สมัยศรีสันธร
อาณาจักรเขมร มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองศรีสุนทร หรือ ศรีสอช่อ (Srei Sonthor) ตั้งแต่พ.ศ. 2136 ถึง พ.ศ. 2161 เป็นราชธานีในระยะเวลาสั้น เสมือนเป็นช่วงส่งทอดระหว่างความวุ่นวายหลังการเสียกรุงละแวก กับการตั้งหลักปักฐานใหม่ของอาณาจักรเขมรที่กรุงอุดงฦาไชย
เหตุการณ์เสียกรุงละแวก
แก้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกรีฑาทัพบุกเข้าตีเมืองกัมพูชาในพ.ศ. 2136 สมเด็จพระบรมราชาฯพระสัตถาพร้อมพระราชโอรสสองพระองค์ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช และสมเด็จพระบรมราชาฯ เสด็จหนีไปยังเมืองศรีสุนทร และต่อมาในพ.ศ. 2137 สามกษัตริย์ได้พากันเสด็จหนีไปเมืองสเต็งตรึงของล้านช้าง สมเด็จพระสัตถาและสมเด็จพระไชยเชษฐาฯประชวรสวรรคต เหลือเพียงสมเด็จพระบรมราชาฯประทับอยู่ที่เมืองสเต็งตรึง ทางฝ่ายเมืองเขมรก็มีขุนนางระดับสูงรวมทั้งเป็นเชื้อพระวงศ์ห่างๆ พระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดี ครองเมืองเชิงไพร จึงเรียกว่าสมเด็จพระรามฯเชิงไพร ได้ตั้งตนเป็นผู้นำเขมรมีฐานที่มั่นที่เมืองศรีสุนทร ยกทัพเข้าขับไล่ทัพสยามของพระมหามนตรีที่ประจำการอยู่ที่เมืองสระบุรี คอยควบคุมสถานการณ์ในเขมร แต่ก็ถูกสมเด็จพระรามฯเชิงไพรขับออกไปในพ.ศ. 2138 สมเด็จพระรามฯเชิงไพรจีงเป็นเอกกษัตริย์แห่งแดนแคว้นกัมพูชา
บังเอิญฝรั่งสองนายที่สมเด็จพระบรมราชาฯพระสัตถาทรงชุบเลี้ยงไว้เป็นพระโอรสบุญธรรม คือ นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซู ที่ได้หลบหนีกลับประเทศไปคราวเสียกรุงละแวก ได้เดินทางกลับมาหมายจะเฝ้าสมเด็จพระสัตถาฯ ปรากฏว่าพระองค์ประชวรสวรรคตไปเสียแล้ว ฝรั่งสองนายนั้นเสียใจมากและตั้งใจว่าจะทวงราชบัลลังก์มาคืนให้กับสมเด็จพระบรมราชาฯ พระโอรสของพระสัตถาที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูจึงนำทัพสเปน เดินทางมาที่เมืองศรีสุนทรเพื่อเฝ้าสมเด็จพระรามฯเชิงไพร แต่สมเด็จพระรามฯเชิงไพรทรงไม่ไว้วางพระทัยสองฝรั่งจึงวางแผนหมายจะสังหาร แต่ฝรั่งทั้งสองไหวตัวทันและชิงปลงพระชนม์สมเด็จพระรามฯเชิงไพรเสียก่อนในพ.ศ. 2139
ช่วงการปกครองของพระเทวีกษัตริย์
แก้นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูจึงอัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาฯ เสด็จนิวัติกรุงศรีสุนทร ขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้ง สมเด็จพระบรมราชาฯ ทรงปูนบำเน็จนายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูรวมทั้งทหารสเปนเป็นอันมาก แต่บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ เจ้าปกครองท้องถิ่นยังไม่ยอมรับอำนาจของพระองค์[1] จึงต้องทรงไปปราบตามที่ต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2152 พวกแขกจามและแขกมลายูก่อกบฏที่เมืองตปุงขมุม นำโดยแขกจามชื่อโปลัดและแขกมลายูชื่อลักษมณา สมเด็จพระบรมราชาฯทรงนำทัพสเปนเข้าปราบปรามแต่ทรงถูกลอบปลงพระชนม์และทหารสเปนถูกพวกแขกสังหารไปเป็นจำนวนมาก นายบลาสรุยซ์และนายเบลูซูก็หนีกลับประเทศ
เมื่ออาณาจักรเขมรขาดผู้นำ สมเด็จพระเทวีกษัตริย์ พระราชมาตุจฉาของสมเด็จพระสัตถา (พระธิดาในสมเด็จพระบรมราชาที่ 3)[2] ได้ทรงเข้าดูแลจัดการเรื่องราชกิจต่างๆ และให้พระอนุชาต่างพระราชมารดาของสมเด็จพระสัตถา คือ เจ้าพระยาอน ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาฯ ที่ 7 แต่ใน พ.ศ. 2153 สมเด็จพระบรมราชาฯทรงใคร่ปรารถนาจะได้ภรรยาของขุนนางผู้หนึ่งชื่อพระสเถร์[3]มาเป็นพระชายา ทั้งนางภรรยาและตัวพระสเถร์เองไม่ยอม สมเด็จพระบรมราชาฯกริ้วมีรับสั่งให้จับนางภรรยานั้นมาขังไว้ ส่วนพระสเถร์เกรงพระราชอาญาจึงหลบหนีไปแต่ด้วยความโกรธแค้นจึงหวนกลับมาปลงพระชนม์สมเด็จพระบรมราชาฯเสีย
สิ้นกษัตริย์เขมรไปอีกองค์สมเด็จพระเทวีกษัตริย์ทรงให้เจ้าพระยาโญม พระโอรสของสมเด็จพระสัตถาฯกับพระสนม เข้าปกครองแผ่นดินสถาปนาเป็นสมเด็จพระแก้วฟ้า แต่ไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกให้ ปรากฏว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าทรงประพฤติเสเพลไม่สนใจราชกิจ เอาแต่เที่ยวป่าล่าสัตว์ สมเด็จพระเทวีกษัตริย์เกรงว่าอาณาจักรเขมรจะสูญสิ้นเพราะขาดกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชา จึงมีพระราชสาสน์ถึงสมด็จพระนเรศวรฯ เมื่อ พ.ศ. 2154 ขอองค์พระศรีสุพรรณมาธิราช พระอนุชาของสมเด็จพระสัตถาฯ ที่ถูกจับองค์กลับไปกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงละแวกนั้น กลับมาครองราชสมบัติเขมร
สมเด็จพระนเรศวรฯจึงโปรดฯ ให้พระศรีสุริโยพรรณนั่งเรือสำเภาใหญ่กลับมาเมืองเขมร พระศรีสุริโยพรรณขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระบรมราชาฯ ที่ 8 พระเทวีกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน เมื่อสมเด็จพระบรมราชาฯพระศรีสุริโยพรรณขึ้นครองเมืองเขมร ก็ทรงพบว่าเขมรนั้นอยู่ในสภาพที่แตกแยก บรรดาเจ้าหัวเมืองต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระไปเคารพยำเกรงพระราชอำนาจ จึงทรงต้องทำสงครามปราบปรามขุนนางท้องถื่นเหล่านั้นเพื่อรวมอาณาจักรอีกครั้ง โดยมีพระราชสาสน์ถึงสมเด็จพระเอกาทศรถ ขอองค์พระศรีไชยเชษฐา พระโอรสที่ยังอยู่ที่กรุงศรีฯ กลับมาเป็นพระมหาอุปราชเพื่อช่วยพระองค์ในการปราบกบฏ สมเด็จพระบรมราชาฯ พระศรีสุริโยพรรณ ทรงทำสงครามปราบปรามเจ้าเมืองต่างๆตลอดรัชกาล จน พ.ศ. 2161 พระองค์ก็สละราชสมบัติให้พระมหาอุปราช ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชฯ และย้ายราชธานีไปที่กรุงอุดงฦาไชย สมเด็จพระบรมราชาฯ สวรรคตในปีต่อมา พ.ศ. 2162
รายพระนามกษัตริย์เขมรศรีสุนทร
แก้ รายพระนามพระมหากษัตริย์กัมพูชา | ||||
พระมหากษัตริย์ | ครองราชย์ | |||
---|---|---|---|---|
รัชกาล | พระรูป | พระนาม | ระหว่าง | หมายเหตุ |
อาณาจักรเขมรศรีสันธร (พ.ศ. 2140 – 2162) | ||||
สถาปนา ศรีสันธร เป็นเมืองหลวง | ||||
81 | พระบาทรามเชิงไพร (พระรามที่ 1) |
พ.ศ. 2137 – 2139 (2 ปี) |
ย้ายราชธานีมายังกรุงศรีสันธร เข้าสู่ยุคอาณาจักรเขมรศรีสันธร | |
82 | พระรามที่ 2 (พญานูร) |
พ.ศ. 2139 – 2140 (1 ปี) |
||
80 (2) |
พระบรมราชาที่ 5 (พญาตน) |
พ.ศ. 2140 – 2142 (2 ปี) |
ครองราชย์ครั้งที่ 2 | |
83 | พระบรมราชาที่ 6 (พญาอน) |
พ.ศ. 2142 – 2143 (1 ปี) |
||
84 | พระแก้วฟ้าที่ 1 (เจ้าพญาโญม) |
พ.ศ. 2143 – 2145 (2 ปี) |
||
85 | พระบรมราชาที่ 7 (ศรีสุริโยพรรณ, พระศรีสุพรรณมาธิราช) |
พ.ศ. 2145 – 2162 (17 ปี) |
||
86 | พระไชยเชษฐาที่ 2 (พระชัยเจษฎา) |
พ.ศ. 2162 – 2170 (8 ปี) |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พงศาวดารละแวก
- ↑ http://www.royalark.net/Cambodia/camboa2.htm
- ↑ พงศาวดารเขมร