อันดับกระแต

(เปลี่ยนทางจาก กระแต)
อันดับกระแต
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ?อีโอซีนตอนกลาง-ปัจจุบัน
กระแตที่ไม่ทราบชนิด (Tupaia spp.)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นฐาน: Placentalia
อันดับใหญ่: Euarchontoglires
อันดับ: Scandentia
Wagner, 1855
วงศ์
ฟันของกระแต

กระแต (อังกฤษ: Treeshrews, Banxrings[1]) เป็นอันดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอันดับหนึ่ง ใช้ชื่ออันดับว่า Scandentia

กระแต มีลักษณะโดยรวมคล้ายกับกระรอก ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) รวมทั้งมีพฤติกรรมความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน หากแต่กระแตมีปากยื่นยาวกว่ากระรอก มีฟันเล็กหลายซี่ ไม่ได้เป็นฟันแทะ แบ่งออกเป็นฟันตัด 4 ซี่ ที่ขากรรไกรบน และ 6 ซี่ที่ขากรรไกรล่าง สามารถเขียนเป็นสูตรได้ว่า [2] จึงไม่สามารถที่จะกัดแทะผลไม้หรือไม้เปลือกแข็งอย่างกระรอกได้ และมีนิ้วที่ขาคู่หน้า 5 นิ้ว ที่เจริญและใช้ในการหยิบจับได้ดี เหมือนเช่นสัตว์ในอันดับไพรเมต (Primate) หรืออันดับวานร กระแตมีขนปกลุมลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาลเหมือนกระรอก มีหางยาวประมาณ 12-19 เซนติเมตร

กระแต นั้นหากินทั้งบนพื้นดิน โคนต้นไม้ และบนต้นไม้ กินได้ทั้งพืช และสัตว์เล็ก ๆ อย่าง แมลง หรือหนอน เป็นอาหาร โดยมากจะหากินในเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว แต่บางครั้งก็พบอยู่ด้วยกัน 2-3 ตัว เป็นฝูงเล็ก ๆ ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว โดยที่ก็ตกเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่กว่า เช่น ชะมด หรืออีเห็น, แมวป่า หรือนกล่าเหยื่อ อย่าง เหยี่ยว หรืออินทรี ด้วย

กระแต กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในป่าทวีปเอเชียแถบเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ มีทั้งหมด 19 ชนิด 5 สกุล แบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ (ดูในตาราง)[3] พบในประเทศไทย 5 ชนิด คือ กระแตเหนือ (Tupaia belangeri) และกระแตใต้ หรือกระแตธรรมดา (T. glis), กระแตเล็ก (T. minor), กระแตหางขนนก (Ptilocercus lowii) และกระแตหางหนู (Dendrogale murina) [4]

เดิม กระแตเคยถูกจัดรวมอยู่อันดับเดียวกับอันดับสัตว์กินแมลง (Insectivora) เช่น หนูผี แต่ปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกเป็นอันดับต่างหาก และกระแตถูกสันนิษฐานว่ามีบรรพบุรุษร่วมกันกับอันดับไพรเมตด้วย ด้วยมีนิ้วที่เท้าหน้าคล้ายคลึงกัน โดยวิวัฒนาการแยกออกจากกันในยุคอีโอซีนตอนกลาง[5] [6]

อ้างอิง

แก้
  1. "Tree-shrew". Encyclopedia Americana. 1920.
  2. Martin, Robert D. (1984). Macdonald, D. (บ.ก.). The Encyclopedia of Mammals. New York: Facts on File. pp. 440–445. ISBN 0-87196-871-1.
  3. "Scandentia". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  4. กระแต[ลิงก์เสีย]
  5. หน้า 165-166, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มาหวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม 2518)
  6. "กระแต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-14. สืบค้นเมื่อ 2012-03-25.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้