กรมการศาสนา

กรมการศาสนา (อังกฤษ: Department of Religious Affairs) เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่การดำเนินงานของรัฐด้านศาสนา โดยการทำนุบำรุงส่งเสริมและให้ความอุปถัมภ์คุ้มครองกิจการศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ที่ทางราชการรับรอง (ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์) ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมความเข้าใจอันดี และสร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้คนไทยนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็นคนดีมีคุณธรรม

กรมการศาสนา
Department of Religious Affairs
ตรากรมศาสนา.png
ตรากรมการศาสนา
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง20 สิงหาคม พ.ศ. 2484
สำนักงานใหญ่10 ถนนเทียมร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี398.9637 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ชัยพล สุขเอี่ยม, อธิบดี
  • สำรวย นักการเรียน, รองอธิบดี
เว็บไซต์http://www.dra.go.th

ประวัติแก้ไข

ในปี พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมที่เกี่ยวกับการศาสนา และการศึกษามาอยู่กรมเดียวกัน มีชื่อว่า "กรมธรรมการ" และได้รับการสถาปนาเป็น "กระทรวงธรรมการ" ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435

ในปี พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า "ราชการของกระทรวงธรรมการและกรมศึกษาธิการนั้นต่างชนิดกันทีเดียว ยากที่จะเจ้ากระทรวงผู้สามารถบัญชาการได้ดีทั้ง 2 กรม คงได้ทางหนึ่งเสียทางหนึ่ง" มีพระบรมราชประสงค์จะให้ราชการเป็นไปสะดวก ทั้งจะให้สมแก่ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกโดยตรง จึงมีพระบรมราชโองการให้ย้ายกรมธรรมการ มารวมอยู่ในพระราชสำนักตามประเพณีเดิม ส่วนกระทรวงธรรมการให้เรียก "กระทรวงศึกษาธิการ" มีหน้าที่จัดการศึกษา ในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรจะแยกจากวัด" และได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการ เป็น กระทรวงธรรมการ โดยได้งานด้านพระศาสนามาไว้ในกระทรวงธรรมการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2484 มีผลให้เปลี่ยนชื่อ กระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อ กรมธรรมการเป็น "กรมสาสนา"[2]

ในปี พ.ศ. 2495 มีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรม และโอนกิจการของกรมการศาสนาเข้าไปสังกัด[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 จึงได้โอนกลับมาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามเดิม[4] ส่วนงานวัฒนธรรมมีฐานะเป็นกอง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2515 กองวัฒนธรรม จึงโอนมาสังกัดกรมการศาสนา และในช่วงนี้ ซึ่งสถานการณ์โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น กรมการศาสนาภายใต้การเป็นอธิบดีของพันเอกปิ่น มุทุกันต์ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์[5]

ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการจัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ" สังกัดกระทรวงศึกษาธิการขึ้น กระทั่งการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 จึงมีการโอนกรมการศาสนา ไปสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม[6] และมีการจัดตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีอีกหน่วยงานหนึ่ง

หน่วยงานภายในแก้ไข

กรมการศาสนา มีหน่วยงานภายใน 4 หน่วยงาน[7] ได้แก่

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองศาสนูปถัมภ์
  • สำนักพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
  • สำนักงานขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ

อ้างอิงแก้ไข

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484
  3. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495
  4. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501
  5. วิราวรรณ นฤปิติ, “พันเอกปิ่น มุทุกันต์ จากลูกอีสานสู่อนุศาสนาจารย์ นักรบผู้ปกป้องศาสนาพุทธในยุคสงครามเย็น,” ใน กิตติพงษ์ ประพันธ์ (บก.), บทความสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 13 “ภูมิภาคนิยม และท้องถิ่นนิยมสมัยใหม่ในโลกไร้พรมแดน” ([มปท.]: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2562), น. 252-265.
  6. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
  7. กรมการศาสนา มีหน่วยงานภายใน 4 หน่วยงาน

ดูเพิ่มแก้ไข

หนังสือและบทความแก้ไข

เว็บไซต์แก้ไข

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข