พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ)

(เปลี่ยนทางจาก พระครูธรรมกิจจาภิบาล)

พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) (นามเดิม: กลม นิยมเดช) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ (พ.ศ. 2421 - พ.ศ. 2492) เป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักยิ่งรูปหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่า (เกจิอาจารย์ยุคก่อน พ.ศ. 2500) ก่อนหน้าหลวงปู่ พระนิมมานโกวิท (หลวงปู่ทองดำ ฐิตวณฺโณ) ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์แห่งเมืองอุตรดิตถ์ในยุคหลัง[1] [2] ท่านมรณภาพในปี พ.ศ. 2492 ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านเป็นที่เลื่องลือในด้านแคล้วคลาดและอยู่ยงคงกระพัน

พระครูธรรมกิจจาภิบาล

(กลม สุวณฺโณ)
พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) พระเถระซึ่งเป็นที่นับถือของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยช่วงปี ก่อน พ.ศ. 2500
ชื่ออื่นหลวงพ่อกลม
ส่วนบุคคล
เกิด1 เมษายน พ.ศ. 2421 (71 ปี)
มรณภาพ1 ธันวาคม พ.ศ. 2492
นิกายมหานิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดดอยท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์
อุปสมบท1 พฤษภาคม พ.ศ. 2440
พรรษา52
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา, อดีตเจ้าคณะอำเภอฟากท่าและท่าปลา

ประวัติ แก้

พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) หรือหลวงพ่อกลม ท่านเป็นคนบ้านคุ้งตะเภา ตำบลท่าเสา แขวงบางโพ เมืองพิชัย (บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน) เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2421 มีชื่อเดิมว่า กลม นิยมเดช บิดาชื่อนายชื่น มารดาชื่อนางจันทร์ ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบบวชเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ณ พัทธสีมาวัดใหญ่ท่าเสา โดยมีพระอธิการอินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์สี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "สุวณฺโณ"

ท่านได้รับแต่งตั้งจากพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี (เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น) ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 และท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการระดับต่าง ๆ ตามลำดับ เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด (เมื่อวันที่22 มีนาคม พ.ศ. 2466) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ (เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2481) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงกิ่งฟากท่าในปี พ.ศ. 2482 (โดยเป็นอยู่ 6 เดือนจึงได้ย้ายไปเป็นเจ้าคณะแขวงท่าปลาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน)

และด้วยการที่ท่านดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ช่วยงานพระศาสนามาเป็นลำดับ มีผลงานปรากฏมากมาย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นที่ "พระครูธรรมกิจจาภิบาล" เมื่อปี พ.ศ. 2484[3]

ผู้ที่ยังทันเห็นท่านเล่าว่าในขณะที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ หากดูจากภายนอกจะดูเป็นคนดุ พูดเสียงดังฟังชัด แต่จิตใจท่านเมตตาเสมอ ดังสำนวนที่ว่า ปากร้ายใจดี ใครจะบวชกับท่านต้องท่องขานนากให้ได้ ไม่เช่นนั้นท่านจะไม่บวชให้ ท่านมักเป็นที่กล่าวถึงในคุณาภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องรูปหล่อที่ท่านได้จัดสร้างเช่น เหรียญกลมหลังท้องกระทะ รุ่นแรก (พ.ศ. 2483) และพระพุทธชินราช (พ.ศ. 2481) ซึ่งรวมไปถึงวัตถุมงคลที่ท่านได้ปรกจิตภาวนาด้วย เช่น เหรียญวัตถุมงคลหลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน รุ่นแรก ไปจนถึงพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ซึ่งท่านได้ตั้งใจสร้างฝากถวายวัดบ้านเกิดของท่านเป็นครั้งสุดท้าย คือ หลวงพ่อสุวรรณเภตรา วัดคุ้งตะเภา (สร้างปี พ.ศ. 2491) อันเป็นพระพุทธรูปหล่อ ซึ่งมีพระพุทธลักษณะงดงามมาก และเป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้ศรัทธาว่า อภินิหารของพระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เปรียบประดุจสรรพวิชาอาคมของหลวงพ่อกลมได้ถ่ายทอดมาลงอยู่ในองค์พระจนสิ้น

หลวงพ่อกลมมรณภาพเมื่อเมื่อเวลา 20.27 นาฬิกา. ของวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2492 หลังจากสร้างหลวงพ่อสุวรรณเภตราได้ปีเดียว

ปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานาน แต่ก็ยังมีผู้เคารพศรัทธาชาวอุตรดิตถ์กล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อกลมอยู่เสมอมา ทำให้มีผู้นับถือแสวงหาเหรียญรูปหล่อบูชาของท่านเพื่อรักษาไว้เป็นสิริมงคลตลอดมาจนปัจจุบัน[4]

ประมวลภาพเนื่องด้วยพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระครูธรรมกิจจาภิบาล เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่า ร่วมสมัยเดียวกับ หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม เป็นเกจิรุ่นอาจารย์ของหลวงพ่อทองดำ วัดท่าทอง, หลวงพ่อไซร้ วัดช่องลม, หลวงปู่จันทร์ วัดหาดสองแคว
  2. ชมรมพระเครื่องเมืองอุตรดิตถ์. พระเครื่องเมืองอุตรดิตถ์. กรุงเทพ: โรงพิมพ์จูปีตัส, 2551.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๕๙, ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔, หน้า ๕๐๓
  4. เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , ๒๕๔๙.

ดูเพิ่ม แก้

ก่อนหน้า พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) ถัดไป
พระอาจารย์เร่ง (วัดดอยท่าเสา)   เจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา
(พ.ศ. 2463 - พ.ศ. 2492)
  พระอธิการเหลือ (วัดดอยท่าเสา)