ชาวเขมร
ชาวเขมร (เขมร: ជនជាតិខ្មែរ, Chônchéatĕ Khmêr, [cunciət kʰmae]; อังกฤษ: Khmer people) หรือ ชาวกัมพูชา เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมากที่สุดในประเทศกัมพูชา[11] ชาวเขมรจะใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มภาษามอญ-เขมรอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ใกล้เคียงกับชาวมอญและชาวเวียดนาม
ជនជាតិខ្មែរ | |
---|---|
ประชากรทั้งหมด | |
ป. 18-19 ล้านคน[1] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
กัมพูชา | 15-16 ล้านคน[2] |
เวียดนาม | 1,319,652 คน[3] |
ไทย | 1,146,685 คน[2] |
สหรัฐ | 331,733 คน[4] |
ฝรั่งเศส | 80,000 คน[5] (2015) |
เกาหลีใต้ | 49,100 คน[2] |
ออสเตรเลีย | 66,000 คน[6] (2016) |
มาเลเซีย | 30,113 คน[2] |
แคนาดา | 38,490 คน[7] |
ญี่ปุ่น | 9,195 คน[2] |
นิวซีแลนด์ | 8,601 คน[8] |
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | 7,600 คน |
ลาว | 7,141 คน[9] |
เยอรมนี | 1,035 คน[10] |
ออสเตรีย | 2,133 คน |
เนเธอร์แลนด์ | 2,000 คน |
สหราชอาณาจักร | มากกว่า 1,000 คน[1] |
สิงคโปร์ | 832 คน[2] |
ภาษา | |
เขมร | |
ศาสนา | |
พุทธเถรวาท, วิญญาณนิยม และศาสนาพื้นเมืองอื่น ๆ | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
เขมรกรอม, เขมรลือ, เขมรเหนือ, เขมร-จีน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก |
ชาวเขมรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธในรูปแบบเขมร และการผสานความเชื่อที่ผสมผสานองค์ประกอบของพุทธศาสนาเถรวาท, ศาสนาฮินดู, ศาสนาผี และความเคารพคนตาย[12]
ชาวเขมรเริ่มมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้เคียงกับชาวมอญโดยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในกลุ่มภาษามอญ-เขมรและสร้างจักรวรรดิเขมรขึ้นในอดีต ชาวเขมรยังแบ่งได้เป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่มตามประเทศและภาษาที่ใช้คือชาวเขมรในกัมพูชา พูดภาษาเขมร ชาวเขมรเหนือหรือเขมรสุรินทร์อยู่ในประเทศไทย และพูดภาษาเขมรที่เป็นสำเนียงของตนเองและพูดภาษาไทยด้วย ชาวขแมร์กรอมเป็นชาวเขมรที่อยู่ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม
ชื่อเรียก
ขอม - เขมร (ขะแมร์)
คำว่าเขมรนั้น เป็นคำไทย ซึ่งหมายถึง ขะแมร์ (ชาวเขมร) ซึ่งชาวเขมรเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า ขะแมร์ (เขมร) และเรียกดินแดนของตนว่า กัมพูชา มาตั้งแต่สมัยก่อนยุคอาณาจักรพระนคร โดยหลักฐานที่เรียกชาวเขมรเรียกตนเองว่า เขมร เก่าที่สุด คือ ศิลาจารึก Ka. 64 ซึ่งเป็นศิลาจารึกสมัยก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 พบที่บ้านเมลบ (เมลุบ) ตำบลโรกา อำเภอเปียเรียง จังหวัดไพรแวง ทางทิศตะวันออกของกรุงพนมเปญ กล่าวถึงชาวเขมรโบราณไว้ว่า “(๑๓) กฺญุม เกฺมร โฆ โต ๒๐. ๒๐. ๗ เทร สิ ๒”[13] คำว่า กฺญุม (เขมร: ខ្ញុំ, อักษรโรมัน: khñuṃ, แปลตรงตัว 'ข้ารับใช้, ทาส (Slave, bondsman)')[14] ในภาษาเขมรโบราณสมัยก่อนพระนครหมายถึง "ข้ารับใช้"[13] เหมือนคำว่า ขฺญุมฺ[13] ส่วนคำว่า เกฺมร (kmer) เมื่อรวมความหมายของคำว่า “กฺญุม เกฺมร” แล้ว แปลว่า “ข้ารับใช้ (ที่เป็น) ชาวเขมร”[13] แสดงว่าชาวกัมพูชาเรียกตัวเองว่า เกฺมร (kmer) มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12[13] ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นคำว่า เขฺมร (khmer) ในช่วงเขมรสมัยเมืองพระนคร และกลายเป็น แขฺมร ออกเสียงว่า แคฺมร์ (khmaer) ดังที่ปรากฏในภาษาเขมรปัจจุบัน ส่วนบางทฤษฏีสันนิษฐานว่า เกฺมร หมายถึง ทาส เช่น บ่าว ไพร่ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นข้ารับใช้ของพระมหากษัตริย์ในยุคอาณาจักรพระนคร
ในสมัยพระนครพบหลักฐานการเรียกกลุ่มชนชาว "เขฺมร" อย่างชัดเจน ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทบันทายฉมาร์ (ศิลาจารึก K.227 ) สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตวรรษที่ 18 ที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ตำบลถมอป๊วก เมืองเสียมเรียบ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
"...บันทูลให้มีราชพิธี ณ เสด็จนำชาวเขมร (อฺนกเขฺมร) ทั้ง ๔ ผู้ซึ่งได้ทำการรบเพื่อรักษาความมั่นคง มีจำนวน ๗๔ ตำบลไปยังกัมพุชเทศ แล้วประสาทแก่นักสัญชักทั้งสองโอยนาม "อำเตง และสถาปนารูป"
โดยคำว่า เขมร ในดินแดนไทยได้มีหลักฐานปรากฏขึ้นอย่างน้อย ๆ เมื่อ พ.ศ. 1069 (ตรงกับยุคอาณาจักรพระนคร) จากจารึกคำว่า เขมร ในจารึกซับบาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา[15]
อย่างไรก็ตามในเอกสารไทยได้มีการเรียกอาณาจักรพระนคร ว่า อาณาจักรขอม รวมถึงวัฒนธรรมและเรียกชนชาติว่า ขอม โดยได้มีการอ้างว่ามีความแตกต่างกับชนชาติเขมรในปัจจุบัน ซึ่งคำว่า ขอม สันนิษฐานว่าได้เกิดขึ้นในภายหลังคำว่าเขมร ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย 2 แห่ง ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1884-1910 ปลายยุคอาณาจักรพระนคร[16] จิตร ภูมิศักดิ์ได้เสนอว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง
การแผ่กระจาย
กัมพูชา (แผ่นดินแม่)
คนเขมรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกัมพูชาซึ่งเป็นแผ่นดินแม่ ประชากรในกัมพูชาส่วนใหญ่คิดเป็นชาวเขมร 90%[17][18]
ไทยและเวียดนาม
นอกจากนี้ยังมีประชากรชาวเขมรที่มีอาศัยอยู่ใน ไทยและเวียดนาม ในประเทศไทยมีชาวเขมรมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ใน จังหวัดสุรินทร์, จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนชาวเขมรในเวียดนาม (รู้จักกันในชื่อเขมรกรอม) คิดเป็นจำนวน 1.1 ล้านคนจากการประมารการข้อมูลการสำรวจของรัฐบาล และคิดเป็น 7 ล้านคนโดยกลุ่มสหพันธ์เขมรกรอม[19]
จังหวัด | ค.ศ. 1990 | ค.ศ. 2000 |
---|---|---|
บุรีรัมย์[20] | 0.3% | 27.6% |
จันทบุรี[21] | 0.6% | 1.6% |
มหาสารคาม[22] | 0.2% | 0.3% |
ร้อยเอ็ด[23] | 0.4% | 0.5% |
สระแก้ว[24] | — | 1.9% |
ศรีสะเกษ[25] | 30.2% | 26.2% |
สุรินทร์[26] | 63.4% | 47.2% |
ตราด[27] | 0.4% | 2.1% |
อุบลราชธานี[28] | 0.8% | 0.3% |
ประเทศตะวันตก
เนื่องจาก สงครามกลางเมืองกัมพูชา ชาวเขมรหลายพันคนได้อพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียและฝรั่งเศส
ประวัติ
การกำเนิดกัมพูชา
ตามตำนานเขมร ผู้ก่อตั้งอาณาจักรกัมพูชา คือ พราหมณ์ นามว่ากามพู สวยัมภูวะ หรือ โกญธัญญะ และเจ้าหญิงที่เป็นธิดาของพญานาค นามว่า โสมา หรือ เมรา เมื่อทั้งสองได้แต่งงานกันก็ได้กำเนิดนามว่า "ขะแมร์" ชาวเขมรตั้งชื่ออาณาจักรของพวกเขาว่า "กัมพูชา" ตามกษัตริย์แห่งกัมโพชะแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปในยุคเหล็กของอินเดีย เผ่ากัมพูชา มีความเชื่อกันโดยนักวิชาการสมัยใหม่ว่าอาจสืบเชื้อสายมาจากชาวอิหร่านในปัจจุบัน แต่ข้อมูลยังเป็นที่ถกเถียงและยังหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กัมพูชาถูกสร้างขึ้นเมื่อพราหมณ์อินเดียโบราณแต่งงานกับเจ้าหญิงโสมา พราหมณ์โกญธัญญะ (สันนิฐานว่ามาจากอินเดีย) ได้เดินทางมายังชายฝั่งของเขมร ธิดาพญานาคผู้ครองดินแดนแถบนี้ได้พายเรือออกมาต้อนรับ แต่พราหมณ์โกญธัญญะเป็นผู้มีเวทมนตร์คาถาได้ยิงธนูวิเศษมาที่เรือธิดาพญานาค ทำให้นางตกพระทัยกลัว แล้วยินยอมแต่งานด้วย ส่วนพญานาคผู้บิดาได้ทรงดื่มน้ำทะเลจนเหือดแห้งเพื่อสร้างอาณาจักรให้ราชบุตรเขยและธิดา และตั้งชื่ออาณาจักรที่สร้างขึ้นว่า "กัมพูชา"[29]
การมีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาวเขมรเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเขมรได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาเดียวกันกับ ชาวมอญ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันตกและมีเกี่ยวข้องทางบรรพบุรุษกับชาวเขมร นักโบราณคดี, นักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เช่น จีนศึกษา เชื่อว่าพวกเขามาถึงไม่ช้ากว่า 2000 ก่อนคริสต์ศักราช (กว่าสี่พันปีมาแล้ว) ในช่วงแรกชาวเขมรเริ่มทำการเกษตรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะปลูกข้าว ภูมิภาคที่ชาวเขมรอาศัยอยู่นี้ยังเป็นหนึ่งในสถานที่แรกในโลกที่เริ่มมีการใช้สำริด ชาวเขมรได้สร้าง จักรวรรดิเขมรในเวลาต่อมา ซึ่งครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลาหกศตวรรษซึ่งเริ่มต้นใน ค.ศ. 802 และปัจจุบันเป็นกระแสหลักของการเมืองวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกัมพูชา
ชาวเขมรได้พัฒนาอักษรเขมร ตัวอักษรแรกที่ยังคงใช้อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้เป็นหลักในการสร้างและพัฒนาตัวอักษรไทยและตัวอักษรลาวในภายหลัง ชาวเขมรได้รับการพิจารณาโดยนักโบราณคดีและนักชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งได้จัดเป็นชนพื้นเมืองในบริเวณภูมิภาคที่ต่อเนื่องกันของ ภาคอีสานของไทย, ภาคใต้ของลาว, กัมพูชา และ เวียดนามใต้ หรืออาจกล่าวได้ว่าชาวเขมรเคยเป็นชาวลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้กับหนึ่งในแควของแม่น้ำโขง
เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในยุคต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น ปยู, มอญ, จาม, มลายู และ ชวา ชาวเขมรเป็นชนชาติหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย โดยรับอิทธิพลทางด้าน ศาสนาศาสตร์และศุลกากรของอินเดีย อีกทั้งมีการยืมอิทธิพลทางด้านภาษา อาณาจักรการค้าที่มีประสิทธิภาพครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรฟูนัน ก่อตั้งขึ้นในทิศตะวันออกเฉียงใต้กัมพูชาและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในศตวรรษแรก อีกทั้งการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีอย่างกว้างขวางใน อังกอร์ บอเรย์ ใกล้ชายแดนเวียดนาม มีการขุดค้นพบ ซากอิฐ, คลอง, สุสานและหลุมฝังศพ สืบมาถึงศตวรรษที่สิบห้าก่อนคริสต์ศักราช
ราชอาณาจักรฟูนันถือเป็นแรกเริ่มของราชอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดในเวลาต่อมา ในยุคฟูนาน (ศตวรรษที่ 1 - ศตวรรษที่ 6) ชาวเขมรยังได้รับพระพุทธศาสนา, ศาสนาแนวคิดเรื่อง ลัทธิไศวะและเทวราชา และวิหารที่ยิ่งใหญ่ราวกับภูเขาสัญลักษณ์ของโลก อาณาจักรเขมรเจนละเกิดขึ้นในศตวรรษที่ห้าและต่อมาก็เอาชนะและยึดครองอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละเป็นรัฐที่อยู่บริเวณที่ราบสูงซึ่งมีเศรษฐกิจพึ่งพาการเกษตรในขณะที่ฟูนันเป็นรัฐที่ลุ่มที่มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าทางทะเล
ทั้งสองรัฐนี้แม้กระทั่งหลังการพิชิตโดยอาณาจักรเจนละ ในศตวรรษที่หกก็ยังคงทำสงครามซึ่งกันและกันและอาณาเขตที่เล็กลง ในช่วงยุคเจนละ (ศตวรรษที่ 5-8) ชาวกัมพูชาได้ประดิษฐ์คิดค้น "ตัวเลขศูนย์" ที่เก่าแก่ที่สุดที่โลกรู้จักในจารึกวิหารแห่งหนึ่งของพวกเขา เมื่อกษัตริย์พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงประกาศเอกราชและเอกภาพกัมพูชาในปี ค.ศ. 802 ก็มีความสงบสุขญาติระหว่างทั้งสองดินแดนบนและล่างกัมพูชา
พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ค.ศ. 802–ค.ศ. 830) ได้ทรงฟื้นพลังอำนาจของอาณาจักรกัมพูชาและสร้างรากฐานสำหรับอาณาจักรอังกอร์ซึ่งก่อตั้งเมืองหลวงสามแห่ง ได้แก่ อินทปุระ, หริหราลัยและมเหนทรบรรพต ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่เผยให้เห็นถึงช่วงเวลาของเขา หลังจากชนะสงครามกลางเมืองมายาวนาน จนถึงรัชสมัยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1002–ค.ศ. 1050) ได้ทรงแผ่แสนยานุภาพส่งกองทัพของพระองค์ไปทางทิศตะวันออกและปราบปรามอาณาจักรทวารวดีของมอญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมร ดังนั้นจึงทำให้พระองค์ได้ปกครองส่วนใหญ่ของประเทศไทยและลาวในปัจจุบันรวมถึงครึ่งทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ในช่วงระหว่างนี้ได้มีการสร้างนครวัดถือเป็นจุดสูงสุดของอารยธรรมเขมร
จักรวรรดิเขมร (ค.ศ.802–ค.ศ.1431)
อาณาจักรพระนคร
อาณาจักรเขมรกลายเป็นจักรวรรดิเขมรและมีวิหารที่ยิ่งใหญ่ของอังกอร์ซึ่งถือเป็นสมบัติทางโบราณคดีที่เต็มไปด้วยหินนูนสีสรรที่แสดงรายละเอียดของวัฒนธรรมรวมถึงเครื่องดนตรีบางอย่างที่ยังคงเป็นอนุสรณ์ของวัฒนธรรมเขมร
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ค.ศ.1113–1150) กัมพูชาผ่านพ้นความโกลาหลจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ค.ศ.1181–1218) ได้ทรงสั่งให้สร้างเมืองหลวงใหม่ พระองค์ถือพระองค์เป็นชาวพุทธและในเวลาหนึ่งศาสนาพุทธกลายเป็นศาสนาที่โดดเด่นในประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นศาสนาประจำชาติมันถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับลัทธิเทวะราชาโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นราชาแทนพระอิศวรราชาหรือพระนารายณ์ในอดีต
-
ชาวเขมรโบราณกำลังทำแกงหมูป่า ภาพแกะสลักอาณาจักรพระนคร
-
ภาพแกะสลักตลาดของชาวเขมรโบราณที่ปราสาทบายน
-
ภาพแกะสลักสตรีชาวเขมรโบราณใส่สไบ ภาพแกะสลักยุคอาณาจักรพระนคร
-
ภาพแกะสลักชาวเขมรโบราณกำลังทำปลาร้า "ปรอฮก"
จักรวรรดิเขมรเริ่มเสื่อมลงจากการรุกรานของอาณาจักรของชาวไทยสยาม อย่างเช่น อาณาจักรสุโขทัย (ค.ศ. 1238) นำโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ปลดแอกและขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงและการกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา (ค.ศ. 1350) ส่งผลให้เกิดสงครามกับเขมรอย่างแทบไม่หยุดยั้ง และนำไปสู่การล่มสลายของเมืองพระนคร (นครวัด) ในปี ค.ศ. 1431 กล่าวกันว่าชาวเขมรได้ถูกจับเป็นเชลยไปประมาณ 90,000 คน ซึ่งหลายคนน่าจะเป็นนักเต้นและนักดนตรี[30] ช่วงเวลาหลังปี ค.ศ. 1432 เมื่อชาวเขมรสูญเสียสมบัติ วัฒนธรรม บันทึกเอกสารสูญหาย นับเป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว ทำให้กัมพูชาเข้าสู่ยุคมืดในที่สุด
หลังยุคพระนคร (ค.ศ. 1431–ปัจจุบัน)
ยุคมืดของกัมพูชา
จากการรุกรานของอาณาจักรอยุธยาของชาวไทยสยามอย่างต่อเนื่อง จนที่มั่นสุดท้ายของอาณาจักรเขมร นครธม ถูกสยามนำโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ยึดครอง สิ้นสุดยุคอาณาจักรพระนคร ต่อมาในปี ค.ศ. 1434 พระเจ้าแผ่นดินเขมร พระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ)ได้ทรงย้ายราชธานีหนีภัยสงคราม มาสถาปนากรุงจตุมุข (พนมเปญ) เป็นเมืองหลวง และทรงสถาปนาอาณาจักรเขมรจตุมุขและเมืองพระนคร (นครวัด) ก็ถูกทิ้งร้างไว้ในป่าดงดิบ จนถึงอาณาจักรเขมรละแวกได้ถูกอาณาจักรอยุธยานำโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีแตกในสงครามสยาม-กัมพูชา พ.ศ. 2134 เนื่องจากการรุกรานอย่างต่อเนื่องของชาวสยามและชาวเวียดนามทำให้กัมพูชาตกเป็นประเทศราชของทั้งสองอาณาจักรทำให้เกิดความขัดแย้งหรืออานามสยามยุทธขึ้น กัมพูชาย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองอุดงมีชัยในเวลาต่อมา เข้าสู่ยุคอาณาจักรเขมรอุดง หรือ (ยุคอุดง) แต่ยังคงอยู่ภายใต้อาณาจักรสยามหรืออาณาจักรรัตนโกสินทร์ในฐานะประเทศราช
-
สตรีเขมรชั้นสูงและบริวารชายที่พระนครอุดงมีชัย สมัยอุดงตอนต้น
กัมพูชายุคใหม่
พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยอารักขาฝรั่งเศส)
จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้เริ่มเข้ามาในกัมพูชาในช่วงปลายสมัยอุดง (อาณาจักรเขมรอุดง) ในรัชสมัยสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระองค์ได้ทรงทำสนธิสัญญากัมพูชา-ฝรั่งเศสขึ้น โดยทรงขอเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส อาณาจักรกัมพูชาจึงได้รับความคุ้มครองจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1863 ทำให้กัมพูชาหลุดพ้นจากการเป็นประเทศราชของสยามและกลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1864 ในช่วงทศวรรษ 1880 กัมพูชาถูกดึงเข้าสู่สหภาพอินโดจีนที่ควบคุมโดยฝรั่งเศสพร้อมกับเวียดนามตอนใต้และลาว เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษที่กัมพูชาได้รับการพัฒนาตามแบบตะวันตกของฝรั่งเศสแต่ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสได้แสวงหาประโยชน์ทางการค้าจากกัมพูชา และเรียกร้องอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และชีวิตทางสังคม
-
สตรีเขมรในช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส
-
สมเด็จพระวรราชินี (แป้น)พร้อมนางกำนัลรับใช้
-
สตรีชนชั้นสูงของเขมรในช่วงปี ค.ศ. 1800
-
สตรีราชสำนักกัมพูชารัชสมัยพระสีสุวัตถิ์
พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฎรนิยม)
พระนโรดม สีหนุทรงประกาศเอกราชของกัมพูชาในปี ค.ศ. 1949 (ประกาศเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1953) จากฝรั่งเศส พระองค์ทรงก่อตั้งสังคมราษฎรนิยม (“ชุมชนสังคมนิยมของราษฎร”) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1955 ทรงชนะการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์และทรงเข้าบริหารพระราชอาณาจักรกัมพูชา และในวันที่ 2 มีนาคม ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประมุขแห่งรัฐในเวลาต่อมา
ในยุคพระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฎรนิยม) เป็นยุคที่กัมพูชาเจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้านและชาวกัมพูชาถือเป็นยุคทองยุคหนึ่งของชาวกัมพูชา พระนโรดม สีหนุได้ทรงพัฒนาประเทศกัมพูชาให้ทันสมัยและทรงดำเนินนโยบายชาตินิยมเขมร (เชื้อชาตินิยม) ถือให้เชื้อชาติเขมรเป็นชาติพันธุ์บริสุทธิ์ นำไปสู่การกีดกันชาวไทยสยามและชาวเวียดนาม นอกจากนี้ยังกำหนดพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติควบคู่กันไป
-
ข้าราชการเขมรและคณะรัฐบาลในช่วงสังคมราษฎรนิยม
สงครามกลางเมืองถึงปัจจุบัน
ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 สถานการณ์ทางการเมืองในกัมพูชาเริ่มวุ่นวาย พระนโรดม สีหนุทรงปกครองประเทศจนถึงวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1970 เมื่อพระองค์ถูกรัฐประหารล้มล้างระบอบสังสังคมราษฎรนิยมโดยจอมพลลอน นอลซึ่งก่อตั้งสาธารณรัฐเขมรทำให้พระราชอาณาจักรกัมพูชาล่มสลายลง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 เขมรแดง ซึ่งภายใต้การนำของพอล พตได้ใช้นโยบายคอมมิวนิสต์สุดโต่ง ขึ้นสู่อำนาจและทำลายล้างประชาชนชาวกัมพูชาไปเกือบหมด ทั้งสุขภาพ ศีลธรรม การศึกษา สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และวัฒนธรรมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชา
ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1979 กองกำลังเวียดนามได้ขับไล่เขมรแดง หลังจากที่ต้องใช้เวลานานมากกว่าสิบปีในการฟื้นฟูประเทศอย่างช้าๆ ด้วยความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงเล็กน้อย สหประชาชาติก็ได้เข้ามาแทรกแซงจนทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพปารีสในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2535 และสร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 ส่งผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันและการฟื้นฟูอำนาจของพระนโรดม สีหนุเป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2536
วัฒนธรรมและสังคม
วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรค่อนข้างเป็นเนื้อเดียวกันตลอดช่วงทางภูมิศาสตร์ มีสำเนียงท้องถิ่นอยู่บ้างแต่สามารถเข้าใจร่วมกันได้ ภาษาเขมรนั้นใช้ภาษาสำเนียงกรุงพนมเปญ (ราชธานีพนมเปญ) เป็นภาษากลางและภาษาราชการ มาตรฐานนี้ใช้สำเนียงที่พูดกันทั่วที่ราบภาคกลาง,[31] ภูมิภาคที่ประกอบด้วยจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือและภาคกลาง ภาษาเขมรที่พูดในภูมิภาคนี้เป็นตัวแทนของภาษาพูดของประชากรส่วนใหญ่ สำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์และจดจำได้ทันทีได้พัฒนาขึ้นในกรุงพนมเปญ ซึ่งเนื่องมาจากสถานะของเมืองเป็นเมืองหลวงของประเทศ ภาษาถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ภาษาเขมรเหนือ ซึ่งชาวเขมรเรียกว่า "เขมรสุรินทร์" พูดกันมากกว่าล้านคน ซึ่งเป็น "ชาวเขมรเหนือ" หรือ (ชาวเขมรพื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย) และ เขมรกรอม "เขมรใต้" หรือ "เขมรล่าง" นิยมพูดกันโดยชาวเขมรพื้นเมืองนับล้านคนในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามซึ่งอยู่ติดกับกัมพูชาและลูกหลานของพวกเขาในต่างแดน ภาษาถิ่นที่ไม่ค่อยมีการศึกษาที่เรียกว่า เขมรตะวันตก หรือเขมรกระดามอม พูดกันโดยประชากรกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่บริเวณเทือกเขากระดามอมซึ่งทอดยาวจากกัมพูชาไปจนถึงภาคกลางตะวันออกของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการศึกษากันน้อย แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตรงที่รักษาระบบการลงเสียง (สัทศาสตร์) ไว้ ซึ่งแทบจะหายไปจากภาษาถิ่นอื่นๆ ของเขมรสมัยใหม่
ชาวเขมรสมัยใหม่ระบุอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอย่างชัดเจนด้วยความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนา ซึ่งผสมผสานหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ากับองค์ประกอบของการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษพื้นเมือง วิญญาณนิยม และลัทธิไสยศาสตร์[12]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 Hattaway, Paul (ed.) (2004), "Khmer", Peoples of the Buddhist World, William Carey Library, p. 133
{{citation}}
:|first=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "General Population Census of the Kingdom of Cambodia 2019" (PDF). National Institute of Statistics. Ministry of Planning. June 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 13, 2019. สืบค้นเมื่อ 12 August 2019.
- ↑ "Report on Results of the 2019 Census". General Statistics Office of Vietnam. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
- ↑ "ASIAN ALONE OR IN COMBINATION WITH ONE OR MORE OTHER RACES, AND WITH ONE OR MORE ASIAN CATEGORIES FOR SELECTED GROUPS". United States Census Bureau. United States Department of Commerce. 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2020. สืบค้นเมื่อ 17 September 2015.
- ↑ Danaparamita, Aria (21 November 2015). "Solidarité". The Cambodia Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-20. สืบค้นเมื่อ 19 June 2019.
- ↑ "Estimated Resident Population by Country of Birth, 30 June 1992 to 2016". stat.data.abs.gov.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-11. สืบค้นเมื่อ April 6, 2017.
- ↑ "Ethnocultural Portrait of Canada". Statistics Canada.[ไม่อยู่ในแหล่งอ้างอิง]
- ↑ "2006 and 2013 Census: Cambodians- Facts and Figures". Te Ara: The Encyclopedia of New Zealand .
- ↑ "Results of Population and Housing Census 2015" (PDF). Lao Statistics Bureau. สืบค้นเมื่อ 1 May 2020.
- ↑ "Ausländeranteil in Deutschland bis 2018". De.statista.com. สืบค้นเมื่อ January 2, 2017.
- ↑ CIA FactBook. เก็บถาวร 2010-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Accessed July 14, 2008.
- ↑ 12.0 12.1 Faith Traditions in Cambodia เก็บถาวร 2006-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; pg. 8; accessed August 21, 2006
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 กรมศิลปากร. (2565). "“เกฺมร” รูปเขียนของคำาว่า “เขมร” ในศิลาจารึกเขมรโบราณสมัยก่อนเมืองพระนคร", แถลงงานคณะกรรมการชำาระประวัติศาสตร์ไทยพุทธศักราช ๒๕๖๔. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. หน้า 134-135. ISBN 978-616-283-618-3
- รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคํา. (2559). เกร็ดประวัติศาสตร์และการเมือง ว่าด้วยปรางค์ขอม ปราสาทเขมร และศิลปะลพบุรี. บรรยายเนื่องในกิจกรรมเสวนาวิชาการ “คนกับโบราณสถาน” จัดโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สํานักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ วันที่ 18 พ.ย. 2559 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพมหานคร. หน้า 4.
- กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567). คำว่า “เขมร” มาจากไหน เมื่อใดจึงเป็นเขมร-ขแมร์ ?. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. 20 มีนาคม 2567. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2567.
- ↑ "ខ្ញុំ", Dictionary of Old Khmer. SEALANG Projects. cited in Phillip Jenner's Dictionary of Pre-Angkorian Khmer and Dictionary of Angkorian Khmer (Pacific Linguistics, 2009).
- ↑ เยาวชนไทยกับขแมร์ ร่วมเมิลขแมร์แลไทย ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2558
- ↑ จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธรฯ
- ↑ "Ethnic groups statistics - countries compared". Nationmaster. สืบค้นเมื่อ 2012-09-02.
- ↑ "Birth Rate". CIA – The World Factbook. Cia.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-23. สืบค้นเมื่อ 15 March 2013.
- ↑ [1] เก็บถาวร พฤษภาคม 9, 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Buriram" (PDF). Web.nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-03-08.
- ↑ "Chanthaburi" (PDF). Nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-04. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
- ↑ "Maha Sarakham" (PDF). Web.nso.go.th. สืบค้นเมื่อ 2017-03-08.
- ↑ "Roi Et" (PDF). Web.nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-04. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
- ↑ "Sakaeo" (PDF). Web.nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-03-08.
- ↑ "Si Sa Ket" (PDF). Web.nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-11-29. สืบค้นเมื่อ 2017-03-08.
- ↑ "Surin" (PDF). Web.nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 15, 2012. สืบค้นเมื่อ 2017-03-08.
- ↑ "Khat" (PDF). Web.nso.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-04. สืบค้นเมื่อ 10 January 2018.
- ↑ "Ubon Ratchathani" (PDF). Web.nso.go.t. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-04. สืบค้นเมื่อ 2017-03-08.
- ↑ D'après l'épigraphie cambodgienne du X° siècle, les rois des "Kambuja" prétendaient descendre d'un ancêtre mythique éponyme, le sage ermite Kambu, et de la nymphe céleste Mera, dont le nom a pu être forgé d'après l'appellation ethnique "khmèr" (George Coedes). [2] เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; See also: Indianised States of Southeast Asia, 1968, p 66, George Coedes.
- ↑ Thailand 1969:151, Blanchard 1958:27
- ↑ ฮัฟฟ์แมน แฟรงคลิน 1970. ระบบการเขียนและการอ่านเบื้องต้นของกัมพูชา เก็บถาวร มีนาคม 1, 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล ISBN 0-300-01314-0