มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

มหาวิทยาลัยรัฐในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (อังกฤษ: King Mongkut's University of Technology North Bangkok; อักษรย่อ: มจพ. – KMUTNB) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2502 ในนาม "โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ" ก่อนจะยกฐานะในปี พ.ศ. 2507 เป็น "วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ" และเป็น "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ" ในปี พ.ศ. 2514 [3] ต่อมาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้งสามได้แยกออกจากกันโดยมีอำนาจบริหารเป็นอิสระ ในปี พ.ศ. 2529 [4] และได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2551 ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร, ปราจีนบุรี และระยอง เปิดทำการเรียนการสอนทั้งหมด 13 คณะ 2 วิทยาลัย 2 บัณฑิตวิทยาลัย ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ตราพระมหาพิชัยมงกุฏ
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อย่อมจพ. / KMUTNB
คติพจน์พัฒนาคน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 (65 ปี)
อธิการบดีศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน[1]
อธิการบดีศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน[1]
นายกสภาฯศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ[2]
ผู้ศึกษา27,067 คน (ตุลาคม 2561)
ที่ตั้ง
วิทยาเขตวิทยาเขตปราจีนบุรี
129 หมู่ 21 ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี 25230
วิทยาเขตระยอง
19 หมู่ 11 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง 21120
สี
เว็บไซต์kmutnb.ac.th

ประวัติ

แก้

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ชื่อ สถาบันเทคโนโลยีได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นมงคลยิ่งว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" ตามพระบรมนามาภิไธยแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ทรงพระมหากรุณาธิคุณมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระตรา "พระมหามงกุฎ" มาเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าด้วย ตามบัญญัติ แห่งกฎหมายสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ได้กำหนดให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ซึ่งสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเข้าด้วยกัน แล้วจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยี เรียกกันว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" เป็นสถาบันศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาให้ การศึกษาทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ สถาบันเป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการกำหนดการแบ่ง ส่วนราชการออกเป็นสำนักงานอธิการบดี และคณะ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ดังนี้

  • พ.ศ. 2502 - กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้ง โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ สังกัด กองโรงเรียนพาณิชย์ กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตช่างฝีมือที่เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "เทคนิคไทย - เยอรมัน" ต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง รัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฉบับแรก
  • พ.ศ. 2507 - ได้เปิดสอนในระดับที่สูงขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนพระนครเหนือขึ้นเป็น “วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ” โดยยังได้รับความช่วยเหลือในด้านเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์การศึกษาตลอดจนผู้เชี่ยวชาญและทุนการศึกษาจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
  • พ.ศ. 2510 - มีประกาศพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ให้รวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี และวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี สังกัดกรมอาชีวศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งเป็น สถาบันการศึกษาชั้นสูง และได้รับพระราชทานนามว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า" ให้เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษา ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการและ ส่งเสริมทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และครุศาสตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและ วัฒนธรรมของชาติ โดยแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 วิทยาเขต วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ ใช้ชื่อว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ"
  • พ.ศ. 2517 - มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ จัดตั้งหน่วยงาน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานรองอธิการบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
  • พ.ศ. 2524 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และสำนักพัฒนาเทคโนโลยีทาง การศึกษาเพื่อการศึกษาด้านเทคนิค

( สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษาในปัจจุบัน )

 
- วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง โอนมาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และยกฐานะเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2529 - มีประกาศพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2528 โดยให้แยกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าออกเป็น สถานศึกษา 3 แห่ง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานของแต่ละสถาบัน วิทยาเขตพระนครเหนือ ใช้ชื่อว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ" มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตบุคลากรทำหน้าที่เป็นช่างเทคนิค นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี วิศวกร ครูช่าง และผู้บริหารในสถาบันการศึกษา ธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศ มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อวันที่ และมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดตั้งกองธุรการและกองบริการการศึกษา ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี
  • พ.ศ. 2531 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้แก่ สำนักงานอธิการบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสำนักหอสมุดกลาง
  • พ.ศ. 2534 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม
  • พ.ศ. 2536 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีไทย - ฝรั่งเศส เป็นหน่วยงานระดับคณะภายในสถาบัน
  • พ.ศ. 2538 - สถาบันได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคที่จังหวัดปราจีนบุรี ในนาม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี มีคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรมเป็นคณะแรกที่จัดตั้งขึ้นที่ สจพ . ปราจีนบุรี
  • พ.ศ. 2539 - มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม และ สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • พ.ศ. 2540 - มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้ง กองบริหารและจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี
  • พ.ศ. 2544 -สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานภายใน ดังนี้ 1. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ 2. กองงานสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี สังกัดสำนักงานอธิการบดี 3. กองอาคารสถานที่และยานพาหนะ สังกัดสำนักงานอธิการบดี สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ กองคลัง ” เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี และอนุมัติให้จัดตั้ง “ ศูนย์ประกันคุณภาพการศึกษา ” เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี
  • พ.ศ. 2545 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ ศูนย์บริการเทคโนโลยี สจพ . ปราจีนบุรี ” เป็นหน่วยงานภายในระดับ กองสังกัดสำนักงานอธิการบดี อนุมัติให้จัดตั้ง “ คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ และอนุมัติให้จัดตั้ง “ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ” เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง สังกัดสำนักงานอธิการบดี
  • พ.ศ. 2546 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ ขึ้นที่ สจพ.ปราจีนบุรี
  • พ.ศ. 2548 - สภาสถาบันอนุมัติให้จัดตั้ง “ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย - เยอมัน ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ
  • พ.ศ. 2551 - มีประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับศึกษาจะคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ
  • พ.ศ. 2553 - สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้ง “คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ” เป็นหน่วยงานภายในระดับคณะ
  • พ.ศ. 2553 - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดย ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดี ได้ลงนามร่วมกับ นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในความร่วมมือทางวิชาการ โครงการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยองก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปศาสตร์ประยุกต์ และสาขาวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ประชาชนในจังหวัดระยอง และภูมิภาคตะวันออก

เทคนิค ไทย-เยอรมัน

แก้

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้มีการลงนามในสัญญาว่าด้วยความร่วมมือช่วยเหลือในทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่าง รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดยผลแห่งสัญญานี้จึงได้ มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2502 ในอันที่จะจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคขึ้นในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน โดย รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันรับจะช่วยเหลือด้วยการจัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ อันเป็นอุปกรณ์การสอนวิชาช่างต่างๆ มาให้ทั้งหมด พร้อมกับส่งครูผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ มาช่วยสอนด้วย ส่วนรัฐบาลไทยรับเป็นผู้จัดหาที่ดิน อาคารเรียนโรงฝึกงาน ตลอดจนครูไทยจำนวนหนึ่งที่จะทำการสอนร่วมกับครูผู้เชี่ยวชาญเยอรมันด้วย ผลแห่งสัญญาและความตกลงดังกล่าวแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ประกาศตั้งโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือขึ้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และได้เริ่มเปิดการสอนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประเภทช่างกล ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองตามเงื่อนไขและ ข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ส่วนการดำเนินงานในด้านบริหารโรงเรียน ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและดำเนินงานนั้นก็เหมือนกับโรงเรียนไทย อื่นๆ ทางฝ่ายเยอรมันเป็นเพียงที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิคเท่านั้น ใน ครั้งแรกได้ทำความตกลงช่วยเหลือกัน มีกำหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2504 แต่ต่อมาเมื่อครบกำหนดแล้วได้มีการตกลงที่จะมีการร่วมมือช่วย เหลือโรงเรียนนี้ต่อไปอีก 2 ปี ตามข้อตกลงที่ลงนามกัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2504 โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือในขณะนี้จัดการศึกษาเป็น 2 ประเภท คือประเภทโรงเรียนกลางวันและประเภทการศึกษาพิเศษ ประเภทโรงเรียนกลางวันจัดสอนเป็นสองขั้น คือ 1. ขั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง เปิดสอนในแผนกวิชาต่างๆ 6 แผนกคือ แผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเครื่องยนต์ แผนกช่างไฟฟ้า แผนกช่างท่อและ ประสาน แผนกช่างวิทยุและโทรคมนาคม และแผนกช่างไม้ และต่อไปจะเปิดสอนแผนกช่างเขียนแบบเพิ่มขึ้นอีก 1 แผนก

ในปีการศึกษา 2506 การเรียนในขั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง ในระยะ 3 ปีแรก ได้รับนักเรียนเข้าศึกษาเพียงปีละ 50 คน มีหลักสูตรการเรียน 2 ปี และ 3 ปี หลักสูตรการเรียน 2 ปีนั้น รับนักเรียนที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 จากโรงเรียนประเภทช่างกลต่างๆ มาเรียน 2 ปี ส่วนหลักสูตรการเรียน 3 ปี ผู้ที่สำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูงของกระทรวงศึกษาธิการ แต่สำหรับนักเรียนแผนกช่างไม้นั้น รับผู้ที่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลาย แผนกช่างไม้มาเรียน 3 ปี ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วก็จะได้ประกาศนียบัตรประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูงเช่น เดียวกัน เมื่อผ่านระยะ 3 ปีแรกมาแล้ว โรงเรียนได้เปิดรับเฉพาะผู้ที่ สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 มาเรียนต่อ 3 ปี ผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 1 จาก โรงเรียนประเภทช่างกลต่างๆ ไม่รับเข้าเรียน 2. ขั้นวิชาชีพชั้นสูง เปิดสอนในวิชาแผนกต่างๆ 4 แผนกคือ แผนกช่างกลโรงงาน แผนกช่างเครื่องยนต์ แผนกช่างไฟฟ้า และแผนกช่างท่อและประสาน การเรียนในขั้นวิชาชีพชั้นสูงนี้ โรงเรียนเปิดรับเฉพาะผู้ที่สำเร็จขั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง จากโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือเข้าเรียนต่ออีก 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะ ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนขั้น วิชาชีพชั้นสูงนี้ส่วนใหญ่ออกฝึกงานตามโรงงานอุตสาหกรรม และองค์การรัฐบาล ซึ่ง ได้ฝึกงานในวิชาช่างแขนงที่ตนเรียน และโรงเรียนยอมรับรองผลการปฏิบัติงานนั้น เป็นการเรียนภาคปฏิบัติส่วน การเรียนภาคทฤษฎีนักเรียนต้องไปเรียนที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน

นอกจากการศึกษาประเภทกลางวันแล้ว โรงเรียนยังได้จัดการศึกษาพิเศษขึ้นในเวลาเย็นตามหลักสูตรสารพัดช่าง ของกรมอาชีวศึกษาอีกด้วย คือ จัดสอนตามหลักสูตรระยะสั้น 180 ชั่วโมง หรือ 300 ชั่วโมง ซึ่งได้เปิดสอนวิชาช่างต่างๆ คือ ช่างเครื่องยนต์ ช่างกลึง ช่างประสาน ช่างวิทยุ และช่างเขียนแบบ ผู้ที่สมัครเข้า เรียนตามหลักสูตรดังกล่าวนี้บางช่างก็กำหนดความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 6 เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องยนต์ และช่างวิทยุ ส่วนช่างอื่นๆ ไม่กำหนดพื้นความรู้ ส่วนมากของผู้ที่มาเรียนเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานในตอนกลางวัน และมาเรียนในตอนเย็น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 มาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์การ สอนต่างๆ มาให้เรื่อยๆ คิดเป็นมูลค่าได้ประมาณ 7 ล้านบาท สิ่งของต่างๆ ที่นำมายังประเทศไทยนี้ ได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าทั้งหมดนอกจาก เครื่องจักรเครื่องมือที่ได้ส่งมาให้แล้ว ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันมาช่วยฝึกสอนร่วมกับครูไทยอีก 8 คน ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเหล่านี้ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันแต่ รัฐบาลไทยก็ได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในเรื่องต่างๆ คือ จัดหาบ้านพักให้อยู่อาศัยทุกคน ตลอดจนออกค่าน้ำค่าไฟให้ด้วย นอกจาก นั้นการนำของใช้ส่วนตัวเข้ามาใช้ในประเทศไทยก็ยังได้รับการยกเวั้นภาษีขาเข้าทั้งหมดอีกด้วย งานติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือในโรงฝึกงาน รวมทั้งการเดินสายไฟฟ้าและการวางท่อประปา ท่อลม ท่อแก๊ส เป็นผลงานของ นักเรียน 50 คน รุ่นแรกที่ได้ปฏิบัติงานร่วมกับคณะครูผู้เชี่ยวชาญเยอรมัน และครูไทยทั้งสิ้น

บุคคลสำคัญที่เป็นผู้บริหารงานโรงเรียน

  1. นายบุญญศักดิ์ ใจจงกิจ อาจารย์ใหญ่
  2. นายยง แย้มสรวล ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่
  3. นายคาร์ล สตุทเล่อร์ อาจารย์ใหญ่เยอรมัน (พ.ศ. 2502 – 2504)
  4. นายแอนส์ มอสดอร์ฟ อาจารย์ใหญ่เยอรมัน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
  5. นายฮูเบิร์ต ชุดเล่อร์ อาจารย์หัวหน้าโรงฝึกงาน และผู้เชี่ยวชาญช่างกลโรงงาน

คณะผู้เชี่ยวชาญเยอรมัน

  1. นายอีมิล ดิทริช อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างไฟฟ้า
  2. นายเฮอร์เบิร์ต มัง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างท่อและประสาน
  3. นายไฮน์ บิสมานน์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างเครื่องยนต์
  4. นายไฮน์ริช ชุปเปอร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างกลโรงงาน (พ.ศ. 2502 – 2504)
  5. นายออสคาร์ ชาร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างกลโรงงาน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
  6. นายเกอร์จ เดกินเดอร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างไม้ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)
  7. นายวอลฟ์กัง กร๊าฟท์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญช่างวิทยุ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา)

ทำเนียบอธิการบดี

แก้
  1. รองศาสตราจารย์ ดร.สมชอบ ไชยเวช (พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2532)
  2. รองศาสตราจารย์ ดร.ชนะ กสิภาร์ (พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2538)
  3. รองศาสตราจารย์ บรรเลง ศรนิล (พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2544)
  4. ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ (พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2550)
  5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา อ่องอารี (พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551)
  6. ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ (พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2559)
  7. ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน (พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน)

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

แก้
 
ประดูแดง ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ตราประจำมหาวิทยาลัย

แก้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระมหาพิชัยมงกุฎ" ซึ่งเป็นพระบรมราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

แก้

ต้นประดู่แดง เป็นไม้เนื้อแข็งซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของสถาบัน กิ่งมีลักษณะโน้มลงแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นไม้ป่าแสดงถึงความสามารถของบัณฑิตที่สามารถดำรงคงอยู่ได้อย่างอดทนแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ดอกมีสีแดงเข้มเหมือนหมากสุก ซึ่งตรงกับสีประจำมหาวิทยาลัย และจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันสถาปนาสถาบันคือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ของทุกปี เปรียบคล้ายกับนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายที่ใกล้จะสำเร็จการซึ่งตรงกับต้นประดู่แดงที่กำลังจะออกดอก เป็นดอกประดู่แดงทีมีความสวยงามและทน

สีประจำมหาวิทยาลัย

แก้

สีแดงหมากสุก  : สีแสดเป็นสีประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่สถาบันอัญเชิญมาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และสีดำ

วิทยาเขตและสถานที่ตั้ง

แก้

กรุงเทพมหานคร

แก้

ตั้งอยู่ที่ 1518 ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 87 ไร่ 3 งาน 60.77 ตารางวา มีอาคารรวมทั้งสิ้น จำนวน 39 หลัง (ไม่รวมอาคารย่อย) ประกอบด้วย อาคารเรียน จำนวน 22 หลัง อาคารสำนักงาน จำนวน 7 หลัง และอาคารอื่นๆ จำนวน 11 หลัง

 
อาคารสิรินธร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
 
มจพ. ปราจีนบุรี

ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,809 ไร่ 59 ตารางวา มีอาคารเรียน 3 หลัง คณะอาคารสำนักงาน 1 หลัง และอาคารอื่นๆ 8 หลัง และมีอาคารที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 3 หลัง

ระยอง

แก้

กำลังก่อสร้างบนที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษ ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 20 กิโลเมตร และได้มีการสำรองที่ดิน เพื่อการขยายพื้นที่อีก 200 ไร่ โดยการก่อสร้างจะเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และอาคารเรียนรวม ซึ่งคาดว่าอาคารทั้ง 2 หลังนี้จะแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2556 อาคารเรียนรวมได้รับรางวัลการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน [5]

หลักสูตรและการเรียนการสอน

แก้
 
คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมในวิทยาเขตกรุงเทพมหานคร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเปิดการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชา ซึ่งครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจนถึงระดับปริญญาเอก หลายหลายหลักสูตรด้วยกัน

หน่วยงาน

แก้

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือประกอบด้วยคณะ สำนัก และหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

กรุงเทพมหานคร

แก้
  • คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
    • ภาควิชาการจัดการอุตสาหกรรม
    • ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
    • ภาควิชาเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์และจัดการอุตสาหกรรมก่อสร้าง
    • ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม
  • คณะอุตสาหกรรมเกษตร
    • ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรและการจัดการ
    • ภาควิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ปราจีนบุรี
    • ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอิเล็กทรอนิกส์
    • สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือวัดและอัตโนมัติ
  • คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
    • ภาควิชาบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
    • ภาควิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการวัดคุมและอัตโนมัติ
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมกระบวนการเคมี
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมวัสดุและกระบวนการผลิต
  • คณะวิทยาศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
    • สาขากระบวนการอุตสาหกรรมเคมีและสิ่งแวดล้อม
    • สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานและการจัดการ
  • คณะบริหารธุรกิจ
    • สาขาวิชาการบัญชี
    • สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
    • สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

แก้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศไทย ด้านความพึงพอใจของผู้จ้างงานทั่วโลก จากการจัดอันดับของ QS University Ranking Asia 2016 และอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ Times Higher Education Asia 2019

จากการจัดอันดับของ QS World University Rangking By Subject 2022

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศไทย ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลการบินและอุตสาหการ และอันดับ 4 ของประเทศไทยในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ [6]

การเดินทาง

แก้

รถโดยสารประจำทาง

แก้
ถนนประชาราษฎร์ 1
แก้
  • รถโดยสารประจำทางสาย 32 ปากเกร็ด-สนามหลวง
  • รถโดยสารประจำทางสาย 33 ปทุมธานี-สนามหลวง
  • รถโดยสารประจำทางสาย 64 ท่าน้ำนนทบุรี-สนามหลวง
  • รถโดยสารประจำทางสาย 90 (สายปฏิรูป 1-27) ปทุมธานี - BTS สถานีหมอชิต
  • รถโดยสารประจำทางสาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์
  • รถโดยสารประจำทางสาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-อนุสาวรีย์ชัยฯ
  • รถโดยสารประจำทางสาย 97 วัดทางหลวง-โรงพยาบาลสงฆ์
  • รถโดยสารประจำทางสาย 117 กทม.2-ท่าน้ำนนทบุรี
  • รถโดยสารประจำทางสาย 175 (สายปฏิรูป 2-22) ท่าน้ำนนทบุรี - ถนนตก
  • รถโดยสารประจำทางสาย 203 ท่าอิฐ-สนามหลวง
  • รถโดยสารประจำทางสาย 543 อู่บางเขน-ท่าน้ำนนทบุรี

ถนนวงศ์สว่าง
แก้
  • รถโดยสารประจำทางสาย 5 กำแพงเพชร - สะพานพุทธ
  • รถโดยสารประจำทางสาย 18 ท่าอิฐ-อนุสาวรีย์ชัยฯ
  • รถโดยสารประจำทางสาย 49 สถานีกลางบางซื่อ-หมอชิต 2-หัวลำโพง
  • รถโดยสารประจำทางสาย 50 พระราม 7-สวนลุมพินี
  • รถโดยสารประจำทางสาย 170 (สายปฏิรูป 4-49) สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หมอชิต (จตุจักร) - ตลาดเซฟอี (แยกพุทธมณฑลสาย 2)
  • รถโดยสารประจำทางสาย 179 พระราม 9-พระราม 7
  • รถโดยสารประจำทางสาย 2-17 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - คลองประปา - MRT สถานีบางซื่อ (เส้นทางวงกลม)
  • รถตู้โดยสารสาร เซ็นทรัลลาดพร้าว-ท่าน้ำนนท์
  • รถตู้โดยสารสาร เซ็นทรัลลาดพร้าว-พระราม 7 (จอดหน้ามหาวิทยาลัย)
ถนนบางกรวย-ไทรน้อย
แก้
  • รถสองแถวสาย 1010 สี่แยกบางสีทอง-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

รถไฟฟ้า

แก้

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

แบ่งตามประเภท

คณะวิศวกรรมศาสตร์ , Faculty of Engineering

  • กมล ตรรกบุตร - นายก สภาวิศวกร (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมเครื่องกล)
  • กรรธม กรรณสูต - กรรมการสมาคมศิษย์เก่าสถาบัน,อิตัลไทย มารีน,อ่าวสยาม มารีน
  • อำนวย ทองสถิตย์ - อดีต อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)
  • ประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ - อธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมเครื่องกล)
  • สุกิจ นิตินัย - อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • โกมล บัวเกตุ - อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน,ผู้ตรวจราชการ,กรรมการPTT OR
  • ปรเมศวร์ นิสากรเสน- ศิษย์เก่าMIT(ได้รับทุนศึกษาต่อ)ผู้บริหารระดับสูงของSCG(ปูนซีเมนต์ไทย)
  • ชนะ ภูมี - รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)
  • สุทธิ เชื้อสุข - รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
  • ปัญญาพล สุพรรณวงศ์ - ผู้บริหารระดับสูง บริษัท เอสเอ็มซี (ประเทศไทย) ผู้นำตลาดนิวเมติกส์
  • เสรี อติภัทธะ -(วิศวกรรมเครื่องกล) รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • วิเชียร ปัญญาวานิชกุล (วศบ.ไฟฟ้า)- รองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • จาตุรงค์ สุริยาศศิน (วศบ.ไฟฟ้า)-รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง
  • วันชัย เจียรวัฒนาวิทย์ -(วศบ.ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์) รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง
  • ภูวดา ตฤษณานนท์ -(วศบ.ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย
  • ประยุทธ อัครเอกฒาลิน - ศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)
  • อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุทัยธานี (คณะวิศวกรรมศาสตร์ , วศบ.สาขาวิศวกรรมโยธา)
  • นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล - (คณะวิศวกรรมศาสตร์, วศบ.สาขาวิศวกรรมโยธา )
  • ชนาธิป โพธิ์ทองคำ - (คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี)
  • รวิวัฒน์ พนาสันติภาพ -กรรมการบริหารสถาบันพลังงานแห่งประเทศไทย
  • สุธีรพันธุ์ สักรวัตร - นักการตลาดและผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • ฐิติพงศ์ เซ่งง่าย - (คณะวิศวกรรมศาสตร์)
  • จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ -(วศบ.สาขาไฟฟ้า)กรรมการบริหารคมนาคมแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมถ์
  • ไพบูลย์ ณะบุตรจอม -(วศบ.สาขาโยธา) ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
  • สิทธิพร ประวัติรุ่งเรือง อธิการบดี มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
  • มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์
  • นพดล ทิพยชล - (วิศวกรรมศาสตร์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัด นนทบุรี พรรคก้าวไกล

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม , Faculty of Technical Education

(คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม, คอบ.ไฟฟ้า)

  • ชาติชาย ภุมรินทร์ - รองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • ปรีชา อ่องอารี - อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม)
  • เสถียร ธัญญศรีรัตน์ - อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
  • สมศักดิ์ พรหมดำ - ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน,รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
  • ธเนศ จันทกลิ่น - รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
  • คมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่
  • โพไซ บูลม รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา
  • พุฒิพงศ์ สุดหล้า กรรมการสภาหลายสถาบัน วิศวกรผู้ชำนาญการ
  • ไพบูลย์ อังคณากรกุล - ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาซีฟา จำกัด(มหาชน)
  • อนุรัตน์ อินทร- ประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดเชียงราย
  • สุภชา ศิริวงศ์ยิ่งเจริญ - (คุรุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท unique
  • ปิยรัฐ จงเทพ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จังหวัดกรุงเทพมหานคร
  • วุฒิพงศ์ ทองเหลา -สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปราจีนบุรี
  • อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ - อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  • ไพศาล บุรินทร์วัฒนา - อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  • ชัยยง เอื้อวิริยานุกูล - อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม)
  • ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ - ปริญญาตรีครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
  • อรรถพล สังขวาสี -ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(คุรุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)

คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ , Faculty of Applied Science


วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม , College of Industrial Technology

คณะ/วิทยาลัย อื่นๆ แห่ง มจพ.

  • วิชัย ล้ำสุทธิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง
  • ดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต กรรมการบริษัทและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาพัฒน์ พร็อพเพอร์ตี้ (บริหารธุรกิจ)
  • สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง (บริหารธุรกิจอุตสาหกรรม)
  • ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย/ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร วีมูฟ แพลตฟอร์ม(บริหารธุรกิจ)
  • อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล (คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ)
  • ศรัณยา จำปาทิพย์ (คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม)

อ้างอิง

แก้
  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/019/9.PDF
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/308/5.PDF
  3. พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514
  4. [1]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2534
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ 2013-07-13.
  6. Ranking Web of World Universities เก็บถาวร 2009-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนTop South East Asia

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°49′08″N 100°30′51″E / 13.818811°N 100.514206°E / 13.818811; 100.514206