พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1

พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 เอกสารไทยมักเรียก พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (เขมร: សូរ្យវរ្ម័នទី១ สูรฺยวรฺมันที ๑; อักษรโรมัน: Suryavarman I; สวรรคต ค.ศ. 1050) พระนามหลังสวรรคตว่า นิพพานบท (เขมร: និវ្វានបទ นิวฺวานบท) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1006–1050[1]: 134–135 

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร
ครองราชย์ค.ศ. 1006–1050
บรมราชาภิเษกค.ศ. 1010
ก่อนหน้าพระเจ้าชยวีรวรมัน
ถัดไปพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
สวรรคตค.ศ. 1050
พระราชบุตรพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3
พระสมัญญานาม
นิพพานบท
ราชวงศ์ราชวงศ์วรมัน
ศาสนาพุทธแบบมหายาน

พระนาม

แก้

พระนาม "สูรยวรรมัน" แปลว่า ผู้มีพระอาทิตย์เป็นเกราะ หรือผู้มีสุริยเทพคุ้มครอง มาจากคำสันสกฤต สูรฺย แปลว่า พระอาทิตย์ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ คำนี้เพี้ยนมาจาก สูรยวรรม และภายหลังเพี้ยนต่อเป็น สุริโยพรรณ เช่น ในพระนามของพระบรมราชาที่ 7 (พระศรีสุริโยพรรณ) และของนักองค์เอง (พระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ)[2]

พระนามหลังสิ้นพระชนม์ คือ "พระบาทบรมนิพพานบท" (វ្រះបាទបរមនិវ្វានបទ วฺระบาทบรมนิวฺวานบท) พระนาม "นิพพานบท" นี้แปลว่า ผู้ไปถึงแล้วซึ่งนิพพาน แสดงถึงพุทธศรัทธาของพระองค์

พระราชกำเนิด

แก้

พระราชกำเนิดของพระเจ้าสูรยวรรมันได้มีการสันนิษฐานไว้ 2 ทฤษฎี

ทฤษฎีแรกได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งตามพรลิงค์[3]ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่ในแหลมมลายู ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทย น่ามีพื้นเพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ยกทัพไปทั่วภูมิภาคโคราช เมื่อมาถึงเมืองศรีโสภณ (ปัจจุบันคือจังหวัดบันทายมีชัย) ยกทัพมารุกรานทางทิศตะวันตกจาก พ.ศ. 1002 ถึง พ.ศ. 1004 ทรงปราบเมืองหลวงของยโสธรปุระได้ในที่สุด และพระเจ้าชยวีรวรมันถูกขับออกจากเมืองยโสธรปุระเมื่อ พ.ศ. 1006 และทรงขึ้นครองราชย์ในครั้งนั้น

แต่ในปัจจุบันได้มีการสรุปได้ว่า พระเจ้าสูรยวรรมันเป็นพระโอรสในราชวงศ์วรมัน ในกรณีเหล่านี้ คำจำกัดความของ "ผู้แย่งชิงบัลลังก์" และ "ผู้สืบทอดโดยชอบธรรม" เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมุมมองทั่วไป ซึ่งนักวิชาการด้านนครวัด อย่างไมเคิล วิคเคอรี่ (Michael Vickery) ได้วิเคราะห์มาอย่างยาวนานว่าพระองค์เป็นผู้ครองใจชาวเมืองพระนคร พระเจ้าสูรยวรรมันทรงอ้างเป็นผู้สืบทอดโดยชอบธรรมต่อจากพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (สายพระเจ้าชัยวรมันที่ 4) การที่พระเจ้าสูรยวรรมันเป็นพระโอรสของกษัตริย์เชื้อสายมาเลย์ ตามพรลิงค์-อาณาจักรศรีวิชัย จึงดูเหมือนจะขัดแย้งกันกับทฤษฎีแรก ทำให้การขึ้นครองราชบัลลังก์ของพระองค์อาจไม่เป็นที่ชอบธรรม[4] จึงนำไปสู่ทฤษฎีที่สองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือพระองค์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 กับนางมเหนทเทวี มเหสีองค์หนึ่ง[5] ดังนั้นในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 พระเจ้าสูรยวรรมันและผู้สนับสนุนของพระองค์จึงเป็นทายาทที่ถูกต้องโดยธรรมของราชวงศ์วรมันสายอินทรวรมัน (พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1) ส่วนพระเจ้าชยวีรวรมันเป็นตัวแทนของอีกสายสกุลหนึ่งที่สูญหายไปจากบันทึกแล้ว แต่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในพระเจ้าชยวีรวรมันกษัตริย์พระองค์ก่อนของปราสาทกระวาน และตระกูลขุนนางที่ต่อต้านพระเจ้าสุริยวรมันและอ้างเชื้อสายจากพระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 ยังคงเป็นอีกสายเลือดหนึ่งที่ถูกลดระดับลงไปสู่สถานะข้าราชการที่ถูกลดฐานะจากราชวงศ์ลงมาเกือบเทียบเท่าไพร่ เทียบได้กับช่วงที่ราชบัลลังก์เปลี่ยนผ่านในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 3ไปสู่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1

ครองราชย์

แก้

ราว ค.ศ. 1002 พระเจ้าสูรยวรรมันทรงมีชัยเหนือกองทัพของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី១ อุทัยทิตฺยวรฺมันที ๑) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร แล้วทำสงครามยึดเยื้อกับพระเจ้าชยวีรวรมัน (ជយវីរវម៌្ម ชยวีรวรฺมฺม) ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1[6] ใน ค.ศ. 1010 สูรยวรรมันจึงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เขมร

ขณะนั้น อาณาจักรพระนครยึดถือลัทธิเทวราชาและศาสนาฮินดูนิกายไวษณพ (นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่) แต่พระเจ้าสูรยวรรมันทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระองค์ทรงยอมให้ศาสนาพุทธนิกายหีนยานเจริญงอกงามในเมืองเขมร และให้พลเมืองถือศาสนาฮินดูต่อไปได้[1]: 134 

พระเจ้าสูรยวรรมันทรงรวบอำนาจทางการเมืองโดยทรงให้ข้าราชการเขมรราวสี่พันคนมากระทำสัตย์สาบานต่อพระองค์ในพระราชมนเทียรที่นครธม กำแพงนครธมยังเริ่มก่อในรัชกาลนี้ด้วย ครั้นประมาณ ค.ศ. 1012 พระเจ้าสูรยวรรมันทรงสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับราชวงศ์โจฬะแห่งอินเดียใต้[1]: 136  พระองค์ทรงส่งราชรถไปถวายพระเจ้าราชราชโจฬะที่ 1 (Raja Raja Chola I) พระมหากษัตริย์แห่งโจฬะ[7] ซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อให้อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างชนชาติทั้งสอง[8]

ดูเหมือนว่า พระเจ้าสูรยวรรมันทรงขอให้พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 (Rajendra Chola I) พระมหากษัตริย์โจฬะ ช่วยเหลือการสงครามกับตามพรลิงค์[9][10] เมื่อทราบความร่วมมือของเขมรและโจฬะ ตามพรลิงก์ก็ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าสงครามวิชัยตุงควรรมัน (Sangrama Vijayatungavarman) พระมหากษัตริย์แห่งศรีวิชัย บ้าง[9][11] เป็นเหตุให้โจฬะแตกหักกับศรีวิชัยและเปิดสงครามกัน สุดท้ายแล้ว โจฬะมีชัย ศรีวิชัยพ่ายแพ้ยับเยิน[9][12]

พระราชกรณียกิจ

แก้

พระเจ้าสูรยวรรมันน่าจะทรงเป็นผู้ให้เริ่มก่อสร้างเทวสถานพระขรรค์แห่งกำพงสวาย (ព្រះខ័ននៅកំពង់ស្វាយ พฺระขันเนากํพง̍สฺวาย) และขยายเทวสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทบันทายศรี (ប្រាសាទបន្ទាយស្រី บฺราสาทบนฺทายสฺรี), วัดเอกพนม (វត្តឯកភ្នំ วตฺตเอกภฺนํ), และปราสาทพนมชีสูร (ប្រាសាទភ្នំជីសូរ บฺราสาทภฺนํชีสูร)[13]: 95–96 

สิ่งก่อสร้างหลักในรัชกาลนี้ คือ ปราสาทพระวิหาร (ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร) บนเทือกเขาพนมดงรัก (ជួរភ្នំដងរែក ชัวรภฺนํฎงแรก) ตลอดจนปราสาทพิมานอากาศ (ប្រាសាទភិមានអាកាស บฺราสาทภิมานอากาส) และปราสาทตาแก้ว (ប្រាសាទតាកែវ บฺราสาทตาแกว)[1]: 135–136 

รัชกาลนี้ยังได้สร้างบารายตะวันตกเป็นแอ่งเก็บน้ำแห่งที่สองในนครธม ยาว 8 กิโลเมตร กว้าง 2.1 กิโลเมตร[14]: 371  กักน้ำได้ถึง 123 ล้านลิตร[15] เป็นแอ่งเก็บน้ำเขมรโบราณที่ใหญ่ที่สุดแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้

พระเจ้าสูรยวรรมันทรงได้รับสมญาว่า "ธรรมนีติราช" (King of the Just Laws) ครองราชย์อยู่ราว 40 ปี ระยะเวลาส่วนใหญ่ทรงใช้ไปในการป้องกันขอบขัณฑสีมาของพระองค์ พระองค์ยังได้ทรงแผ่พระอำนาจมาถึงละโว้ ตลอดจนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง[1]: 136–137 

การบุกยึดและทำลายเมืองลพบุรี

แก้

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งเมืองพระนครศรียโศธรปุระน่าจะเคยยกทัพมาตีเมืองลพบุรี จากนั้นจึงผนวกลพบุรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาโบราณสมัยพระนคร ปรากฎหลักฐานตามศิลาจารึก Ka.18 หรือ K.1198 ในประเทศกัมพูชา เนื้อความในศิลาจารึกหลักนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตีเมืองลวปุระ หรือลพบุรี แล้วทำลายเมืองจนลพบุรีกลายเป็นป่า[16]

ขยายอำนาจอิทธิพลทางการเมืองเข้ามายังฟากตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี (สฺรุกโลฺว หรือ โลฺวทยปุระ) ดังปรากฏหลักฐานสำคัญที่พบใหม่คือ ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18) ศิลาจารึกนี้มีทั้งที่เป็นภาษาเขมรโบราณ และภาษาสันสกฤต ระบุว่าจารึกขึ้นเมื่อมหาศักราช 924 ตรงกับพุทธศักราช 1545 ในข้อความจารึกในส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤต มีความที่สำคัญตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพมาตีเมืองละโว้ (จารึกเรียกว่า “ลวปุระ”) ว่า

  • กาเลยโทไษรฺ ลวปูรฺ อรณฺยํ ปฺรนษฺฏรูปา หตสรฺวโศภา

(คำแปล): เพราะความเสื่อมแห่งกลียุค เมืองลวปุระ (ลพบุรี) กลายเป็นป่า ปรากฏความพังพินาศไปทั่ว ความงดงามทั้งหมดมลายหายไป เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าทั้งหลายมีเสือโคร่ง เป็นต้น ดูน่ากลัวยิ่งกว่าป่าช้าที่เผาศพ[17]

— ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขสิริ, ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18)

จากหลักฐานในด้านศิลาจารึกต่าง ๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมืองลวปุระ ซึ่งเป็นเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้ถูกกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โจมตีและทำลายเมืองจนเสียหาย

หลังจากนั้นเมืองลวปุระได้ปรากฏชื่อในจารึกว่า “สฺรุกโลฺว” หรือ “เมืองละโว้” โดยได้กลายเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 1545

การสร้างปราสาทหินในรัชกาล

แก้

สวรรคต

แก้

พระเจ้าสูรยวรรมันวายสวรรคตใน ค.ศ. 1050 และได้รับเฉลิมพระนามว่า "นิพพานบท"

เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว พระโอรส คือ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី២ อุทัยทิตฺยวรฺมันที ๒) สืบราชสมบัติต่อจนถึงประมาณ ค.ศ. 1066 พระโอรสอีกองค์ คือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 (ហស៌វរ្ម័នទី៣ หรฺสวรฺมันที ๓) จึงเสวยราชย์ต่อจนถึง ค.ศ. 1080

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  2. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2549. p. 71. ISBN 9749528476.
  3. Quaritch, H. G. (1965). Angkor and Rome: A Historical Comparison. Wales. London: Bernard Quaritch, Ltd.
  4. Michael Vickery. "The Reign of Suryavarman I and Royal Factionalism at Angkor". Journal of Southeast Asian Studies , Vol. 16, No. 2, pp. 226-244 (Cambridge University Press on behalf of Department of History, National University of Singapore). สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.
  5. Michael Vickery. "The Reign of Suryavarman I and Royal Factionalism at Angkor". Journal of Southeast Asian Studies , Vol. 16, No. 2, pp. 226-244 (Cambridge University Press on behalf of Department of History, National University of Singapore). สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.
  6. "Suryavarman I". Encyclopædia Britannica. 2014. สืบค้นเมื่อ February 24, 2014.
  7. Indian History by Reddy: p.64
  8. Economic Development, Integration, and Morality in Asia and the Americas by Donald C. Wood p.176
  9. 9.0 9.1 9.2 Kenneth R. Hall (October 1975), "Khmer Commercial Development and Foreign Contacts under Sūryavarman I", Journal of the Economic and Social History of the Orient 18 (3), pp. 318-336, Brill Publishers
  10. Society and culture: the Asian heritage : Juan R. Francisco, Ph.D. University of the Philippines Asian Center p.106
  11. R. C. Majumdar (1961), "The Overseas Expeditions of King Rājendra Cola", Artibus Asiae 24 (3/4), pp. 338-342, Artibus Asiae Publishers
  12. R. C. Majumdar (1961), "The Overseas Expeditions of King Rājendra Cola", Artibus Asiae 24 (3/4), pp. 338-342, Artibus Asiae Publishers
  13. Higham, C., 2001, The Civilization of Angkor, London: Weidenfeld & Nicolson, ISBN 9781842125847
  14. Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
  15. Freeman, Michael; Jacques, Claude (2006). Ancient Angkor. River Books. p. 188. ISBN 974-8225-27-5.
  16. "เมื่อ ลวปุระ-ลพบุรี ถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพบุกทำลายจนมีสภาพเป็นป่า". ศิลปวัฒนธรรม. 2023-10-02.
  17. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขสิริ. "ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18)"
ก่อนหน้า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ถัดไป
พระเจ้าชยวีรวรมัม    
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร
(ค.ศ. 1006–1050)
  พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2