อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ยอดสูงสุดของภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย[5] อุทยานแห่งนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น และการผจญภัยขึ้นสู่ลานสนสามใบอันสวยงาม มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่ มีความสวยงามมาก มีถนนลาดยาง เข้าถึงพื้นที่ทำให้สะดวกสบายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวมีเนื้อที่ 125,110 ไร่ หรือ 200.18 ตารางกิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว | |
---|---|
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 2 (อุทยานแห่งชาติ) | |
ลานสน | |
ที่ตั้ง | อำเภอบ้านโคก อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก |
พิกัด | 17°44′N 101°0′E / 17.733°N 101.000°E |
พื้นที่ | 340 km2 (130 sq mi)[1] |
จัดตั้ง | 28 พฤษภาคม 2551[2] |
ผู้เยี่ยมชม | 19,706[3] (2562) |
หน่วยราชการ | กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช |
ประวัติ
แก้อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แต่เดิมเป็นวนอุทยานภูสอยดาว ได้สำรวจจัดตั้งเป็นวนอุทยานภูสอยดาว โดยสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 มีพื้นที่เพียง 20,000 ไร่ จนกระทั่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกทำการสำรวจพื้นที่ เพิ่มเติมเพื่อผนวกเข้ากับพื้นที่เดิมของวนอุทยานภูสอยดาว ผลการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และในเขตป่าไม้ถาวรตามป่าภูสอยดาวท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เนื้อที่รวม 48,962.5 ไร่ หรือ 78.34 ตารางกิโลเมตร
ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกได้ขอจัดตั้งวนอุทยานภูสอยดาวเป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้รายงานให้กรมป่าไม้ทราบว่า พื้นที่วนอุทยานภูสอยดาวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเห็นสมควรที่จะรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถผนวกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จนกระทั่งปี 2551 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 71 ก ลงวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[6]
สภาพภูมิประเทศภูมิอากาศ
แก้ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับ ซ้อนตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้ เป็นเทือกเขากั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,800 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำภาค และลำน้ำปาด มีอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงเฉลี่ย 35.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 13.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วไป 27.0 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,334.4 มิลลิเมตร/ปี ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
แหล่งท่องเที่ยว
แก้- น้ำตกภูสอยดาว: อยู่ริมเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1268 ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นมีชื่อไว้อย่างไพเราะว่า ภูสอยดาว สกาวเดือน เหมือนฝัน กรรณิการ์ และสุภาภรณ์ มีน้ำไหลตลอดปี ท่องเที่ยวได้ตลอดปี
- น้ำตกสายทิพย์: อยู่ข้างบนลานสนภูสอยดาวเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 7 ชั้น ความสูงแต่ละชั้นประมาณ 5-10 เมตร สภาพป่าโดยรอบน้ำตกมีความชุ่มชื้นมาก จึงมีมอสส์สีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วไปตามก้อนหินริมน้ำ (เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวลานสนภูสอยดาว ช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง 10 มกราคม ของทุกปี)
- ทุ่งดอกไม้ในบริเวณป่าสนสามใบ : ช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีดอกไม้ดินชูช่อแย่งกันออกดอกเป็นกลุ่มหนาแน่น เช่น ดอกหงอนนาค, ดอกสร้อยสุวรรณา และดอกหญ้ารากหอม ในฤดูหนาวจะมีดอกกระดุมเงิน, กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และต้นเมเปิลซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสวยงามมาก(เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวลานสนภูสอยดาว ช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง 10 มกราคม ของทุกปี)
- ลานสนสามใบภูสอยดาว: เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ มีพื้นที่ประมาณ 1,000 กว่าไร่ เป็นที่ราบบนเทือกเขาภูสอยดาว ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,633 เมตร สภาพพื้นที่ของลานสนสามใบจะเป็นเนินสูงต่ำสลับกันไป เป็นป่าสนสามใบ พืชชั้นล่างเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ การเดินทางไปเที่ยวลานสนสามใบภูสอยดาว ต้องเดินทางเท้าจากน้ำตกภูสอยดาวริมเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1268 ขึ้นสู่ยอดภูสอยดาวระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 4-6 ชั่วโมง(เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวลานสนภูสอยดาว ช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง 10 มกราคม ของทุกปี)
- หลักเขตไทย-ลาว: เป็นหลักเขตที่ปักปันเขตแดนแบ่งระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว มีขึ้นหลังสงครามบ้านร่มเกล้า(เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวลานสนภูสอยดาว ช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง 10 มกราคม ของทุกปี)
- พิชิตยอดภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร (เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวพิชิตยอดภูสอยดาว ช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง 10 มกราคม ของทุกปี)
การเดินทาง
แก้การเดินทางด้วยรถยนต์สามารถไปได้ 2 เส้นทางคือ
- จากจังหวัดพิษณุโลก ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคไปบรรจบกับเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 1268 ถึงน้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร[6]
- ใช้เส้นทาง อุตรดิตถ์-น้ำปาด (ทางหลวงหมายเลข 117) ออกจากจังหวัดอุตรดิตถ์ พอถึง อ.น้ำปาด ให้เลี้ยวรถเข้าไปใช้ทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1239 แล้วขับรถไปอีกประมาณ 46 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวรถไปใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 ขับไปประมาณ 19 กิโลเมตรก็จะถึง อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร
สิ่งอำนวยความสะดวกบนอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
แก้- ที่จอดรถ: มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
- บริการอาหาร: มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว เฉพาะทางขึ้นภู
- ลานกางเต็นท์: อุทยาน แห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถาน ที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
- ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว: มีศูนย์ บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน หรือสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 09 5629 9528ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
การขออนุญาต และกติการการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาตภูสอยดาว
แก้- นักท่องเที่ยวลงทะเบียนจองเข้าอุทยานแห่งชาติล่วงหน้าได้ 15 วัน ผ่านแอพลิเคชั่น QueQ (ทางอุทยานจำกันนักท่องเที่ยวขึ้นลานสนเพียง 150 คนต่อวันเท่านั้น; ผ่านแอพลิเคชั่น QueQ 102 คน และ Walk-in 48คน)
- ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที เพื่อกรอกข้อมูลเพื่อทำการลงทะเบียน ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
- ชั่งสัมภาระ จุดบริการที่ 1 หากต้องการจะจ้างลูกหาบ จากนั้นจะต้องขึ้นรถรับ-ส่งของอุทยานฯเพื่อไปยังจุดบริการนักท่องเที่ยวที่ 2 (น้ำตกภูสอยดาว)
- ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวอนุญาตให้ลงทะเบียนภายในเวลา 07:00-13:00 เท่านั้น
รางวัลอันทรงคุณค่าที่ได้รับ
แก้- รางวัลสถานที่ท่องเที่ยว 1 ใน 9 แห่งสุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวเมืองไทย ในโครงการ Thailand's Top Destinations Vote
อ้างอิง
แก้- ↑ "ภูสอยดาว". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สืบค้นเมื่อ 10 August 2021.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำปาด และป่าภูสอยดาว ในท้องที่ตำบลม่วเจ็ดต้น ตำบลบ้านโคก ตำบลนาขุม อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ใหเป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 125 (71 Kor): 1–3. 28 May 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-28. สืบค้นเมื่อ 30 December 2020.
- ↑ "สถิตินักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2562". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. 2019. สืบค้นเมื่อ 16 February 2021, no.95 Phu Soi Dao N.P.
{{cite web}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์) - ↑ "Phu Soi Dao". Protected Planet. สืบค้นเมื่อ 28 October 2022.
- ↑ “10 อันดับยอดเขาที่สูงที่สุดของไทย”[ลิงก์เสีย]
- ↑ 6.0 6.1 อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เก็บถาวร 2006-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เก็บถาวร 2013-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซด์อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เก็บถาวร 2006-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน