เขมรแดง
เขมรแดง (เขมร: ខ្មែរក្រហម, แขฺมรกฺรหม อ่านว่า คแมร์กรอฮอม; ฝรั่งเศส: Khmer Rouge)[7] หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” (Armée nationale du Kampuchéa démocratique) คือ กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่เคยปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2522
เขมรแดง | |
---|---|
ខ្មែរក្រហម | |
แนวคิด |
|
กองบัญชาการ | พนมเปญ ประเทศกัมพูชา |
พันธมิตร |
|
ปรปักษ์ |
|
การสู้รบและสงคราม |
เขมรแดงถือเป็นตัวแทนความสำเร็จเชิงอำนาจของพรรคการเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ที่ต่อมาได้พัฒนาไปเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” (อังกฤษ: Communist Party of Kampuchea; ฝรั่งเศส: Parti communiste du Kampuchéa – PCK) และ “พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย” (Parti du Kampuchéa démocratique) รูปแบบการปกครองของเขมรแดงมีจุดประสงค์เพื่อสร้าง "สังคมใหม่" โดยใช้รากฐานทางอุดมการณ์ที่เรียกว่า "อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ" (idéologie de révolution totale) ที่มีการรักษาเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ เป็นตัวขับเคลื่อน[8]
สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่น ๆ มาบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท เพื่อจำแนกประชาชนที่ถือว่าเป็น "ศัตรูทางชนชั้น" ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่าง ๆ ออกมาเพื่อขจัดทิ้ง[9] การกระทำดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนประมาณ 850,000 ถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนของประชาชนที่เสียชีวิตต่อจำนวนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดในขณะนั้น (ประมาณ 7.5 ล้านคน ใน พ.ศ. 2518) ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
หลังจากที่เขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นระยะเวลา 4 ปี ใน พ.ศ. 2522 อำนาจการปกครองของเขมรแดงก็สิ้นสุดลง เนื่องจากการบุกยึดกัมพูชาของกองกำลังจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการเคลื่อนไหวแบบต่อต้านของเขมรแดง โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันตกของกัมพูชา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก็ยังคงดำเนินต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 90 จนกระทั่ง พ.ศ. 2539 พล พต หัวหน้าขบวนการเขมรแดงในขณะนั้น ก็ยุติการทำงานของเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ทั้งนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยอีกด้วย[10]
พล พต ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีสังหารหมู่ประชาชนในช่วงที่เขมรแดงยังมีอำนาจอยู่แต่อย่างใด[11] เช่นเดียวกันกับตา ม็อก อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการควบคุมตัวจากรัฐบาลกัมพูชาเพื่อรอพิจารณาคดี[12] ปัจจุบัน มีเพียงคัง เค็ก เอียว (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดุช”) อดีตหัวหน้าค่ายกักกันตวล สเลง และนวน เจีย อดีตสมาชิกระดับผู้นำ เท่านั้นที่ถูกนำตัวมาพิจารณาโทษจากศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีของอดีตกลุ่มผู้นำเขมรแดงโดยเฉพาะ[13][14][15] โดยได้เริ่มการพิจารณาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
กลุ่มปัญญาชนปารีส
แก้กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) คือ กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้มาศึกษาต่อในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ของตนเองขึ้น ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิดและเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กลุ่มเขมรแดง ในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
ปัญญาชนคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้แก่[16]
- ซาลอธ ซาร์ (ชื่อเดิมของพล พต) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2468 (ข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่า พ.ศ. 2471) ในจังหวัดกำปงธม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ มีพี่สาวเป็นนางสนมในวังของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ ซาลอธ ซาร์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนช่าง สาขาวิชาช่างไม้ ในกรุงพนมเปญ และได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ฝรั่งเศส
- เอียง ซารี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ในเวียดนามใต้ มีเชื้อสายจีน-เขมร ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยสีสุวัตถิ์ (Lycée Sisowath) ในกรุงพนมเปญ และได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อในฝรั่งเศสทางด้านการพาณิชย์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ในสถาบันการเมืองศึกษาแห่งกรุงปารีส (Institut d'Études Politiques de Paris) แทน
- เขียว สัมพัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2474 ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยศรีสวัสดิ์เช่นกัน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างมาก คู่แข่งทางพรสวรรค์ของเขา คือ ฮู ยวน นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนปารีสอีกคนหนึ่ง ฮู ยวน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ศึกษาต่อทางด้านเศรษศาสตร์และกฎหมายในฝรั่งเศส ทั้งเขียว สัมพันธ์ และฮู ยวน ต่างสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสเหมือนกัน
- ซอน เซน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 เป็นชาวเขมรกรอม ศึกษาต่อในฝรั่งเศสด้านศึกษาศาสตร์และวรรณกรรมที่ École Française de radioélectricité มีความสนใจในด้านยุทธศาสตร์การทหารอย่างมาก โดยเฉพาะสงครามสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1
- ฮู นิม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2475 เดินทางไปศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมายในฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพนมเปญ เขามีความสนใจในเรื่องบทบาทการเงินของกัมพูชาที่ถูกภายนอกครอบงำ
นอกจากสมาชิกที่เป็นผู้ชายแล้ว ในกลุ่มปัญญาชนปารีสยังมีสมาชิกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางการสมรสกับสมาชิกฝ่ายชายอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เขียว พอนนารี ภรรยาของซาลอธ ซาร์ เขียว ธิริธ ภรรยาของเอียง ซารี หรือยุน ยาต ภรรยาของซอน เซน สมาชิกหญิงเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทสำคัญในระบอบการปกครองกัมพูชาประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของเขมรแดง แทบทั้งสิ้น
สาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้เชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ มีแนวโน้มมาจากบริบททางการเมืองโลกในขณะนั้น ที่การเคลื่อนไหวตามแนวทางคอมมิวนิสต์กำลังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การยืนหยัดต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาต่อฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคม การได้รับชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเกาหลี หรือการเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่นักศึกษาบางคนประสบในอดีต ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน ดังเช่นกรณีปัญหาครอบครัวของเขียว พอนนารี และเขียว ธิริธ ที่บิดาของเธอทั้งสองหนีตามเจ้าหญิงแห่งกัมพูชาไปอยู่จังหวัดพระตะบอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิ้งให้มารดาของพวกเธอทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเพียงผู้เดียว กรณีดังกล่าวนี้ เดวิด พี. แชนด์เลอร์ นักประวัติศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้พวกเธอมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนชั้นเจ้าของกัมพูชา จนนำไปสู่การต่อต้านก็เป็นได้[17]
ขณะที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส กลุ่มปัญญาชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาสำนักคิด/ลัทธิทางด้านสังคมศาสตร์หลาย ๆ แขนง เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม และลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นต้น[18] พร้อมกันนั้น พวกเขายังได้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เอาไว้หลายระดับ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มการเมืองย่อย ๆ ในหมู่นักศึกษา ที่เรียกกันว่า “วงมาร์กซิสต์” เพื่อนำงานเขียนแนวอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาถกเถียงกัน[19] จนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย และยังรวมไปถึงการเป็นตัวแทนสมาคมนักศึกษาเขมรในกรุงปารีส เข้าร่วมการประชุมเยาวชนนานาชาติ ณ เบอร์ลินตะวันออก ที่ซึ่งพวกเขาได้พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา และการก่อตั้งพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรเป็นครั้งแรก[20]
นอกจากนั้น พวกเขายังพยายามขยายอุดมการณ์ของกลุ่มให้ครอบคลุมทั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ในปารีส ด้วยการล้มล้างอิทธิพลของผู้นำนักศึกษาแนวอนุรักษนิยม[21]และเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรสำหรับนักชาตินิยมและนักสังคมนิยมแทน
หลังจากที่เจ้าสีหนุก่อรัฐประหาร ประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ใน พ.ศ. 2495[22] กลุ่มปัญญาชนปารีสก็เคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำดังกล่าว ด้วยการออกแถลงการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ประณามการกระทำของพระองค์และเรียกร้องให้พระองค์สละราชสมบัติ[23] พร้อมกันนั้น ซาลอธ ซาร์ ยังได้เขียนบทความชื่อ “ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย?” (Monarchy or Democracy?) ลงในนิตยสารสำหรับนักศึกษาชาวกัมพูชา ฉบับพิเศษ เพื่อวิพากษ์การกระทำของเจ้าสีหนุอีกด้วย จากการกระทำเหล่านี้ ส่งผลให้พวกเขาโดนระงับทุนการศึกษา[24] และทางการฝรั่งเศสยังออกคำสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมรในปีต่อมา
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2499 ฮู ยวน และเขียว สัมพันธ์ ได้ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “สหภาพนักศึกษาเขมร” (Khmer Students' Union) ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มนักศึกษาในวงมาร์กซิสเช่นเดิม
เส้นทางสู่อำนาจ
แก้กลับกัมพูชา
แก้หลังจากที่กลุ่มปัญญาชนปารีสเดินทางกลับสู่กัมพูชา สมาชิกในกลุ่มต่างก็แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและกิจกรรมต่าง ๆ ซาลอธ ซาร์ (กลับมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496) เดินทางออกจากกรุงพนมเปญเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังเขมรอิสระในพื้นที่ใกล้จังหวัดกำปงสปือ และขบวนการเวียดมินห์ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดกำปงจาม[25] เอียง ซารี ประกอบอาชีพครูประจำภาควิชาการเมืองและปรัชญาที่วิทยาลัยศรีสวัสดิ์และวิทยาลัยกัมพูบต เช่นเดียวกับฮู ยวน[26] และเขียว สัมพัน (กลับมาใน พ.ศ. 2502) ประกอบอาชีพอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพนมเปญ และผลิตหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อ “ล็อบแซร์วาเตอร์”[27] ซึ่งได้รับความนิยมจากวงนักวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ ในพนมเปญ
หลังจากที่ดำเนินการผลิตมาได้ 1 ปี กิจการหนังสือพิมพ์ของเขียว สัมพัน พร้อมกับหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายฉบับอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ในกัมพูชาขณะนั้น ก็ถูกหน่วยรักษาความมั่นคงของรัฐบาลเจ้าสีหนุปิด ส่วนตัวเขียว สัมพัน เองก็ถูกนำไปประจารต่อสาธารณชนโดยการเฆี่ยนตี จับเปลื้องผ้า และถ่ายรูปเก็บไว้ หลังจากนั้นจึงถูกนำตัวไปควบคุมพร้อมกับสมาชิกขบวนการฝ่ายซ้ายอีก 17 คน[28] แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขียว สัมพัน ก็ได้รับการปล่อยตัว และร่วมมือกับเจ้าสีหนุต่อต้านกิจกรรมของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามใต้
ทั้งเขียว สัมพัน ฮู ยวน และฮู นิม ต่างก็เป็นปัญญาชนแนวสังคมนิยมที่เจ้าสีหนุเชิญให้เข้ามาร่วมรัฐบาลสังคมราษฎร์ของพระองค์ด้วย โดยฮู ยวน ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรม ฮู นิม ได้รับตำแหน่งสำคัญในสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา[29] และเขียว สัมพัน ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ[30]
การได้ประกอบอาชีพเป็นครู/อาจารย์ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง และได้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล ทำให้สมาชิกกลุ่มปัญญาชนปารีสบางคนสามารถแทรกซึมแนวคิดคอมมิวนิสต์เข้าไปยังหมู่ชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง และฐานมวลชนในเขตเลือกตั้งของตนได้[31]
การประชุมสมัชชาพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร และการเปลี่ยนแปลง
แก้วันที่ 27 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2503 พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้จัดการประชุมสมัชชาพรรคขึ้นอย่างลับ ๆ ในห้องว่าง ณ สถานีรถไฟกรุงพนมเปญ โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการนำประเด็นที่ว่า พรรคควรจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรหรือเลือกเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าสีหนุ มาถกเถียงกันด้วย หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นชื่อ “พรรคแรงงานแห่งกัมพูชา” โดยแต่งตั้งตู สามุต ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และนวน เจีย ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ นอกจากนั้นซาลอธ ซาร์ และเอียง ซารี ก็เข้าร่วมเป็นแกนนำของพรรคนี้ด้วย[32]
การหายตัวไปอย่างลึกลับของตู สามุต (สันนิษฐานกันว่าถูกสังหาร) ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทำให้พรรคตกอยู่ใต้การควบคุมของซาลอธ ซาร์ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งต่อมาซาลอธ ซาร์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางของพรรคชุดใหม่ ในการประชุมสมัชชาพรรครอบพิเศษ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2506 โดยมีนวน เจีย และเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ และมีโซ พิม กับวอน เวต เป็นแกนนำของพรรค[33] หลังจากนั้นมา ซาลอธ ซาร์ และสหายปัญญาชนปารีสของเขา ก็สามารถควบคุมศูนย์กลางของพรรคได้ทั้งหมด ส่วนกลุ่มสมาชิกเก่าแก่ที่สนับสนุนนโยบายเป็นกลางของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเวียดนาม นั้น ก็ถูกลดอำนาจในพรรคลง
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2506 ซาลอธ ซาร์ กับสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคส่วนใหญ่ ได้ทยอยเดินทางออกจากกรุงพนมเปญ เพื่อไปสร้างกองกำลังกบฏของตนเองขึ้นในบริเวณชายแดนของจังหวัดกำปงจามกับประเทศเวียดนาม[34] ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ก่อนหน้านั้นไม่นาน เจ้าสีหนุได้รณรงค์ต่อต้านฝ่ายซ้าย และประกาศรายชื่อบุคคล 34 คนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาลของพระองค์ ซึ่งในจำนวนนั้น มีชื่อของซาลอธ ซาร์ กับครูฝ่ายซ้ายอีกหลายคนติดอยู่ด้วย เจ้าสีหนุได้เรียกตัวบุคคลในรายชื่อเหล่านี้มาพบ เพื่อให้พวกเขาเข้าร่วมกับรัฐบาลของพระองค์ และปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ ทุกคนที่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจะถูกติดตามด้วยตำรวจของพระองค์ตลอด 24 ชั่วโมง มีเพียงซาลอธ ซาร์ และเอียง ซารี เท่านั้น ที่ไม่ถูกติดตาม และสามารถหลบหนีออกมาจากกรุงพนมเปญได้[35]
การล่มสลายของรัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐ และการขึ้นสู่อำนาจของเขมรแดง
แก้ระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2509 ซาลอธ ซาร์ และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เวียดนามเหนือ พวกเขาได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ทั้งที่เป็นชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาที่อพยพเข้าไปอยู่ในเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ซึ่งยังอาจได้รับการฝึกฝนทางการเมืองบางด้านจากที่นั่น[36] ส่วนในจีน พวกเขาได้ไปแสดงจุดยืนของพรรคและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง หรือหลิว เช่าฉี เป็นต้น[37] (ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นพันธมิตรกับเจ้าสีหนุ แต่ทางการจีนก็ปิดข่าวการเดินทางมาเยือนของกลุ่มคอมมิวนิสต์กัมพูชาในครั้งนั้นไม่ให้พระองค์ทราบ)
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 พรรคแรงงานแห่งกัมพูชาได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างลับ ๆ เป็น "พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา" (Communist Party of Kampuchea – CPK) ซึ่งในช่วงปลายปีเดียวกัน ศูนย์บัญชาการของพรรคก็ต้องถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดรัตนคีรี เนื่องจากฐานที่มั่นเดิมถูกจู่โจมโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกา[37]
ในปีต่อมา ด้วยความช่วยเหลือทางด้านอาวุธและที่พักจากฝ่ายเวียดนามเหนือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่ประกอบด้วยกลุ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขมรแดง (กลุ่มปัญญาชนปารีส) กลุ่มเขมรเวียดมินห์ และกลุ่มเขมรคอมมิวนิสต์[38] ก็เริ่มใช้กำลังต่อต้านรัฐบาลเจ้าสีหนุ โดยเริ่มจากการโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายพระองค์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือก่อน ขณะเดียวกัน บรรดานักศึกษาและครูในเมืองจำนวนมากก็รู้สึกไม่พอใจกับวิธีการปกครองของเจ้าสีหนุ และหันมาศรัทธาต่อความสำเร็จจากการต่อสู้ทางการเมืองในจีน (การปฏิวัติวัฒนธรรม) และฝรั่งเศส (การลุกฮือเดือนพฤษภาคม 1968) ว่าเป็นขบวนการทางเลือกที่ควรจะมาแทนการปกครองแบบเจ้าสีหนุ[39]
ต่อมา หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจเจ้าสีหนุในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 โดยเจ้าสีสุวัตถิ์ สิริมตะ ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าสีหนุ และลอน นอล นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น กลุ่มพลังฝ่ายขวา หรือฝ่ายสาธารณรัฐเขมร ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ก็สามารถเข้ากุมอำนาจทางการเมืองของกัมพูชาได้แทบทั้งหมด พวกเขาได้ร่วมมือกับกองทัพอเมริกากดดันและปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตชนบทอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ภายในช่วงเวลา 4 ปีของการดำรงอำนาจ รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐก็ต้องเผชิญปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพกัมพูชา เวียดนามใต้ และสหรัฐอเมริกา กับกองทัพเวียดนามเหนือในกัมพูชา ปัญหาการขาดประสิทธิภาพของกองทัพ ปัญหาการขาดผู้นำที่เข้มแข็ง และปัญหาการทุจริตในกลุ่มนายทหารฝ่ายสาธารณรัฐเอง เป็นต้น ตรงกันข้ามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ถึงแม้ว่าจะถูกกดดันโดยภาวะสงคราม แต่ก็ยังเป็นฝ่ายที่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในกัมพูชาได้มากกว่าฝ่ายรัฐบาล[40] และหลังจากที่เจ้าสีหนุเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (Royal Government of National Union of Kampuchea – GRUNK) [41] เพื่อต่อต้านลอน นอล และเจ้าสีสุวัตถิ์ ความนิยมในเขตชนบทที่มีต่อพระองค์ก็เพิ่มมากขึ้น จนเป็นผลให้การขยายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเป็นไปอย่างง่ายดาย
ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2515 ถึงต้น พ.ศ. 2516 กองกำลังคอมมิวนิสต์เริ่มทดลองนำโครงการนารวมและระบบสหกรณ์รวมมาใช้กับประชาชนในเขตยึดครองของตนเอง และเริ่มมีข่าวลือว่า หลังจากที่พวกเขายึดหมู่บ้านหรือเมืองได้แล้ว พวกเขาจะบังคับให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่นั้นเข้าไปอยู่ในป่าแทนการจับเป็นเชลย[42]
ต้น พ.ศ. 2518 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้วางระเบิดตัดเส้นทางชายฝั่งแม่น้ำที่ใช้ลำเลียงอาหารและอาวุธเข้าสู่กรุงพนมเปญ[43] และนำกำลังปิดล้อมเมืองหลวงเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมการบุกยึด ในที่สุด หลังจากการหลบหนีออกจากกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีลอน นอล ในเดือนมีนาคมของปีเดียวกัน และความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่จะนำฝ่ายคอมมิวนิสต์มาเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ไม่เป็นผล กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่นำโดยกลุ่มเขมรแดงของซาลอธ ซาร์ ก็เข้าบุกยึดกรุงพนมเปญ ในเช้าตรู่วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ของชาวกัมพูชา (เหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เลือกวันนี้เป็นวันบุกยึด เพราะต้องการให้ปีใหม่ปีนั้นเป็นปีเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของกัมพูชาใหม่ทั้งหมด) [44]
กัมพูชายุคเขมรแดง
แก้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาประชาธิปไตย
แก้หลังจากที่บุกยึดกรุงพนมเปญและสาธารณรัฐกัมพูชาได้สำเร็จ เขมรแดงได้เปลี่ยนระบอบการปกครองของกัมพูชาให้เป็นระบอบสังคมนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคณะผู้ปกครองหลักคือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย[45] และมีกลุ่มผู้ปกครองสูงสุดที่เรียกตนเองว่า "อังการ์เลอ" (Angkar Loeu) หรือ "องค์การจัดตั้งระดับสูง" ซึ่งชื่อ "อังการ์เลอ" นี้ ถูกนำมาใช้เพื่ออำพรางตนเองจากการรับรู้ของชาวกัมพูชารวมไปถึงสมาชิกระดับล่างของพรรค[46] ภารกิจต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารจะอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลในคณะกรรมาธิการประจำ (กรมการเมือง) ซึ่งเป็นองค์กรหลักภายในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ในขณะที่คณะกรรมการของพรรคจะมีหน้าที่ควบคุมทุกระดับของการจัดตั้ง นับตั้งแต่กลุ่มที่ประกอบด้วยครอบครัว 10 ครอบครัว กระทรวง สำนักงานของรัฐ และเขตการปกครองต่าง ๆ ของกัมพูชา[47]
กลุ่มคอมมิวนิสต์ประกาศยกเลิกรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่น ทำให้กัมพูชาไม่มีรัฐบาลจนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาประชาธิปไตยเมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 เขมรแดงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญกัมพูชาฉบับใหม่ ภายในนั้นได้มีการบัญญัติชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาว่า "กัมพูชาประชาธิปไตย" (Democratic Kampuchea) [46] แทนชื่อ "สาธารณรัฐเขมร" พระนโรดม สีหนุยังคงเป็นประมุขรัฐจนกระทั่งพระองค์ลาออกไปเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2519 พระองค์ถูกกักบริเวณอยู่ในพนมเปญ จนกระทั่งเกิดสงครามกับเวียดนาม พระองค์จึงไปสหรัฐก่อนจะลี้ภัยในประเทศจีนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519
ศูนย์กลางอำนาจของกัมพูชาในขณะนั้นอยู่ที่ "พล พต" หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าซาลอธ ซาร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2519 โดยมีเอียง ซารี ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการต่างประเทศ วอน เวต ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ และซอน เซน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการกลาโหม[48] สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่ ได้แก่ กองกำลังติดอาวุธทั้งชายและหญิงจากครอบครัวชาวนาในชนบทอันห่างไกล ซึ่งทั้งยากจนและขาดโอกาสในการศึกษา[49] โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่เจ็บปวดและโกรธแค้นจากการที่ต้องสูญเสียบ้าน การงาน และครอบครัวเพราะระเบิดของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมือง[50]
สถาบันหลักทางการเมืองของกัมพูชาประชาธิปไตย คือ “สภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา” (Kampuchean People’s Representative Assembly) มีสมาชิก 250 คน ที่ประกอบด้วย 1) ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างลับ ๆ ทุก 5 ปี (ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้น) 2) ฝ่ายบริหาร ที่มาจากการคัดเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อสภา และ 3) ฝ่ายตุลาการ ที่ทำหน้าที่โดยศาลประชาชน นอกจากนั้นยังมี “สภาเปรสิเดียม” ที่ประกอบด้วยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี 2 คน ที่ได้รับการคัดเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนเช่นเดียวกับฝ่ายบริหาร เพื่อทำหน้าที่ตัวแทนของรัฐทั้งในและต่างประเทศ[51] การเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวมีขึ้นเมื่อ 20 มีนาคม พ.ศ. 2519 โดยประชาชนใหม่ไม่ได้เข้าร่วม ผู้บริหารได้รับเลือกเข้าสู่สภาซึ่งถือเป็นสภาเปรซิเดียมของรัฐ หลังจากพระนโรดม สีหนุลาออก ตำแหน่งประมุขรัฐคือประธานาธิบดี ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งคือ เขียว สัมพัน ระบบศาลเป็นการประชาชนซึ่งควบคุมโดยสภา และไม่ได้ระบุถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น
สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองมีกล่าวถึงในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญ ชายและหญิงมีความเสมอภาคกัน และจะไม่มีคนว่างงานในกัมพูชาประชาธิปไตย หลักการเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศถูกระบุไว้ในมาตราที่ 21 โดยระบุถึงความเป็นเอกราช สันติภาพและเป็นกลาง ประกาศสนับสนุนการต่อต้านจักรวรรดินิยมในประเทศโลกที่สาม แม้จะมีการโจมตีแนวชายแดนของไทย ลาว และเวียดนาม แต่ในรัฐธรรมนูญกล่าวว่ารักษาความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและใกล้ชิดกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน
เขมรแดงได้ประกาศยกเลิกการแบ่งเขตจังหวัดแบบเดิม และแทนที่ด้วยการแบ่งเขตจำนวน 7 เขต คือ เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ และเขตศูนย์กลาง มีเขตพิเศษ 2แห่งคือ เขตพิเศษกระแจะ หมายเลข 105 และเขตพิเศษเสียมราฐ หมายเลข 106 ซึ่งคงอยู่ถึง พ.ศ. 2520 แต่ละเขตแบ่งย่อยเป็นตำบล ซึ่งถูกกำหนดด้วยหลายเลข หมายเลข 1 อยู่ที่บริเวณสัมลต ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือ ตำบลถูกแบ่งย่อยเป็นสรุก ขุม และภูมิ (หมู่บ้าน) หมู่บ้านประกอบด้วยคนหลายร้อยคน ภายในหมู่บ้านแบ่งเป็นกรม ที่ประกอบด้วย 10 – 15 หลังคาเรือน การบริหารประกอบด้วยคณะที่มีสมาชิกสามคน สมาชิกพรรคควบคุมการบริหารในระดับสูง การบริหารระดับขุมและหมู่บ้านปกครองโดยคนในท้องถิ่น ส่วนน้อยที่เป็นประชาชนใหม่ ในแต่ละเขตการปกครองจะมีคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาประจำอยู่ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจทั้งในด้านการเมืองและการทหารในเขตพื้นที่ของตน และรอรับคำสั่งจากศูนย์กลางพรรคเพื่อนำไปตีความและประยุกต์ใช้อีกครั้งตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่[52]
การอพยพออกจากเมือง
แก้ทันทีที่เข้ายึดพนมเปญได้ เขมรแดงได้สั่งให้อพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองหลวงไปสู่พื้นที่ชนบท พนมเปญที่เคยมีประชากรถึง 2.5 ล้านคนกลายเป็นเมืองร้าง ถนนที่ออกจากเมืองเต็มไปด้วยประชาชนที่ถูกบังคับให้เดินทางออกจากเมือง ลต ฉาย พี่ชายของพล พตที่ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ตายระหว่างการอพยพออกจากพนมเปญ โรงพยาบาลในพนมเปญว่างเปล่า ไม่มีผู้ป่วย เขมรแดงอนุญาตให้ใช้พาหนะได้เฉพาะคนแก่และคนพิการ ในระหว่างการอพยพคนออกจากเมืองนี้ เขียว สัมพันกล่าวว่ามีคนตายราว 2,000 - 3,000 คน ชาวต่างชาติราว 800 คนถูกกักตัวไว้ในสถานทูตฝรั่งเศส และในช่วงปลายเดือนนั้น คนต่างชาติเหล่านี้ ถูกส่งมายังชายแดนไทยด้วยรถบรรทุก หญิงชาวเขมรที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ จะได้รับอนุญาตให้ออกไปได้ แต่ชายชาวเขมรไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามภรรยาออกไป
หลังจากที่เขมรแดงขึ้นมามีอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือ ประกาศให้ชาวเขมรทุกคนทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เงินทอง หรือแม้แต่คนที่ตัวเองรักทั้งหลาย เพื่อมาทำงานให้กับคอมมูน คอมมูนคือหน่วยย่อยของเขมรแดง มีคอมมูนละ 10,000 คน หน้าที่ที่คนในค่ายต้องทำทุกวันคือทำงานเกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมด ตามแต่ที่คอมมูนใดจะสั่งลงมา แต่ทุกคอมมูนเหมือนกันหมดคือทำงานโดยใช้แรงงานคนทั้งหมดโดยไม่มีเครื่องมือใด ๆ ช่วยทุ่นแรง และต้องทำงานเป็นเวลา 11 ชั่วโมง เป็นเวลา 9 วันติดใครทำงานช้าหรืออิด ๆ ออด ๆ จะถูกลงโทษอย่างหนัก ส่วนวันที่ 10 ต้องมานั่งฟังพวกเขมรแดงอบรมเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์
ความน่าหวาดกลัว
แก้หน่วยรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่าสันติบาลที่จัดตั้งขึ้นหลังจาก 17 เมษายน พ.ศ. 2518 นำโดย ซอน เซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชาประชาธิปไตย เขาได้มอบหมายให้ดุจ เป็นผู้ดำเนินการหน่วยนี้ ในช่วงแรก เขาใช้บริเวณเมืองหลวงเป็นที่กักขังนักโทษ ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2519 ดุจได้ย้ายสถานที่คุมขังมาที่คุกตวล แซลงที่คุมขังนักโทษได้ถึง 1,500 คน รัฐบาลเขมรแดงได้สั่งให้จับกุมและประหารชีวิตบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของรัฐ ได้แก่
- ทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรหรือรัฐบาลต่างชาติ
- ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ รวมทั้งทุกคนที่มีการศึกษาหรือแม้แต่คนที่สวมแว่นตา
- ผู้มีความชำนาญในศิลปะ นักดนตรี นักเขียน นักแสดงถูกประหารชีวิต เช่น รส เสรีโสทา แปน โรน และสิน ศรีสมุท
- ชนกลุ่มน้อยที่มีเชื้อสายเวียดนาม จีน ไทย และชนกลุ่มน้อยบางส่วนในพื้นที่สูงทางตะวันออก ชาวกัมพูชาที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม พระสงฆ์
- พ่อค้าในเมืองที่ไม่มีความสามารถในการทำการเกษตร
มีประชาชนประมาณ 17,000 คนที่เคยเข้าคุกตวลซแลง ส่วนใหญ่ถูกประหารชีวิต มีเพียงราวพันคนที่รอดชีวิตออกมาได้ จำนวนประชากรที่เสียชีวิตในช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่ครองอำนาจสืบต่อจากเขมรแดงระบุว่ามีคนตายไป 3.3 ล้านคน แต่ยังหาตัวเลขที่เป็นการสรุปแน่นอนไม่ได้ งานวิจัยสมัยใหม่ที่ศึกษาทางด้านนี้ระบุว่าคนที่เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 1.4 - 2.2 ล้านคน มีทั้งที่ถูกฆ่าและตายเพราะขาดอาหารและโรคระบาด โครงการวิจัยทางด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 1.2 – 1.7 ล้านคน ส่วนข้อมูลของเขมรแดงเอง พล พตระบุว่ามีคนตาย 800,000 คน ส่วนเขียว สัมพันระบุว่าถูกฆ่าไปราว 1 ล้านคน
การเปลี่ยนแปลงสังคม
แก้ประชากรที่อพยพออกจากเมืองจะถูกเรียกว่าประชาชนใหม่ ส่วนประชาชนที่อยู่ในเขตชนบทดั้งเดิมถูกเรียกว่าประชาชนเก่า ในระดับล่างสุดของสังคมคือกรม ประกอบด้วย 10 – 15 ครอบครัว กรมบริหารโดยคณะกรรมการสามคน ประธาน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้เลือก มีหน้าที่เผยแพร่ความเป็นสังคมนิยมแก่ประชาชนและรายงานขึ้นไปเป็นลำดับชั้น ในระยะแรกมีประชาชนใหม่อยู่ราว 2.5 ล้านคน ประชาชนใหม่ถูกบังคับให้ใช้แรงงานในพื้นที่ที่ยากลำบาก เช่น ในป่า ที่สูงและที่ลุ่ม และมักเกิดปัญหาขัดแย้งกับประชาชนเก่า สมาชิกในครอบครัวถูกแบ่งแยก เพราะต้องทำงานตามอายุและเพศ และมีการแบ่งไปทำงานยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ประชาชนเก่าจะได้รับการปฏิบัติจากเขมรแดงดีกว่า
จากการสัมภาษณ์ผู้อพยพของไมเคิล วิกกอรี ผู้เขียนหนังสือ Cambodia 1975–1982 กล่าวว่าการตายเกิดขึ้นในพื้นที่ด้อยพัฒนาและเกิดกับประชาชนใหม่ที่ถูกส่งไปบุกเบิกพื้นที่ในบริเวณนั้น ในเขตตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้นิยมเวียดนามอยู่มาก และอิทธิพลของพล พตไม่ได้เข้าไปถึงอย่างเต็มที่ การปฏิบัติต่อประชาชนเก่าและประชาชนใหม่เป็นธรรมกว่าและการประหารชีวิตเกิดขึ้นน้อยกว่า ประชาชนใหม่จะไม่ถูกบีบบังคับถ้าให้ความร่วมมือที่ดี ในภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเป็นบริเวณที่มีความอดอยากมากกว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องส่งข้าวเข้าสู่พนมเปญ เขตเหนือและเขตกลาง ส่วนใหญ่ถูกประหารชีวิตมากกว่าเป็นเหยื่อของความอดอยาก ส่วนข้อมูลในเขตตะวันออกเฉียงเหนือมีจำกัด
ปกติในภาษาเขมรจะมีคำที่แสดงถึงระดับชั้นของสังคม ในสมัยเขมรแดง ประชาชนถูกบังคับให้เรียกคนอื่นว่าสหาย (เขมร: មិត្ដ; "มิตร") และงดเว้นการแสดงความเคารพ เขมรแดงได้สร้างคำใหม่ขึ้นใช้ในภาษา เช่น ประชาชนกล่าวว่าพวกเขาต้องทำปลอม (lot dam) ลักษณะของนักปฏิวัติ เพราะพวกเขาเป็นเครื่องมือ (opokar - อุปกรณ์) ขององค์กร การคิดถึงช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติเป็นความทรงจำที่เจ็บป่วย (chheu satek arom) ซึ่งจะทำให้องค์กรมานำตัวไปสู่ค่ายกักกันได้
เขียว พอนนารี ภรรยาของพล พตเป็นผู้นำของสมาคมสตรีประชาธิปไตยเขมร และน้องสาวคือเขียว ธิริทธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม ยุน ยัต ภรรยาของซอน เซนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการศึกษา หลาน ๆ ของพล พตทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหลายคน ลูกสาวของเอียง ซารีเป็นประธานโรงพยาบาลแม้จะไม่จบชั้นมัธยมศึกษา หลานของเอียง ซารีเป็นผู้แปลภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุพนมเปญแม้จะรู้ภาษาอังกฤษน้อยมาก
ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านและการล่มสลาย
แก้ระหว่างการมีอำนาจเหนือกัมพูชา ผู้นำเขมรแดงฝันจะรื้อฟื้นจักรวรรดิเขมรเมื่อพันปีก่อนโดยการเข้าครอบครองดินแดนบางส่วนของไทยและเวียดนาม หลังจากที่ได้ครองอำนาจใน พ.ศ. 2518 ได้มีการปะทะระหว่างทหารเขมรแดงกับทหารเวียดนาม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทหารกัมพูชาโจมตีทหารเวียดนามบนเกาะฟู้โกว๊กและเกาะโถเจาและล้ำเขตเข้าไปในจังหวัดตามแนวชายแดนเวียดนาม ในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่กำปงโสมทางอากาศและเหตุการณ์มายาเกวซ ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีกัมพูชาที่เกาะปูโลไว ทำให้พล พตและเอียง ซารีต้องไปเยือนฮานอย และได้ลงนามในสนธิสัญญาแสดงถึงความเป็นมิตรของทั้งสองประเทศ เวียดนามยังคงยึดครองเกาะนั้นไว้ในเดือนสิงหาคม และยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างที่เขมรแดงครองอำนาจในกัมพูชานี้ ชาวเวียดนามจำนวนมากได้อพยพออกจากกัมพูชา
ทางเขมรแดงได้ติดต่อกับเวียดนามเหนือตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 เพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนและการยอมรับกัมพูชาในฐานะประเทศเอกราช เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถือว่าเขมรแดงเป็นเพียงสาขาหนึ่งของตนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งเดียวในอินโดจีนอย่างไรก็ตาม ฝ่ายเวียดนามไม่สามารถตกลงกับเขมรแดงได้ เพราะเวียดนามไม่ยอมถอนทหารออกจากบริเวณที่เขมรแดงถือว่าล้ำเข้ามาในดินแดนของกัมพูชา และไม่ยอมรับแนวเบรวิเญ่ ที่ใช้แบ่งเขตน่านน้ำของทั้งสองประเทศ แนวนี้กำหนดโดย จูลส์ เบรวิเญ่ ข้าหลวงใหญ่แห่งสหภาพอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2482 ทั้งที่ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้กับสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้เคยตกลงกันให้ใช้แนวเบรวิเญ่เป็นแนวพรมแดนระหว่างกันตั้งแต่ พ.ศ. 2509
ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและกัมพูชาดีขึ้นใน พ.ศ. 2519 เพราะพล พตมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในพรรค ในเดือนพฤษภาคมมีการส่งตัวแทนไปเจรจาเรื่องความขัดแย้งตามแนวชายแดน แต่การเจรจายุติลงโดยไม่สามารถตกลงกันได้ ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศรุนแรงขึ้นอีกในปีเดียวกันนั้นเมื่อทางเวียดนามได้ประกาศรวมชาติอินโดจีน และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับลาวเพื่อให้เขมรแดงทำตาม เมื่อพล พตขึ้นมาเป็นผู้นำใน พ.ศ. 2520 ความสัมพันธ์กับเวียดนามแย่ลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2520 กองทัพเขมรแดงได้บุกโจมตีหมู่บ้านตินห์เบียว ในจังหวัดอันยางของเวียดนาม เวียดนามโต้ตอบด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในกัมพูชา เขมรแดงจึงบุกโจมตีจังหวัดท้ายบิ่ญและจังหวัดฮาเตียนเป็นการโต้ตอบในเดือนกันยายน [53]
นอกจากนั้น กองกำลังเขมรแดงยังโจมตีตามแนวชายแดนลาวและโจมตีหมู่บ้านในบริเวณชายแดนไทยด้านจังหวัดปราจีนบุรี (ในขณะนั้น ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) หลายครั้ง วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520 มีกลุ่มชาวเขมรข้ามแดนมาปล้นสะดมที่บ้านน้อยป่าไร่ บ้านกกค้อ และบ้านหนองดอ อำเภออรัญประเทศ โดยกองกำลังเขมรแดงเข้าโจมตีบ้านหนองดอก่อน จากนั้นจึงโจมตีบ้านกกค้อที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทำให้ที่บ้านหนองดอ มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ ที่บ้านกกค้อ มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ กองกำลังเขมรแดงที่เข้าโจมตีที่บ้านน้อยป่าไร่ ซึ่งกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนประจำการอยู่ เกิดการปะทะกัน ทำให้ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 ศพคือ จ.ส.ต. ภิรมย์ แก้ววรรณา ในที่สุดกองกำลังฝ่ายเขมรแดงได้ล่าถอยไป[54]วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2520 กองกำลังกัมพูชาประชาธิปไตยข้ามแดนเข้ามาโจมตีที่บ้านสันรอจะงันและบ้านสะแหง อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้มีการปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดนและทหารไทย โดย พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตรเป็นผู้นำทหารไทยในการผลักดันกองกำลังกัมพูชาออกไป[54]
ในเวลาใกล้เคียงกัน หมู่บ้านตามแนวชายแดนในเวียดนามถูกโจมตี ทำให้เวียดนามหันมาโจมตีทางอากาศต่อกัมพูชาเป็นการสั่งสอน ในเดือนกันยายน ชาวตามแนวชายแดนเสียชีวิต 1,000 คน ทำให้ในเดือนต่อมา เวียดนามนำทหาร 20,000 นายเข้ามาต่อต้านการโจมตีของเขมรแดง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเขมรแดงกับเวียดนามเลวร้ายลง เพราะเขมรแดงต้องการทำสงคราม และจีนน่าจะอยู่ฝ่ายเขมรแดงระหว่างความขัดแย้งนี้ ในขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งเวียดนามได้ตกลงใจในช่วงต้น พ.ศ. 2521 ที่จะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านพล พต ในที่สุด ได้เกิดการลุกฮือนำโดยโส พิมในภาคตะวันออกในเดือนพฤษภาคม ในระหว่างเวลาดังกล่าว สถานีวิทยุพนมเปญได้ประกาศปลุกระดมให้ชาวกัมพูชาลุกขึ้นต่อสู้กับเวียดนาม โดยกล่าวว่าถ้าทหารกัมพูชา 1 คน ฆ่าชาวเวียดนามได้ 30 คน ทหารกัมพูชาที่มีอยู่ราว 2 ล้านคน จะเพียงพอในการฆ่าชาวเวียดนาม 50 ล้านคน และเพียงพอในการยึดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกลับมาเป็นของกัมพูชา หลังการลุกฮือของโส พิมไม่สำเร็จ ทำให้เกิดการสังหารหมู่ชาวเวียดนามในภาคตะวันออกตามมา ในเดือนพฤศจิกายน วอน เว็ตได้ก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ ทำให้มีทั้งชาวกัมพูชาและชาวเวียดนามจำนวนมากลี้ภัยเข้าไปยังเวียดนาม
ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2521 วิทยุฮานอยได้ประกาศการจัดตั้งแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มผสมระหว่างพวกที่นิยมและไม่นิยมคอมมิวนิสต์ที่ไปลี้ภัยในเวียดนาม และต้องการโค่นล้มระบอบของพล พตโดยมีเวียดนามหนุนหลัง เวียดนามเริ่มบุกรุกเข้ามาในกัมพูชาเมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และใช้เวลาไม่นานก็สามารถยึดพนมเปญได้ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 พล พตและกองกำลังเขมรแดงหลบหนีมายังแนวชายแดนไทยในเขตป่าเขาเพื่อฟื้นฟูกองกำลังขึ้นใหม่ ส่วนแนวร่วมที่เวียดนามหนุนหลังได้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาเพื่อฟื้นฟูประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป
หลังสูญเสียอำนาจ
แก้หลังสูญเสียอำนาจ ฐานของเขมรแดงเหล่านี้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้และได้รับทุนสนับสนุนจากการลักลอบขนเพชรและไม้ ความช่วยเหลือทางทหารจากจีนโดยกองทัพไทย และอาหารที่ลักลอบนำเข้ามาจากตลาดข้ามพรมแดนในประเทศไทย[55] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 กองกำลังเขมรแดงนำโดยพล พตยอมให้นักข่าวชาวญี่ปุ่นเข้าไปสัมภาษณ์ได้ คณะนักข่าวญี่ปุ่นจำนวน 8 คนได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2522 เพื่อเดินทางเข้าสู่กัมพูชาที่ชายแดนด้านจังหวัดสุรินทร์ พล พตได้ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการร่วมมือกับกัมพูชาทุกฝ่ายเพื่อรวมประเทศและปฏิเสธข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คณะนักข่าวชาวญี่ปุ่นเดินทางกลับสู่ประเทศไทยเมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2522 เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ฝ่ายของเฮง สัมรินได้ออกแถลงการณ์โจมตีการพบปะของเขมรแดงกับนักข่าวญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ว่าเป็นความร่วมมือของจีน ญี่ปุ่น ไทยและอาเซียนในการสนับสนุนเขมรแดง [56]
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 เขมรแดงเข้าร่วมในรัฐบาลผสมแนวร่วมเขมรสามฝ่ายภายใต้การนำของสีหนุเพื่อต่อต้านเวียดนามและรัฐบาลพนมเปญ เขมรแดงเข้าร่วมในสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาโดยตัวแทนคือเขียว สัมพัน และซอนเซน และได้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 และร่วมลงนามในข้อตกลง ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เกิดเหตุการณ์จลาจลต่อต้านผู้นำเขมรแดง ประชาชนเข้าทำร้ายนายเขียว สัมพันที่เดินทางมาร่วมประชุมสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาจนบาดเจ็บ ทำให้การประชุมสภาสูงสุดแห่งชาติต้องเลื่อนออกไป[57] เขมรแดงได้จัดตั้งพรรคการเมืองคือพรรคสามัคคีแห่งชาติกัมพูชาเพื่อเตรียมเข้าร่วมการเลือกตั้ง[58] แต่เกิดความหวาดระแวงว่าอาจเป็นกลลวงให้วางอาวุธเพื่อจับตัวไปดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[59] จึงประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยเขมรแดงถอนตัวออกจากการเจรจาสันติภาพ และไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง ไม่ยอมปลดอาวุธและไม่ยอมให้ประชาชนในเขตของตนลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2536[60] จุดยืนของเขมรแดงที่ไม่เข้าร่วมในประบวนการสันติภาพ ตามที่เขียวสัมพันระบุ คือ[61]
- ยังมีทหารเวียดนามจำนวนมากในกัมพูชา โดยปลอมตัวเป็นพลเรือน
- อันแทคร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาลกัมพูชามากกว่าสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชา โดยไม่สามารถถ่ายโอนอำนาจบริหารในกระทรวงสำคัญคือกลาโหม ต่างประเทศ การคลัง มหาดไทยและข่าวสารจากรัฐบาลพนมเปญได้ และยังไม่พอใจกฎหมายเลือกตั้งที่อนุญาตให้คนที่มีเชื้อชาติเวียดนามที่มีพ่อหรือแม่เกิดในกัมพูชาเข้าร่วมการเลือกตั้งได้
- เขมรแดงต้องการยุบเลิกรัฐบาลพนมเปญและให้สภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาขึ้นมามรอำนาจในการบริหารประเทศก่อนการเลือกตั้ง
หลังการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง เขมรแดงเข้ายึดปราสาทพระวิหารจากฝ่ายของฮุน เซนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และขอเปิดการเจรจากับฝ่ายของสีหนุ โดยฝ่ายเขมรแดงยื่นข้อเรียกร้องเข้าร่วมในการบริหารแห่งชาติและตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลใหม่แลกกับการคืนปราสาทพระวิหารและมอบดินแดนที่ยึดไว้คืนให้ฝ่ายรัฐบาล สมเด็จสีหนุทรงเห็นด้วยที่จะรับเขมรแดงเข้าร่วมรัฐบาล แต่ฮุน เซนและนโรดม รณฤทธิ์ไม่เห็นด้วย สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาแทรกแซงโดยประกาศจะตัดความช่วยเหลือกัมพูชา หากมีเขมรแดงร่วมรัฐบาล[62] การเจรจาเพื่อการปรองดองแห่งชาติตามนโยบายของสมเด็จพระนโรดม สีหนุที่เสนอให้เขมรแดงเข้าร่วมในการบริหารประเทศโดยต้องยอมคืนพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศให้แก่รัฐบาลและยุบเลิกกองกำลังทั้งหมด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อ 27 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ที่กรุงเปียงยางเกาหลีเหนือล้มเหลว ฝ่ายรัฐบาลจึงออกกฎหมายให้เขมรแดงเป็นกลุ่มนอกกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 103 ต่อ 0[63]
เมื่อรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาประกาศให้พรรคการเมืองของเขมรแดงเป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย เขมรแดงได้ตอบโต้โดยจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสหภาพแห่งชาติและการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชา[64] ที่จังหวัดไพลินและจังหวัดพระวิหารเขมรแดง พยายามเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาในรัฐบาลใหม่แต่ก็ยังประกาศต่อต้านรัฐบาลใหม่ด้วยอาวุธด้วย รัฐบาลพนมเปญส่งกำลังทหารเข้าปราบเขมรแดงใน พ.ศ. 2537 แต่กองกำลังของเขมรแดงยังยันกำลังฝ่ายรัฐบาลไว้ได้ เขมรแดงพยายามตอบโต้รัฐบาลโดยลักพาตัวชาวบ้านเข้าไปเป็นแรงงานเพื่อเตรียมสู้กับฝ่ายรัฐบาล เช่น ในช่วง 24 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เขมรแดงเข้ามาลักพาตัวชาวบ้านในจังหวัดเสียมราฐไปราว 150 คน เพื่อนำไปซ่อมสร้างถนนและขนอาวุธให้เขมรแดง [65] การรบของเขมรแดงเน้นการรบแบบจรยุทธ์ ส่วนกลยุทธของฝ่ายรัฐบาลคือพยายามขยายนำความเจริญเข้าไปสู่พื้นที่ห่างไกล เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธพลของเขมรแดง และพยายามชักนำให้ทหารระดับล่างของเขมรแดงแปรพักตร์มาร่วมกับฝ่ายรัฐบาล โดยใน พ.ศ. 2536 มีทหารเขมรแดงมอบตัวราว 1,000 คนและใน พ.ศ. 2537 มีทหารเขมรแดงในจังหวัดกำปอตมอบตัวอีกประมาณ 150 – 200 คน[65] ในขณะเดียวกัน รัฐบาลพนมเปญมักจะกล่าวหาทหารไทยว่าให้ความช่วยเหลือเขมรแดงเมื่อเกิดเหตุปะทะกันตามแนวชายแดน ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทหารไทยกับทหารกัมพูชาปะทะกันที่ช่องพระประไล อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยทหารกัมพูชาล้ำแดนเข้ามาและซุ่มโจมตีรถบรรทุกทหารในฝั่งไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าทหารไทยล้ำแดนกัมพูชาและส่งเสบียงให้เขมรแดง[66]
ใน พ.ศ. 2539 เริ่มมีความแตกแยกอย่างรุนแรงในกลุ่มเขมรแดงซึ่งถึงแม้จะต่อสู้กับรัฐบาลด้วยกำลังทหารได้แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป ความแตกแยกเห็นได้จากการหันมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพนมเปญของเอียง สารี และทหารเขมรแดงกว่า 3,000 คน ที่เข้ามอบตัวต่อฝ่ายรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 และจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองคือขบวนการสหภาพแห่งชาติประชาธิปไตย[67] ในขณะที่วิทยุเขมรแดงออกมาโจมตีเอียง ซารีว่าฉ้อโกงเงินจากกองทัพเขมรแดงจำนวน 400 ล้านบาท และไม่ยอมนำรายได้จากการค้าพลอยและไม้เข้าสู่กองทุนรวมของพรรค[63] และการที่พอล พต สั่งฆ่าซอน เซนและครอบครัวเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540[68] เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 เขมรแดงนำโดยเขียว สัมพัน ตา มก ตา มุต และตา มิตยังเข้าช่วยฝ่ายของพระนโรดม รณฤทธิ์ในการต่อสู้กับทหารฝ่ายของฮุน เซนแต่สุดท้ายฝ่ายของพระนโรดม รณฤทธิ์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้[69] ต่อมาใน พ.ศ. 2540 นี้เอง เขียว สัมพันได้แยกตัวออกจากเขมรแดงไปจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองคือพรรคเอกภาพแห่งชาติเขมร เพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541
หลังจากการเสียชีวิตของพอล พต เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2541 กองกำลังเขมรแดงส่วนใหญ่ได้ยอมวางอาวุธ เขียว สัมพัน กับนายเจียยอมจำนนต่อฮุน เซนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ทำให้เหลือเพียงกองกำลังติดอาวุธจำนวนน้อยของตาม็อกเท่านั้น เขียว สัมพันและตาม็อกประกาศยกเลิกรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสหภาพแห่งชาติและการปลดปล่อยแห่งชาติกัมพูชาหลังการเสียชีวิตของพล พต ใน พ.ศ. 2541 ตาม็อกถูกฝ่ายรัฐบาลจับได้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตาม็อกและกังเก็กเอียงที่เป็นผู้บัญชาการคุกต็วล ซแลง ที่ใช้คุมขังนักโทษการเมืองในขณะที่เขมรแดงเรืองอำนาจ ถูกตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดง
แก้ใน พ.ศ. 2540 รัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการที่จะดำเนินคดีกับผู้นำเขมรแดงในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กระบวนการเกิดขึ้นช้า ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีและชาติแคลนเงินทุน หลายประเทศได้ให้เงินสนับสนุนรวมทั้งอินเดียและญี่ปุ่น แต่จนเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 เงินทุนก็ยังไม่เพียงพอ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลสูงของกัมพูชาได้ตัดสินว่าผู้นำเขมรแดง 30 คนมีความผิด และสหประชาชาติเสนอให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
ใน พ.ศ. 2550 นายเอียง ซารีและนางเขียว ธิริธภรรยา ถูกจำคุกที่ศาลนานาชาติกรุงพนมเปญตามคำสั่งของสมเด็จ ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีและส่วนนั้นยังไม่มีผู้รายงานมาดำเนินคดี มีเพียงเหลือแต่เขียว สัมพัน อายุ 75 ปี และคัง เค็ค เอียว หรือ สหายดุช อดีตหัวหน้าเรือนจำต็วลแซลง เท่านั้น ที่จะดำเนินคดีล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร กัง เก็ก เอียวหรือสหายดุจ อดีตผู้ควบคุมคุกตวลแซลงถูกดำเนินคดีเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชากว่า 1.7 ล้านคน
สิ่งที่เหลืออยู่
แก้พิพิธภัณฑ์ต็วลซแลง
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ศิลปะและวรรณกรรม
แก้- KAMBOJIA WAGA-AI “สี่ปีนรกในเขมร” เขียนโดยยาสึโอะ นะอิโตะ แปลเป็นภาษาไทยโดยผุสดี นาวาวิจิตร[70] เป็นเรื่องราวจากบันทึกประจำวันของผู้เขียนที่เป็นภรรยาของทูตชาวกัมพูชา สามีและลูกชาย 2 คนของเธอ เสียชีวิตระหว่างการปกครองของเขมรแดง [71]
- วัน นัธ จิตรกรที่มีชื่อเสียงของกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดนักโทษจากคุก S-21 ที่มีชีวิตอยู่เมื่อเวียดนามยึดพนมเปญได้ ได้นำประสบการณ์ในคุกต็วลแซลงมาเขียนเป็นภาพ และเขียนหนังสือเรื่อง A Cambodian Prison Portrait: One Year in the Khmer Rouge's S-21 Prison
- In the Shadow of the Banyan เขียนโดยหม่อมราชวงศ์กษัตรี สีสุวัตถิ์ (ศรีสวัสดิ์) เล่าถึงชีวิตของพระองค์ที่ถูกกวาดต้อนออกจากพนมเปญหลังจากที่เขมรแดงเข้าพนมเปญได้ ซึ่งเมื่อเวียดนามเข้ามาปลดปล่อยกัมพูชาใน พ.ศ. 2522 นั้น ครอบครัวของพระองค์สิ้นพระชนม์หมดสิ้น มีเพียงพระองค์กับพระมารดาเท่านั้นที่รอดชีวิตอยู่ เรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยโดยนิลุบล พรพิทักษ์พันธุ์ในชื่อเรื่อง “ร่มไทรวิปโยค” [72]
- Beyond the Horizon: Five year with the Khmer Rouge เขียนโดย Laurence Picq ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ และได้แต่งงานกับผู้นำของเขมรแดงระดับกลาง และเป็นชาวตะวันตกเพียงคนเดียวที่อยู่ในกัมพูชาในยุคกัมพูชาประชาธิปไตย
- ยก คุณ นักเขียนขาวกัมพูชาได้เขียนเรื่อง “ชีวิตเจ็บช้ำในระบอบพล พต” เป็นภาษาเขมร[73]
- สีจันทร์ ศิว์ ทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติได้เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขมรแดงขึ้นครองอำนาจ และการหลบหนีออกนอกประเทศกัมพูชาของเขา ในชื่อเรื่อง Golden bones เรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อเรื่อง"กระดูกทองคำ"โดยเสาวณีย์ นิวาศะบุตร[74]
ภาพยนตร์
แก้- ภาพยนตร์เรื่อง S-21: The Khmer Rouge Killing Machine สร้างจากความทรงจำของวัน นัธ [75]
- ภาพยนตร์เรื่องทุ่งสังหาร (The Killing Fields) เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งกล่าวถึงประเทศกัมพูชาในยุคการปกครองของเขมรแดง โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากประสบการณ์จริงของนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปทำข่าวในกัมพูชาขณะนั้น 3 คน ได้แก่ ซิดนีย์ ชานเบิร์ก นักข่าวชาวอเมริกัน ดิธ ปราน ล่ามและนักข่าวชาวเขมร และจอน สเวน นักข่าวชาวอังกฤษ
- ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ได้แก่ Cambodia: Between War and Peace The Conscience of Nhem En Deacon of Death Enemies of the People The Land of the Wandering Souls Monkey Dance New Year Baby Samsara: Death and Rebirth in Cambodia Year Zero: The Silent Death of Cambodia
- ภาพยนตร์เรื่อง First They Killed My Father ซึ่งกำกับโดย Angelina Jolie จากหนังสือชื่อเรื่องเดียวกัน เขียนโดย Loung Ung [76]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 Kiernan, Ben (2004). How Pol Pot Came to Power: Colonialism, Nationalism, and Communism in Cambodia, 1930–1975. Yale University Press. ISBN 978-0300102628.
- ↑ 2.0 2.1 Cook, Susan; Rowley, Kelvin (2017). Genocide in Cambodia and Rwanda: New Perspectives (PDF). Routledge. ISBN 9781351517775.
- ↑ "How Thatcher gave Pol Pot a hand". New Statesman. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 29 June 2018.
- ↑ "Butcher of Cambodia set to expose Thatcher's role". The Guardian. 9 January 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-12. สืบค้นเมื่อ 29 June 2018.
- ↑ Becker, Elizabeth (1998-04-17). "Death of Pol Pot: The Diplomacy; Pol Pot's End Won't Stop U.S. Pursuit of His Circle". The New York Times. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
- ↑ Parkinson, Charles; Cuddy, Alice; Pye, Daniel (May 29, 2015). "The Pol Pot dilemma". The Phnom Penh Post. Phnom Penh, Cambodia. สืบค้นเมื่อ March 7, 2022.
- ↑ ชื่อ Khmer Rouge มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า ชาวเขมรสีแดง (Red Khmer) ได้รับการบัญญัติโดย พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ แต่ขบวนการคอมมิวนิสต์ของกัมพูชาไม่เคยเรียกตนเองด้วยชื่อนี้ ดู David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot, revised edition. (Chiang Mai: Silkworm Books, 2000.) P. 214.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. รัฐกับสังคมกัมพูชา (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.) หน้า 11
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 12
- ↑ "ไทยผิดหรือเวียดถูก? เปิดปมดราม่าแถลงอาลัยป๋า". posttoday. 11 June 2019. สืบค้นเมื่อ 25 February 2023.
- ↑ “Pol Pot Dead.” BBC News (April 16, 1998.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
- ↑ ““ตาม็อก” อดีตผู้นำเขมรแดงสิ้นชีพ[ลิงก์เสีย].” The Krungthep turakij web site (21 กรกฎาคม 2549.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
- ↑ “ศาลกัมพูชาตั้งข้อหาอดีตหัวหน้าคุกเขมรแดงก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.” Manager Online (1 สิงหาคม 2550.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
- ↑ “The Khmer Rouge trials: Better Late Than Never.” Economist.com (August 2, 2007.) เรียกข้อมูล 5 กันยายน พ.ศ. 2550
- ↑ "จับ "นวน เจีย" เบอร์ 2 เขมรแดงขึ้นศาล เก็บถาวร 2008-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." หนังสือพิมพ์มติชน (20 กันยายน 2550, ปีที่ 30, ฉบับที่ 10785.) หน้า 21.
- ↑ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ (กรุงเทพฯ : สัญญาพับลิเคชั่น, 2536.) หน้า 168, 170 – 173.
- ↑ David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. Pp. 25, 32.
- ↑ “The beginning of the Khmer Rouge Army...: The Rising of the Khmer Students' Association เก็บถาวร 2008-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.” Khmer_Rouge.
- ↑ ปิแอร์ โบรเชิซ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้กล่าวถึง “วงมาร์กซิสต์” ว่าเป็น กิจกรรมคอมมิวนิสต์ “วงนอก” เนื่องจากกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบและตรวจสอบจากพรรค (ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมกลุ่มหนึ่งของพรรคเอง) แต่สามารถให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้าร่วมได้ ดู David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. P. 33.
- ↑ David P. Chandler. Ibid. Pp. 28, 34.
- ↑ David P. Chandler. Ibid. P. 35.
- ↑ เจ้าสีหนุเรียกการรัฐประหารครั้งนั้นว่า “สงครามศักดิ์สิทธิ์ของราชวงศ์เพื่อเอกราช” (The Royal Crusade for Independence) โดยพระองค์ได้ให้เหตุผลว่า ทำไปเพื่อดำเนินการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสให้ได้ภายใน พ.ศ. 2498 ดู ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 380
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 289 – 290
- ↑ David P. Chandler. Brother Number One: A Political Biography of Pol Pot. Pp. 37 – 38.
- ↑ David P. Chandler. The Tragedy of Cambodian History: Politics, War, and Revolution since 1945 (Chiang Mai: Silkworm Books, 1999.) P. 66.
- ↑ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 171.
- ↑ หนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมที่ตีพิมพ์ในกัมพูชาขณะนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายตรายี่ห้อ เช่น ประชาชน มิตรภาพ หรือเอกภาพ เป็นต้น ดู ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 386.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 386 – 387.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 386.
- ↑ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 172.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 385 – 386.
- ↑ Margaret Slocomb. The People’s Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot (Chiang Mai: Silkworm Books, 2003.) Pp. 8 – 9.
- ↑ Margaret Slocomb. Ibid. Pp. 9 – 10.
- ↑ บริเวณดังกล่าวนี้ ถือเป็นพื้นที่หลักของฐานที่มั่นลับฝ่ายเวียดนาม ดู Margaret Slocomb. Ibid. P. 10.
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 311.
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 318.
- ↑ 37.0 37.1 Margaret Slocomb. The People's Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot. P. 11.
- ↑ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 167.
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 319.
- ↑ ช่วงปลาย พ.ศ. 2515 รัฐบาลของสาธารณรัฐกัมพูชาสามารถควบคุมกรุงพนมเปญ บางส่วนของจังหวัดพระตะบอง และจังหวัดขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือของประเทศ "ถ้าไม่อยู่ในมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็เป็นที่ๆ ไม่ปลอดภัยในทางการปกครอง" ดู เดวิด แชนเลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 326.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. "การเมืองในกัมพูชา, " เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นยุคสงครามเย็น. หน้า 394.
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 327.
- ↑ ขณะนั้น กรุงพนมเปญเต็มไปด้วยชาวชนบทผู้ลี้ภัยจากการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบบี-52 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปฏิบัติการในเขตชนบทเป็นเวลา 200 วัน ใน พ.ศ. 2516 ดู Margaret Slocomb. The People's Republic of Kampuchea 1979 – 1989: The Revolution After Pol Pot. Pp. 17 – 18.
- ↑ เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 327 – 328.
- ↑ เบญจาภา ไกรฤกษ์, ม.ร.ว. เนาขแมร์, ประยงค์ คงเมือง บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.) หน้า 193.
- ↑ 46.0 46.1 ธีระ นุชเปี่ยม. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542.) หน้า 93.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 96.
- ↑ ชุมพล เลิศรัฐการ. กัมพูชาในการเมืองโลก : บทบาทของเจ้าสีหนุกับสงครามและสันติภาพ. หน้า 178.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. “การเมืองในกัมพูชา, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น. หน้า 397 – 398.
- ↑ Jonathan Glover. Humanity: A Moral History of the Twentieth Century (Yale Nota Bene, 2001.) P. 301.
- ↑ ธีระ นุชเปี่ยม. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองกัมพูชา. หน้า 93 – 94.
- ↑ East and Southeast Asia: A Multidisciplinary Survey. Colin Mackerras, eds. (Colorado: Lynne Rienner Publishers, 1995.) P. 589.
- ↑ เขียว สัมพัน. ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า. อภิญญา ตะวันออก, แปล. กทม. มติชน.2549
- ↑ 54.0 54.1 รุ่งมณี เมฆโสภณ. ถกแขมร์ แลเขมร. กทม. บ้านพระอาทิตย์. 2552
- ↑ Fawthrop, Tom; Jarvis, Helen (2014). Getting Away With Genocide?. ISBN 0-86840-904-9.
- ↑ รุ่งมณี เมฆโสภณ. ถกแขมร์ แลเขมร. กทม. บ้านพระอาทิตย์. 2552
- ↑ วัชรินทร์ ยงศิริ.ตามรอยจีนเข้าพนมเปญ ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 199-203
- ↑ David Lea & Colette Milward (Ed.). A Political Chronology of South-East Asia and Oceania. London: Psychology Press. 2001. p. 33
- ↑ เขียว สัมพัน. ประวัติศาสตร์กัมพูชากับบทเรียนที่ผ่านมาของข้พเจ้า. อภิญญา ตะวันออก แปล. กทม. มติชน. 2549
- ↑ พวงทอง ภวัครพันธุ์. 2552. สงคราม การค้าและชาตินิยมในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา. กทม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์. หน้า 41 – 84
- ↑ วัชรินทร์ ยงศิริ.ทางเลือกของเขมรแดง ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 156-162
- ↑ วัชรินทร์ ยงศิริ. ความปรองดองแห่งชาติกัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 135-142
- ↑ 63.0 63.1 วัชรินทร์ ยงศิริ. ความแตกแยกของเขมรแดง.. ใครได้ใครเสีย ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 73-81
- ↑ Philip Short. Pol Pot: Anatomy of a Nightmare. Macmillan. New York: Henry Holt and Company, LLC. 2004. p. 434
- ↑ 65.0 65.1 วัชรินทร์ ยงศิริ.วัฏจักรสงครามในกัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 82 – 88
- ↑ วัชรินทร์ ยงศิริ.วิพากษ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 263-265
- ↑ Peter H. Maguire. Facing Death in Cambodia. New York: Columbia University Press. 2005. pp. 103-104.
- ↑ ไมเคิล ลีเฟอร์. พจนานุกรมการเมืองสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กทม. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2548.
- ↑ วัชรินทร์ ยงศิริ. สงครามกัมพูชา จุดสุดท้ายที่โอร์เสม็ด ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 30-37
- ↑ ‘ผุสดี นาวาวิจิต’ บรรณาธิการ สนพ.ผีเสื้อ ผู้แปล 4 ปี นรกในเขมร และโต๊ะโตะจัง ถึงแก่กรรมแล้ว
- ↑ "สี่ปีนรกในเขมร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 2013-04-17.
- ↑ "ร่มไทรวิปโยค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-01. สืบค้นเมื่อ 2013-04-28.
- ↑ บัญญัติ สาลี. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาตการพิมพ์. 2551
- ↑ กระดูกทองคำ[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Vann Nath Film Biography - Film - Time Out London". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-13. สืบค้นเมื่อ 2013-04-17.
- ↑ https://www.netflix.com/title/80067522
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลทั่วไป
แก้- From Sideshow to Genocide
- The Khmer Rouge Canon 1975-1979: The Standard Total Academic View on Cambodia เก็บถาวร 2008-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ข้อมูลเกี่ยวกับศาลพิเศษและการพิจารณาคดีอดีตผู้นำเขมรแดง
แก้- Khmer Rouge Trial Portal เก็บถาวร 2010-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia (ECCC)
- The Khmer Rouge Trial Task Force เก็บถาวร 2005-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ใน Cambodia e-Gov Homepage
หนังสือและบทความ
แก้- สุวัฒน์ ทาสุคนธ์. (2558, ก.ค.-ธ.ค.). การใช้อำนาจทางการเมืองของเขมรแดงกลุ่มปัญญาชนปารีส ค.ศ. 1975-1979. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 37(2): 103-139.