พุทธมณฑล
พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ในตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อเป็นการฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500 มีพระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล เรียกว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี พระพุทธรูปนี้มีความโดดเด่นทางผ้าจีวรที่พลิ้วเหมือนจริง พระพุทธรูปนี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2525 คราวพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
พุทธมณฑล | |
---|---|
ชื่อสามัญ | พุทธมณฑล |
ที่ตั้ง | 25/25 หมู่ที่ 6 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม |
พระประธาน | พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ |
กิจกรรม | กิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, กิจกรรมวันสำคัญและประเพณีต่าง ๆ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พุทธมณฑลในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วย
ประวัติ
แก้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2487 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พยายามออกกฎหมายจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลที่จังหวัดสระบุรีตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีผู้วิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อมิให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดในเขตที่ประกาศเป็นพุทธสถาน อย่างไรก็ตาม พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลได้ถูกยกเลิกโดยรัฐสภาในกาลต่อมาเมื่อจอมพล ป. ไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ ผ่านพ้นไป จอมพล ป. ก็ได้กลับมาบริหารราชการแผ่นดินอีกครั้งและสานต่อโครงการดังกล่าว
ในปี พ.ศ. 2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500 [1] เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ณ สถานที่ซึ่งต่อมาเป็น อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนครชัยศรีและต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอพุทธมณฑลตามลำดับ) การก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย แต่การจัดสร้างได้ชะลอตัวไประยะหนึ่ง ด้วยปัญหาด้านงบประมาณ
พ.ศ. 2521 รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นและถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนงานจัดสร้างพุทธมณฑลจากกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมการศาสนา เป็นเจ้าของเรื่องใช้เงินงบประมาณของรัฐและการบริจาคของประชาชน อีกทั้งการจัดสร้างพุทธมณฑลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงให้งานก่อสร้างพุทธมณฑลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้การก่อสร้างได้สำเร็จก้าวหน้าไปอย่างมาก เนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีใน พ.ศ. 2525
การก่อสร้างพุทธมณฑลได้ดำเนินการมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[2] เมื่อสร้างองค์ "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพุทธมณฑลมาโดยตลอดเช่น มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และ หอประชุม เป็นต้น
สิ่งก่อสร้าง
แก้- วิหารพุทธมณฑล เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิวาส[3] ผนังวิหารทำเป็น 2 ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป 8 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 25 พุทธศตวรรษขนาด 2,500 มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2518
- สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
- ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2524
- ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2526
- หอประชุม สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมทางพระพุทธศาสนา และให้ความรู้ อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างด้านทิศเหนือใช้เป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จ พ.ศ. 2529
- หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาด 1.60 เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2526
- สำนักงานพุทธมณฑล ลักษณะอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2525
- อาคารประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525
- ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธานมีทั้งหมด 20 หลัง ด้านข้างโปร่ง
- ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป 6 เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด 8 หลัง
- พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทยเป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนที่ 2 จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ 3 ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ ฯ
- หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ (นามพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ห้องอ่านหนังสือจุได้ 500 คน มีหนังสือประมาณ 500,000 เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ
- มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ 9 ยอด ประดิษฐานในท่ามกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด 1.10 x 2.00 เมตร จำนวน 1,418 แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ. 2532 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541
- โรงอาหาร เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย บริการด้านอาหารเมื่อมีกิจกรรมในพุทธมณฑล
- หอฉัน ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นที่อบรมศีลธรรม จริยธรรม ของนักเรียน นักศึกษาที่มาพักแรมเข้าค่ายพุทธบุตร
- ท่าเทียบเรือ อยู่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านหลังใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งเรือแล่นไปได้รอบพุทธมณฑล
- สระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังวิหาร มีขอบสระใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลอยกระทง
- ศาลาอำนวยการ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน และวัตถุมงคล
- ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ด้านหลังศาลาอำนวยการใกล้องค์พระ
- สำนักงานย่อย อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่
- ศาลาสรีรสราญ ห้องสุขา
- เรือนแถว ที่พักของเจ้าหน้าที่ป้อมยาม มี 8 หลัง [4]
ระเบียงภาพ
แก้-
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑล สุทรรศน์
-
ธรรมจักรบริเวณส่วนสังเวชนียสถาน 4 ตำบล
-
ถนนอุทยาน
-
ภายในวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน
-
ภายในวิหารพุทธมณฑล
-
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์
-
รูปสลักหินอ่อนพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ภายในมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน
ถนนที่อยู่ในโครงการพุทธมณฑล
แก้ถนนพุทธมณฑลสายต่าง ๆ เป็นถนนที่แยกย่อยออกไปจากถนนเพชรเกษมในทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนบรมราชชนนี (ขณะที่มีโครงการพุทธมณฑลยังไม่มีถนนดังกล่าว) ไปสิ้นสุดก่อนถึงทางรถไฟสายใต้
- ถนนพุทธมณฑล สาย 1 (กรุงเทพมหานคร)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 2 (กรุงเทพมหานคร)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 3 (กรุงเทพมหานคร)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 4 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3310)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 5 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3414)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 6 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3316)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 7 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3415)
- ถนนพุทธมณฑล สาย 8
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัตถุประสงค์ 8 ประการในการจัดสร้างพุทธมณฑล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-04-21.
- ↑ "ประวัติการก่อสร้างพุทธมณฑลจากเว็บไซด์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-04-21.
- ↑ พุทธมณฑล : เมกะโปรเจกต์พุทธสถานยุคกึ่งพุทธกาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ↑ ""พุทธมณฑล" ศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-03. สืบค้นเมื่อ 2007-04-21.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พุทธมณฑลจากเว็บไซด์สำนักงานพุทธมณฑล เก็บถาวร 2007-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เอกสารแนะนำพุทธมณฑล 3 ภาษา.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พุทธมณฑล
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์