาทรักษาทุกที่"". โพสต์ทูเดย์. 7 มกราคม 2024. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "คิกออฟ ยกระดับ "30 บาทรักษาทุกที่" ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว 8 จังหวัด". ไทยรัฐ. 30 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้