มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (อังกฤษ: King Mongkut's University of Technology North Bangkok; อักษรย่อ: มจพ. – KMUTNB) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2502 ในนาม "โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ" ก่อนจะยกฐานะในปี พ.ศ. 2507 เป็น "วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ" และเป็น "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ" ในปี พ.ศ. 2514 [3] ต่อมาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้งสามได้แยกออกจากกันโดยมีอำนาจบริหารเป็นอิสระ ในปี พ.ศ. 2529 [4] และได้ถูกยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2551 ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร, ปราจีนบุรี และระยอง เปิดทำการเรียนการสอนทั้งหมด 13 คณะ 2 วิทยาลัย 2 บัณฑิตวิทยาลัย ตั้งแต่ระดับประกาศณียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก
![]() ตราพระมหาพิชัยมงกุฏ สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อย่อ | มจพ. / KMUTNB |
---|---|
คติพจน์ | พัฒนาคน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ |
สถาปนา | 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 |
อธิการบดี | ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน[1] |
นายกสภาฯ | ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ[2] |
ผู้ศึกษา | 27,067 คน (ตุลาคม 2561) |
ที่ตั้ง | |
วิทยาเขต | วิทยาเขตปราจีนบุรี 129 หมู่ 21 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25230 วิทยาเขตระยอง 19 หมู่ 11 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง 21120 |
สี | สีแสด-สีดำ |
เว็บไซต์ | kmutnb |
![]() |
ประวัติแก้ไข
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ชื่อ สถาบันเทคโนโลยีได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมงคลยิ่งว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" ตามพระบรมนามาภิไธยแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ทรงพระมหากรุณาธิคุณมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระตรา "พระมหามงกุฎ" มาเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าด้วย ตามบัญญัติ แห่งกฎหมายสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ได้กำหนดให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ซึ่งสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเข้าด้วยกัน แล้วจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยี เรียกกันว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" เป็นสถาบันศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาให้ การศึกษาทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ สถาบันเป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการกำหนดการแบ่ง ส่วนราชการออกเป็นสำนักงานอธิการบดี และคณะ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
- พ.ศ. 2502 - กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้ง โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ สังกัด กองโรงเรียนพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตช่างฝีมือที่เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "เทคนิคไทย - เยอรมัน" ต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง รัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฉบับแรก
- พ.ศ. 2507 - ได้เปิดสอนในระดับที่สูงขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนพระนครเหนือขึ้นเป็น “วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ” โดยยังได้รับความช่วยเหลือในด้านเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์การศึกษาตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและทุนการศึกษาจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
- พ.ศ. 2510 - มีประกาศพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี และวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี สังกัดกรมอาชีวศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งเป็น สถาบันการศึกษาชั้นสูง และได้รับพระราชทานนามว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" ให้เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษา ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการและ ส่งเสริมทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและ วัฒนธรรมของชาติ โดยแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 วิทยาเขต วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ ใช้ชื่อว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ"
- พ.ศ. 2517 - มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ จัดตั้งหน่วยงาน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานรองอธิการบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
- พ.ศ. 2524 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และสำนักพัฒนาเทคโนโลยีทาง การศึกษาเพื่อการศึกษาด้านเทคนิค
( สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษาในปัจจุบัน )
-
- - วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง โอนมาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และยกฐานะเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2529 - มีประกาศพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2528 โดยให้แยกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าออกเป็น สถานศึกษา 3 แห่ง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานของแต่ละสถาบัน วิทยาเขตพระนครเหนือ ใช้ชื่อว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ" มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตบุคลากรทำหน้าที่เป็นช่างเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี วิศวกร ครูช่าง และผู้บริหารในสถาบันการศึกษา ธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศ มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อวันที่ และมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดตั้งกองธุรการและกองบริการการศึกษา ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี
- พ.ศ. 2531 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้แก่ สำนักงานอธิการบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสำนักหอสมุดกลาง
- พ.ศ. 2534 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม
- พ.ศ. 2536 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย - ฝรั่งเศส เป็นหน่วยงานระดับคณะภายในสถาบัน
- พ.ศ. 2538 - สถาบันได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคที่จังหวัดปราจีนบุรี ในนาม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี มีคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรมเป็นคณะแรกที่จัดตั้งขึ้นที่ สจพ . ปราจีนบุรี
- พ.ศ. 2539 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม และ สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
- พ.ศ. 2540 - มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้ง กองบริหารและจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี
- พ.ศ. 2544 -สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานภายใน ดังนี้ 1. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ 2. กองงานสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี สังกัดสำนักงานอธิการบดี 3. กองอาคารสถานที่และยานพาหนะ สังกัดสำนักงานอธิการบดี สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ กองคลัง ” เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี และอนุมัติให้จัดตั้ง “ ศูนย์ประกันคุณภาพการศึกษา ” เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี
- พ.ศ. 2545 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ ศูนย์บริการเทคโนโลยี สจพ . ปราจีนบุรี ” เป็นหน่วยงานภายในระดับ กองสังกัดสำนักงานอธิการบดี อนุมัติให้จัดตั้ง “ คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ และอนุมัติให้จัดตั้ง “ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ” เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี
- พ.ศ. 2546 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ ขึ้นที่ สจพ.ปราจีนบุรี
- พ.ศ. 2548 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย - เยอมัน ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ
- พ.ศ. 2551 - มีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับศึกษาจะคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ
- พ.ศ. 2553 - สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้ง “คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ
- พ.ศ. 2553 - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดย ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี ได้ลงนามร่วมกับ นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในความร่วมมือทางวิชาการ โครงการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยองก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปศาสตร์ประยุกต์ และสาขาวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ประชาชนในจังหวัดระยอง และภูมิภาคตะวันออก
เทคนิค ไทย-เยอรมันแก้ไข
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้มีการลงนามในสัญญาว่าด้วยความร่วมมือช่วยเหลือในทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่าง รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยผลแห่งสัญญานี้จึงได้ มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2502 ในอันที่จะจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคขึ้นในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดย รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันรับจะช่วยเหลือด้วยการจัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ อันเป็นอุปกรณ์การสอนวิชาช่างต่างๆ มาให้ทั้งหมด พร้อมกับส่งครูผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ มาช่วยสอนด้วย ส่วนรัฐบาลไทยรับเป็นผู้จัดหาที่ดิน อาคารเรียนโรงฝึกงาน ตลอดจนครูไทยจำนวนหนึ่งที่จะทำการสอนร่วมกับครูผู้เชี่ยวชาญเยอรมันด้วย ผลแห่งสัญญาและความตกลงดังกล่าวแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ประกาศตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือขึ้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และได้เริ่มเปิดการสอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประเภทช่างกล ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองตามเงื่อนไขและ ข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ส่วนการดำเนินงานในด้านบริหารโรงเรียน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและดำเนินงานนั้นก็เหมือนกับโรงเรียนไทย อื่นๆ ทางฝ่ายเยอรมันเป็นเพียงที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิคเท่านั้น ใน ครั้งแรกได้ทำความตกลงช่วยเหลือกัน มีกำหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2504 แต่ต่อมาเมื่อครบกำหนดแล้วได้มีการตกลงที่จะมีการร่วมมือช่วย เหลือโรงเรียนนี้ต่อไปอีก 2 ปี ตามข้อตกลงที่ลงนามกัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2504 โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือในขณะนี้จัดการศึกษาเป็น 2 ประเภท คือประเภทโรงเรียนกลางวันและประเภทการศึกษาพิเศษ ประเภทโรงเรียนกลางวันจัดสอนเป็นสองขั้น คือ 1. ขั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง เปิดสอนในแผนกวิชาต่างๆ 6 แผนกคือ แผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเครื่องยนต์ แผนกช่างไฟฟ้า แผนกช่างท่อและ ประสาน แผนกช่างวิทยุและโทรคมนาคม และแผนกช่างไม้ และต่อไปจะเปิดสอนแผนกช่างเขียนแบบเพิ่มขึ้นอีก 1 แผนก
ในปีการศึกษา 2506 การเรียนในขั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง ในระยะ 3 ปีแรก ได้รับนักเรียนเข้าศึกษาเพียงปีละ 50 คน มีหลักสูตรการเรียน 2 ปี และ 3 ปี หลักสูตรการเรียน 2 ปีนั้น รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 จากโรงเรียนประเภทช่างกลต่างๆ มาเรียน 2 ปี ส่วนหลักสูตรการเรียน 3 ปี ผู้ที่สำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูงของกระทรวงศึกษาธิการ แต่สำหรับนักเรียนแผนกช่างไม้นั้น รับผู้ที่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลาย แผนกช่างไม้มาเรียน 3 ปี ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วก็จะได้ประกาศนียบัตรประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูงเช่น เดียวกัน เมื่อผ่านระยะ 3 ปีแรกมาแล้ว โรงเรียนได้เปิดรับเฉพาะผู้ที่ สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 มาเรียนต่อ 3 ปี ผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 จาก โรงเรียนประเภทช่างกลต่างๆ ไม่รับเข้าเรียน 2. ขั้นวิชาชีพชั้นสูง เปิดสอนในวิชาแผนกต่างๆ 4 แผนกคือ แผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเครื่องยนต์ แผนกช่างไฟฟ้า และแผนกช่างท่อและประสาน การเรียนในขั้นวิชาชีพชั้นสูงนี้ โรงเรียนเปิดรับเฉพาะผู้ที่สำเร็จขั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง จากโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือเข้าเรียนต่ออีก 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะ ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนขั้น วิชาชีพชั้นสูงนี้ส่วนใหญ่ออกฝึกงานตามโรงงานอุตสาหกรรม และองค์การรัฐบาล ซึ่ง ได้ฝึกงานในวิชาช่างแขนงที่ตนเรียน และโรงเรียนยอมรับรองผลการปฏิบัติงานนั้น เป็นการเรียนภาคปฏิบัติส่วน การเรียนภาคทฤษฎีนักเรียนต้องไปเรียนที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน
นอกจากการศึกษาประเภทกลางวันแล้ว โรงเรียนยังได้จัดการศึกษาพิเศษขึ้นในเวลาเย็นตามหลักสูตรสารพัดช่าง ของกรมอาชีวศึกษาอีกด้วย คือ จัดสอนตามหลักสูตรระยะสั้น 180 ชั่วโมง หรือ 300 ชั่วโมง ซึ่งได้เปิดสอนวิชาช่างต่างๆ คือ ช่างเครื่องยนต์ ช่างกลึง ช่างประสาน ช่างวิทยุ และช่างเขียนแบบ ผู้ที่สมัครเข้า เรียนตามหลักสูตรดังกล่าวนี้บางช่างก็กำหนดความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 6 เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องยนต์ และช่างวิทยุ ส่วนช่างอื่นๆ ไม่กำหนดพื้นความรู้ ส่วนมากของผู้ที่มาเรียนเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานในตอนกลางวัน และมาเรียนในตอนเย็น
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์การ สอนต่างๆ มาให้เรื่อยๆ คิดเป็นมูลค่าได้ประมาณ 7 ล้านบาท สิ่งของต่างๆ ที่นำมายังประเทศไทยนี้ ได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าทั้งหมดนอกจาก เครื่องจักรเครื่องมือที่ได้ส่งมาให้แล้ว ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันมาช่วยฝึกสอนร่วมกับครูไทยอีก 8 คน ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเหล่านี้ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันแต่ รัฐบาลไทยก็ได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในเรื่องต่างๆ คือ จัดหาบ้านพักให้อยู่อาศัยทุกคน ตลอดจนออกค่าน้ำค่าไฟให้ด้วย นอกจาก นั้นการนำของใช้ส่วนตัวเข้ามาใช้ในประเทศไทยก็ยังได้รับการยกเวั้นภาษีขาเข้าทั้งหมดอีกด้วย งานติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือในโรงฝึกงาน รวมทั้งการเดินสายไฟฟ้าและการวางท่อประปา ท่อลม ท่อแก๊ส เป็นผลงานของ นักเรียน 50 คน รุ่นแรกที่ได้ปฏิบัติงานร่วมกับคณะครูผู้เชี่ยวชาญเยอรมัน และครูไทยทั้งสิ้น
บุคคลสำคัญที่เป็นผู้บริหารงานโรงเรียน
- นายบุญญศักดิ์ ใจจงกิจ อาจารย์ใหญ่
- นายยง แย้มสรวล ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่
- นายคาร์ล สตุทเล่อร์ อาจารย์ใหญ่เยอรมัน (พ.ศ. 2502 – 2504)
- นายแอนส์ มอสดอร์ฟ อาจารย์ใหญ่เยอรมัน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
- นายฮูเบิร์ต ชุดเล่อร์ อาจารย์หัวหน้าโรงฝึกงาน และผู้เชี่ยวชาญช่างกลโรงงาน
คณะผู้เชี่ยวชาญเยอรมัน
- นายอีมิล ดิทริช อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างไฟฟ้า
- นายเฮอร์เบิร์ต มัง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างท่อและประสาน
- นายไฮน์ บิสมานน์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างเครื่องยนต์
- นายไฮน์ริช ชุปเปอร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างกลโรงงาน (พ.ศ. 2502 – 2504)
- นายออสคาร์ ชาร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างกลโรงงาน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
- นายเกอร์จ เดกินเดอร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างไม้ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
- นายวอลฟ์กัง กร๊าฟท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างวิทยุ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
ทำเนียบอธิการบดีแก้ไข
- รองศาสตราจารย์ ดร.สมชอบ ไชยเวช (พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2532)
- รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะ กสิภาร์ (พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2538)
- รองศาสตราจารย์ บรรเลง ศรนิล (พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2544)
- ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2550)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา อ่องอารี (พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551)
- ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ (พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2559)
- ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน (พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยแก้ไข
ตราประจำมหาวิทยาลัยแก้ไข
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระมหาพิชัยมงกุฎ" ซึ่งเป็นพระบรมราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยแก้ไข
ต้นประดู่แดง เป็นไม้เนื้อแข็งซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของสถาบัน กิ่งมีลักษณะโน้มลงแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นไม้ป่าแสดงถึงความสามารถของบัณฑิตที่สามารถดำรงคงอยู่ได้อย่างอดทนแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ดอกมีสีแดงเข้มเหมือนหมากสุก ซึ่งตรงกับสีประจำมหาวิทยาลัย และจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันสถาปนาสถาบันคือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ของทุกปี เปรียบคล้ายกับนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายที่ใกล้จะสำเร็จการซึ่งตรงกับต้นประดู่แดงที่กำลังจะออกดอก เป็นดอกประดู่แดงทีมีความสวยงามและทน
สีประจำมหาวิทยาลัยแก้ไข
สีแดงหมากสุก : สีแสดเป็นสีประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่สถาบันอัญเชิญมาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และสีดำ
วิทยาเขตและสถานที่ตั้งแก้ไข
กรุงเทพมหานครแก้ไข
ตั้งอยู่ที่ 1518 ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 87 ไร่ 3 งาน 60.77 ตารางวา มีอาคารรวมทั้งสิ้น จำนวน 39 หลัง (ไม่รวมอาคารย่อย) ประกอบด้วย อาคารเรียน จำนวน 22 หลัง อาคารสำนักงาน จำนวน 7 หลัง และอาคารอื่นๆ จำนวน 11 หลัง
ปราจีนบุรีแก้ไข
ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,809 ไร่ 59 ตารางวา มีอาคารเรียน 3 หลัง คณะอาคารสำนักงาน 1 หลัง และอาคารอื่นๆ 8 หลัง และมีอาคารที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 3 หลัง
ระยองแก้ไข
กำลังก่อสร้างบนที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 20 กิโลเมตร และได้มีการสำรองที่ดิน เพื่อการขยายพื้นที่อีก 200 ไร่ โดยการก่อสร้างจะเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และอาคารเรียนรวม ซึ่งคาดว่าอาคารทั้ง 2 หลังนี้จะแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2556 อาคารเรียนรวมได้รับรางวัลการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน [5]
หลักสูตรและการเรียนการสอนแก้ไข
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเปิดการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชา ซึ่งครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจนถึงระดับปริญญาเอก หลายหลายหลักสูตรด้วยกัน
หน่วยงานแก้ไข
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือประกอบด้วยคณะ สำนัก และหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
กรุงเทพมหานครแก้ไข
|
|
วิทยาเขตปราจีนบุรี แก้ไข
- คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
- ภาควิชาการจัดการอุตสาหกรรม
- ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ภาควิชาเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์และจัดการอุตสาหกรรมก่อสร้าง
- ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม
- คณะอุตสาหกรรมเกษตร
- ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรและการจัดการ
- ภาควิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ปราจีนบุรี
- ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์
- สาขาวิชาวิศวกรรมระบบเครื่องมือวัด
- คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
- ภาควิชาบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
- ภาควิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า
วิทยาเขตระยองแก้ไข
- คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
- สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการวัดคุมและอัตโนมัติ
- สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์
- สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมกระบวนการเคมี
- สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์
- สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมวัสดุและกระบวนการผลิต
- คณะวิทยาศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
- สาขากระบวนการอุตสาหกรรมเคมีและสิ่งแวดล้อม
- สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานและการจัดการ
- คณะบริหารธุรกิจ
- สาขาวิชาการบัญชี
- สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์
อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัยแก้ไข
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศไทย ด้านความพึงพอใจของผู้จ้างงานทั่วโลก จากการจัดอันดับของ QS University Ranking Asia 2016 และอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Times Higher Education Asia 2019
จากการจัดอันดับของ QS World University Rangking By Subject 2022
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศไทย ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลการบินและอุตสาหการ และอันดับ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ [6]
การเดินทางแก้ไข
รถโดยสารประจำทางแก้ไข
ถนนประชาราษฎร์ 1แก้ไข
- รถโดยสารประจำทางสาย 32 ปากเกร็ด-สนามหลวง
- รถโดยสารประจำทางสาย 33 ปทุมธานี-สนามหลวง
- รถโดยสารประจำทางสาย 64 ท่าน้ำนนทบุรี-สนามหลวง
- รถโดยสารประจำทางสาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์
- รถโดยสารประจำทางสาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-อนุสาวรีย์ชัยฯ
- รถโดยสารประจำทางสาย 97 วัดทางหลวง-โรงพยาบาลสงฆ์
- รถโดยสารประจำทางสาย 117 กทม.2-ท่าน้ำนนทบุรี
- รถโดยสารประจำทางสาย 203 ท่าอิฐ-สนามหลวง
- รถโดยสารประจำทางสาย 543 อู่บางเขน-ท่าน้ำนนทบุรี
ถนนวงศ์สว่าง
แก้ไข
- รถโดยสารประจำทางสาย 18 ท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยฯ
- รถโดยสารประจำทางสาย 49 สถานีกลางบางซื่อ-หมอชิต 2-หัวลำโพง
- รถโดยสารประจำทางสาย 50 พระราม 7-สวนลุมพินี
- รถโดยสารประจำทางสาย 179 พระราม 9-พระราม 7
- รถตู้โดยสารสาร เซ็นทรัลลาดพร้าว-ท่าน้ำนนท์
- รถตู้โดยสารสาร เซ็นทรัลลาดพร้าว-พระราม 7 (จอดหน้ามหาวิทยาลัย)
ถนนบางกรวย-ไทรน้อยแก้ไข
- รถสองแถวสาย 1010 สี่แยกบางสีทอง-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
รถไฟฟ้าแก้ไข
- รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม สถานีวงศ์สว่าง
- รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน สถานีบางซ่อน
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงแก้ไข
แบ่งตามประเภท
คณะวิศวกรรมศาสตร์ , Faculty of Engineering
- กมล ตรรกบุตร - นายก สภาวิศวกร (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมเครื่องกล)
- อำนวย ทองสถิตย์ - อดีต อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)
- ประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ - อธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมเครื่องกล)
- ชนะ ภูมี - รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)
- ประยุทธ อัครเอกฒาลิน - ศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)
- อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมโยธา)
- นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล - (คณะวิศวกรรมศาสตร์, วศบ.สาขาวิศวกรรมโยธา )
- ชนาธิป โพธิ์ทองคำ - (คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี)
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม , Faculty of Technical Education
- ชัยยงค์ พัวพงศกร - ผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม, คอบ.ไฟฟ้า)
- ปรีชา อ่องอารี - อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม)
- ชัยยง เอื้อวิริยานุกูล - อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม)
- ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ - ปริญญาตรีครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ , Faculty of Applied Science
- ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ - ศาสตราจารย์ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์)
- อภินันท์ ประเสริฐวัฒนกุล - (คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์)
วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม , College of Industrial Technology
- ทศพล หมายสุข - (วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม)
- เจน สงสมพันธุ์ - นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย วาระปี 2554-2556 และ ปี 2556-2558(วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม)
- ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์)
- กวี ตันจรารักษ์ - (โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์)
- ภูธเนศ หงษ์มานพ - (โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์)
- นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล (โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ )
- รัชย์ณมนทร์ รัชย์จิราธรรม (โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์)
- พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์ (เนเน่ AF10) (โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์)
คณะ/วิทยาลัย อื่นๆ แห่ง มจพ.
- อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล (คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ)
- ศรัณยา จำปาทิพย์ (คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม)
- มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/019/9.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/308/5.PDF
- ↑ พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514
- ↑ [1]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2534
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-07-13.
- ↑ Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 2009-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนTop South East Asia
ดูเพิ่มแก้ไข
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ศูนย์ประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เก็บถาวร 2006-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- การรับเข้าศึกษา เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่สถาบัน เก็บถาวร 2009-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สมาคมศิษย์เก่า มจพ.[ลิงก์เสีย]
- สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์
- การรับเข้าศึกษาในระบบ TCAS มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°49′08″N 100°30′51″E / 13.818811°N 100.514206°E