สมเด็จพระวรราชินี (แป้น)

สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตร (พ.ศ. 2356 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2438) พระนามเดิม แป้น เป็นพระเทพีในสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี และเป็นพระวรราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร

สมเด็จพระวรราชินี (แป้น)
พระวรราชมารดา
ประสูติพ.ศ. 2356
สวรรคต27 มิถุนายน พ.ศ. 2438 (81 พรรษา)
อุดงฦๅไชย กัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
คู่อภิเษกสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี
พระราชบุตรพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร
พระองค์เจ้าจงกลนี
พระองค์เจ้าเกสร
ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม (อภิเษกสมรส)
พระบิดาพระยาสุภาธิบดี (โตจ)
ศาสนาพุทธ

พระราชประวัติ

แก้

สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตร ประสูติเมื่อปีกุน สัปตศก[1] มีพระนามเดิมว่า แป้น เป็นธิดาคนหนึ่งของพระยาสุภาธิบดี (โตจ)[2][3] มีพระเชษฐารับราชการในราชสำนักกัมพูชา คนหนึ่งชื่อเหม เป็นมหาดเล็ก[2] อีกคนชื่อเอก เป็นที่ออกญาราชเดชะ[4] พระยาสุภาธิบดีถวายบุตรสาวแก่สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ช่วงสยามทำสงครามกับญวนที่เมืองพนมเปญเมื่อ พ.ศ. 2376[2] เบื้องต้นทรงเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในตำแหน่งพระสนมชั้นแม่นาง[3] ตามเสด็จนักองค์ด้วงเมื่อครั้งประทับอยู่วังเจ้าเขมรในกรุงเทพมหานคร[5] จากการที่พระองค์ตามเสด็จพระสวามีไปกรุงเทพมหานคร ทำให้พระองค์มีความเป็นอยู่อย่างชาวสยาม[6] บางแหล่งข้อมูลระบุว่าครอบครัวของพระองค์เป็นชาวสยาม[7] ต่อมาได้ตามเสด็จไปประทับที่ตำหนักหลวง เมืองมงคลบุรี ช่วง พ.ศ. 2376–2380 (ปัจจุบันคือวัดหลวงสีสุวัตถิ์รัตนาราม จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา)[8]

สมเด็จพระวรราชินีประสูติการพระราชโอรส-ธิดาสามพระองค์ คือ

  1. พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (พ.ศ. 2377–2447) พระนามเดิม นักองค์จรอเลิ้ง หรือราชาวดี[9] ต่อมาเสวยราชสมบัติกรุงกัมพูชาสืบพระราชบิดา[10]
  2. พระองค์เจ้าจงกลนี (พ.ศ. 2382–2445) ต่อมาเป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ พระเชษฐาต่างมารดา[11]
  3. พระองค์เจ้าเกสร (พ.ศ. 2383–2452)

หลังสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงกัมพูชาแล้ว ทรงตั้งพระนามแก่เจ้านายฝ่ายในและบรรดาศักดิ์บาทบริจาริกาในราชสำนักทั้งหมด ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามแก่นักนางแป้น เป็น พระปิโยพระบรมท้าวธิดา ในตำแหน่งพระเทพี คู่กับนักนางเภา ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามว่า พระปิโยพระบรมอัจฉราอับศร[12]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระสวามี ก็สถาปนาพระนามพระวรราชมารดาขึ้นเป็น พระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าวัตถาและพระองค์เจ้าศิริวงษ์ทรงก่อการกบฏช่วง พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเกรงว่าทัพของข้าศึกจะตีอุดงฦๅไชยแตก จึงทรงนำพระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี และบาทบริจาริกาที่เป็นหญิงทั้งหมดลงเรือหนีไปเมืองพระตะบอง เหลือแต่สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า (พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ) กับสมเด็จพระวรราชินี (รศ) และสมเด็จพระราชธิดาอีกสองพระองค์ ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังอุดงฦๅไชยเพื่อเฝ้าพระบรมศพสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[13]

พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารโปรดให้จัดพระราชพิธีอภิเษกพระหิรัญบัตรสมเด็จพระมาตุจฉาและสมเด็จพระมารดาในพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชมารดานั้น เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระวรราชินี กัมพูชาธิบดี ราชมารดา ศิริสุนทร ธรรมจาริยา เมตตาสัตตะละหฤไทย อโนปมัยบุญญการกุศล มงคลรัตนขัติยประสิทธิ พิพิธมไหสุรสมเหศวร สุชาตชาตา มหากระษัตรีอุดมบพิตร สัมฤทธิทีฆายุวัณณะสุขะพละ[14]

สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตรสวรรคตเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2438 สิริพระชนมายุ 81 พรรษา[1] พระอัฐิถูกบรรจุภายในพระเจดีย์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี บนเขาพระราชทรัพย์ อำเภอพญาฦๅ จังหวัดกันดาล เคียงข้างพระสวามี และสมเด็จพระวรราชินี (เภา)[15][16]

พระราชอำนาจ

แก้

พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระราชโอรส มีนโยบายต่อต้านสยามและสนับสนุนฝรั่งเศสอย่างแข็งขัน ผิดกับสมเด็จพระวรราชินี (แป้น) ซึ่งเป็นผู้นำของราชสำนักฝ่ายในของกัมพูชาที่ทรงอิทธิพล ทรงแสดงตัวว่าทรงเป็นแกนนำกลุ่มนิยมสยาม และคอยสนับสนุนกลุ่มกบฏ หนึ่งในนั้นคือพระองค์เจ้าดวงจักร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ที่ประสูติแต่พระแม่นางสุชาติบุปผา ซึ่งบาทบริจาริกานางนี้เป็นนางข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระวรราชินีมาก่อน[17]

หลังสมเด็จพระมไหยิกา ขัติยาวงษ์ศิริเสโฐวโรดม เสวยทิวงคต พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางที่ขึ้นตรงต่อสมเด็จพระมไหยิกาไปขึ้นต่อสมเด็จพระวรราชินี (แป้น) ทั้งหมด[18] ขุนนางที่ขึ้นต่อพระองค์สามคนปกครองสามจังหวัด ได้แก่จังหวัดเปร๊ยเวง อันลงราช และมุขกำปูล[19]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 71
  2. 2.0 2.1 2.2 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 227-228
  3. 3.0 3.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 177
  4. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 330
  5. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 186
  6. อภิญญา ตะวันออก (3 กันยายน 2562). "ฤๅเคยมี "เจ้าคุณพระ" ในราชสำนักเขมร?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. สุภัตรา ภูมิประภาส (17 พฤศจิกายน 2555). "เรื่องจริงไม่อิงนิยายของราชสำนักกัมพูชา (3): บัลลังก์นี้ไม่มีรัชทายาท". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (3 ตุลาคม 2565). "เปิดความเป็นมาของ "มงคลบุรี" เมืองใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 สู่เส้นทางตกเป็นของฝรั่งเศส". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 261
  10. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, หน้า 307
  11. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 294
  12. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 267-268
  13. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 312
  14. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 332-333
  15. เขมรสมัยหลังพระนคร, หน้า 68
  16. ศิลปะเขมร, หน้า 151
  17. ไกรฤกษ์ นานา (12 กรกฎาคม 2563). "สายลับเขมร ช่วงวิกฤติ ร.ศ.112 คือใคร? มีบทบาทอย่างไรท่ามกลางความแตกแยกในราชสำนักเขมร". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 335
  19. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 277
บรรณานุกรม
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560. 360 หน้า. ISBN 978-616-514-575-6
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. 232 หน้า. ISBN 978-974-02-1324-6
  • ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. 224 หน้า. ISBN 978-974-02-1147-1