เกาะฟู้โกว๊ก
เกาะฟู้โกว๊ก (เวียดนาม: Phú Quốc) มีชื่อในภาษาไทยว่า เกาะโดด[1][2] เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ตั้งอยู่ในอ่าวไทย โดยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดเกียนซาง พื้นที่ 574 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอยู่ถาวร 85,000 คน[3] เขตการปกครองของเกาะฟู้โกว๊กนั้นประกอบด้วยเกาะใหญ่และเกาะเล็กน้อยอีก 21 เกาะ ศูนย์กลางของเกาะตั้งอยู่ที่เมืองใหญ่ที่สุดคือเซืองโดงทางชายฝั่งตะวันตก และยังเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเกาะอีกด้วย เศรษฐกิจของเกาะขึ้นกับการประมง เกษตรกรรมและการท่องเที่ยว เกาะนี้ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเวียดนาม
ฟู้โกว๊ก Phú Quốc | |
---|---|
Thành phố Phú Quốc นครฟู้โกว๊ก | |
สถานที่ต่าง ๆ ในนครฟู้โกว๊ก | |
พิกัด: VN 10°14′N 103°57′E / 10.233°N 103.950°E | |
ประเทศ | เวียดนาม |
ภูมิภาค | ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง |
จังหวัด | เกียนซาง |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 574 ตร.กม. (222 ตร.ไมล์) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 179,480 คน |
• ความหนาแน่น | 305 คน/ตร.กม. (790 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+7 (เขตเวลาอินโดจีน) |
รหัสโทรศัพท์ | 855 |
เว็บไซต์ | phuquoc |
ภูมิศาสตร์
แก้เกาะฟู้โกว๊กอยู่ในอ่าวไทย ห่างจากสักซ้า (Rạch Giá) ซึ่งเป็นเมืองบนชายฝั่งของเวียดนาม 115 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดกำปอต ของกัมพูชา 15 กิโลเมตร และห่างจากแหลมฉบังของไทย 540 กิโลเมตร เกาะมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมที่มียอดชี้ไปทางทิศใต้ ความยาวจากเหนือลงใต้ยาว 50 กิโลเมตร ส่วนจากตะวันออกไปตะวันตกยาว 25 กิโลเมตร
เศรษฐกิจ
แก้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของเกาะคือพริกไทยดำ และน้ำปลา ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่นำไปทำน้ำปลาและปลาร้า การปลูกพริกไทยจะปลูกทางตอนกลางของเกาะ เริ่มมีการทำฟาร์มหอยมุก การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจ มี ท่าอากาศยานนานาชาติฟู้โกว๊ก ที่มีสายการบินเชื่อมต่อกับสนามบินในนครโฮจิมินห์ คือ ท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ตและท่าอากาศยานสักซ้า และมีเรือแล่นไปยังฮาเตียน วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 สายการบินบางกอกแอร์เวย์ทำการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายังท่าอากาศยานนานาชาติฟู้โกว๊ก
ประวัติศาสตร์
แก้ใน พ.ศ. 2379 สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือพระองค์ด้วง ทรงส่งข้อเสนอไปยังฝรั่งเศสตามคำแนะนำของมงตีญี เพื่อขอเป็นพันธมิตรทางการทหารในการต่อต้านเวียดนาม และยินดียกเกาะฟู้โกว๊กให้ฝรั่งเศส[4] แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการพิจารณา[5] เมื่อสงครามระหว่างฝรั่งเศส สเปน และเวียดนามเริ่มขึ้น พระองค์ด้วงได้ส่งจดหมายไปยังนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสอีก โดยกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนโคชินจีนตอนล่าง ซึ่งรวมเกาะฟู้โกว๊กด้วยว่าเป็นดินแดนของกัมพูชาที่ถูกเวียดนามยึดครอง พระองค์ด้วงได้ขอร้องฝรั่งเศสว่าอย่าได้รับดินแดนเหล่านี้จากเวียดนาม เพราะเป็นดินแดนของกัมพูชา แต่ต่อมา ใน พ.ศ. 2410 เกาะฟู้โกว๊กก็ถูกทหารฝรั่งเศสยึดครอง
หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ได้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือเกาะนี้ ก่อนได้รับเอกราช ฌูล เบรวีเย (Jules Brévié) ข้าหลวงประจำอินโดจีนฝรั่งเศส ได้กำหนดเส้นเบรวีเยพื่อบ่งเขตการปกครองของเกาะในอ่าวไทย โดยด้านเหนือของเส้นให้อยู่ในเขตกัมพูชา ด้านใต้เป็นของโคชินจีน โดยเป็นการกำหนดเพื่อความสะดวกในการบริหารและการทำงานของตำรวจ แต่ไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดน ผลจากเส้นนี้ทำให้เกาะฟู้โกว๊กอยู่ในเขตโคชินจีน
หลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ใน พ.ศ. 2492 นายพลฮวงเจีย ได้นำทหารฝ่ายสาธารณรัฐจีน 33,000 คนจากมณฑลหูหนานมาสู่เวียดนามและตั้งมั่นที่เกาะฟู้โกว๊กก่อนจะกลับไปยังเกาะไต้หวันใน พ.ศ. 2496[6] ในปัจจุบันได้มีเกาะเล็ก ๆ ในทะเลสาบเช็งกิงในไต้หวันซึ่งสร้างขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 และตั้งชื่อว่าฟู้โกว๊กเพื่อรำลึกถึงเกาะที่พวกเขาเคยอยู่ ในระหว่างสงครามเวียดนาม เกาะนี้เป็นที่คุมขังนักโทษขนาดใหญ่ของเวียดนามใต้ ใน พ.ศ. 2516 มีผู้ถูกคุมขังถึง 40,000 คน
ใน พ.ศ. 2510 พระนโรดม สีหนุได้แสดงความจำนงที่จะปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเหนือได้ยอมรับเส้นเขตแดนนี้ ใน พ.ศ. 2511 มีการเขียนบทความลงในวารสาร Kambudja ยอมรับว่าเกาะฟู้โกว๊กอยู่ในเขตเวียดนาม ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เขมรแดงได้ส่งทหารเข้ายึดเกาะฟู้โกว๊ก แต่เวียดนามสามารถยึดคืนมาได้ในเวลาอันสั้น ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับเส้นเขตแดนนำไปสู่สงครามกัมพูชา-เวียดนาม ใน พ.ศ. 2522
อ้างอิง
แก้- ↑ John Crawfurd. "Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin-China". Angkor Database. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2023.
- ↑ เติม สิงหัษฐิต. ฝั่งขวาแม่น้ำโขง. พระนคร : คลังวิทยา, 2490, หน้า 235
- ↑ "Sai Gon - Phu Quoc Resort & Spa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-14. สืบค้นเมื่อ 2012-11-20.
- ↑ "Le Second Empire en Indo-Chine (Siam-Cambodge-Annam): l'ouverture de Siam au commerce et la convention du Cambodge”, Charles Meyniard, 1891, Bibliothèque générale de géographie
- ↑ "La Politique coloniale de la France au début du second Empire (Indo-Chine, 1852-1858)", Henri Cordier, 1911, Ed. E.J. Brill
- ↑ 2009年03月31日, 抗日名将黄杰与最后一支离开大陆的国民党部队, 凤凰资讯
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Phu Quoc
- คู่มือการท่องเที่ยว เกาะฟู้โกว๊ก จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
- Video about Phu Quoc