หลังการล่มสลายของกัมพูชาประชาธิปไตย กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การรุกรานของเวียดนามและรัฐบาลที่นิยมฮานอยซึ่งก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา สงครามกลางเมืองหลัง พ.ศ. 2523 เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพประชาชนปฏิวัติกัมพูชาของรัฐบาลกับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายซึ่งถือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของกลุ่มต่างๆสามกลุ่มคือ พรรคฟุนซินเปกของพระนโรดม สีหนุ พรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร มีการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่ปารีสเพื่อสงบศึกใน พ.ศ. 2534 ในที่สุดมีการจัดการเลือกตั้งโดยสหประชาชาติใน พ.ศ. 2536 เพื่อเริ่มต้นฟื้นฟูประเทศ พระนโรดม สีหนุกลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังจากมีการเลือกตั้งโดยปกติใน พ.ศ. 2541 การเมืองมีความมั่นคงขึ้น หลังการล่มสลายของเขมรแดง ใน พ.ศ. 2541

การเจรจาสันติภาพและการเลือกตั้ง แก้

ระหว่าง 30 กรกฎาคม – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2532 ตัวแทนจาก 18 ประเทศ กลุ่มการเมืองจากกัมพูชา 4 กลุ่ม และเลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติได้ประชุมร่วมกันที่ปารีสเพื่อยุติสงครามกลางเมือง การถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชา และการให้ชาวกัมพูชาเลือกระบอบการปกครองด้วยตนเอง ต่อมา ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้มีการลงนามในข้อตกลงปารีส ให้สหประชาชาติเป็นที่ปรึกษาในการสงบศึก ปลดอาวุธและจำกัดการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่ม จัดเตรียมประเทศให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม พระนโรดม สีหนุในฐานะประธานสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาและสมาชิกคนอื่นๆของสภาเดินทางกลับสู่พนมเปญเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เพื่อเริ่มจัดตั้งกระบวนการต่างๆในกัมพูชา ตัวแทนระดับสูงของสหประชาชาติในกัมพูชา (UNAMIC) ได้เข้าไปดำเนินการเพื่อประสานกับกลุ่มต่างๆ และนำตัวผู้อพยพชาวกัมพูชาราว 370,000 คน ในไทยกลับสู่กัมพูชา

ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2535 อันแทคภายใต้การนำของยาสุชิ เอกาชิและนายพลจอห์น แซนเดอร์สัน มาถึงกัมพูชา คณะกรรมการผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเริ่มเข้ามาทำงานเต็มตัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 อันแทคมีทหารและพลเรือนทำงานด้วยราว 22,000 คนในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา มีชาวกัมพูชาราว 4 ล้านคน (90% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง) เข้าร่วมในการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 แม้ว่าเขมรแดงที่ไม่เคยถูกปลดอาวุธและจำกัดการเคลื่อนไหวจะห้ามประชาชนในเขตของตนไม่ให้ออกมาเลือกตั้ง

 
เขตจังหวัดที่พระนโรดม จักรพงษ์ประกาศแยกตัวไปเป็นเขตปกครองตนเองสมเด็จพระบิดาหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 แต่ไม่สำเร็จ

พรรคฟุนซินเปกของพระนโรดม รณฤทธิ์ได้คะแนนสูงสุด 45.5% รองลงมาคือพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยมชาวพุทธ ตามลำดับ หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 สิ้นสุดลง พรรคประชาชนกัมพูชาไม่ยอมรับชัยชนะของพรรคฟุนซินเปกและได้ประกาศแยกจังหวัดทางภาคตะวันออกของกัมพูชาออกไปเป็นดินแดนอิสระ การรัฐประหารหลังการเลือกตั้งเริ่มขึ้นเมื่อเจ้านโรดม จักรพงษ์ พลเอกสิน สอง และพลเอกบู ทองออกไปปลุกระดมประชาชนที่จังหวัดสวายเรียงเมื่อ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่จัดโดยอันแทค และได้ประกาศแยกจังหวัดสวายเรียง กำปงจาม เปรยแวง กระแจะ มณฑลคีรี รัตนคีรีและสตึงเตรงออกไปตั้งเป็นเขตปกครองตนเองของสมเด็จพระบิดา[1] อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคประชาชนกัมพูชาคนอื่นๆ เจ้านโรดม จักรพงษ์จึงต้องหนีไปเวียดนามเมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2536 การแบ่งแยกดินแดนจึงสิ้นสุดลง พระนโรดม จักรพงษ์ได้รับการอภัยโทษจากสีหนุในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536[1]

พรรคฟุนซินเปกจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่นๆ พรรคการเมืองที่เข้าร่วมการเลือกตั้งส่งตัวแทนรวมกันทั้งสิ้น 120 คน ในการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 24 กันยายน ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ปกครองประเทศในระบอบรัฐสภาแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระนโรดม สีหนุขึ้นครองราชย์สมบัติอีกครั้ง พระนโรดม รณฤทธิ์และฮุน เซนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ หลังการเลือกตั้ง เขมรแดงเข้ายึดปราสาทพระวิหารจากฝ่ายของฮุนเซนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และขอเปิดการเจรจากับฝ่ายของสีหนุ โดยฝ่ายเขมรแดงยื่นข้อเรียกร้องเข้าร่วมในการบริหารแห่งชาติและตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลใหม่แลกกับการคืนปราสาทพระวิหารและมอบดินแดนที่ยึดไว้คืนให้ฝ่ายรัฐบาล[2] สมเด็จสีหนุทรงเห็นด้วยที่จะรับเขมรแดงเข้าร่วมรัฐบาล แต่ฮุน เซนและนโรดม รณฤทธิ์ไม่เห็นด้วย สหรัฐได้เข้ามาแทรกแซงโดยประกาศจะตัดความช่วยเหลือกัมพูชา หากมีเขมรแดงร่วมรัฐบาล การเจรจาเพื่อการปรองดองแห่งชาติตามนโยบายของสมเด็จพระนโรดม สีหนุที่เสนอให้เขมรแดงเข้าร่วมในการบริหารประเทศโดยต้องยอมคืนพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศให้แก่รัฐบาลและยุบเลิกกองกำลังทั้งหมด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อ 27 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือล้มเหลว ฝ่ายรัฐบาลจึงออกกฎหมายให้เขมรแดงเป็นกลุ่มนอกกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 103 ต่อ 0[3]

รัฐประหาร พ.ศ. 2540 แก้

หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคฟุนซินเปกอย่างหนัก การปรับคณะรัฐมนตรีของกัมพูชาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 ได้ปลดสม รังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่งและได้มีมติให้สม รังสีพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2538 หลังจากที่เขาถูกบังคับให้พ้นจากสมาชิกภาพของพรรคฟุนซินเปกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน สม รังสีประกาศจัดตั้งพรรคชาติเขมร แต่ก็ถูกรัฐบาลประกาศให้เป็นพรรคนอกกฎหมายอีก[4] ต่อมา 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 พระนโรดม สิริวุฒิ เลขาธิการพรรคฟุนซินเปกถูกประกาศกักบริเวณเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการวางแผนลอบสังหารฮุน เซน หลังจากนั้นสมัชชาแห่งชาติกัมพูชามีมติด้วยคะแนน 105 ต่อ 0 ให้ถอนเอกสิทธิ์คุ้มครองพระนโรดม สิริวุฒิในฐานะ ส.ส. ทำให้พระนโรดม สิริวุฒิถูกส่งตัวไปยังเรือนจำ T-3[4] พระนโรดม สิริวุฒิปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ในที่สุดสมเด็จพระนโรดม สีหนุเข้ามาไกล่เกลี่ยให้พระนโรดม สิริวุฒิลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส พระนโรดม สิริวุฒิเดินทางออกจากกัมพูชาในวันที่ 21 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น ไปยังสิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางต่อไปฝรั่งเศสในวันที่ 23 ธันวาคม[4]

ใน พ.ศ. 2540 เกิดความขัดแย้งระหว่างพระนโรดม รณฤทธิ์กับฮุน เซน ฮุน เซนกล่าวหาว่าพระนโรดม รณฤทธิ์วางแผนจะยึดอำนาจโดยอาศัยความช่วยเหลือจากเขมรแดง จึงสั่งให้ทหารในฝ่ายของตนจับกุมฝ่ายของฟุนซินเปก[5] เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เกิดการปะทะระหว่างทหารที่สนับสนุนฮุน เซนกับพระนโรดม รณฤทธิ์กลางกรุงพนมเปญ ทหารฝ่ายฮุน เซนสามารถยึดครองพื้นที่ได้ 90% ฝ่ายของพระนโรดม รณฤทธิ์ที่มีพลเอกญึก บุญชัยเป็นหัวหน้าได้ล่าถอยมาตั้งมั่นที่โอร์เสม็ดติดแนวชายแดนที่จังหวัดสุรินทร์ โดยมีกองกำลังเขมรแดงส่วนหนึ่งเข้าช่วยเหลือฝ่ายพระนโรดม รณฤทธิ์ คือกลุ่มของเขียว สัมพันและตา มกที่ตั้งมั่นอยู่ที่อันลองเวง อีกกลุ่มหนึ่งเข้าโจมตีฝ่ายรัฐบาลที่บ้านโอตาเตี๊ยะตรงข้ามกับอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราดนำโดยตา มุต และตา มิต การต่อสู้ระหว่างทั้งสองฝ่ายทำให้กระสุนเข้ามาตกในเขตไทย ทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ชาวกัมพูชาอพยพหนีเข้ามาฝั่งไทยประมาณ 3,000 คน [6]มีการต่อสู้กับฝ่ายของฮุน เซนจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540[7]

หลังรัฐประหาร พระนโรดม รณฤทธิ์ลี้ภัยไปปารีส ผู้นำฟุนซินเปกบางคนถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ บางคนถูกยิง พระนโรดม รณฤทธิ์ที่ลี้ภัยไปฝรั่งเศสได้ขอให้นานาชาติรับรองความเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของกัมพูชา ส่วนฮุน เซนได้เปิดประชุมสภาให้แต่งตั้งอึง ฮวดเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1แทนพระนโรดม รณฤทธิ์เมื่อ 6 สิงหาคม และสภาเห็นชอบ 86 ต่อ 4 งดออกเสียง 6 บัตรเสีย 3[8] แต่พระนโรดม สีหนุไม่ยอมลงพระปรมาภิไธย โดยผลักดันให้เป็นหน้าที่ของเจีย ซิมประธานรัฐสภาและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เจีย ซิมจึงเป็นผู้ลงนามแทน[8] อึง ฮวดจึงขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 แทน ผู้นำพรรคฟุนซินเปกกลับมาสู่กัมพูชาในช่วงเวลาสั้นๆก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาได้ 41% พรรคฟุนซินเปกได้ 32% และพรรคสมรังสีได้ 13% ในที่สุด พรรคประชาชนกัมพูชาได้จัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคฟุนซินเปก

ปัจจุบัน แก้

การเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น ผู้สมัครจากพรรคใหญ่มักเป็นผุ้ชนะ เกิดความรุนแรงต่อสถานทูตไทยและธุรกิจของไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 หลังเหตุการณ์นี้ ทำให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาตามมา

ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 มีการเลือกตั้งในกัมพูชาและพรรคประชาชนกัมพูชาได้เสียงส่วนใหญ่แต่ไม่พอต่อการจัดตั้งรัฐบาล สุดท้ายจึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคฟุนซินเปกในกลางปี พ.ศ. 2547 ใน พ.ศ. 2547 นี้เอง พระนโรดม สีหนุซึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพได้ประกาศสละราชสมบัติ พระนโรดม สีหมุนีได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมา

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 วัชรินทร์ ยงศิริ.รัฐประหารจากสายเลือดนโรดม ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 104-108
  2. วัชรินทร์ ยงศิริ. ความปรองดองแห่งชาติกัมพูชา ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 135-142
  3. วัชรินทร์ ยงศิริ. ความแตกแยกของเขมรแดง.. ใครได้ใครเสีย ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์ค]]อมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 73-81
  4. 4.0 4.1 4.2 วัชรินทร์ ยงศิริ.การเมืองกัมพูชา: มีประชาธิปไตยจริงหรือ ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 73-81
  5. Cambodia: July 1997: Shock and Aftermath by Brad Adams
  6. วัชรินทร์ ยงศิริ. สงครามกัมพูชา จุดสุดท้ายที่โอร์เสม็ด ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 30-37
  7. http://www.liberation.fr/monde/0101221900-cambodge-les-royalistes-assiegesaides-des-khmers-rouges-ils-defendent-leur-dernier-bastion-attaque-par-hun-sen
  8. 8.0 8.1 วัชรินทร์ ยงศิริ. ฮุน เซนปรับคณะรัฐมนตรี ใน กัมพูชา วันวารที่ผันเปลี่ยน. ศรีบูรณ์คอมพิวเตอร์กราฟิก. 2545 หน้า 24-29
  • Original text from U.S. State Department Background Note: Cambodia
  • Michael Vickery, The real story of Cambodia cries out to be told, The Nation, 25 September 1997, Bangkok
  • Michael Vickery, Flip side view of Cambodia's woes, The Nation, 18 November 1997, Bangkok

แหล่งข้อมูลอื่น แก้