หลวงพ่อสุวรรณเภตรา


พระพุทธสุวรรณเภตรา หรือนามสามัญ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 1 ใน 9 องค์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ องค์พระหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 47 นิ้ว สูง 62 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี) มีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย

พระพุทธสุวรรณเภตรา
ชื่อเต็มพระพุทธสุวรรณเภตรา มหาบรมไตรโลกเชษฐ์ วรเสฏฐมุนี โอฆวิมุตตินฤบดี ศรีบรมไตรโลกนารถ โลกธาตุดิลกฯ
(คำแปล) “พระพุทธองค์ผู้เป็นศาสดาจอมมุนีผู้ประเสริฐยิ่งใหญ่ทั่วสามภพผู้นำสรรพสัตว์ก้าวล่วงโอฆสงสารด้วยจตุราริยสัจจธรรมและอริยัฏฐังคิกมรรค อุปมาดั่งนายเรือสำเภาทองอันนำสรรพสัตว์ทั้งปวงก้าวล่วงพ้นมหาสมุทรแห่งสังสารวัฏ ด้วยความเป็นผู้ยิ่งด้วยปรีชาญาณปัญญาฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวงฉะนั้นฯ”[1]
ชื่อสามัญหลวงพ่อสุวรรณเภตรา, หลวงพ่อสำเภาทอง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ความกว้าง47 นิ้ว
ความสูง62 นิ้ว (ตลอดถึงพระรัศมี)
วัสดุโลหะ
สถานที่ประดิษฐานอุโบสถ วัดคุ้งตะเภา
ความสำคัญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
หมายเหตุเปิดให้สักการบูชาทุกวัน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา สถาปนาโดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล พระครูเกจิใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในอดีต องค์พระได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา ในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของชาวคุ้งตะเภามาช้านาน

ปัจจุบันหลวงพ่อสุวรรณเภตราประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันทางวัดคุ้งตะเภาเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะได้ทุกวัน

ประวัติ แก้

 
พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม)

พระพุทธสุวรรณเภตรา ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 โดยพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาอยู่ในขณะนั้น ได้ปรารภให้จัดสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภาที่ได้สร้างขึ้นใหม่

โดยได้ทำพิธีเททองหล่อขึ้น ณ วัดดอยท่าเสา โดยมีพระครูเกจิใหญ่ของเมืองอุตรดิตถ์ที่เป็นที่นับถือเลื่อมใสในสมัยนั้นร่วมนั่งปรกอธิษฐาน (เช่น หลวงพ่อไซร้ หลวงพ่อเจิม หลวงพ่อเพิ่ม หลวงพ่อกลอง) โดยในการหล่อครั้งนั้นมีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธานำโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่นทองคำ เงิน ฯลฯ มาร่วมถวายหล่อเป็นพุทธบูชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งพิธีในครั้งนั้นนับเป็นงานที่มีพระเกจิอาจารย์ใหญ่แห่งเมืองอุตรดิตถ์มาร่วมปรกปลุกเสกมากที่สุดครั้งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์

และเมื่อหล่อองค์พระเสร็จ ก็ปรากฏว่าทองคำได้แล่นลงที่เศียรพระมากอย่างน่าอัศจรรย์ จึงปรากฏองค์พระพุทธรูปซึ่งกรอปไปด้วยพุทธสิริศุภลักษณะมีพระพักตร์อิ่มเอิบสุกปลั่งประดุจดั่งทองคำ (ซึ่งเมื่อผู้ใดมองไปที่พระพักตร์ขององค์ท่านก็จะทราบด้วยตนเองว่า พระพุทธรูปองค์นี้ "ยิ้มได้" อย่างน่าอัศจรรย์ )

อภินิหาร แก้

มีเรื่องเล่าที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันสืบมาด้วยความศรัทธาว่า ในวันที่ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อมาทางน้ำเพื่อมาประดิษฐานที่อุโบสถวัดคุ้งตะเภา ปรากฏว่าวันนั้นมีพายุฝนรุนแรงมาก แต่เมื่ออัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นฝั่งก็ปรากฏว่าฝนที่กำลังตกหนักอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกกลับพลันหยุดตกทันที และเมฆฝนที่ปกคลุมอาณาบริเวณมณฑลพิธีกลับพลันสลาย และแดดกลับออกจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้ร่วมพิธีในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

หลวงพ่อสุวรรณเภตรา หรือที่แปลว่า หลวงพ่อสำเภาทอง เป็นพระนามที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ขนานถึงด้วยความเลื่อมใสศรัทธานับถือมาช้านาน ประวัติความเป็นมาอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้และวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยองค์ท่าน เป็นที่นับถือเลื่องลือ เห็นได้จากการกล่าวขานเลื่องลือถึงฤทธานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แคล้วคลาดด้วยบารมีแห่งผู้ที่เคารพบูชาวัตถุมงคล เนื่องด้วยองค์ท่านอยู่เนือง ๆ และการที่มีผู้มาบนบานและแก้บนองค์หลวงพ่ออยู่เป็นประจำมิว่างเว้น

วัตถุมงคล แก้

วัดคุ้งตะเภาได้จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญหลวงพ่อสุวรรณเภตรา เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมสมทบทุนบูรณะอุโบสถเป็นรุ่นแรกใน ปี พ.ศ. 2538 และจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อสุวรรณเภตราเพื่อมอบแก่ผู้มีจิตศรัทธาและพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสในโอกาสที่ทางวัดได้จัดให้มีงานทำบุญฉลองซุ้มประตูใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2545 เป็นรุ่นที่สอง

สำหรับเหรียญวัตถุมงคล รุ่นบูรณะโบสถ์ นั้นจัดสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2538ด้วยเนื้อโลหะสุวรรณชาดรมดำ ผสมโลหะศักดิ์สิทธิ์ มี 2 แบบคือ เหรียญรูปไข่ และเหรียญทรงอาร์ม มีห่วงคล้อง

สำหรับเหรียญวัตถุมงคล รุ่นสร้างซุ้มประตู นั้นจัดสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 ด้วยเนื้อโลหะสุวรรณชาดรมดำ มีทรงเดียวคือ เหรียญทรงอาร์ม มีห่วงคล้อง ใส่ตลับพลาสติกปั้มลายทอง

วัตถุมงคลที่วัดคุ้งตะเภาได้จัดสร้างขึ้นทั้งหมดนั้น ได้รับการปลุกจิตอธิษฐานและผ่านพิธีพุทธาภิเษกจาก พระเดชพระคุณ พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ) ทุกรุ่น และทุกรุ่นมิได้จัดสร้างขึ้นเพื่อมุ่งหารายได้ ดังนั้นจึงนับได้ว่า เหรียญและล็อกเก็ตหลวงพ่อสุวรรณเภตรานี้ เป็นวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ควรค่าแก่การเคารพบูชาและนำติดตัวเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เป็นเครื่องเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนผู้บูชาได้รำลึกถึงคุณของ พระรัตนตรัย และเป็นเครื่องหมายแห่งความยึดมั่นในองค์คุณแห่งผู้มีสัมมาทิฐิและเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาสืบไป

คำกล่าวสักการบูชาหลวงพ่อสุวรรณเภตรา แก้

คาถาบูชาหลวงพ่อสุวรรณเภตรา แก้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
“อิมัง สุวัณณะเภตะระพุทธะปะฏิมัง
สิระสา นะมามิหัง
อิมิสสานุภาเวนะ
สัพพะโสตถี ภะวันตุ เมฯ”

คำแปลคาถาบูชาหลวงพ่อสุวรรณเภตรา แก้

“ข้าพเจ้า ขอบูชาองค์หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
ด้วยบุญญานุภาพ แห่งองค์หลวงพ่อสุวรรณเภตรา
ขอความร่มเย็นเป็นสุข และความสำเร็จดังปรารถนาทั้งปวง
จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญฯ”

อ้างอิง แก้

  • เทวประภาส มากคล้าย. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: พงษ์วิทยาการพิมพ์.
  1. หลวงพ่อสุวรรณเภตรา. แผ่นพับประชาสัมพันธ์ งานปิดทองสรงน้ำพระสงกรานต์ สองมหาพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์ วัดคุ้งตะเภา ประจำปี ๒๕๕๒. วัดคุ้งตะเภา: ๒๕๕๒

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°39′12″N 100°08′25″E / 17.653399°N 100.14016°E / 17.653399; 100.14016