สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา

สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา (เขมร: សាធារណរដ្ឋប្រជាមានិតកម្ពុជា สาธารณรฎฺฐบฺรชามานิตกมฺพุชา; อังกฤษ: People's Republic of Kampuchea: PRK) เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งในกัมพูชาโดยแนวร่วมปลดปล่อย ซึ่งเป็นกลุ่มของกัมพูชาฝ่ายซ้ายที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มของเขมรแดง ล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของพล พต โดยร่วมมือกับกองทัพของเวียดนาม ทำให้เกิดการรุกรานเวียดนามของกัมพูชา เพื่อผลักดันกองทัพเขมรแดงออกไปจากพนมเปญ มีเวียดนามและสหภาพโซเวียตเป็นพันธมิตรที่สำคัญ

สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา

សាធារណរដ្ឋប្រជាមានិតកម្ពុជា (เขมร)
Cộng hòa Nhân dân Campuchia (เวียดนาม)
2522–2532
คำขวัญឯករាជ្យ សន្តិភាព សេរីភាព សុភមង្គល[1]
"อิสรภาพ, สันติภาพ, เสรีภาพ, ความสุข"
เพลงชาติបទចម្រៀងនៃសាធារណរដ្ឋប្រជាមានិតកម្ពុជា
"เพลงชาติสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา"
ที่ตั้งของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา
สถานะรัฐที่ยอมรับบางส่วน
รัฐหุ่นเชิดของและยึดครองโดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
พนมเปญ
ภาษาราชการ
ศาสนา
รัฐฆราวาส[2][1]
การปกครองรัฐเดี่ยว ลัทธิมากซ์-เลนิน พรรคการเมืองเดียว สาธารณรัฐสังคมนิยม
เลขาธิการพรรค 
• 2522–2524
แปน โสวัณ
• 2524–2532
เฮง สัมริน
ประมุขแห่งรัฐ 
• 2522–2532
เฮง สัมริน
นายกรัฐมนตรี 
• 2524
แปน โสวัณ
• 2525–2527
จัน ซี
• 2528–2532
ฮุน เซน
สภานิติบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร
ยุคประวัติศาสตร์สงครามเย็น
7 มกราคม 1979
• ก่อตั้ง
8 มกราคม พ.ศ. 2522
• รัฐธรรมนูญ
25 มิถุนายน พ.ศ. 2524
พ.ศ. 2528
• เปลี่ยนผ่าน
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2532
ประชากร
• 2523
6,600,000[3]
สกุลเงิน
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+855
ก่อนหน้า
ถัดไป
กัมพูชาประชาธิปไตย
รัฐกัมพูชา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา

สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากจีน อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่นั่งในสหประชาชาติของประเทศกัมพูชาในขณะนั้นเป็นของแนวร่วมเขมรสามฝ่ายที่จัดตั้งรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มเขมรแดงของพล พตเข้าร่วมกับกลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของนโรดม สีหนุ และซอน ซาน อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาได้ประกาศเป็นรัฐบาลของกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2522-2536 โดยมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่จำกัด

สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐกัมพูชา (State of Cambodia: SOC) ในช่วงสี่ปีสุดท้าย เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ[4] ในขณะเดียวกันได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงระบบจากระบบรัฐเดียวไปสู่การฟื้นฟูราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ ในช่วง พ.ศ. 2522 - 2534 โดยนิยมลัทธิมากซ์-เลนินแบบสหภาพโซเวียต การก่อตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังอ่อนแอ จากการทำลายล้างของระบอบเขมรแดง และเป็นรัฐหุ่นเชิดของเวียดนามที่เข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจ จนรัฐบาลของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเข้มแข็ง[5] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเป็นรัฐที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ก็ฟื้นฟูและสร้างชาติกัมพูชาได้ใหม่[6]

ภูมิหลัง

แก้

จุดยืนของเขมรแดงในการต่อต้านเวียดนาม

แก้

ในระยะเริ่มแรก พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสนับสนุนกลุ่มเขมรแดงในการต่อต้านรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรของนายพลลน นลระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2518 แต่ไม่นานหลังจากเขมรแดงขึ้นครองอำนาจ ความขัดแย้งได้เริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทหารเขมรแดงบุกยึดเกาะฝูกว๊ก (Phu Quoc) และเกาะโท้เชา (Tho Chau) ฆ่าพลเรือนชาวเวียดนามไป 500 คน เวียดนามตอบโต้การยึดเกาะทั้งสองอย่างรุนแรง สุดท้ายสามารถเจรจากันได้[7]

การฆ่าชนกลุ่มน้อยชาวเวียดนามในกัมพูชาและการทำลายโบสถ์คาทอลิกของเวียดนามเกิดขึ้นตลอดช่วงที่ปกครองด้วยระบอบกัมพูชาประชาธิปไตย,[8] โดยเฉพาะในภาคตะวันออกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 ช่วงต้นปี พ.ศ. 2521 ผู้นำเวียดนามตัดสินใจสนับสนุนผู้ต่อต้านพล พตในกัมพูชา ในขณะที่เขมรแดงก็มีปัญหาทางด้านชายแดนกับเวียดนาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 เกิดการลุกฮือ นำโดยโส พิม ในภาคตะวันออกของกัมพูชา วิทยุพนมเปญประกาศว่า ถ้าทหารกัมพูชา 1 คนฆ่าชาวเวียดนามได้ 30 คน ทหารเพียง 2 ล้านคนก็เพียงพอที่จะฆ่าชาวเวียดนามได้ทั้งประเทศ และแสดงความต้องการที่จะยึดดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงคืนจากเวียดนาม ในเดือนพฤศจิกายน ผู้นำเขมรแดงที่นิยมเวียดนามคือวอน เว็ต[9]ก่อการรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ วอน เว็ตถูกจับและถูกประหารชีวิต.[10] มีการโจมตีตามแนวชายแดนกัมพูชา ทำให้ชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาต้องลี้ภัยเข้าสู่เวียดนาม

แนวร่วมปลดปล่อย

แก้

แนวร่วมปลดปล่อยชาติเขมรเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการโค่นล้มอำนาจของเขมรแดงและก่อตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา แนวร่วมนี้เป็นองค์กรผสมระหว่างผู้ลี้ภัยที่นิยมและไม่นิยมคอมมิวนิสต์ที่ต้องการโค่นล้มพล พตและสร้างชาติกัมพูชาขึ้นมาใหม่ ผู้นำขบวนการคือเฮง สัมรินและแปน โสวัณณ์ ประกาศก่อตั้งโดยวิทยุฮานอยเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยเฮง สัมรินเป็นประธานาธิบดี โจรัน พอลลีเป็นรองประธานาธิบดี นอกจากนั้นเป็นกลุ่มเขมรอิสระที่นิยมเวียดมิญ[11]ซึ่งลี้ภัยไปอยู่เวียดนาม รส สมัย เลขาธิการทั่วไปของแนวร่วมเคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยประกาศว่าแนวร่วมปลดปล่อยเป็นองค์กรทางการเมืองของเวียดนามที่มีชื่อเป็นเขมร เพราะสมาชิกหลักคืออดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาที่นิยมเวียดนาม[12]ซึ่งมีสหภาพโซเวียตหนุนหลังอีกทีหนึ่ง สมาชิกของแนวร่วมปลดปล่อยส่วนใหญ่เป็นเขมรฝ่ายซ้ายที่อยู่ตรงข้ามกับเขมรแดง

การรุกรานของเวียดนาม

แก้

ผู้นำเวียดนามตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่จะใช้กำลังทางทหารเมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 กำลังทหารประมาณ 120,000 คน ได้รุกเข้าสู่กัมพูชาทางตะวันออกเฉียงใต้และยึดพนมเปญได้เมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 กองทัพเขมรแดงที่พ่ายแพ้ได้ล่าถอยและเผายุ้งข้าวไปหมดทำให้เกิดความอดอยากในกัมพูชาไปจนถึงกลางปี พ.ศ. 2523.[13]

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2522 คณะกรรมการกลางของแนวร่วมปลดปล่อยประกาศนโยบายเร่งด่วนในการปลดปล่อยการปกครองของเขมรแดง อย่างแรกคือการสลายคอมมูนแบบเดิมและนำพระสงฆ์เข้ามามีบทบาทในชุมชน.[14] มีการจัดตั้งคณะกรรมการปกครองตนเองของประชาชน คณะกรรมการนี้เป็นหน่วยย่อยที่สุดของโครงสร้างการปกครองด้วยสภาประชาชนปฏิวัติกัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2522 ในฐานะศูนย์กลางการบริหารของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา และใช้ต่อมาจนถึง 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีการเลือกตั้งสภารัฐมนตรี แปน โสวัณณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีรองนายกรัฐมนตรี 3 คนคือ ฮุนเซน จัน ซี และเจีย สต

การสถาปนาสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา (พ.ศ. 2522–2532)

แก้

ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2522 กองทัพเขมรแดงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และกองทัพเวียดนามเข้ายึดครองพนมเปญได้ แนวร่วมปลดปล่อยฯได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา ซึ่งเป็นการปกครองที่นิยมโซเวียตได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและที่ปรึกษาพลเรือนจากเวียดนาม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชายุติลง แต่จีนที่สนับสนุนเขมรแดงและสหรัฐต้องการให้ขับไล่เวียดนามออกไปจากกัมพูชา ทำให้เกิดปัญหากัมพูชาขึ้น[15]

นอกจากการสนับสนุนการรุกรานและการควบคุมของเวียดนามแล้ว รวมทั้งการสูญเสียเอกราชในระหว่างนี้[16] ระบอบใหม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนที่หวาดกลัวเขมรแดง[17] แต่เมืองหลวงคือพนมเปญก็ต้องตกอยู่ในความว่างเปล่า เพราะทหารเวียดนามขนส่งสินค้ากลับไปเวียดนาม ภาพพจน์ด้านนี้ถูกนำไปเผยแพร่โดยฝ่ายต่อต้านสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา[18] อย่างไรก็ตาม การคงอยู่ของกองทัพเวียดนามก็มีประโยชน์ในการบูรณะเมืองใหม่หลังจากถูกเขมรแดงทำลายไปโดยสิ้นเชิง[19]

สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ ซึ่งสืบต่อการปฏิวัติสังคมนิยมโดยเขมรแดง เพียงแต่เขมรแดงใช้นโยบายแบบลัทธิเหมาและใช้ความรุนแรง แต่สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาใช้การปฏิวัติสังคมนิยมตามแบบของสหภาพโซเวียตและโคเมคอน สหภาพโซเวียตได้จัดตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเป็นประเทศสังคมนิยมที่ยังไม่พัฒนา 1 ใน 6 ประเทศ[20] สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาได้ยอมรับความหลากหลายของสังคมกัมพูชา ทั้งชาวไทย ชาวจาม ชาวเวียดนามและชนเผ่าทางตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวจีนในกัมพูชาถูกมองว่าเป็นกลุ่มของศัตรูและอยู่ในความควบคุม การพูดภาษาจีนกลางและภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นสิ่งต้องห้าม เช่นเดียวกับสมัยของพล พต[21] อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา Rudolph Rummel ประมาณว่ามีอาชญากรรมที่ก่อโดยรัฐบาลจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 คนในช่วง พ.ศ. 2522 - 2530[22]

การฟื้นฟูวัฒนธรรมและศาสนา

แก้
 
นักเรียนทุนแลกเปลี่ยนชาวเขมรที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา Meak Chanthan และ Dima Yim (คนที่ 3 ยืนจากทางซ้าย) ที่เมือง แฟรงก์เฟิร์ต อัน เดอ โอเดอร์ (เยอรมนีตะวันออก) ในปี ค.ศ. 1986

ภารกิจที่สำคัญของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาคือการฟื้นฟูพุทธศาสนา มีการบูรณะวัด และให้พระสงฆ์เข้าจำพรรษา ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2522 พระสงฆ์จำนวน 7 รูป เข้ามาจำพรรษาที่วัดอุณาโลมในกรุงพนมเปญอีกครั้ง และมีการบวชพระใหม่ในกัมพูชา ระหว่าง พ.ศ. 2522 – 2524 เริ่มจากในพนมเปญแล้วจึงกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ มีการซ่อมแซมวัดมากกว่า 700 แห่ง จากวัดทั้งหมดราว 3,600 แห่งที่ถูกทำลายไปและมีการเฉลิมฉลองเทศกาลทางศาสนา[23] ปัญญาชนจำนวนมากถูกกำจัดไปในสมัยเขมรแดง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูประเทศ คนที่มีการศึกษาจำนวนมากหนีออกมาด้วยการเดินเท้า เข้าสู่ค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดน แล้วจึงอพยพไปยังโลกตะวันตก[24] การบริหารของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะระบบต่าง ๆ ในประเทศถูกทำลายลงไปจนหมด ทุกสิ่งค่อย ๆ สร้างขึ้นมาใหม่อย่างช้า ๆ การขาดผู้มีความรู้และทักษะเป็นปัญหาสำคัญในการฟื้นฟูประเทศ

วัฒนธรรมของกัมพูชาฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ โรงภาพยนตร์เปิดฉายอีกครั้ง ส่วนใหญ่มาจากเวียดนาม สหภาพโซเวียต และประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก รวมทั้งภาพยนตร์จากอินเดีย ภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสมกับการปกครองระบอบโซเวียต เช่นภาพยนตร์จากฮ่องกงถูกห้ามฉาย นักถ่ายทำภาพยนตร์และนักแสดงจำนวนมากในช่วง พ.ศ. 2503 – 2513 ส่วนใหญ่ถูกฆ่าตายในสมัยเขมรแดงหรืออพยพออกไป ฟิล์มและสิ่งพิมพ์จำนวนมากถูกทำลาย ขโมย หรือสูญหายไป ที่เหลืออยู่ก็มีคุณภาพไม่ดี[25] อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของกัมพูชาได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นช้า ๆ

การโฆษณาชวนเชื่อ

แก้

สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาต้องมีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างมากในการสร้างประเทศใหม่ ส่งเสริมความเป็นเอกภาพและสถาปนาระบอบการปกครองของตนขึ้นมา ผู้ที่รอดชีวิตจากสมัยเขมรแดงจะมีแต่ความหวาดกลัวและความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการที่หวาดกลัวว่าเขมรแดงจะได้ครองอำนาจอีกครั้ง ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่มีความหวาดกลัวในจิตใจและคิดว่าจะไม่รอดชีวิตถ้าเขมรแดงคืนสู่อำนาจอีก สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาได้กระตุ้นให้ประชาชนปลดแอกตัวเองโดยการโค่นพล พตลงจากอำนาจ มีการแสดงหัวกะโหลกและกระดูก ภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับความโหดร้ายของเขมรแดงเพื่อใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ มีการจัดพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวล แซลง ที่คุกตวล แซลงในสมัยกัมพูชาประชาธิปไตย มีการกำหนดวันแห่งความเกลียดชังเพื่อต่อต้านเขมรแดงและประกาศคำขวัญว่า “เราต้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ยุคมืดของเขมรแดงกลับมาอีก”[26]

การฟื้นฟูใหม่

แก้

ชาวกัมพูชามากกว่า 600,000 คนต้องอพยพออกจากเมืองในยุคเขมรแดงจนในเมืองว่างเปล่า หลังการรุกรานของเวียดนาม ชาวกัมพูชาที่เคยถูกกวาดต้อนมาอยู่ในคอมมูนเป็นอิสระและกลับไปสู่บ้านเดิมเพื่อตามหาครอบครัวและญาติสนิทที่พลัดพรากกันไป หลังจากระบบคอมมูนถูกยกเลิก ประชาชนจำนวนมากไม่มีอาชีพและไม่มีอาหารเพียงพอ ใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการอพยพประชาชนกลับสู่พนมเปญ มีการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า น้ำประปา สาธารณสุข ซ่อมแซมถนนและกำจัดขยะ

มีการทำลายระบบทางสัมอย่างมากในปีศูนย์ (พ.ศ. 2518 – 2522) การเริ่มต้นใหม่ของกัมพูชาเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่มีตำรวจ ไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีไปรษณีย์ และระบบโทรศัพท์ ไม่มีกฎหมายและเครือข่ายทางการค้าทั้งของรัฐและเอกชน[27] ทำให้กัมพูชาขณะนั้นอยู่ในสภาพสิ้นหวัง ชาติตะวันตก จีนและอาเซียนปฏิเสธที่จะช่วยฟื้นฟูกัมพูชา จีนและสหรัฐปฏิเสธการรับรองสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาในระดับนานาชาติ ทำให้สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาไม่ได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากโลกคอมมิวนิสต์แต่บางประเทศเช่น โรมาเนียก็ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือ.[19] ความช่วยเหลือจากนานาชาติส่วนใหญ่มุ่งตรงมายังค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย[28]

การเพิ่มจำนวนผู้อพยพ

แก้
 
ค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนกัมพูชา พ.ศ. 2522 - 2527

ด้วยภาพของประเทศที่ล่มสลายและปฏิเสธการรับความช่วยเหลือในการสร้างชาติใหม่ และถูกมองว่าเป็นรัฐหุ่นเชิดของเวียดนามที่เป็นมิตรกับสหภาพโซเวียต มีชาวกัมพูชาจำนวนมากอพยพมายังค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย ซึ่งเป็นที่ที่มีความช่วยเหลือจากนานาชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา[29] ในจุดหนึ่ง มีชาวกัมพูชาอยู่มากกว่า 500,000 คน ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และมีอีกราว 100,000 คน ในศูนย์อพยพภายในประเทศไทย ความช่วยเหลือจากยูนิเซฟและโปรแกรมอาหารโลกมีถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่าง พ.ศ. 2522 – 2525 และเป็นกลยุทธหนึ่งของสหรัฐระหว่างสงครามเย็นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวียดนามคิดเป็นเงินเกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[30]

ในขณะที่กองทัพเขมรแดงของพล พตได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นใหม่และได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากจีน รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพไทย[31] เขมรแดงได้ประกาศต่อต้านสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา โดยอาศัยฐานกำลังจากค่ายผู้อพยพและจากกองทหารที่ซ่อนตัวตามแนวชายแดนไทย แม้ว่ากองกำลังของเขมรแดงจะมีความโดดเด่นขึ้นมา แต่มีกลุ่มต่อต้านที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เกิดขึ้นด้วย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เคยต่อสู้กับเขมรแดงหลัง พ.ศ. 2518 กลุ่มเหล่านี้ได้แก่ อดีตทหารในสมัยสาธารณรัฐเขมรได้ประกาศจัดตั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรที่นำโดยซอน ซาน อดีตนายกรัฐมนตรี และมูลินนากา (ขบวนการเสรีภาพแห่งชาติกัมพูชา) ที่จงรักภักดีต่อพระนโรดม สีหนุ ใน พ.ศ. 2522 ซอน ซานได้จัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรในการต่อสู่เพื่อเอกราชของกัมพูชา ส่วนพระนโรดม สีหนุ ได้จัดตั้งองค์กรของฝ่ายพระองค์คือพรรคฟุนซินเปกและกองทัพเจ้าสีหนุ ใน พ.ศ. 2524 แต่การต่อต้านของฝ่ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ไม่เคยมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในสงครามกลางเมืองช่วงที่เหลือต่อไปนี้จึงเป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายเขมรแดงกับฝ่ายรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่[32]

ในช่วงที่สงครามกลางเมืองดำเนินไป กองทัพเวียดนามประมาณ 200,000 คน เข้าควบคุมศูนย์กลางและเขตชนบทของประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2522 – เดือนกันยายน พ.ศ. 2532 ในขณะที่ทหารของฝ่ายเฮง สำรินมีเพียง 30,000 คน และมีบทบาทน้อยในการรักษาความสงบของประเทศ

การเติมเชื้อไฟให้สงครามกลางเมือง

แก้
 
ภูเขาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาทางเหนือของถนนระหว่างศรีโสภณ และอรัญประเทศ พื้นที่หนึ่งที่เขมรแดงซ่อนตัวระหว่างการสู้รบตามแผนเค 5

กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาจำนวนมากที่อำเภออรัญประเทศถูกผลักดันให้กลับเข้าประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2523 และส่วนใหญ่ต้องเข้าไปอยู่ในเขตควบคุมของเขมรแดง กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยกลุ่มที่นิยมกัมพูชาประชาธิปไตยแต่เข้ามาปรากฏตัวในฐานะอาสาสมัคร รวมทั้งการที่สหรัฐต่อต้านระบอบของเวียดนาม นอกจากนั้น ประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ยังสนับสนุนให้มีการผลักดันประชาชนให้กลับไปต่อสู้[33]

ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 การต่อสู้ในสงครามกลางเมืองเป็นไปตามจังหวะของฤดูฝนและฤดูแล้ง กองทัพเวียดนามจะโจมตีในฤดูแล้ง กองทัพที่สนับสนุนโดยจีนและสหรัฐจะโจมตีในฤดูฝน ใน พ.ศ. 2525 เวียดนามได้โจมตีฐานที่มั่นของเขมรแดงที่พนมมาลัยและเทือกเขาบรรทัดแต่ไม่สำเร็จมากนัก ในฤดูแล้ง พ.ศ. 2527 – 2528 เวียดนามได้โจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านทั้งสามกลุ่มอย่างหนัก โดยเวียดนามประสบความสำเร็จในการโจมตีฐานที่มั่นของเขมรแดงให้ถอยร่นเข้าสู่แนวชายแดนไทย แผนที่เวียดนามใช้ในการสู้รบคือ แผนเค 5 ที่กำหนดโดยนายพลเล ดึ้ก แอ็ญ[34] ซึ่งเป็นการป้องกันการก่อการร้ายเข้าสู่กัมพูชาผ่านทางชายแดนไทย

หากไม่มีความช่วยเหลือจากเวียดนาม โซเวียตและคิวบา เฮง สัมรินมีความสำเร็จน้อยในการจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา เนื่องมาจากสงครามกลางเมืองยังไม่ยุติ การคมนาคมมักถูกโจมตี การปรากฏของทหารเวียดนามทั่วประเทศได้เติมเชื้อไฟให้กับการต่อต้านเวียดนาม โดยจำนวนชาวเวียดนามในสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาทั้งที่อยู่มาก่อนและอพยพเข้ามาใหม่คาดว่ามีประมาณ 1 ล้านคน

ใน พ.ศ. 2529 ฮานอยได้กล่าวอ้างว่าจะเริ่มถอนทหารเวียดนามออกมา ในขณะเดียวกันเวียดนามเร่งสร้างความเข็มแข็งให้กับสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาและกองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชา การถอนทหารยังคงต่อเนื่องไปอีก 2 ปี โดยไม่สามารถทราบจำนวนที่แท้จริงได้ แผนการถอนทหารเวียดนามถูกกดดันมากขึ้นในช่วง พ.ศ. 2532 – 2533 เพราะสหรัฐและจีนเข้ามากดดันมากขึ้น และสหภาพโซเวียตงดให้ความช่วยเหลือ ทำให้กัมพูชาต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตทางการเมือง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 รัฐบาลฮานอยและพนมเปญออกมาประกาศว่าการถอนทหารจะสิ้นสุดภายในเดือนกันยายนของปีนี้

การเปลี่ยนผ่านรัฐกัมพูชา (พ.ศ. 2532–2536)

แก้
รัฐกัมพูชา

រដ្ឋកម្ពុជា (เขมร)
2532–2536
ธงชาติ
ตราแผ่นดิน
เพลงชาติ"เพลงชาติกัมพูชา" (2532–2536)
"นครราช" (โดยพฤตินัยตั้งแต่ พ.ศ. 2533)
 
แผนที่รัฐกัมพูชา
เมืองหลวงพนมเปญ
ภาษาราชการเขมร
การปกครองรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐสังคมนิยมลัทธิมากซ์-เลนินแบบมีพรรคเดียว (2532–2534)
รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา สาธารณรัฐ
( 2534–2536)
เลขาธิการพรรค 
• พ.ศ. 2532–2534
เฮง สัมริน
ประมุขแห่งรัฐ 
• พ.ศ. 2532–2534
เฮง สัมริน
• พ.ศ. 2535–2536
เจีย ซิม
• 2536
นโรดม สีหนุ
นายกรัฐมนตรี 
• พ.ศ. 2532–2536
ฮุน เซน
สภานิติบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร
ยุคประวัติศาสตร์สงครามเย็น
• ก่อตั้งรัฐธรรมนูญเปลี่ยนผ่าน
1 พฤษภาคม 2532
• เวียดนามถอนทัพ
26 กันยายน พ.ศ. 2532
23 ตุลาคม 2534
15 มีนาคม 2535
24 กันยายน พ.ศ. 2536
สกุลเงินเรียล (៛) (KHR)
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+855
ก่อนหน้า
ถัดไป
  สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา
2535:
UNTAC
 
2536:
ราชอาณาจักร
กัมพูชา
 
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา

ในวันที่ 29–30 เมษายน พ.ศ. 2532 สภาแห่งชาติของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาภายใต้การนำของเฮง สัมรินได้จัดประชุมสมัยวิสามัญโดยมีการแก้ไขชื่อประเทศจากสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชามาเป็นรัฐกัมพูชา มีการนำสีน้ำเงินกลับมาใช้ในธงชาติ เปลี่ยนตราแผ่นดินและตรากองทัพ กองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชาถูกเปลี่ยนไปเป็นกองทัพประชาชนกัมพูชา พุทธศาสนาที่เคยฟื้นฟูขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2522 ได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติ ทางด้านเศรษฐกิจได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการถือครองทรัพย์สินและตลาดเสรี พรรครัฐบาลประกาศจะเจรจากับฝ่ายค้านทุกกลุ่ม[35]

รัฐกัมพูชาดำรงอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและรัฐคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก การลดความช่วยเหลือของโซเวียตต่อเวียดนามทำให้เวียดนามต้องถอนทหารออกไป กองทหารสุดท้ายของเวียดนามกล่าวว่าพวกเขาออกจากกัมพูชาเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2532 แต่บางกลุ่มเชื่อว่ายังคงอยู่ถึง พ.ศ. 2533[36] ชาวเวียดนามส่วนใหญ่อพยพกลับสู่เวียดนาม เพราะไม่มั่นใจความสามารถของรัฐบาลกัมพูชาในการควบคุมสถานการณ์เมื่อไม่มีทหารเวียดนาม

นอกจากการประกาศอย่างแข็งกร้าวของฮุนเซน รัฐกัมพูชาอยู่ในฐานะที่จะกลับมาเป็นเพียงพรรคหนึ่งในการครองอำนาจ โครงสร้างผู้นำและการบริหารเป็นแบบเดียวกับสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา โดยมีพรรคเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด รัฐกัมพูชาไม่สามารถฟื้นฟูราชวงศ์ในกัมพูชาแม้จะเริ่มนำสัญลักษณ์ของราชวงศ์มาใช้ ซึ่งเคยเลิกใช้ไปเป็นเวลานานหลังจากที่พระนโรดม สีหนุเข้าร่วมกับแนวร่วมเขมรสามฝ่าย ในกลางปี พ.ศ. 2534 ทั้งโดยแรงกดดันจากในและนอกประเทศ รัฐกัมพูชาได้ทำข้อตกลงในการยอมรับพระนโรดม สีหนุเป็นประมุขรัฐ ปลายปี พ.ศ. 2534 สีหนุได้เดินทางกลับกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ทั้งฮุน เซน และเจียซิมได้จัดงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ[37]

ในช่วงเปลี่ยนผ่านในฐานะรัฐกัมพูชาแนวคิดปฏิวัติได้เลือนหายไป การฉ้อราษฏร์บังหลวงเพิ่มขึ้น ทรัพยากรของรัฐถูกขายไปโดยไม่เกิดกำไรแก่รัฐ ชนชั้นสูงและทหารสร้างความร่ำรวยจากความเหลื่อมล้ำ[38] ผลจากการกระทำนี้ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงในกรุงพนมเปญเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต 8 คน[39]

สถานะของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนดีขึ้นหลัง พ.ศ. 2532 ความเข้มงวดที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐกัมพูชาลดลง รัฐบาลของรัฐกัมพูชายอมให้ชาวจีนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนได้อีก ใน พ.ศ. 2534 ได้มีการเฉลิมฉลองตรุษจีนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขมรแดงครองอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2518[40]

สนธิสัญญาสันติภาพ

แก้

การเจรจาสันติภาพระหว่างระบอบที่มีเวียดนามหนุนหลังกับกองทัพฝ่ายตรงข้ามเริ่มขึ้นทั้งเป็นและไม่เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2528 การเจรจาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เขมรแดงต้องการให้ล้มล้างการบริหารของฝ่ายรัฐบาลพนมเปญก่อนการเจรจา ในขณะที่ฝายรัฐบาลต้องการให้ขับเขมรแดงออกไปจากรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[41] การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เป็นแรงฟลักดันที่สำคัญที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาเข้ามาสู่การเจรจา สุดท้ายจึงบรรลุข้อตกลงในสนธิสัญญาสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 โดยสหประชาชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรมซึ่งกำหนดใน พ.ศ. 2536[42] มีการจัดตั้งอันแทคในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการเจรจาสงบศึกและดูแลการเลือกตั้งทั่วไป[43]

ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวในสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา

แก้

พรรคปฏิวัติประชาชนกัมพูชาเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในการปกครองของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐกัมพูชาใน พ.ศ. 2534 และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนกัมพูชาระหว่างที่สหประชาชาติเข้ามาจัดการเลือกตั้ง สมาชิกของพรรคส่วนใหญ่เคยเป็นสมาชิกของเขมรแดงที่หนีไปเวียดนามหลังจากที่ได้เห็นนโยบายที่ทำลายระบบสังคมของกัมพูชาด้วยการคลั่งลิทธิเหมาและนโยบายเกลียดชังต่างชาติ บุคคลเหล่านี้รวมทั้งเฮง สัมรินและฮุน เซนซึ่งเคยเป็นสมาชิกเขมรแดงโซนตะวันออกใกล้แนวชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม ต่อมาเข้าร่วมกับกองทัพเวียดนามในการโค่นล้มเขมรแดง

พรรคที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 เป็นพรรคที่นิยมลัทธิมาร์ก-เลนิน อย่างไรก็ตาม หลัง พ.ศ. 2528 ได้มีการผ่อนปรนให้กับการถือครองทรัพย์สินของเอกชนมากขึ้น และนโยบายเชิงสังคมนิยมของพรรคลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านมาสู่พรรคประชาชนกัมพูชา สถานะของการปฏิวัติสังคมนิยมในพรรคสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2534 ฮุน เซนที่เป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในพรรค และยังเป็นผู้นำของพรรคที่สืบเนื่องคือพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มีนโยบายสังคมนิยมเลย[44]

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

แก้

การแสวงหาการยอมรับในระดับนานาชาติของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา

แก้

หลังจากที่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา เวียดนามเป็นประเทศแรกที่ประกาศรับรอง และสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามทันที ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เฮง สัมรินในฐานะตัวแทนของของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาและฝั่ม วัน ดงได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพมิตรภาพและความร่วมมือ[45]

สหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี สาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรีย สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวัก สาธารณรัฐประชาชนฮังการี สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย สาธารณรัฐคิวบา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมน สาธารณรัฐประชาธิปไตยอัฟกานิสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเอธิโอเปีย สาธารณรัฐประชาชนคองโก และประเทศกำลังพัฒนาที่นิยมโซเวียต เช่นอินเดียได้รับรองรัฐบาลใหม่ในกัมพูชา ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2523 มี 29 ประเทศที่รับรองสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา ในขณะที่อีกเกือบ 80 ประเทศรับรองรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของเขมรแดง[46]

รัฐบาลจีนที่เป็นผู้สนับสนุนเขมรแดงได้กล่าวหาว่าสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเป็นรัฐหุ่นเชิดของเวียดนามและประกาศไม่รับรอง ไทยและสิงคโปร์ประกาศตัวอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับการรุกรานของเวียดนาม รัฐบาลของพล พตได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและยุโรปในการต่อต้านเวียดนาม

ผลของการที่ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

แก้

สภาความมั่นคงของสหประชาชาติประณามการรุกรานของเวียดนามว่าเป็นการแสดงความก้าวร้าวต่อกัมพูชาประชาธิปไตย[47] ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและสิทธิของชาวกัมพูชา

ผลจากการต่อต้านสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา ทำให้เขมรแดงยังคงได้ที่นั่งในสหประชาชาติแม้ว่าจะมีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กัมพูชาประชาธิปไตยยังคงได้ที่นั่งในสหประชาชาติต่อมาอีก 3 ปี หลังการสิ้นอำนาจของพล พต ต่อมา ใน พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยและได้ที่นั่งในสหประชาชาติจนถึง พ.ศ. 2536[48]

จีนและประเทศตะวันตกรวมทั้งประเทศในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาส่วนหนึ่งยังคงสนับสนุนเขมรแดงและโหวตให้กัมพูชาประชาธิปไตยครองที่นั่งในสหประชาชาติ การถอนการสนับสนุนเขมรแดงของสวีเดนเกิดขึ้นหลังจากมีชาวสวีเดนจำนวนมากเขียนจดหมายถึงสมาชิกสภาต้องการให้เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อระบอบของพล พต ฝรั่งเศสประกาศเป็นกลางในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายไม่ควรเป็นตัวแทนกัมพูชาในสหประชาชาติ ต่อมา สหรัฐได้ออกนโยบายสนับสนุนขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศที่เป็นบริวารของสหภาพโซเวียต ทำให้รัฐบาลของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการนี้ด้วย[49] ดังที่สหรัฐให้การสนับสนุนอัลกออิดะห์และฏอลีบันในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถาน และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในอังโกลา[50] แต่ปฏิบัติการในกัมพูชาไม่สำเร็จ

ในการอ้างถึงกัมพูชาในฐานะรัฐ ในที่ประชุมทั่วไปของสหประชาชาติใช้คำว่ากัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) และกัมปูเจีย(Kampuchea) เป็นเวลากว่าทศวรรษ เพิ่งมาใช้ กัมพูชา (Cambodia) ใน พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านของรัฐกัมพูชา[51]

รัฐธรรมนูญ

แก้

ร่างครั้งแรก

แก้

ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2523 ประธานสภาปฏิวัติประชาชนคือ รส สมัย ได้จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเขียนเป็นภาษาเขมร โดยนำรัฐธรรมนูญของเวียดนาม เยอรมันตะวันออก สหภาพโซเวียต ฮังการี และบัลแกเรีย รวมทั้งรัฐธรรมนูญในอดีตของกัมพูชา เช่นของราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐเขมร แต่ร่างของรส สมัย ไม่ผ่านการตรวจสอบของเวียดนาม[6]

การตรวจสอบรัฐธรรมนูญโดยเวียดนาม

แก้

การใช้ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาถูกกดดันด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชากับเวียดนาม นายกรัฐมนตรี แปน โสวัณณ์ ยอมรับว่าฝ่ายเวียดนามได้ขอให้แก้ไขถ้อยคำบางคำที่พวกเขาไม่เห็นด้วยในท้ายที่สุด เมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่ได้รับความเห็นชอบจากเวียดนาม โดยกำหนดว่ากัมพูชาเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มุ่งไปสู่ความเป็นสังคมนิยม การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมนิยมนั้นนำโดยลัทธิมาร์ก-เลนิน ทำให้กัมพูชากลายเป็นรัฐบริวารของโซเวียต ศัตรูที่สำคัญของประเทศใหม่คือการขยายตัวของจีน จักรวรรดินิยมอเมริกาและอำนาจอื่น ๆ

ในทางเทคนิค รัฐธรรมนูญได้ยอมรับสิทธิอย่างกว้างเกี่ยวกับเสรีภาพของพลเมืองและสิทธิถือครอง แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ เช่นจะต้องไม่กระทำการเพื่อให้ร้ายผู้อื่น เปลี่ยนแปลงสังคม ระเบียบสาธารณะ หรือความปลอดภัยแห่งชาติ รัฐธรรมนูญได้ให้หลักการของวัฒนธรรมภายในรัฐบาล การศึกษา สวัสดิการสังคม และสาธารณสุข พัฒนาการด้ายภาษา วรรณกรรม ศิลปะและวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นสำหรับการอนุรักษ์วัฒนธรรม การสนับสนุนการท่องเที่ยว และความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับประเทศอื่น

องค์ประกอบของรัฐประกอบด้วยสมัชชาแห่งชาติ สภาแห่งรัฐ สภารัฐมนตรี คณะกรรมการปฏิวัติประชาชนท้องถิ่นและระบบศาล ลำดับขั้นของการบริหารเป็นไปตามลัทธิมาร์ก-เลนิน ที่ถือเป็นหลักของประเทศ มีการเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายปกครองและประชาชนระดับรากหญ้า โดยองค์กรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของแนวร่วมสามัคคีประชาชาติเพื่อการสร้างและปกป้องชาติ

รัฐธรรมนูญของรัฐกัมพูชา

แก้

มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับนโยบายทางด้านตลาดของรัฐกัมพูชา รัฐนี้สืบเนื่องมาจากสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาซึ่งเป็นไปตามนโยบายเปิด-ปรับของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งทำให้ความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียตมายังเวียดนามและกัมพูชาน้อยลง จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ได้การยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น รวมทั้งการใช้ระบบตลาดเสรี

รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาไม่ได้กล่าวถึงตำแหน่งประมุขรัฐซึ่งอาจเป็นการเว้นที่ว่างให้พระนโรดม สีหนุ[6] อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งรัฐกัมพูชากำหนดให้ประธานสภาแห่งรัฐเป็นประมุขรัฐ

โครงสร้างรัฐบาล

แก้

โครงสร้างการบริหารภายในของรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง พ.ศ. 2522 – 2523 จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 จึงเกิดโครงสร้างใหม่เป็นสมัชชาแห่งชาติ สภาแห่งรัฐ และสภารัฐมนตรี องค์กรใหม่นี้เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ บางส่วนยังทำงานไม่ได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 เพื่อให้สมัชชาแห่งชาติออกกฎหมายเฉพาะออกมาก่อน

ถ้าไม่นับที่ปรึกษาชาวเวียดนาม รัฐบาลของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาประกอบด้วยชาวกัมพูชาที่เป็นสมาชิกแนวร่วมปลดปล่อยฯ ในระยะแรกที่ปรึกษาจากเวียดนามเช่นเล ดึ้ก โถ่ ได้ให้สัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของกัมพูชา อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สถาปนาสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา เล ดึ้ก โถ่ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลที่ฮานอยและพนมเปญ โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาต้องเดินในช่องทางแคบ ๆ ระหว่างชาตินิยมเขมรกับความเป็นหนึ่งเดียวของอินโดจีนกับเวียดนาม โดยจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อเวียดนาม[6] สมาชิกของรัฐบาลที่แสดงอาการต่อต้านเวียดนามจะถูกเปลี่ยนตัวไป เช่น รส สมัย แปน โสวัณณ์ และจัน ซี จัน ซีนั้นเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยที่มอสโกเมื่อ พ.ศ. 2527[52]

สมัชชาแห่งชาติ

แก้

องค์กรสูงสุดแห่งรัฐคือสมัชชาแห่งชาติ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งแรกของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาเกิดขึ้นเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 มีสมาชิก 117 คน ในช่วงแรก สมัชชาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และคัดเลือกบุคลากรสำหรับหน่วยงานของรัฐที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ สมัชชามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมาย และตรวจสอบการปฏิบัติงาน ตรวจสอบนโยบาบทั้งภายในและต่างประเทศ ปรับปรุงโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ควบคุมงบประมาณของรัฐ เลือกหรือปลดออกซึ่งสมาชิกภาพของสภาแห่งรัฐและสภารัฐมนตรี นอกจากนั้น ยังให้คำรับรองสนธิสัญญาที่ทำกับต่างประเทศ เช่นเดียวกับรัฐสังคมนิยมอื่น ๆ การทำงานจริง ๆ ของสมัชชาคือการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของสภาแห่งรัฐและสภารัฐมนตรี

สมัชชาแห่งชาติปกติประชุมปีละ 2 ครั้ง โดยมีหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับแผนงานของรัฐและงบประมาณ และให้ผ่านด้วยเสียงอย่างน้อยสองในสาม ตรวจสอบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศของสภารัฐมนตรี สภารัฐมนตรีไม่สามารถถอดถอนสมัชชาแห่งชาติได้ อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2529 ได้มีการประกาศต่ออายุสมัชชาแห่งชาติออกไปอีก 5 ปี

สภาแห่งรัฐ

แก้

สมัชชาแห่งชาติเลือกตัวแทน 7 คนเข้าสู่สภาแห่งรัฐ ประธานสภาแห่งรัฐจะเป็นประมุขของประเทศ แต่อำนาจในการบังคับบัญชากองทัพสูงสุดถูกลบออกจากร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาแห่งรัฐทั้ง 7 คน คือผู้นำที่มีอำนาจมากในสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา มีอำนาจถอดถอนสมาชิกสภารัฐมนตรีได้

สภารัฐมนตรี

แก้

หน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลคือสภารัฐมนตรี ซึ่งในปลายปี พ.ศ. 2530 ประธานสภารัฐมนตรีคือฮุน เซน (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2527) ซึ่งเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี รองประธานสภาสองคน เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรี 20 คน สมัชชาแห่งชาติเป็นผู้เลือกสภารัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี

สภารัฐมนตรีประชุมสัปดาห์ละครั้ง รัฐมนตรีในสภาจะรับผิดชอบในด้าน เกษตรกรรม การสื่อสาร คมนาคมและไปรษณีย์ การศึกษา การคลัง การต่างประเทศ สาธารณสุข การค้าภายในและต่างประเทศ อุตสาหกรรม สารสนเทศและวัฒนธรรม มหาดไทย ยุติธรรม การป้องกันประเทศ และกิจการสังคม นอกจากนั้น ยังมีรัฐมนตรีที่ดูแลทางด้านกิจกรรมการเกษตรและการปลูกยางพารา ซึ่งเพิ่มเข้าในสำนักงานของสภารัฐมนตรี เลขาธิการทั่วไปของสภารัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบทางด้านการคมนาคมและเครือข่ายการป้องกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และประธานธนาคารประชาชนแห่งชาติกัมพูชา

ศาลยุติธรรม

แก้

การฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายเป็นภาระหลักของระบบเฮง สัมริน ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 การบริหารงานยุติธรรมอยู่ในอำนาจของศาลประชาชนปฏิวัติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในพนมเปญ กฎหมายใหม่เริ่มประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ภายใต้กฎหมายนี้ ศาลประชาชนสูงสุดเป็นศาลสูงสุดของประเทศ

การแบ่งเขตบริหาร

แก้

ในปลายปี พ.ศ. 2530 การปกครองภายในประเทศถูกแบ่งเป็น 18 จังหวัด (เขต) และเขตบริหารพิเศษ 2 แห่ง (กรง) คือพนมเปญและกัมปงโสมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางโดยตรง แต่ละจังหวัดแบ่งเป็น สรก (ตำบล) และขุม (ชุมชน) และภูมิ (หมู่บ้าน)

คณะกรรมการประชาชนปฏิวัติท้องถิ่น

แก้

เป็นส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง ประกอบด้วยประธาน รองประธาน 1 คน และมีสมาชิก 11 คน คณะกรรมการนี้ มีทั้งในระดับจังหวัดและตำบลมีวาระ 5 ปี ส่วนในระดับชุมชนและหมู่บ้าน มีวาระ 3 ปี

กองทัพ

แก้
 
ตรากองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชา (KPRAF)(2522 - 2532)
 
ตรากองทัพประชาชนกัมพูชา (CPAF)(2532 - 2536)

กองทัพของสาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชาคือกองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชา มีความจำเป็นในการสร้างภาพในการบริหารแบบนิยมเวียดนามในพนมเปญ ซึ่งเป็นไปตามระบบของโซเวียต การเกิดขึ้นของกองทัพภายในไม่ได้เป็นปัญหากับการยึดครองของเวียดนาม เพราะเวียดนามเคยมีประสบการณ์ในการฝึกหัดและร่วมมือทางทหารกับลาวมาก่อน

กองทัพปฏิวัติประชาชนกัมพูชาจัดตั้งขึ้นจากกองทัพที่เคยเป็นสมาชิกของเขมรแดงมาก่อน กองทัพนี้ได้รับการฝึกและสนับสนุนจากเวียดนาม แต่กองทัพนี้ก็อ่อนแอ ไร้ความสามารถที่จะต่อสู้กับเขมรสามฝ่ายได้โดยลำพัง ระบบของกองทัพมีระบบของศาลทหาร และระบบคุกทหาร[53] ต่อมา ใน พ.ศ. 2532 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกองทัพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ข้อตกลงปารีส พ.ศ. 2534 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นรัฐกัมพูชา กองทัพเปลี่ยนชื่อเป็นกองทัพประชาชนกัมพูชา หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 กองทัพประชาชนกัมพูชาได้รวมเข้ากับกองทัพของฝ่ายนิยมเจ้า ชาตินิยม และกลุ่มอื่น เข้าเป็นกองทัพแห่งชาติ

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Constitution of the People's Republic of Kampuchea" (PDF) (ภาษาเขมร). Constitutional Council of Cambodia. 25 June 1981. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-10. สืบค้นเมื่อ 10 July 2021.
  2. "Cambodia – Religion". Britannica. สืบค้นเมื่อ 29 June 2020.
  3. "Results of the 1998 Population Census in Cambodia". Asia-Pacific Population Journal. September 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 April 2021. สืบค้นเมื่อ 11 August 2019.
  4. Michael Leifer, Dictionary of the modern politics of South-East Asia
  5. Sorpong Peou, Intervention & change in Cambodia; Towards Democracy?, ISBN 0312227175 ISBN 978-0312227173
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Margaret Slocomb, The People's Republic of Kampuchea, 1979-1989: The revolution after Pol Pot ISBN 9789749575345
  7. "S21 : la machine de mort khmère rouge" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-07-24. สืบค้นเมื่อ 2012-05-03.
  8. Milton Osborne, Sihanouk, Prince of Light, Prince of Darkness. Silkworm 1994
  9. An Elusive Party
  10. Khmernews - Five KR Ministers Tortured At Tuol Sleng Prison And Killed At Boeng Cheung Aek
  11. มีเขมรอิสระกลุ่มนี้หนีไปเวียดนามเหนือราว 3,000 - 5,000 คน (LOC Appendix B)
  12. Frings, K. Viviane, Rewriting Cambodian History to 'Adapt' It to a New Political Context: The Kampuchean People's Revolutionary Party's Historiography (1979-1991) in Modern Asian Studies, Vol. 31, No. 4. (Oct., 1997), pp. 807-846.
  13. Ben Kiernan, The Pol Pot Regime, 2d ed. Silkworm.
  14. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982, Silkworm Books 2000, ISBN 9789747100815
  15. Ben Kiernan, The Pol Pot Regime, 2d ed. Silkworm.
  16. Arthur Mark Weisburd, Use of force: The Practice of States Since World War II
  17. Religion in Kampuchea
  18. Soizick Crochet, Le Cambodge, Karthala, Paris 1997, ISBN 2-86537-722-9
  19. 19.0 19.1 JSTOR: Kampuchea in 1981: Fragile Stalemate
  20. Stanislaw Gomulka, Yong-Chool Ha & Cae-One Kim, Economic reforms in the socialist world
  21. Stephen R. Heder & Judy Ledgerwood, Propaganda, Politics, and Violence in Cambodia: Democratic Transition Under United Nations Peace-Keeping
  22. http://www.hawaii.edu/powerkills/DBG.TAB9.1.GIF
  23. Charles F. Keyes, Laurel Kendall & Helen Hardacre,Asian visions of authority, Joint Committee on Southeast Asia
  24. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982, Silkworm Books 2000, ISBN 978-974-7100-81-5
  25. "Cambodia Cultural Profile, Visiting Arts and the Ministry of Culture and Fine Arts of Cambodia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-18. สืบค้นเมื่อ 2012-05-23.
  26. Alexander Laban Hinton, Annihilating difference: The Anthropology of Genocide ISBN 0-520-23029-9 ISBN 978-0520230293
  27. Gerard A. Postiglione & Jason Tan, Going to school in East Asia
  28. Eva Mysliwiec, Punishing the Poor: The International Isolation of Kampuchea, Oxford, U.K. 1988, ISBN 978-0-85598-089-4
  29. "Documentation Center of Cambodia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-23.
  30. "REFUGEE WARRIORS AT THE THAI-CAMBODIAN BORDER by Conrtland Robinson" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-17. สืบค้นเมื่อ 2012-05-23.
  31. Puangthong Rungswasdisab, Thailand's Response to the Cambodian Genocide
  32. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982, Silkworm Books 2000, ISBN 978-974-7100-81-5
  33. Evans and Rowley, Red Brotherhood at War
  34. Esmeralda Luciolli, Le mur de bambou, ou le Cambodge après Pol Pot. (ฝรั่งเศส)
  35. "Documentation Center of Cambodia - Cambodia in the 1980s". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-23.
  36. History map
  37. Charles F. Keyes, Laurel Kendall & Helen Hardacre,Asian visions of authority, Joint Committee on Southeast Asia
  38. John Marston, 1997 Cambodia 1991-94: Hierarchy, Neutrality and Etiquettes of Discourse. 1997
  39. Amnesty International, State of Cambodia Human Rights Developments: 1 October 1991 to 31 January 1992. London 1992
  40. "Judy Ledgerwood, Cambodian Recent History and Contemporary Society; 1989-1993 State of Cambodia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-14. สืบค้นเมื่อ 2012-06-07.
  41. Sorpong Peou, Intervention & change in Cambodia
  42. Alexander Laban Hinton, Why did they kill?
  43. Cambodia - UNTAC - Mandat
  44. Information on KPRP rule
  45. Pobzeb Vang, Five Principles of Chinese Foreign Policies
  46. Major Political Developments, 1977-81
  47. United Nations Doc. A/13022 11 January 1979
  48. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982, Silkworm Books 2000, ISBN 978-974-7100-81-5
  49. Third World Traveler, US supports Pol Pot
  50. Thomas Bodenheimer & Robert Gould, Rollback: Right-wing Power in U.S. Foreign Policy, South End Press, 1989
  51. Susanne Alldén & Ramses Amer, The United Nations and Peacekeeping: Lessons Learned from Cambodia and East Timor (A/45/PV.3 par. 8)
  52. Sorpong Peou, Intervention & change in Cambodia
  53. Cambodia - Military Service

บรรณานุกรม

แก้
  • Bekaert, Jacques, Cambodian Diary, Vol. 1: Tales of a Divided Nation 1983–1986, White Lotus Press, Bangkok 1997, ISBN 974-8496-95-3, & Vol. 2: A Long Road to Peace 1987–1993, White Lotus Press, Bangkok 1998, ISBN 978-974-8496-95-5
  • Harris, Ian, Buddhism in Extremis: The Case of Cambodia, in Buddhism and Politics in Twentieth-Century Asia, edited by Ian Harris, 54–78 (London, New York: Pinter, 1999). ISBN 1-85567-598-6
  • Gottesman, Evan, Cambodia after the Khmer Rouge: Inside the politics of Nation Building.
  • Kiernan, Ben and Caroline Hughes (eds). Conflict and Change in Cambodia. Critical Asian Studies 34(4) (December 2002)
  • Silber, Irwin, Kampuchea: The Revolution Rescued, Oakland, 1986
  • Volkmann, Toby Alice , Cambodia 1990. Special edition. Cultural Survival Quarterly 14(3) 1990

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้