ราชวงศ์วรมัน
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ราชวงศ์วรมัน (เขมร: រាជវង្សវរ្ម័ន; เรียจฺจะวงฺซา วอรามัน อักษรโรมัน: Varman Dynasty ) เป็นราชวงศ์ในราชอาณาจักรกัมพูชา(ព្រះរាជាណាចក្រកម្ពុជា) สถาปนาโดย พระเจ้าเกาฑิณยะวรมันเทวะ หรือ สวายัมภูวะ (កម្វុស្វយម្ភុវ) [1] พราหมณ์ที่เดินทางมาจากแคว้นกลิงคะในอินเดีย ทรงได้อภิเษกกับ พระนางโสมา (សោមា) ผู้ครองอาณาจักรชนเผ่าพื้นเมืองและสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรพนมหรือฟูนัน ก่อกำเนิดราชวงศ์วรมันโดยปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตกล่าวถึง พราหมณ์เกาฑิณยะผู้ได้รับหอกวิเศษจากพราหมณ์ อัศวัตถามา บุตร โทรณาจารย์ ได้เดินทางมาถึงอาณาจักรของชาวเผ่า นาค และได้ทำสงครามกันสุดท้ายได้เจรจาด้วยสันติโดยการอภิเษกสมรส พราหมณ์เกาฑิณยะจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าเกาฑิณยะวรมันเทวะ (កៅណ្ឌិន្យទី១) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์วรมัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 1[2][3] ยุค ราชอาณาจักรกัมพูชา ราชวงศ์วรมันแบ่งออกเป็นสองสายราชสกุลที่มีสิทธิ์ตามกฏมณเฑียรบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในการสืบพระราชสันตติวงศ์ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์กัมพูชา[4] คือ ราชสกุลนโรดม (រាជត្រកូលនរោត្តម) และราชสกุลสีสุวัตถิ์ (រាជត្រកូលស៊ីសុវត្ថិ) ตามมติ กรมปรึกษาราชบัลลังก์
ขอม: រាជវង្សវរ្ម័ន | |
ตราประจำพระราชวงศ์แห่งกัมพูชา เริ่มใช้ปี ค.ศ. 1953 | |
พระราชอิสริยยศ | พระมหากษัตริย์กัมพูชา |
---|---|
ปกครอง | ราชอาณาจักรกัมพูชา |
สาขา | |
จำนวนพระมหากษัตริย์ | 112 พระองค์ |
ประมุขพระองค์แรก | พระเจ้าเกาฑิณยะวรมันเทวะ |
ผู้นำสกุลองค์ปัจจุบัน | พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี |
ประมุขพระองค์สุดท้าย |
|
ช่วงระยะเวลา |
|
สถาปนา | คริสต์ศตวรรษที่ 1 |
สิ้นสุด |
|
เชื้อชาติ | เขมร,อินเดีย,ไทย,เวียดนาม[ต้องการอ้างอิง] |
พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาและบันทึกเกี่ยวกับราชวงศ์วรมันมีการรวบรวมจากศิลาจารึกต่างๆและจากบันทึกของราชทูตจีนที่เข้ามายัง อาณาจักรฟูนัน และอาณาจักร พระนครหลวง ได้บันทึกเรื่องราวที่ได้พบเห็นบ้านเมืองในยุคนั้นได้แก่ เอกสารมหาบุรุษขอม และพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับ รบากษัตริย์ โดยพระราชพงศาวดารดังกล่าวแบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นตำนานที่ได้มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเริ่มจากรัชกาลของพระทอง-นางนาค จนถึงรัชกาลของพระบาทนิพพานบท ภาคสองเป็นพระราชพงศาวดารเริ่มตั้งแต่รัชกาลของ พระบรมนิพพานบท ถึง รัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร[5]
• ราชทูตคังไถ่ และ อุปทูตจูยิง ราชทูตจากอาณาจักรอู๋ เดินทางไปเยือนราชสำนักฟูนันในปี พ.ศ. 788 ราชทูตคังไถ่ได้เขียนบันทึกเรื่อง "ประวัติของชาวต่างชาติในรัชสมัยอู๋" ส่วนอุปทูตจูยิง เขียนบันทึกเรื่อง “บันทึกเรื่องทรัพยากรอันมีค่าของฟูนันก๊ก” บันทึกที่ราชทูตจีนจดบันทึกนี้ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของอาณาจักรฟูนันและผู้ปกครองอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นพระนามกษัตริย์ เรื่องราวในราชสำนักและวิถีชีวิตผู้คนถือได้ว่าเป็นบันทึกชาวต่างชาติที่เก่าแก่ที่สุดที่เข้ามาในอาณาจักรฟูนัน จากข้อความที่ “ราชทูตคังไถ่” จดบันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งไปเยือนราชสำนักฟูนัน ทำให้ทราบเรื่องราวย้อนหลังขึ้นไปถึงสมัยเริ่มต้นก่อตั้ง “อาณาจักรฟูนัน” ว่าแต่เดิมฟูนันเป็นแต่เพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตามบันทึกระบุว่า "อาณาจักรมีผู้หญิงเป็นผู้ปกครองมีนามว่า “พระนางหลิวเย่” ต่อมามีพราหมณ์ชาวอินเดียมีนามว่า “หวั่นถิ่น” นอนหลับฝันไปนิมิตฝันว่าเทพเจ้าได้ประทานธนูวิเศษให้และมีบัญชาให้ลงเรือเดินทางไปยังดินแดนฟูนันครั้นตื่นขึ้นจากความฝันได้ไปที่เทวสถานของเทพเจ้าได้พบธนูวิเศษสมจริงจึงลงเรือมายังฟูนัน เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณชายแดนฟูนัน ก็ถูกกองทัพเรือของพระนางหลิวเย่ออกมารบพุ่งขัดขวาง “หวั่นถิ่น” จึงได้ยิงด้วยธนูวิเศษถูกเรือของพระนางทะลุกาบเรือทั้งสองข้างพระนางเกิดความตกใจกลัวขอยอมแพ้ ภายหลังหวั่นถิ่นได้อภิเษกสมรกับพระนางหลิวเย่แล้วสถาปนาราชวงศ์วรมันขึ้นปกครองอาณาจักรฟูนัน[6]
• ราชทูตโจว ต้ากวาน ราชทูตชาวจีนในรัชสมัย จักรพรรดิเหวียนเฉิงจง แห่งราชวงศ์เหวียนได้เดินทางไปเมืองพระนครในปี ค.ศ. 1296 ได้บันทึกขนบประเพณีกับสถานที่ต่างๆ รวมถึงพระราชวงศ์และประเพณีในราชสำนัก ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 (ឥន្ទ្រវរ្ម័នទី៣) โจว ต้ากวาน มิใช่ชาวจีนคนแรกที่เข้าไปในอาณาจักรนี้แต่ได้บันทึกชีวิตผู้คนในเมืองพระนครเอาไว้โดยละเอียดที่สุด ซึ่งรู้จักในชื่อเจินล่าเฟิงถูจี้ (บันทึกขนบประเพณีเจนละ) บันทึกนี้ถือเป็นบันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเมืองพระนครและจักรวรรดิขอม นอกเหนือไปจากศิลาจารึกและเอกสารอื่น ๆ ที่พรรณนาชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยในเมืองพระนคร จากบันทึกนี้ทำให้ทราบถึงลำดับกษัตริย์ในราชวงศ์วรมันโดยละเอียด ซึ่งกลายเป็นต้นฉบับของราชพงศาวดารกัมพูชาในเวลาต่อมา[7][8]
ฐานันดรศักดิ์ในราชวงศ์
แก้ธรรมเนียมยศและลำดับฐานันดรศักดิ์ของราชวงศ์วรมันแห่งกัมพูชา[9][10] มีทั้งสิ้น 7 ชั้นยศได้แก่
1.พระบาทสมเด็จ (ព្រះបាទសម្តេច)
2.สมเด็จ (សម្ដេច)
3.เสด็จ (ស្ដេច)
4.พระองค์เจ้า (ព្រះអង្គម្ចាស់)
5.นักองค์เจ้า (អ្នកអង្គម្ចាស់)
6.นักองค์ราชวงศ์ (អ្នកអង្គរាជវង្ស)
7.พระวงศ์ (ព្រះវង្ស)
และจากนั้นไปถือเป็นสามัญชน ซึ่งการสถาปนาพระเกียรติยศหรือลดพระเกียรติยศนั้นขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
1.พระบาทสมเด็จ (ព្រះបាទសម្តេច) ออกเสียงเปรี๊ยะบาทซอมเด็จ เป็นชั้นยศสูงสุดในบรรดาฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ที่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเรียกพระนามลำลองว่า พระกรุณา
2.สมเด็จ หรือซ็อมดัจ (เขมร:សម្ដេច) เป็นฐานันดรศักดิ์ชั้นสูงในสมาชิกราชวงศ์รองจากองค์พระมหากษัตริย์โดยเป็นชั้นยศที่ต้องมีการสถาปนาพระเกียรติยศตามพระบรมราชโองการเท่านั้น สำหรับพระอัครมเหสี (Her Majesty The Queen) พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศ์ชั้นสูง อาจมิใด้รับพระราชทานแต่แรกประสูติ โดยในอดีตมีการกำหนดพระอิสริยยศสำหรับพระราชโอรส พระธิดาโดยเฉพาะ เช่นสมเด็จพระราชบุตร สมเด็จพระราชบุตรี แต่ในปัจจุบันสามารถสถาปนาพระยศจากชั้นยศที่ต่ำกว่าขึ้นเป็นชั้นสมเด็จใด้โดยขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
3.เสด็จ หรือ ซดัจ (เขมร: ស្ដេច) เป็นชั้นรองลงมาจากชั้นสมเด็จ ต้องมีการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศตามพระบรมราชโองการ เป็นชั้นยศสำหรับพระราชโอรส-พระราชธิดา และพระบรมวงศ์ชั้นสูง
4.พระองค์เจ้า หรือพระองค์มจะ (ออกเสียง เปรี๊ยะอ็องมจะ , เปรี๊ยะอ็องมจะกษัตรีย์ (เขมร: ព្រះអង្គម្ចាស់) เป็นชั้นฐานันดรศักดิ์ที่พระราชโอรส-ธิดา และสมาชิกพระราชวงศ์ สามารถได้รับการเลื่อนชั้นฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นเสด็จ หรือชั้นสมเด็จได้ตามพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ และเป็นพระยศสำหรับพระโอรส-พระธิดาของเจ้านายชั้นสมเด็จ และชั้นเสด็จ หรือเมื่อได้รับพระบรมราชโองการสถาปนา
5.นักองค์เจ้า หรือนักองค์มจะ ออกเสียง เนี๊ยะอ็องมจะ ,เนี๊ยะอ็องมจะกษัตรีย์ (เขมร: អ្នកអង្គម្ចាស់ ) เทียบกับชั้นยศในราชวงศ์ไทยคือหม่อมเจ้า เป็นชั้นฐานันดรศักดิ์สำหรับชั้นพระราชนัดดา หรือชั้นหลานหลวง สำหรับพระโอรส-ธิดาของสมเด็จ, ชั้นเสด็จและชั้นพระองค์เจ้า พระโอรส-ธิดาของสมเด็จ และเสด็จ สามารถขึ้นเป็นชั้นพระองค์เจ้าได้เมื่อมีพระบรมราชโองการ
6.นักองค์ราชวงศ์ หรือ เนี๊ยะอ็องเรี๊ยจเจี๊ยะวง (เขมร: អ្នកអង្គរាជវង្ស ) เทียบกับพระราชวงศ์ไทยคือหม่อมราชวงศ์ ไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ สำหรับโอรส-ธิดาของนักองค์เจ้า ในกัมพูชาถือเป็นเชื้อพระวงศ์ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวงศ์และมีสิทธิ์ถูกเลือกให้ขึ้นสืบราชสมบัติได้
7.พระวงศ์ หรือพระองค์ ออกเสียง:เปรี๊ยะวงซา ; เปรี๊ยะออง (เขมร: ព្រះវង្ស ; Preah Vongsa) เทียบชั้นยศราชวงศ์ไทยคือหม่อมหลวง เป็นเชื้อพระวงศ์ที่ไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ สำหรับโอรส-ธิดาของนักองค์ราชวงศ์ ยังนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์และมีสิทธิ์ถูกเลือกให้ขึ้นสืบราชสมบัติโดยกรมปรึกษาราชบัลลังก์ได้ ซึ่งถัดจากพระวงศ์ถือเป็นสามัญชน
•ตำแหน่งพิเศษที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์พิเศษให้ทรงกรมในพระราชวงศ์ โดยตำแหน่งทรงกรมแบ่งเป็น 4 ระดับได้แก่
- กรมพระ (ក្រុម ព្រះ) สำหรับบรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จ
- กรมหลวง (ក្រុមហ្លួង)สำหรับชั้นสมเด็จ และเสด็จ
- กรมขุน (ក្រុមឃុន) สำหรับชั้นสมเด็จ และเสด็จ
- กรมหมื่น (ក្រុមហ្មឺន) สำหรับชั้นเสด็จ
การสืบราชสันตติวงศ์
แก้ระบบการสืบราชสันตติวงศ์ของกษัตริย์กัมพูชาไม่เหมือนกับระบบของกษัตริย์ส่วนใหญ่ในประเทศอื่นๆ ที่ราชบัลลังก์จะตกไปสู่ผู้มีลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ลำดับถัดไป เช่นผู้ที่มีศักดิ์สูงสุดในราชวงศ์ หรือโอรสองค์โตของกษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งกษัตริย์จะทรงเลือกหรือสถาปนาขึ้นเป็นพระรัชทายาทไว้ก่อนที่จะทรงสิ้นพระชนม์ แต่ในกัมพูชาพระมหากษัตริย์ไม่สามารถเลือกผู้ที่จะมาสืบราชสันตติวงศ์ได้ด้วยพระองค์เอง แต่ผู้ที่มีสิทธิ์ในการเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่นั้นคือ กรมปรึกษาราชบัลลังก์เพื่อคัดเลือกผู้ที่จะได้รับการสืบราชสันตติวงศ์ (Literally: ราชสภาเพื่อราชบัลลังก์) (Royal Council of the Throne) ซึ่งมีสมาชิก 9 คนดังนี้
1. ประธานรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
2. นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
3. พระสังฆราช ศาสนาพุทธ ฝ่ายมหานิกาย
4. พระสังฆราช ศาสนาพุทธ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
5. รองประธานรัฐสภา คนที่หนึ่ง
6. รองประธานสภา คนที่สอง
7. ประธานพฤฒสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา
8. รองประธานพฤฒสภา คนที่หนึ่ง
9. รองประธานพฤฒสภา คนที่สอง
สภาพระราชบัลลังก์[11]จะจัดการประชุมในสัปดาห์ที่พระมหากษัตริย์ สวรรคตหรือ ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อไปได้หรือกษัตริย์ทรงแจ้งต่อสภาพระราชบัลลังก์ว่าทรงมีพระประสงค์ที่จะทรงสละราชสมบัติ กรมปรึกษาราชบัลลังก์จะประชุมเพื่อเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่จากรายชื่อผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ และเป็นสมาชิกราชวงศ์ โดยผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอพระนามต้องเป็นบุคคลใน "ราชวงศ์วรมัน" เท่านั้น และต้องสืบสายราชสกุลจากราชสกุลนโรดม และราชสกุลสีสุวัตถิ์ ไม่สามารถเสนอนามบุคคลนอกราชวงศ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้ [12]
สายราชสกุล
แก้ราชสกุลมหิธรปุระ(สายสกุลจากพิมาย)
แก้ราชสกุลมหิธรปุระ (เขมร: រាជត្រកូលមហិធរបុរៈ) สถาปนาโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (ជ័យវរ្ម័នទី៦)เมื่อปี ค.ศ. 1080 ปฐมราชตระกูลคือพระเจ้าภววรมันที่ 1 (ភវវរ្ម័នទី១)แห่งอาณาจักรเจนละ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นขุนนางเชื้อพระวงศ์ปกครองเมืองพิมาย(ปัจจุบันคืออำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) มหิธรปุระเป็นต้นวงศ์ของกษัตริย์เขมรหลายพระองค์มีถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มน้ำมูล [13] บริเวณปราสาทพนมวัน ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง เป็นสายราชสกุลเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคฟูนันมีอิทธิพลและฐานอำนาจในแถบอีสานไต้และเทือกเขาพนมดงรัก(ជួរភ្នំដងរែក) การปกครองสมัยอาณาจักรขอมมีการส่งเชื้อพระวงศ์จากส่วนกลางออกไปปกครองตามหัวเมืองต่างๆเช่น เมืองพิมาย เมืองละโว้เป็นต้นและมีการแต่งงานเกี่ยวดองกันแบบเครือญาติกับกษัตริย์เมืองพระนครมีพยานหลักฐานจารึกและโบราณสถานตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกันกับราชสำนักเขมรส่วนกลาง
บริเวณลุ่มน้ำมูลเป็นที่ตั้งของเมืองมหิธรปุระมีจารึกเกี่ยวเนื่องด้วยพระนามหิรัณยวรมันและมเหสีหิรัณยลักษมี [14] ทรงมีโอรส 2 พระองค์ที่ได้ครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งขะแมร์คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1(ធរណីន្ទ្រវរ្ម័នទី១) พระเจ้าหิรัณยวรมันทรงมีพระนัดดาคือพระเจ้ากษิตินทราทิตย์(ក្សិតេន្ទ្រាទិត្យ)ทรงเป็นพระบิดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2(សូរ្យវរ្ម័នទី២) พระมหากษัตริย์แห่งขะแมร์ บริเวณอีสานไต้ลุ่มน้ำมูลจึงเป็นฐานอำนาจของมหิธรปุระ
ราชสกุลมหิธรปุระมีพระมหากษัตริย์ปกครองจำนาน 11 พระองค์ กษัตริย์พระองค์แรกคือพระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 กษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าชัยวรมันที่ 9
ราชสกุลตระซ็อกประแอม
แก้ราชสกุลตระซ็อกประแอม (เขมร: រាជត្រកូលត្រសក់ផ្អែម) สถาปนาโดยพระบาทองค์ชัยหรือพระเจ้าแตงหวาน (ត្រសក់ផ្អែម) เมื่อปี ค.ศ. 1290 ปฐมราชตระกูลคือพระเจ้ารุทรวรมันที่ 1 (រុទ្រវរ្ម័នទី១) แห่งอาณาจักรจามปา พระเจ้าแตงหวานทรงเป็นโอรสของเจ้าชายปทุมะแห่งอาณาจักรจามปา พระบิดาถูกนำตัวมาเป็นเชลยในเมืองพระนครหลวงตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ជ័យវរ្ម័នទី៧) ทรงยกทัพบุกเข้าโจมตีเมืองหลวงของอาณาจักรจามปา และจับพระราชวงศ์และไพร่ ทาสชาวจามปากลับมาเป็นเชลยทาสใช้แรงงานในเมืองพระนครหลวง พระเจ้าแตงหวานได้ปลงพระชนม์พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 (វ្រះបាទជយវម៌្មទី៩) กษัตริย์องค์สุดท้ายในสายราชสกุลมหิธรปุระถึงแก่สวรรคต
พระเจ้าแตงหวานทรงเป็นกสิกรมาก่อนเสวยราชสมบัติมีหน้าที่เป็นผู้เฝ้าสวนแตงของกษัตริย์ในพระราชอุทยานหลวง เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยสามารถเข้านอกออกในพระราชวังได้เพราะต้องนำแตงเข้าไปถวายกษัตริย์อยู่เสมอ ต่อมาพระเจ้าแตงหวานได้ใช้พระแสงหอกลำแพงชัยเป็นหอกที่ได้รับพระราชทานเป็นอาญาสิทธิ์ซัดโดนพระเจ้าชัยวรมันที่ 9สวรรคตขณะพระองค์ลงไปในสวนแตงยามวิกาล พระเจ้าแตงหวานจึงทรงสามารถปลดปล่อยเชลยทาสชาวจามปาให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส ต่อมาพระองค์ทรงได้ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในเมืองพระนครหลวง และได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดากษัตริย์องค์ก่อน [15] นักวิชาการบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วเพื่อลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ไม่น่าจะเป็นเหตุบังเอิญที่กษัตริย์จะทรงถูกสังหารได้โดยง่ายตามที่พระราชพงศาวดารระบุเพราะขณะนั้นทาสในเมืองมีจำนวนมากได้รับการทรมาณกดขี่และใช้แรงงานหนักทำให้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก หลังจากที่พระเจ้าตระซ็อกประแอมทรงครองราชย์ทรงทำการกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าจนเกือบสิ้น เชื้อพระวงศ์บางส่วนได้เสด็จหลบหนีออกจากเมืองพระนครหลวงไปเมืองละโว้
พระราชพงศาวดารกัมพูชาฉบับนักองค์เอง [16] กล่าวว่าพระเจ้าตระซ็อกประแอม(พระเจ้าแตงหวาน)ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของกัมพูชาและสายราชสกุลนี้ได้สืบต่อราชสมบัติมาถึงจนพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาองค์ปัจจุบัน ราชสกุลตระซ็อกประแอมมีพระมหากษัตริย์ปกครองจำนวน 48 พระองค์ ประมุขพระองค์แรกคือพระเจ้าตระซ็อกประแอม ประมุขพระองค์สุดท้ายคือสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (ព្រះបាទ អង្គ ឌួង)
ราชสกุลนโรดม
แก้ราชสกุลนโรดม (เขมร: រាជត្រកូលនរោត្តម) สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร (ព្រះបាទនរោត្តម) เมื่อปี พ.ศ. 2403 ปฐมราชตระกูลคือพระเจ้าตระซ็อกประแอม[17] แห่งอาณาจักรพระนครหลวงพระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ราชสกุลนโรดมเป็นหนึ่งในสองราชสกุลที่ปกครองในสมัยราชอาณาจักรกัมพูชาคู่กับราชสกุลสีสุวัตถิ์ (រាជត្រកូលស៊ីសុវត្ថិ) ราชสกุลนโรดมมีพระมหากษัตริย์ปกครอง 4 พระองค์ ประมุขพระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ประมุขพระองค์ปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (ព្រះបាទសម្តេចព្រះបរមនាថ នរោត្តម សីហមុនី)
ราชสกุลสีสุวัตถิ์
แก้ราชสกุลสีสุวัตถิ์ (เขมร: រាជត្រកូលស៊ីសុវត្ថិ) สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (ព្រះបាទស៊ីសុវតិ្ថ) เมื่อปี พ.ศ. 2447 ปฐมราชตระกูลคือพระเจ้าตระซ็อกประแอม (ត្រសក់ផ្អែម) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนครหลวง พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี และทรงเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ปฐมกษัตริย์ต้นสายราชสกุลนโรดม (រាជត្រកូលនរោត្តម) ราชสกุลสีสุวัตถิ์มีพระมหากษัตริย์ปกครองจำนวน 2 พระองค์ ประมุขพระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ และประมุขพระองค์สุดท้ายคือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ (ព្រះបាទស៊ីសុវតិ្ថមុនីវង្ស)
ความขัดแย้ง
แก้ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ เต็มไปด้วยศึกสงครามและความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกอาณาจักร มีการช่วงชิงอำนาจ การก่อกบฏ นำมาซึ่งความแตกแยกวุ่นวายในราชวงศ์
รัชสมัยพระเจ้ารุทรวรมัน (រុទ្រវរ្ម័នទី១) ครองราชย์ช่วง ค.ศ.514 แห่งอาณาจักรฟูนัน (ហ៊្វូណន)เป็นช่วงแห่งความวุ่นวายทางการเมือง พระองค์ทรงครองราชย์ในวยาธปุระ (វ្យាធបុរៈ) ได้ถูก พระเจ้าภววรมันที่ 1 (ភវវរ្ម័នទី១) จากเมืองภวปุระยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ พระเจ้าภววรมันที่ 1 (ភវវរ្ម័នទី១) ทรงเป็นเจ้าชายในราชวงศ์วรมันได้ร่วมกันกับเจ้าชายจิตรเสน หรือ พระเจ้ามเหนทรวรมัน (មហេន្ទ្រវរ្ម័ន) พระอนุชาทำสงครามโจมตีเมือง วยาธปุระ เมืองหลวงของ อาณาจักรฟูนัน เพราะเห็นว่าพระเจ้ารุทรวรมันขาดความชอบธรรมในการขึ้นครองราชสมบัติ เพราะหลังจากที่พระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมันสวรรคตพระองค์ทรงสังหารรัชทายาทคือ เจ้าชายกุณณะวรมัน ที่ประสูติจากพระอัครมเหสีคือ พระนางกุลประภาวดี (พระราชมารดาเลี้ยง) ต่อมาได้ทำสงครามยืดเยื้อกับพระนางกุลประภาวดีเพื่ออ้างสิทธิ์ในราชสมบัติ[18] พระเจ้ารุทรวรมันทรงเป็นพระโอรสของ พระเจ้าเกาฑิณยะชัยวรมัน ที่ประสูติจากพระสนมเชื้อสายจามปาพระองค์ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาตามพระมารดาขณะที่พระราชวงศ์และพระประยูรญาติทรงนับถือ ศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าชายพระประยูรญาติตามหัวเมืองต่างๆเป็นอย่างมาก พระเจ้าภววรมันที่ 1 ทรงมีชัยชนะเหนือพระเจ้ารุทรวรมันบุกเข้ายึดราชธานีวยาธปุระได้สำเร็จส่วนพระเจ้ารุทรวรมัน[19] ทรงพ่ายแพ้เสด็จลี้ภัยเข้าไปใน อาณาจักรจามปา พร้อมพระมารดาในขณะนั้นอาณาจักรจามปากำลังเกิดความวุ่นวายมีศึกสงครามกับจีนในสงครามอ่าวตังเกี๋ยราชสำนักจีนได้ยกกองทัพมาปราบปราม พระเจ้าพิชัยปาโมพระมหากษัตริย์แห่งจามปาทรงพ่ายแพ้ เมื่ออยู่ในจามปาด้วยความช่วยเหลือของพระมารดาและพระญาติทำให้พระองค์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งจามปา พระองค์ได้ส่งราชทูตไปถวายราชบรรณาการฮ่องเต้จีน ฮ่องเต้จีนจึงโปรดสถาปนาพระเจ้ารุทรวรมันขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งจามปา พระนามพระเจ้ารุทรวรมันที่ 1 (រុទ្រវរ្ម័នទី១) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์วรมันแห่งจามปา
รัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី១ ) ครองราชย์ ค.ศ.1001-ค.ศ.1006 ได้ถูกพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 เจ้าชายในราชวงศ์ไศเลนทร์ทรงอ้างสิทธิ์พระราชบัลลังก์ทางพระราชมารดาทำสงครามเพื่อชิงราชสมบัติเมื่อ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 สวรรคตรัชทายาทคือ พระเจ้าชยวีรวรมัน (ជយវីរវម៌្ម) ได้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์จึงทำสงครามกัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (សូរ្យវរ្ម័នទី១) ทรงมีชัยชนะเหนือชยวีรวรมันจึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมร ราชวงศ์ไศเลนทร์มีพระมหากษัตริย์เพียง 3 พระองค์กษัตริย์องค์สุดท้ายทรงไม่มีรัชทายาท ราชสมบัติจึงตกแก่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 แห่งราชวงศ์วรมันพระองค์ได้ปราบปรามคู่แข่งและสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่ง จักรวรรดิเขมร ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ต้นสาย ราชสกุลมหิธรปุระ
รัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 (យសោវរ្ម័នទី២),(กษัตริย์สายราชสกุลมหิธรปุระ)ครองราชย์ ค.ศ.1160-ค.ศ.1166 ได้ถูกพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน (ត្រិភុវនាទិត្យវម៌្ម), (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ตรีภูวนาทิตย์) ขุนนางชาวจีนยึดพระราชอำนาจ ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมันได้ถูก พระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ 4 (ជ័យឥន្រ្ទវរ្ម័នទី៤) แห่งอาณาจักรจามปาบุกเข้าโจมตีเมืองพระนครหลวง จับพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมันสำเร็จโทษบ้านเมืองเกิดสูญญากาศนานถึง 4 ปี พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากสายราชสกุลมหิธรปุระได้ยกกองทัพจากเมือง ละโว้ เข้ามายึดเมือง พระนครหลวง ได้คืนจากพระมหากษัตริย์แห่งจามปา[20]และทรงยกทัพหลวงบุกเข้าไปในอาณาจักรจามปามีชัยชนะผนวกดินแดนจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเขมร ทรงจับพระราชวงศ์ ไพร่ ทาสชาวจามปากลับมาเป็นเชลยในเมืองพระนครหลวง
รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร (វ្រះបាទជយវម៌្មទី៩,វ្រះបាទជយវម៌្មបរមេឝ្វរ),(กษัตริย์สายราชสกุลมหิธรปุระ) ครองราชย์ ค.ศ.1327-ค.ศ.1336 ได้ถูกพระเจ้าตระซ็อกประแอมหัวหน้าผู้เฝ้าสวนแตงในอุทยานหลวงของกษัตริย์ซัดพระแสงหอกลำแพงชัยใส่ถึงแก่สวรรคต ซึ่งนักวิชาการกัมพูชามองว่าน่าจะเป็นการก่อกบฏยึดพระราชอำนาจ พระเจ้าตระซ็อกประแอมหรือพระเจ้าแตงหวาน ทรงเป็นโอรสของเจ้าชายแห่งจามปาที่ถูกจับมาเป็นเชลยในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่ง จักรวรรดิเขมร ในพงศาวดารฉบับนักองค์เองกล่าวว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์ของ ราชสกุลนโรดม[21]
รัชสมัยพระศรีสุคนธบท (ស្រីសុគន្ធធោ),(กษัตริย์สายราชสกุลตระซ็อกประแอม) ครองราชย์ พ.ศ. 2046-พ.ศ. 2051 ได้ถูกขุนหลวงเสด็จกอนหรือเจ้ากอง (ស្រីជេដ្ឋា,ស្ដេចកន)(ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระเสด็จกัน) ขุนนางก่อกบฏชิงราชสมบัติและตั้งตนเป็นกษัตริย์ที่เมืองบาสาณ พระศรีสุคนธบททรงหลบหนีและถูกปลงพระชนม์ที่แม่น้ำ สตึงแตรง ส่วนพระยาจันทราชาพระอนุชาทรงหลบหนีเข้าไปในกรุงศรีอยุธยาต่อมาทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ที่เมืองโพธิสัตว์ ด้วยความช่วยเหลือของ อยุธยา ทรงยกทัพมาปราบเจ้ากอง เจ้ากองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระยาจันทราชาจึงขึ้นครองราชสมบัติกรุงกัมพูชา[22]
ประวัติ
แก้ราชวงศ์วรมัน ถือกำเนิดขึ้นโดยพราหมณ์ชาวอินเดียนามว่าเกาฑิณยะ (កម្វុស្វយម្ភុវ) ได้เดินทางโดยเรือเข้ามาสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ต่อมาได้อภิเษกกับพระนางโสมา ก่อกำเนิดราชวงศ์ตามตำนานพระทอง-นางนาค
พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชากล่าวถึงอาณาจักรโคกโธลก[23]ว่ามีพระมหากษัตริย์ปกครอง 5 พระองค์ เป็นบุรุษ 4 พระองค์ เป็นสตรี 1 พระองค์ กษัตริย์พระองค์ที่ 4 ทรงไม่มีพระโอรสมีเพียงพระธิดาต่อมาพระธิดานั้นได้ปกครองอาณาจักรพระนามว่าพระนางโสมา (សោមា) (ตำนานว่าเป็นพญานาค) ตำนานพระทอง-นางนาค ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตกล่าวถึง พราหมณ์เกาฑิณยะผู้ได้รับหอกวิเศษจากพราหมณ์อัศวัตถามา บุตรโทรณาจารย์ ได้เดินทางมาถึงอาณาจักรของชาวเผ่านาคและได้ทำสงครามกันสุดท้ายได้เจรจาด้วยสันติโดยการอภิเษกสมรส พราหมณ์เกาฑิณยะจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าเกาฑิณยะวรมันเทวะ (កៅណ្ឌិន្យទី១) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์วรมัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 1[24]
ส่วนบันทึกของราชทูตจีนที่เข้ามายังอาณาจักรฟูนัน ได้กล่าวถึงพราหมณ์เกาฑิณยะได้ฝันว่ามีเทวดาองค์หนึ่งได้นำลูกเกาฑัณฑ์มามอบให้ พอรุ่งเช้าจึงได้ไปยังศาสนสถานตามความฝันปรากฏเห็นลูกเกาฑัณฑ์ตามความฝัน เทวดาได้ให้ออกเดินทางพร้อมบริวารเพื่อเสาะหาดินแดนก่อสร้างอาณาจักร จึงได้ล่องเรือมาถึงอาณาจักรฝูหนานและได้ทำสงครามกับราชินีหลิวเย่ พระนางหลิวเย่สู้มิได้จึงยอมอภิเษกเป็นมเหสี
อ้างอิง
แก้- ↑ Kaundinya,Preah thong,and_the "Nagi Soma" jstor.org.com
- ↑ "เที่ยวปราสาทเมืองเก่าเล่าเรื่องนาคี” ฟังเรื่องนาค…กับตำนานการเกิดรัฐในอุษาคเนย์,มติชน.26 ธันวาคม 2559
- ↑ เอกสารมหาบุรุษขอม : การศึกษางานเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่, ธิบดี บัวคำศรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2564
- ↑ Throne Council Selects Sihamoni to be the Next King.Samean, Yun (15 October 2004).
- ↑ "เอกสารกัมพูชากับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา" (PDF).ศานติ ภักดีคำ.
- ↑ จักรวรรดิไศเลนทร์ 4.trueplookpanya.com.2555
- ↑ Morris Rossabi (28 November 2014). From Yuan to Modern China and Mongolia: The Writings of Morris Rossab
- ↑ Zhou Daguan (2007). A Record of Cambodia. Translated by Peter Harris. University of Washington Press. ISBN 978-9749511244.
- ↑ Article: K. Prasidhivongse - Royal World Thailand Reference: S. Sopheak, S. Nearipan Bibliography: The Royal House of Cambodia by Julio A. Jeldres
- ↑ The Royal House of Cambodia The Royal House of Cambodia, Julio A. Jeldres.Monument Books, 2003 ,University of Michigan
- ↑ Samean, Yun (15 October 2004). "Throne Council Selects Sihamoni to be the Next King". The Cambodia Daily.
- ↑ "การสืบราชสันตติวงศ์ กัมพูชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-26. สืบค้นเมื่อ 2022-01-26.
- ↑ ประติมากรรมสำริดประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ รัฐพุทธมหายานเก่าสุดในสุวรรณภูมิ,สุจิตต์ วงษ์เทศ,มติชน.2559
- ↑ หนังสือสมบัติอีสานไต้,อำไพ คำโท.จารึกขอมปราสาทพนมรุ้ง (2527:91-96)
- ↑ นักองค์เองในสารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่:เอเชีย.ฉบับราชบัณฑิตยสถาน,สุมาลี บำรุงสุข, 2539
- ↑ พงศาวดารกัมพูชาที่แปลชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทย พ.ศ. 2339-2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย,ธิบดี บัวคำศรี
- ↑ เขมรรบไทย,ศานติ ภักดีคำ.มติชน (2554:272)
- ↑ อาณาจักรขอมพุทธศตวรรษที่ 11-19,digitalschool.club
- ↑ สถาบันกษัตริย์เขมรโบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ,หอสมุดวังท่าพระ(PDF)
- ↑ เขมรสมัยหลังพระนคร,ศานติ ภักดีคำ.2013
- ↑ ว่าด้วย ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา,บุตรี สุวรรณะบุณย์.แปล (PDF)
- ↑ เอกสารกัมพูชากับการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา,ศานติ ภักดีคำ
- ↑ นาคาคติในสังคมเขมร,ชาญชัย คงเพียรธรรม,2015
- ↑ "เที่ยวปราสาทเมืองเก่าเล่าเรื่องนาคี” ฟังเรื่องนาค…กับตำนานการเกิดรัฐในอุษาคเนย์,มติชน.26 ธันวาคม 2559