การฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทย

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2561 ขององค์การความโปร่งใสสากลจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ[2] ข้าราชการมีพฤติกรรมฉ้อฉลโดยไม่ถูกลงโทษ[3][4] และภาคธุรกิจในประเทศไม่ควรถือว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย[5]

คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทย (เต็ม 100); ที่มา: [1]

พลวัต แก้

ส่วนร่วมของธุรกิจกับรัฐบาลส่งผลให้มีการให้สินบนอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วนทั่วประเทศ การให้สินบนและการขัดกันของผลประโยชน์พบบ่อยทั้งภาคเอกชนและรัฐ การเมืองเงินในประเทศไทยเกิดจากจำนวนส่วนร่วมระหว่างภาคธุรกิจและการเมืองสูง แม้มีกฎหมายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ระบบข้าราชการประจำของไทยไม่มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าว[5] ประเทศไทยถือว่ามีกฎหมายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากพอสมควร แต่เปิดช่องให้รัฐบาลแต่ละชุดใช้ดุลยพินิจของตนเพื่อตัดสินว่าพฤติกรรมใดเข้าข่ายบ้าง และทำให้การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่มีความเสมอต้นเสมอปลาย[6]: 1–2  การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีการปรับตัวหลังใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งป้องกันการละเมิดอำนาจแบบซ่อนเร้น เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปลี่ยนไปใช้วิธีโอนหุ้นให้ญาติแทน, นักการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตัว[6]: 27 

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดทำการสำรวจในหมู่นักธุรกิจที่ติดต่อกับข้าราชการผู้ตัดสินมอบสัมปทาน กว่าร้อยละ 25 เป็นค่าเฉลี่ยของค่าสินบนที่จ่ายเพื่อให้ได้สัญญาจากหน่วยงานของรัฐ การสำรวจเดียวกันยังแสดงว่านักธุรกิจร้อยละ 78 ที่สำรวจยอมรับว่าต้องจ่าย "ค่าธรรมเนียม" ซึ่งพวกเขาเล่าว่าดูเหมือนเพิ่มขึ้นในช่วงปีหลัง นักธุรกิจบางคนอ้างว่าอัตราที่ข้าราชการบางคนคิดค่าสัญญานั้นสูงถึงร้อยละ 40[7] โครงการรับสินบนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ การซ่อมและสร้างถนน/สะพาน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การจ่ายเงินชดเชยอุทกภัย การชดเชยพันธุ์พืช/สัตว์ เป็นต้น หน่วยงานที่มีภาพลักษณ์ฉ้อฉลมากที่สุด คือ ตำรวจ รองลงมาคือ นักการเมือง กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน เป็นต้น[8]: 3–11, 3–12 

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศระหว่างปี 2538 ถึง 2554 พบว่า ไทยมีคะแนนต่ำสุดในปี 2538 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) และสูงสุดในปี 2548 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร)[8]: 3–10 

ในเดือนธันวาคม 2563 พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถาว่า ในปีงบประมาณ 2562 ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนนับหมื่นเรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 230,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และในปีงบประมาณ 2563 มีเรื่องร้องเรียนราว 8,600 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 90,000 ล้านบาท[9]

ข้อมูลของบารอมิเตอร์คอรัปชันโลกปี 2563 พบว่าในรอบปีที่ผ่านมา ชาวไทยร้อยละ 24 จ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณะ, ร้อยละ 27 ใช้เส้นสายส่วนตัวเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณะ, ร้อยละ 28 ได้รับข้อเสนอซื้อเสียง[10]: 53 

การฉ้อราษฎร์บังหลวงภาครัฐ แก้

ในปี 2553 มีรายงานการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกี่ยวกับการเข้าถึงสาธารณูปโภคของรัฐ ใบอนุญาต สัญญาและการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ อยู่บ้าง และมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวางในการขอสัญชาติของชาวเขา[5]

ในประเทศไทยมีการฮั้วประมูล[11] บริษัทที่ไม่จ่ายค่าอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการอาจเสียเปรียบด้านการแข่งขันเทียบกับบริษัทอื่น[11]

การโกงเลือกตั้ง แก้

การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในประเทศไทยเป็นที่กล่าวขานมาช้านาน คำว่า "คืนหมาหอน" เป็นพฤติกรรมที่มีการเดินตามบ้านไปแจกเงินให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในยามวิกาลจนหมาเฝ้าบ้านเห่าหอน[12] การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ได้ชื่อว่า "สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์"[13] เนื่องจากสมุนจอมพล แปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้วิธีข่มขู่ถึงบ้าน, เวียนเทียนลงคะแนน, เปลี่ยนหีบเลือกตั้ง จนถึงฆาตกรรม มีการนำคะแนนยาวนานถึง 7 วัน[14]

รายงานของบีบีซีในปี 2562 ระบุว่า หัวคะแนนมักเป็น "ผู้สมัครสอบตก" ที่เคยซื้อเสียงให้ตนเอง แต่ในช่วงหลัง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในภาคอีสานกลายเป็นหัวคะแนนใหม่[15] งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในชนบท แต่ต้องมีความสนิทสนมคุ้นเคยด้วย[15]

อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า วาทกรรมซื้อสิทธิ์ขายเสียงมีการผลิตซ้ำจากนักวิชาการและสื่อจำนวนหนึ่ง[16] งานวิจัยของเธอในปี 2554 พบว่า คนภาคใต้ร้อยละ 19 มองว่าเงินเป็นสิ่งผูกมัดที่จะต้องเลือก ซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนดังกล่าวมากที่สุด แต่เธอย้ำว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่บอกระดับของการซื้อเสียงได้[17] ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเลือกที่ตัวบุคคลที่สามารถให้เงินและการอุปถัมภ์ของคนชนบท หรือการเลือกที่พรรคการเมืองเพราะนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของคนเมืองต่างก็ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งไม่ต่างกัน[15]

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ได้ชื่อว่าเอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชารัฐตั้งแต่การออกแบบการเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญ การแบ่งเขต การกำหนดระบบการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการตีความทางเทคนิคเพื่อตัดที่นั่งของพรรคอนาคตใหม่[18] หรือแม้แต่กรรมการการเลือกตั้งที่มีที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งควบคุมโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกทอดหนึ่ง[19]

กระบวนการยุติธรรม แก้

หลังรัฐประหารปี 2557 ฝ่ายตุลาการถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองอย่างสูง[11] การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยมีความผันแปรและการดำเนินคดีการฉ้อราษฎร์บังหลวงระดับสูงอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง[11] เช่นในปี 2557 ป.ป.ช. สั่งฟ้องดำเนินคดีต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมีพฤติกรรมส่อทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล[20] แต่ในปี 2563 ป.ป.ช. กลับไม่ดำเนินคดีต่อพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งที่ครอบครองนาฬิกาหรูและอาจเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ พร้อมทั้งชี้แจงแทนเขาว่าเป็นการยืมใช้คงรูป[21]

กระบวนการยุติธรรมมักเชื่องช้าและเปิดช่องให้มีการจ่ายเงินแก่ข้าราชการเพื่อเร่งรัด มีรายงานว่าทนายความที่รัฐจัดหาให้คนยากจนมีการเรียกรับเงินจากลูกความโดยตรง[5]

บางทีมีการใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อมีผลต่อกระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษา เช่น ในคดีการเสียชีวิตของวิเชียร กลั่นประเสริฐซึ่งมีวรยุทธ อยู่วิทยาเป็นผู้ต้องสงสัยนั้น มีความพยายามแก้ไขหลักฐาน คือ ความเร็วรถและการครอบครองยาเสพติด[22] อีกทั้งอัยการยังสั่งไม่ฟ้อง[23] คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา อ้างการแทรกแซงคำพิพากษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเหตุที่ตัดสินใจพยายามฆ่าตัวตายสองครั้งในปี 2563[24]

ทหารและตำรวจ แก้

ฝ่ายความมั่นคงในประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นสถาบันที่ฉ้อฉลที่สุดในประเทศเนื่องจากความพัวพันกับการเมืองและระบบอุปถัมภ์[11] นายทหารชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยเพิ่มขึ้น 5 เท่าระหว่างปี 2557 ถึง 2560[25] เมื่อปี 2559 มีข่าวบรรจุบุตรของพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นนายทหารยศว่าที่ร้อยตรี โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนาม พลเอกปรีชาให้สัมภาษณ์ว่า หลายคนในกองทัพก็ทำแบบนี้[26] ผู้ก่อเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยซึ่งอ้างเหตุลงมือเป็นการทุจริตบ้านพักทหาร[27] ข่าวข้อกล่าวหาการทุจริตการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ของกองทัพ เช่น เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที200, เรือเหาะสกายดรากอน, รถหุ้นเกราะยูเครน, เฮลิคอปเตอร์เอ็นสตรอม, ฝูงบินกริพเพน, เรือฟริเกต 2 ลำ,[28] กล้องตรวจการณ์กลางคืนแบบตาเดียว, ชุดทหารเกณฑ์ และเรือดำน้ำจีน เป็นต้น[29] พระมหากษัตริย์ยังทรงแต่งตั้ง พระราชทานและเรียกคืนยศได้ตามพระราชอัธยาศัยด้วย[30][31]

การฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตำรวจก็มีแพร่หลาย ในปี 2559 มีหลายคดีที่ตำรวจถูกตั้งข้อหาลักพาตัว คุกคามทางเพศ โจรกรรมและการกระทำมิชอบ ทางการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจและพิพากษาลงโทษฐานฉ้อราษฎร์บังหลวง ค้ายาเสพติด การลักลอบนำเข้าหรือส่งออก และการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา[5] ตำรวจมีการเรียกรับประโยชน์จากบริษัทที่ดำเนินการผิดกฎหมาย[5] ในปี 2553 มีข่าวเมื่อพลตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา ไม่สามารถขอย้ายพื้นที่ได้ เพราะมีนายตำรวจอีกนายหนึ่งวิ่งเต้น[32]

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส.ส. พรรคก้าวไกลออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยระบุว่ามีการฝากตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งเปิดเผย "ตั๋วช้าง" หรือจดหมายฝากตำแหน่งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งถึงสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 ในปี 2562[33]

การศึกษา แก้

การศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่า งบโรงเรียนถูกตักตวงออกไป เช่น งบอาหาร งบอุปกรณ์การเรียน โดยระบุว่างบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนถูกโกงไปประมาณร้อยละ 30 เงินบริจาคถูกขโมยจนเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ โครงการ เช่น สหกรณ์ครู ยังมีการฉ้อฉล[34]

กีฬา แก้

การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง แก้

กฎหมายปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และ 2502 ห้ามการให้และรับสินบน การกรรโชก การละเมิดอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ การเป็นตัวกลางให้และรับสินบน บางความผิดมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต (United Nations Convention against Corruption) ซึ่งครอบคลุมการให้สินบนข้าราชการต่างด้าวมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2554, พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดในการบริหารราชการแผ่นดิน[5] อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดต่าง ๆ มักปราบปรามเพียงการฉ้อราษฎร์บังหลวงเล็กน้อยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนจริงจังในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น[5]

ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนองค์การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง กล่าวคือ องค์การที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด แต่กระบวนการมักเป็นไปอย่างล่าช้าและมีผู้ถูกลงโทษเพียงจำนวนหยิบมือ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนยังถูกข่มขู่[5]

ในปี 2558 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตั้ง "พิพิธภัณฑ์กลโกงแห่งชาติ" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักวิจารณ์บางคนวิจารณ์ว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเน้น "การกระทำรับสินบนฉาวโฉ่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล" 10 อย่าง แต่ไม่มีกล่าวถึงกองทัพหรือธุรกิจ[35]

การเปิดโปงการทุจริตหรือการเป่านกหวีด (whistleblowing) ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควรและอาจถูกรังควานหรือปลดออกจากตำแหน่ง[5] เช่น กรณีของสิบเอก ณรงค์ชัย อินทรกวี (หมู่อาร์ม) ที่เปิดโปงการทุจริตในกองทัพบกในปี 2563 ก่อนถูกกล่าวหาว่าผิดวินัยทหารในเวลาต่อมา[36]

สื่อมวลชนรายงานข้อกล่าวหาการทุจริต เช่น ความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องอยู่บ่อยครั้ง แต่หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 มีการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตมากขึ้น[5] องค์การนอกภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองเผชิญกับการรังควานจากภาครัฐอยู่บ้าง[5]

การฉ้อราษฎร์บังหลวงภาคเอกชน แก้

เศรษฐีและบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งได้กำไรงามจากการซื้อขายที่ดิน โดยมีเส้นสายวงในเป็นข้าราชการและนักการเมืองซึ่งทำให้ทราบล่วงหน้าว่ารัฐบาลมีโครงการพัฒนาที่ดินที่ใดบ้าง[5]

สถานศึกษาหลายแห่งเรียกรับค่าน้ำชาเพื่อให้รับบุตรหลานเข้าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่มีชื่อเสียง[5]

ในปี 2564 มีการเปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โตโยต้าสาขาประเทศไทย ได้จ่ายสินบนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ซึ่งข้าราชการศุลกากรคนหนึ่งเปิดเผยว่า โตโยต้าเลี่ยงภาษีกว่า 11,000 ล้านบาท[37]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Thailand Corruption Index | 1995-2020 Data | 2021-2023 Forecast | Historical | Chart". tradingeconomics.com. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  2. "Corruption Perceptions Index 2018". Transparency International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-27. สืบค้นเมื่อ 1 May 2019.
  3. "Country Reports on Human Rights Practices for 2016; Thailand". US Department of State. สืบค้นเมื่อ 4 March 2017.
  4. Chachavalpongpun, Pavin. "Thai Junta Beset By Corruption Scandals". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 2017-09-12.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 "Business Anti-Corruption Portal: Thailand". Business Anti-Corruption Portal. GAN Integrity Solutions. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2014. สืบค้นเมื่อ 2 July 2015.
  6. 6.0 6.1 Straub, Karsta. "AN OVERVIEW OF THAILAND'S ANTI‐CORRUPTION LEGISLATION" (PDF). Tilleke. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  7. Prateepchaikul, Veera (2013-07-26). "25%+ is too high a price to pay". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 1 December 2015.
  8. 8.0 8.1 สุขมาลพงษ์, จารุวรรณ. "แนวโน้มของคอรัปชั่นในประเทศไทย". สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  9. "ป.ป.ช. ยอมรับ ยุค "คสช.-ประยุทธ์" เงินแผ่นดินรั่วไหลเฉียด 3 แสนล้าน". ประชาชาติธุรกิจ. 9 December 2020. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  10. GLOBAL CORRUPTION BAROMETER ASIA 2020 (PDF). Transparency International. ISBN 9783960761549. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "Thailand Corruption Report". GAN Business Anti Corruption. GAN Business Anti Corruption. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-15. สืบค้นเมื่อ 4-3-18. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  12. สมคิด เลิศไพฑูรย์ (2547). นรนิติ เศรษฐบุตร (บ.ก.). สารานุกรมการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. p. 69.
  13. "ปัญหาความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของการเลือกตั้ง จากปี 2500 เลือกตั้ง "สกปรก" ถึงปี 2549 เลือกตั้ง "ตลก-โจ๊ก"". รัฐสภา.[ลิงก์เสีย]
  14. ""เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน." ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500". ศิลปวัฒนธรรม. 15 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  15. 15.0 15.1 15.2 "ซื้อสิทธิขายเสียง ใช่เพียงเรื่องเงิน". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  16. ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (21 December 2013). "สิริพรรณ : เบื้องหลังวาทกรรมซื้อเสียง...ทำไมคนชนบทถึงเป็นผู้ร้าย?". สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  17. ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (20 December 2013). ""สิริพรรณ" แจงงานวิจัยถูกบิด-ปัดชี้ภาคใต้มีซื้อเสียงมากสุด". สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  18. McCargo, Duncan. "Anatomy: Future Backward". Contemporary Southeast Asia. 41 (2). doi:10.1355/cs41-2a. สืบค้นเมื่อ 2020-06-02.
  19. "เลือกตั้ง 62". Workpoint Today. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021. {{cite news}}: ข้อความ "กกต. 7 คน มีที่มาจากไหน?" ถูกละเว้น (help)
  20. "ปปช.มีมติ7:0ฟันยิ่งลักษณ์ปล่อยทุจริตจำนำข้าว". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  21. "ป.ป.ช. แจง "บิ๊กป้อม" ยืมนาฬิกาเพื่อน ไม่ผิด ชี้เป็นการ "ยืมใช้คงรูป"". ไทยรัฐ. 30 May 2020. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  22. "อสส. ชี้คดี "บอส อยู่วิทยา" ยังไม่สิ้นสุด แจ้ง ตร.สอบเพิ่มเรื่องโคเคนและความเร็วรถ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  23. "อัยการสูงสุดสั่งตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้อง "บอส" ทายาทกระทิงแดง". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  24. เปิดไทม์ไลน์ "ผู้พิพากษายิงตัว" คลิปแถลง ถูกแทรกแซง วอนเยียวยาลูกเมีย. ข่าวสดออนไลน์. 5 ต.ค. 2562 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563) คลิก
  25. "สามปีรัฐประหาร: ทหารตบเท้านั่งรัฐวิสาหกิจบนสัญญาปฏิรูป". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  26. "พล.อ.ปรีชา" รับตั้งลูกตัวเองเป็นทหาร อ้างเรียนจบต้องมีงานทำ ไม่ผิดปกติ
  27. "เผยเอกสารกู้เงิน "มือกราดยิงโคราช" สะพัดถูกเบี้ยวเงินทอน ชนวนเหตุโศกนาฏกรรม". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  28. "เจาะขบวนการทุจริตงบประมาณแบบบูรณาการ (6): จัดงบฯ กระทรวงกลาโหม "หลักการ" หรือ "ความเกรงใจ" - ThaiPublica". thaipublica.org. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  29. "'พิจารณ์' แฉยับ ประยุทธ์ เอี่ยวทุจริต ซื้ออาวุธ ถามนายพลไทยเป็นนักกอล์ฟหรือ สวัสดิการเพียบ". มติชนออนไลน์. 16 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  30. "โปรดเกล้าฯให้เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ พ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  31. "โปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์-เครื่องราชฯ เจ้าคุณพระสินีนาฏ". BBC ไทย. 2 September 2020. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  32. เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 929, 19 มีนาคม 2553 หน้า 8–9
  33. "โรม อารมณ์ค้าง เปิดเวทีอภิปรายนอกห้องประชุม เปิดปมตั๋วตำรวจ 'ตั๋วช้าง'". มติชนออนไลน์. 19 February 2021. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
  34. "Thai education system: Completely corrupt". The ASEAN Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
  35. "Failing the graft battle" (Editorial). Bangkok Post. 28 February 2017. สืบค้นเมื่อ 1 March 2017.
  36. "หมู่อาร์มเปิดใจกับบีบีซีไทย หลัง ทบ.ชี้แจง "ความเข้าใจผิด"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
  37. Runyeon, Frank G. "Toyota Probed Possible Bribes To Top Thai Judges - Law360". www.law360.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 31 March 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้