จังหวัดเสียมราฐ

เสียมราฐ[2][3] หรือ เซียมเรียบ[3] (เขมร: សៀមរាប) เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อยู่ริมฝั่งทะเลสาบเขมร ห่างจากกรุงพนมเปญ 314 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 5 ชั่วโมง

จังหวัดเสียมราฐ

ខេត្តសៀមរាប
สมญา: 
กำแพงพระนคร
แผนที่ประเทศกัมพูชาเน้นจังหวัดเสียมราฐ
แผนที่ประเทศกัมพูชาเน้นจังหวัดเสียมราฐ
พิกัด: 13°21′N 103°51′E / 13.350°N 103.850°E / 13.350; 103.850
ประเทศธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา
เมืองหลักเสียมราฐ
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการปรัก โซพ็วน (CPP)
 • ที่นั่งรัฐสภาในพระราชอาณาจักร
6 / 125
พื้นที่
 • ทั้งหมด10,299 ตร.กม. (3,976 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (พ.ศ. 2551)[1]
 • ทั้งหมด896,309 คน
 • ความหนาแน่น87 คน/ตร.กม. (230 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+07
รหัสโทรศัพท์+855
รหัส ISO 3166KH-17
อำเภอ12
ตำบล100
หมู่บ้าน907

จังหวัดเสียมราฐเป็นที่ตั้งของนครวัดและกลุ่มปราสาทหินหลายแห่ง อาทิ หมู่ปราสาทหินจากอาณาจักรขอม ได้แก่ ปราสาทนครวัด, กลุ่มปราสาทนครธม, (ตาพรหม และบายน, บันทายศรี, บากอง, โลเลย, พนมบาเค็ง, พนมกุเลน และบารายตะวันตก

เมืองหลักของจังหวัดนี้ (เทียบได้กับอำเภอเมืองในจังหวัดของไทย) ก็มีชื่อว่า เมืองเสียมราฐ เช่นกัน โดยเมืองเสียมราฐนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของประเทศกัมพูชา แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมนครวัดประมาณ 1,600,000 คน[4]

ที่มาของชื่อ

แก้

คำว่า เซียมเรียบ ในภาษาเขมรมีความหมายว่า "สยามราบ" คือ "สยาม (แพ้) ราบเรียบ"[5] ส่วน เสียมราฐ ในภาษาไทยนั้น หมายถึง "ดินแดนของสยาม"

บ้างว่า เสียมราบ มาจากสงครามที่เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าพญาจันทราชา) ซึ่งเป็นการศึกระหว่างกัมพูชากับสยามในปี พ.ศ. 2089 ซึ่งปรากฏในพงศาวดารเขมร จ.ศ. 1217 เพียงฉบับเดียวเท่านั้น[5] ความว่า[6]

"...พระองค์ทรงราชย์ ลุศักราช ๑๔๖๒ (จ.ศ. ๙๐๒) ศกชวดนักษัตรได้ ๒๕ ปี พระชันษาได้ ๕๕ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึ่งยกทัพมาถึงพระนครหลวง ในปีชวดนั้น พระองค์ยกทัพไปถึงพระนครหลวงรบชนะพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาหนีไป พระเจ้าจันทร์ราชาจับได้เชลยไทยเป็นอันมากแล้วเสด็จกลับเข้ามาครองราชสมบัติ..."

จึงสันนิษฐานว่าสงครามครั้งนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อ "เสียมราบ" เนื่องจากเป็นการรบครั้งสำคัญครั้งสุดท้ายที่รบใกล้เมืองพระนคร เพราะหลังจากนี้เส้นทางการเดินทัพและสมรภูมิจะเปลี่ยนไปเป็นเส้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ คือ แถบเมืองพระตะบอง, โพธิสัตว์, บริบูรณ์ และละแวก เป็นต้น[5] แต่อย่างไรก็ตามการสงครามครั้งนี้ไม่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด[5]

ใน เขมรแบ่งเป็นสี่ภาค พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายว่าบริเวณเสียมราฐเป็นบริเวณที่เรียกว่า ขอมแปรพักตร์ หรือ เขมรไทย ที่มีชุมชนไทยและเขมรอาศัยอยู่ปะปนกันมาแต่ยุคโบราณ ทรงกล่าวถึงที่มาของชื่อเสียมราฐไว้ว่า "...อย่างเมืองนครเสียมราฐทุกวันเขมรเรียกว่านักกร แต่คำโบราณเขมรเรียกว่าเสียมเงียบบ้าง เสียมเรียบบ้าง ไทยเรียกว่าเสียมราฐ ตามคำเขมรโบราณ ก็คำนั้นแปลว่าเมืองไทยทำปลาแห้ง คือแต่ก่อนเป็นบ้านเมืองไทยทำปลาแห้งขาย..."[7]

บ้างก็ว่าชื่อ "เซียมเรียบ" ตั้งขึ้นใหม่แทน "เสียมราฐ" หลังจากที่ในกรณีพิพาทอินโดจีน พลตรี แปลก พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการกองทัพอีสานและบูรพาในขณะนั้น ได้เคยบุกข้ามชายเดนขับไล่ฝรั่งเศสออกจากดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง พระตะบอง และเสียมราฐ แต่แพ้

ชื่อ "เสียมราฐ" ใน นิราศนครวัด ฉบับเขมร ของออกญาสุตตันตปรีชา (อินทร์) แปลว่า เสียมปราศเกรงหรือสยามไม่เกรงกลัว นิราศนี้แต่งเมื่อคราวเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ นครวัด ความว่า[8]

เหตุดังนั้นจึงได้เรียกว่าเสียมราบ เพราะมีภาพเสียมขลาดพระจอมเจ้า
โบราณราชจารึกตั้งนามเนา ถึงเดี๋ยวนี้สยามเปลี่ยนเรียกเล่าว่าเสียมราษฐ์ ฯ
คำเสียมราษฐ์แปลว่าเสียมปราศเกรง ตั้งสำแดงอิทธิฤทธิ์คิดประมาท
เดินล่วงล้ำรานรุกสีหนาท ไม่เกรงชาติกัมพูชาเวลานั้น ฯ
เพราะเมืองนี้เป็นเมืองขึ้นสยาม เสียมทำตามอำนาจไม่ขลาดนั่น
คำ “ราษฐ์” ศัพท์นี้แปลดังนั้น ถ้าราฎฐ์นั้นจะแปลว่าแดนเมือง ฯ
นิราศนครวัด ฉบับเขมร ของออกญาสุตตันตปรีชา (อินทร์)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอธิบายชื่อเมืองเสียมราฐว่า :-

ชื่อนั้นจะเกี่ยวไปในนิทานเรื่อง พญาโคตรตัมบอง เมืองเสียมราฐ เขมรเขาเขียนเสียมราช อ่านว่า เสียมเรียบ เขาว่าไทยแก้เป็นเสียมราฐ ทีก็จะจริง เมื่อฉันยังหนุ่มก็เห็นในราชการใช้ว่าเสียมราบ เขาจะหมายความว่ากะไร​ไม่ทราบ แต่เราคงคิดว่าเขาหมายว่าไทยแพ้เขาราบที่นั่นจึงเปลี่ยนเสียเป็นเสียมราฐ (คือ สยามรัฐ) ออกจะไม่มีมูล ที่จริงอ่านประวัติหรือพงศาวดารก็ไม่เคยพบว่าไทยแพ้เขมรที่นั่น[9]

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

จังหวัดเสียมราฐแบ่งออกเป็น 12 อำเภอ (ស្រុក) ได้แก่

รหัสเมือง ชื่อเมือง
(ภาษาเขมร)
เขียนด้วยอักษรไทย เขียนด้วยอักษรโรมัน
1701 អង្គរជុំ อังกอร์ชุม, นครชุม (องฺครชุ˚) Angkor Chum
1702 អង្គរធំ อังกอร์ธม, นครธม (องฺครธํ) Angkor Thom
1703 បន្ទាយស្រី บันทายสรี, บันทายศรี (บนฺทายสฺรี) Banteay Srei
1704 ជីក្រែង จีแกรง (ชีแกฺรง) Chi Kraeng
1706 ក្រឡាញ់ กระลัญ (กฺรฬาญ่) Kralanh
1707 ពួក ปวก (พวก) Pouk
1709 ប្រាសាទបាគង ปราสาทบากอง (ปฺราสาทบากง) Prasat Bakong
1710 សៀមរាប เสียมราฐ (เสียมราบ) Siem Reap
1711 សូទ្រនិគម สูทรนิคม (สูทฺรนิคม) Soutr Nikom
1712 ស្រីស្នំ เสร็ยสนำ (สฺรีสฺนํ) Srei Snam
1713 ស្វាយលើ สวายเลอ (สฺวายเลี) Svay Leu
1714 វ៉ារិន วาริน Varin

อ้างอิง

แก้
  1. "General Population Census of Cambodia 2008 - Provisional population totals" (PDF). National Institute of Statistics, Ministry of Planning. 3 September 2008.
  2. ข้อ 6 แห่ง "อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 122"
  3. 3.0 3.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  4. "จังหวัดเสียมเรียบ". indochinaexplorer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-13. สืบค้นเมื่อ 5 May 2014.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ศานติ ภักดีคำ. ดร. (กันยายน 2554). "เขมรรบไทยสมัยอยุธยา:ในหลักฐานประวัติศาสตร์กัมพูชา". ศิลปวัฒนธรรม 32(9) : 113
  6. "พงศาวดารเขมร จ.ศ. 1217". ในประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, หน้า 142
  7. ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557, หน้า 131
  8. ศานติ ภักดีคำ. (2545). "นิราศนครวัด ฉบับเขมร ของออกญาสุตตันตปรีชา (อินท์): เสียมเรียบและวิเคราะห์ชื่อ “เสียมเรียบ” ", นครวัดทัศนะเขมร :รวบรวมบทรจนาเกี่ยวกับประสาทนครวัดโดยกวีและนักปราชญ์เขมรศานติ. (แปลโดย Braḥ Grū Saṅghavijjā). กรุงเทพฯ: มติชน. 285 หน้า. หน้า 159–160. ISBN 978-974-3-22736-3
  9. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ), พระยา. (2506). สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงบันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ประทานพระยาอนุมานราชธน เล่ม 3. พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. หน้า 8.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้