พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (อังกฤษ: Communist Party of Kampuchea; เขมร: គណបក្សកុំមុយនីសកម្ពុជា; CPK) หรือพรรคคอมมิวนิสต์เขมร (อังกฤษ: Khmer Communist Party)[1] เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ซึ่งต่อมา กลุ่มที่ได้ครองอำนาจรัฐใน พ.ศ. 2518 ถูกเรียกว่าเขมรแดง ภายหลังได้แบ่งแยกออกเป็นสองพรรคคือ พรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง เดิมเรียกตัวเองว่า พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคกัมพูชาประชาธิปไตย พรรคนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เสมอกับตนแต่ถือเป็นเพียงสาขาของพรรคเท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน [2] โดยทั่วไปนิยมเรียกว่าเขมรแดงมากกว่า อีกพรรคหนึ่งที่แยกตัวออกไปเมื่อ พ.ศ. 2521 คือพรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชา เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามและสหภาพโซเวียต ต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชนกัมพูชา

พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา
គណបក្សកុំមុយនីសកម្ពុជា
ผู้ก่อตั้งเซิน หง็อก มิญ
ตู สามุต
เลขาธิการฮุน เซน
ก่อตั้ง2494
ที่ทำการพนมเปญ
ฝ่ายเยาวชนสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์กัมพูชา
อุดมการณ์คอมมิวนิสต์
กสิกร
ชาตินิยมเขมร
สี  สีแดง
จุดยืนซ้ายจัด
ธงประจำพรรค
การเมืองกัมพูชา
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

กัมพูชาฝ่ายซ้าย

แก้

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 โฮจิมินห์ได้ประกาศจัดตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม" (Parti communiste vietnamien หรือ Việt Nam Cộng Sản Đảng) ขึ้น ด้วยการรวมเอาพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม จากแคว้นตังเกี๋ย อันนัม และเทนินห์ (โคชินจีน) จำนวน 3 กลุ่ม เข้าไว้ด้วยกัน แต่ต่อมาไม่นาน ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามก็ถูกเปลี่ยนเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน" (Parti communiste indochinois – PCI) [3][4] และได้รับเอากลุ่มปฏิวัติคอมมิวนิสต์จากกัมพูชาและลาวเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ในช่วงแรก สมาชิกในพรรคส่วนใหญ่ยังเป็นชาวเวียดนาม จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ชาวกัมพูชาจึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อิทธิพลที่สมาชิกชาวกัมพูชามีต่อการเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและการพัฒนาภายในกัมพูชานั้น ยังอยู่ในระดับต่ำ

ในช่วงที่กัมพูชากำลังทำสงครามเรียกร้องเอกราชกับฝรั่งเศส กองกำลังเวียดมินห์ จากเวียดนาม ก็เริ่มเข้ามาสนับสนุนให้เกิด “การต่อสู้เพื่อปลดปล่อย” ขึ้นในกัมพูชา พร้อมกันนั้น รัฐบาลพลเรือนที่ปกครองราชอาณาจักรไทยช่วง พ.ศ. 24892490 ก็มีนโยบายสนับสนุนกองกำลัง “เขมรอิสระ” (Khmer Issarak) ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ให้ปฏิบัติการตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และพื้นที่ใต้การยึดครองของไทยในขณะนั้น ซึ่งได้แก่ เสียมราฐและพระตะบอง ได้ ต่อมาใน พ.ศ. 2493 (25 ปีก่อนที่กองกำลังเขมรแดงจะบุกยึดกรุงพนมเปญ) กลุ่มเขมรอิสระได้จัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติเป็นครั้งแรก ในวันที่ 17 เมษายน ผลจากการประชุมครั้งนั้น นำไปสู่การก่อตั้ง สมาคมเขมรอิสระ (United Issarak Front) โดยมีผู้นำกลุ่มคือเซิง งอกมิญ ร่วมกับกลุ่มแกนนำที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนเชื้อสายเขมร เมื่อเวลาผ่านไป กองกำลังเขมรอิสระภายใต้การควบคุมของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็เติบโตมากขึ้น จนกระทั่งใน พ.ศ. 2495 เขมรอิสระ ซึ่งปฏิบัติการร่วมกับขบวนการเวียดมินห์ ก็สามารถครองพื้นที่ได้ประมาณหนึ่งในหกของกัมพูชา และขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศได้ ในอีก 2 ปีต่อมา ในช่วงที่มีการประชุมนานาชาติที่เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส[5]

ใน พ.ศ. 2494 หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนยุบตัวลง ก็ได้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เอกเทศขึ้น 3 พรรค ได้แก่ พรรคกรรมกรเวียดนาม (parti des travailleurs du Viêt Nam) ในเวียด-ขบวนการปะเทดลาว (Pathed Lao) ในลาว และพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร (Parti révolutionnaire du peuple du Kampuchea – PRPK) ในกัมพูชา โดยพรรคที่ถือว่ามีบทบาทในการเคลื่อนไหวมากที่สุดคือพรรคกรรมกรเวียดนาม

การก่อตั้งพรรคระยะแรก

แก้

พรรคก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนสลายตัวเพื่อแยกเป็นพรรคในแต่ละประเทศคือกัมพูชา ลาว และเวียดนาม การตัดสินใจแยกพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเกิดขึ้นในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ชาวอินโดจีนในเดือนกุมภาพันธ์ วันที่ก่อตั้งพรรคและการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกในแต่ละแหล่งให้ข้อมูลต่างกันไป พรรคไม่ได้เลือกตั้งคณะกรรมการกลางแต่ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการก่อตั้งพรรคและการขยายตัว ในช่วงแรก พรรคใช้ชื่อว่าพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม ดังนั้น พรรคในระยะแรกจึงได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามด้วยในระยะแรกของการต่อสู้ และเพราะการที่ชาวเวียดนามเข้ามามีบทบาทมากในช่วงแรกนี่เอง จึงได้มีการเขียนประวัติพรรคขึ้นใหม่ โดยให้ พ.ศ. 2503 เป็นปีก่อตั้งพรรค

พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรถือเป็นต้นกำเนิดของขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา ผู้นำของพรรค คือ เซิง งอกมิญและ ตู สามุต ในช่วงแรกสมาชิกของพรรคส่วนใหญ่คือคนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา ส่วนชาวกัมพูชาพื้นถิ่นจริง ๆ ที่เข้าร่วมกับพรรคมีจำนวนค่อนข้างน้อย พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรได้ปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังเขมรอิสระอื่น ๆ เข้าควบคุมพื้นที่ชนบทของประเทศได้อย่างกว้างขวาง แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ สามารถเรียกร้องเอกราชของกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสได้สำเร็จ พระองค์ก็ใช้เวทีการประชุมว่าด้วยปัญหาอินโดจีน ที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2497 ณ เมืองเจนีวา ต่อต้านข้อเรียกร้องของขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งที่ประชุมเองก็รับรองเอกราชของกัมพูชาภายใต้การนำของพระองค์ และไม่รับรองสถานะและกำหนดเขตที่ตั้งของฐานที่มั่นฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้เช่นกัน จากมติการประชุมดังกล่าว ส่งผลให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ รวมถึงพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร สูญเสียบทบาททางการเมืองในกัมพูชา และต้องลี้ภัยไปอาศัยในเวียดนามเหนือตามข้อตกลงเจนีวา จำนวนผู้ลี้ภัยในขณะนั้นมีประมาณ 2,000 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมีซิง งอกมิญรวมอยู่ด้วย[6]

สำหรับในมุมมองของเขมรแดง เวียดมิญล้มเหลวในการเจรจาเพื่อกำหนดบทบาทของพรรคในการประชุมเจนีวา พ.ศ. 2497 ขบวนการยังคงควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในเขตชนบท และควบคุมกำลังทหารราว 5,000 คน มีสมาชิกราว 1,000 คน รวมทั้งเซิง งอกมิญที่เดินทางไปยังเวียดนามเหนือและลี้ภัยที่นั่น ในปลายปี พ.ศ. 2497 กลุ่มที่เหลืออยู่ในกัมพูชาได้จัดตั้งพรรคที่ถูกกฎหมายคือกรมประชาชน ซึ่งเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 และ พ.ศ. 2501 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498 ได้คะแนน 4% แต่ไม่เพียงพอที่จะได้ที่นั่งในสภา สมาชิกพรรคถูกกล่าวหาว่าอยู่นอกระบบสังคมของพระนโรดม สีหนุ รัฐบาลได้ขัดขวางการเข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2505 ของพรรค ทำให้พรรคต้องลงไปต่อสู้แบบใต้ดิน ในช่วงนี้เองที่พระนโรดม สีหนุเรียกเขมรฝ่ายซ้ายว่าเขมรแดง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย พล พต นวน เจีย เอียง ซารี เขียว สัมพันและคนอื่นๆ

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2497 ขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ยังอาศัยอยู่ในกัมพูชาได้จัดตั้งพรรคการเมืองถูกกฎหมาย โดยใช้ชื่อพรรคว่า “กรมประชาชน” (Krom Pracheachon; กร็อมปราเจียจ็วน) หรือ “กลุ่มประชาชน” เพื่อลงเลือกตั้งสภาใน พ.ศ. 2498 ซึ่งผลปรากฏว่า พรรคประชาชนได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งครั้งนั้นเพียงร้อยละ 3.5 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ ส่วนพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดคือ พรรคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum) หรือ "กลุ่มสังคม” ของเจ้าสีหนุ [7]

หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง สมาชิกของพรรคประชาชนก็โดนกลุ่มของเจ้าสีหนุกดดันและตามจับกุมจนต้องหลบหนีไปอยู่ใต้ดิน เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปไตยที่ถูกเจ้าสีหนุกดดันจนต้องสลายตัวไปก่อนหน้านั้น เนื่องจากพระองค์กล่าวหาว่าพรรคเป็นอันตรายต่อนโยบายของพระองค์[8] การหลบหนีของพรรคประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลให้พรรคไม่ได้ลงเลือกตั้งครั้งต่อมา ใน พ.ศ. 2505 ในช่วงนี้เอง ที่เจ้าสีหนุเริ่มเรียกกลุ่มฝ่ายซ้ายที่แฝงอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยชื่อว่า “เขมรแดง”[9]

กลุ่มปัญญาชนปารีส

แก้

เมื่อราว พ.ศ. 2493 นักศึกษาเขมรในปารีสได้จัดตั้งขบวนการของตนเอง ซึ่งมีการติดต่อกับส่วนของพรรคในบ้านเกิด กลุ่มนี้ได้กลับสู่กัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2503 และเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสีหนุและลน นลใน พ.ศ. 2511 และเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งกัมพูชาประชาธิปไตย สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มปัญญาชนปารีสมาจากชนชั้นเจ้าของที่ดินหรือข้าราชการ และมีการแต่งงานกันเองในกลุ่ม พล พตแต่งงานกับเขียว พอนนารี ส่วนเอียง ซารีแต่งงานกับ เขียว ธีริท ทั้งสองคนเป็นหญิงที่มีการศึกษาดี และต่อมามีบทบาทสำคัญในกัมพูชาประชาธิปไตย

ในช่วงเวลาเดียวกันระหว่าง พ.ศ. 2492 – 2494 พลพต และเอียง ซารีเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ในพ.ศ. 2494 ได้เข้าไปในเบอร์ลินตะวันออกเพื่อเข้าร่วมการเฉลิมฉลองระดับเยาวชน เมื่อพวกเขากลับมาทำงานร่วมกับกลุ่มที่เคยต่อสู้ร่วมกับเวียดมิญมาก่อน พวกเขาเห็นว่าการปฏิวัติโดยใช้กำลังเท่านั้นจึงจะสำเร็จ พวกเขาจัดตั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ที่มีนักศึกษาเขมรในปารีสเข้าร่วมราว 200 คน ใน พ.ศ. 2495 พล พต ฮู ยวน เอียง ซารีและสมาชิกฝ่ายซ้ายอื่นๆ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพระนโรดม สีหนุ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ในปีต่อมา ฝรั่งเศสสั่งยุบสมาคมนักศึกษาเขมร อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2499 ฮู ยวนและเขียว สัมพันได้จัดตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นในชื่อสหภาพนักศึกษาเขมร ซึ่งยังเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายเช่นเดิม วิทยานิพนธ์ของฮู ยวนและเขียว สัมพันได้แสดงแนวคิดที่ต่อมาจะถูกปรับเป็นนโยบายของกัมพูชาประชาธิปไตย โดยได้ท้าทายมุมมองของการพัฒนาโดยการทำให้เป็นเมืองและการขยายตัวของอุตสาหกรรมและชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาพึ่งพาประเทศที่พัฒนาแล้วมากเกินไป

หลังจากกลับสู่กัมพูชาใน พ.ศ. 2496 พล พตได้เข้าร่วมงานกับเวียดมิญในพื้นที่ชนบทของจังหวัดกำปงจาม เมื่อสงครามสิ้นสุด เขาเข้าสู่พนมเปญพร้อมกับกลุ่มของตู สามุต ซึ่งเขากลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับพรรคที่ถูกกฎหมาย เอียง ซารี และฮู ยวนกลับมาเป็นครูในโรงเรียนมัธยมเอกชนที่ฮู ยวนช่วยในการก่อตั้งขึ้น เขียว สัมพันกลับจากปารีสใน พ.ศ. 2502 และไปสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยพนมเปญ และได้ออกหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายเป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อ L'Observateur และถูกสั่งปิดในปีต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจของพระนโรดม สีหนุจับเขียว สัมพันเปลื้องผ้าและถ่ายรูปโชว์ในที่สาธารณะ เขียว สัมพัน ฮู นิม และฮูยวนถูกบังคับให้เข้าร่วม

การแตกแยกภายในพรรค

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2498 พรรคปฏิวัติประชาชนเขมรแบ่งออกเป็นสองขั้วคือฝ่ายในเมืองนำโดยตู สามุต และฝ่ายชนบทนำโดยเซียว เฮง ทั้งสองกลุ่มต้องการปฏิวัติแต่มีเป้าหมายต่างกัน ฝ่ายในเมืองเป็นกลุ่มที่เน้นความร่วมมือกับเวียดนามเหนือและยอมรับว่าพระนโรดม สีหนุเป็นผู้ที่ช่วยให้กัมพูชาได้รับเอกราช จากฝรั่งเศส เป็นผู้นำที่เป็นกลาง กลุ่มนี้หวังว่าพระนโรดม สีหนุจะแยกตัวออกจากฝ่ายขวา และปรับมาร่วมมือกับฝ่ายซ้ายได้ การที่เจ้าสีหนุ ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางและไม่ได้รับความไว้วางใจจากสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น[10] จะทำให้เกิดประโยชน์ในการต่อสู้เพื่อ “ปลดปล่อย” เวียดนามใต้ และมีแนวโน้มว่าพระองค์จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายเป็นแบบฝ่ายซ้ายแทน อีกกลุ่มหนึ่งเน้นความสำคัญของชนบท และต้องการกำจัดชนชั้นนายทุนให้หมดไป ฝ่ายชนบท ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังที่ในท้องที่ชนบทต่าง ๆ กลับสนับสนุนในมีการต่อสู้เพื่อล้มล้าง “ระบบขุนนาง” ของเจ้าสีหนุโดยเร็วที่สุด

ใน พ.ศ. 2502 เซียว เฮงยอมมอบตัวต่อรัฐบาลและให้ข้อมูลที่ตั้งพรรคในเขตชนบท ทำให้รัฐบาลทำลายที่ตั้งของพรรคได้ถึง 90% ส่งผลให้ใน พ.ศ. 2503 จำนวนกองกำลังคอมมิวนิสต์ในกรุงพนมเปญและเมืองอื่น ๆ ของกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้เขตอำนาจของตู สามุตเป็นส่วนใหญ่ เหลือสมาชิกไม่ถึงร้อยคนใน พ.ศ. 2503

ในระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ

แก้

ระหว่างวันที่ 28 – 30 กันยายน พ.ศ. 2503 ผู้นำ 21 คนของพรรคปฏิวัติได้มีการประชุมลับที่สถานีรถไฟในกรุงพนมเปญ ซึ่งมาจากฝายในเมือง 14 คน ฝายชนบท 7 คน และเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่นิยมเวียดนามและฝ่ายต่อต้านเวียดนามขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ พรรคเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคกรรมกรกัมพูชา โดยมีประเด็นสำคัญคือจะร่วมมือกับพระนโรดม สีหนุหรือไม่ มีการจัดตั้งโครงสร้างพรรคขึ้นใหม่ โดยมีคณะกรรมการกลาง ตู สามุตเป็นเลขาธิการทั่วไป นวน เจียเป็นรองเลขาธิการ คณะกรรมการมี พล พต เอียง ซารี และแก้ว เมียส ในสมัยกัมพูชาประชาธิปไตยจะถือว่าวันนี้เป็นวันก่อตั้งพรรค

ต่อมา ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ตู สามุตถูกฝ่ายรัฐบาลสังหาร บ้างว่าหายตัวไป ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ในการประชุมทั่วไปของพรรคครั้งที่ 2 พล พตได้เป็นเลขาธิการทั่วไปสืบต่อจากตู สามุต นวน เจีย และแก้วเมียส ถูกปลดออกจากคณะกรรมการ โดยซอน เซนและ วอน เวตขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ทำให้พล พต และกลุ่มปัญญาชนปารีสขึ้นครองอำนาจในพรรค และเริ่มกำจัดผู้ที่นิยมเวียดนามออกไป

การต่อสู้ในเขตชนบท

แก้

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2506 พล พตและคณะกรรมการกลางส่วนใหญ่ออกจากพนมเปญไปตั้งฐานที่มั่นในจังหวัดรัตนคีรีทางตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนหน้านั้น พล พตอยู่ในรายชื่อฝ่ายซ้าย 34 คน ที่ถูกเชิญชวนโดยพระนโรดม สีหนุ ให้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล มีเพียง พล พตกับจู เจตที่เป็นคนในรายชื่อนั้นที่หนีไป คนที่เหลือเข้าร่วมในรัฐบาลและถูกจับตามอง 24 ชั่วโมงโดยตำรวจ

ในพื้นที่ที่พล พตไปตั้งฐานที่มั่นนั้น เป็นพื้นที่ของชาวเขมรบน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในกัมพูชา ใน พ.ศ. 2508 พล พตได้ไปเยื่อนเวียดนามเหนือและจีนเป็นเวลาหลายเดือนและอาจจะได้รับการอบรมในจีน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 พล พตได้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาซึ่งเป็นความลับ[11] กว่าที่สมาชิกระดับล่างและเวียดนามจะรู้ก็อีกหลายปีต่อมา การต่อสู้ของพรรคในการต่อต้านรัฐบาลเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2510 ในช่วงแรกประสบความสำเร็จน้อย

ใน พ.ศ. 2511 เขมรแดงได้ประกาศยึดครองพื้นที่ในกัมพูชา แม้ว่าเวียดนามเหนือไม่ได้ร่วมในการตัดสินใจ แต่ก็ได้ส่งอาวุธให้เขมรแดงเมื่อเริ่มการยึดครอง กองทหารของพรรคได้ประกาศจัดตั้งเป็นกองทัพปฏิวัติแห่งกัมพูชา

การเถลิงอำนาจ

แก้

ความสำคัญทางการเมืองของเขมรแดงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐประหาร พ.ศ. 2513 พระนโรดม สีหนุที่ลี้ภัยไปปักกิ่งได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับเขมรแดงและประกาศตนเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งมีจีนหนุนหลัง ความนิยมต่อพระนโรดม สีหนุในเขตชนบท ทำให้เขมรแดงแผ่อำนาจได้เร็ว และสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในกัมพูชาได้ ใน พ.ศ. 2516 นักประวัติศาสตร์มักจะกล่าวว่าการแทรกแซงและการทิ้งระเบิดของสหรัฐระหว่าง พ.ศ. 2508 – 2516 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขมรแดงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เมื่อสหรัฐหยุดให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลของลน นลใน พ.ศ. 2516 เขมรแดงได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศก่อนจะเข้ายึดพนมเปญในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ล้มล้างรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรในที่สุด

เมื่อเขมรแดงครองอำนาจ

แก้

ผู้นำของเขมรแดงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คณะกรรมการของพรรคระหว่างครองอำนาจได้แก่

  • พี่ชายหมายเลข 1 พล พต หรือลต ซอร์ เป็นเลขาธิการทั่วไปของพรรคระหว่าง พ.ศ. 2506 – 2541 เป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาประชาธิปไตยระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2522
  • พี่ชายหมายเลข 2 นวน เจียหรือฬง บุนรวต ประธานสภาตัวแทนประชาชนกัมพูชา
  • พี่ชายหมายเลข 3 เอียง ซารี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2518 – 2522
  • พี่ชายหมายเลข 4 เขียว สัมพัน ประธานสภาเปรซิเดียมและประมุขรัฐของกัมพูชาประชาธิปไตย
  • พี่ชายหมายเลข 5 ตา มก หรือ ชิต เชือน ผู้นำกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย ผู้นำเขมรแดงคนสุดท้าย เลขาธิการเขตตะวันตกเฉียงใต้ (เสียชีวิตระหว่างรอพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549)
  • พี่ชายหมายเลข 13 เก ปวก เลขาธิการทั่วไปเขตเหนือ
  • ซอน เซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • ยุน ยัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2518 – 2520 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ (แทนที่ ฮู นิมใน พ.ศ. 2520)

ในระหว่างที่มีอำนาจ เขมรแดงจัดการให้ประเทศปลอดจากอิทธิพลของต่างชาติ ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม ยกเลิกธนาคาร การเงิน สกุลเงิน สั่งให้การนับถือศาสนาผิดกฎหมาย บังคับให้ประชาชนอพยพออกจากเมือง ไปอยู่ในนารวม เพื่อเปลี่ยนชาวกัมพูชาทั้งหมดให้เป็นประชาชนเก่าที่อยู่ได้ด้วยการเกษตร ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องล้มตาย ทั้งการขาดอาหาร โรคระบาด และถูกประหาร ในพนมเปญและเมืองอื่น ๆ เขมรแดงบังคับให้ประชาชนอพยพออกมาเพราะอ้างว่าสหรัฐอเมริกาจะมาทิ้งระเบิด ประชาชนต้องไปอยู่ตามคอมมูน และค่ายสำหรับใช้แรงงาน คนบางกลุ่มถูกเลือกไปประหารชีวิต เช่นเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเขมร และคนที่มีความรู้ รวมทั้งคนที่สงสัยว่าจะทรยศ

 
กะโหลกศีรษะของเหยื่อของเขมรแดง
 
ส่วนที่เหลืออยู่ของเหยื่อของเขมรแดงที่ Kampong Trach Cave, Kiry Seila Hills, Rung Tik (Water Cave) หรือ Rung Khmao (Dead Cave).

อย่างไรก็ตาม ภายในพรรคได้เกิดความแตกแยกภายในโดยเกิดกลุ่มที่ต่อต้าน พล พตขึ้น โดยเกิดการต่อต้านใน พ.ศ. 2520 และ 2521 ทำให้มีผู้ถูกประหารชีวิตนับพันคนรวมทั้งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย ทั้งนี้ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นเก่าที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับเวียดนามจะตกเป็นเป้าหมายของ พล พต

องค์กรหรืออังการ์

แก้

ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2520 พล พตประกาศถึงการมีอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาในสุนทรพจน์นาน 5 ชั่วโมง โดยประกาศตั้งอังการ์ (ภาษาเขมร: អង្គការ หมายถึงองค์กร) เป็นหน่วยงานที่ครองอำนาจสูงสุดในกัมพูชา ก่อนหน้านี้การมีอยู่ของพรรคถือว่าเป็นความลับ และพล พตยังคงถือเป็นความลับอยู่ในช่วงสองปีแรกที่ขึ้นครองอำนาจ เพื่อป้องกันศัตรูภายใน การประกาศการมีอยู่ของพรรคเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆก่อนที่ พล พตจะเดินทางไปเยือนจีน และเขมรแดงต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นในการต่อต้านเวียดนาม พล พตกล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2503 โดยไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม

ความตกต่ำของเขมรแดง

แก้

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 เนื่องจากความขัดแย้งที่สะสมมาหลายปี ทำให้มีผู้อพยพชาวกัมพูชาจำนวนมากเข้าไปสู่เวียดนาม พล พตกลัวการโจมตีของเวียดนาม จึงให้กองทหารของเขาข้ามแดนเข้าไปในเวียดนามและเผาทำลายหมู่บ้านโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนหรือสหรัฐ ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2522กลุ่มนิยมเวียดนามในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชานำโดยแปน โสวัณได้จัดการประชุมพรรคใกล้กับชายแดนเวียดนามและได้ร่วมมือกับเฮง สัมรินจัดตั้งแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา เพื่อต่อต้านเขมรแดง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แตกออกเป็นสองส่วน กลุ่มที่นำโดยแปน โสวัณแยกไปเป็นอีกพรรคหนึ่ง

กองกำลังเวียดนามบุกรุกเข้าสู่กัมพูชาพร้อมกับแนวร่วมประชาชาติฯ และเข้ายึดครองพนมเปญได้ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 กลุ่มของแปน โสวัณจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา พรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยพล พตถอนกองกำลังและเคลื่อนย้ายไปทางตะวันตกไปตั้งมั่นตามแนวชายแดนไทยและเริ่มการต่อสู้แบบกองโจรต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา โดยมีเขียว สัมพันเป็นผู้นำ ต่อมา ใน พ.ศ. 2524 พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้สลายตัวและจัดตั้งพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยขึ้นแทน

อ้างอิง

แก้
  1. Cambodia and the Khmer People's Revolutionary Party (KPRP), Appendix B - Major Political and Military Organizations
  2. เขียว สัมพัน. ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า. อภิญญา ตะวันออก แปล. กทม.มติชน .2549.
  3. ศรีประภา เพชรมีศรี. “การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, ” เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น, สีดา สอนศรี บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.) หน้า 337
  4. การเปลี่ยนชื่อจาก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เป็น พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน นั้น นรนิติ เศรษฐบุตร ได้ให้เหตุผลว่า องค์การคอมมิวนิสต์สากล (Comintern) เห็นว่าถ้าใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามแล้ว แนวร่วมคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาและลาวจะตีตนออกห่างได้ ดู นรนิติ เศรษฐบุตร. อุดมการณ์หรือผลประโยชน์ : การขัดกันระหว่างรัสเซียกับจีน และญวนกับเขมร (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา.) หน้า 13
  5. เดวิด แชนด์เลอร์, พรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ วงเดือน นาราสัจจ์ แปล. ประวัติศาสตร์กัมพูชา, พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรณาธิการแปล (กรุงเทพฯ : มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543.) หน้า 284
  6. ธีระ นุชเปี่ยม. "การเมืองในกัมพูชา, " เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น, สีดา สอนศรี บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.) หน้า 379, 381 – 382
  7. ผลการเลือกตั้งสภาใน พ.ศ. 2498 พรรคสังคมราษฎร์นิยมได้รับคะแนนร้อยละ 83 และที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติทุกที่นั่ง รองลงมา คือ พรรคประชาธิปไตย ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 13 และอันดับสุดท้ายคือพรรคประชาชนที่ได้กล่าวไปแล้วในเนื้อความ ดู ธีระ นุชเปี่ยม. เพิ่งอ้าง. หน้า 384
  8. เดวิด แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. หน้า 300
  9. ชื่อ “เขมรแดง” มีที่มาจากการที่เจ้าสีหนุได้แบ่งกัมพูชาเป็นสี 3 สี เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมือง 3 กลุ่ม ได้แก่ “เขมรแดง” เป็นตัวแทนกลุ่มที่มีความคิดเห็นรุนแรง “เขมรน้ำเงิน” เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งหมายถึงตัวเจ้าสีหนุเอง และ “เขมรขาว” เป็นตัวแทนของกลุ่มที่ไม่ยอมรับกลุ่มใดเลย ดู เดวิด แชนด์เลอร์. เพิ่งอ้าง. หน้า 309
  10. สาเหตุที่ทำให้เจ้าสีหนุเลือกที่จะดำเนินนโยบายแบบเป็นกลาง เป็นผลมาจากพระองค์ผิดหวังกับท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีต่อกัมพูชา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เอาใจใส่แต่ไทยและเวียดนามใต้ โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของกัมพูชา และไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่พระองค์ต้องการเอกราชกลับคืนสู่กัมพูชา ในขณะเดียวกัน จีนกับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ กลับแสดงท่าทีที่เป็นมิตรและให้กำลังใจแก่พระองค์มากกว่า จึงทำให้พระองค์หันมาสนับสนุนนโยบายเป็นกลางและการอยู่ร่วมกันโดยสันติ และคิดว่ากัมพูชาควรถ่วงดุลอำนาจกับอเมริกาโดยเป็นมิตรกับฝ่ายตรงข้ามของอเมริกาแทน ดู เสาวรส ณ บางช้าง. “เขมร : นโรดมสีหนุ วีรชนแห่งเขมร, ” วีรชนเอเชีย : Asian Heroes, สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค, 2545.) หน้า 52 – 53
  11. The party statutes, published in mid-1970s, claims that the name change was approved by the party congress in 1971.[1]