เกาะฟู้โกว๊ก

เกาะในประเทศเวียดนาม
(เปลี่ยนทางจาก เกาะฝูกว๊ก)

เกาะฟู้โกว๊ก (เวียดนาม: Phú Quốc) มีชื่อในภาษาไทยว่า เกาะโดด[1][2] เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ตั้งอยู่ในอ่าวไทย โดยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดเกียนซาง พื้นที่ 574 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอยู่ถาวร 85,000 คน[3] เขตการปกครองของเกาะฟู้โกว๊กนั้นประกอบด้วยเกาะใหญ่และเกาะเล็กน้อยอีก 21 เกาะ ศูนย์กลางของเกาะตั้งอยู่ที่เมืองใหญ่ที่สุดคือเซืองโดงทางชายฝั่งตะวันตก และยังเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะอีกด้วย เศรษฐกิจของเกาะขึ้นกับการประมง เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว เกาะนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเวียดนาม

ฟู้โกว๊ก

Phú Quốc
Thành phố Phú Quốc
นครฟู้โกว๊ก
สถานที่ต่าง ๆ ในนครฟู้โกว๊ก
แผนที่
ฟู้โกว๊กตั้งอยู่ในประเทศเวียดนาม
ฟู้โกว๊ก
ฟู้โกว๊ก
พิกัด: VN 10°14′N 103°57′E / 10.233°N 103.950°E / 10.233; 103.950
ประเทศธงของประเทศเวียดนาม เวียดนาม
ภูมิภาคดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
จังหวัดเกียนซาง
พื้นที่
 • ทั้งหมด574 ตร.กม. (222 ตร.ไมล์)
ประชากร
 • ทั้งหมด179,480 คน
 • ความหนาแน่น305 คน/ตร.กม. (790 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+7 (เขตเวลาอินโดจีน)
รหัสโทรศัพท์855
เว็บไซต์phuquoc.kiengiang.gov.vn
ท่าเรือเซืองดง (Dương Đông)

ภูมิศาสตร์ แก้

เกาะฟู้โกว๊กอยู่ในอ่าวไทย ห่างจากสักซ้า (Rạch Giá) ซึ่งเป็นเมืองบนชายฝั่งของเวียดนาม 115 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดกำปอต ของกัมพูชา 15 กิโลเมตร และห่างจากแหลมฉบังของไทย 540 กิโลเมตร เกาะมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมที่มียอดชี้ไปทางทิศใต้ ความยาวจากเหนือลงใต้ยาว 50 กิโลเมตร ส่วนจากตะวันออกไปตะวันตกยาว 25 กิโลเมตร

เศรษฐกิจ แก้

ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของเกาะคือพริกไทยดำ และน้ำปลา ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่นำไปทำน้ำปลาและปลาร้า การปลูกพริกไทยจะปลูกทางตอนกลางของเกาะ เริ่มมีการทำฟาร์มหอยมุก การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจ มี ท่าอากาศยานนานาชาติฟู้โกว๊ก ที่มีสายการบินเชื่อมต่อกับสนามบินในนครโฮจิมินห์ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ตและท่าอากาศยานสักซ้า และมีเรือแล่นไปยังฮาเตียน วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 สายการบินบางกอกแอร์เวย์ทำการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายังท่าอากาศยานนานาชาติฟู้โกว๊ก

ประวัติศาสตร์ แก้

ใน พ.ศ. 2379 สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือพระองค์ด้วง ทรงส่งข้อเสนอไปยังฝรั่งเศสตามคำแนะนำของมงตีญี เพื่อขอเป็นพันธมิตรทางการทหารในการต่อต้านเวียดนาม และยินดียกเกาะฟู้โกว๊กให้ฝรั่งเศส[4] แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการพิจารณา[5] เมื่อสงครามระหว่างฝรั่งเศส สเปน และเวียดนามเริ่มขึ้น พระองค์ด้วงได้ส่งจดหมายไปยังนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสอีก โดยกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนโคชินจีนตอนล่าง ซึ่งรวมเกาะฟู้โกว๊กด้วยว่าเป็นดินแดนของกัมพูชาที่ถูกเวียดนามยึดครอง พระองค์ด้วงได้ขอร้องฝรั่งเศสว่าอย่าได้รับดินแดนเหล่านี้จากเวียดนาม เพราะเป็นดินแดนของกัมพูชา แต่ต่อมา ใน พ.ศ. 2410 เกาะฟู้โกว๊กก็ถูกทหารฝรั่งเศสยึดครอง

หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ได้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะนี้ ก่อนได้รับเอกราช ฌูล เบรวีเย (Jules Brévié) ข้าหลวงประจำอินโดจีนฝรั่งเศส ได้กำหนดเส้นเบรวีเยพื่อบ่งเขตการปกครองของเกาะในอ่าวไทย โดยด้านเหนือของเส้นให้อยู่ในเขตกัมพูชา ด้านใต้เป็นของโคชินจีน โดยเป็นการกำหนดเพื่อความสะดวกในการบริหารและการทำงานของตำรวจ แต่ไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดน ผลจากเส้นนี้ทำให้เกาะฟู้โกว๊กอยู่ในเขตโคชินจีน

หลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน พ.ศ. 2492 นายพลฮวงเจีย ได้นำทหารฝ่ายสาธารณรัฐจีน 33,000 คนจากมณฑลหูหนานมาสู่เวียดนามและตั้งมั่นที่เกาะฟู้โกว๊กก่อนจะกลับไปยังเกาะไต้หวันใน พ.ศ. 2496[6] ในปัจจุบันได้มีเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบเช็งกิงในไต้หวันซึ่งสร้างขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และตั้งชื่อว่าฟู้โกว๊กเพื่อรำลึกถึงเกาะที่พวกเขาเคยอยู่ ในระหว่างสงครามเวียดนาม เกาะนี้เป็นที่คุมขังนักโทษขนาดใหญ่ของเวียดนามใต้ ใน พ.ศ. 2516 มีผู้ถูกคุมขังถึง 40,000 คน

ใน พ.ศ. 2510 พระนโรดม สีหนุได้แสดงความจำนงที่จะปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเหนือได้ยอมรับเส้นเขตแดนนี้ ใน พ.ศ. 2511 มีการเขียนบทความลงในวารสาร Kambudja ยอมรับว่าเกาะฟู้โกว๊กอยู่ในเขตเวียดนาม ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เขมรแดงได้ส่งทหารเข้ายึดเกาะฟู้โกว๊ก แต่เวียดนามสามารถยึดคืนมาได้ในเวลาอันสั้น ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับเส้นเขตแดนนำไปสู่สงครามกัมพูชา-เวียดนาม ใน พ.ศ. 2522

อ้างอิง แก้

  1. John Crawfurd. "Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin-China". Angkor Database. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2023.
  2. เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง. พระนคร : คลังวิทยา, 2490, หน้า 235
  3. "Sai Gon - Phu Quoc Resort & Spa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-14. สืบค้นเมื่อ 2012-11-20.
  4. "Le Second Empire en Indo-Chine (Siam-Cambodge-Annam): l'ouverture de Siam au commerce et la convention du Cambodge”, Charles Meyniard, 1891, Bibliothèque générale de géographie
  5. "La Politique coloniale de la France au début du second Empire (Indo-Chine, 1852-1858)", Henri Cordier, 1911, Ed. E.J. Brill
  6. 2009年03月31日, 抗日名将黄杰与最后一支离开大陆的国民党部队, 凤凰资讯

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Phu Quoc
  •   คู่มือการท่องเที่ยว เกาะฟู้โกว๊ก จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
  • Video about Phu Quoc