การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น

การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น เป็นเหตุการณ์ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์กัมพูชาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองกัมพูชาและจัดตั้งรัฐบาลหุ่นของตนขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 ซึ่งในช่วงแรก รัฐบาลวีชีของฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นผ่านเข้ามาตั้งฐานทัพในอินโดจีนฝรั่งเศสได้ รัฐบาลอาณานิคมของฝรั่งเศสยังปกครองอยู่ตามเดิม ต่อมา ญี่ปุ่นจึงได้ตั้งรัฐหุ่นเชิดขึ้นในกัมพูชา สถานะของรัฐนี้สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2488[1] ซึ่งในช่วงที่กัมพูชาถูกญี่ปุ่นยึดครอง ดินแดนส่วนหนึ่งของกัมพูชาในปัจจุบันนั้น ฝรั่งเศสได้คืนให้แก่ไทยหลังจากกรณีพิพาทอินโดจีน คือ จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดพระตะบอง และบางส่วนของจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ เมื่อไทยได้คืนดินแดนเหล่านี้ให้ฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2489 ดินแดนดังกล่าวก็รวมเข้ากับกัมพูชาดังเดิม

การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น

1941–1945
ธงชาติการยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่น
แผนที่แสดงอาณาเขตของจักรวรรดิญี่ปุ่น ค.ศ. 1942.
แผนที่แสดงอาณาเขตของจักรวรรดิญี่ปุ่น ค.ศ. 1942.
สถานะเขตยึดครองโดยทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่น
เมืองหลวงพนมเปญ
การปกครองรัฐหุ่นเชิด
พระมหากษัตริย์ 
• 1941-1945
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
ยุคประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2
• ก่อตั้ง
1941
• ญี่ปุ่นยึดดินแดนกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส
สิงหาคม 1941
กุมภาพันธ์ 1945
15 สิงหาคม 1945
• ฝรั่งเศสเข้าปกครองอินโดจีนอีกครั้ง

ตุลาคม 1945
• สิ้นสุด
1945
สกุลเงินเรียลกัมพูชา
ก่อนหน้า
ถัดไป
อินโดจีนของฝรั่งเศส
อินโดจีนของฝรั่งเศส
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ กัมพูชา

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ แก้

กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส พ.ศ. 2483 – 2484 ทำให้การปกครองอินโดจีนในฐานะอาณานิคมของฝรั่งเศสอ่อนแอลง รัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสและเข้ามาจัดตั้งฐานทัพในเวียดนามเหนือได้ โดยให้มีทหารไม่เกิน 25,000 คน[2] ในช่วงเวลานี้ รัฐบาลไทยได้รับมอบดินแดนในกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศสคือ พระตะบอง เสียมราฐ และบริเวณแคบๆระหว่างเทือกเขาพนมดงรักไปจนถึงเส้นขนานที่ 15 ในจังหวัดสตึงแตรง[3]

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้าสู่กัมพูชาและจัดตั้งกองทหารกว่า 8,000 แห่ง และยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสยังคงบริหารอยู่ได้ ต่อมา 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ได้เกิดขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสกลุ่มใหญ่ในพนมเปญ หลังจากพระภิกษุ เฮม เชียว ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนบาลีระดับมัธยมถูกจับกุมเมื่อเทศนาต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสโดยไม่ให้ลาสิกขาก่อน และถูกส่งไปคุมขังที่เกาะโกนเดา ทำให้มีการเดินขบวนประท้วงที่เรียกว่าสงครามร่ม (Umbrella war)[4] เซิง งอกทัญถูกทางการฝรั่งเศสจับตาในข้อหาสนับสนุนญี่ปุ่น ต่อมา ใน พ.ศ. 2486 ข้าหลวงใหญ่แห่งฝรั่งเศส เสนอให้ยกเลิกการใช้อักษรเขมรและเขียนภาษาเขมรด้วยอักษรโรมันแทน พระภิกษุได้เป็นแกนนำในการต่อสู่คัดค้านอย่างหนัก จนต้องยกเลิกไป[4]

ใน พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นได้กำจัดอำนาจของฝรั่งเศสออกจากอินโดจีน โดยกำจัดเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสและปลดอาวุธทหารฝรั่งเศส และสนับสนุนให้กัมพูชาประกาศเอกราช ต่อมา 9 มีนาคม พ.ศ. 2488 พระนโรดม สีหนุกษัตริย์กัมพูชาในขณะนั้นได้ประกาศเอกราชของกัมพูชา โดยได้รับการรับรองจากญี่ปุ่น ในวันที่ 13 มีนาคม พระนโรดม สีหนุ ได้เปลี่ยนชื่อที่เป็นทางการของประเทศที่เขียนด้วยอักษรโรมันจาก Cambodge ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศสเป็น Kampuchea ซึ่งมาจากภาษาเขมร เซิง งอกทัญ กลับมาถึงกัมพูชาในเดือนพฤษภาคมและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในอีกสองเดือนถัดมา.[5]

ในวันที่ 9-10 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เกิดการรับประหารต่อต้านพระนโรดม สีหนุ ผู้นำในการรัฐประหารคือเซิง งอกทัยและผู้สนับสนุนเพื่อเรียกร้องให้พระนโรดม สีหนุสละราชสมบัติ คณะรัฐมนตรีทั้งหมดถูกฝ่ายรัฐประหารควบคุมตัวไว้ ยกเว้นสมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์มุนีเรศ[4] แม้จะคาดว่าญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ แต่ญี่ปุ่นเองก็ประกาศยอมแพ้สงครามในอีกไม่กี่วันต่อมา เซิง งอกทัญพยายามรักษาสถานภาพของรัฐบาลไว้ โดยจัดให้มีการหยั่งเสียงการสนับสนุนเอกราช ซึ่งมีเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น[4] อย่างไรก็ตาม รัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่นในกัมพูชานี้คงอยู่จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2488 ก็สิ้นสุดอำนาจลงเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาในกัมพูชา

การยึดครองกัมพูชาของญี่ปุ่นสิ้นสุดลงเมื่อการประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรเข้าสู่กัมพูชา ทหารญี่ปุ่นในกัมพูชาถูกปลดอาวุธ ฝรั่งเศสกลับมาสถาปนาการปกครองแบบอาณานิคมที่พนมเปญอีกในเดือนตุลาคม เซิง งอกทัญถูกส่งไปกักบริเวณในฝรั่งเศสเป็นเวลา 6 ปี กลุ่มผู้สนับสนุนเซิงงอกทัญยังคงต่อสู้แบบใต้ดินและฝังตัวในดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทย กลุ่มเขมรอิสระซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสที่มีไทยหนุนหลังยังคงดำเนินการอยู่ แม้ว่าจะแตกแยกกันไปในที่สุดหลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2497.[6]

อ้างอิง แก้

  1. Milton Osborne, Sihanouk, Prince of Light, Prince of Darkness. Silkworm 1994
  2. "Jean-Philippe Liardet, L'Indochine française pendant la Seconde Guerre mondiale; Les accords de septembre 1940". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-05. สืบค้นเมื่อ 2011-10-02.
  3. "Jean-Philippe Liardet, L'Indochine française pendant la Seconde Guerre mondiale; La guerre contre le Siam, 1940-41". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-30. สืบค้นเมื่อ 2011-10-02.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ธิบดี บัวคำศรี. ประวัติศาสตร์กัมพูชา.พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. เมืองโบราณ. 2555
  5. Cambodia, The Emergence of Nationalism
  6. Cambodia, Appendix B - Major Political and Military Organizations