พล พต
พลเอก สาฬุต ส (เขมร: សាឡុត ស สาฬุต ส) หรือ พล พต (เขมร: ប៉ុល ពត ปุล พต, ออกเสียง: ปล โปต; 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 – 15 เมษายน พ.ศ. 2541) เป็นนักปฏิวัติชาวกัมพูชาที่เป็นผู้นำเขมรแดง[3] ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 – 2540 ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2506 – 2524 เขาเป็นเลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา และเป็นผู้นำของกัมพูชาเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เมื่อกองกำลังของเขายึดครองพนมเปญได้ และระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2522 เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาประชาธิปไตย รัฐบาลของเขาได้เคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมากไปยังชนบทให้ทำงานในนารวม และบังคับใช้แรงงาน ผลร่วมกันของการประหารชีวิตฝ่ายตรงข้าม การทำงานหนัก การขาดแคลนอาหารและการแพทย์ที่ย่ำแย่ ทำให้ประชากรกัมพูชาเสียชีวิตไปราว 25%[4][5][6] หรือราว 1-3 ล้านคน (จากประชากรขณะนั้นราว 8 ล้านคน) ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของเขา[7][8][9] ใน พ.ศ. 2522 หลังจากสงครามกัมพูชา-เวียดนาม พล พตได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาและรัฐบาลเขมรแดงล่มสลาย[10] เขาและสมาชิกที่เหลือตั้งศูนย์บัญชาการเขมรแดงที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างนั้น สหประชาชาติยอมรับให้เขมรแดงเป็นรัฐบาลของกัมพูชา พล พตเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2541 ขณะถูกคุมขังในบ้านโดยกลุ่มของตา มก โดยยังมีข้อสงสัยว่าฆ่าตัวตายหรือถูกวางยาพิษ[11]
พล พต ប៉ុល ពត | |
---|---|
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา | |
ดำรงตำแหน่ง 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2524 (18 ปี 287 วัน) | |
รอง | นวน เจีย |
ก่อนหน้า | ตู สามุต |
ถัดไป | ถูกล้มล้าง (พรรคการเมืองสลายตัว) |
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประชาธิปไตย | |
ดำรงตำแหน่ง 25 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 7 มกราคม พ.ศ. 2522 (2 ปี 74 วัน) | |
ประธานาธิบดี | เขียว สัมพัน |
ก่อนหน้า | นวน เจีย (รักษาการ) |
ถัดไป | แปน โสวัณ |
ดำรงตำแหน่ง 14 เมษายน พ.ศ. 2519 – 27 กันยายน พ.ศ. 2519 (0 ปี 166 วัน) | |
ประธานาธิบดี | เขียว สัมพัน |
ก่อนหน้า | เขียว สัมพัน (รักษาการ) |
ถัดไป | นวน เจีย (รักษาการ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2468[1] แพรกสเบา จังหวัดกำปงธมอินโดจีนฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 15 เมษายน พ.ศ. 2541 (72 ปี) อันลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย |
ศาสนา | ไม่มีศาสนา (เดิม ศาสนาพุทธ) |
พรรคการเมือง | พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย |
คู่สมรส | เขียว พอนนารี (2459-2522) เมีย ซน (2530-2541) |
บุตร | ซอ พัชฏะ (Sar Patchata)[2] |
ลายมือชื่อ | |
ผู้กุมอำนาจที่แท้จริงในเขมรแดง | |
วัยเด็ก
แก้ซาลต ซอร์ เกิดเมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 เป็นบุตรของเพ็น ซาลต และซก เนม มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน คือ[12]
- ลต ซีม (Loth Sem)
- ลต ซวง (Loth Soung)
- ลต แซง (Loth Seng)
- ลต เสรือง (Loth Sroeung) คนนี้เป็นเจ้าจอมคนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
- ลต ฉาย (Loth Chhay)
- ลต ซอ หรือ พล พต
- ลต แญบ (Loth Nhep)
เขาอ่อนกว่าลต ฉายที่เป็นพี่ชายของเขา 3 ปี ครอบครัวของเขาอยู่ในหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ในแพรกสเบา จังหวัดกำปงธม ในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส[13] เพ็น ซาลตเป็นชาวนา มีเนื้อที่เพียง 12 เฮกตาร์ จัดเป็นครอบครัวชนชั้นกลางในสมัยนั้น ครอบครัวนี้มีสายเลือดจีน-เขมร[14][15] ใน พ.ศ. 2478 ซาลต ซอร์ไปเข้าโรงเรียนคาทอลิกในพนมเปญ โดยอยู่กับเมียกที่เป็นญาติของเขา ซี่งเธอเป็นนางรำหลวง[16] ที่ไปอยู่ในวังตั้งแต่ 8 ขวบ[12] เคยบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 10 ขวบ ซอร์พักกับเมียกจนถึง พ.ศ. 2490 จึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยพระสีสุวัตถ์
ปารีส
แก้ต่อมา ซอร์ไปเรียนที่โรงเรียนเทคนิคที่รุสเซยแกว ทางเหนือของพนมเปญ และได้ผ่านไปเรียนเทคนิคที่ฝรั่งเศส เขาเรียนเกี่ยวกับวิทยุอิเล็กทรอนิกส์ในปารีสตั้งแต่ พ.ศ. 2492 – 2496 เขาได้ไปร่วมงานแรงงานนานาชาติที่ซาเกร็บ ยูโกสลาเวียเมื่อ พ.ศ. 2493 หลังจากที่โซเวียตยอมรับเวียดมินห์เป็นรัฐบาลเวียดนามใน พ.ศ. 2493 แนวคิดต่อต้านอาณานิคมของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเป็นที่ดึงดูดของนักเรียนชาวกัมพูชารวมทั้งซอร์ ใน พ.ศ. 2494 เขาเข้าร่วมเป็นหน่วยของพรรคคอมมิวนิสต์ในองค์กรลับ ซึ่งควบคุมนักศึกษาเขมรในปีเดียวกัน และอีกไม่กี่เดือน เขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์
กลับสู่กัมพูชา
แก้หลังจากสอบตกหลายครั้ง ซอร์ถูกบังคับให้กลับสู่กัมพูชาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496 การที่เขาเข้าร่วมกับกลุ่มฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส ทำให้ถูกถอนทุน แต่พี่ชายคือลต ซวงช่วยส่งเสียจนเรียนจบ[12] เขาเป็นสมาชิกองค์กรลับคนแรกที่กลับสู่กัมพูชา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2494 ซอร์พร้อมด้วยราท ซัมเมือนเดินทางไปยังเขตของเวียดมินห์ในหมู่บ้านกระเบา จังหวัดกำปงจามและจังหวัดเปรยแวงใกล้กับชายแดนกัมพูชา ซอร์ได้เรียนรู้ว่าพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรมีขนาดเล็กกว่าองค์กรแนวร่วมของชาวเวียดนาม สนธิสัญญาสันติภาพเจนีวาใน พ.ศ. 2497 ทำให้กองกำลังของเวียดมินห์ทั้งหมดต้องถอนตัวออกไป มีกลุ่มของชาวเขมรจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังเวียดนามด้วย ส่วนซอร์เลือกกลับมากัมพูชา
หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราช พรรคฝ่ายซ้ายและพรรคฝ่ายขวาในกัมพูชาได้ต่อสู้กันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พระนโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชาได้จัดตั้งพรรคการเมืองต่อต้านทั้งสองกลุ่ม โดยใช้กำลังตำรวจและทหารในการกดดัน การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใสใน พ.ศ. 2498 ทำให้ฝ่ายซ้ายของกัมพูชาหมดความหวังที่จะต่อสู้ตามกฎหมาย ขบวนการสังคมนิยมได้เปลี่ยนไปใช้การต่อสู้แบบกองโจร เมื่อซอร์กลับสู่พนมเปญ เขาเข้าร่วมกับกลุ่มพรรคฝ่ายซ้าย ซอร์แต่งงานกับเขียว พอนนารี เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 พอนนารีไปเป็นครูที่ลิซี สีสุวัตถ์ ส่วนซอร์ไปสอนวรรณคดีฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อจำเริญวิชา[17]เขาเคยออกหนังสือพิมพ์ชื่อสามักกี ร่วมกับพี่ชายชื่อ ลต ฉาย[12] ต่อมาถูกรัฐบาลของเจ้าสีหนุสั่งปิด
กบฏ
แก้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2505 รัฐบาลได้จับกุมผู้นำส่วนใหญ่ของกรมประชาชนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายก่อนการเลือกตั้ง ในเดือนมิถุนายน หนังสือพิมพ์และสื่ออื่น ๆ ถูกปิด ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2505 ตู สามุตซึ่งเป็นเลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาถูกจับกุมและถูกสังหารในที่สุด ซอร์จึงได้ขึ้นเป็นผู้นำ ใน พ.ศ. 2506 พรรคได้จัดการประชุมและเลือกซอร์ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ในเดือนมีนาคม ซอร์ได้ไปซ่อนตัวหลังจากชื่อของเขาปรากฏในบัญชีดำของพระนโรดม สีหนุ เขาหนีไปยังแนวชายแดนเวียดนามและร่วมกับหน่วยของชาวเวียดนามต่อสู้กับเวียดนามใต้ ต้นปี พ.ศ. 2507 ซอร์ติดต่อกับเวียดนามให้ช่วยเหลือนักสังคมนิยมชาวกัมพูชาให้ตั้งค่ายตามแนวชายแดน ที่ค่ายนี้เอง แนวคิดของเขมรแดงได้พัฒนาขึ้นมา พรรคได้ทำลายแนวคิดแบบลัทธิมาร์ก ประกาศให้ชาวนาเป็นชนชั้นกรรมาชีพที่แท้จริงและเป็นเลือดแห่งการปฏิวัติ คณะกรรมการของพรรคได้สร้างสังคมแบบฟิวดัลขึ้นมา
หลังจากการกดดันของเจ้าสีหนุใน พ.ศ. 2508 กองกำลังเขมรแดงของซอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ครูและนักเรียนที่นิยมฝ่ายซ้ายเดินทางไปยังชนบทเพื่อร่วมขบวนการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2508 ซอร์เดินทางไปยังเวียดนามเหนือเพื่อขอความช่วยเหลือและสนับสนุนในการต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา เวียดนามเหนือปฏิเสธการสนับสนุนเพราะกำลังเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา พระนโรดม สีหนุสัญญาว่าจะยอมให้ชาวเวียดนามใช้แผ่นดินและท่าเรือของกัมพูชาในสงครามต่อต้านเวียดนามใต้ หลังจากกลับสู่กัมพูชาใน พ.ศ. 2509 ซอร์ได้ประชุมพรรคอย่างลับ ๆ เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมปูเจีย และเตรียมพื้นที่สำหรับการลุกฮือ ต้นปี พ.ศ. 2509 การต่อสู้เกิดขึ้นในชนบทระหว่างผู้ใช้แรงงานและรัฐบาลเกี่ยวกับราคาข้าว การที่รัฐบาลปฏิเสธการเจรจาอย่างสันติทำให้โอกาสเป็นของฝ่ายสังคมนิยม ต้นปี พ.ศ. 2510 ซอร์ตัดสินใจให้มีการลุกขึ้นสู้ระดับชาติ แม้ว่าเวียดนามเหนือปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ การลุกขึ้นสู้เกิดขึ้นเมื่อ 18 มกราคม พ.ศ. 2511 ทางใต้ของพระตะบอง
ขึ้นสู่อำนาจ
แก้ใน พ.ศ. 2512 ซอร์ได้เรียกประชุมพรรคเพื่อเปลี่ยนกลยุทธการโฆษณาชวนเชื่อ ก่อน พ.ศ. 2512 การต่อต้านสีหนุถือเป็นกลยุทธสำคัญ แต่ในปีนี้ กลยุทธเปลี่ยนเป็นต่อต้านพรรคฝ่ายขวาของกัมพูชาและกลุ่มที่นิยมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนนโยบายสาธารณะแต่ไม่ได้เปลี่ยนมุมมองส่วนบุคคลของเขา
เส้นทางสู่อำนาจของซอร์และเขมรแดงเปิดกว้างจากเหตุการณ์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 พระนโรดม สีหนุสั่งให้รัฐบาลจัดการประท้วงต่อต้านเวียดนามในพนมเปญก่อนที่เขาจะเดินทางไปต่างประเทศ การประท้วงลุกลามอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก พระนโรดม สีหนุได้ประกาศจากปารีสประณามกลุ่มที่ก่อความวุ่นวาย ในที่สุดได้เกิดรัฐประหาร ปลดพระนโรดม สีหนุออกจากประมุขรัฐ ปิดท่าเรือไม่ให้เวียดนามเหนือใช้ และให้เวียดนามเหนือออกไปจากกัมพูชา เวียดนามเหนือตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชาโดยส่งฝ่าม วัน ดง ไปพบพระนโรดม สีหนุที่จีนและให้เป็นพันธมิตรกับเขมรแดง ซอร์ได้เดินทางไปปักกิ่งในเวลาเดียวกับพระนโรดม สีหนุแต่ทั้งจีนและเวียดนามไม่ได้จัดให้พบกัน หลังจากนั้น พระนโรดม สีหนุได้ออกอากาศทางวิทยุขอให้ประชาชนชาวกัมพูชาต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนเขมรแดง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 ซอร์เดินทางกลับสู่กัมพูชา ก่อนหน้านั้นในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2513 กองทัพเวียดนามเหนือได้โจมตีกัมพูชา โดยรุกเข้ามาในกัมพูชาตะวันออกจนห่างกรุงพนมเปญเพียง 25 กม. ซอร์และเขมรแดงมีบทบาทน้อยมากในการนี้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 ซอร์ได้เรียกร้องให้กัมพูชาตัดสินใจอนาคตของตนเอง เป็นอิสระจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดยืนแรกของนโยบายต่อต้านเวียดนาม และกลายเป็นหัวใจสำคัญของระบบพล พตในเวลาต่อมา
ตลอดปี พ.ศ. 2514 เวียดนามเหนือและเวียดกงได้ร่วมต่อสู้ต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ในขณะที่ซอร์และเขมรแดงเป็นเพียงผู้ช่วย ซอร์ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โดยปรับปรุงกองทัพให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซอร์ได้ใช้ทรัพยากรของเขมรแดงในการให้ความรู้ทางการเมือง ซอร์ได้แสดงให้เห็นว่าต้องการตรวจสอบภูมิหลังของสมาชิกเพิ่มขึ้น นักศึกษาหรือกรรมกรชั้นกลางถูกปฏิเสธจากพรรค มีการสืบภูมิหลังก่อนรับเข้าเป็นสมาชิก และได้มีการแบ่งแยกทางปัญญาระหว่างกลุ่มเก่าที่มีการศึกษากับกลุ่มใหม่ที่เป็นแรงงานไร้การศึกษา
ต้นปี พ.ศ. 2515 ซอร์ได้เดินทางไปในพื้นที่ที่เวียดนามเหนือเข้ามาควบคุมในกัมพูชา ขณะนั้นจีนได้สนับสนุนอาวุธแก่เขมรแดง เขาได้พยายามสร้างความเป็นอิสระของพรรคโดยหารายได้จากการปลูกยางด้วยการบังคับใช้แรงงานในกัมพูชาตะวันออก ซอร์ได้พยายามจัดการควบคุมพรรคใหม่ ชนกลุ่มน้อยเช่น ชาวจามถูกบังคับให้แต่งกายแบบชาวกัมพูชา นโยบายเหล่านี้ เช่น ห้ามชาวจามสวมใส่อัญมณีได้ขยายไปทั่วอย่างรวดเร็ว ซอร์เสนอการปฏิรูปที่ดินอย่างเข้มงวด นโยบายใน พ.ศ. 2515 มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนประชากรและสร้างความเสมอภาค ซึ่งเป็นที่นิยมของแรงงานยากจน แต่ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้อพยพจากเมืองที่ออกมาอยู่ในชนบท ใน พ.ศ. 2515 กองทัพเวียดนามเหนือ ถอนตัวออกจากการต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ซอร์เริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 ในการเปลี่ยนหมู่บ้านให้เป็นแบบสหกรณ์ ห้ามไม่ให้มีสิทธิครอบครองของเอกชน
การควบคุมชนบท
แก้เขมรแดงเข้มแข็งขึ้นใน พ.ศ. 2516 หลังจากรุกเข้าใกล้พนมเปญ กลางปี พ.ศ. 2516 กองทัพเขมรแดงควบคุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศ และครึ่งหนึ่งของประชากร เวียดนามเหนือเห็นว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้ และเริ่มปฏิบัติต่อซอร์ในฐานะผู้นำที่เท่าเทียมกันมากกว่าเป็นลูกน้องที่ต่ำกว่า ปลายปี พ.ศ. 2516 ซอร์ได้วางกลยุทธเพื่อกำหนดอนาคตของสงคราม อย่างแรก เขาตัดสินใจที่จะตัดเมืองหลวงออกจากการขนส่งจากภายนอก ให้เมืองเกิดความอดอยาก อย่างที่สอง เขาควบคุมประชากรให้ออกจากเมืองตามเส้นทางของเขมรแดง เขาสังหารอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเก่า และผู้ที่มีการศึกษา สร้างคุกใหม่ขึ้นในพื้นที่ของเขมรแดง ชนกลุ่มน้อยชาวจามพยายามลุกฮือขึ้นเพื่อยุติการทำลายวัฒนธรรม แต่ถูกปราบอย่างรวดเร็ว
เขมรแดงมีนโยบายจะโยกย้ายประชากรทั้งหมดออกไปจากเมืองเพื่อไปยังชนบท ใน พ.ศ. 2516 เมื่อเขมรแดงเข้าเมืองกราเตียใน พ.ศ. 2514 ได้สั่งให้ประชากรทั้งหมดของเมืองออกไปยังชนบท ใน พ.ศ. 2516 มีการโยกย้ายประชากรในกำปงจาม และ พ.ศ. 2517 มีการเคลื่อนย้ายประชากรออกจากเมืองอุดงค์
ในการต่างประเทศ เขมรแดงได้รับการยอมรับจาก 63 ประเทศ ในฐานะรัฐบาลที่แท้จริงของกัมพูชา ทำให้เขมรแดงได้เป็นตัวแทนกัมพูชาในสหประชาชาติ โดยชนะไป 3 เสียง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 ซอร์ได้ประชุมพรรคและขับเคลื่อนการสู้รบทางทหารไปสู่จุดยุติ ในปีนี้ ซอร์ได้ฆ่าเจ้าหน้าที่พรรคระดับสูงชื่อประสิทธิ์ ที่มีเชื้อชาติไทย ทำให้สมาชิกที่มีเชื้อชาติไทยถูกกวาดล้าง ซอร์ได้อธิบายว่าเมื่อการต่อสู้ระหว่างชนชั้นรุนแรงขึ้น ต้องมีจุดยืนในการต่อต้านศัตรูของพรรค
การรุกคืบครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2518 และพระนโรดม สีหนุได้ประกาศรายชื่อบัญชีดำของซอร์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะถูกฆ่าทันทีที่ซอร์ชนะ รายชื่อนี้ตอนแรกมี 7 คน ต่อมาเพิ่มเป็น 23 คน และรวมรายชื่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ที่คุมทหารและตำรวจ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 รัฐบาลของสภาสูงสุดแห่งชาติจัดตัวผู้นำใหม่ เพื่อเจรจามอบตัวต่อเขมรแดง นำโดยสัก สุตสคานซึ่งเคยเรียนในฝรั่งเศสกับซอร์ และเป็นญาติกับนวน เจีย ซอร์ตอบสนองโดยประกาศว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสภาสูงสุดแห่งชาติจะถูกฆ่า รัฐบาลใหม่นี้ล่มสลายเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518
ผู้นำกัมพูชา
แก้เขมรแดงเข้าสู่พนมเปญเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ซาลต ซอร์ จึงเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของประเทศ เขาได้ตั้งตำแหน่งพี่ชายหมายเลขหนึ่งและใช้นามแฝง พล พต ซึ่งไม่มีความหมายในภาษาเขมร[18] กัมพูชาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2519 เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย สภาที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ประชุมเมื่อ 11 – 13 เมษายน เลือกพล พต เป็นนายกรัฐมนตรี เขียว สัมพันเป็นประมุขรัฐในตำแหน่งประธานเปรซิเดียมแห่งรัฐ พระนโรดม สีหนุไม่มีบทบาทในรัฐบาลใหม่ รัฐบาลเขมรแดงเห็นว่าเกษตรกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างชาติและป้องกันประเทศ เขาต้องการสร้างรัฐพึ่งตนเอง เน้นการผลิตโดยเกษตรกรรม หลีกเลี่ยงการให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทางอุตสาหกรรม ปฏิเสธการซื้อสินค้าจากต่างชาติ
ทันทีหลังจากพนมเปญแตก เขมรแดงประกาศใช้แนวคิดปีศูนย์และสั่งอพยพคนทั้งหมดในเมืองออกไปสู่ชนบท โดยอ้างว่าสหรัฐจะมาทิ้งระเบิด สื่อตะวันตกให้นิยามการอพยพครั้งนี้ว่าเป็นการเดินไปสู่ความตาย สื่อของสหรัฐทำนายว่านโยบายของเขมรแดงในการบังคับอพยพจะนำไปสู่ความอดอยากและการตายของประชาชนจำนวนมาก พล พตและเขมรแดงได้จัดให้มีการอพยพในเขตชนบทมาก่อนหน้านี้หลายปีแต่การอพยพออกจากกรุงพนมเปญกลายเป็นสิ่งที่แปลก การอพยพครั้งแรกเกิดขึ้นที่รัตนคีรีเมื่อ พ.ศ. 2511 โดยมีเป้าหมายเพื่อเคลื่อนย้ายประชากรลึกเข้าไปในเขตที่เขมรแดงปกครอง เพื่อจะได้ควบคุมคนได้ง่าย ระหว่าง พ.ศ. 2514 – 2516 จึงเริ่มใช้นโยบายอพยพออกสู่ชนบทเพื่อแก้ปัญหาการที่คนในเมืองมีแต่ความสามารถทางการค้า
ใน พ.ศ. 2519 ระบบของพล พตได้จัดแบ่งชาวกัมพูชาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้มีสิทธิ์เต็ม ผู้มีสิทธิ์แข่งขัน และผู้อาศัย ผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นประชาชนใหม่ที่ออกจากเมืองมาอยู่ในคอมมูน[19] ได้รับอาหารเพียงน้ำข้าว 2 ชามต่อวัน ซึ่งทำให้เกิดความอดอยากไปทั่ว ประชาชนใหม่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2519 แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้สิทธิ์ทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี ผู้นำเขมรแดงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงที่ควบคุมโดยรัฐ กล่าวว่าต้องการประชากรเพียง 1-2 ล้านคนในการสร้างสังคมใหม่ ดังนั้น “เก็บคุณไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ทำลายคุณไปก็ไม่มีความเสียหาย”[20]
การสังหารกลุ่มประชาชนใหม่เกิดขึ้นอย่างมากจนเกิดทุ่งสังหาร มีการจำแนกผู้คนตามศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกศาสนาถูกคว่ำบาตร ชนกลุ่มน้อยถูกห้ามใช้ภาษาของตนเอง กลุ่มที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ พระภิกษุ มุสลิม ชาวคริสต์ ปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก คนที่มีการศึกษาโดยทั่วไป คนที่เคยติดต่อกับชาติตะวันตกหรือเวียดนาม คนพิการ และเชื้อชาติส่วนน้อย เช่น ชาวจีน ชาวลาว ชาวเวียดนาม บางส่วนถูกส่งไปค่าย เอส-1 และบางส่วนถูกสังหาร
คาดการณ์ว่าผู้เสียชีวิตในสมัยเขมรแดงภายใต้ระบบพล พตอยู่ระหว่าง 7 แสนถึง 3 ล้านคน ส่วนใหญ่จะระบุตัวเลขเป็น 1.7 – 2.2 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเสียชีวิตเพราะถูกประหาร อีกส่วนมาจากความอดอยากและโรคระบาด การวิเคราะห์เชิงประชากรของ Patrick Heuveline เสนอว่ามีผู้ถูกสังหารไปราว 1.17 – 3.42 ล้านคน[7] นักประชากรศาสตร์ Marek Sliwinski สรุปว่าอย่างน้อยชาวกัมพูชา 1.8 ล้านคนถูกฆ่าระหว่าง พ.ศ. 2518 – 2522 โดยใช้ข้อมูลจากการลดลงของประชากรทั้งหมด[21] เปรียบเทียบกับการถูกสังหารโดยการทิ้งระเบิดของสหรัฐ 40,000 คน สหประชาชาติประมาณการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิต 2-3 ล้านคน ในขณะที่ยูนิเซฟประมาณการณ์ที่ 3 ล้านคน เขมรแดงเองประกาศว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ล้านคน โดยกล่าวว่าเป็นผลจากการรุกรานของเวียดนาม ในปลายปี พ.ศ. 2522 สหประชาชาติและเจ้าหน้าที่กาชาดเตือนประชาชนกัมพูชาราว 2.25 ล้านคนอาจเสียชีวิตลงได้เพราะการขาดอาหาร เนื่องจากการทำลายโครงสร้างของสังคมกัมพูชาในระบอบพล พต ส่วนใหญ่รอดชีวิตเพราะความช่วยเหลือจากต่างชาติหลังการรุกรานของเวียดนาม มีชาวกัมพูชาอดตายอีกราว 3 แสนคนระหว่าง พ.ศ. 2522 – 2523 ซึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายของเขมรแดง
พล พต ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและต่อต้านสหภาพโซเวียต ในขณะที่เวียดนามเป็นมิตรกับสหภาพโซเวียต จีนได้สนับสนุนอาวุธแก่เขมรแดงก่อนจะครองอำนาจ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2519 พล พตแสดงความเป็นศัตรูกับเวียดนาม มีการป้องกันชายแดนอย่างเข้มงวด การกระทำของพล พตเป็นการตอบโต้การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 4 ซึ่งรับรองความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างเวียดนามกับลาวและกัมพูชา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่เวียดนามจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างและป้องกันประเทศทั้งสอง พล พตต่างจากผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ทั่วไปคือเก็บตัวเองเป็นความลับในช่วงสองปีที่ครองอำนาจ พรรคเรียกตัวเองว่าอังกอร์ จนกระทั่งสุนทรพจน์เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2520 พล พตจึงประกาศถึงการมีอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติยืนยันว่า พล พต คือซาลต ซอร์
ความขัดแย้งกับเวียดนาม
แก้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทหารเขมรแดงเข้ายึดเกาะฝูกว๊ก ก่อนถูกเวียดนามยึดคืนได้ ใน พ.ศ. 2520 ความสัมพันธ์กับเวียดนามเริ่มแย่ลง มีการปะทะตามแนวชายแดนในเดือนมกราคม พล พตป้องกันแนวชายแดนของตนด้วยการส่งทหารรุกเข้าไปในดินแดนเวียดนาม การเจรจาล้มเหลวทำให้เกิดปัญหาตามแนวชายแดนเพิ่มขึ้น ในวันที่ 30 เมษายน ทหารกัมพูชาโจมตีเวียดนาม ทำให้รัฐบาลและชาวเวียดนามต่อต้านเขมรแดง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2519 เวียดนามส่งกองทัพอากาศเข้าโจมตีกัมพูชา เวียดนามบังคับให้ลาวลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพทำให้เวียดนามสามารถควบคุมลาวได้ ในกัมพูชาทางภาคตะวันออกได้ปลุกระดมให้ทำสงครามเพื่อยึดขะแมร์กรอมกลับคืนมา
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 กัมพูชาส่งทหารข้ามแดนไปเผาทำลายหมู่บ้านและสังหารผู้คนในเวียดนาม ในเดือนธันวาคม เวียดนามส่งทหาร 5,000 นายรุกรานเข้าสู่กัมพูชาในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วถอนทหารออกมาซึ่งถือเป็นคำเตือน แต่พล พตกลับมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอของเวียดนาม หลังจากพยายามเจรจากับกัมพูชา ในที่สุด เวียดนามตัดสินใจเปิดสงครามเต็มตัว เวียดนามยังพยายามกดดันเขมรแดงผ่านทางจีน แต่จีนปฏิเสธที่จะกดดันกัมพูชาและยังแสดงการต่อต้านเวียดนาม
นักสังคมนิยมกัมพูชาก่อกบฏในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 ทหารของพล พตไม่สามารถปราบปรามได้อย่างรวดเร็ว ในวันที่ 10 พฤษภาคม สถานีวิทยุของพล พตออกอากาศว่าต้องกำจัดชาวเวียดนาม 50 ล้านคน และต้องแยกแยกความบริสุทธิ์ของชาวกัมพูชาภาคตะวันออก 1.5 ล้านคน ที่ร่างกายเป็นเขมรแต่จิตใจเป็นเวียดนาม ประชาชนอย่างน้อย 1 แสนคนถูกประหารชีวิตภายใน 6 เดือน ในช่วงปลายปีนั้น เวียดนามได้รุกรานกัมพูชาเพื่อล้มล้างรัฐบาลของกัมพูชา ซึ่งเวียดนามถือว่าเป็นการป้องกันตนเอง ฝ่ายเขมรแดงพ่ายแพ้ กลุ่มของพล พตเคลื่อนย้ายมายังแนวชายแดนไทย ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 เวียดนามจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นำโดยฝ่ายต่อต้านเขมรแดงคือ เฮง สำริน พล พตจัดตั้งกลุ่มของตนเองขึ้นมาใหม่ที่แนวชายแดนไทย กองทัพไทยเขมรแดงเป็นกันชนเพื่อให้ทหารเวียดนามอยู่ห่างจากชายแดนไทย และยังมีรายได้ในการขนส่งอาวุธจากจีนไปให้เขมรแดง พล พตจัดตั้งกองทัพใหม่ทางตะวันตกของกัมพูชาโดยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสนับสนุนทั้งการเงินและการทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2522 พล พตอาศัยในเขตพนมมาลัย เขาได้ให้สัมภาษณ์เมื่อราว พ.ศ. 2523 ประณามฝ่ายต่อต้านเขาว่าเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม
สหประชาชาติได้ยอมรับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายหรือรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย (Coalition Government of Democratic Kampuchea: CGDK) ซึ่งรวมเขมรแดงด้วยใน พ.ศ. 2525 แต่ไม่รับรองสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ใน พ.ศ. 2528 เขาได้เกษียณออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ในเขมรแดง เขียว สัมพัน ขึ้นเป็นผู้นำแทนพล พต ในปี พ.ศ. 2528 แต่เชื่อกันว่าพล พต ยังคงกุมอำนาจที่แท้จริงศูนย์กลางของเขมรแดงที่พนมมาลัยถูกทำลาย พล พตหนีเข้ามาอยู่ในไทยราว 6 ปี ศูนย์กลางของเขาอยู่ที่แนวชายแดนไทยใกล้จังหวัดตราด แม้จะออกจากตำแหน่งผู้นำใน พ.ศ. 2528 แต่ยังคือเป็นผู้นำโดยพฤตินัย ผู้รับถ่ายโอนอำนาจทหารไปจากเขาคือซอน เซน
ใน พ.ศ. 2529 พล พตไปปักกิ่งเพื่อรักษามะเร็งจนถึง พ.ศ. 2531 ใน พ.ศ. 2532 เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา เขมรแดงจัดตั้งพื้นที่ขึ้นใหม่ทางตะวันตกของกัมพูชาใกล้ชายแดนไทย พล พตเดินทางกลับมาถึงกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2534 กลุ่มต่าง ๆ ในเขมรลงนามสันติภาพขอให้มีการเลือกตั้งที่กำกับโดยสหประชาชาติ แต่แล้วเขมรแดงก็ปฏิเสธผลการเลือกตั้งที่จะได้รัฐบาลผสมในปี พ.ศ. 2535 แม้ว่าจะเสียกำลังพลไปจำนวนมากแล้วก็ตาม และยังคงต่อสู้กับรัฐบาลใหม่ การต่อสู้ดำเนินต่อไปถึง พ.ศ. 2539 รัฐบาลมีนโยบายที่จะเจรจากับกลุ่มเขมรแดงเพื่อยุติการสู้รบ พล พตสั่งประหารชีวิตซอน เซนพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2540 เนื่องจากพยายามเจรจากับฝ่ายรัฐบาล แม้ว่าเขาจะปฏิเสธในภายหลังว่าไม่ได้สั่ง เขาเคลื่อนย้ายขึ้นเหนือแต่ถูกตา มก จับตัวได้เมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ในเดือนกรกฎาคม เขาถูกตัดสินให้กักขังไว้ในบ้านด้วยข้อหาฆาตกรรมซอน เซน
ชีวิตครอบครัว
แก้ชีวิตครอบครัวของพล พต แต่งงานครั้งแรกกับ เคียว ปนเนียรี พี่สาวของเขียว ธีริทธ์ ภรรยาของเอียง สารี ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน และหย่าขาดจากกัน หลังจากเขมรแดงหมดอำนาจ เพราะภรรยามีอาการทางจิต ซึ่งต่อมา เธอเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2536 ปลโปต แต่งงานใหม่กับเมีย ซน และมีลูกสาว 1 คนชื่อ ซอ พัดชาตา[12] หรือชื่อเดิมคือสิตา ซึ่งตั้งชื่อตามนางสีดาในวรรณคดีเรื่องเรียมเกอร์หรือรามเกียรติ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2529[22]
วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
แก้คืนวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2541 ก่อนการฉลองครบรอบ 23 ปี การยึดครองพนมเปญของเขมรแดง สถานีวิทยุเสียงแห่งอเมริกาออกอากาศว่า เขมรแดงตกลงใจจะส่งตัวพล พตให้ศาลนานาชาติ ภรรยาของเขาให้การว่า พล พตเสียชีวิตบนเตียงในคืนที่รอการเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่น ตา ม็อก กล่าวว่าเขาเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลว โดยอธิบายว่า พล พตนั่งรอรถยนต์มารับ แต่รู้สึกเหนื่อย ภรรยาจึงให้เขาไปพักผ่อน เขาจึงไปนอนและเสียชีวิตเมื่อเวลา 22.15 น.
แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างของเขา แต่ศพก็ถูกเผาไปในวันเสาร์ (18 เมษายน) ที่เมืองอัลลองเวง ในเขตของเขมรแดง มีผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการตายของเขา เช่น พล พตอาจฆ่าตัวตายเพราะกลัวว่าตา ม็อกจะส่งตัวเขาให้สหรัฐอเมริกา แต่ตา ม็อก กล่าวว่าไม่มีใครฆ่าพล พต บางแหล่งกล่าวว่าพล พตถูกพวกเดียวกันสังหาร
หลังจากการเสียชีวิตของพล พต เขมรแดงจึงล่มสลายลง สมาชิกบางส่วนประกาศยอมจำนนและถูกจับ
อ้างอิง
แก้- ↑ "BBC – History – Historic Figures: Pol Pot (1925–1998)". BBC. สืบค้นเมื่อ 25 January 2011.
- ↑ "Pol's Post daughter weds". The Phnom Penh Post. 17 March 2014. สืบค้นเมื่อ 29 June 2014.
- ↑ "Red Khmer," from the French rouge "red" (longtime symbol of socialism) and Khmer, the term for ethnic Cambodians.
- ↑ Heuveline, Patrick (1998), "Between One and Three Million": Towards the Demographic Reconstruction of a Decade of Cambodian History (1970-79), Population Studies, Vol. 52, Number 1: 49-65.
- ↑ Craig Etcheson, After the Killing Fields (Praeger, 2005), p. 119.
- ↑ Locard, Henri, State Violence in Democratic Kampuchea (1975-1979) and Retribution (1979-2004) เก็บถาวร 2021-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, European Review of History, Vol. 12, No. 1, March 2005, pp. 121–143.
- ↑ 7.0 7.1 Heuveline, Patrick (2001). "The Demographic Analysis of Mortality in Cambodia." In Forced Migration and Mortality, eds. Holly E. Reed and Charles B. Keely. Washington, D.C.: National Academy Press.
- ↑ Marek Sliwinski, Le Génocide Khmer Rouge: Une Analyse Démographique (L'Harmattan, 1995).
- ↑ Banister, Judith, and Paige Johnson (1993). "After the Nightmare: The Population of Cambodia." In Genocide and Democracy in Cambodia: The Khmer Rouge, the United Nations and the International Community, ed. Ben Kiernan. New Haven, Conn.: Yale University Southeast Asia Studies.
- ↑ Chandler, David (23 August 1999). "Time necropsy". Time Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 26, 2009. สืบค้นเมื่อ 27 February 2009.
- ↑ Horn, Robert (25 March 2002). "Putting a Permanent Lid on Pol Pot". Time Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 31, 2009. สืบค้นเมื่อ 3 September 2008.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 รุ่งมณี เมฆโสภณ. ถกแขมร์ แลเขมร. กทม. บ้านพระอาทิตย์. 2552
- ↑ Seth, Mydans (6 August 1997). "Pol Pot's Siblings Remember The Polite Boy and the Killer – Page 2". New York Times. สืบค้นเมื่อ 16 April 2011.
- ↑ Short 2005, p. 18
- ↑ Touch, Bora (2005-01-28). "Debating Genocide". The Phnom Penh Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-28. สืบค้นเมื่อ 2017-01-28.
- ↑ Chandler, David P., 1992, Brother Number One: A political biography of Pol Pot, Silkworm Books, Thailand: 8
- ↑ Thet Sambath (20 October 2001). "Sister No. 1 The Story of Khieu Ponnary, Revolutionary and First Wife of Pol Pot". The Cambodia Daily, WEEKEND. สืบค้นเมื่อ 15 November 2007.
- ↑ Mydans, Seth (17 April 1998). "DEATH OF POL POT; Pol Pot, Brutal Dictator Who Forced Cambodians to Killing Fields, Dies at 73". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 9 December 2015.
- ↑
Jackson, Karl D. (2014). "The Ideology of Total Revolution". ใน Jackson, Karl D. (บ.ก.). Cambodia, 1975-1978: Rendezvous with Death. Princeton University Press. p. 52. ISBN 9781400851706. สืบค้นเมื่อ 2015-04-17.
[...] the population of Democratic Kampuchea was divided into three categories, based on their class backgrounds and their political pasts: individuals with full rights (penh sith), those who were candidates for full rights (triem), and those who had no rights whatever (bannheu). [...] The lowest category, the bannheu or depositees, had no rights whatever, not even the right to food. These were former landowners, army officers, bureaucrats, teachers, merchants, and urban residents [...].
- ↑ Children of Cambodia's Killing Fields, Worms from Our Skin. Teeda Butt Mam. Memoirs compiled by Dith Pran. 1997, Yale University. ISBN 978-0-300-07873-2. Excerpts available from Google Books.
- ↑ Marek Sliwinski, Le Génocide Khmer Rouge: Une Analyse Démographique (L'Harmattan, 1995), pp. 41–48, 57.
- ↑ Short 2005, p. 423
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ประวัติพล พต เก็บถาวร 2012-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | พล พต | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เขียว สัมพัน | นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประชาธิปไตย (1976 – 1980) |
เขียว สัมพัน | ||
ตู สามุต | เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (1963 - 1981) |
ตัวเอง พรรคกัมพูชาประชาธิปไตย | ||
ตัวเอง พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา |
เลขาธิการพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย (1981 - 1985) |
เขียว สัมพัน | ||
- | ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองกำลังเขมรแดง (1980 - 1985) |
ซอน เซน |