กระชาย

สปีชีส์ของพืช

กระชาย หรือ ขิงจีน เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกเลี้ยงกันในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระชายมีชื่อสามัญอื่นอีกคือ กะแอน (อีสาน, เหนือ) กะซาย, ขิงซาย (อีสาน) จี๊ปู (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) ซีพู (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ละแอน (เหนือ) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) ชื่อสามัญ[2] กระชายมี 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง [3]

กระชาย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
เคลด: Commelinids
อันดับ: ขิง
วงศ์: วงศ์ขิง
สกุล: สกุลกระชาย
(L.) Mansf.
สปีชีส์: Boesenbergia rotunda
ชื่อทวินาม
Boesenbergia rotunda
(L.) Mansf.
ชื่อพ้อง[1]
  • Boesenbergia cochinchinensis (Gagnep.) Loes.
  • Boesenbergia pandurata (Roxb.) Schltr.
  • Curcuma rotunda L.
  • Gastrochilus panduratus (Roxb.) Ridl.
  • Gastrochilus rotundus (L.) Alston
  • Kaempferia cochinchinensis Gagnep.
  • Kaempferia ovata Roscoe
  • Kaempferia pandurata Roxb.

ลักษณะ แก้

เป็นไม้ล้มลุกไม่มีลำต้นบนดิน มีเหง้าใต้ดินซึ่งแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลางพองกว้างกว่าส่วนหัวและท้าย ใบ เดี่ยว เรียงสลับเป็นระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4.5-10 เซนติเมตร ยาว 13-15 เซนติเมตร ตรงกลางด้านในของก้านใบมีร่องลึก ดอก ช่อ ออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนต้น กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ใบประดับรูปใบหอกสีม่วงแดง ดอกย่อยบานครั้งละ 1 ดอก[4] กระชาย ถือว่าเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคย กันมานานแล้ว จะมีถิ่นกำเนิด ในแถบร้อนอยู่ที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบขึ้นอยู่บริเวณในป่าดิบร้อนชื้น เป็นไม้ลมลุกที่มีลำต้นอยู่ใต้ดินซึ่งจะเรียกว่า เหง้า และเหง้าที่อยู่ใต้ดินจะแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมากจะเป็นที่สะสมอาหารอวบนำส่วนตรงกลางจะพองกว้างกว่าส่วนหัวและส่วนท้าย ส่วนเนื้อด้านในจะมีสีแตกต่างไปตามชนิดของกระชาย และจะมีกลิ่นหอม ส่วนที่อยู่เหนือดินจะประกอบด้วยโคนก้านใบที่เป็นกาบหุ้มซ้อนกัน กาบใบจะมีสีแดงเรื่อ ๆ ตรงแผ่นใบจะเป็นรูปรีส่วนปลายจะแหลม กว้างประมาณ 4.5-10 ซม. ยาวประมาณ 15-30 ซม. ส่วนตรงกลางด้านในของก้านใบจะมีช่องลึก ดอกช่อออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนต้น กลีบดอกมีสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ดอกย่อยบานครั้งละ 1 ดอก[5] ส่วนในเหง้ากระชายนี้จะมีน้ำมันหอมระเหยและมีสารสำคัญหลายชนิดสะสมอยู่ซึ่งจะมีสรรพคุณในการดับกลิ่นคาวและเป็นสารที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรหลายชนิดสารทีว่านี้คือ สารแคมฟีน (Camphene) ทูจีน (Thujene) และการบูร เมื่อรับประทานเป็นอาหารจะพบได้ในน้ำยาขนมจีน และเครื่องผสมในเครื่องแกงต่าง ๆ เนื่องจากว่ากระชายมีสารต่างๆจึงมีสรรพคุณทางที่ช่วยในการแก้โรคต่าง ๆ ดังนี้ จะมีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง สรรพคุณในการแก้องคชาตตาย, สรรพคุณแก้ปวดข้อ, สรรพคุณแก้วิงเวียน แน่นหน้าอกมสรรพคุณแก้ท้องเดิน, สรรพคุณแก้แผลในปาก, สรรพคุณแก้ฝี, สรรพคุณแก้กลาก, สรรพคุณแก้บิด, สรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ และในกระชายยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายซึ่งจะพบตรงเหง้าของกระชาย คือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินต่าง ๆ ซึ่งมีประโยชน์แก่ร่างกาย [6]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

ต้นกระชายนับว่าเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งมีความสูงประมาณ 2-3ฟุต มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า "เหง้า" เป็นเหง้าสั้นแตกหน่อได้ เช่นเดียวกับขิง ข่า และขมิ้น รากอวบรูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาวปลายเรียวแหลมออกเป็นกระจุก มีผิวสีน้ำตาลอ่อนเนื้อใบสีเหลืองมีกลิ่นหอมเฉาะตัว ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นกาบใบที่หุ้มซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สีแดงเรื่อ ๆ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับตัวใบรูปรีปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบและกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสัน ออกดอกเป็นช่อสีขาวหรือขาวอมชมพูที่ยอด (แทรกอยู่ระหว่างกาบใบ) ดอกบานทีละดอก มีลักษณะเป็นถุง ผลเป็นผลแห้งเมื่อแก่แล้ว[7]

ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดจากส่วนต่าง ๆ แก้

  • ต้น เป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 9 ซม. ส่วนกลางของลำต้นเป็นแกนแข็ง มีกาบหรือโคนใบหุ้ม
  • ใบ มีกลิ่นหอม ก้านใบแทงขึ้นจากหัวในดิน ออกเป็นรัศมีติดผิว ขนาดใบจะกว้าง 7-9 ซม. ยาว 30-35 ซม.
  • ดอก มีสีม่วงดอกออกเป็นช่อ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมต่อกัน มีรูปลักษณะเป็นท่อ มีขน โคนเชื่อมติดกันเป็นช่อยาว เกสรตัวผู้จะเหมือนกับกลีบดอก อับเรณูอยู่ใกล้ปลาย ท่อเกสรตัวเมียมีขนาดยาว เล็ก ยอดของมันเป็นรูปปากแตร เกลี้ยงไม่มีขน[8]
  • ผล ผลแก่มี 3 พู มีเมล็ดอยู่ด้านในเมื่อผลแก่เต็มที่จะไม่แตก[9]ส่วนที่นำมาใช้จะเป็นส่วนของรากและเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งจะมีรสเผ็ดร้อน และขมเล็กน้อย[10] และในส่วนของลำต้น ใบ จะนำมาทำผักจิ้มได้[11]

ประโยชน์ทางสมุนไพร แก้

เป็นพืชที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารโดยเฉพาะรากกระชาย ใช้เป็นเครื่องจิ้มหรือเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกแกงโดยเฉพาะแกงที่ใส่ปลา เช่น แกงป่า ต้มโฮกอือ กระชายดับกลิ่นคาวของปลาได้ดี[12]

ตำรายาไทยใช้เหง้าแก้โรคในปากเช่นปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแห้ง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง จากการทดลองในสารสกัดแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์ม พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังและในปากได้ดีพอควร [ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง แก้

  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 25 January 2014.
  2. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-25. สืบค้นเมื่อ 2014-08-08.
  4. กระชาย ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  5. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์ ,2530
  6. คณะทำงานรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผักในโครงการหนูรักผักสีเขียว
  7. ภานุทรรศน์,2543
  8. กรรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข,2542
  9. แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ,2541
  10. พรพรรณ ,2543
  11. อบเชย วงศ์ทอง ,2544
  12. อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป.หน้า 94