วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ

วัดในจังหวัดอุตรดิตถ์

วัดพระฝาง หรือชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านฝาง หมู่ที่ 3 ตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามทะเบียนวัดระบุว่า ประมาณปี พ.ศ. 1700 (ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) [2] วัดพระฝางนับว่าเป็นกลุ่มโบราณสถานของศูนย์กลางเมืองฝางสวางคบุรี เพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ วัดนี้เป็นวัดพระมหาธาตุประจำเมืองสวางคบุรี ซึ่งในอดีตได้รับการนับถือเทียบเท่ากับพระธาตุเจดีย์หริภุญชัย[3] และพระพุทธบาทสระบุรี[4] นอกจากนี้ วัดพระฝางนั้น ยังเคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ “เจ้าพระฝาง” เมืองสวางคบุรี ผู้นำชุมนุมเจ้าพระฝางในคราวเสียสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2[5] อีกด้วย

วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระฝาง, วัดมหาธาตุ[1]
ที่ตั้งตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท (มหานิกาย)
พระประธานพระฝางทรงเครื่องจำลอง
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อเชียงแสน
ความพิเศษ- ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
- เป็นแหล่งโบราณสถาน ที่สำคัญของจังหวัด
จุดสนใจนมัสการพระบรมธาตุ ชมโบราณสถานภายในวัด
กิจกรรม- งานปริวาสกรรม วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔
หมายเหตุในอดีตเป็นวัดที่ชุมนุมของ ชุมนุมพระเจ้าฝางในสมัยธนบุรี
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระฝาง มีปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดคือพระธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่กลางกลุ่มโบราณสถานวัดพระฝาง สันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านว่า พระมหาธาตุองค์นี้ได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นพุทธปูชนียสถานสำคัญของอาณาจักรคู่กับรอยพระพุทธบาทสระบุรี

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้เสด็จขึ้นทำศึกชนะเจ้าพระฝางและตั้งงานสมโภชพระมหาธาตุเมืองพระฝางถึง 3 วัน เทียบเท่างานนมัสการพระพุทธชินราช แต่ความศรัทธาในพระมหาธาตุเมืองฝางคงได้เสื่อมถอยลงในช่วงหลัง จากความเสื่อมของเมืองสวางคบุรี หลังชุมนุมเจ้าพระฝางถูกตีแตกในสมัยธนบุรี จนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์องค์เดิมได้ปรักหักพังไปมาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะพระมหาธาตุเมืองพระฝางใหม่ แปลงเป็นแบบเจดีย์ทรงลังกาดังที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ วัดพระฝางยังมีอุโบสถมหาอุด (มีประตูทางเข้าบานเดียว) อยู่ด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถาน ตัวอุโบสถมีสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเดิมภายในอุโบสถเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระฝาง ซึ่งปัจจุบันตัวอุโบสถยังคงมีบานประตูไม้และหน้าบันแกะสลักศิลปะสมัยอยุธยาอันสวยงามอยู่ (บานปัจจุบันเป็นบานจำลอง) และด้านทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานมีพระวิหารหลวง เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเชียงแสน ปัจจุบันในพระวิหารหลวงมีบานประตูไม้แกะสลักวัดพระฝาง (เป็นบานประตูบานจำลอง สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2551 เพื่อนำมาติดตั้งแทนที่บานประตูเดิมที่ได้นำไปเก็บรักษาที่วัดธรรมาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494)

ปัจจุบัน วัดแห่งนี้ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน[6] ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีพื้นที่ได้รับประกาศเป็นโบราณสถานประมาณ 32 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา[7]

ประวัติ

แก้

วัดพระฝางปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ซึ่งได้กล่าวถึงพระมหาเถรศรีศรัทธา ซึ่งเชื่อว่าเป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง ว่าก่อนที่ท่านจะเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่ลังกา ในสมัยพญาเลอไท ได้แวะมานมัสการพระธาตุวัดพระฝาง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองแพร่ ลำพูน และลงเรือที่อ่าวเมาะตะมะไปลังกา นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่ 3 ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1900 ก็ได้ปรากฏชื่อเมืองฝางอยู่ด้วยเช่นกัน ในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2230) ก็ได้กล่าวถึงความศรัทธาของคนสยามต่อพระทันตธาตุเมืองพระฝางไว้เช่นเดียวกัน แสดงถึงความสำคัญของพระบรมธาตุเมืองฝางในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

ในปี พ.ศ. 2310 ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพระฝางมีความสำคัญมาก คือ เป็นศูนย์กลางของชุมชนพระฝาง ซึ่งมี "เจ้าพระฝาง" (เรือน) เป็นหัวหน้าสามารถขยายอาณาเขตกว้างขวางจากทิศเหนือ ถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน ทิศใต้ถึงเมืองพิษณุโลก ทิศตะวันออกถึงลาว และทิศตะวันตกถึงเมืองศรีสัชนาลัย เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นชุมนุมสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวบรวมเป็นอาณาเขตเดียวกันกับกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2313 วันที่ 25 ต.ค. พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จฯ มาสักการะวัดพระฝาง ปรากฏข้อความในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ตอนหนึ่งว่า “เมื่อถึงหน้าเมืองฝางก็มีหาดโต เมืองนั้นตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก มีพระวิหารกลางใหญ่ มีลายประตูเป็นลายสลักก้านขดหน้าสัตว์ต่าง ๆ เช่น บานวัดสุทัศน์ แต่เด่นออกมามากกว่าวัดสุทัศน์ ทำงามดีมาก” พระฝางเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช ศิลปะสมัยอยุธยาวัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 คืบเศษ สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ. 2280 มีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของแผ่นดินไทยอีกองค์หนึ่ง สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือเจ้าพระฝาง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระฝาง เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดพระฝางหรือวัดสว่างคบุรีมุนีนาถ พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพหลวงมาตีชุมนุมพระฝางได้ และโปรดเกล้าฯ ให้รับละครขึ้นมาสมโภช ที่วัดพระฝางถึง 3 วัน เท่ากันกับการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทยองค์หนึ่ง ในรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระฝางไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรฯจนถึงปัจจุบัน

ปูชนียสถาน โบราณวัตถุ

แก้
 
เจดีย์พระธาตุพระฝาง แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย คาดว่าเปลี่ยนมาเป็นทรงลังกาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4

"เจดีย์พระธาตุวัดพระฝาง" ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ "วิหารใหญ่และพระอุโบสถเก่า" สำหรับวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยลักษณะเดียวกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง แต่เดิมมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนประดิษฐานอยู่ แต่ปัจจุบันได้ถูกโจรกรรมไปแล้ว ด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุ มีกำแพงล้อมรอบ บริเวณหลังสุดมีพระอุโบสถเก่าอยู่อีกหลังหนึ่ง สภาพโดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรมมาก เดิมมีบานประตูแกะสลักสวยงาม แต่ก็ได้ถูกขโมยไปแล้วเช่นกัน ด้านหน้าโบสถ์มีต้นมะม่วงใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่ต้นหนึ่ง บริเวณรอบนอกวัดด้านหลังเป็นป่าละเมาะ ส่วนด้านหน้ามีบ้านคนอยู่บ้างแต่ไม่หนาแน่น

จากหลักฐาน แสดงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบูรณะพระบรมธาตุสวางคบุรี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอประมวลได้ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โปรดเกล้า ฯให้พระยามหาอำมาตยาธิบดีเป็นแม่กองสักเลข หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไป ตั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก และโปรดให้พระยาอุตรดิตถาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองอุตรดิตถ์เป็นแม่กองรับจ่ายเลข ข้าพระโยมสงฆ์ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระธาตุในเมืองสวางคบุรีที่เรียกกันว่า เมืองฝาง พระเจดีย์นั้นชำรุดมาก ต้องรื้อลงมาถึงชั้นทักษิณที่สาม เมื่อรื้ออิฐเก่าที่หักพังออกก็พบแผ่นเหล็กเป็นรูปฝาชีหุ้มผนึกไว้แน่น เมื่อตัดแผ่นเหล็กออกจึงพบผอบทองเหลือง บนฝาผอบมีพระพุทธรูปองค์เล็กบุทองคำฐานเงินอยู่องค์หนึ่ง ในผอบมีพระบรมธาตุขนาดน้อยสีดอกพิกุลแห้ง 1,000 เศษ แหวน 2 วง พลอยต่างสี 13 เม็ด เมื่อพระยาอุตรดิตถาภิบาลมีใบบอกมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเรือม่านทองให้ข้าหลวงขึ้นไปรับ เชิญพระบรมธาตุมาขึ้นที่กรุงเก่า เชิญขึ้นไว้ที่พระตำหนักวังป้อมเพชร แล้วจัดเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลมีปี่พาทย์ แตรสังข์ รับเชิญลงมากรุงเทพ ฯ เชิญขึ้นไว้ ณ พระตำหนักน้ำ ทำการสมโภชแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระราชดำริว่าควรที่จะส่งพระบรมธาตุคืน ให้ไปบรรจุไว้ตามที่ดังเก่าบ้าง แบ่งไว้สักการบูชา ณ กรุงเทพ ฯ บ้าง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างหลวงทำกล่องทองคำเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุชั้นใน แล้วใส่กล่องเงินเป็นชั้นที่สอง ใส่ในพระเจดีย์กาไหล่เงินเป็นชั้นที่สาม แล้วใส่ในพระเจดีย์ทองเหลืองเป็นชั้นที่สี่ แล้วใส่ครอบศิลาตรึงไว้แน่นหนา ให้เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุใส่พระเสลี่ยงน้อยกั้นพระกรด ไปตั้งบนบุษบกที่พระตำหนักน้ำ พร้อมเครื่องสักการบูชา มีเรือกรมการและราษฎรเมืองนนทบุรี แห่เป็นกระบวนขึ้นไปส่งถึงเมืองปทุม แล้วผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการตั้งแต่เมืองปทุมธานีขึ้นไป จัดแจงทำสักการบูชา แล้วจัดเรือแห่มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเล่นสมโภชตามมีรับส่งต่อ ๆ จนถึงเมืองสวางคบุรี

บานประตูวัดพระฝาง

แก้

บานประตูเก่าวิหารวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เดิมนั้นอยู่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ แต่เนื่องจากวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก อีกทั้งวัดพระฝางในขณะนั้นไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษาไว้ที่ อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 ทิ้งไว้แต่ตัววิหารปล่าว ปราศจากบานประตูอันวิจิตรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 
บานประตูวิหารวัดพระฝางจำลอง

บานประตูคู่นี้แกะสลักในสมัยอยุธยา แต่ละบานขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร ทำจากไม้ปรุแกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์ กล่าวกันว่างดงามเป็นที่สองรองจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2534 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาอนุรักษ์เนื้อด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บานประตูวัดพระฝางจึงมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ในปีพ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสร้างบานประตูไม้แกะสลักวิหารวัดพระฝางคู่ใหม่ เพื่อนำกลับไปติดตั้งยังวิหารหลวงวัดพระฝาง (ติดตั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551) ซึ่งบานประตูคู่ใหม่นี้มีลักษณะวิจิตรสวยงามเหมือนของเดิมทุกประการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมศิลปากรในการจัดสร้าง

ประวัติเจ้าพระฝาง "ชุมนุมเจ้าพระฝาง"

แก้

"เจ้าพระฝาง"เป็นชาวเหนือ บวชพระแล้ว ลงมาร่ำเรียนพระไตรปิฎกที่อยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เชี่ยวชาญได้ชั้นมหา เรียกตามชื่อเดิมว่า “มหาเรือน”

โปรดเกล้าฯ เป็นพระราชาคณะ ที่ พระพากุลเถระ อยู่วัดศรีโยธยาได้ไม่นาน ก็โปรดเกล้าฯ...ให้เป็น พระสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีผู้คนเคารพนับถือมาก สร้างพระประธานองค์สำคัญไว้ในโบสถ์วัดสวางคบุรี

ครั้นเมื่อรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เจ้าพระฝางก็ซ่องสุมผู้คนได้หลายเมือง ตั้งตัวเป็นเจ้า แต่ไม่ยอมสึกจากพระ เปลี่ยนสีจีวรจากสีเหลืองเป็นสีแดง นับเป็นชุมนุมใหญ่ฝ่ายเหนือ ประชาชนเรียกกันว่า “เจ้าพระฝาง”

ปีชวด พ.ศ. 2311 เจ้าพิษณุโลก ผู้นำชุมนุมสำคัญถึงแก่พิราลัย พระอินทรอากรผู้น้องขึ้นครองเมือง เจ้าพระฝางยกกองทัพไปตีพิษณุโลก สู้รบกันสามเดือน ชาวเมืองไม่ชอบเจ้าพิษณุโลกองค์ใหม่ แอบเปิดประตูรับกองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง

ชนะพิษณุโลก ประหารพระอินทรอากรแล้ว เจ้าพระฝางก็สั่งให้ขนทรัพย์สินจากเมืองพิษณุโลก และอพยพผู้คนไปปักหลักอยู่ที่เมืองสวางคบุรี ชื่อ เสียงของชุมนุมเจ้าพระฝางก็ยิ่งเลื่องลือระบือไกล

สองปีต่อมา กรมการเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท กราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางประพฤติเป็นพาลและทุศีลมากขึ้น ตัวยังห่มผ้าเหมือนพระ แต่ ประกอบกรรมปาราชิก พวกพระที่เป็นแม่ทัพนายกองก็ออกปล้นข้าวปลาอาหารจากราษฎร เดือดร้อนกันไปทั่ว

พระเจ้ากรุงธนฯ โปรดให้พระยาพิชัยราชา คุมทัพไปทางตะวันตก ให้พระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) คุมทัพไปทางตะวันออก สองทัพสมทบกันโจมตีเมืองสวางคบุรี

สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน เจ้าพระฝางสู้ได้สามวันก็แตกพ่ายหนี พาลูกช้างพังเผือกหนีไปด้วย กองทัพพระเจ้ากรุงธนฯติดตามไป ได้ช้างพังเผือกคืน ตัวเจ้าพระฝางหายสาบสูญไป

โปรดให้มีละครหญิง สมโภชพระประธานวัดสวางคบุรี 7 วัน นับเป็นงานใหญ่เทียบเท่างานสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่พิษณุโลก

อัญเชิญพระฝางไปยังวัดเบญจมบพิตร

แก้
 
ฐานพระเปล่า ในอุโบสถวัดพระฝาง สถานที่ ๆ เคยประดิษฐานพระฝางในอดีต

ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระประธาน ที่เรียกกันว่า “พระฝาง” ลงมายังวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยทิ้งฐานพระไว้ที่เดิม

พ.ศ. 2451 ปรากฏพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “ให้จำลองรูปพระฝาง ได้สั่งให้ช่างรีบปั้นหุ่นถ่ายรูปไว้แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยคิดจัดพระฝางกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำ นี้”

 
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระฝางทรงเครื่อง ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549

แต่ในปัจจุบันนี้ เกินเวลาหนึ่งร้อยปีแล้ว องค์พระฝางก็ยังประดิษฐานอยู่วัดเบญจมบพิตร มิได้กลับคืนไปอุตรดิตถ์ ตามพระราชดำริแต่ประการใด

ในปี พ.ศ. 2549 คณะสงฆ์และหน่วยงานราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ร่วมใจหล่อพระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) องค์ใหม่ โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระฝางทรงเครื่อง ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 เพื่อนำ พระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) ที่ได้หล่อขึ้นใหม่ กลับสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเคารพสักการะของชาวพระฝางและชาวจังหวัดอุตรดิตถ์สืบไป

ดูเพิ่มได้ที่ พระฝาง (พระพุทธรูป)

วัดพระฝางในปัจจุบัน

แก้

ปัจจุบันภายในวัดพระฝางยังมีปรากฏหลักฐานเป็นหมู่โบราณสถานอยู่ในบริเวณวัด มีพระวิหารหลวงกับองค์เจดีย์ประธานตั้งอยู่แนวทิศตะวันออก ทิศตะวันตกมีกำแพงด้านหน้า กำแพงแก้วล้อมรอบวิหารและเจดีย์โดยตลอด ด้านหลังเจดีย์เป็นกุฏิพระสังกัจจายณ์ซึ่งปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่ยังรักษาเค้าโครงเดิมอยู่ภายนอกกำแพงแก้วออกมาข้างพระเจดีย์ด้านทิศใต้มีศาลาพระพุทธบาทอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ แบบช่างพื้นบ้านทั่วไป ส่วนโบสถ์ที่นับว่าสำคัญมากอยู่เยื้องทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากวิหารหลวงประมาณ 50 เมตร ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปพระฝางทรงเครื่อง เป็นศิลปะแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ด้านหลังของโบสถ์มีต้นมะม่วงไข่กายืนต้นขนาดใหญ่ และ บริเวณ หน้าพระวิหารหลวง เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณของวัดพระฝาง ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมวัตถุโบราณที่ขุดพบในชุมชนบ้านพระฝาง และวัตถุโบราณที่ค้นพบได้จากบริเวณวัดและบริเวณหาดแม่น้ำน่านในปัจจุบัน โดยในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ทางวัดพระฝางจะได้จัด "ปฏิบัติธรรมพระอยู่ปริวาสกรรม" และ ก่อนเข้าพรรษา 20 วัน โดยมีพระภิกษุ จากทั่วทุกภาคของประเทศไทย มาร่วมอยู่ปฏิบัติธรรมอยู่ปริวาสกรรม เป็นจำนวนมากทุกปี

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ต่อแผ่นที่ ๓๑ หน้า ๕๗๗), เล่ม ๑๘, ตอน ๓๒, ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔, หน้า ๖๑๖
  2. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). จำนวนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
  3. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, สามนคร น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ : อุตรดิตถ์ เมืองแห่งท่าน้ำ, (กรุงเทพมหานคร : กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, ๒๕๓๓), หน้า ๑๑๗. ISBN 974-7500-34-3
  4. Pallegoix, Jean Baptiste. (1854). Description du Royaume Thai ou Siam. Paris : Mission de Siam.
  5. _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐ เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).
  6. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 77-78.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน, เล่ม ๑๒๒, ตอนพิเศษ ๑๒๖, ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๒

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • ข้อมูลทั่วไปชุมชนบ้านพระฝาง ศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย