พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

อาคารในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน[2] เป็นพระที่นั่งเดิมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นครั้งแรกโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต่อมารื้อสร้างใหม่โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
ประเภทพระที่นั่ง
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
การใช้งานดั้งเดิมท้องพระโรงสำหรับพระราชวังบวรสถานมงคล
บูรณะพ.ศ. 2402
บูรณะโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ [1]
สถานะยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้ดูแลกรมศิลปากร
ขึ้นเมื่อ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล
เลขอ้างอิง0000015

ประวัติ

แก้

พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน หรือ พระที่นั่งศิวโมกขสถาน ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าคงเป็นนามเดิมของพระที่นั่งองค์นี้ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ชื่อที่สอดคล้องกับนาม "พระพิมานดุสิตา" เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหลัง โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้ใช้เป็นท้องพระโรงเสด็จออกขุนนาง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล การสร้างพระที่นั่งองค์นี้ถ่ายแบบพระที่นั่งมาจากพระที่นั่งทรงปืนที่พระราชวังหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น จึงมีบางคนเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งทรงปืน" อย่างไรก็ตาม เมื่อพระราชมณเฑียรสร้างแล้วเสร็จ พระที่นั่งองค์นี้ก็ใช้เป็นเพียงสถานที่เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ดังนั้น บางครั้งจึงเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า "พระที่นั่งทรงธรรม" พระที่นั่งแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ตั้งพระศพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทด้วย

ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้รื้อพระที่นั่งศิวโมกขพิมานที่สร้างขึ้นจากไม้เปลี่ยนมาเป็นพระที่นั่งที่ก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง และได้ขยายขนาดให้พระที่นั่งใหญ่โตขึ้น เมื่อสร้างแล้วเสร็จพระที่นั่งองค์นี้ยังคงใช้เป็นที่เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลเช่นเดิม และยังใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกงเต็กในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

เดิมพระที่นั่งแห่งนี้เป็นพระที่นั่งโถง ต่อมา เมื่อใช้พระที่นั่งแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปี พ.ศ. 2430 จึงได้สร้างผนังขึ้นมา[3] ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

อ้างอิง

แก้
  1. ประชุมพงศาวดาร - เล่มที่ 11, https://books.google.co.th/ .สืบค้นเมื่อ 03/01/2561
  2. ราชบัณฑิตยสถาน (2548). พจนานุกรมวิสามานยนามไทย: วัง วัด ถนน สะพาน ป้อม (2 ed.). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. p. 346-347.
  3. ราชบัณฑิตยสภา, อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, พ.ศ. 2470
  • แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์. พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525). [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

ดูเพิ่ม

แก้