พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร[1][2] หรือชื่อที่นิยมเรียกติดปากของคนในพื้นที่ว่า หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี, หลวงพ่อใหญ่ทรงกลดปาฏิหาริย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ณ พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดคุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร
ชื่อเต็มพระสัมพุทธมุนี ศรีสุโขทัยไตรรัตนสวางคบุรีบพิธ สิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร[1][2]
ชื่อสามัญหลวงพ่อใหญ่
หลวงพ่อทรงกลดปาฏิหาริย์
ประเภทพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
ศิลปะศิลปะสุโขทัย
ความกว้าง10 เมตร
ความสูง19 เมตร
วัสดุซีเมนต์เสริมเหล็ก
สถานที่ประดิษฐานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
ความสำคัญพระประธานประจำพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์[1]
หมายเหตุเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ปลายพระเกศบุด้วยแผ่นทองคำจังโก มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดพระเกศ 19 เมตร เทียบเท่ากับตึก 8 ชั้น และมีความกว้างของหน้าตัก 10 เมตร ซึ่งการเดินวนรอบฐานองค์พระต้องใช้เวลากว่านาทีครึ่ง หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนีฯ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างบนถนนพุทธบูชา ในโครงการพุทธมณฑลของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ บนพื้นที่ธรณีสงฆ์กว่า 34 ไร่ ของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 วัดคุ้งตะเภา ที่มีความยาวเป็นเส้นตรงตลอดถนนกว่าครึ่งกิโลเมตร ทำให้มองเห็นได้จากระยะไกล นับเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดคุ้งตะเภาและจังหวัดอุตรดิตถ์[3]

ปัจจุบัน บริเวณโดยรอบองค์พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร เป็นที่ตั้งของลานธรรมภาวนา ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้พุทธคยา ต้นอานันทโพธิ์จากวัดพระเชตวันมหาวิหาร ต้นสาละจากประเทศอินเดีย ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และอุทยานธรรมสังเวชนียสถานสี่ตำบล ของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์[3]

ประวัติ แก้

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร สร้างขึ้นโดยดำริของ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาส และพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เพื่อสมโภชวาระครบ 250 ปี วัดคุ้งตะเภา ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยเริ่มดำเนินการระดมทุนจัดซื้อที่ดิน เพื่อก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา กว่า 10 ล้านบาท[3]

พระเมตตาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราช แก้

 
พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ประดิษฐานในองค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี ในปี พ.ศ. 2563

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร มีความเกี่ยวเนื่องและได้รับพระเมตตาคุณจากสมเด็จพระสังฆราช ถึง 2 พระองค์ คือ ในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระเมตตาธิคุณประทานแบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้ทรงเคยแบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์[4] ให้แก่วัดคุ้งตะเภา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรจุสร้างพระพุทธรูปใหญ่ของวัดคุ้งตะเภา[5] จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงมีพระเมตตาธิคุณโปรดประทานนามพระพุทธรูปใหญ่หน้าตักสิบเมตร ที่จัดสร้างขึ้นในวาระ 250 ปี วัดคุ้งตะเภา อีกด้วย ซึ่งคณะสงฆ์และคณะศรัทธาชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สำนึกในพระเมตตาธิคุณยิ่ง จึงได้พร้อมใจกันถวายสร้อยพระนามพระมหาปฏิมาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า "พระสัมพุทธมุนี ศรีสุโขทัยไตรรัตนสวางคบุรีบพิธ สิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร" แปลว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระมุนี ผู้ทรงให้สิริมงคลและความสุขเกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์ สถาปนาโดยพุทธศาสนิกชนชาวสวางคบุรีผู้ประกอบด้วยองค์คุณคือความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพื่อประดิษฐานไว้ให้เป็นพระมหาปฏิมา อันนำมาซึ่งสิริมงคลแก่จังหวัดอุตรดิตถ์"[1]

พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ แก้

 
องค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี ในปี พ.ศ. 2563

การสร้างพระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร เป็นส่วนหนึ่งของการถวายให้เป็นโครงการพุทธมณฑลของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งพระปัญญากรโมลี, ดร. เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้นำคณะศรัทธาพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ถวายพระพุทธรูปทองคำบรรจุบนยอดพระเกศขององค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากรอีกด้วย ทั้งนี้จากการสำรวจบัญชีของคณะสักขีพยานบรรจุพระบรมธาตุและมงคลวัตถุพบว่า มีผู้ศรัทธาถวายทองคำ อัญมณี สินแร่มีค่า และวัตถุมงคลมากมายหลายพันรายการจากคณะศรัทธาพ่อค้าประชาชนและพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศ เพื่อบรรจุในองค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี คิดเป็นมูลค่านับกว่า 9 ล้านบาท[3]

นอกจากนี้ ในองค์พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร ยังได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า[6] และสมเด็จพระสังฆนายก จากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น พระบรมสารีริกธาตุส่วนวิปปกิณณธาตุจากสมเด็จพระสังฆนายกแห่งประเทศพม่า[7] พระบรมสารีริกธาตุจากผู้สืบสายราชตระกูลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถวายพระบรมธาตุ โดยเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้แบ่งบรรจุในผอบพระกรัณฑ์ และพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย[8]

ความศรัทธาเลื่อมใสของชาวพุทธต่อหลวงพ่อใหญ่ฯ แก้

 
พระอาทิตย์ทรงกลดในพิธีเทปูนบรรจุพระพุทธรูปทองคำ

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งของคนในพื้นที่ว่า หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี "หลวงพ่อใหญ่ทรงกลด" หรือ "หลวงพ่อทรงกลดปาฏิหาริย์" เนื่องจากในวันเวลาทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และในวันเวลาทำพิธีเทปูนสถาปนาองค์พระในส่วนพระเกศเปลวเพลิงด้านบนสุด ซึ่งเป็นวันประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำของคณะศรัทธาพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ใช้เวลาประกอบพิธียาวนานกว่า 6 ชั่วโมงนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดขนาดใหญ่ตลอดเวลาประกอบพิธีทุกครั้ง และปรากฏเช่นเดียวกันเป็นเวลาถึง 2 วัน ที่ประกอบพิธี ซึ่งปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดขนาดใหญ่ในวันดังกล่าว พบเห็นได้ในหลายอำเภอของจังหวัดอุตรดิตถ์[9]

คำกล่าวสักการบูชาหลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี แก้

คาถาบูชาหลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี แก้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
“อิมินา สักกาเรนะ พระสัมพุทธะมุนีมหาปฏิมา
มหาเมตตานุภาโว
มหามังคละสัมพุทธา สัพพัตถะ สุขะ สัมพุทธา คุณันตานานัปปะโก
สัพพะทุกขัง สัพพะภะยัง สัพพะโรคัง วินาสสันติ”
สัพพะลาภัง สัพพะสุขัง ภะวันตุ เมฯ”

คำแปลคาถาบูชาหลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี แก้

“ข้าพเจ้า ขอบูชาองค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี
ขอผลบุญญาบารมี แห่งองค์หลวงพ่อใหญ่
ให้ทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงของข้าพเจ้าจงบำราศไป
ขอความร่มเย็นเป็นสุข จงมีแด่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ”

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 หนังสือสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ สสร.๑๓๓/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓ เรื่อง โปรดประทานนามพระพุทธรูป
  2. 2.0 2.1 สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช. (๒๕๖๓). ประทานบัตรพระนามพระพุทธรูปพระสุมพุทธมุนีศรีสุโขทัย. ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ไทยรัฐออนไลน์. (2563). ฮือฮา! พระอาทิตย์ทรงกรดในพิธีหล่อหลวงพ่อองค์ใหญ่. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/clip/424019
  4. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุหลวงส่วนพระองค์ รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu2/boromsaririkkathat/from_somdet_phra_nyanasamvara[ลิงก์เสีย]
  5. หนังสือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ พ ๐๔๓๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ประทานพระบรมสารีริกธาตุ
  6. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุหลวงส่วนพระองค์ รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu2/boromsaririkkathat/from_somdet_phra_nyanasamvara[ลิงก์เสีย]
  7. สำนักงานเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๑. (๒๕๕๕). หนังสือกำกับพระบรมสารีริกธาตุ จากพระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร. ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
  8. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุจากประเทศสาธารณรัฐอินเดีย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu/boromsaririkkathat/from_india เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. ไทยรัฐออนไลน์. (2563). ฮือฮา! พระอาทิตย์ทรงกรดในพิธีหล่อหลวงพ่อองค์ใหญ่. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/clip/424019

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°39′25″N 100°08′14″E / 17.656827367376618°N 100.1372050107989°E / 17.656827367376618; 100.1372050107989