อัปสร (สันสกฤต: अप्सराः อปฺสราะ, พหูพจน์ अप्सरसः อปฺสรสะ; บาลี: อจฺฉรา) ถือเป็นนางฟ้าจำพวกหนึ่ง แต่ไม่ใช่เทวี บังเกิดขึ้นเมื่อครั้งกวนเกษียรสมุทร เพื่อเอาน้ำอมฤตขึ้นมา ดังความปรากฏในมหากาพย์มหาภารตะของประเทศอินเดีย

ระบำนางอัปสรในปัจจุบัน ในรูปแบบเดียวกันกับภาพสลักปราสาทขอมโบราณ

คำว่า "อัปสร" นั้น มาจากคำว่า "อัป" (หมายถึง น้ำ) และ "สร" (หมายถึง การเคลื่อนไป) อัปสร จึงหมายถึง ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ อันเป็นกำเนิดของนาง ทว่าโดยทั่วไป ถือว่านางเป็นชาวสวรรค์

ในเรื่องเล่าของอินเดียมีการกล่าวถึงนางอัปสรไว้มากมาย นับว่าเป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในเทพปกรณัมของอินเดีย ไม่น้อยไปกว่าเทพเจ้าและชาวสวรรค์อื่นๆ

ตามเทพปกรณัมฮินดู กล่าวว่าพระพรหมทรงสร้างนางอัปสรขึ้น และเป็นนางบำเรออยู่ในราชสำนักของพระอินทร์ ในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ ได้กล่าวถึงนางอัปสรที่สำคัญไว้หลายตนด้วยกัน เช่น มัญชุเกศี, สุเกศี, มิสรเกศี, สุโลจนะ, เสาทมิณี, เทวทัตตะ, เทวเสนะ, มโนรม, สุทาติ, สุนทรี, วิคัคธะ, วิวิธ, พุธ, สุมล, สันตติ, สุนันทา, สุมุขี, มาคธี, อรชุนี, สรลา, เกระลา, ธฤติ, นันทา, สุปุษกลา, สุปุษปมาลา และ กาลภา

นางอัปสรมีอำนาจแปลงกายได้ ทั้งยังมีความสามารถในการขับร้องและเต้นรำเป็นอย่างยิ่ง ในราชสำนักของพระอินทร์มีนางอัปสรอยู่ 26 ตน แต่ละตนมีความสามารถในเชิงศิลปะต่างๆ กัน เทียบได้กับตำนานมิวส์ของเทพปกรณัมกรีก

นอกจากนี้ยังมีตำนานกล่าวต่อไปว่า นางอัปสรนั้นเป็นชายาของคนธรรพ์ ซึ่งเป็นนักดนตรีในสวรรค์ โดยนางจะเต้นรำไปตามจังหวะดนตรีที่สามีของตนบรรเลง โดยทั่วไปมีความเชื่อว่านางอัปสรเป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญงอกงาม แต่บางถิ่นก็เชื่อว่าอัปสรมีอำนาจแห่งความชั่วร้ายอยู่ด้วย

ในปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา มีการสลักภาพนางอัปสรไว้มากมาย โดยที่แต่ละรูปมีใบหน้า ท่าทาง และการแต่งกายที่แตกต่างกันไป

ศิลปะวัฒนธรรม แก้

ในประเทศไทย แก้

อัปสร หรือเทพอัปสร (วรรณคดีไทยเขียนว่า อับสร) ในดินแดนของประเทศไทยถูกเผยแผ่เข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบเนื่องจากอิทธิพลของไตรภูมิในศาสนาพุทธ[1]: 50  ที่มาของคำว่าอัปสรในภาษาไทยได้รับมาจากคำว่า អប្សរា (Âbsâréa) ในภาษาเขมร (ขอมโบราณ)[2]: 49  ซึ่งขอมรับมาจากคำว่า अप्सरा (IAST: Apsarā) จากอินเดียอีกทอดหนึ่ง อัปสรตามคติความเชื่อของไทย หมายถึง หญิงสาวที่มีความงดงาม และมีเสน่ห์[3]: 755  แตกต่างจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และศาสนาฮินดู ซึ่งอัปสรหมายถึง นางเทพธิดาซึ่งเป็นบาทบริจาริกาหรือผู้รับใช้เทพเจ้าแห่งศาสนสถาน[2]: 49  ตามที่ปรากฏในวรรณคดีสันสกฤตว่าเป็นของวิเศษที่เกิดนับล้าน ๆ ตนจากเกษียรสมุทรเมื่อครั้งมีการกวนน้ำทิพย์ (น้ำอมฤต) ในนารายณ์อวตารปางที่ ๒ (กูรมาวตาร)[3]: 755  ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแปลความหมายคำว่า นางอัปสร ว่า หมายถึง ผู้กระดิกในน้ำ[4]: 95  ซึ่งมาจากพิธีกรรมของการกวนเกษียรสมุทรของเทวดาและยักษ์ เป็นการให้น้ำอมฤตเพื่อหล่อเลี้ยงโลกให้เกิดความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์แล้วนางอัปสรได้มาเกิดมีชีวิตมากมายและเป็นอมตะ

ศิลปะด้านจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัปสรในดินแดนของประเทศไทย มีการค้นพบลายปูนปั้นประดับเป็นรูปนางอัปสรในท่าร่ายรําเป็นศิลปะลพบุรีแบบขอม พบที่ปราสาทหินพิมายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ราวพุทธศตวรรษที่ 16–18 กำหนดอายุปราสาทหินพิมายโดยนายปามังติเอร์ (Parmentier)[5]: 59  ผู้เชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมโบราณชาวฝรั่งเศส และยังพบที่ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 17 รวมทั้งปราสาทอื่น ๆ ในยุคใกล้เคียงกัน ส่วนนางอัปสรในวรรณกรรมไทยที่เก่าที่สุดพบในวรรณกรรมเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์ ของศรีปราชญ์ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] ซึ่งมาจากเรื่อง อุณรุท สำนวนกวีเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง[7]: 57 

คำประพันธ์อนิรุทธคำฉันท์ (สำนวนกรุงรัตนโกสินทร์) บางส่วน

๏ แสนสาวอับสรโสภา บมิจงจินดา
จรคล้ายจรเคลิ้มเกลียดกลาย
๏ ตั้งใจจงแต่ดวงสาย สวาทร่วมดั่งตาย
บคิดคำนึงแกลนกลัว
อนิรุทธคำฉันท์[6]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. เบญจมาศ พลอินทร์. (2525). "ไตรภูมิพระร่วง", แง่คิดจากวรรณคดีและวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 105 หน้า. ISBN 978-974-2-75690-1
  2. 2.0 2.1 ธีรภาพ โลหิตกุล. (2546). ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัด นครธม. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : แพรว. 372 หน้า. ISBN 978-974-7-52168-9
  3. 3.0 3.1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2549). พจนานุกรมศพท์วรรณคดีไทยสมัยอยุธยา: มหาชาติคําหลวง. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 790 หน้า. ISBN 978-974-9-58861-1
  4. สมฤทธี บัวระมวล. (2549). ตํานานสถาปัตย์แห่งนครวัด-นครธม. กรุงเทพฯ: คุ้มคำ. 208 หน้า. ISBN 978-974-7-51162-8
  5. ธิดา สาระยา. (2535). "อายุของปราสาทหินพิมาย", เมืองพิมาย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 90 หน้า. ISBN 978-974-7-36687-7
  6. 6.0 6.1 กรมศิลปากร. (2503). อนิรุทธคำฉันท์ พร้อมด้วยบันทึกสอบทานและหมายเหตุ. กรมศิลปากร จัดพิมพ์เนื่องในการจัดให้มีงาน สัปดาห์แห่งวรรณคดี ประจำปี ๒๕๐๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 136 หน้า.
  7. ขนิษฐา ตันติพิมล. (2538). ศึกษาวรรณคดีไทยสมัยกรุงสุโขทัย-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามลักษณะคําประพันธ์. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 163 หน้า. ISBN 978-974-2-77243-7
  • Marchal, Sappho. Khmer Costumes and Ornaments of the Devatas of Angkor Wat. First English edition. Orchid Press, 2005. ISBN 978-974-524-057-5

แหล่งข้อมูลอื่น แก้