พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพระนามเต็ม กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ หรือพระนามเดิม พ่อขุนบางกลางหาว เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ตามประวัติศาสตร์ไทย ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 1757 หรือ พ.ศ. 1781 ตราบจนเสด็จสวรรคต
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ | |
---|---|
กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ | |
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย | |
พระมหากษัตริย์สุโขทัย[1] | |
ครองราชย์ | |
ก่อนหน้า | พ่อขุนศรีนาวนำถุม[1] |
ถัดไป | พ่อขุนบานเมือง[3] |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 1731 |
สวรรคต | ไม่ปรากฏ[4] หรือ พ.ศ. 1812[2] อาณาจักรสุโขทัย |
อัครมเหสี | นางเสือง |
พระราชบุตร | พ่อขุนบานเมือง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชโอรสอีกพระองค์ และพระราชธิดาอีกสองพระองค์ |
ราชวงศ์ | พระร่วง |
พระราชบิดา | เจ้าเมืองบางยาง ไม่ทราบพระนาม |
ศาสนา | พุทธมหายาน[5] |
พระนาม
แก้- กมรเตงอัญศรีปตินทราทิพย์[6] หรือ กมรเตงอัญศรีอินทราทิตย์[7]
- พระเจ้าศรีจันทราธิบดี (ศรีอินทราทิตย์)[8]
- พระเจ้าศรีอินทราทิตย์[9]
- สมเด็จพระเจ้าอรุณราช[10]
- พระเจ้าศรีธรรมโศกราช (พระนามตามตำนานจุลยุทธการวงศ์)[11]
- บางกลางหาว (เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าเมืองบางยาง)[12]
- พ่อขุนบางกลางหาว
- พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
- พระร่วง
- พระอินทราชา
- อรุณราช (พระนามตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์)
- ไสยรังคราช หรือไสยรังคราชา
- ไสยนรงคราช
- รังคราช หรือสุรังคราช
สำหรับพระนามแรก คือ พ่อขุนบางกลางหาว นั้นเป็นพระนามดั้งเดิมเมื่อครั้งเป็น เจ้าเมืองบางยาง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พ่อขุนบางกลางหาวเป็น พระนามสมัยเป็นเจ้าเมืองบางยาง โดยแท้จริง
พระนามที่สองนั้น เป็นพระนามแบบทางการตามอย่างราชประเพณีขอม เป็นพระนามทรงใช้เมื่อเข้ารับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระนาม "ศรีอินทราทิตย์" มีกล่าวไว้อยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุมว่า "ศรีอินทรปตินทราทิตย" ซึ่งเป็นพระนามเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินขอมแต่โบราณสถาปนาให้แก่พ่อขุนผาเมืององค์รัชทายาทผู้ครองเชลียงสุกโขไทในราชวงศ์ศรีนาวนำถม ต่อมาภายหลังพ่อขุนผาเมืองทรงยกให้แก่พระสหายพ่อขุนบางกลางหาวแทน
พระราชกรณียกิจ
แก้พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง | |
---|---|
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ | |
พ่อขุนบานเมือง | |
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช | |
พระยาเลอไทย | |
พระยางั่วนำถุม | |
พระมหาธรรมราชาที่ 1 | |
พระมหาธรรมราชาที่ 2 | |
พระมหาธรรมราชาที่ 3 | |
พระมหาธรรมราชาที่ 4 | |
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมมือกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม รวมกำลังพลกัน กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองบางขลงได้ และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้ ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาว พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและพระนาม "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์เเละสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ส่งผลให้ราชวงศ์พระร่วงเข้ามามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป แต่เขตแดนเมืองสรลวงสองแคว ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถุมอยู่
ในกลางรัชสมัย ทรงมีสงครามกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ทรงชนช้างกับขุนสามชน แต่ไพร่พลของพระองค์ ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจแจ๋น"(หนี-ยอ-ย่าย-พ่าย-จอ-แจ้น) ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก (รามราช) มีพระปรีชาสามารถ ได้ขับช้างแซงขึ้นไปชนช้างชนะขุนสามชน ภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่ารามคำแหง
ในยุคประวัติศาสตร์ชาตินิยม มีคติหนึ่งที่เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้นำชาวสยามต่อสู้กับอิทธิพลขอมในสุวรรณภูมิ ทรงได้ชัยชนะและประกาศอิสรภาพตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย แต่ภายหลัง คติดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นปฐมกษัตริย์ อีกทั้งยังมีพ่อขุนศรีนาวนำถุม ครองสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว
การสวรรคต
แก้การสวรรคตของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีหลักฐานแตกต่างกัน เช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา และเอกสารเรื่อง คําบรรยายสัมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย พ.ศ. ๒๕๐๓ ของกรมศิลปากร ระบุว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคตเมื่อปีใดนั้นไม่มีหลักฐานใดปรากฎ[4] ในขณะที่ ตำนานเมืองสวรรคโลก ฉบับพระมุนินทรานุวัตต์ (มุนินทร์ สุนฺทโร) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร จังหวัดสุโขทัย ระบุว่า "พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นน้องพระเจ้าฝาง (เหนือเชียงใหม่) เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๕๗ อยู่ในราชสมบัติ ๕๕ ปี สวรรคต พ.ศ. ๑๘๑๒"[2]
ชัย เรืองศิลป์ สันนิษฐานว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัยเมื่อราว พ.ศ. 1800 แต่ไม่ระบุปีที่สวรรคต[11]
พระราชวงศ์
แก้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 5 พระองค์ ได้แก่
- พระราชโอรสองค์ใหญ่ (ไม่ปรากฏพระนาม) สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
- พ่อขุนบานเมือง
- พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ พ่อขุนรามราช (พระนามเดิมชื่อพระราม)
- พระราชธิดา (ไม่ปรากฏพระนาม)
- พระราชธิดา (ไม่ปรากฏพระนาม)
แม้ไม่ทราบแน่นอนว่าพระองค์เสด็จสวรรคตในปีใด แต่ภายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พ่อขุนบานเมือง พระราชโอรสพระองค์รอง ได้สืบราชสมบัติแทน
บรรพบุรุษ
แก้บรรพบุรุษของราชวงศ์พระร่วงของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ก่อนสถาปนาเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรสุโขทัยมีนามว่า ปู่ขุนจิดขุนจอด พบใน ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด หลักที่ 45 ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย[13] ปรากฏคำจารึกว่า:–
(บรรทัด 7): (ผี)สิทธิแล แต่นี้ดำพงศ์ ผีปู่ผาคำ
(บรรทัด 8): (ฝู)งผู้หวาน ปู่ขุนจิด ขุนจอด ปู่พระยาศ
(บรรทัด 9): (รีอินทราทิ)ตย์ ปู่พระยาบาน ปู่พระยารามราช ปู่ไสส
(บรรทัด 10): (ส)งคราม ผู้พระยาเลอไทย ผู้พระยางัวนำถม ปู่
(บรรทัด 11): (พระ)ยามหาธรรมราชา พ่องำเมือง พ่อเลอไทย แ
(บรรทัด 12): (ละไท)ยผู้ดีผีชาวเลืองเท่านั้นแล[14]
— ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด หลักที่ 45 จ.ศ. 754 (พ.ศ. 1935) ด้านที่ 1, (ปริวรรตโดย ฉ่ำ ทองคำวรรณ)
ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดเป็นจารึกที่สร้างขึ้นคู่กับศิลาจารึกหลักที่ 64 (วัดพระธาตุช้างค้ำ) ระหว่างปู่พระยา (เจ้าคำตัน) เจ้าเมืองน่าน กับหลาน (พระมหาธรรมราชาไสยลือไทย) ราชวงศ์สุโขทัย เพื่อกระทำสัตย์สาบาน จารึกดังกล่าวแสดงถึงความสันพันธ์กันทางเครือญาติของเมืองน่านกับกรุงสุโขทัยตามที่ปรากฏใน พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำ[15]
ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าบ้านเดิมของท่านอยู่ที่บ้านโค โดยหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนีสันนิษฐานว่าคือ บ้านโคน ในจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน[16]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้มีนักแสดงผู้รับบท พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้แก่
- บิลลี่ โอแกน จากละครเรื่อง นางเสือง (2535)
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011, p. 19)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 พระมุนินทรานุวัตต์ (มุนินทร์ สุนฺทโร). (2516). ตำนานเมืองสวรรคโลก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงธรรมประทีป. หน้า 28.
- ↑ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011, p. 22)
- ↑ 4.0 4.1 กรมศิลปากร. (2507). คําบรรยายสัมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย พ.ศ. ๒๕๐๓. จัดพิมพ์เนื่องในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 183.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2511). "ประวัติของราชอาณาจักรสุโขทัย," พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. (พิมพ์ครั้งที่ 6). พระนคร: ศิวพร. หน้า 49.
- ↑ บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2404
- ↑ สอาด บุญเกิด. (2521). เครื่องเคลือบดินเผาของไทยสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. หน้า 11.
- ↑ ประเสริฐ ณ นคร. (2549). รวมบทนิพนธ์เสาหลักวิชาการ เรื่อง อักษร ภาษา จารึก วรรณกรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 111. ISBN 974-323-588-4
- ↑ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, เอ คารร์ และอี ไชเดนฟาเดน. (2515). ประมวลพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยาม พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และชาติพันธุวิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ดำรงธรรม. หน้า 5.
- ↑ "ว่าด้วยพงศาวดารตอนไทยตั้งประเทศสยาม," ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑๔ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒-๒๕). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2507. หน้า 87.
- ↑ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี. (2505). ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร. ประมวลเอกสารจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กรมศิลปากร ฯลฯ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในการถวายกฐินพระราชทาน ณ วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๕. พระนคร: ธนะการพิมพ์. หน้า 2.
- ↑ 11.0 11.1 ชัย เรืองศิลป์. (2523). ประวัติศาสตร์สังคมไทยสมัยโบราณ ก่อนศตวรรษที่ 25. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์. หน้า 26–27.
- ↑ สมชาย พุ่มสะอาด. (2532). ถิ่นไทยในแหลมทอง. กรุงเทพฯ: กรุงสยาม. หน้า 200. ISBN 978-974-3-05273-6
- ↑ จารึกคำปู่สบถ สายสัมพันธ์เมืองน่านและสุโขทัย. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน. สืบค้นเมื้อ 26 กันยายน 2567.
- ↑ จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด. (2550, 13 กุมภาพันธ์). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นเมื้อ 26 กันยายน 2567.
- ↑ อริย์ธัช นกงาม. (2561). ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับสุโขทัยและล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - 22 จากหลักฐานทางโบราณคดี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดี). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 4.
- ↑ อนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. p. 89.
บรรณานุกรม
แก้- ประเสริฐ ณ นคร. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. เล่ม 26. หน้า 16861-16864 พ.ศ. 2549
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ISBN 9786167308258.
- ภาสกร วงศ์ตาวัน. เรื่องเล่าครั้งกรุงเก่า ตอน ยึดบ้านครองเมือง สร้างขื่อแปในจารึกสยาม. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, พ.ศ. 2551.
- พระมหากษัตริย์ไทย: พระราชประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เก็บถาวร 2006-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้รัชสมัยก่อนหน้า | พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ | รัชสมัยถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ไม่ทราบ | เจ้าเมืองบางยาง (ไม่ทราบปี - 1781) |
ไม่ทราบ | ||
ขอมสบาดโขลญลำพง ไม่มีราชวงศ์ (พ.ศ. 1724 - 1781) |
พระร่วงเจ้าสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1811) |
พ่อขุนบานเมือง ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1811 - 1822) |