กัมพูชาเชื้อสายจีน

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน (เขมร: ចិនកម្ពុជា) คือชาวจีนที่เกิดในประเทศกัมพูชา หรือเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือ ชาวจีนโพ้นทะเล โดยอาจเป็นลูกผสมระหว่างชาวกัมพูชากับจีนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศกัมพูชา ในช่วง ค.ศ. 1960-1970 มีชาวจีนอาศัยอยู่ในกัมพูชาประมาณ 425,000 คน แต่ภายหลังเหตุการณ์ของเขมรแดง ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนจำนวนมากต่างอพยพออกนอกประเทศ ทำให้ประชากรชาวจีนในช่วงปี ค.ศ. 1984 มีจำนวนชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนเพียง 61,400 คน โดยชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ถือสัญชาติกัมพูชา

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน
งานแต่งงานของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนในจังหวัดกัมปงธม
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
พนมเปญ, จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดกันดาล, จังหวัดกัมปงจาม, จังหวัดกัมปงธม, จังหวัดเปรยแวง, จังหวัดเกาะกง และจังหวัดตาแก้ว
กัมพูชา ประเทศกัมพูชา
ภาษา
ภาษาเขมร, ภาษาแต้จิ๋ว, ภาษากวางตุ้ง, ภาษาฮกเกี้ยน, ภาษาแคะ, ภาษาไหหลำ และภาษาไทย
ศาสนา
ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา (นิกายมหายานและ/หรือนิกายเถรวาท) และลัทธิเต๋า[1]

ประวัติ

แก้

ยุคประวัติศาสตร์

แก้

ในช่วงศตวรรษที่ 13 โจว ต้ากวน (จีน: 周达观) นักการทูตชาวจีนในสมัยนั้นได้เดินทางมาสู่ดินแดนอาณาจักรเจนฬา โดยได้ทำการบันทึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของกัมพูชาในสมัยนั้นจนทำให้ดินแดนนี้เป็นที่รู้จักของชาวจีนมาช้านาน จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพนมเปญในปี ค.ศ. 1620 โดยผู้อพยพชาวจีนในสมัยนั้น ส่วนมากจะเป็นผู้ชายและได้แต่งงานกับสาวในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ชาวเขมร และชาวจาม และลูกหลานของพวกเขาเหล่านี้ก็ถูกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยส่วนมากคนเชื้อสายจีนจะเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และอาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวเขมรดั้งเดิมที่ทำเกษตรกรรม โดยผู้สืบเชื้อสายจีนที่เป็นชาย จะไว้ทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน โดยกลุ่มลูกหลานชาวจีนในกัมพูชาที่อพยพเข้ามาในช่วงราชวงศ์หมิงยังคงอัตลักษณ์ความเป็นจีนไว้ เช่น ทรงผม อาหารการกิน จนกระทั่งถึงบ้านเรือน จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18[2]

ยุคเขมรแดง

แก้

หลังปี ค.ศ. 1979 เนื่องจากเขมรแดงขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินกัมพูชาโดยมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทางการจีน ดังนั้นนโยบายต่อคนจีนในประเทศจึงได้รับการผ่อนปรนบ้างระดับหนึ่ง แต่ในช่วงนี้ก็มีชาวจีนบางส่วนอพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากเนื่องจากเกรงกลัวระบอบคอมมิวนิสต์ ต่อมารัฐบาลเขมรแดงถูกโค่นอำนาจโดยกองกำลังของเวียดนาม และได้จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเฮง สัมรินขึ้นมา ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอย่างยืดเยื้อ แต่ภายหลังก็สามารถลงนามในข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหากัมพูชา โดยเวียดนามได้ยอมถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี ค.ศ. 1991 หลังจากนั้นก็ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้น

ปัจจุบัน

แก้

หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ค.ศ. 1993 และ ค.ศ. 1998 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชาก็กลับมาดีขึ้นตามลำดับซึ่งส่งผลดีต่อชาวจีนภายในประเทศด้วย โดยรัฐบาลเองก็เรียกร้องให้บรรดาชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่อพยพออกนอกประเทศกลับมาลงทุน ทำธุรกิจ หรือพำนักในประเทศได้[3][4]นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องธุรกิจแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมชาวจีน รวมไปถึงการเรียนการสอนภาษาจีนภายในประเทศด้วย

ปัจจุบันชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจการค้า[5] โดยมีเกษตรกรส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพปลูกสวนพริกไทย (กลุ่มชาวไหหลำ) แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนได้หันมาประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น เช่น ร้านโชห่วย ร้านน้ำชา ร้านเหล้า ร้านขายผ้า ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายนาฬิกา ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านขายรถจักรยานยนต์ ร้านขายยา โรงงานแปรรูปไม้ ผับ บาร์ โรงงานสิ่งทอ โรงงานโลหะ โรงงานทอผ้า เป็นต้น

กลุ่มชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน

แก้
 
เด็กชายชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน และลูกครึ่งเขมร-จีน ขณะชมการแห่มังกร ในกรุงพนมเปญ

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนมีอยู่ประมาณ 343,855 คน โดยส่วนมากเป็นเชื้อสายแต้จิ๋วประมาณ 60% รองลงมาได้แก่ กวางตุ้ง 20% ฮกเกี้ยน 7% ส่วนกลุ่มแคะ และไหหลำ มีรวมกันมีเพียง 4%

แต้จิ๋ว

แก้

แต้จิ๋ว (潮州) เป็นกลุ่มที่มากที่สุดในบรรดาชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน โดยส่วนใหญ่บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองเจียหยัง (กิกเอี๊ย), เฉาหยัง (เตี่ยเอี๊ย) และผู่หนิง (โผวเล้ง) โดยกลุ่มนี้จะเป็นผู้กุมอำนาจในด้านของการค้าสินค้าเกษตรกรรม พบได้ทั่วไปตามเมืองขนาดใหญ่ของกัมพูชา[6]

กวางตุ้ง

แก้

กวางตุ้ง (廣東) เป็นกลุ่มที่อพยพมาพำนักอยู่ก่อนกลุ่มการอพยพของกลุ่มแต้จิ๋วในช่วงปี ค.ศ. 1930 ชาวกวางตุ้งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ชาวกวางตุ้งจะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม และมีจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้าง โดยเฉพาะช่างไม้ ชาวกัมพูชาเรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า เจินคะตุง (Chen-Catung) มีชุมชนขนาดใหญ่ในจังหวัดกำปงจาม[6]

ไหหลำ

แก้

ไหหลำ (海南) เป็นกลุ่มชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองกัมปอด จังหวัดกัมปอด โดยจะประกอบอาชีพทำสวนพริกไทยแต่ปัจจุบันส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ในพนมเปญ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 กลุ่มชาวจีนไหหลำเป็นผู้กุมเศรษฐกิจเกี่ยวกับการโรงแรม และธุรกิจร้านอาหาร

แคะ

แก้

แคะ (客家) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ และจังหวัดสตึงแตรง[6] โดยชาวแคะรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเป็นทันตแพทย์ นอกนั้นยังประกอบอาชีพขายยาจีนแผนโบราณ และร้านโชห่วย

ฮกเกี้ยน

แก้

ฮกเกี้ยน (福建) เป็นกลุ่มชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่สำคัญมากกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากมีบทบาทในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงการธนาคาร และชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่ร่ำรวยส่วนมากจะเป็นกลุ่มชาวฮกเกี้ยน มีศูนย์กลางอยู่ในจังหวัดกำปงธม มีบางส่วนในจังหวัดเสียมราฐ, พระตะบอง และกำปงชนัง[6]

การฟื้นฟูภาษาจีน

แก้

กลุ่มสมาคมชาวจีน และการเรียนภาษาจีนในกัมพูชาได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีการจัดตั้งสมาคมจีนกัมพุชาขึ้นในปี ค.ศ. 1990 โดยมีสาขาต่างๆกระจายอยู่ทั่วประเทศ สมาคมชาวจีนสำเนียงต่างๆก็ได้รับการฟื้นฟู เช่น สมาคมจีนกวางตุ้ง, สมาคมจีนแคะ, สมาคมจีนแต้จิ๋ว ฯลฯ ดดยสมาคมเหล่านี้มีผลงานสำคัญในการเร่งฟื้นฟูภาษาจีน ปัจจุบันมีโรงเรียนจีนในกัมพุชาเกือบ 60 แห่ง มีนักเรียนกว่า 50,000 คน โดยในกรุงพนมเปญจะมีโรงเรียนจีนเอกชนมากที่สุด โดยโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดเป็นของกลุ่มแต้จิ๋วชื่อ ตวงฮั้ว มีนักเรียนประมาณ 4,500 คน ส่วนสมาคมจีนแคะก็มีไม่ต่ำกว่า 2,000 คน

นอกจากการตั้งโรงเรียนจีนแล้ว ทางการกัมพูชายังอนุมัติให้มีหนังสือพิมพ์ภาษาจีน 3 ฉบับ และยังมีหนังสือพิมพ์จีนที่ดำเนินการโดยชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนอีก 1 ฉบับ อีกทั้งยังมีหนังสือพิมพ์จีนจากไทยไปจำหน่าย เช่น หนังสือพิมพ์สากลรายวัน (The Universal Daily News) และหนังสือพิมพ์เอเชียนิวส์ไทม์ (Asia News Time)

ชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียง

แก้
  • พล พต (ซาลอธ ซาร์) - ผู้นำเขมรแดง (เชื้อสายเขมร-จีน)
  • ตา ม็อก (ฌิต เชือน) - ผู้นำเขมรแดง ผู้ได้สมญานาม "นักฆ่าขาเดียว" (เชื้อสายเขมร-จีน)
  • ลอน นอล - ประธานาธิบดีสาธาณรัฐเขมร และนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา (เชื้อสายเขมร-จีน)
  • บุน รานี - นายิกาสภากาชาดกัมพูชา และภรรยาของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน (บุน รานีเป็นคนเชื้อสายจีนไหหลำ แต่อันที่จริงแล้ว ฮุน เซน หรือ ’นายฮุน แสน‘ ก็ เป็นคนสัญชาติกัมพูชาเชื้อสายจีนเช่นกัน คือ สกุล ‘แซ่ฮุน’ มีชื่อตัวว่า ”แสน“ แต่เขาไม่พยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงตรงนี้เนื่องจากยัฝใช้ประโยชน์จากการยกอ้างในทางการเมืองอยู่ตามเวทีหาเสีงเสมอ ๆ ว่าตนเองว่าเป็นคนเลือดถกัมพูชาโดยแท้
  • สิน สีสมุต - นักร้องเจ้าของฉายา "ราชาเพลงเขมร" (เชื้อสายเขมร-ไทย-เวียดนาม-จีน-ลาว)
  • จาม ประสิทธิ์ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดิมมีชื่อว่า Ung You Teckhor[7] ใช้แซ่อึ๊ง
  • เตีย บัญ (สังวาลย์ หินกลิ้ง) - รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[8] และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเสียมราฐ สังกัดพรรคประชาชนกัมพูชา[9] (เชื้อสายไทย-จีน)[10][11]
  • สกุน นิสา - นักร้อง (เป็นบุตรของคนเชื้อสายจีน)

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Brandon Toropov, Chad Hansen. The Complete Idiot's Guide to Taoism. Alpha Books. p. 121. ISBN 0028642627.
  2. Nyíri, Savelʹev (2002), p. 256
  3. "China-Cambodia: More than just friends?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-22. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  4. "华人在柬埔寨几度沉浮". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-04. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  5. "The rise and rise of a Cambodian capitalist". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-04. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Cambodia - The Chinese
  7. Gottesman (2004), p. 427
  8. Visit to Japan by Gen. Tea Banh, Deputy Prime Minister and Minister of National Defense of Cambodia
  9. "Election results" เก็บถาวร 2008-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Cambodia National Election Committee. Accessed June 18, 2008.
  10. "吴锐成主任出席柬埔寨中国港澳侨商总会十周年会庆". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11.
  11. รุ่งมณี เมฆโสภณ. คนสองแผ่นดิน. กรุงเทพ : บ้านพระอาทิตย์, มีนาคม 2551
  • อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. กำเนิดและวิวัฒนการของคนแต้จิ๋วอดีตถึงปัจจุบัน.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ขุนเขา. หน้า 138-139