ยุทธการที่เดียนเบียนฟู
ยุทธการที่เดียนเบียนฟู (ฝรั่งเศส: Bataille de Diên Biên Phu; เวียดนาม: Chiến dịch Điện Biên Phủ) เป็นการเผชิญหน้าครั้งสำคัญสุดยอดในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ระหว่างกองทัพรบนอกประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลของสหภาพฝรั่งเศสและนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์-ชาตินิยมเวียดมินห์ ยุทธการนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1954 และสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างกว้างขวางของฝรั่งเศสซึ่งส่งอิทธิพลต่อการเจรจาเหนืออนาคตของคาบสมุทรอินโดจีนที่นครเจนีวา นักประวัติศาสตร์การทหาร มาร์ติน วินโดรว์ เขียนว่า เดียนเบียนฟูเป็น "ครั้งแรกซึ่งขบวนการเรียกร้องเอกราชอาณานิคมวิวัฒนาผ่านทุกขั้นตอนจากกองโจรไปเป็นกองทัพซึ่งจัดระเบียบและติดอาวุธตามแบบจนสามารถเอาชนะเจ้าอาณานิคมตะวันตกสมัยใหม่ในการรบแบบที่ตั้งมั่น (pitched battle)"[17]
ยุทธการที่เดียนเบียนฟู | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง | |||||||
พลร่มฝรั่งเศสกำลังกระโดดร่มลงจากเครื่องบินลำเลียง ซี-119 ฟลายอิงบอกซ์คาร์ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
สนับสนุนโดย: สหรัฐอเมริกา |
สนับสนุนโดย: จีน[1] สหภาพโซเวียต | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
Henri Eugène Navarre Jules Gaucher † ปีแยร์ ล็องแกล André Lalande Charles Piroth † |
โฮจิมินห์ หวอ เงวียน ซ้าป Hoàng Văn Thái Lê Liêm Đặng Kim Giang Lê Trọng Tấn Vương Thừa Vũ Hoàng Minh Thảo Lê Quảng Ba | ||||||
กำลัง | |||||||
13 มีนาคม: ~10,800 นาย;[4] กำลังหน่วยรบ ~9,000 นาย กำลังพลสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง ~1,800 นาย รถถัง 10 คัน 7 พฤษภาคม: ~14,000 นาย; กำลังหน่วยรบ ~12,000 นาย ฝ่ายโลจิสติกส์และสนับสนุน ~2,000 นาย อากาศยานขนส่ง 37 ลำ[5] อากาศยาน ~600 ลำ |
13 มีนาคม: กำลังหน่วยรบ ~49,500 นาย กำลังพลสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง ~15,000 นาย[6] 7 พฤษภาคม: กำลังหน่วยรบ ~80,000 นาย (รวมกำลังพลสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง) | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
เสียชีวิต 1,571[7]–2,293 นาย[8] หายไป 1,729 นาย[9] ถูกจับกุม 11,721 นาย (ในจำนวนนี้บาดเจ็บ 4,436 นาย)[10] อากาศยาน 62 ลำ[11] และเสียรถถัง 10 คัน อากาศยานเสียหาย 167 ลำ[12] เสียชีวิต 2 นาย[5] |
จำนวนประมาณการของนักประวัติศาสตร์ตะวันตก: เสียชีวิต 8,000 นาย บาดเจ็บ 15,000 นาย[13] ตัวเลขของเวียดนาม: 13,930 นาย[14] จำนวนประมาณการของนักประวัติศาสตร์เอเชีย: 23,000[15]-25,000 นาย[16] | ||||||
ผลจากความผิดพลาดในกระบวนการตัดสินใจของฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสเริ่มปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนทหารของตนที่เดียนเบียนฟู ลึกเข้าไปในหุบเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม จุดประสงค์ของปฏิบัติการนี้เพื่อตัดเส้นทางเสบียงของเวียดมินห์ที่เข้าสู่ราชอาณาจักรลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรของฝรั่งเศส และเพื่อดึงให้เวียดมินห์มาเผชิญหน้าครั้งสำคัญที่จะทำลายศักยภาพของเวียดมินห์ในทางยุทธวิธี อย่างไรก็ดี เวียดมินห์ ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก หวอ เงวียน ซ้าป ได้ปิดล้อมฝรั่งเศส โดยที่ฝรั่งเศสไม่ทราบมาก่อนว่าเวียดมินห์มีปืนใหญ่หนัก รวมทั้งปืนต่อสู้อากาศยานอยู่ในครอบครอง ตลอดจนความสามารถของเวียดมินห์ในการเคลื่อนย้ายอาวุธดังกล่าวผ่านภูมิประเทศทุรกันดารยิ่งมายังยอดเขาที่มองไปเห็นที่มั่นของฝรั่งเศส เวียดมินห์ได้ยึดครองที่สูงรอบเดียนเบียนฟูและยิงปืนใหญ่ถล่มที่มั่นของฝรั่งเศส ได้เกิดการรบภาคพื้นดินอย่างยืนหยัดขึ้นตามมา ซึ่งคล้ายกับการสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารฝรั่งเศสได้ขับไล่การโจมตีที่มั่นของฝ่ายเวียดมินห์หลายครั้ง เสบียงและกำลังหนุนถูกส่งเข้ามาทางอากาศ แต่ก็ถูกขัดขวาง เพราะที่ตั้งฝรั่งเศสถูกยึดและได้รับความสูญเสียจากปืนต่อสู้อากาศยาน ทำให้มีเสบียงไปถึงทหารน้อยลงทุกขณะ หลังจากการล้อมนานสองเดือน ที่มั่นของฝรั่งเศสได้ถูกยึดและกำลังฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยอมจำนน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปยังประเทศลาวได้ รัฐบาลฝรั่งเศสลาออกและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปีแยร์ ม็องแด็ส-ฟร็องส์ ฝ่ายซ้ายกลาง สนับสนุนการถอนทหารฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน
ไม่นานหลังจากยุทธการนี้ สงครามอินโดจีนยุติลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเจนีวา ซึ่งภายใต้สนธิสัญญาฝรั่งเศสยินยอมสละอดีตอาณานิคมทั้งหมด สำหรับทางเหนือ ฝรั่งเศสรับรองอำนาจของโฮจิมินห์ แต่สำหรับทางใต้ จะมีการจัดการเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคต แต่การเลือกตั้งไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะสหรัฐอเมริกายกเลิกไป[18] ข้อตกลงนี้แบ่งประเทศเวียดนามออกเป็นสองประเทศ ภายหลังได้เกิดการสู้รบระหว่างกลุ่มแยกเวียดนามที่เป็นปรปักษ์กันใน ค.ศ. 1959 จนนำไปสู่สงครามเวียดนาม (หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง)
เบื้องหลังและการเตรียมการ
แก้จนถึง ค.ศ. 1953 สถานการณ์ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งไม่สู้ดีนักสำหรับฝรั่งเศส ผู้บัญชาการฝรั่งเศสคนแล้วคนเล่า ไม่ว่าจะเป็นฟีลิป เลอแกลร์ เดอ โอตกล็อก, ฌ็อง-เอเตียน วาลุย, รอเฌ แบลโซ, มาร์แซล-มอริส การ์ป็องตีเย, ฌ็อง เดอ ลัทร์ เดอ ตาซีญี และราอูล ซาล็อง ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถหยุดยั้งการลุกฮือของเวียดมินห์ได้ ระหว่างการทัพ ค.ศ. 1952-53 เวียดมินห์ได้ยึดครองพื้นที่กว้างขวางในลาว พันธมิตรของฝรั่งเศสและประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับเวียดนามทางตะวันตก โดยสามารถแทรกซึมเข้าไปถึงหลวงพระบางและทุ่งไหหิน ฝรั่งเศสไม่อาจชะลอการรุกคืบของเวียดมินห์ได้เลย และเวียดมินห์เพียงแต่ถอยทัพออกไปหลังจากเคลื่อนทัพเร็วเกินกว่าเส้นทางเสบียงที่มักมีขนาดเล็กเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1953 ฝรั่งเศสเริ่มเสริมการป้องกันในพื้นที่สามเหลี่ยมฮานอยเพื่อเตรียมการสำหรับการโจมตีจุดระดมพลของเวียดมินห์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม โดยฝรั่งเศสได้สร้างเมืองปราการและกองรักษาด่านในพื้นที่ รวมไปถึงลายเจิวที่อยู่ทางเหนือใกล้พรมแดนจีน[19] หน่าสาน ทางตะวันตกของฮานอย[20] และทุ่งไหหินทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว[21]
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1953 นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เรอเน มาแยร์ ได้แต่งตั้งอ็องรี นาวาร์ เพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจ ให้รับช่วงบัญชาการกำลังสหภาพฝรั่งเศสในอินโดจีน มาแยร์ได้ออกคำสั่งแก่นาวาร์เพียงข้อเดียว คือ สร้างเงื่อนไขทางทหารอันจะนำไปสู่ "ทางออกทางการเมืองอันมีเกียรติ" เท่านั้น[22] ตามการเล่าของนักวิชาการทหาร ฟิลลิป เดวิดสัน
เมื่อมาถึง นาวาร์ต้องตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีแผนระยะยาวหลังเดอ ลัทร์ พ้นตำแหน่ง ทุกอย่างดำเนินการแบบวันต่อวันและเน้นการสนองเป็นหลัก ปฏิบัติการรบมีขึ้นเพียงเพื่อรับมือกับการเคลื่อนที่ของข้าศึกหรือภัยคุกคามเท่านั้น ไม่มีแผนการครอบคลุมเพื่อพัฒนาการจัดระเบียบและการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์แก่กองกำลังรบนอกประเทศ ในที่สุด นาวาร์ ผู้เป็นทหารอาชีพเยือกเย็นและมีสติปัญญา ก็ต้องตกตะลึงกับทัศนะ "ปิดเทอม" ของซาล็อง ตลอดจนผู้บัญชาการอาวุโสและนายทหารเสนาธิการของเขา พวกเขากำลังกลับบ้าน ไม่ใช่ในฐานะผู้ชนะหรือวีรบุรุษ แต่ก็ไม่ชัดว่าเป็นผู้แพ้เช่นกัน สำหรับพวกเขา สิ่งที่สำคัญคือพวกเขากำลังจากอินโดจีนไปพร้อมกับชื่อเสียงที่หลุดลุ่ยแต่ไม่ถูกทำลาย พวกเขาให้ความสำคัญเล็กน้อยหรือคิดถึงปัญหาของผู้สืบทอดตำแหน่งต่อน้อยมาก[22]
หน่าสานกับแนวคิด "เม่น"
แก้พร้อมกันนั้น นาวาร์ได้มองหาหนทางที่จะหยุดยั้งภัยคุกคามจากเวียดมินห์ต่อลาว พันเอกหลุยส์ แบร์เตย ผู้บัญชาการกลุ่มเคลื่อนที่ที่ 7 และผู้วางแผนหลักของนาวาร์[23] ได้เสนอแนวคิด "เอรีซง" (เม่น) กองทัพฝรั่งเศสจะสร้างหัวหาดอากาศซึ่งมีการป้องกัน โดยให้ทหารกระโดดร่มใกล้กับเส้นทางเสบียงสำคัญของเวียดมินห์ที่จะไปสู่ลาว[24] ซึ่งจะเป็นการตัดขาดทหารเวียดมินห์ที่กำลังสู้รบอยู่ในลาวและบีบให้ทหารเหล่านี้ล่าถอยกลับไปอย่างมีประสิทธิภาพ "มันเป็นความพยายามที่จะขัดขวางพื้นที่ด้านหลังของข้าศึก เพื่อหยุดยั้งการหลั่งไหลของเสบียงและกำลังหนุน เพื่อสร้างความกลัวแก่ศัตรูทางด้านหลัง และเพื่อรบกวนแนวของเขา"[25]
แนวคิดเม่นตั้งอยู่บนประสบการณ์ของฝรั่งเศสที่ยุทธการที่หน่าสาน ในปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1952 ซ้าปได้โจมตีกองรักษาด่านขนาดเล็กของฝรั่งเศสที่หน่าสาน ซึ่งถือได้ว่าเป็น "ฐานอากาศ-บก" ที่สำคัญ และเป็นค่ายมีการป้องกันที่ได้รับเสบียงจากทางอากาศทางเดียว[26] กองกำลังของซ้าปถูกตีโต้กลับไปหลายครั้งโดยประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก ฝรั่งเศสหวังว่าด้วยการใช้ยุทธศาสตร์นี้ซ้ำในขนาดที่ใหญ่กว่ามาก พวกเขาน่าจะสามารถลวงซ้าปให้ส่งกองกำลังขนาดใหญ่มาโจมตีได้ อันจะเปิดโอกาสให้ปืนใหญ่ ยานเกราะ และการสนับสนุนทางอากาศที่เหนือกว่าของฝรั่งเศสทำลายกองกำลังเวียดมินห์ที่ตกเป็นเป้าลงอย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์ที่หน่าสานทำให้นาวาร์เชื่อว่าแนวคิดหัวหาดอากาศที่มีการป้องกันจะประสบความสำเร็จ
นายทหารเสนาธิการฝรั่งเศสล้มเหลวแหลกลาญที่จะคำนึงถึงความแตกต่างสำคัญหลายประการระหว่างเดียนเบียนฟูกับหน่าสาน ประการแรก ที่หน่าสาน ฝรั่งเศสยึดครองที่สูงเป็นส่วนใหญ่โดยมีการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ที่เหนือกว่ามาก[27] อย่างไรก็ดี ที่เดียนเบียนฟู ฝ่ายเวียดมินห์กลับควบคุมที่สูงส่วนใหญ่โดยรอบหุบเขา ปืนใหญ่ของเวียดมินห์นั้นเกินกว่าฝรั่งเศสคาดการณ์ไว้มากและมีกำลังพลเหนือกว่าฝรั่งเศสถึงสี่ต่อหนึ่ง[4] ซ้าปได้เปรียบเทียบเดียนเบียนฟูว่าเป็น "ชามข้าว" ที่ซึ่งกองกำลังของเขาสามารถยึดครองสันเขาและมีฝรั่งเศสอยู่ที่หุบเขา ประการที่สอง ซ้าปมีข้อผิดพลาดที่หน่าสานโดยสั่งการให้กองกำลังของเขาโจมตีทางด้านหน้าอย่างสะเพร่าก่อนที่กองกำลังจะเตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์ ที่เดียนเบียนฟู ซ้าปใช้เวลานานหลายเดือนเพื่อสะสมกระสุนอย่างพิถีพิถันและจัดวางปืนใหญ่หนักและปืนต่อสู้อากาศยานก่อนเคลื่อนทัพ กลุ่มอาสาสมัครเวียดมินห์ถูกส่งออกไปยังค่ายฝรั่งเศสเพื่อสอดแนมหาการจัดวางปืนใหญ่ของฝรั่งเศส ชิ้นส่วนปืนใหญ่ที่ทำจากไม้ถูกสร้างขึ้นมาใช้เป็นเหยื่อล่อ ขณะที่ปืนใหญ่จริงจะถูกหมุนเวียนหลังยิงบ่อย ๆ เพื่อให้การยิงปืนใหญ่ตอบโต้ของฝรั่งเศสเกิดความสับสน ผลก็คือ เมื่อยุทธการได้เริ่มขึ้น เวียดมินห์ทราบแน่ชัดถึงตำแหน่งของปืนใหญ่ของฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสไม่ทราบด้วยซ้ำว่าซ้าปมีปืนใหญ่ในการครอบครองเท่าใด ประการที่สาม เส้นทางเสบียงทางอากาศที่หน่าสานไม่เคยได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ถึงแม้ฝ่ายเวียดมินห์จะมีการยิงต่อสู้อากาศยานก็ตาม แต่ที่เดียนเบียนฟู ซ้าปได้จัดหาปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานจำนวนมากซึ่งทำให้ลานบินใช้การไม่ได้ ทำให้เป็นการยากยิ่งและสิ้นเปลืองสำหรับฝ่ายฝรั่งเศสที่จะส่งกำลังหนุนเข้ามา
นำสู่ปฏิบัติการกัสตอร์
แก้ในเดือนมิถุนายน พลตรีเรอเน กอญี ผู้บัญชาการสามเหลี่ยมตังเกี๋ย ได้เสนอให้เดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นลานบินเก่าที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็น "จุดผูกเรือ"[28] ด้วยความเข้าใจผิด กอญีได้แลเห็นว่าเดียนเบียนฟูเป็นจุดที่ควรจะได้รับการป้องกันเพียงเล็กน้อยโดยใช้เป็นฐานตีโฉบฉวย แต่สำหรับนาวาร์ เดียนเบียนฟูหมายถึงฐานที่สามารถจัดป้องกันอย่างแข็งแรงเพียงพอที่จะรับมือกับการล้อมได้ นาวาร์ได้เลือกเดียนเบียนฟูเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติการ "เม่น" ของแบร์เตย เมื่อนาวาร์เสนอแผนการนี้ นายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาที่สำคัญทุกคนต่างประท้วง ซึ่งมีทั้งพันเอกฌ็อง-หลุยส์ นีโก ผู้บัญชาการฝูงบินขนส่งทางอากาศฝรั่งเศส กอญี และนายพล ฌ็อง ฌีล และนายพลฌ็อง เดอโช ผู้บัญชาการภาคพื้นดินและทางอากาศของปฏิบัติการกัสตอร์ ซึ่งการโจมตีทางอากาศขั้นต้นที่เดียนเบียนฟู กอญีได้ชี้โดยคาดการณ์ล่วงหน้าว่า "เรากำลังดำเนินการโดยเสี่ยงที่จะเป็นอย่างหน่าสานครั้งใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่เลวร้ายกว่า"[29] นาวาร์ปฏิเสธการวิจารณ์ข้อเสนอของเขาและสรุปในการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยประกาศว่าปฏิบัติการจะเริ่มดำเนินการในอีกสามวันข้างหน้า คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953[30][31]
นาวาร์ตัดสินใจที่จะดำเนินปฏิบัติการต่อ แม้จะพบความยากลำบากระหว่างปฏิบัติการซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นสิ่งที่ชัดเจนอย่างเจ็บปวด (แต่ในช่วงเวลานั้นอาจเห็นว่าปรากฏเด่นชัดน้อยกว่ามาก)[32] เพราะเขาได้รับความเชื่อมั่นซ้ำ ๆ จากนายทหารการข่าวว่าปฏิบัติการดังกล่าวเผชิญความเสี่ยงน้อยมากที่จะมีกำลังศัตรูที่แข็งแกร่งมาเกี่ยวข้อง[33] เดิมนาวาร์เคยพิจารณาหนทางอื่นอีกสามทางในการป้องกันลาว อันประกอบด้วย หนึ่ง การสงครามเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เมื่อดูจากสภาพภูมิประเทศในเวียดนาม สอง แนวป้องกันอยู่กับที่โดยลากยาวไปถึงลาว ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้เมื่อดูจากจำนวนทหารที่นาวาร์มีอยู่ หรือสาม การจัดวางกำลังในเมืองศูนย์กลางของแขวงต่าง ๆ ของลาวและสนับสนุนด้วยเสบียงทางอากาศ ซึ่งใช้ไม่ได้ผลเมื่อดูจากระยะทางระหว่างฮานอยกับหลวงพระบางและเวียงจันทน์[34] ดังนั้น นาวาร์จึงเหลือทางเลือกเดียว คือ เม่น ซึ่งเขาบรรยายว่า "เป็นหนทางแก้พื้น ๆ"[35] ในจุดพลิกผันของโชคชะตา คณะกรรมการป้องกันแห่งชาติฝรั่งเศสได้ตกลงในท้ายที่สุดว่าความรับผิดชอบของนาวาร์มิได้รวมถึงการป้องกันลาวด้วย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของคณะกรรมการ ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ก็มิได้ถูกส่งไปยังนาวาร์จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม สองสัปดาห์หลังปฏิบัติการที่เดียนเบียนฟูเริ่มขึ้น[36]
การสถาปนาหัวหาดอากาศ
แก้ปฏิบัติการที่เดียนเบียนฟูเริ่มขึ้นเมื่อ 10.35 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 ในปฏิบัติการกัสตอร์ ฝรั่งเศสได้ส่งทหาร 9,000 นายกระโดดร่มลงไปยังพื้นที่เป้าหมายในเวลาสามวัน ทหารเหล่านี้ได้ลงสู่พื้นดินในพื้นที่ทิ้งลงสามแห่ง: "นาตาชา" ทางตะวันตกเฉียงเหนือ "อ็อกตาวี" ทางตะวันตกเฉียงใต้ และ "ซีมอน" ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเดียนเบียนฟู[37] กรมทหารราบอิสระที่ 148 ซึ่งเป็นทหารหัวกะทิของเวียดมินห์ และมีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่เดียนเบียนฟู ตอบโต้ "โดยทันทีและมีประสิทธิภาพ" อย่างไรก็ดี ทหาร 3 จาก 4 กองพันไม่อยู่ในวันนั้น[38] ปฏิบัติการขั้นต้นเป็นไปด้วยดีสำหรับฝรั่งเศส เมื่อถึงปลายเดือนพฤศจิกายน กองพันพลร่ม 6 กองพันก็ได้ลงสู่พื้นดินและฝรั่งเศสกำลังเริ่มเสริมการป้องกันตำแหน่ง
ในเวลานี้ ซ้าปได้เริ่มต้นการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้การดำเนินการของฝรั่งเศส เขาคาดไว้แล้วว่าจะมีการโจมตีเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถทำนายเวลาหรือสถานที่ที่จะถูกโจมตี เขายังตระหนักว่า หากฝรั่งเศสถูกบีบ ก็จะทำให้ฝรั่งเศสละทิ้งจังหวัดลายเจิวและมาทำการรบแบบตั้งมั่นที่เดียนเบียนฟู[39] วันที่ 24 พฤศจิกายน ซ้าปจึงออกคำสั่งให้กรมทหารราบที่ 148 และกองพลที่ 316 โจมตีลายเจิว ขณะที่กองพลที่ 308 ที่ 312 และที่ 351 โจมตีเดียนเบียนฟูจากเหวียตบั๊ก[39]
เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ฝ่ายฝรั่งเศส ภายใต้การบังคับบัญชาของพันเอกคริสตีย็อง เดอ กัสทรี เริ่มเปลี่ยนที่มั่นให้กลายเป็นป้อมปราการ โดยจัดตั้งที่มั่นป้องกันจำนวนเจ็ดแห่ง ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่า แต่ละแห่งได้ชื่อตามอดีตภรรยาลับของเดอ กัสทรี แม้ว่าการกล่าวอ้างดังกล่าวอาจไม่เป็นความจริงก็ตาม ชื่อของที่มั่นทั้งเจ็ดเพียงเริ่มต้นด้วยพยัญชนะแปดตัวแรกเท่านั้น กองบัญชาการที่ได้รับการป้องกันอยู่ตรงกลาง "อูว์แก็ต" ตั้งอยู่ทางตะวันตก "โกลดีน" ตั้งอยู่ทางทิศใต้ และ "ดอมีนิก" ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ[40] ที่มั่นอื่น ๆ มีชื่อว่า "อาน-มารี" ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ "เบอาทริส" ทางตะวันออกเฉียงเหนือ "กาบรีแยล" ทางเหนือ และ "อีซาแบล" อยู่ห่างออกไป 6 กิโลเมตรทางใต้ ซึ่งป้องกันลานบินสำรอง ทางเลือกของเดอ กัสทรี ในฐานะผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ในการศึกษาย้อนหลังพบว่าเลวมาก นาวาร์ได้เลือกเดอ กัสทรี ซึ่งเป็นนายทหารม้าในประเพณีคริสต์ศตวรรษที่ 18[41] เพราะนาวาร์เห็นว่าเดียนเบียนฟูเป็นการรบแบบเคลื่อนที่ หากในความเป็นจริง เดียนเบียนฟูต้องการนายทหารที่สามารถปรับใช้การสงครามสนามเพลาะแบบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อันซึ่งเดอ กัสทรีไม่มีความเหมาะสม[42]
การมาถึงของกองพลเวียดมินห์ที่ 316 กระตุ้นให้กอญีสั่งให้อพยพที่มั่นลายเจิวไปยังเดียนเบียนฟู ตรงตามที่ซ้าปได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งระหว่างทางไปเดียนเบียนฟูนั้น เวียดมินห์ได้ทำลายกองทหารฝรั่งเศสไปเสียมาก "จากทหารทั้งสิ้น 2,100 นายที่ออกจากลายเจิวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม มีเพียง 185 นายเท่านั้นที่ไปถึงเดียนเบียนฟูเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่เหลือล้วนแต่ถูกฆ่า ถูกจับเป็นเชลยหรือละทิ้งหน้าที่"[43] กองกำลังเวียดมินห์ขนาดใหญ่ได้มาบรรจบกันที่เดียนเบียนฟูแล้ว
ฝรั่งเศสมอบหมายให้ทหาร 10,800 นาย ซึ่งเมื่อรวมกับกำลังหนุนแล้วพบว่ามีทั้งสิ้นเกือบ 16,000 นาย ป้องกันหุบเขาที่ได้รับผลจากมรสุมอันมีเนินป่าไม้ปกคลุมหนาแน่นที่ยังไม่ได้ป้องกันล้อมรอบ ปืนใหญ่เช่นเดียวกับรถถังเบาเอ็ม 24 ชัฟฟี 10 คัน และอากาศยานจำนวนมากได้รับมอบหมายไปยังที่มั่นดังกล่าว ที่มั่นนี้ประกอบด้วยทหารธรรมดาของฝรั่งเศส (ที่โดดเด่นคือ หน่วยพลร่มหัวกะทิและปืนใหญ่) กองทหารต่างด้าวของฝรั่งเศส ทหารตีราเยอร์ชาวแอลจีเรียและโมร็อกโก และทหารชาวอินโดจีนซึ่งถูกเกณฑ์มาจากในพื้นที่
เวียดมินห์ได้เคลื่อนทหารทั่วไป 50,000 นายเข้ามายังเนินเขาที่อยู่ล้อมรอบหุบเขานั้น รวมมี 5 กองพล ซึ่งรวมไปถึงกองพลหนักที่ 351 อันประกอบขึ้นด้วยปืนใหญ่หนักทั้งสิ้น[6] ปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานซึ่งมีจำนวนเหนือกว่าปืนใหญ่ฝรั่งเศสกว่าสี่ต่อหนึ่ง[6] ได้ถูกเคลื่อนเข้ามายังตำแหน่งอำพรางที่สามารถมองเห็นหุบเขาได้ ฝ่ายฝรั่งเศสถูกเวียดมินห์ยิงด้วยปืนใหญ่เป็นครั้งคราวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1954 และหน่วยลาดตระเวนฝรั่งเศสพบเวียดมินห์ในทุกทิศทาง ยุทธการนี้เริ่มขึ้นโดยที่ฝรั่งเศสถูกโอบล้อมอย่างสมบูรณ์
ทำเนียบกำลังรบ
แก้ฝ่ายเวียดนาม ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก หวอ เงวียน ซ้าป ประกอบด้วยหน่วยทหารราบและปืนใหญ่ จำนวน 4 กองพล 1 กองพลหนัก (ปืนใหญ่) และ 1 กรมทหารอิสระ กำลังพลรวมฝ่ายลำเลียงยุทโธปกรณ์ 80,000 นาย
ฝ่ายฝรั่งเศส ภายใต้การบังคับบัญชาของพันเอก คริสตีย็อง เดอ กัสทรี ประกอบด้วยทหารหลายเหล่า ทั้งพลร่ม ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ และเหล่าช่วยรบอีกจำนวนหนึ่ง แต่ละหน่วยมีการจัดกำลังหลายขนาด เช่น กรม กองพัน กองร้อย มีการใช้ทหารจากชาติอื่นร่วมด้วย เช่น ชาวเวียดนาม ชาวไท ชาวแอฟริกาจากกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส (ตีรายเยอร์) มีการจัดวางรถถังเอ็ม 24 ชัฟฟี จำนวน 10 คัน และการส่งกำลังทางอากาศ
ปฏิบัติการรบ
แก้เบอาทริส
แก้การโจมตีของเวียดมินห์เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1954 ด้วยการโจมตีกองรักษาด่าน "เบอาทริส" ปืนใหญ่เวียดมินห์เปิดฉากยิงป้อมสนามอย่างดุเดือดและการสั่งการของฝรั่งเศสถูกขัดขวางเมื่อเวลา 18.15 น. เมื่อกระสุนปืนใหญ่ถูกกองบัญชาการฝรั่งเศส ซึ่งสังหารพันตรีโปล เปโก และคณะเสนาธิการทั้งหมด อีกไม่กี่นาทีให้หลัง พันเอกฌูล โกแชร์ ผู้บัญชาการส่วนเหนือทั้งหมด เสียชีวิตจากปืนใหญ่เวียดมินห์ จากนั้น กองพลเวียดมินห์ที่ 312 เริ่มการโจมตีด้วยทหารราบขนานใหญ่ โดยใช้ทหารช่างขุดอุโมงค์เพื่อผ่านสิ่งกีดขวางของฝรั่งเศส การต้านทานของฝรั่งเศสที่เบอาทรีสพังทลายลงไม่นานหลังเที่ยงคืนหลังการสู้รบอย่างดุเดือด ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตราว 500 นาย เวียดมินห์สูญเสียทหารทั้งสิ้น 600 นาย และ 1,200 นายได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายฝรั่งเศสได้ตีโต้ตอบต่อ "เบอาทริส" ในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ถูกปืนใหญ่เวียดมินห์ตีกลับไปอย่างรวดเร็ว แม้ความสูญเสียเช่นนั้น แต่ชัยชนะที่ "เบอาทริส" 'กระตุ้นขวัญกำลังใจ' ของกำลังพลเวียดมินห์
โดยมากฝรั่งเศสเชื่อว่าเวียดมินห์ทำการยิงปืนใหญ่ตรง อันเป็นวิธีที่พลประจำปืนแต่ละคนทำการกำหนดตำแหน่งปืนใหญ่เอง (ต่างจากการยิงเล็งจำลอง ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งปืนใหญ่จะมองไม่เห็นตำแหน่งเป้าหมายโดยตรง และจำต้องอาศัยผู้ตรวจการณ์ปืนใหญ่หน้าในการชี้เป้า) การเล็งจำลอง ซึ่งมักถือกันว่าเหนือกว่าการยิงตรงมาก ต้องอาศัยพลประจำปืนที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกมาดี เช่นเดียวกับการสื่อสารที่ดี ซึ่งเวียดมินห์ขาดแคลน[44] นาวาร์เขียนว่า "ด้วยอิทธิพลของที่ปรึกษาชาวจีน ผู้บัญชาการเวียดมินห์ได้ใช้กระบวนการที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากวิธีดั้งเดิม ปืนใหญ่ถูกติดตั้งเพียงกระบอก ๆ ... พวกเขาขุดโพรงใต้ดินที่สามารถกันกระสุนปืนใหญ่ได้ และยิงปืนใหญ่โดยตรงจากช่อง... การใช้ปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานวิธีนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีรูมดขนาดกว้างใหญ่ที่พวกเวียดมินห์สร้างขึ้นเท่านั้น และได้ก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงในการประมาณการทั้งหมดของทหารปืนใหญ่ของฝ่ายเรา"[45] ผู้บังคับการหน่วยปืนใหญ่ฝรั่งเศส พันเอกชาร์ล ปีร็อต ถึงกับคลุ้มคลั่งที่ตนไม่มีความสามารถที่จะยิงตอบโต้ปืนใหญ่ที่อำพรางอย่างดีของเวียดมินห์ เขาจึงเข้าไปในโพรงใต้ดินของเขาและทำอัตวินิบาตกรรมด้วยระเบิดมือ[46] ร่างของเขาถูกฝังไว้โดยปิดเป็นความลับเพื่อป้องกันการสูญเสียขวัญและกำลังใจในหมู่กำลังพลฝรั่งเศส
กาบรีแยล
แก้หลังจากการหยุดยิงเป็นเวลาสี่ชั่วโมงเมื่อเช้าวันที่ 14 มีนาคม ปืนใหญ่เวียดมินห์ได้กลับมายิงใส่ที่มั่นของฝรั่งเศส ลานบิน ซึ่งถูกปิดตั้งแต่ 16.00 น. วานนี้ เนื่องจากถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่ย่อย ๆ จนถึงขณะนี้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างถาวร[47] ฝรั่งเศสจะได้รับเสบียงเพิ่มเติมด้วยการทิ้งด้วยร่มชูชีพเท่านั้น[48] คืนนั้น เวียดมินห์โจมตีที่มั่นกาบรีแยล ซึ่งป้องกันโดยกองพันแอลจีเรียหัวกะทิ การโจมตีเริ่มตั้งแต่การเน้นระดมยิงปืนใหญ่ตั้งแต่ 17.00 น. ตามด้วยการโจมตีของกรมทหาร 2 กรมจากกองพลที่ 308 ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 20.00 น. และเมื่อ 4.00 น. เช้าวันรุ่งขึ้น กระสุนปืนใหญ่ถูกกองบัญชาการใหญ่ของกองพัน ทำให้ผู้บัญชาการกองพันและคณะเสนาธิการส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บสาหัส[48]
เดอ กัสทรีได้ออกคำสั่งให้ตีโต้ตอบเพื่อปลดปล่อยกาบรีแยล อย่างไรก็ดี ในระหว่างการจัดกำลัง พันเอกปีแยร์ ล็องแกล เลือกที่จะพึ่งพากองพันพลร่มเวียดนามที่ 5 ซึ่งเพิ่งจะกระโดดร่มสู่สนามรบเมื่อวานนี้และยังคงเหนื่อยล้า[49] แม้บางส่วนของกองกำลังตีโต้ตอบจะไปถึงกาบรีแยล แต่กองกำลังที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เนื่องจากปืนใหญ่เวียดมินห์และประสบความสูญเสียอย่างหนัก เวลา 8.00 น. วันรุ่งขึ้น กองพันแอลจีเรียร่นถอย ละทิ้งกาบรีแยลให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเวียดมินห์ ฝ่ายฝรั่งเศสเสียทหาร 1,000 นายในการป้องกันกาบรีแยล ส่วนเวียดมินห์เสียทหารระหว่างโจมตีไประหว่าง 1,000-2,000 นาย[49]
อาน-มารี
แก้อาน-มารีได้รับการป้องกันโดยกำลังชาวไท ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเวียดนามที่ภักดีต่อฝรั่งเศส เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ซ้าปได้แจกจ่ายใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อบ่อนทำลาย โดยบอกแก่ชาวไทว่านี่ไม่ใช่การสู้รบของพวกเขา การเสียเบอาทริสและกาบรีแยลได้ทำให้พวกเขาเสียขวัญอย่างมาก เช้าวันที่ 17 มีนาคม ขณะยังมีหมอกบดบังทัศนวิสัย กองกำลังชาวไทส่วนใหญ่ได้ละทิ้งที่มั่นหรือแปรพักตร์ไป ทหารฝรั่งเศสและชาวไทที่เหลืออยู่ที่อาน-มารีถูกบีบให้ต้องร่นถอยเช่นกัน[50]
ภาวะสงบนิ่ง
แก้ระหว่างวันที่ 17 มีนาคมถึง 30 มีนาคมเป็นช่วงที่การรบอยู่ในภาวะสงบนิ่ง ฝ่ายเวียดมินห์ได้บีบวงล้อมเพิ่มเติมเข้ามายังบริเวณตอนกลางของฝรั่งเศส (อันประกอบด้วยที่มั่นอูว์แก็ต ดอมีนิก โกลดีน และเอลียาน) ตัดขาดที่มั่นอีซาแบลและทหาร 1,809 นาย อย่างเห็นผล[51] ในระยะนี้ ฝรั่งเศสประสบวิกฤตอันตึงเครียดเกี่ยวกับการบังคับบัญชา "มีหลักฐานน่าเจ็บปวดต่อนายทหารอาวุโสภายในที่มั่นที่ถูกปิดล้อม แม้กระทั่งกอญีที่ฮานอย ว่าเดอ กัสทรีไร้ความสามารถที่จะจัดการการป้องกันที่เดียนเบียนฟู และยิ่งสำคัญไปกว่านั้น หลังจากกองรักษาด่านทางเหนือตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก เขาก็ปลีกตัวไปอยู่คนเดียวในบังเกอร์ของเขา ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว เขาได้สละอำนาจการบังคับบัญชาของเขา"[52] ในวันที่ 17 มีนาคม กอญีพยายามที่จะบินมายังเดียนเบียนฟูและรับช่วงบัญชาการ แต่เครื่องบินของเขาถูกขับออกไปด้วยการยิงปืนต่อสู้อากาศยาน กอญีตัดสินใจจะกระโดดร่มลงมายังที่มั่นที่ถูกล้อม แต่เสนาธิการของเขาห้ามเอาไว้[52]
การเก็บตัวของเดอ กัสทรีในบังเกอร์ของตน ประจวบกับการที่ผู้บังคับบัญชาของเขาไม่สามารถหาผู้มาแทนได้ ได้ก่อให้เกิดสุญญากาศในตำแหน่งผู้นำของกองบัญชาการฝรั่งเศส วันที่ 24 มีนาคม ได้เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นซึ่งจะกลายมาเป็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ภายหลัง นักประวัติศาสตร์ เบอร์นาร์ด ฟอลล์ ได้เขียนตามบันทึกความทรงจำของล็องแกลว่า พันเอกล็องแกลและผู้บัญชาการพลร่มที่ติดตามเขา พร้อมอาวุธครบมือ ได้เผชิญหน้ากับเดอ กัสทรีในบังเกอร์ของเขาในวันนั้น พวกเขาบอกแก่กัสทรีว่าเขาจะยังคงมีสถานะเป็นผู้บัญชาการต่อไป แต่ล็องแกลจะเป็นผู้ใช้อำนาจแทน[53] ฟอลล์ระบุว่า เดอ กัสทรี ยอมรับการจัดการดังกล่าวโดยไม่มีการประท้วง แม้เขาจะยังใช้อำนาจส่วนบังคับบัญชาบ้างหลังจากนั้น ฝ่ายฟิลลิป บี. เดวิดสัน กล่าวว่า "ความจริงดูเหมือนจะเป็นว่าล็องแกลรับช่วงบัญชาการอย่างมีประสิทธิภาพที่เดียนเบียนฟู และว่ากัสทรีกลายมาเป็น "ผู้บัญชาการนอกตำแหน่ง" ผู้ถ่ายถอดข้อความไปยังฮานอยและเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับกิจการในเดียนเบียนฟู"[54] อย่างไรก็ดี ฌูล รัว มิได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และมาร์ติน วินโดรว์โต้แย้งว่า "การยึดอำนาจของพลร่ม" ดูเหมือนว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นเลย นักประวัติศาสตร์ทั้งสองคนบันทึกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าล็องแกลและมาร์แซล บีฌาร์ มีความสัมพันธ์อันดีกับนายทหารบังคับบัญชาของพวกเขา[55]
การส่งกำลังบำรุงทางอากาศของฝรั่งเศสได้รับความสูญเสียอย่างหนักจากปืนกลของเวียดมินห์ใกล้กับลานบินชั่วคราว วันที่ 27 มีนาคม นีโก ผู้บัญชาการการขนส่งทางอากาศฮานอย สั่งการให้การส่งเสบียงทุกครั้งกระทำที่ความสูงจากพื้นดินขั้นต่ำ 2,000 เมตร โดยที่คาดการณ์ไว้ว่าความสูญเสียจะยังสูงเช่นเดิม[56] เดอ กัสทรีสั่งการให้โจมตีปืนกลของเวียดมินห์ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกของเดียนเบียนฟูราว 3 กิโลเมตร การโจมตีดังกล่าวลงเอยด้วยความสำเร็จสมบูรณ์ของฝรั่งเศสอย่างผิดหูผิดตา ทหารเวียดมินห์เสียชีวิตไป 350 นาย และปืนกลต่อสู้อากาศยาน 17 กระบอกถูกทำลาย ในขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสเสียทหารไปเพียง 20 นายเท่านั้น[57]
การโจมตี 30 มี.ค.–5 เม.ย.
แก้การรบในระยะต่อไปเป็นระยะที่การโจมตีของเวียดมินห์กระจุกอยู่บริเวณที่มั่นของฝรั่งเศสในพื้นที่เดียนเบียนฟูตอนกลางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอลียานและดอมีนิก พื้นที่ทั้งสองนี้ได้รับการป้องกันโดยกองพันกำลังพลน้อยกว่ามาตรฐาน 5 กองพัน ซึ่งประกอบขึ้นด้วยชาวฝรั่งเศส กองทหารต่างด้าว ชาวเวียดนาม ชาวแอฟริกัน และชาวไท[58] ซ้าปวางแผนที่จะใช้ยุทธวิธีจากการปะทะกันประปรายที่เบอาทริสและกาบรีแยลครั้งก่อนมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
เวลา 19.00 น. ของวันที่ 30 มีนาคม กองพลเวียดมินห์ที่ 312 ได้ยึดที่มั่นดอมีนิก 1 และ 2 ทำให้ดอมีนิก 3 เป็นกองรักษาด่านชั้นสุดท้ายระหว่างเวียดมินห์และกองบัญชาการใหญ่ฝ่ายฝรั่งเศส เช่นเดียวกับโอบล้อมตำแหน่งทั้งหมดที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำ[59] เมื่อถึงจุดนี้ กรมทหารปืนใหญ่อาณานิคมที่ 4 ของฝรั่งเศสได้เข้าสู่การรบ และทำการติดตั้งปืนใหญ่กระบอกสั้นขนาด 105 มม. และทำการยิงโดยตรงใส่ทหารเวียดมินห์ฝ่ายเข้าตี ทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ในแถวทหาร ทหารฝรั่งเศสอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งประจำอยู่ใกล้กับสนามบิน ได้เปิดฉากยิงใส่เวียดมินห์ด้วยปืนกลต่อสู้อากาศยาน บีบให้เวียดมินห์ต้องล่าถอย[59]
แต่การเข้าตีของเวียดมินห์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าในที่อื่น กองพลที่ 316 ยึดเอลียาน 1 จากทหารโมร็อกโกฝ่ายตั้งรับ และเอลียาน 2 ครึ่งหนึ่งถูกยึดได้ก่อนเที่ยงคืน[60] อีกด้านหนึ่งของเดียนเบียนฟู กองพลที่ 308 เข้าตีอูว์แก็ต 7 และเกือบประสบความสำเร็จในการทะลวงผ่านแนวป้องกัน แต่จ่าทหารฝรั่งเศสนายหนึ่งได้บังคับบัญชาทหารฝ่ายตั้งรับและอุดช่องโหว่นั้น[60]
เกือบทันทีหลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 มีนาคม ฝรั่งเศสได้ทำการตีโต้ตอบอย่างรุนแรงต่อเอลียาน 2 และยึดที่มั่นกลับมาได้ครึ่งหนึ่ง ล็องแกลสั่งการตีโต้ตอบอีกครั้งในช่วงบ่ายเพื่อยึดดอมีนิก 2 และเอลียาน 1 คืน โดยใช้ "ทุกคนที่เหลืออยู่ในที่มั่นผู้เชื่อได้ว่าสามารถต่อสู้"[60] การตีโต้ตอบทำให้ฝรั่งเศสได้ดอมีนิก 2 และเอลียาน 1 คืน ทว่าเวียดมินห์เองก็ได้เริ่มการเข้าตีรอบใหม่เช่นกัน ฝรั่งเศส ซึ่งเหนื่อยล้าและปราศจากกำลังหนุน จำต้องล่าถอยจากที่มั่นทั้งสองในช่วงบ่ายคล้อย[61] กำลังเสริมถูกส่งขึ้นเหนือมาจากอีซาแบลทางใต้ แต่ถูกโจมตีระหว่างทางจนถึงล่าถอยกลับไปยังอีซาแบล
ไม่นานหลังมืดของวันที่ 31 มีนาคม ล็องแกลกล่าวแก่พันตรีมาร์แซล บีฌาร์ ผู้นำการป้องกันที่เอลียาน ให้กลับล่าถอยข้ามแม่น้ำมา บีฌาร์ปฏิเสธ โดยกล่าวว่า "ตราบเท่าที่ผมยังมีทหารหนึ่งนายรอดชีวิต ผมก็จะไม่ยอมปล่อยเอลียาน 4 ไม่เช่นนั้นเดียนเบียนฟูก็จบกัน"[62] กลางคืนของวันที่ 31 มีนาคม กองพลที่ 316 เข้าตีเอลียาน 2 ในขณะที่ปรากฏว่าฝรั่งเศสเกือบจะพ่ายแพ้นั้น รถถังฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งก็เดินทางมาถึง และช่วยผลักดันทหารเวียดมินห์ให้ล่าถอยกลับไป การเข้าตีขนาดเล็กกว่าที่เอลียาน 4 ก็ถูกผลักดันกลับไปเช่นกัน เวียดมินห์ยึดอูว์แก็ต 7 ได้ แต่ก็ถูกขับไล่ออกมาหลังจากการตีโต้ตอบของฝรั่งเศสเมื่อรุ่งสางของวันที่ 1 เมษายน[63]
การรบดำเนินต่อไปในลักษณะดังนี้อีกหลายคืน เวียดมินห์เข้าตีเอลียาน 2 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ถูกตีจนล่าถอยกลับไปทุกครั้ง ความพยายามที่จะเสริมกำลังที่ตั้งของฝรั่งเศสมีขึ้นหลายครั้ง แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยเครื่องบินโดด ๆ ในเวลาไม่ปกติเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะได้รับความสูญเสียมหาศาลจากการยิงปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์[63] กำลังเสริมบางส่วนมาถึงเดียนเบียนฟู แต่ก็ไม่อาจทดแทนความสูญเสียของฝรั่งเศส
การสงครามสนามเพลาะ
แก้วันที่ 5 เมษายน หลังจากการสู้รบยาวนานตอนกลางคืน เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ของฝรั่งเศสได้สร้างความสูญเสียอย่างมากเป็นพิเศษต่อกรมทหารของเวียดมินห์กรมหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่โล่ง เมื่อถึงจุดนั้น ซ้าปได้ตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธี แม้ซ้าปยังมีวัตถุประสงค์เดิม คือ เพื่อทำลายการป้องกันของฝรั่งเศสทางตะวันออกของแม่น้ำ เขาตัดสินใจที่จะขุดสนามเพลาะและขุดอุโมงค์เพื่อพยายามบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว[64]
วันที่ 10 เมษายน ฝรั่งเศสพยายามยึดเอลียาน 1 คืน การสูญเสียเอลียาน 1 เมื่อสิบเอ็ดวันก่อนได้เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อเอลียาน 4 และฝรั่งเศสต้องการกำจัดภัยคุกคามนั้น การเข้าตีในช่วงรุ่งสาง ซึ่งบีฌาร์เป็นผู้วางแผน มีขึ้นหลังการระดมยิงด้วยปืนใหญ่อย่างหนักหน่วงช่วงสั้น ๆ ตามด้วยการเข้าตีแทรกซึมของหน่วยเล็ก ๆ และตามด้วยปฏิบัติการเก็บกวาด เอลียาน 1 เปลี่ยนมือกันหลายครั้งในวันนั้น แต่เมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ฝรั่งเศสสามารถยึดครองฐานที่มั่นดังกล่าวได้ เวียดมินห์พยายามที่จะยึดที่มั่นคืนอีกเมื่อเย็นวันที่ 12 เมษายน แต่ก็ถูกผลักดันกลับไป[65]
ณ จุดนี้ ขวัญกำลังใจของทหารเวียดมินห์ลดต่ำลงอย่างมาก ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายยังคุมเชิงกันอยู่นี้ ฝรั่งเศสสามารถดักข้อความวิทยุของข้าศึกได้ซึ่งมีข้อความว่า หน่วยทหารทั้งหน่วยปฏิเสธคำสั่งให้เข้าตี และนักโทษคอมมิวนิสต์กล่าวว่า พวกเขาได้รับคำสั่งให้รุกไปข้างหน้า มิฉะนั้นจะถูกยิงโดยนายทหารและนายทหารชั้นประทวนที่อยู่ด้านหลังพวกเขา ที่แย่ไปกว่านั้น เวียดมินห์ขาดเวชบริบาลที่ก้าวหน้า มีคนหนึ่งกล่าวว่า "ไม่มีอะไรกระทบต่อขวัญกำลังใจในการรบมากไปกว่าการที่ทราบดีว่าหากได้รับบาดเจ็บ ทหารจะไม่มีผู้ใดมาคอยดูแลเอาใจใส่"[66] เพื่อปัดป้องวิกฤตดังกล่าว ซ้าปสั่งให้นำกำลังเสริมที่กระปรี้กระเปร่าเข้ามาจากลาว
ระหว่างการสู้รบที่เอลียาน 1 ทางอีกฟากหนึ่งของเดียนเบียนฟู สนามเพลาะของเวียดมินห์เกือบล้อมรอบค่ายอูว์แก็ต 1 และ 6 ทั้งหมด เมื่อวันที่ 11 เมษายน ทหารจากอูว์แก็ต 1 เข้าตี โดยได้รับการสนับสนุนโดยปืนใหญ่จากโกลดีน การเข้าตีนี้มีเป้าหมายที่จะส่งกำลังบำรุงน้ำและเครื่องกระสุนให้อูว์แก็ต 6 การเข้าตีมีซ้ำอีกหลายครั้งในช่วงกลางคืนของวันที่ 14-15 และ 16-17 แม้กำลังบางส่วนไปถึงอูว์แก็ต 6 แต่ฝรั่งเศสก็ประสบความสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน อันเป็นเหตุให้ล็องแกลตัดสินใจทิ้งอูว์แก็ต 6 หลังความพยายามที่ล้มเหลวในการเชื่อมแนวป้องกัน ในวันที่ 18 เมษายน ทหารซึ่งป้องกันอูว์แก็ต 6 พยายามตีฝ่าออกมา แต่มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถไปถึงแนวฝรั่งเศส[67][68]
เวียดมินห์ได้เริ่มการแยกและโจมตีหยั่งเชิงต่ออูว์แก็ต 1 และสามารถยึดค่ายได้ตอนเช้าของวันที่ 22 เมษายน เมื่อฝรั่งเศสเสียอูว์แก็ต 1 ก็ได้ทำให้เวียดมินห์ยึดครองพื้นที่สนามบินไปกว่า 90% ทำให้การส่งทิ้งร่มชูชีพอย่างแม่นยำเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป[69] การณ์ดังกล่าวได้ทำให้พื้นที่ลงจอดมีขนาดเล็กจนเป็นอันตราย และขัดขวางการส่งกำลังบำรุงอันเป็นที่ต้องการมากอย่างมีผล[70] ความพยายามของฝรั่งเศสที่จะยึดค่ายอูว์แก็ต 1 คืนในวันเดียวกันถูกตีกลับมา
อีซาแบล
แก้การรบที่อีซาแบลเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยจนวันที่ 30 มีนาคม เมื่อเวียดมินห์ประสบความสำเร็จในการแยกอีซาแบลออกจากค่ายที่เหลือ ทั้งยังสามารถโจมตีกำลังหนุนที่พยายามส่งขึ้นเหนือ หลังจากการระดมยิงปืนใหญ่อย่างหนักต่ออีซาแบลเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เวียดมินห์ได้เริ่มใช้ยุทธวิธีการสงครามสนามเพลาะแบบเดียวกับที่ใช้กับค่ายตอนกลง เมื่อถึงปลายเดือนเมษายน อีซาแบลก็ขาดเสบียงน้ำและเครื่องกระสุนก็ร่อยหรอเกือบหมด[71]
การโจมตีขั้นสุดท้าย
แก้เวียดมินห์โจมตีครั้งใหญ่ต่อฝ่ายตั้งรับที่อ่อนเปลี้ยในคืนวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งยึดค่ายเอลียาน 1 ดอมีนิก 3 และอูว์แก็ต 5 แม้ฝรั่งเศสจะสามารถผลักดันการเข้าตีหลายครั้งที่ค่ายเอลียาน 2 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม เวียดมินห์ได้เริ่มโจมตีครั้งใหญ่ต่อเอลียาน 2 อีกครั้ง ซึ่งเวียดมินห์ได้นำเครื่องยิงจรวดคาตูย์ชามาเข้าร่วมการเข้าตีเป็นครั้งแรกด้วย ปืนใหญ่ฝรั่งเศสใช้นวัตกรรมการยิงเทคนิค "ยิงพร้อมกัน ณ เป้าหมาย" เพื่อที่ปืนใหญ่จากตำแหน่งที่อยู่คนละจุดกันจะสามารถโจมตีใส่เป้าหมายได้ในเวลาเดียวกัน[72] การระดมยิงด้วยปืนใหญ่นี้เอาชนะการโจมตีระลอกแรกได้ ทว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาในคืนนั้น เวียดมินห์ได้จุดระเบิดบ่อทุ่นระเบิด ซึ่งทำให้เอลียาน 2 ถูกระเบิด เมื่อเวียดมินห์เข้าตีอีกครั้งหนึ่ง ก็สามารถเอาชนะฝ่ายตั้งรับได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง[73]
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ซ้าปออกคำสั่งให้โจมตีเต็มกำลังต่อกองกำลังฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ ด้วยทหารเวียดมินห์กว่า 25,000 นายซึ่งมากกว่าทหารฝรั่งเศสประจำการที่มีจำนวนน้อยกว่า 3,000 นาย เมื่อเวลา 17.00 น. เดอ กัสทรีได้วิทยุไปถึงกองบัญชาการใหญ่ฝรั่งเศสในฮานอยและพูดกับกอญี
เมื่อถึงกลางคืน ที่มั่นบริเวณเดียนเบียนฟูตอนกลางของฝรั่งเศสได้ถูกยึด การส่งข้อความวิทยุสุดท้ายจากกองบัญชาการฝรั่งเศสรายงานว่าทหารข้าศึกอยู่นอกบังเกอร์บัญชาการและที่มั่นทั้งหมดตกอยู่ในการครอบครองของข้าศึกแล้ว พนักงานวิทยุได้กล่าวประโยคสุดท้ายออกมาว่า "ข้าศึกเอาชนะเรา เรากำลังระเบิดทุกสิ่งทุกอย่าง ฝรั่งเศสจงเจริญ! (Vive la France!)" คืนนั้น ทหารรักษาการณ์พยายามตีฝ่าออกมา ขณะที่ทหารส่วนใหญ่สามารถตีฝ่าออกมาได้ แต่ไม่มีคนใดหลบหนีจากหุบเขาได้ อย่างไรก็ดี ที่อีซาแบล ความพยายามอย่างเดียวกันในคืนเดียวกัน มีทหาร 70 นายจากทั้งหมด 1,700 ที่อยู่ในค่าย สามารถหลบหนีไปยังลาวได้สำเร็จ[74]
ผลที่ตามมา
แก้เชลยศึก
แก้วันที่ 8 พฤษภาคม เวียดมินห์นับเชลยศึกได้ 11,721 นาย ซึ่งในจำนวนนี้ 4,436 นายได้รับบาดเจ็บ[10] และถือว่าเป็นเชลยศึกจำนวนมากที่สุดเท่าที่เวียดมินห์เคยจับได้ คือ คิดเป็นกว่าหนึ่งในสามของจำนวนเชลยศึกที่เวียดมินห์จับได้ตลอดสงคราม นักโทษถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ทหารที่แข็งแรงจะถูกบังคับให้เดินแถวเป็นระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรไปยังค่ายเชลยศึกทางเหนือและทางตะวันออก[75] ที่ซึ่งพวกเขาจะถูกผสมเข้ากับทหารเวียดมินห์เพื่อขัดขวางการทิ้งระเบิดของฝรั่งเศส ทหารหลายร้อยนายเสียชีวิตด้วยโรคระบาดระหว่างทาง ทหารที่ได้รับบาดเจ็บได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนกระทั่งกาชาดมาถึง ซึ่งนำตัวทหารออกไป 858 นาย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือดีกว่าทหารที่เหลือ ทหารที่ได้รับบาดเจ็บและมิได้ถูกนำตัวไปโดยกาชาดจะถูกส่งตัวไปกักกัน[76]
นักโทษผู้รอดชีวิตชาวฝรั่งเศสจากยุทธการที่เดียนเบียนฟู ถูกอดอาหาร เฆี่ยนตี และถูกกดขี่ข่มเหง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก[77] จากนักโทษที่สามารถจับเป็นเชลยได้กว่า 10,863 นาย พบว่าเหลือเพียง 3,290 นายที่ถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างเป็นทางการในอีกสี่เดือนต่อมา[10] อย่างไรก็ดี จำนวนการเสียชีวิตดังกล่าวยังรวมไปถึงนักโทษ 3,013 นายที่มีเชื้อชาติเวียดนามซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม[78]
ผลกระทบทางการเมือง
แก้ทหารที่ป้องกันเดียนเบียนฟูคิดเป็นกำลังพลเกือบหนึ่งในสิบของทหารสหภาพฝรั่งเศสทั้งหมดในอินโดจีน[79] ความปราชัยดังกล่าวทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียอิทธิพลในพื้นที่อย่างมากและเกียรติภูมิของฝรั่งเศสดังที่เคยวางแผนไว้สำหรับการเจรจาเพื่อกำหนดอนาคตของอินโดจีน
การประชุมเจนีวาเริ่มขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม เพียงหนึ่งวันหลังฝรั่งเศสยอมจำนน โฮจิมินห์เข้าสู่ที่ประชุมในวันเปิดประชุมพร้อมกับพาดหัวข่าวชัยชนะของเวียดมินห์ตามหนังสือพิมพ์ ผลการเจรจาได้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองเขตชั่วคราว ทางเหนือเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ และทางใต้เป็นรัฐเวียดนามที่ฝรั่งเศสสนับสนุน ทหารสหภาพฝรั่งเศสหน่วยสุดท้ายถูกถอนออกจากอินโดจีนใน ค.ศ. 1956 ผลการแบ่งแยกประเทศดังกล่าวควรเป็นไปชั่วคราวเท่านั้น และพื้นที่ทั้งสองควรจะรวมเข้าด้วยกันอีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วประเทศใน ค.ศ. 1956 แต่หลังฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกไป สหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายใต้ ภายใต้จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย และนายกรัฐมนตรีโง ดิ่ญ เสี่ยม ซึ่งขัดต่อความตกลงเจนีวา และอ้างว่ากองกำลังของโฮจิมินห์จากทางเหนือได้ฆ่าประชาชนผู้รักชาติทางเหนือและคุกคามประชาชนเวียดนามทั้งเหนือและใต้ เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากทั้งจีนและสหภาพโซเวียต การจัดการดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีความหมายและจะบานปลายเป็นสงครามเวียดนาม (สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง) ซึ่งทำให้ทหารสหรัฐกว่า 500,000 นายต้องถูกส่งตัวไปในเวียดนามใต้
ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในอินโดจีน ประกอบกับการที่กองทัพฝรั่งเศสถูกทำลายโดยเยอรมนีเมื่อ 14 ปีก่อนหน้านี้ ได้บั่นทอนเกียรติภูมิของฝรั่งเศสในจักรวรรดิอาณานิคมของตนแห่งอื่นอย่างร้ายแรง เช่นเดียวกับอิทธิพลภายในพันธมิตรนาโต้ และที่สำคัญที่สุด กับสหรัฐอเมริกา ภายในจักรวรรดิฝรั่งเศส ความพ่ายแพ้ในอินโดจีนจุดประกายให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชขึ้นในอาณานิคมอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ในอาณานิคมแอฟริกาเหนือ ที่ซึ่งทหารที่รบป้องกันเดียนเบียนฟูถูกเกณฑ์มาเป็นจำนวนมาก หกเดือนหลังจากยุทธการที่เดียนเบียนฟูยุติ สงครามแอลจีเรียได้เริ่มต้นขึ้น และภายใน ค.ศ. 1956 ทั้งรัฐในอารักขาโมร็อกโกและตูนิเซียได้รับเอกราช คณะกรรมการสอบสวน ซึ่งถูกเรียกว่า คณะกรรมการกาทรู ได้รับการจัดตั้งขึ้นในภายหลังเพื่อสืบสวนสาเหตุของความพ่ายแพ้
ยุทธการดังกล่าวได้รับการพรรณนาถึงในแหกค่ายนรก เดียน เบียน ฟู ภาพยนตร์ชีวิตเชิงสารคดี (โดยมีเนื้อหาอัตชีวประวัติหลายส่วน) ซึ่งถ่ายทำใน ค.ศ. 1992 โดยปีแยร์ เชินเดอร์แฟร์ (Pierre Schœndœrffer) ผู้กำกับภาพยนตร์ฝรั่งเศสซึ่งเป็นทหารผ่านศึกเดียนเบียนฟู โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเวียดนาม
การเข้าแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา
แก้ตามรัฐบัญญัติการช่วยเหลือกันและกันทางทหาร สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่ฝรั่งเศสด้านสิ่งของระหว่างยุทธการ ทั้งอากาศยาน (จัดให้โดยยูเอสเอสไซปัน) อาวุธ ช่างกล นักบินซีไอเอ/ซีเอที 24 คน และลูกเรือบำรุงรักษากองทัพอากาศสหรัฐ[80] อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาเจตนาหลีกเลี่ยงการแทรกแซงโดยตรงอย่างชัดเจน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1954 หลังการยึดครองเดียนเบียนฟูของฝรั่งเศสแต่ก่อนยุทธการ วุฒิสมาชิกประชาธิปไตย ไมเคิล แมนสฟีลด์ ถามรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ เออร์วิน วิลสัน ว่า สหรัฐอเมริกาจะส่งหน่วยนาวิกหรือทางอากาศหรือไม่ หากฝรั่งเศสถูกแรงกดดันมากขึ้นที่นั่น แต่วิลสันตอบว่า "สำหรับตอนนี้ ไม่มีเหตุผลชอบที่จะเพิ่มการช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาเกินระดับปัจจุบัน" ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ก็แถลงว่า "ไม่มีใครคัดค้านการแทรกแซงมากไปกว่าข้าพเจ้า"[80] วันที่ 31 มีนาคม หลัง "เบอาทริส", "กาบรีแยล" และ "อาน-มารี" แตก คณะวุฒิสมาชิกและผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ตั้งคำถามถึงประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมอเมริกา พลเรือเอก อาร์เทอร์ ดับเบิลยู. แรดฟอร์ด ถึงความเป็นไปได้ในการแทรกแซงของสหรัฐ แรดฟอร์ดสรุปว่า สายเกินไปสำหรับกองทัพอากาศสหรัฐที่จะช่วยฝรั่งเศส ข้อเสนอการแทรกแซงโดยตรงถูกออกเสียงคัดค้านอย่างเป็นเอกฉันท์โดยคณะเสนาธิการ ซึ่ง "สรุปว่า การแทรกแซงเป็นเหตุแห่งสงครามเชิงบวก"[81]
สหรัฐอเมริกาได้มีส่วนในยุทธการอย่างลับ ๆ หลังการขอความช่วยเหลือจากอ็องรี นาวาร์ แรดฟอร์ดให้ฝูงอากาศยานทิ้งระเบิด บี-26 อินเวเดอร์ สองฝูงสนับสนุนฝรั่งเศส ในภายหลัง นักบินขนส่งอเมริกัน 37 คน บิน 682 เที่ยวบินตลอดระยะการรบ[5] ก่อนหน้านี้ เพื่อแทนที่ปฏิบัติการกัสตอร์ก่อนเดียนเบียนฟูเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1953 พลเอก เชสเตอร์ แมคคาร์ที อนุญาตให้ลูกเรือฝรั่งเศสขับเครื่องบินซี-119 ฟลายอิง บอกซ์คาร์อีก 12 ลำ[5]
นักบินอเมริกันสองคน เจมส์ มักกัฟเวิร์น จูเนียร์ และวอลลัซ บูฟอร์ดเสียชีวิตในหน้าที่ระหว่างการล้อมเดียนเบียนฟู[82] วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 นักบินอเมริกันเจ็ดคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ฝรั่งเศส โดย ฌ็อง-ดาวีด เลอวิต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกา[5] บทบาทของนักบินอเมริกันในยุทธการนี้ยังเป็นที่ทราบกันน้อยจน ค.ศ. 2004 "นักประวัติศาสตร์อเมริกัน เอริก เคอร์ซิงเกอร์ วิจัยกรณีนี้กว่าหนึ่งปีเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง"[83][84] นักประพันธ์ฝรั่งเศส ฌูล รัว เสนอว่า พลเรือเอก แรดฟอร์ดอภิปรายกับฝรั่งเศสถึงความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อสนับสนุนที่มั่นฝรั่งเศส[85] ยิ่งไปกว่านั้น จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลิสมีรายงานว่า กล่าวถงความเป็นไปได้ในการให้ยืมระเบิดอะตอมแก่ฝรั่งเศสเพื่อใช้ที่เดียนเบียนฟู[86] และแหล่งข้อมูลคล้ายกันอ้างว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษขณะนั้น เซอร์แอนโทนี อีเดน ตระหนักถึงความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนั้น[87]
ยุทธการที่แคซัญ
แก้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1968 ระหว่างสงครามเวียดนาม กองทัพเวียดนามเหนือ (ซึ่งยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของซ้าป) พยายามอย่างชัดเจนที่จะย้ำความสำเร็จอีกครั้งที่เดียนเบียนฟู โดยการล้อมและการระดมยิงปืนใหญ่ใส่ฐานทหารราบและปืนใหญ่กำลังนาวิกโยธินสหรัฐที่แคซัญ ประเทศเวียดนามใต้ นักประวัติศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปว่านี่เป็นความพยายามอย่างแท้จริงที่จะบีบให้ฐานนาวิกโยธินดังกล่าวยอมจำนนหรือไม่ หรือเป็นการแบ่งกำลังบางส่วนจากกำลังของการรุกตรุษญวน หรือเป็นตัวอย่างของกองทัพเวียดนามเหนือที่เปิดทางเลือกให้กับตนเอง
ที่แคซัญ มีปัจจัยหลายอย่างที่มีความแตกต่างจากการล้อมเดียนเบียนฟูอย่างสำคัญ แคซัญอยู่ใกล้กับฐานส่งกำลังบำรุงของสหรัฐมากกว่าฐานส่งกำลังบำรุงของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูมาก (45 กิโลเมตรเทียบกับ 200 กิโลเมตรที่เดียนเบียนฟู)[88] ที่แคซัญ นาวิกโยธินสหรัฐเป็นฝ่ายยึดครองที่สูง และปืนใหญ่ของพวกเขาได้บีบให้ทหารเวียดนามเหนือต้องใช้ปืนใหญ่ของตนจากระยะไกลมาก ในอีกแง่หนึ่ง ที่เดียนเบียนฟู ปืนใหญ่ฝรั่งเศส (105 มม. 6 กระบอก ปืนใหญ่กระบอกสั้น 155 มม. 1 กระบอก และปืนครก[89]) สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นระยะ ๆ เท่านั้น[90] แคซัญได้รับกำลังบำรุงจากการส่งกำลังทางอากาศกว่า 18,000 ตันในระหว่างการรบซึ่งนาน 30 วัน ในขณะที่ระหว่างการสู้รบ 167 วัน พบว่าทหารฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูได้รับเสบียงเพียง 4,000 ตันเท่านั้น[90] จนกระทั่งยุทธการยุติ เครื่องบินกองทัพอากาศสหรัฐได้ทำการบินยุทธวิธี 9,691 เที่ยว และสามารถส่งยุทโธปกรณ์ได้กว่า 14,223 ตันตรงเป้าหมายในพื้นที่แคซัญ เครื่องบินกำลังนาวิกโยธินสหรัฐได้บิน 7,098 ภารกิจ และส่งยุทโธปกรณ์ 17,015 ตัน เครื่องบินกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งหลายเครื่องถูกโอนมาจากการทัพทิ้งระเบิดต่อเวียดนามเหนือ ปฏิบัติการโรลลิงทันเดอร์ ได้บินกว่า 5,337 เที่ยว และทิ้งสรรพาวุธใส่ข้าศึกกว่า 7,941 ตัน
อ้างอิง
แก้- ↑ Anthony James Joes (2010). Victorious Insurgencies: Four Rebellions that Shaped Our World. University Press of Kentucky. pp. 121–. ISBN 978-0-8131-2614-2.
- ↑ Boylan & Olivier 2018, p. 286.
- ↑ Riley 2014, pp. 194–95.
- ↑ 4.0 4.1 Davidson, 224
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Embassy of France in the USA, Feb. 25, 2005 เก็บถาวร 2011-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, U.S. Pilots Honored For Indochina Service
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Davidson, 223
- ↑ Lam Quang Thi (2009). Hell in An Loc: The 1972 Easter Invasion. Denton TX: University of North Texas Press. p. 14. ISBN 978-1-57441-276-5.
- ↑ Geoffrey Norman (January 2010). "What The French Lost At Dien Bien Phu". HistoryNet.
- ↑ Hamilton-Merritt, Jane (1999). Tragic Mountains: The Hmong, the Americans, and the Secret Wars for Laos. Bloomington, IN: Indiana University Press. p. 62. ISBN 0-253-20756-8.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 "Breakdown of losses suffered at Dien Bien Phu". dienbienphu.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-09. สืบค้นเมื่อ August 24, 2006.
- ↑ "French Air Force in Vietnam text".
- ↑ "Battle of Dien Bien Phu". HistoryNet. 12 June 2006.
- ↑ Stone, p. 109
- ↑ Ban tổng kết-biên soạn lịch sử, BTTM (1991). Lịch sử Bộ Tổng tham mưu trong kháng chiến chống Pháp 1945-1954. Ha Noi: Nhà xuất bản Quân Đội Nhân Dân. p. 799. (History Study Board of The General Staff (1991). History of the General Staff in the Resistance War against the French 1945–1954 (ภาษาเวียดนาม). Ha Noi: People's Army Publishing House. p. 799.).
- ↑ "ディエンビエンフーの戦い". 文教大学. 2009-07-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-07. สืบค้นเมื่อ 2023-08-11.
- ↑ 國立政治大學歷史硏究所歷史學系 (1996). "國立政治大學歷史學報". 國立政治大學歷史學報 (13–14): 226.
- ↑ Quotation from Martin Windrow. Kenney, Michael. "British Historian Takes a Brilliant Look at French Fall in Vietnam". Boston Globe, 4 January 2005.
- ↑ Julian Jackson, The Other Empire, episode 4/5, BBC Radio Three, first broadcast, 15 September 2011
- ↑ Fall, 23
- ↑ Fall, 9
- ↑ Fall, 48
- ↑ 22.0 22.1 Davidson, 165
- ↑ Fall, 44
- ↑ Davidson, 173
- ↑ Bruce Kennedy. CNN Cold War Special: 1954 battle changed Vietnam's history เก็บถาวร 2008-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Fall, 24
- ↑ Davidson, 147
- ↑ Davidson, 182
- ↑ Roy, 21
- ↑ Roy, 33
- ↑ Davidson, 184
- ↑ Windrow, p211, 212, 228, 275
- ↑ Davidson, 189
- ↑ Davidson, 186
- ↑ Davidson, 187
- ↑ Davidson, 176
- ↑ Davidson, 194
- ↑ Davidson, 193
- ↑ 39.0 39.1 Davidson, 196
- ↑ Davidson, p. 199
- ↑ 41.0 41.1 "The Fall of Dienbienphu". Time. 1954-05-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-16. สืบค้นเมื่อ 2010-11-04.
- ↑ Davidson, 199
- ↑ Davidson, 203
- ↑ Davidson, 227
- ↑ Navarre, 225
- ↑ "Dien Bien Phu". Spartacus Educational. สืบค้นเมื่อ August 24, 2006.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Howard R. Simpson. "Điện Biên Phủ: the epic battle America forgot."
- ↑ 48.0 48.1 Davidson, 237
- ↑ 49.0 49.1 Davidson, 238
- ↑ Davidson, 239
- ↑ Fall, 279
- ↑ 52.0 52.1 Davidson, 240–241
- ↑ Fall, 177
- ↑ Davidson, 243
- ↑ Windrow, p. 441-444.
- ↑ Davidson, 244
- ↑ Davidson, 244–245
- ↑ Davidson, 245
- ↑ 59.0 59.1 Davidson, 246
- ↑ 60.0 60.1 60.2 Davidson, 247
- ↑ Davidson, 248
- ↑ Roy, 210
- ↑ 63.0 63.1 Davidson, 253
- ↑ Davidson, 254–255
- ↑ Davidson, 265
- ↑ Davidson, 257
- ↑ Davidson, 258
- ↑ Fall, 260
- ↑ Fall, 270
- ↑ Davidson, 259
- ↑ Davidson, 260
- ↑ Davidson, 261
- ↑ Davidson, 262
- ↑ Davidson, 269
- ↑ "The Long March". dienbienphu.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-09. สืบค้นเมื่อ August 24, 2006.
- ↑ The Long March เก็บถาวร 2001-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Dienbienphu.org, Retrieved on January 12, 2009
- ↑ "At camp #1". dienbienphu.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-19. สืบค้นเมื่อ August 24, 2006.
- ↑ Jean-Jacques Arzalier, Les Pertes Humaines, 1954–2004: La Bataille de Dien Bien Phu, entre Histoire et Mémoire, Société française d'histoire d'outre-mer, 2004
- ↑ "กองทัพรบนอกประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลฝรั่งเศส มีทหาร 175,000 นาย -Davidson, 163
- ↑ 80.0 80.1 Roy, p. 140
- ↑ Roy, 211
- ↑ Check-Six.com - The Shootdown of "Earthquake McGoon"
- ↑ "France honors U.S. pilots for Điện Biên Phủ role". Agence France Presse. 25 February 2005.
- ↑ Burns, Robert. "Covert U.S. aviators will get French award for heroism in epic Asian battle". Associated Press Worldstream. 16 February 2005
- ↑ Roy, p. 198
- ↑ Fall, p. 306
- ↑ Fall, p. 307
- ↑ Rottman, 8
- ↑ Fall, 480
- ↑ 90.0 90.1 Rottman, 9
บรรณานุกรม
แก้- Boylan, Kevin; Olivier, Luc (2018). Valley of the Shadow: The Siege of Dien Bien Phu. Oxford: Osprey Press. ISBN 978-1472824370.
- Davidson, Phillip (1988). Vietnam at War: The History, 1946–1975. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-506792-4.
- "Ðiên Biên Phú – The "official and historical site" of the battle". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 December 2006. สืบค้นเมื่อ 8 December 2006.
- Fall, Bernard B. (1967). Hell in a Very Small Place. The Siege of Dien Bien Phu. New York: J.B. Lippincott Company. ISBN 0-306-80231-7.
- Forbes, Andrew; Henley, David (2012). Vietnam Past and Present: The North. Chiang Mai: Cognoscenti Books. ASIN B006DCCM9Q.
- Grauwin, Paul-Henri (1955). Doctor at Dien-Bien-Phu. London: Hutchinson.
- "INDO-CHINA: The Fall of Dienbienphu". Time. 17 May 1954.
- Morgan, Ted (2010). Valley of Death: The Tragedy at Dien Bien Phu That Led America Into the Vietnam War. New York: Random House.
- Morris, Virginia and Hills, Clive. 2018. Ho Chi Minh's Blueprint for Revolution: In the Words of Vietnamese Strategists and Operatives, McFarland & Co Inc.
- Navarre, Henri (1958). Agonie de l'Indochine (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Plon. OCLC 23431451.
- Riley, Jonathon (2014). Decisive Battles: From Yorktown to Operation Desert Storm. Bloomsbury Publishing. ISBN 9781441126740.
- Rottman, Gordon L. (2005). Khe Sanh (1967–1968): Marines battle for Vietnam's vital hilltop base. Oxford: Osprey Publishing (UK). ISBN 1-84176-863-4.
- Roy, Jules; Baldick, Robert (1984). The Battle of Dienbienphu. New York: Harper & Row. ISBN 0-88184-034-3. OCLC 263986.
- Roy, Jules (2002). The Battle of Dienbienphu. New York: Carroll & Graf Publishers. ISBN 0-7867-0958-8.
- Simpson, Howard (2005). Dien Bien Phu: The Epic Battle America Forgot. University of Nebraska Press. ISBN 978-1574888409.
- Stone, David (2004). Dien Bien Phu. London: Brassey's UK. ISBN 1-85753-372-0.
- Windrow, Martin (2004). The Last Valley. New York: Da Capo Press. ISBN 0-306-81386-6.
- Windrow, Martin (2013). The French Indochina War 1946–54. Osprey.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Dien Bien Phu, เว็บไซต์อุทิศอย่างเป็นทางการ
- Memorial-Indochine.org (in English)
- An Analysis of the French Defeat at Dien Bien Phu
- Airlift's Role at Dien Bien Phu and Khe Sanh
- An interview with Võ Nguyên Giáp
- "Battle of Dien Bien Phu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 December 2007. สืบค้นเมื่อ 2 April 2017., an article by Bernard B. Fall
- "Dien Bien Phu: A Battle Assessment" เก็บถาวร 2007-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by David Pennington
- "Peace" in a Very Small Place: Dien Bien Phu 50 Years Later เก็บถาวร 2007-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, an article by Bob Seals
- ANAPI's official website เก็บถาวร 20 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (National Association of Former POWs in Indochina)
- Vietnam War Bibliography: The End: Dien Bien Phu and the Geneva Conference Last revised 10 November 2015; archive 2004-09-12
- Field Guide to ..Dien Bien Phu for Historians, Wargamers and the More Discerning Type of Tourist by Peter Hunt 2002
- ภาพยนตร์สั้น Victory at Dien Bien Phu (1964) สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่อินเทอร์เน็ตอาร์ไคฟ์