ฮู ยวน (Hou Yuon) เป็นนักการเมืองที่นิยมระบอบคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา เกิดในครอบครัวของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน[1] เขาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับสูงของเขมรแดงที่หายตัวไปหลังพนมเปญแตกเมื่อ พ.ศ. 2518 คาดว่าถูกประหารชีวิต

ฮู ยวน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2506
ผู้นำระดับสูงของเขมรแดง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2510 – พ.ศ. 2518
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2473
จังหวัดกำปงจาม
เสียชีวิตประมาณ พ.ศ. 2518
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง)
เป็นผู้คัดค้านการยกเลิกระบบตลาดและการอพยพผู้คนออกจากเมืองของเขมรแดง

ชีวิตช่วงแรก แก้

ยวนเกิดที่จังหวัดกำปงจามเมื่อ พ.ศ. 2473 เขาเข้าศึกษาที่ Lycée Sisowath ฐานะทางบ้านของเขายากจน พ่อมีอาชีพทำนาและปลูกยาสูบ[2]

เขาได้ไปศึกษาต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสโดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชาประชาธิปไตย โดยวิทยานิพนธ์ของเขาที่เสนอเมื่อ พ.ศ. 2498 เรื่อง The Cambodian Peasants and Their Prospects for Modernization (ภาษาฝรั่งเศส: La paysannerie du Cambodge et ses projets de modernisation) เป็นมุมมองที่ท้าทายเกี่ยวกับการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนา

ยวนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในกลุ่มนักศึกษาเขมรหัวรุนแรงจากปารีส เขาได้เป็นผู้นำของสมาคมนักศึกษาเขมร (KSA)[3] ต่อมา ใน พ.ศ. 2495 ยวนได้ร่วมมือกับ พล พต เอียง ซารี และผู้นิยมฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพระนโรดม สีหนุที่ต่อมาได้เป็นพระมหากษัตริย์ เพื่อให้กำจัดประชาธิปไตยแบบเด็กทารก หลังจากฝรั่งเศสสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมร ยวนและเขียว สัมพันได้จัดตั้งกลุ่มใหม่คือสหภาพนักศึกษาเขมรใน พ.ศ. 2499

หลังจากกลับมากัมพูชา ยวนไปเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนเอกชน Lycée Kambuboth ที่เขาได้ร่วมก่อตั้ง

ในการเมืองกัมพูชา พ.ศ. 2501 – 2510 แก้

ในช่วงเวลานี้ สีหนุเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาหลังจากได้รับเอกราช และได้เชิญกลุ่มฝ่ายซ้ายรวมทั้งฮู ยวนเข้าร่วมกับพรรคสังคมและรัฐบาลของพระองค์ เพื่อถ่วงดุลกับฝ่ายขวา ยวนได้เป็นรัฐมนตรีหลายตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2506 เขาถูกบีบให้ลาออกหลังจากพ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจในสภาแห่งชาติ เขาเองไม่ได้ดำเนินนโยบายตามความต้องการของพระนโรดม สีหนุอย่างใกล้ชิด[4] อย่างไรก็ตาม เขามีความขัดแย้งกับพระองค์อย่างเปิดเผยหลายเรื่อง

ใน พ.ศ. 2507 ยวนได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Co-Operative Question ซึ่งแสดงความแตกต่างระหว่างระบอบสังคมนิยมกับระบอบของพระนโรดม สีหนุ โดยมีคำถามเชิงลึกว่าสหกรณ์จะช่วยชาวนาที่ยากจนและลดแรงกดดันของสังคมเมืองต่อชนบทอย่างไร ซึ่งต่อมา เขมรแดงได้นำไปปรับใช้

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ พ.ศ. 2509 พระนโรดม สีหนุได้ขัดขวางเขาโดยส่งผู้สมัครคนอื่นลงในตำบลที่เขาจะสมัคร ทำให้ฝ่ายซ้ายของพรรคสังคมต้องแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่น ฮู ยวน ฮู นิม และเขียว สัมพันเลือกที่จะสู้ต่อไป ทำให้พระนโรดม สีหนุเลือกที่จะต่อต้านพวกเขามากขึ้น ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่ายวนชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 78% หลังจากนั้น พระนโรดม สีหนุแต่งตั้งให้เขาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อถ่วงดุลกับคณะรัฐมนตรีฝ่ายขวาของ ลน นล อย่างไรก็ตาม หลังการลุกฮือที่สำลวต พ.ศ. 2510 ยวนถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการลุกฮือครั้งนี้ ทำให้เขาหนีเข้าป่าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดย พล พต เอียง ซารี และซอน เซน

รัฐบาลสหภาพแห่งชาติ แก้

หลังรัฐประหารในกัมพูชา พ.ศ. 2513 ยวนได้เข้าร่วมกับรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาพลัดถิ่นที่ตั้งอยู่ที่ปักกิ่ง ซึ่งเป็นแนวร่วมระหว่างพระนโรดม สีหนุกับพรรคคอมมิวนิสต์ ยวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างตัวเขากับสมาชิกเขมรแดงในพื้นที่ปลดปล่อย และยังต่อต้านนโยบายของพล พต และนวน เจียที่ต้องการยกเลิกระบบตลาดโดยสิ้นเชิง ยวนกล่าวว่า ถ้าพวกเขาทำตามความคิดนี้ ระบบจะล่มสลายภายใน 3 ปี[3]

ความขัดแย้งนี้ทำให้ยวนถูกส่งเข้าค่ายสัมมนา K6 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ใน พ.ศ. 2517 แต่เนื่องจากเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพล พต และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ทำให้เขายังคงเป็นหนึ่งในผู้นำเขมรแดงจนถึง พ.ศ. 2518

การเสียชีวิต แก้

การเสียชีวิตของยวนคาดว่าเกิดจากคำสั่งของเขมรแดงหลังจากขึ้นครองอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2518 แล้ว[5] เชื่อว่ายวนเสียชีวิตเพราะความขัดแย้งในกรณีที่เขาไม่เห็นด้วยกับการอพยพผู้คนออกจากพนมเปญ[6] เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จากจังหวัดกำปงจามกล่าวว่ายวนถูกยิงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2518 โดยทหารของเขมรแดง หลังจากที่เขาแสดงความเห็นใจผู้อพยพที่เปรกปอร์ ตำบลสเร็ยสันทอร์ และร่างของเขาถูกโยนลงแม่น้ำโขง[7] พยานคนอื่นกล่าวว่ายังเห็นยวนในค่ายที่สตึงแตรงเมื่อ พ.ศ. 2519 และเขาน่าจะป่วยจนเสียชีวิต หรือฆ่าตัวตายขณะอยู่ในค่าย สมาชิกเขมรแดงบางคนเล่าว่าเขาถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยยิงตายเพราะความผิดพลาดหลังจากที่เขาถูกเรียกตัวกลับมายังพนมเปญ อย่างไรก็ตามเอกสารของเขมรแดงหลัง พ.ศ. 2521 ได้อ้างถึงยวนว่าเขาเสียชีวิตขณะถูกคุมขัง[3]

อ้างอิง แก้

  1. Lynn Pan (1998). The Encyclopedia of the Chinese Overseas. Harvard University Press. p. 148, Cambodia-The Khmer Rouge, 1970–78. ISBN 0-674-25210-1.
  2. Kiernan, B. How Pol Pot Came to Power: Colonialism, Nationalism, and Communism in Cambodia, 1930-1975, Yale University Press, 2004, p. 29. ISBN 0-300-10262-3
  3. 3.0 3.1 3.2 Hou Yuon Online Encyclopaedia of Mass Violence]
  4. Kiernan, p. 204.
  5. Kiernan B. The Pol Pot Regime: Race, Power, and Genocide in Cambodia Under the Khmer Rouge, 1975-79. New Haven: Yale University Press, 1996. p. 61. ISBN 978-0-300-14434-5
  6. Martin, M. Cambodia: a Shattered Society. University of California Press, 1994, p. 158. ISBN 0-520-07052-6
  7. Kiernan, p. 417.