ศาสนาในประเทศกัมพูชา

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศกัมพูชา โดยประมาณ 98% ของประชากรนับถือพุทธเถรวาท รองลงมาคืออิสลาม, คริสต์ และวิญญาณนิยม[1][2]

ศาสนาในประเทศกัมพูชา (2013 World Factbook)[1]

  อื่น ๆ (0.6%)

รายงานจาก The World Factbook ใน ค.ศ. 2013 97.9% ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ, 1.1% เป็นมุสลิม, 0.5% เป็นชาวคริสต์ และอื่น ๆ 0.6%[1]

รายงานจากสำนักวิจัยพิวใน ค.ศ. 2010 96.9% ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ, 2.0% เป็นมุสลิม, 0.4% เป็นชาวคริสต์ และ 0.7% นับถือศาสนาพื้นเมืองและไม่มีศาสนา[3]

ศาสนาพุทธ

แก้
 
แม่ชีในศาสนาพุทธที่บายน ในจังหวัดเสียมราฐ

ศาสนาพุทธเข้ามาสู่กัมพูชาเมื่อราว พุทธศตวรรษที่ 10 โดยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาประจำรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ยกเว้นช่วงที่เขมรแดงครองอำนาจ ในปัจจุบันมีจำนวนเป็น 95% ของประชากรทั้งหมด[4] ประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในกัมพูชายาวนานเกือบสองพันปี ผ่านระยะเวลาของอาณาจักรต่างๆที่สืบทอดมาจากจักรวรรดิเขมร การเข้าสู่กัมพูชาเกิดได้สองเส้นทาง คือรูปแบบดั้งเดิมของศาสนาพุทธที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูเข้าสู่อาณาจักรฟูนันโดยพ่อค้าที่นับถือศาสนาฮินดู ในเวลาต่อมา ศาสนาพุทธได้เข้าสู่กัมพูชาอีกทางหนึ่งในช่วงอาณาจักรพระนคร โดยผ่านทางอาณาจักรมอญคือทวารวดีและหริภุญไชย

ในช่วงพันปีแรกของจักรวรรดิเขมร กัมพูชาปกครองด้วยระบบกษัตริย์แบบฮินดูและมีกษัตริย์ที่เป็นชาวพุทธเป็นบางครั้ง เช่นพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ของฟูนัน และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ศาสนาพุทธรูปแบบต่างๆดำรงอยู่อย่างสันติภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู และประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พระนโรดม สีหนุได้นำเสนอพุทธสังคมนิยม โดยเน้นความเสมอภาค ความเป็นอยู่ที่ดีของคนจน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของเขมรแดงที่ศาสนาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีการทำลายวัด พระพุทธรูป เผาทำลายคัมภีร์ทางศาสนา มีการตีความศาสนาเพื่อรับใช้การปฏิวัติ หลังจากเขมรแดงสิ้นสุดอำนาจใน พ.ศ. 2522 สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชายังควบคุมพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด พระสงฆ์ต้องเข้าอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ยุบรวมธรรมยุติกนิกายกับมหานิกายเข้าด้วยกัน จนถึงสมัยราชอาณาจักรกัมพูชา พุทธศาสนาจึงได้ฟื้นตัวอีกครั้ง[5]

ศาสนาฮินดู

แก้

กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูมากในช่วงเริ่มต้นของอาณาจักรฟูนันโดยมีฐานะเป็นศาสนาประจำรัฐ กัมพูชายังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาฮินดูรวมทั้งนครวัด

ศาสนาอิสลาม

แก้
 
มัสยิดในพนมเปญ

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของชาวจาม (บางครั้งเรียกเขมรมุสลิม) และชนกลุ่มน้อยชาวมลายูในกัมพูชา ใน พ.ศ. 2518 มีมุสลิมในกัมพูชาราว 150,000 - 200,000 ในกัมพูชา ในสมัยเขมรแดง มีมุสลิมจำนวนหนึ่งถูกสังหาร ชาวจามในกัมพูชามีทั้งที่นับถือนิกายสุหนี่และชีอะห์

ชาวจามมีมัสยิดเป็นของตนเอง ใน พ.ศ. 2505 มีมัสยิดประมาณ 100 แห่งในประเทศ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 24 มุสลิมในกัมพูชาได้รวมตัวกันให้เกิดเอกภาพ ภายใต้การควบคุมของผู้นำศาสนา 4 ระดับคือ มับตี ตุกกาลิห์ รายากาลิก และตะวันปาเก สภาในหมู่บ้านของชาวจามประกอบด้วยฮาเก็ม 1 คน และมีกาติบ บิหลั่น และลาบีได้หลายคน ผู้นำศาสนาทั้งสี่ระดับและฮาเก็มจะได้รับการยกเว้นภาษีและได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเฉลิมฉลองระดับชาติ เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช ชุมชนมุสลิมอยู่ภายใต้อยู่ภายใต้การควบคุมของสภาที่มีสมาชิก 5 คน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวมุสลิมอย่างเป็นทางการ และรวมทั้งการติดต่อกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ชุมชนมุสลิมแต่ละแห่ง จะมีฮาเก็มเป็นผู้นำชุมชนและมัสยิด อิหม่ามเป็นผู้นำการละหมาด และบิหลั่นเป็นผู้เรียกผู้ที่มีศรัทธาให้มาทำละหมาดทุกวัน คาบสมุทรจรอยจังวาร์ใกล้กับพนมเปญเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชาวจาม สำนักงานระดับสูงของมุสลิมอยู่ที่นั่น ในแต่ละปี จะมีชาวจามไปเรียนศาสนาที่กลันตัน ในมาเลเซีย บางส่วนไปศึกษาที่เมกกะ ซึ่งมีชาวจามเพียง 7% ที่ได้รับเตอร์บันซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้รู้ทางศาสนาใน พ.ศ. 2499

ศาสนาคริสต์

แก้

มิชชันนารีกลุ่มแรกที่มาสู่กัมพูชา นำโดยกัสปาร์ ดาครูซ สังกัดคริสตจักรโดมินิกันชาวโปรตุเกส ระหว่าง พ.ศ. 2098 – 2099 แต่การเผยแพร่ศาสนาล้มเหลว ในช่วงที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลน้อยมากในกัมพูชา ใน พ.ศ. 2515 คาดว่ามีชาวคริสต์ในกัมพูชาประมาณ20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ก่อนการขับไล่ชาวเวียดนามใน พ.ศ. 2513 – 2514 คาดว่ามีชาวคริสต์ในกัมพูชาถึง 62,000 คน ตามสถิติของเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2496 สมาชิกของนิกายโรมันคาทอลิกในกัมพูชามีประมาณ 120,000 คนในกัมพูชา โดยเป็นชาวเวียดนามในกัมพูชาราว 50,000 คน ชาวคริสต์ที่เหลืออยู่ในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2515 ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2496 มีมิชชันของคริสตจักรอเมริกันยูนิทาเรียนอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดครูพนมเปญ และมีมิชชันแบปทิสต์ทำงานในพระตะบองและเสียมราฐ พันธมิตรมิชชันนารีและคริสเตียนก่อตั้งในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2466 และมีสมาชิกราว 2,000 คนใน พ.ศ. 2505

กิจกรรมของมิชชันนารีอเมริกันนิกายโปรเตสแตนต์เพิ่มขึ้นในกัมพูชา โดยเฉพาะในกลุ่มชาวจามและชนเผ่าต่างๆหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2513 และการก่อตั้งสาธารณรัฐเขมร มีรายงานว่ามีผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ 2,000 คนใน พ.ศ. 2505 และใน พ.ศ. 2525 มีรายงานว่ายังมีหมู่บ้านชาวคริสต์ในกัมพูชา แต่ไม่ได้รายงานเรื่องจำนวน รวมทั้งนิกายของพวกเขา ใน พ.ศ. 2523 มีชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์ลงทะเบียนเป็นผู้อพยพในค่ายผู้อพยพในประเทศไทยมากกว่าจำนวนที่เคยมีรายงานใน พ.ศ. 2513 ใน พ.ศ. 2530 คาดการณ์ว่าเหลือชาวคริสต์ในกัมพูชาไม่กี่พันคน[6] ปัจจุบันมีชาวคริสต์ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในกัมพูชาราว 20,000 คน คิดเป็น0.15% ของประชากรทั้งหมด

ความเชื่อดั้งเดิมของชนเผ่า

แก้

ชนเผ่าในที่สูงหรือชาวเขมรบนมีระบบความเชื่อเป็นของตนเอง มีจำนวนประชากรราวๆ 100,000 คนโดยเป็นการนับถือผีและวิญญาณในธรรมชาติ มีหมอผีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ในกลุ่มของชาวเขมรบนนี้ ความเชื่อของชาวราเดและชาวจรายมีพัฒนาการที่ดี ทั้งในด้านจิตวิญญาณและกฎทางศาสนา

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 The World Factbook
  2. "Religious Composition by Country" (PDF). Global Relidious Landscape 2010. Pew Research Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 10, 2016. สืบค้นเมื่อ 25 August 2019.
  3. "Religious Composition by Country" (PDF). Global Relidious Landscape 2010. Pew Research Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 10, 2016. สืบค้นเมื่อ 25 August 2019.
  4. "CIA World Factbook - Cambodia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-29. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10.
  5. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. พุทธศาสนากับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์ ใน อุษาคเนย์ที่รัก. สุเจน กรรพฤทธิ์ และสิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ, บรรณาธิการ. กทม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2553
  6. Federal Research Division. Russell R. Ross, ed. "Other religions". Cambodia: A Country Study. Research completed December 1987. This article incorporates text from this source, which is in the public domain.