ไพรแวง[2] หรือ เปร็ยแวง[2] (เขมร: ព្រៃវែង) เป็นจังหวัดหนึ่งใน 25 แห่งของประเทศกัมพูชา มีเมืองหลักในชื่อเดียวกัน มีพื้นที่ 4,883 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 947,000 คนในปี ค.ศ. 2008 ทำให้เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ

จังหวัดไพรแวง

ខេត្តព្រៃវែង
สะพานเนียกเลิง ข้ามแม่น้ำโขง
แผนที่ประเทศกัมพูชาเน้นจังหวัดไพรแวง
แผนที่ประเทศกัมพูชาเน้นจังหวัดไพรแวง
พิกัด: 11°29′N 105°20′E / 11.483°N 105.333°E / 11.483; 105.333
ประเทศธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา
ยกฐานะเป็นจังหวัด1907
เมืองหลักไพรแวง
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการChea Somethy (พรรคประชาชนกัมพูชา)
พื้นที่
 • ทั้งหมด4,883 ตร.กม. (1,885 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่16
ประชากร
 (2008)[1]
 • ทั้งหมด947,357 คน
 • อันดับ4
 • ความหนาแน่น190 คน/ตร.กม. (500 คน/ตร.ไมล์)
 • อันดับความหนาแน่น6
เขตเวลาUTC+7
รหัสต่อ+855
รหัส ISO 3166KH-14
อำเภอ12 แห่ง
ตำบล116 แห่ง
หมู่บ้าน1,139 แห่ง
บทความนี้มีอักษรในตระกูลอักษรพราหมีปรากฏอยู่ คุณอาจเห็นสัญลักษณ์อื่นแทนตัวอักษร หรือมองเห็นสระวางผิดตำแหน่ง หากคอมพิวเตอร์ของคุณไม่สามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง

จังหวัดไพรแวงตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีการตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่น ชื่อจังหวัดมีความหมายว่า "ป่าซึ่งยาว" หรือ "ป่าซึ่งใหญ่" ทว่าในความเป็นจริงพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ของจังหวัดหายไปตั้งแต่ราว 30 ปีก่อนเนื่องจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม

ประวัติศาสตร์

แก้

ช่วงต้นคริสตกาล พื้นที่จังหวัดเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน โดยตั้งอยู่ระหว่างเมืองหลวงในเชิงการปกครอง (ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดอานซางของประเทศเวียดนาม) กับเมืองหลวงด้านเศรษฐกิจ (นครบอเรย ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดตาแก้ว) ต่อมาเมื่ออาณาจักรเจนละเริ่มมีอำนาจในพื้นที่ ศูนย์กลางอาณาจักรจึงถูกย้ายไปทางตะวันตกไกล ไปยังเกาะเกร (កោះកេរ្ដិ៍) และพระนคร ทำให้แถบไพรแวงถูกลดบทบาทลง

คริสต์ศตวรรษที่ 15 กษัตริย์อาณาจักรเขมรได้ย้ายเมืองหลวงกลับมาทางตะวันออก เนื่องจากตำแหน่งเดิมถูกรุกรานโดยสยาม ตั้งเป็นกรุงอุฎุงค์ (ឧដុង្គ) ละแวก และพนมเปญตามลำดับ ส่วนไพรแวงไม่ได้รับการตั้งเป็นศูนย์กลางเนื่องจากอยู่ใกล้อาณาจักรอันนัมมากเกินไป อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1473 ได้ปรากฏการตั้งค่ายทหารขึ้นในบาภน็อมเพื่อต่อต้านการรุกรานของสยาม

เมื่อครั้งที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเห็นว่าไพรแวงมีศักยภาพต่อการเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการประมง ทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับอาณานิคมโคชินไชนาของฝรั่งเศสอีกด้วย ทำให้ต่อมาเกิดการแผ้วถางป่าครั้งใหญ่เพื่อแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร

ในปี ค.ศ. 1975 ยุคที่เขมรแดงเรืองอำนาจ จังหวัดไพรแวงประสบภาวะทุพภิกขภัยเป็นครั้งแรก จนถึงปี ค.ศ. 1977 ชาวจังหวัดไพรแวงหลายพันคนถูกสังหารและฝังโดยเขมรแดงเป็นจำนวนมาก ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 กองทัพเวียดนามจึงเข้ายึดและปลดปล่อยไพรแวงจากอิทธิพลของเขมรแดงได้สำเร็จ ทำให้ไพรแวงเป็นพื้นที่แรก ๆ ของกัมพูชาที่ได้รับอิสระจากอิทธิพลเขมรแดง

ภูมิศาสตร์

แก้
 
แม่น้ำโขงบริเวณตำบลเนียกเลิง อำเภอเพียมรอ

จังหวัดไพรแวงทีอาณาเขตติดต่อดังนี้ เริ่มจากทิศตะวันตกเรียงตามเข็มนาฬิกา จังหวัดกันดาล จังหวัดกำปงจาม จังหวัดตโบงฆมุม จังหวัดสวายเรียง และประเทศเวียดนาม มีแม่น้ำที่สำคัญของประเทศไหลผ่านสองสายคือ แม่น้ำโขงและแม่น้ำบาสัก

จังหวัดไพรแวงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,883 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของพื้นที่ประเทศกัมพูชา (181,035 ตารางกิโลเมตร) พื้นที่กว่า 3,100 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 63.5 ของพื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ป่าไม้มีเพียง 194.61 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่จังหวัด นอกเหนือจากนี้เป็นพื้นทีที่มีการตั้งถิ่นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่สาธารณะ แหล่งน้ำ และพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

จังหวัดไพรแวงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ 116 ตำบล 1,139 หมู่บ้าน รายชื่ออำเภอมีดังนี้[3]

ในวงเล็บคือรหัสทางภูมิศาสตร์และชื่ออำเภอในภาษาเขมร
  • อำเภอบาภน็อม (1401, បាភ្នំ)
  • อำเภอก็อมจายมาร (1402, កំចាយមារ)
  • อำเภอก็อมพงตระแบก (1403, កំពង់ត្របែក)
  • อำเภอกัญจะเรียจ (1404, កញ្ច្រៀច)
  • อำเภอเมสาง (1405, មេសាង)
  • อำเภอเพียมชรอ (1406, ពាមជរ)
  • อำเภอเพียมรอ (1407, ពាមរ)
  • อำเภอเพียเรือง (1408, ពារាំង)
  • อำเภอพระสเฎจ (1409, ព្រះស្ដេច)
  • อำเภอไพรแวง (1410, ព្រៃវែង)
  • อำเภอโพธิ์เรียง (1411, ពោធិ៍រៀង)
  • อำเภอซีธรกัณฎาล (1412, ស៊ីធរកណ្ដាល)
  • อำเภอสวายอันทร (1413, ស្វាយអន្ទរ)

ประชากร

แก้

จังหวัดไพรแวงมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 947,357 คน คิดเป็นร้อยละ 7.07 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มี 13,388,910 คน[1] ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมและการประมง (825,818 คน คิดเป็นร้อยละ 80.54 และ 140,685 คน คิดเป็นร้อยละ 13.72 ของจำนวนประชากรจังหวัดตามลำดับ) นอกจากนี้ทำอาชีพค้าขายและรับราชการ ความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 194 คนต่อตารางกิโลเมตร

ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นชาวเขมร มีชนกลุ่มน้อยเพียงร้อยละ 1.13 ของจำนวนประชากร ซึ่งได้แก่ ชาวญวน มุสลิมจาม และลาว

เศรษฐกิจ

แก้
 
นาข้าวในจังหวัดไพรแวง

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสะสมของตะกอนเมื่อเกิดน้ำท่วม จังหวัดไพรแวงจึงเป็นภูมิภาคที่เอื้อต่อการทำเกษตรและประมง จนได้รับฉายาว่าเป็น "เข็มขัดใหญ่สีเขียวของกัมพูชา"

จังหวัดไพรแวงมีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุดในประเทศ ผลผลิตจากข้าวจากจังหวัดนี้มากถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตจากพืชทั้งหมดของประเทศ นอกจากข้าวแล้วยังมีพืชชนิดอื่น เช่น ยาสูบ ถั่วเขียว อ้อยทำน้ำตาล ปาล์มทำน้ำตาล มันสำปะหลัง งา ผลไม้ เช่น มะพร้าว มะม่วง และมะม่วงหิมพานต์ ในอดีตเคยมีการปลูกยางพาราและเคยเป็นผลผลิตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด แต่ได้ถูกละทิ้งไปในสมัยสงครามกลางเมืองเมื่อหลายสิบปีก่อน

ถึงแม้ว่าจังหวัดไพรแวงจะเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรม แต่อัตราความยากจนยังคงสูงมากเป็นลำดับต้นของประเทศ โดยประชากรกว่าร้อยละ 53 ของจังหวัดถูกจัดอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน และกว่าร้อยละ 36 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้จังหวัดไพรแวงมีอัตราการย้ายถิ่นออกสูงกว่าย้ายเข้า

อ้างอิง

แก้
  • กระทรวงเกษตร การป่าไม้ และการประมงกัมพูชา
  1. 1.0 1.1 General Population Census of Cambodia 2008 - Provisional population totals, สถาบันสถิติแห่งชาติ กระทรวงการวางแผนประเทศ, 3 กันยายน 2551
  2. 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  3. Map 16. Administrative Areas in Prey Veng Province by District and Commune

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้