อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน
อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน หรือที่มักเรียกกันว่า อนุสาวรีย์คู่บารมี เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงเหตุการณ์สิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในการรวบรวมแผ่นดินไทยได้สำเร็จ หลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรีได้เป็นชุมนุมสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2313 ตั้งอยู่ที่หน้าวัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์
พิกัด | 17°39′09″N 100°08′29″E / 17.652572°N 100.141491°E |
---|---|
ที่ตั้ง | หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี หน้าวัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์[1] |
ผู้ออกแบบ | อ.ยุทธกิจ ประสมผล, อ.สงกรานต์ กุณารบ นายช่างศิลปกรรมกรมศิลปากร |
ประเภท | พระบรมราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ |
วัสดุ | ทองเหลืองและทองแดงรมดำ |
ความสูง | 3.10 |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2558 |
สร้างเสร็จ | พ.ศ. 2563 |
การเปิด | 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 |
อุทิศแด่ |
อนุสาวรีย์คู่บารมี ตั้งอยู่ใจกลางตำบลคุ้งตะเภา หรือชื่อเดิมเมืองฝางสวางคบุรี บริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นวัดที่สถิตย์ของเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางสวางคบุรีรูปสุดท้าย[2] ด้านหน้าติดกับถนนพิษณุโลก-เด่นชัย บริเวณนี้เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง หน้าอนุสาวรีย์มีลานกว้างขนาดใหญ่ ด้านตรงข้ามของอนุสาวรีย์เป็นทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี สถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกระทำศึกรวบรวมแผ่นดินไทยได้สำเร็จตามพระราชพงศาวดาร[3] โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ในปี พ.ศ. 2559 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2563[4]
สถานที่
แก้สถานที่จัดสร้างอนุสาวรีย์อยู่ในที่ตั้งของวัดคุ้งตะเภาโดยได้รับสนับสนุนการดูแลพื้นที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา ภายในบริเวณอนุสาวรีย์มีพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติการพระราชสงครามฯ สำนักงาน ลานกิจกรรม สวนสาธารณะ และประติมากรรมต่าง ๆ ด้านหน้าอนุสาวรีย์เป็นแยกคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นสี่แยกไฟแดงสุดท้ายบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ก่อนขึ้นสู่จังหวัดแพร่ และเป็นต้นทางเข้าสู่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ และโบราณสถานอื่นๆ ของเมืองสวางคบุรีบนฝั่งซ้ายแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์[5]
อนุสาวรีย์ดังกล่าว ประดิษฐานบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาหันหน้าสู่ทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เพื่อรำลึกถึงอดีตเมืองสวางคบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเคยเป็นพื้นที่ ๆ พระยาพิชัยดาบหักได้มาฝึกมวยกับครูเมฆแห่งบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา ในวัยเด็ก และเป็นพื้นที่เกิดวีรกรรมการปรามชุมนุมเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรี สิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นชุมนุมสุดท้ายในสมัยธนบุรี รวมถึงยังเป็นสถานที่พระยาสีหราชเดโชได้รับเลื่อนยศเป็นพระยาพิชัยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย รับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร[6]
ประวัติการก่อสร้าง
แก้การก่อสร้างอนุสาวรีย์คู่บารมี ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนและผู้เคารพศรัทธาในพระเกียรติคุณและความกล้าหาญของพระองค์ท่านมาช้านาน ต่อมาได้มีการจัดตั้งมูลนิธิ 250 ปี วัดคุ้งตะเภา[7] เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ โดยมีนายภีมเดช อมรสุคนธ์ และคณะผู้ศรัทธาจากจังหวัดระยอง เป็นประธานที่ปรึกษา และในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันจัดพิธีเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี และมีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ฯ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ซึ่งประชาชนได้นำไม้โบราณมาแกะสลักเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักจากไม้ตะเคียนองค์แรกขนาดเท่าครึ่ง เพื่อประดิษฐานในบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนผู้เคารพศรัทธาได้ระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญเสียสละของท่าน ในปี พ.ศ. 2561 เป็นเบื้องต้น[8] ต่อมาได้มีการระดมทุนจากการบริจาคจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และมีการก่อสร้างฐานอนุสาวรีย์สำเร็จมาโดยลำดับ
ใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นวาระครบ 250 ปี วัดคุ้งตะเภา และครบรอบ 250 ปี การสำเร็จศึกปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง สิ้นสุดสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และครบรอบ 250 ปี ทรงสถาปนายศพระยาพิชัยดาบหัก ประชาชนชาวอุตรดิตถ์จึงได้พร้อมใจกันจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์หล่อด้วยทองเหลืองและทองแดงรมดำ มีขนาดเท่าครึ่ง สูง 3.10 เมตร และ 2.70 เมตร ใช้เวลา 6 เดือนในการออกแบบและทำการปั้นโดย อาจารย์ยุทธกิจ ประสมผล หล่อโดย อาจารย์สงกรานต์ กุณารบ นายช่างศิลปกรรมกรมศิลปากร โดยคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ นำโดยพระปัญญากรโมลี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ พระเทพสิทธาคม เจ้าคณะจังหวัดตาก พระสุขวโรทัย ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย หลวงพ่อหลาม จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และพระเกจิคณาจารย์จากจังหวัดหัวเมืองฝ่ายเหนือ 9 จังหวัด ที่เกี่ยวข้องกับการพระราชสงครามในคราวสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง รวมถึงตัวแทนผู้สืบเชื้อสายราชตระกูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตัวแทนผู้สืบเชื้อสายสกุลวิชัยขัทคะพระยาพิชัยดาบหัก และตัวแทนผู้สืบสายตระกูลมวยครูเมฆท่าเสา-เลี้ยงประเสริฐ[9] ได้พร้อมใจประกอบพิธีเสกจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563[10][11]
อนุสาวรีย์ดังกล่าว ได้มีพิธีเททองหล่อพระบรมรูปและรูปเหมือนโดยนายช่างกรมศิลปากร ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ สถานที่จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มีการประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณ ณ ท้องพระโรงพระราชวังกรุงธนบุรี (กองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ) พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ วัดอินทารามวรวิหาร ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณ ณ พระปรางค์บรรจุอัฐิพระยาพิชัยดาบหัก วัดราชคฤห์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 รวมถึงมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเททองหล่ออีกด้วย[12][13]
จากนั้นจึงได้มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ และแท่นอนุสาวรีย์ ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11.09 น. (ราชาฤกษ์วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) อนุสาวรีย์ประกอบด้วย พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับด้านซ้ายเป็นประธาน พระหัตถ์ทรงกุมเตรียมเก็บพระแสงดาบ พระยาพิชัยดาบหักอยู่เบื้องขวา ยืนคู่พระบารมีในฐานะขุนศึกคู่พระทัย เพื่อระลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของท่าน ที่ได้เคยร่วมรบเคียงคู่พระวรกายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการกอบกู้คืนอิสรภาพและความเป็นปึกแผ่นของไทยจนสำเร็จสมบูรณ์ได้ในปี พ.ศ. 2313 ณ เมืองสวางคบุรี ทั้งนี้ตัวฐานอนุสาวรีย์มีความสูงกว่า 8 เมตร เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สูงที่สุดในภาคเหนือ และเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักที่สูงที่สุดในประเทศไทย [14][15]
ระเบียงภาพ
แก้-
พระบรมราชานุสาวรีย์
-
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก
-
ลานกิจกรรมหน้าอนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน
-
อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน
-
พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ
อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). พิธีถวายสักการะพวงมาลัยดอกไม้สด สดุดีเกียรติคุณพระยาพิชัยดาบหัก วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Linkเก็บถาวร 2021-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๕ ตอน ๑๗, ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๑, หน้า ๑๓๘
- ↑ สำนักข่าวเนชั่นทีวี. (2563). อุตรดิตถ์-สร้างเหรียญคู่บารมีกู้แผ่นดินเทิดทูนพระเจ้าตากสิน-พระยาพิชัยดาบหัก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
- ↑ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. (2563). จ.อุตรดิตถ์ จัดพิธีรำลึก 248 ปี พระยาพิชัยดาบหัก 7 มกราคม 2316 ตามมาตรการป้องกัน โควิด-19. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link เก็บถาวร 2023-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ข่าวในประเทศ แนวหน้า. (2563). สกู๊ปพิเศษ : วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ รำลึก 248 ปี ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
- ↑ ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐
- ↑ ข่าวสดออนไลน์. (2563). เหรียญคู่บารมีกู้แผ่นดิน พระเจ้าตาก-พระยาพิชัยดาบหัก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
- ↑ กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). รหัสข่าวกระทรวงวัฒนธรรม "เหรียญคู่บารมีกู้แผ่นดิน พระเจ้าตาก-พระยาพิชัยดาบหัก" . [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
- ↑ สำนักข่าวเนชั่นทีวี. (2563). อุตรดิตถ์-สร้างเหรียญคู่บารมีกู้แผ่นดินเทิดทูนพระเจ้าตากสิน-พระยาพิชัยดาบหัก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link
- ↑ ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2563). พระแท่นศิลาอาสน์ ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหัวเมืองฝ่ายเหนือ : วัฒนคุณาธรานุสรณ์พระครูธรรมธรเทวประภาส. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-687-8
- ↑ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). พิธีเททองหล่อรูปเหมือนองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และรูปเหมือนพระยาพิชัยดาบหัก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Linkเก็บถาวร 2021-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ เว็บไซต์ที่ทำการปกครองจังหวัดน่าน. (2563). วาระผู้บริหารประจำจังหวัดน่าน 28 ธันวาคม 2563. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link[ลิงก์เสีย]
- ↑ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวัดคุ้งตะเภา จ.อุตรดิตถ์. (2563). พิธีประดิษฐานองค์คู่บารมีกู้แผ่นดิน สมโภช ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา (๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓). [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link เก็บถาวร 2023-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Northernnewsthailand - เกาะติดข่าวภาคเหนือ. (2563). วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ รำลึก 248 ปี ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : Link เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ดูเพิ่ม
แก้- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- พระยาพิชัยดาบหัก
- สภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
- ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมอิสระหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
- เมืองสวางคบุรี
- วัดคุ้งตะเภา (วัดเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางในสมัยรัตนโกสินทร์)
- วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ (วัดเจ้าคณะใหญ่เมืองฝางในสมัยอยุธยา) ศูนย์กลางเมืองสวางคบุรีโบราณ
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
- ศิริวรรณ คุ้มโห้. "พระยาพิชัยดาบหัก." บุคคลสำคัญของชาติ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : เดอะบุ๊คส์, [ม.ป.ป.]. หน้า 43-46. ISBN 978-974-394-229-7
- มณเฑียร ดีแท้. "ประวัติวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถและเจ้าพระฝางหัวหน้าก๊กเจ้าพระฝาง เมืองอุตรดิตถ์". อุตรดิตถ์ : วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์, 2519.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อนุสาวรีย์คู่บารมีกู้แผ่นดิน
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์