กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส

กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส (อังกฤษ: French protectorate of Cambodia; เขมร: ប្រទេសកម្ពុជាក្រោមអាណាព្យាបាលបារាំង; ฝรั่งเศส: Protectorat français du Cambodge) เป็นระยะเวลาช่วงที่กัมพูชาเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสก่อนจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีนที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จนกระทั่งกลายเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพฝรั่งเศส และต่อสู้จนได้รับเอกราชในที่สุด

ราชอาณาจักรกัมพูชา

កម្ពុជា
Cambodge
พ.ศ. 2406–พ.ศ. 2488

พ.ศ. 2488–พ.ศ. 2496
ธงชาติกัมพูชา
ธงชาติ (พ.ศ. 2406–2491)
ตราประจำพระราชอาณาจักรของกัมพูชา
ตราประจำพระราชอาณาจักร
ที่ตั้งของกัมพูชา
สถานะสมบูรณาญาสิทธิราชย์, รัฐในอารักขาของฝรั่งเศส
เมืองหลวงอุดงมีชัย (จนถึง พ.ศ. 2410)
พนมเปญ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2410)
ภาษาทั่วไปภาษาฝรั่งเศส (ทางราชการ)
ภาษาเขมร
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท 70% (ชาวกัมพูชา), ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 30% (ชาวฝรั่งเศส)
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้การบริหารอาณานิคม
(2406–2490)
รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ภายในสหภาพฝรั่งเศส (2490–2496)
พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา 
• พ.ศ. 2403-2447
พระนโรดม (องค์แรก)
• พ.ศ. 2484-2496
นโรดม สีหนุ (องค์สุดท้าย)
ผู้สำเร็จราชการ
ฝ่ายฝรั่งเศส
 
• พ.ศ. 2406-2409
แอร์แน็สต์ ดูดาร์ เดอ ลาเกร
ข้าหลวงใหญ่ 
• พ.ศ. 2496
Jean Risterucci
ยุคประวัติศาสตร์ยุคจักรวรรดินิยมใหม่
• เริ่มเป็นรัฐในอารักขา
พ.ศ. 2406 พ.ศ. 2406
• ผนวกเข้ากับอินโดจีนฝรั่งเศส
พ.ศ. 2436
• ได้รับเอกราชตามอนุสัญญาเจนีวา
พ.ศ. 2496 พ.ศ. 2496
ก่อนหน้า
ถัดไป
ยุคมืดของกัมพูชา
การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น
การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น
ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2497–2513)

การเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาของฝรั่งเศส แก้

 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ณ กรุงอุดงมีชัย เมื่อ พ.ศ. 2406 โดยมีคณะทูตฝรั่งเศสยืนด้านซ้ายและคณะผู้แทนจากสยามยืนด้านขวาเข้าร่วมในพิธี เพื่อยืนยันเรื่องผลประโยชน์ของตนเหนือดินแดนกัมพูชา ขุนนางเขมรกำลังหมอบกราบอยู่ตรงกลาง

การติดต่อระหว่างฝรั่งเศสและกัมพูชาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อคณะทูตของมงติญี กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้เข้ามาทำสนธิสัญญากับไทยแบบเดียวกับสนธิสัญญาเบาว์ริงของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2399 เมื่อเดินทางออกจากไทย มงติญีได้เดินทางต่อไปยังกัมพูชา แต่พระองค์ด้วงกษัตริย์ในกัมพูชาขณะนั้นตอบว่ากัมพูชาเป็นเมืองน้อยไม่อาจทำสัญญาได้ตามลำพัง ต้องปรึกษาสยามก่อน คณะทูตของมงติญีจึงเดินทางต่อไปยังราชสำนักเว้ของเวียดนาม[1]

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะทูตของมงติญีกลับไปไม่นาน พระองค์ด้วงได้ส่งหนังสือไปยังกงสุลฝรั่งเศสของสิงคโปร์เมื่อ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 เพื่อนำไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส เพื่อขอให้ฝรั่งเศสช่วยคุ้มครองกัมพูชาให้พ้นจากอำนาจของสยามและเวียดนาม[2] ต่อมา ใน พ.ศ. 2406 หลังจากที่ฝรั่งเศสดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในการยึดครองดินแดนเวียดนาม พลเรือเอก เดอ ลากรองดิแยร์ ได้เป็นข้าหลวงอินโดจีนฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อให้กัมพูชาเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ในสมัยนั้น กษัตริย์กัมพูชาคือพระนโรดม พระโอรสของพระองค์ด้วง ได้ตกลงใจทำสนธิสัญญาดังกล่าว

การคัดค้านของสยาม แก้

หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 พระนโรดมได้ทำหนังสือกราบทูลรัชกาลที่ 4 ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญา สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชาโดยทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ฝรั่งเศสได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา ในที่สุด ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม พ.ศ. 2410 โดยสยามประกาศสละสิทธิ์การอ้างสิทธิใดๆเหนือกัมพูชา โดยเสียมราฐและพระตะบองยังเป็นของสยาม ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวียดนามรบแพ้ฝรั่งเศส ยอมรับว่าโคชินจีนเป็นของฝรั่งเศส

การปกครองของฝรั่งเศส แก้

การปกครองระยะแรก แก้

การปกครองกัมพูชาในช่วงแรกของฝรั่งเศส (พ.ศ. 2406 - 2427) ฝรั่งเศสไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในกัมพูชามากนัก บทบาทในช่วงนี้ของฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้สถานะของกษัตริย์มั่นคงขึ้น เช่นการปราบกบฏสวาระหว่างพ.ศ. 2408 - 2410 และการปราบกบฏชาวนาที่นำโดยพูกอมโบเมื่อ พ.ศ. 2410 ในช่วงนี้ ฝรั่งเศสควบคุมด้านการทหาร การต่างประเทศ และการคลังเป็นหลัก นอกจากนั้นได้แต่งตั้งให้พระสีสุวัตถ์ที่เคยมีข้อขัดแย้งกับพระนโรดมก่อนขึ้นครองราชย์ให้เป็นอุปราชของกัมพูชา และปี พ.ศ. 2409 ภายใต้คำปรึกษาของฝรั่งเศสของพระบาทสมเด็จพระนโรดมจึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ย้ายราชธานีจากกรุงอุดงมีชัยมาที่กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของประเทศอีกครั้งทำให้กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงนับแต่นั้นเป็นต้นมา สิ้นสุดยุคสมัยอุดงที่ดำเนินมาหลายร้อยปี

หลัง พ.ศ. 2426 ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนนโยบายในการปกครองกัมพูชา เริ่มจาก พ.ศ. 2427 ข้าหลวงทอมสันเสนอให้มีการปฏิรูปในกัมพูชาครั้งใหญ่ ทั้งด้านการเก็บภาษี การตำรวจและการยกเลิกระบบไพร่ทาส แต่พระนโรดมไม่ให้ความร่วมมือ พยายามร้องเรียนไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส จนข้าหลวงทอมสันนำเรือปืนเข้ามาทอดสมอริมพระราชวังและข่มขู่ให้พระนโรดมลงพระนามาภิไธย[3] พระนโรดมจึงทรงลงพระนามาภิไธยเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2427

การต่อต้านฝรั่งเศส พ.ศ. 2427 - 2430 แก้

ผลที่เกิดมาตามจากการบังคับให้ปฏิรูปของฝรั่งเศสคือการเกิดกบฏชาวนาภายในประเทศ องค์พระสีวัตถากลับมาเป็นผู้นำกบฏที่มีฐานที่มั่นทางตะวันออกของกัมพูชา ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกบฏและตั้งข้อสงสัยพระนโรดมอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏครั้งนี้ ผลจากการปราบปรามทำให้ชาวกัมพูชาอพยพเข้าพระตะบองที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกว่า 40,000 คน การกบฏกินระยะเวลากว่าสองปี ยุติลงเมื่อข้าหลวงคนใหม่คือฟิลิปินีเข้าเจรจากับพระนโรดมให้ยุติการกบฏภายใน 1 มกราคม พ.ศ. 2430 โดยฝรั่งเศสจะชะลอการปฏิรูประบบไพร่ทาส พระนโรดมจึงออกประกาศเรียกร้องให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม องค์พระสีวัตถาหนีเข้าไปอยู่ที่แม่น้ำโขงตามแนวชายแดนกัมพูชา - ลาว การกบฏจึงสิ้นสุดลง

การรวมเข้ากับสหภาพอินโดจีนและลิดรอนอำนาจของกษัตริย์ แก้

ฝรั่งเศสจัดตั้งสหภาพอินโดจีนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 โดยให้ขึ้นกับกระทรวงอาณานิคม ข้าหลวงใหญ่ประจำสหภาพอินโดจีนประจำที่ฮานอย ส่วนกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาจึงมีผู้ว่าการสูงสุดเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส

เมื่อพระนโรดมประชวรหนักเมื่อ พ.ศ. 2440 ขณะมีพระชนม์ได้ 61 พรรษา ฝรั่งเศสเตรียมการสถาปนาพระสีสุวัตถ์เป็นกษัตริย์โดยให้พระองค์ยอมมอบอำนาจการบริหารทั้งหมดให้ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อพระนโรดมหายประชวร ไม่ได้สวรรคตอย่างที่คาด ฝรั่งเศสจึงบังคับให้พระองค์ออกพระราชบัญญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เพื่อปฏิรูปการปกครอง ได้แก่การให้สิทธิประชาชนครอบครองทรัพย์สิน และกำหนดให้กฎหมายที่ใช้บังคับได้ต้องมีผู้ว่าการสูงสุดของฝรั่งเศสลงนาม

ในพ.ศ. 2443 พระองค์ยุคนธร โอรสของพระนโรดมเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเปิดเผยความไม่ยุติธรรมของฝรั่งเศสให้สื่อมวลชนทราบและเรียกร้องการปกครองตนเอง ผลคือพระองค์ยุคนธรถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ และต้องลี้ภัยในสยามตลอดชีวิต พระนโรดมสวรรคตเมื่อ 25 เมษายน พ.ศ. 2447 พระสีสุวัตถ์ขึ้นครองราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ และได้ลงนามมอบอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้ฝรั่งเศสจนหมด กัมพูชาจึงกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์

รัชสมัยพระสีสุวัตถ์ แก้

 
ข้าราชการกัมพูชารับอิทธิพลแต่งกายจากฝรั่งเศส หลังการย้ายเมืองหลวงมากรุงพนมเปญ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
 
สตรีราชสำนักกัมพูชารัชสมัยพระสีสุวัตถิ์

สภาพเศรษฐกิจระหว่างการเป็นอาณานิคม แก้

ไม่นานหลังจากฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2406 ฝรั่งเศสสร้างความฝันว่ากัมพูชาจะเป็น"สิงคโปร์แห่งอินโดจีน" แต่สภาพเศรษฐกิจของกัมพูชาก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก ฝรั่งเศสเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสภาพเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านของกัมพูชา ชาวกัมพูชากลายเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากที่สุดในอินโดจีน การปฏิรูปภาษีทำให้ชาวนากัมพูชากว่าหมื่นคนเข้ามายังพนมเปญเพื่องร้องเรียนต่อกษัตริย์ให้ลดภาษีเมื่อ พ.ศ. 2458 - 2459 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ใน พ.ศ. 2468 ชาวกัมพูชาได้ฆ่าเจ้าหน้าที่เก็บภาษีของฝรั่งเศส

ในบางพื้นที่ ได้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครอง ฝรั่งเศสสร้างถนนและทางรถไฟในกัมพูชา มีการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมพนมเปญเข้ากับชายแดนไทยที่พระตะบอง มีการปลูกข้าวโพดและยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดเสียมราฐกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในอินโดจีน กัมพูชาปลูกข้าวโพดและยางได้เพียงพอ แต่หลังจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ทั่วโลกเมื่อ พ.ศ. 2472 เริ่มเกิดสภาวะขาดแคลนในกัมพูชา โดยเฉพาะชาวนาที่รายได้ไม่พอกับหนี้สิน

มีการวางรากฐานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปวัตถุดิบเพื่อใช้ในท้องถิ่นและส่งออก มีการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในกัมพูชาแบบเดียวกับที่เกิดในพม่าและมาเลเซียที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวเวียดนามจำนวนมากเข้ามาเป็นคนงานในสวนยางพารา ชาวประมงและนักธุรกิจ รวมทั้งชาวเขมรต่ำหรือแขมร์กรอมที่มาจากเมืองโจดกและเตย์นิญในโคชินจีน ชาวจีนที่เคยมีบทบาทโดดเด่นในเศรษฐกิจของกัมพูชามาก่อนถูกฝรั่งเศสควบคุมอย่างเข้มงวดกว่า แต่ก็มีเครือข่ายเศรษฐกิจของคนจีนตลอดอินโดจีน

เงินตราที่ใช้ในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส แก้

เมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชา กัมพูชาก็ถูกรวมเข้ากับสหภาพอินโดจีนของฝรั่งเศสซึ่งใช้สกุลเงินเปียส (Piastre) โดยธนบัตรสกุลเงินเปียสสามารถใช้จ่ายชำระหมุนเวียนได้ในเวียดนามและลาวด้วย

การศึกษาในระหว่างการเป็นอาณานิคม แก้

การศึกษาในกัมพูชาช่วงที่เป็นอาณานิคมส่วนใหญ่ยังเป็นการเรียนในวัดแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่เหมาะกับการทำงานในระบบราชการของฝรั่งเศส การที่ฝรั่งเศสนำชาวเวียดนามเข้ามาทำงานในระบบราชการของฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสละเลยที่จะจัดการศึกษาในกัมพูชาดังที่ได้จัดในเวียดนาม[3] การจัดการศึกษาด้วยระบบโรงเรียนแบบตะวันตกมีเฉพาะแต่ในเมืองใหญ่และไม่ทั่วถึง นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวเวียดนามและชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งแรกในกัมพูชาคือลีเซสีสุวัตถิ์ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 แต่มีผู้สำเร็จการศึกษาในช่วงแรกน้อยมาก ใน พ.ศ. 2483 มีผู้สำเร็จการศึกษาราวๆ 4 คน[3] ส่วนผู้ต้องการเรียนระดับอุดมศึกษาต้องไปเรียนที่เวียดนามหรือฝรั่งเศส

สิ่งก่อสร้างสมัยอาณานิคม แก้

การเกิดลัทธิชาตินิยมกัมพูชา แก้

แนวคิดชาตินิยมของกัมพูชาต่างจากในเวียดนามที่นิ่งเงียบจนถึง พ.ศ. 2473 ซึ่งอาจเป็นเพราะยังมีกษัตริย์กัมพูชาครองราชย์อยู่ และการรู้หนังสือขอชาวกัมพูชาในเวลานั้นน้อยกว่าในเวียดนาม แนงคิดชาตินิยมกัมพูชาเกิดขึ้นในกลุ่มของชาวเมืองที่มีการศึกษา หลังจากที่มีการก่อตั้งโรงเรียนบาลีระดับมัธยมเมื่อ พ.ศ. 2457 ทำให้เกิดพระสงฆ์กลุ่มใหม่ซึ่งเป็นหัวก้าวหน้า นิยมการวิพากษ์วิจารณ์[3] การค้นพบนครวัดของฝรั่งเศสและมีการเผยแพร่ให้ชาวกัมพูชารับรู้ผ่านทางวารสารของพุทธศาสนบัณฑิตย์ซึ่งเป็นสมาคมที่ฝรั่งเศสสนับสนุนให้ตั้งขึ้นได้ทำให้ชาวกัมพูชาตื่นตัวถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของตนเอง สิ่งเหล่านี้ต่างล้วนส่งผลให้ลัทธิชาตินิยมของกัมพูชาเป็นรูปเป็นร่างขึ้น นักชาตินิยมในยุคแรก ๆ เป็นชาวขแมร์กรอม (เขมรต่ำ) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เซิง งอกทัญ และแปช เชือน ออกหนังสือพิมพ์ภาษาเขมรฉบับแรกชื่อ “นครวัด” ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของฝรั่งเศส การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความยากลำบากในชนบท อิทธิพลของชาวต่างชาติด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวคิดของเวียดนามที่จะสร้างจักรวรรดินิยมในอินโดจีน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2483 กองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนเข้าสู่เวียดนามและเข้าแทนที่การปกครองของฝรั่งเศส ช่วงกลางปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนเข้าสู่กัมพูชาแต่ยอมให้รัฐบาลวิชีปกครองดังเดิม รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เรียกร้องดินแดนบางส่วนในลาวและกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสจนนำไปสู่กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นเมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในที่สุด ญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยที่ไทยได้จังหวัดพระตะบอง เสียมราฐและบางส่วนของจังหวัดสตึงแตรง ยกเว้นปราสาทนครวัดยังอยู่ในเขตแดนของฝรั่งเศส แต่กรณีพิพาทนี้ ไม่ได้มีผลต่อชาวกัมพูชาที่อยู่ห่างไกลจากกรณีพิพาท

พระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์กษัตริย์กัมพูชาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2484 แม้ว่าพระโอรสของพระองค์คือพระโมนิเชาจะมีสิทธิได้รับราชสมบัติ แต่ฝรั่งเศสกลับเลือกพระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์ทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งวงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาและสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในกัมพูชา แม้ว่านโยบายของญี่ปุ่นจะยอมให้ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชาต่อไป เมื่อพระภิกษุชาวกัมพูชา เฮม เชียวถูกฝ่ายฝรั่งเศสจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 หนังสือพิมพ์นครวัดเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทำให้แปต เชือนถูกจับ และเซิง งอกทัญลี้ภัยไปญี่ปุ่น

ต่อมา ญี่ปุ่นได้สลายการปกครองของฝรั่งเศสในกัมพูชาและสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2488 กัมพูชาได้ประกาศเอกราชภายใต้วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพาของญี่ปุ่น โดยมีพระนโรดม สีหนุเป็นประมุขรัฐ เซิง งอกทัญเดินทางกลับมากัมพูชาในเดือนพฤษภาคมและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ามาในพนมเปญ เซิง งอกทัญถูกจับกุมตัวพร้อมทหารญี่ปุ่นจากนั้น จึงส่งไปกักตัวที่ฝรั่งเศส กลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสจัดตั้งขบวนการเขมรอิสระและตั้งมั่นในบริเวณที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของไทย

การต่อสู้เพื่อความเป็นเอกภาพของเขมร แก้

รัฐบาลฝรั่งเศสอิสระได้ตัดสินใจที่จะรวมอินโดจีนเข้ากับสหภาพฝรั่งเศส ในพนมเปญ พระนโรดม สีหนุพยายามเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อเรียกร้องเอกราชที่สมบูรณ์ ในขณะที่เขมรอิสระและเวียดมิญมองว่าพระองค์อยู่ฝ่ายเดียวกับฝรั่งเศส เขมรอิสระได้ใช้การสู้รบแบบกองโจรตามแนวชายแดน โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มฝ่ายซ้ายทั้งที่นิยมและไม่นิยมเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มเขมรเสรีซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ของเซิง งอกทัญด้วย แต่บทบาทของเซิง งอกทัญลดลงหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ส่วนสมาคมเขมรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดมิญสามารถยึดครองพื้นที่ในกัมพูชาได้ถึงร้อยละ 50 ใน พ.ศ. 2497

ใน พ.ศ. 2489 ฝรั่งเศสยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองในกัมพูชา และให้มีการเลือกตั้งภายในประเทศ พรรคการเมืองหลัก 2 พรรคที่จัดตั้งโดยเชื้อพระวงศ์คือพรรคประชาธิปไตยของพระสีสุวัตถิ์ ยุทธวงศ์ซึ่งเรียกร้องเอกราช ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นครู นักการเมืองที่นิยมศาสนาพุทธ และผู้ที่ได้รับแนวคิดจากหนังสือพิมพ์นครวัดที่ถูกฝรั่งเศสสั่งปิดไปเมื่อ พ.ศ. 2485 อีกพรรคหนึ่งคือพรรคเสรีภาพของพระนโรดม นรินทเดช ซึ่งเป็นตัวแทนของชนบทแบบดั้งเดิม ยังต้องการความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสไปพร้อมกับการปฏิรูปประชาธิปไตย การเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2489 พรรคประชาธิปไตยได้ 50 จาก 67 ที่นั่ง

ในฐานะที่ได้เสียงส่วนใหญ่ในสภา พรรคประชาธิปไตยได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของกัมพูชาซึ่งได้แบบมาจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 อำนาจส่วนใหญ่เป็นของสภา พระมหากษัตริย์เป็นเพียงศูนย์รวมจิตวิญญาณของรัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปไตยได้เสียงส่วนใหญ่อีกครั้ง แต่พระสีสุวัตถิ์ ยุเทวงศ์ผู้ก่อตั้งกลับถึงแก่อนิจกรรมและไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคอย่างชัดเจน ระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2492 มีความเป็นเอกภาพเฉพาะสถานะที่ได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ หัวข้อหลักที่พระมหากษัตริย์ได้ต่อสู้คือเรียกร้องเอกราชให้กัมพูชาเป็นอิสระจากสหภาพฝรั่งเศส ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2492 มีการเจรจาระหว่างพระนโรดม สีหนุกับรัฐบาลฝรั่งเศส ได้มีการเจรจาระหว่างพระนโรดม สีหนุกับรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสผ่อนคลายความเข้มงวดในการปกครองกัมพูชาลง คือการปกครองแบบอาณานิคมอย่างเป็นทางการสิ้นสุดลง กัมพูชาได้บริหารในเขตปกครองตนเอง มีการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติกัมพูชาภายในเขตปกครองตนเองในจังหวัดเสียมราฐและพระตะบองที่ได้คืนมาจากไทย นโยบายการต่างประเทศถูกควบคุมโดยสภาสูงของสหภาพฝรั่งเศส ฝรั่งเศสยังคงควบคุมระบบการศาล การเงิน การขนส่งทางทะเล และฝรั่งเศสยังคงกองทหารไว้ในกัมพูชา การประกาศกฎอัยการศึกนอกเขตปกครองตนเองเป็นอำนาจของฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2493 กัมพูชาได้รับการรับรองจากสหรัฐและประเทศที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ในเอเชียมีเฉพาะไทยกับเกาหลีใต้

พรรคประชาธิปไตยยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งสภาแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2494 พระนโรดม สีหนุได้ขอให้ฝรั่งเศสปล่อยตังเซิง งอกทัญและยอมให้เขาเดินทางกลับประเทศ เซิง งอกทัญกลับมาถึงกัมพูชาเมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2494 ต่อมาเขาได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ Khmer Krok (เขมรตื่นเถิด) ใน พ.ศ. 2495 แต่ถูกระงับการตีพิมพ์ ในที่สุด เซิง งอกทัญได้ออกจากพนมเปญไปต่อสู้กับเขมรอิสระ เขาได้ลี้ภัยจนลน นลประกาศตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรเมื่อ พ.ศ. 2513

การเรียกร้องเอกราช แก้

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 พระนโรดม สีหนุได้ประกาศเข้าควบคุมรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรี ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2496 ได้ประกาศยุบสภาแห่งชาติและประกาศกฎอัยการศึกแม้จะไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน พระองค์เข้าปกครองประเทศโดยตรงเป็นเวลาเกือบสามปี จากเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 โดยตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นแทนสภาแห่งชาติที่ถูกยุบไป

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 พระนโรดม สีหนุเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจาให้กัมพูชาได้รับเอกราชที่สมบูรณ์ และพระองค์กล่าวว่าถ้าไม่ได้รับเอกราชโดยทันที ประชาชนจะหันไปสนับสนุนเซิง งอกทัญและเขมรอิสระ การเจรจามีทีท่าล้มเหลว พระนโรดม สีหนุเดินทางต่อไปยังสหรัฐ แคนาดา และญี่ปุ่นและประกาศว่าจะไม่กลับกัมพูชาจนกว่าจะได้รับเอกราชที่สมบูรณ์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496 สีหนุเดินทางออกจากพนมเปญมายังประเทศไทย แต่ด้วยการต้อนรับที่ไม่อบอุ่น พระองค์จึงเดินทางต่อไปยังเขตปกครองตนเองในเสียมราฐ ซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของลน นล

แม้ว่าการต่อสู้ของพระนโรดม สีหนุอาจทำให้ฝรั่งเศสปลดพระองค์ออกจากการเป็นกษัตริย์และเลือกเชื้อพระวงศ์อื่นขึ้นมาแทนได้ แต่ด้วยสถานการณ์ทางทหารในอินโดจีนที่ตึงเครียด ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ที่จะให้เอกราชที่สมบูรณ์แก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม พระนโรดม สีหนุยืนยันให้ฝรั่งเศสให้อำนาจในการป้องกันประเทศ เอกราชทางการศาลและการเงิน ฝรั่งเศสยอมโอนตำรวจและศาลให้กัมพูชาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และในเดือนตุลาคม กัมพูชาจึงมีอำนาจควบคุมกองทัพอย่างแท้จริง วันที่ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์คือ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ทำให้พระนโรดม สีหนุกลายเป็นวีรบุรุษของชาวกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เอกราชทางการเงินและการจัดการงบประมาณเป็นของกัมพูชาใน พ.ศ. 2497

รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส แก้

 
รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชา
พระมหากษัตริย์ ครองราชย์
รัชกาล พระรูป พระนาม ระหว่าง หมายเหตุ
อารักขาฝรั่งเศส
(พ.ศ. 2406 – 2496)
กัมพูชาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และกลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2406 (เข้าสู่ยุคกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส) (หมายเหตุ: กัมพูชาพ้นจากความเป็นประเทศราชของสยาม ทางฝ่ายสยามถือเป็นการเสียอิทธิพลให้ฝรั่งเศส)
108   พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
(นักองค์ราชาวดี)
พ.ศ. 2403 – 2447
(44 ปี)
พระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง)
109   พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์
(นักองค์สีสุวัตถิ์)
พ.ศ. 2447 – 2470
(23 ปี)
พระราชโอรสในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) พระอนุชาต่างพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (นักองค์ราชาวดี)
110   พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
(นักองค์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์)
พ.ศ. 2470 – 2484
(14 ปี)
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์)
111
(1)
  พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พ.ศ. 2484 – 2498
(14 ปี)
ครองราชย์ครั้งที่ 1 พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์)
ในปี พ.ศ. 2496 กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ จึงมีการสถาปนาพระราชอาณาจักรกัมพูชาโดยใช้ระบอบสังคมราษฎรนิยม พ.ศ. 2496 – 2513 กัมพูชาเข้าสู่ยุคสังคมราษฎรนิยม

อ้างอิง แก้

  1. ธำรงศักดิ์, 2552 หน้า 12 - 24
  2. ธำรงศักดิ์, 2552 หน้า 12 - 24
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ธิบดี บัวคำศรี, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 2555).

บรรณานุกรมและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้