โฮจิมินห์ (เวียดนาม: Hồ Chí Minh, โห่ จี๊ มิญ ฮันตึ: 胡志明; คำแปล "แสงสว่างที่นำทาง"[2]) เป็นนักปฏิวัติชาวเวียดนาม ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) หลังจากสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม ไซ่ง่อน เมืองหลวงเก่าของเวียดนามใต้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ เพื่อเป็นเกียรติแก่โฮจิมินห์

โฮจิมินห์
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม
ดำรงตำแหน่ง
2 กันยายน พ.ศ. 2489 – 2 กันยายน พ.ศ. 2512
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปโตน ดึ๊ก ทั้ง
นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม
ดำรงตำแหน่ง
2 กันยายน พ.ศ. 2488 – 20 กันยายน พ.ศ. 2498
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
ถัดไปฝั่ม วัน ด่ง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433
จังหวัดเหงะอาน
เสียชีวิต2 กันยายน พ.ศ. 2512
(79 ปี)
ฮานอย ประเทศเวียดนามเหนือ เวียดนามเหนือ
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
คู่สมรสตัง เตวี๊ยต มิญ[1]
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาเวียดนาม
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามHồ Chí Minh
ฮ้าน-โนม
ชื่อเกิดเวียดนาม
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามNguyễn Sinh Cung
ฮ้าน-โนม

โฮจิมินห์ เป็นบุคคลที่ชาวเวียดนามถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการประกาศอิสรภาพของเวียดนาม[2]

ประวัติ แก้

โฮจิมินห์เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ที่หมู่บ้านฮหว่างจู่ จังหวัดเหงะอาน ตอนบนของเวียดนาม ในชื่อ เหงียน ซิญ กุง (เวียดนาม: Nguyễn Sinh Cung) เป็นบุตรคนที่ 3 และบุตรชายคนรองของเหงียน ซิญ ซัก ปัญญาชนชาวเวียดนาม [2]

ซึ่งเวียดนามขณะนั้นตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศส ดังนั้นทั้งโฮจิมินห์และบิดาต่างตกเสมือนอยู่ใน 2 วัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมตะวันตกของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ปกครอง และวัฒนธรรมตะวันออกแบบจีนและลัทธิขงจื๊อ อันเป็นวัฒนธรรมของเวียดนาม

ด้วยวัยเพียงไม่กี่ขวบ โฮจิมินห์ได้ย้ายตามบิดาไปเว้ ซึ่งไปสอบจอหงวน แต่ต่อมาโฮจิมินห์ได้อาศัยอยู่กับมารดาตามลำพังเพียง 2 คน เพราะบิดาเมื่อสอบจอหงวนได้ ได้ย้ายไปรับราชการที่ต่างเมือง ขณะที่มารดากำลังตั้งครรภ์ ต่อมาก็ได้คลอดลูกคนเล็กออกมา โฮจิมินห์ในวัย 11 ขวบต้องเลี้ยงน้องเอง เนื่องจากมารดาได้เสียชีวิตไปในขณะคลอด และไม่นานน้องคนเล็กก็เสียชีวิต[2]

บทบาททางการเมือง แก้

เมื่อโตขึ้น โฮจิมินห์ได้สัมผัสกับการเมืองเป็นครั้งแรกจากการที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสให้กับชาวนาที่ถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกดขี่ ในช่วงนี้ โฮจิมินห์ได้กล่าวว่า ตนได้เห็นการกดขี่และความอยุติธรรม รวมถึงการได้เห็นชาวนาถูกยิงตายต่อหน้าต่อตา ต่อมาโฮจิมินห์รู้ตัวว่า ตนเองต้องได้รับการศึกษาที่มากขึ้นและออกไปท่องโลกกว้างเพื่อเปิดโลกทัศน์ของตน ในปี พ.ศ. 2454 จึงได้ย้ายจากเวียดนามไปเป็นพ่อครัวในประเทศฝรั่งเศส ด้วยการสมัครเป็นลูกเรือบนเรือเดินสมุทรที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมของเวียดนามในขณะนั้น และได้ศึกษาเรียนต่อที่นั่น โฮจิมินห์ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า เหงียน อ๊าย โกว๊ก ซึ่งแปลว่า "เหงียนผู้รักชาติ" โฮจิมินห์ได้ติดต่อกับชาวเวียดนามในฝรั่งเศส เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องอิสรภาพจากชาติมหาอำนาจตะวันตกหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ ในฐานะโฆษกของกลุ่ม แต่ทว่าก็ได้รับการรังเกียจและถูกกีดกันออกมา เมื่อโฮจิมินห์พยายามจะยื่นหนังสือต่อวูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขณะเดินทางมายังฝรั่งเศส เพื่อลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[2]

ต่อมาโฮจิมินห์ก็ได้ย้ายจากฝรั่งเศสไปสหรัฐอเมริกาและอังกฤษตามลำดับ หลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเมื่อรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คเริ่มการปราบปรามสังคมนิยม นั้น โฮจิมินห์ได้หลบหนีจากจีนมายังจังหวัดนครพนม ประเทศไทย โดยได้บวชเป็นพระภิกษุทำการสอนลัทธิสังคมนิยมให้ชาวไทย โดยใช้ชื่อว่า "ลุงโฮ" โดยช่วงแรกที่หลบหนีในประเทศไทยนั้นเริ่มจากขึ้นเรือที่ท่าน้ำเอสบี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมแม่น้ำ) ไปยังจังหวัดพิจิตร จากนั้นได้เดินทางไปต่อยังจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย โดยใช้ชื่อว่า "เฒ่าจิ๋น" ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2466 ไปจนถึง พ.ศ. 2474 ท่านได้พำนักอยู่ ณ บ้านของนายเตียว เหงี่ยนวัน เลขที่ 48 หมู่ที่ 5 บ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม รวมเวลาพำนักอยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น 7 ปี[3] ในระยะนี้โฮจิมินห์ต้องเดินทางไปหลบซ่อนในหลายประเทศ ใช้ชื่อปลอมหลายชื่อ ซึ่งครั้งหนึ่ง โฮจิมินห์ได้ถูกตำรวจฮ่องกงจับโดยไม่มีความผิด ได้ถูกขังคุกนานเป็นระยะเวลานาน 1 ปีเต็ม ในช่วงนี้โฮจิมินห์สภาพร่างกายย่ำแย่มาก เป็นโรคขาดสารอาหาร แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นออกมา จากเพื่อนเก่าในสมาคมชาวเวียดนามในฝรั่งเศส รวมถึงเชื่อว่ามี โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งเป็นสหายที่ดีต่อโฮจิมินห์ร่วมด้วย[2]

โฮจิมินห์เดินทางกลับมาเวียดนามอีกครั้งในปีพ.ศ. 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสในขณะนั้นถูกนาซีเยอรมนีบุกยึดครอง และกลายสภาพเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดให้แก่นาซีเยอรมนี รัฐบาลอินโดจีนจึงรับนโยบายในการปกครองเวียดนามจากนาซีเป็นหลัก โฮจิมินห์จึงสบโอกาสรวบรวมชาวเวียดนามส่วนใหญ่แล้วตั้งเป็นฝ่ายเวียดมินห์ เตรียมแผนที่จะประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสให้ประชาชนชาวเวียดนาม ซึ่งชาวเวียดนามในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษา และส่วนใหญ่อดอยากยากจน โฮจิมินห์ได้เข้าถึงตัวชาวบ้านระดับล่าง ด้วยการทำตัวกลมกลืนผูกมิตรไปกับชาวบ้าน ได้พูดคุยและทำความเข้าใจกันอย่างง่าย ๆ และเพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการบอกแบบปากต่อปาก ซึ่งหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญ ก็คือ หวอ เงวียน ซ้าป ซึ่งต่อมาเป็นนายพลและสหายคนสำคัญของโฮจิมินห์ อีกทั้งทั้งคู่ยังเป็นคู่เขยของกันและกัน เนื่องจากภรรยาของทั้งคู่นั้นเป็นพี่น้องกัน และในช่วงนี้เองที่มีการใช้ชื่อ "โฮจิมินห์" เป็นครั้งแรก[2]

และในช่วงปลายของสงคราม โฮจิมินห์ได้ยังติดต่อกับสำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ (OSS) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมมือกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นด้วย นับเป็นการร่วมมือกันของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม[2]

ในที่สุด โฮจิมินห์ประกาศจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามหลังจากจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิเวียดนามพระองค์สุดท้ายประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2497 เวียดนามก็ได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในยุทธการที่เดียนเบียนฟู โฮจิมินห์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามเป็นคนแรก ด้วยการประกาศแถลงการณ์ที่จัตุรัสบาดิ่ญ ซึ่งเริ่มต้นด้วยประโยคแบบเดียวกับประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา โฮจิมินห์ปฏิเสธที่จะพำนักในจวนข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส ซึ่งโอ่โถง แต่ขออาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเล็ก ๆ เท่านั้น

ชีวิตส่วนตัว แก้

ด้านชีวิตส่วนตัว โฮจิมินห์สมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับหญิงชาวจีนที่ประเทศจีน ขณะที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในประเทศจีนในวัยหนุ่ม แต่ต่อมาภรรยาได้เสียชีวิต และอีกครั้งกับตัง เตวี๊ยต มิญ หญิงชาวเวียดนาม และเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แม้ทั้งคู่อายุจะห่างกันหลายปีก็ตาม [2]

ปั้นปลายชีวิต แก้

ในปี พ.ศ. 2502 สงครามเวียดนามได้อุบัติขึ้น สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรอื่น ๆ ก็ได้เข้าร่วมสงครามด้วย แต่ผลสุดท้ายเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะในปี พ.ศ. 2518 โฮจิมินห์ในขณะนั้นอยู่ในวัยชราแล้ว ได้ประกาศว่า ตนลดบทบาททางการเมืองลงมา แม้จะได้รับการนับถืออย่างสูงสุดอยู่ก็ตาม และก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่โฮจิมินห์มิได้อยู่ถึงการชื่นชมชัยชนะในปี พ.ศ. 2518 ด้วยเหตุที่ว่าโฮจิมินห์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2512 ที่บ้านพักในฮานอย ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว สิริอายุได้ 79 ปี ปัจจุบันร่างของโฮจิมินห์ได้รับการบรรจุในโลงแก้ว เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เคารพ ตั้งไว้ที่จตุรัสบาดิงห์[2]

อ้างอิง แก้

  1. Brocheux, Pierre , (2011), [1], Cambridge University Press, p. 39; ISBN 9781107622265
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 โฮจิมินห์, "โลกหลากมิติ". สารคดีทางไทยพีบีเอส: อาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  3. Down-home dividends

แหล่งข้อมูลอื่น แก้