นางเสือง

พระอัครมเหสีสุโขทัย

นางเสือง เป็นพระอัครมเหสีในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และเป็นพระราชมารดาของพระมหากษัตริย์อีกสองพระองค์คือ พ่อขุนบานเมืองและพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีความกังขาเกี่ยวกับตัวตนของพระนางว่ามีจริงหรือเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์[1]

นางเสือง
เทวรูปพระแม่ย่า ตามความเชื่อของชาวสุโขทัยว่าอาจคือนางเสือง แต่ยังเป็นที่ถกเถียง
พระราชสวามีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พระราชบุตรพ่อขุนบานเมือง
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ไม่ปรากฏนามอีก 3 พระองค์
ราชวงศ์พระร่วง (อภิเษกสมรส)

พระราชประวัติ

แก้

นางเสือง มีประวัติค่อนข้างน้อยนัก พระราชสมภพเมื่อใดที่ไหนหรือสวรรคตเมื่อใดไม่ทราบความ ปรากฏพระองค์ครั้งแรกและครั้งเดียวจากเนื้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ความว่า "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก..." แสดงให้เห็นว่าพระนางมีพระราชโอรส-ธิดา 5 พระองค์ เป็นพระราชโอรสสามพระองค์ กับพระราชธิดาอีกสองพระองค์[2][3][4] และปรากฏอีกครั้งว่า "เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู..."[5] แสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้รับการปรนนิบัติพัดวีอย่างดีจากพระราชโอรสคือ พ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง ด้วยพระราชประวัติที่มีน้อยนิด บางแห่งก็สันนิษฐานกันอีกว่า นางเสือง อาจจะเป็นพระภคินีของพ่อขุนผาเมืองก็เป็นได้[6]

พิทูร มลิวัลย์ สันนิษฐานพระนาม "เสือง" นั้น ตรงกับคำลาวหรืออีสานว่า "เสิง" หรือ "เสิงสาง" แปลว่า "รุ่งอรุณ, รุ่งราง, สว่างราง ๆ " พระนามจึงแปลความหมายได้ว่า "นางรุ่ง" หรือ "นางเรือง"[7] สอดคล้องกับพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่มีความว่า "ผู้ทรงไว้ซึ่งความสว่าง"[1] ส่วนมังกร ทองสุขดี สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "เชื่อง" แปลว่า "ช้า, แช่มช้อย, ไม่ดุร้าย, ใจดี"[8]

ส่วนเทวรูปที่พบที่โซกพระแม่ย่านั้น แท้จริงแล้วเป็นเทวรูปพระนารายณ์ เพียงแต่ได้รับการนับถือที่เปลี่ยนไปตามความเชื่อของชาวเมือง[9] บ้างก็ว่าอาจเป็นเทวสตรีมากกว่า เพราะมีสัณฐานและเครื่องประดับอย่างสตรี โดยมีลักษณะเป็นหินชนวนสีเขียว สูง 1.30 เมตร หน้าเป็นรูปไข่แบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย แต่ใบหน้าเหมือนคนแก่ คางมน บนศีรษะสวมกรวยซ้อนกันสี่ชั้นลักษณะเป็นมงกุฎแตกบิ่น มีเครื่องประดับที่ใบหู เปลือยอกเห็นสองเต้า แขนแนบลำตัว นุ่งผ้ากรอมเท้าห้อยชายผ้าซ้อนลงมาสามชั้น สวมกำไลข้อมือ และข้อเท้า สวมรองเท้าปลายงอน[10][11] จากหลักฐานที่พบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เทวรูปดังกล่าวสอดคล้องกับ "พระขพุงผี" ผีประจำเขาหลวงเมืองสุโขทัย ที่ปรากฏอยู่ในจารึกหลักที่ 1 ที่มีภูมิสถานสอดคล้องกัน[12] ซึ่งคำว่า "ขพุง" มาจากคำเขมรว่า ขพุง (ខ្ពង់ ขพง) แปลว่า สันเขา รวมกันจึงมีความหมายว่า ผีแห่งยอดเขา[13] นับถือเป็นเทพรักษาเมืองสุโขทัย และเป็นผู้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล[14] ส่วนที่ชาวเมืองเรียกเทวรูปดังกล่าวว่า พระแม่ย่า นั้น ทองเจือ สืบชมภู สันนิษฐานว่า ชาวบ้านคงเข้าใจว่าเทวรูปนี้คงเป็นนางกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งตามคติชนท้องถิ่น ซึ่งน่าจะเป็นนางเสือง ผู้เป็นพระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหง และเป็นพระปัยยิกา (ย่าทวด) ของพระมหาธรรมราชาที่ 1[15]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

เรื่องราวที่มีอยู่น้อยนิดของพระนาง ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "นางเสือง" ด้วยถือว่าเป็น "พระราชินีไทยที่ปรากฏพระนามเป็นพระองค์แรกในประวัติศาสตร์" ละครเวทีดังกล่าวออกแสดงในปี พ.ศ. 2511, พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2556 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[16][17] บทประพันธ์โดยสมภพ จันทรประภา กำกับการแสดงโดยหม่อมหลวงจุลลา งอนรถ[18] เนื้อเรื่องจะปลุกใจให้มีความรักชาติ[19]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 สุจิตต์ วงษ์เทศ (January 25, 2013). ""นางเสือง" เป็นนิยาย ประวัติศาสตร์การเมือง". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ November 23, 2014.
  2. พ่อขุนรามคำแหง (1292). "ศิลาจารึก". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.
  3. "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.
  4. ธวัช ปุณโณทก. อักษรไทยโบราณ ลายสือไทย และวิวัฒนาการของชนชาติไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 97
  5. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. p. 25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-11-22.
  6. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. p. 19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-09-13. สืบค้นเมื่อ 2017-10-08.
  7. พิทูร มลิวัลย์ (1974). วรรณคดีสุโขทัย (PDF). คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. p. 30-31.
  8. มังกร ทองสุขดี, รศ. ดร. (August 11, 2022). ""นางเสือง" แม่ของคนไทยที่ปรากฏในจารึกประวัติศาสตร์คนแรก แม่ดีเด่นจากศิลาจารึก?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ October 26, 2022.
  9. กนกวรรณ โสภณวิจิตร. ประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554, หน้า 113
  10. โรม บุนนาค (June 22, 2016). ""พระขพุงผี" ผีรักษาเมืองสุโขทัย! เชื่อกันว่าเป็นพระราชชนนีพ่อขุนรามคำแหง!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ October 26, 2022.
  11. นิรมล หาญทองกูล (2019). ทิพยเทวทาสี อัญชลีพระขพุงผีเทพดา (PDF). สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. p. 36.
  12. พชรพงษ์ พุฒซ้อน (September 24, 2018). "พระขยุงผีเทพยดา : "พระแม่ย่า" สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสุโขทัย". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-26. สืบค้นเมื่อ October 26, 2022.
  13. นิรมล หาญทองกูล (2019). ทิพยเทวทาสี อัญชลีพระขพุงผีเทพดา (PDF). สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. p. 31-33.
  14. นิรมล หาญทองกูล (2019). ทิพยเทวทาสี อัญชลีพระขพุงผีเทพดา (PDF). สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. p. 35.
  15. "ศาลพระแม่ย่า". จังหวัดสุโขทัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-06. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.
  16. "อีกครั้งละคร "นางเสือง" "ม.ล.จุลลา งอนรถ" กำกับเวที". ประชาชาติธุรกิจ. January 14, 2013. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.
  17. "จากเชื้อพระวงศ์สู่นางเสือง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.
  18. ""นางเสือง" ละครเวทีอิงประวัติศาสตร์ ฉาก แสง สี เสียง ตระการตา". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.
  19. "ปลุกความรักชาติผ่านนางเสือง". คมชัดลึก. January 21, 2013. สืบค้นเมื่อ November 22, 2014.