มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยนเรศวร (อังกฤษ: Naresuan University; อักษรย่อ: มน. – NU) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ถือกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 และพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก ก่อนที่จะแยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเมื่อปี พ.ศ. 2533 มาเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยชื่อ "นเรศวร" นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลก และทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน มหาวิทยาลัยนเรศวรนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของภาคเหนือ ถัดจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 17 ของประเทศไทย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการเรียนการสอนมาแล้วกว่า 57 ปี
Naresuan University | |
ตราช้างศึก สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย | |
ชื่อเดิม | วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก (พ.ศ. 2510–2517) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก (พ.ศ. 2517–2533) |
---|---|
ชื่อย่อ | มน.[1] / NU |
คติพจน์ | มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ |
ประเภท | สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ |
สถาปนา | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 |
สังกัดการศึกษา | กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
สังกัดวิชาการ |
|
งบประมาณ | 2,383,548,000 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
นายกสภาฯ | ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา |
อธิการบดี | รองศาสตราจารย์ ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี (รักษาการ) |
อาจารย์ | 1,494 คน (พ.ศ. 2567)[3] |
บุคลากรทั้งหมด | 4,971 คน (พ.ศ. 2567)[3] |
ผู้ศึกษา | 26,745 คน (พ.ศ. 2566)[4] |
ที่ตั้ง |
|
วิทยาเขต | พื้นที่ของมหาวิทยาลัย 2 แห่ง |
เพลง | มาร์ชมหาวิทยาลัยนเรศวร |
ต้นไม้ | เสลา |
สี | |
มาสคอต | ช้างศึก |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย |
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนของประเทศไทย[5] โดยมีการเรียนการสอนครอบคลุมครบทุกสาขาวิชาทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทุกระดับการศึกษาทั้งสิ้น 184 หลักสูตร[6] มีจำนวนนิสิตประมาณ 25,000 คน[7] และมีอาจารย์ประจำกว่า 1,500 คน[8]
ประวัติ
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวรมีประวัติการก่อตั้งและพัฒนาโดยแบ่งได้เป็น 3 ยุคสมัย คือ ยุคที่ 1 วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ยุคที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และยุคปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร[9][10]
ยุควิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก
แก้วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู[11] อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ แต่ความเข้าใจในเวลานั้นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลในพรรครัฐบาล จึงต้องใช้ความพยามยามอย่างมาก
ดร. สาโรช บัวศรี เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497[12] แต่กว่าที่จะได้มีการยอมรับนั้นค่อนข้างพบอุปสรรคพอสมควร
“ | ...ตอนนั้นในหมู่ประชาชนความคิดที่ว่าจะให้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้นการเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่งนั้นจะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ ฉะนั้นพอกฎหมายไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลาแล้ว ผมก็ต้องไปชี้แจงหนักหน่วงมาก เพราะท่านผู้แทนสมัยโน้นเขาไม่เข้าใจเลย เป็นวิทยาลัยอะไรให้ปริญญา? เป็นครู, เป็นศึกษาธิการอำเภอจะเอาปริญญาเชียวหรือ? ผมก็ต้องชี้แจงมากมาย…
…แต่พอมาถึงประเด็นที่ว่า วิทยาลัยจะประสาทปริญญาได้นี่ไม่เคยเห็นมีแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เป็นแค่วิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาไม่เห็นด้วย เป็นไปไม่ได้ ผมก็ออกไปชี้แจงอีก…แต่เขาก็ไม่ฟังเสียง เป็นวิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาได้อย่างไร ตอนนั้นผมก็หนักใจมาก แต่ก็กัดฟันชี้แจงต่อไปอีก แล้วก็เป็นการบังเอิญมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ประชุมและผมทราบลูกของท่านเรียนอยู่ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังทำปริญญาเอกด้วย ทำไมทำได้ล่ะ เขาจึงค่อยเงียบเสียงลง… |
” |
— ศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี, ปราชญ์ผู้ทรงศีล พ.ศ. 2531 |
อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2497[11] ในระหว่างนั้น อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 –2513) และเป็นคณะกรรมการร่วมของโครงการพัฒนาการศึกษาด้วย ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับงานฝึกหัดครูอย่างมาก จากแนวคิดในการดำเนินการขยายการฝึกหัดครูระดับปริญญาไปสู่ส่วนภูมิภาคนั้น จึงได้มีการขยายวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งขณะนั้นยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และมีความคล้ายคลึงทั้งในที่มา จุดประสงค์และการดำเนินการเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพครู เหมือนกับกรมการฝึกหัดครู โดยแนวคิดของอาจารย์บุญถิ่น อัตถากรนั้น คือ[13][14]
“ | …ต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยต้องรีบผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ โดยการศึกษาฝึกหัดครูจะต้องเป็นขั้นๆโดยลำดับจนถึงขั้นปริญญา ขณะเดียวกันก็ค่อยลดการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรลงจนเลิกไปในที่สุด และผลิตครูขั้นปริญญาเพิ่มขึ้น และเมื่อถึงโอกาสอันสมควร, สถานศึกษาฝึกหัดครู สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันขั้นปริญญาต่างๆ ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียง ก็จะรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค… | ” |
— อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 –2513) |
หลังจากนั้นจึงได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่าง ๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม 2512)
ยุคมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก
แก้ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา[15] ซึ่งเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และเรียกชื่อมหาวิทยาลัยและชื่อวิทยาเขตตามสถานที่ตั้งของวิทยาเขตต่อท้าย ยกเว้นวิทยาเขตพระนครให้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน
ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้นั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร เข้าดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเห็นว่าการบริหารงานของวิทยาลัยนั้นขาดความคล่องตัวอยู่มาก เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการจะเป็นปัญหาระยะยาวในการขยายผลด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป ท่านจึงได้ร่างพระราชบัญญัติเพื่อขอยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยในระหว่างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร ได้ออกเอกสารที่เรียกว่า 'เอกสารปกขาว' เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจรับทราบว่า
“ | …เมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อเดือนมกราคม 2512 ได้พบว่าการดำเนินงานของวิทยาลัยวิชาการศึกษาไม่มีความคล่องตัวเป็นอันมาก จึงได้ร่างพ.ร.บ. ยกฐานะวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเสนอต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 และรอรับฟังพิจารณาอยู่ 1 ปีเต็ม จนถึงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2512 จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการอีกครั้งหนึ่ง และเสนอให้เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอีกทางหนึ่ง...
...อาจจะเป็นเพราะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็น วิทยาลัย ในความหมายของความเข้าใจของบุคคลทั่วไปว่า ไม่ใช่สถานศึกษาชั้นปริญญาในระดับมหาวิทยาลัย ดังที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ดำเนินงานอยู่จริง จึงเห็นสมควรที่จะออกเอกสารฉบับนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลที่สนใจในการศึกษาขั้น มหาวิทยาลัย… |
” |
เมื่อได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามลำดับ โดยเป็นการดำเนินการตามวิธีที่ถูกต้องและขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515
จากการที่วิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิตได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอและด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517[15]
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยให้เป็นมงคลนามและพระราชทานความหมายว่า " มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร " โดย ' วิโรฒ ' มาจาก ' วิรูฒ ' (ภาษาสันสกฤต) ' วิรุฬห์ ' (ภาษาบาลี) ซึ่งแปลว่า " เจริญ , งอกงาม "
ภายหลังทางวิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิต ได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับ ทั้งนี้โดยตระหนักจากการพิจารณาองค์ ประกอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของวิทยาลัยและประโยชน์อันจะเกิดขึ้นต่อ วิทยาลัยและในวงกว้างทางการศึกษาและประเทศชาติต่อไป ทางวิทยาลัย จึงได้มีการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้ดังนี้
- วิทยาลัยวิชาการศึกษามีความพร้อมโดยสมบูรณ์ที่จะเติบโต เป็นมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทางวิทยาลัยมีความพร้อมของอุปกรณ์ประกอบการสอน อาจารย์ และอาคารสถานที่เพียงพอที่จะเปิดสอนสาขาอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น
- ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
- ความคล่องตัวในการบริหารงาน
- ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการความหลากหลายทางการศึกษาที่ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
หลังจากที่ได้ยกฐานะแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯได้นำวิธีสอบคัดเลือกนิสิต เข้าศึกษาใน 2 ระดับ คือชั้นปีที่ 1 และ 3 ซึ่งในปีการศึกษานี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลกยังคงรับนิสิตภาคปกติที่จบป.กศ. สูงเข้าศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยวิธีการสอบคัดเลือกเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือได้เปิดรับสมัครสอบนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีเป็นปีแรกโดยใช้ วิธีการสอบผ่านทบวงมหาวิทยาลัย โดยรับทั้งสิ้น 63 คน สำหรับวิชาเอกที่เปิดในปีการศึกษา 2517 มีดังนี้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา และการประถมศึกษาซึ่งได้ใช้วิธีการสอบแข่งขันในการคัดเลือกผู้มาเรียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 แล้ว วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่น ๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย[10] โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2524) ที่กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลักของภาคเหนือตอนล่าง ทางวิทยาเขตจึงขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับอนุญาตในปี พ.ศ. 2527 โดยเป็นช่วงเดียวกับที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นประกาศโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของรัฐในส่วนภูมิภาคอีก 5 แห่ง โดยที่ดินที่ได้รับการจัดสรรใหม่นี้อยู่บริเวณทุ่งหนองอ้อ – ปากคลองจิก ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
ยุคมหาวิทยาลัยนเรศวร
แก้ช่วงปี พ.ศ. 2527–2531 ทางวิทยาเขตได้เตรียมแผนสำหรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ยกฐานะวิทยาเขตพิษณุโลก ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวร" ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย[10]
ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University)[16] จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางมหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดพะเยา[17] โดยปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา[18] และในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร[19] เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศในระดับมัธยมให้กับนักเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง
การศึกษา
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติรวมทั้งสิ้น 184 หลักสูตร แบ่งเป็นระดับระดับประกาศนียบัตร 2 หลักสูตรระดับ ปริญญาตรี 76 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 62 หลักสูตร ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง 1 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 43 หลักสูตร[6]
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวรมีหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 17 คณะ 4 วิทยาลัย (ไม่รวมบัณฑิตวิทยาลัย)[20] ดังต่อไปนี้
คณะวิชาในมหาวิทยาลัยนเรศวร | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน | ก่อตั้ง | วิทยาเขต | สีประจำคณะ | กลุ่มคณะ | ||||
คณะนิติศาสตร์
Faculty of Law |
น. LW |
21 ปี | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 | พิษณุโลก | สีขาว |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร
Faculty of Faculty of Business, |
บธ. BEC |
21 ปี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | พิษณุโลก | สีน้ำเงิน และ สีฟ้า |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะมนุษยศาสตร์
Faculty of Humanities |
มน. HU |
57 ปี | 25 มกราคม พ.ศ. 2510 | พิษณุโลก | สีน้ำตาล |
มนุษยศาสตร์ | ||
คณะศึกษาศาสตร์
Faculty of Education |
ศษ. EDU |
57 ปี | 25 มกราคม พ.ศ. 2510 | พิษณุโลก | สีฟ้า |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะสังคมศาสตร์
Faculty of Social Sciences |
สศ. SOC |
50 ปี | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 | พิษณุโลก | สีฟ้า-ขาว |
สังคมศาสตร์ | ||
คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Faculty of Agriculture, Natural Resources and Environment |
กษ. AGI |
31 ปี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2536 | พิษณุโลก | สีเขียว |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
Faculty of Logistics and Digital Supply Chain |
ลจ. LDSC |
13 ปี | 30 มกราคม พ.ศ. 2554 | พิษณุโลก | สีน้ำเงิน |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะวิทยาศาสตร์
Faculty of Science |
วท. SCI |
57 ปี | 25 มกราคม พ.ศ. 2510 | พิษณุโลก | สีเหลือง |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะวิศวกรรมศาสตร์
Faculty of Engineering |
วศ. ENG |
30 ปี | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 | พิษณุโลก | สีเลือดหมู |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ
Faculty of Architecture, Art and design |
สถ. ARCH |
23 ปี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 | พิษณุโลก | สีทรายทอง |
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | ||
คณะทันตแพทยศาสตร์
Faculty of Dentistry |
ทพ. DENT |
24 ปี | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2543 | พิษณุโลก | สีม่วง |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะพยาบาลศาสตร์
Faculty of Nursing |
พยบ. NU |
28 ปี | 19 สิงหาคม พ.ศ. 2539 | พิษณุโลก | สีแสด |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะแพทยศาสตร์
Faculty of Medicine |
พ. MED |
30 ปี | 18 มกราคม พ.ศ. 2537 | พิษณุโลก | สีเขียวหัวเป็ด |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะเภสัชศาสตร์
Faculty of Pharmaceutical Science |
ภ. PHA |
30 ปี | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 | พิษณุโลก | สีเขียวมะกอก |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
Faculty of |
วพ. MEDSCI |
23 ปี | 22 กันยายน พ.ศ. 2544 | พิษณุโลก | สีทอง |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะสหเวชศาสตร์
Faculty of Allied Health Sciences |
สห. AMS |
28 ปี | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 | พิษณุโลก | สีน้ำเงิน |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
คณะสาธารณสุขศาสตร์
Faculty of Public Health |
สธ. PH |
21 ปี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | พิษณุโลก | สีฟ้า |
วิทยาศาสตร์สุขภาพ | ||
วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ
College of Health Systems Management |
CHSM | 9 ปี | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 | พิษณุโลก | วิทยาศาสตร์สุขภาพ | |||
วิทยาลัยนานาชาติ
International College |
NUIC | 23 ปี | 13 มกราคม พ.ศ. 2544 | พิษณุโลก | สีม่วง, สีทอง, สีขาว |
สหวิทยาการ | ||
วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี
School of Renewable Energy and Smart Grid Technology |
SERT | 21 ปี | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 | พิษณุโลก | วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | |||
วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน
The Institute for Fundamental Study |
IF | 13 ปี | 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 | พิษณุโลก | วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี | |||
บัณฑิตวิทยาลัย
Graduate School |
บว. GS |
34 ปี | 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 | พิษณุโลก | สหวิทยาการ |
สถาบันสมทบ
แก้- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
- วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์
- วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี[21]
การก่อตั้งคณะ
แก้ศูนย์วิทยบริการ
แก้แต่เดิมมหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดตั้งศูนย์วิทยบริการเพื่อขยายเครือข่ายการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ประกอบด้วย เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตาก สุโขทัย อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้สนใจศึกษาต่อที่ไม่สามารถมาเรียนโดยตรงที่มหาวิทยาลัยได้ และให้บัณฑิตวิทยาลัย กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนของศูนย์วิทยบริการมหาวิทยาลัยทั้งหมด ต่อมาจึงได้จัดตั้งสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศูนย์วิทยบริการโดยเฉพาะ[22]
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ได้มีมติให้ปิดศูนย์วิทยบริการ และปิดหลักสูตรการเรียนการสอนของศูนย์วิทยบริการทั้งหมดเมื่อนิสิตในปัจจุบันสำเร็จการศึกษาแล้ว และให้ดำเนินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งเพียง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมชุมชน (จัดการเรียนการสอนโดยคณะเภสัชศาสตร์ ณ เภสัชสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์) และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการคลังและการบริหารหลักประกันสุขภาพ (หลักสูตรนานาชาติ) (จัดการเรียนการสอนโดยคณะแพทยศาสตร์ ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.))[23] และในการประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติปิดสถานที่จัดการเรียนการสอน ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกแห่งหนึ่ง คงเหลือแต่เภสัชสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์เพียงแห่งเดียว[24]
การวิจัย
แก้จากการที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้วางเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย (Research University) "[16] จึงได้มีการจัดตั้งกองบริหารการวิจัย โดยเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานอธิการบดี เพื่อบริหารจัดการ ประสานงานและรวบรวมงานวิจัยต่าง ๆ ของคณาจารย์และนิสิตของมหาวิทยาลัย
ในแต่ละปี กองบริหารการวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัด "การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัย (Naresuan Research Conference)" ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยและผู้ที่สนใจนำเสนอผลงานวิจัยและการสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 นี้ การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 9[ลิงก์เสีย] จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ โดยมีหัวข้อการประชุม เรื่อง "ความรู้สู่เชิงพาณิชย์ นำเศรษฐกิจไทยก้าวไกลอาเซียน (Research-Based Commercialization for ASEAN Economic Development)"
ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2548 มีทั้งสิ้น 112 เรื่อง[25] ส่วนในปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับทุนวิจัยรวมทั้งสิ้น 280 โครงการ[26] โดยแบ่งตามสาขาดังนี้
- สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวม 87 โครงการ
- สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวม 159 โครงการ
- สาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รวม 30 โครงการ
- หน่วยงานอื่น ๆ รวม 4 โครงการ
การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
แก้ระดับปริญญาตรี
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[27]
- ระบบ Admission กลาง โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ความถนัดทั่วไป (GAT) และ ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) [ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553 เป็นต้นไป] โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
- ระบบรับตรง (โควตา) มหาวิทยาลัยดำเนินการสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี และ 1 จังหวัดภาคกลาง คือ ชัยนาท
- โครงการพิเศษ ดังนี้
- โครงการรับนิสิตแพทย์ในระบบคัดเลือกส่วนกลางร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)
- โครงการนักเรียนที่มีผลการเรียนเป็นเลิศ
- โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ (สอวน.)
- โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน
- โครงการที่รับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากการประกวดโครงงานวิทยานิพนธ์รุ่นเยาว์ (YSC)
- โครงการผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬา
- โครงการผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม (ลูกพระฆเนศ)
- โครงการผู้ที่มีความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์
- โครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านทัศนศิลป์
- โครงการผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านนาฏศิลป์ ดนตรี
- ดูเพิ่มเติม การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
ระดับปริญญาโท
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท[28] ดังนี้
- การสอบคัดเลือก เป็นการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
- การคัดเลือก เป็นการคัดเลือกครูประจำการที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาต่าง ๆ โดยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในภาคฤดูร้อน
ระดับปริญญาเอก
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาต่าง ๆ โดยการพิจารณาของมหาวิทยาลัย หรือสามารถสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ได้[28]
อันดับและมาตรฐานมหาวิทยาลัย
แก้การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย
แก้อันดับมหาวิทยาลัย | |
---|---|
อันดับในประเทศ (อันดับนานาชาติ) | |
สถาบันที่จัด | อันดับ |
CWUR (2023) | - |
Nature Index (2022-2023) | 12 (-) |
QS (World) (2024) | 9 (1201-1400) |
QS (Asia) (2023) | 13 (401-500) |
RUR (2023) | - |
SIR (2023) | 13 (2572) |
THE (World) (2023) | 11 (1501+) |
THE (Asia) (2023) | 13 (601+) |
UI Green Metric (2022) | 16 (231) |
uniRank (2023) | 15 (2287) |
URAP (2022-2023) | 12 (1917) |
U.S. News (World) (2022-2023) | 10 (1835) |
U.S. News (Asia) (2022-2023) | 10 (716) |
Webometrics (2023) | 10 (1316) |
ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[29] โดยในภาพรวมด้านการวิจัยนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเยี่ยมและเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 9 ของประเทศไทย
อันดับมหาวิทยาลัย
แก้นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่
การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Rankings
แก้อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Rankings หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ โดยผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษา Scimago Institutions Rankings 2021 ประเภทภาพรวม (Overall Rank) ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ [30] นั้น ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยในไทยติดอันดับจำนวน 27 แห่ง สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรติดอันดับที่ 10 ของประเทศไทย และอันดับที่ 760 ของโลก[31] ซึ่งมีรายละเอียดในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้
- 1. ด้านการวิจัย ติดอันดับที่ 8 ของประเทศไทย อันดับที่ 420 ของโลก
- 2. ด้านนวัตกรรม ติดอันดับที่ 12 ของประเทศไทย อันดับที่ 501 ของโลก
- 3. ด้านสังคม ติดอันดับที่ 8 ของประเทศไทย อันดับที่ 241 ของโลก
Scimago Institutions Rankings เป็นการจัดอันดับจากองค์การในประเทศสเปน ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลงาน 3 ด้าน[32] ได้แก่
- 1. ด้านการวิจัย อ้างอิงผลข้อมูลจาก Scopus
- 2. ด้านนวัตกรรม พิจารณาข้อมูลมาจาก PATSTAT
- 3. ด้านสังคม ข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ
การจัดอันดับโดย Times Higher Education
แก้เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกโดยนิตยสารไทมส์ไฮเออร์เอดยูเคชัน (Times Higher Education (THE)) ซึ่งมีการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ใน 5 มิติ คือ การเรียนการสอน ความเป็นสากล นวัตกรรม งานวิจัย และการอ้างอิงผลงานวิจัย สำหรับในภาพรวม (Overall) ของปี พ.ศ. 2565 นั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรติดอันดับ 6 ร่วมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยอยู่ในอันดับ 1,201+ ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก[33] เมื่อพิจารณาในแต่ละมิติแล้ว มหาวิทยาลัยนเรศวรติดอันดับของประเทศไทยดังนี้
- 1. ด้านการเรียนการสอน ติดอันดับที่ 6 ของประเทศไทย
- 2. ด้านความเป็นสากล ติดอันดับที่ 7 ของประเทศไทย
- 3. ด้านนวัตกรรม ติดอันดับที่ 14 ของประเทศไทย
- 4. ด้านวิจัย ติดอันดับที่ 14 ของประเทศไทย
- 5. ด้านการอ้างอิงผลงานวิจัย ติดอันดับที่ 11 ของประเทศไทย
นอกจากนี้ Times Higher Education ยังได้มีการจัดอันดับในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย โดยในปี พ.ศ. 2565 มีสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับดังต่อไปนี้
- 1. วิศวกรรมศาสตร์ ติดอันดับ 4 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 801-1,000 ของโลก
- 2. วิทยาศาสตร์สุขภาพ (แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์) ติดอันดับ 4 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 601+ ของโลก
- 3. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (เกษตรศาสตร์ ชีววิทยา) ติดอันดับ 7 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 801+ ของโลก
- 4. วิทยาศาสตร์กายภาพ (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี) ติดอันดับ 7 ร่วมของประเทศไทย อันดับที่ 1,001+ ของโลก
การจัดอันดับโดย UI Green Metric World University Ranking
แก้เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ในรอบ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 16 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 278 ของโลก[34]
การจัดอันดับโดย uniRank
แก้uniRank เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานไม่แสวงหากำไร IREG Observatory ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาจากหลายสถาบัน และจดทะเบียนหน่วยงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม อันดับของ uniRank จะอาศัยการรวบรวมข้อมูลตัววัดเว็บ (web metrics) 5 ฐานข้อมูลได้แก่ 1. Moz Domain Authority 2. Alexa Global Rank 3. SimilarWeb Global Rank 4. Majestic Referring Domains 5. Majestic Trust Flow โดยการจัดอันดับประจำปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ในอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 1,605 ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก [35]
การจัดอันดับโดย Webometrics
แก้การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ในอันดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค โดยเป็นอันดับที่ 9 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อันดับ 32 ของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 1,318 ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก[36]
พื้นที่มหาวิทยาลัย
แก้พื้นที่การศึกษา
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวร แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 2 ส่วนดังนี้
มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนสนามบิน
แก้หรือที่เรียกว่า "มน.ใน" ส่วนนี้เป็นสถานที่ตั้งแรกเดิมของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ณ เลขที่ 1 ถนนสนามบิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบันคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้ย้ายไปยังพื้นที่ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน "ไภษัชยศาลา" คณะเภสัชศาสตร์ และศูนย์สุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวร (สนามบิน) คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนใหญ่เพื่อเป็นที่ตั้งของโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนหนองอ้อ
แก้หรือที่เรียกว่า "มน.นอก" ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัย มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่ ณ เลขที่ 99 หมู่ 9 ถนนพิษณุโลก-นครสวรรค์ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แต่เดิมนั้นที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินสาธารณะโดยชาวบ้านเรียกว่า "ทุ่งหนองอ้อ - ปากคลองจิก" เนื่องจากเคยเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยต้นอ้อ และมีต้นจิกปกคลุมไปทั่ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทางมหาวิทยาลัยได้เข้าใช้พื้นที่และทำการปรับรูปที่ดินและถมหนองน้ำต่าง ๆ ซึ่งการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นอาศัยแผนแม่บท (Master Plan) ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี พ.ศ. 2527[10]
การก่อสร้างอาคารของแต่ละคณะและแต่ละหน่วยงานนั้นคำนึงถึงกลุ่มสาขาวิชาเป็นหลัก โดยมีถนนนเรศวร และถนนเอกาทศรถเป็นถนนสายหลักล้อมรอบมหาวิทยาลัย เชื่อมกันด้วยถนนสุพรรณกัลยา นอกจากนี้มีถนนเชื่อมต่อเข้าสู่อาคารต่าง ๆ และมีประตูเข้า-ออกโดยรอบมหาวิทยาลัย 6 ประตู ซึ่งกลุ่มอาคารในมหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 6 กลุ่มดังต่อไปนี้
- กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย
- กลุ่มอาคารคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
- อาคารสิรินธร
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 1
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา 2
- อาคารที่จอดรถ
- อาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
- กลุ่มอาคารคณะทันตแพทยศาสตร์ - คณะพยาบาลศาสตร์ - คณะสหเวชศาสตร์
- อาคารโรงพยาบาลทันตกรรม
- กลุ่มอาคารคณะเภสัชศาสตร์
- กลุ่มอาคารสาธารณสุข (อาคารคณะสาธารณสุขศาสตร์ - อาคารเรียนรวมวิทยาศาสตร์สุขภาพ - อาคารที่จอดรถ)
- กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย
- กลุ่มอาคารคณะวิทยาศาสตร์
- กลุ่มอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์
- อาคารวิทยาลัยพลังงานทดแทน
- กลุ่มอาคารคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- อาคารคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
- กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย
- อาคารคณะศึกษาศาสตร์
- อาคารวิทยาลัยนานาชาติ (อาคารสำนักหอสมุดเดิม)
- กลุ่มอาคารคณะศึกษาศาสตร์ - คณะมนุษยศาสตร์
- กลุ่มอาคารอุตสาหกรรมบริการ (อาคารคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร - อาคารคณะสังคมศาสตร์ - อาคารคณะนิติศาสตร์ - อาคารปราบไตรจักร 2 (อาคารเรียนรวม) - อาคารที่จอดรถ)
- อาคารส่วนกลาง ประกอบด้วย
- อาคารมิ่งขวัญ
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ (สำนักงานอธิการบดี)
- อาคารเอกาทศรถ
- อาคารมหาธรรมราชา
- อาคารปราบไตรจักร 1
- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินินาถ (อาคารเรียนรวมและโรงละคร)
- อาคารอเนกประสงค์
- อาคารสำนักหอสมุด อาคารแสงเทียน (อาคารหลังเดิม)
- อาคารสำนักหอสมุด อาคารเรียนรู้ (อาคารหลังใหม่)
- อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีและการสื่อสาร[37]
- อาคารวิสุทธิกษัตริย์
- อาคารเพราพิลาส
- อาคารบัณฑิตวิทยาลัย
- กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ชีวิต
- อาคารสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยนเรศวร
- อาคารหอพักอาจารย์และนิสิต หอพักอาจารย์มีทั้งหมด 8 หลัง โดยมน.นิเวศ 1 - 4 และ มน.นิเวศ 5,6 อยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัย ส่วนหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 7,8 จะอยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัย ส่วนหอพักนิสิตซึ่งประกอบด้วยอาคารขวัญเมือง และหอพักนิสิต 1 - 16 อยู่บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีหอพักนิสิตแพทย์ซึ่งตั้งอยู่หลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร บริเวณข้าง มน.นิเวศ 6 อีกด้วย
- ศูนย์กีฬา ประกอบด้วย สนามกีฬากลาง สนามเทนนิส สนามบาสเกตบอล สนามวอลเล่ย์บอล สนามตะกร้อ สนามเปตอง สนามฟุตบอล สนามซอฟต์บอล สนามกีฬาในร่ม โรงละครศิลป์ศาลา (โรงละครกลางแจ้ง) อาคารกิจกรรม และสระว่ายน้ำสุพรรณกัลยา
- ดูเพิ่มเติม แผนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บถาวร 2012-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย
แก้อาคารและสถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร มีดังนี้
- อาคารมหาธรรมราชา เป็นอาคารกลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A ประกอบไปด้วยหน่วยงาน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือตอนล่าง วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน โซน C ประกอบไปด้วยหน่วยงาน กองบริหารการวิจัย อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง และโซน B กำลังก่อสร้าง
- อาคารมิ่งขวัญ เป็นที่ตั้งของหน่วยงานส่วนใหญ่ในสังกัดสำนักงานอธิการบดี แต่ตัวสำนักงานอธิการบดีอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา บรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดีหลังใหม่ โดยตั้งอยู่ตรงข้ามกับอาคารมิ่งขวัญ
- ลานสมเด็จฯ คือลานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของนิสิตและบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัย
- หอพระเทพรัตน์ หอประดิษฐานพระพุทธรูป ภปร. ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย โดยได้รับพระราชานุญาตให้เป็นศิลปสถานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "หอพระเทพรัตน์" ซึ่งรูปแบบของหอพระเทพรัตน์นี้ออกแบบโดย อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ โดยมีเอกลักษณ์ให้สะท้อนรูปลักษณะศิลปสถานเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะร่วมกันของสถาปัตยกรรมสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา การจัดวางอาคารนั้นอยู่กลางสระน้ำระหว่างลานสมเด็จฯ สำนักงานอธิการบดี และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีสะพานเชื่อมต่อกับลานสมเด็จฯ และถนนหน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร[38]
- โดม เป็นชื่อเรียกของอาคารอเนกประสงค์โดยมีหลังคาคล้ายโดม ซึ่งภายในเป็นห้องอเนกประสงค์และลานกีฬาในร่มสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้อาคารอเนกประสงค์ยังเป็นที่ตั้งของห้องพระราชทานปริญญาบัตร พิพิธภัณฑ์ผ้า กองกิจการนิสิต รวมทั้งชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย
- พิพิธภัณฑ์ผ้า โครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก[39] โดยประกอบด้วย 2 หน่วยงานคือ
- พิพิธภัณฑ์ผ้า ตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารอเนกประสงค์ โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของผ้าจากชนชาติต่าง ๆ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องนุ่งห่มและการแต่งกาย นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมและนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและของประดับเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าชนิดต่าง ๆ และของที่ระลึกของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
- พิพิธภัณฑ์ชีวิต ประกอบด้วยกลุ่มอาคารทรงไทยที่อยู่ข้างสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในจะให้ความรู้ในด้านความเป็นมาของผ้าและการทอผ้า
- โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ โดยเป็นศูนย์การแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super tertiary care) ในภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง นอกจากเป็นสถานพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรยังเป็นศูนย์ประชุม ศูนย์การวิจัยและสถานที่ทำการเรียนการสอนนิสิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น ศูนย์วิจัย หรือสถาบันวิจัย
- ตึก CITCOMS เป็นชื่อเรียกของอาคารสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง สถานพัฒนาวิชาการด้านภาษา
- กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นศูนย์ฝึกอบรม รวมทั้งเป็นศูนย์ควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของมหาวิทยาลัย สังกัดสำนักงานอธิการบดี ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกลุ่มอาคารต่าง ๆ พ.ศ. 2539 และต่อมาใน พ.ศ. 2540 ได้ทำการจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมบุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัย เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการระบบเครือข่าย วิเคราะห์ออกแบบติดตั้งและพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่นิสิตของมหาวิทยาลัย รวมทั้งศูนย์พิมพ์เอกสาร และสตูดิโอถ่ายภาพ
- สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี ดำเนินการจัดตั้งเพื่อพัฒนาและประยุกต์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จัดตั้งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2544 โดยศูนย์แห่งนี้เป็น 1 ใน 5 ศูนย์ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบัณฑิตวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตร อันได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภูมิศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
- ตึก QS เป็นชื่อเรียกของอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบไปด้วยอาคารเรียนรวมและอาคารโรงละคร นอกจากนี้ สำนักงานกองบริการการศึกษาและสำนักงานไปรษณีย์ยังตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคารเรียนรวมอีกด้วย
- สวนเทเลทับบี้ เป็นสวนสาธารณะกลางมหาวิทยาลัยโดยตั้งอยู่ระหว่างอาคารสำนักหอสมุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ โดยชื่ออย่างเป็นทางการของสวนนี้คือ "กรีน แอเรีย" (Green Area) หรือ "โอเอซิส" (Oasis) จนกระทั่งมีภาพยนตร์สำหรับเด็กเรื่อง "เทเลทับบี้" เข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งลักษณะของสวนมีความคล้ายคลึงกับสวนในภาพยนตร์ นิสิตจึงเรียกกันเล่น ๆ ว่าสวนเทเลทับบี้จนติดปาก
- สวนพลังงาน ตั้งอยู่ภายในวิทยาลัยพลังงานทดแทน โดยเป็นสวนตัวอย่างที่เป็นแหล่งสาธิตการใช้งานจริงของระบบพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ชีวมวล และมีศูนย์ธุรกิจที่เป็นแหล่งของความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการดำเนินการส่งเสริมธุรกิจทางด้านพลังงานทดแทน[40]
ชีวิตในมหาวิทยาลัย
แก้การเรียนในมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นจะใช้เวลาในการเรียนต่างกันตามแต่ละหลักสูตรในแต่ละคณะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในการเรียน 4 ปี แต่สำหรับคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ สาขาทัศนมาตรศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 6 ปี ส่วนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และหลักสูตรคู่ขนานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 5 ปี[27] นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้นิสิตได้เข้าร่วมเพื่อที่จะได้พบปะและทำความรู้จักนิสิตในคณะอื่น ซึ่งมีการจัดหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี
กิจกรรมและประเพณีของมหาวิทยาลัย
แก้- พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมหรือเดือนมีนาคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยนเรศวร
- รับน้องเฟรชชี่และบีกินนิ่งแคมป์ (Beginning Camp) กิจกรรมรับน้องใหม่ก่อนเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 สำหรับนิสิตใหม่ชั้นปีที่ 1 โดยจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อให้นิสิตใหม่รู้จักมหาวิทยาลัยมากขึ้นและให้ปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้อง-พี่
- กิจกรรมประชุมเชียร์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 1 เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีของนิสิตชั้นปีที่ 1 และเป็นการสอนร้องเพลงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 ซึ่งภายหลังกิจกรรมประชุมเชียร์แล้ว แต่ละคณะมักจะให้มีการซ้อมการแสดงสแตนเชียร์ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ก่อนการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมประชุมเชียร์นี้จะจัดขึ้นในห้องเชียร์ ของแต่ละคณะ
- หนองอ้อเกมส์ กีฬาภายในของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตคณะต่าง ๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจที่สุดของงานก็คือ การแสดงสแตนเชียร์ของแต่ละคณะ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
- งานเปิดโลกกิจกรรมและเฟรชชี่ ไนท์ (Freshy Night) กิจกรรมที่ให้นิสิตชั้นปีที่ 1 เลือกเข้าชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการแสดงดนตรี การแสดงของนิสิตแต่ละคณะ และการประกวดดาวและเดือนของมหาวิทยาลัย โดยจัดขึ้น ณ อาคารเอนกประสงค์
- "Power Cheer" งานร้องเพลงมหาวิทยาลัย ภาคภูมิใจนเรศวร เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตรุ่นพี่และรุ่นน้อง ให้นิสิตใหม่เกิดความรักและภาคภูมิใจในสถาบัน โดยมีกิจกรรมการแสดงละครกลางแจ้ง ประกอบแสง สี เสียง เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช การแสดงประกอบจินตลีลา จากนั้นเป็นการร่วมกันร้องเพลงมหาวิทยาลัยประกอบการแปรอักษรอันแสดงถึงความสามัคคี และความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยนเรศวร
- งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ของทุกปีในคณะต่าง ๆ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภายในงานจะมีนิทรรศการความรู้และกิจกรรมเสริมสร้างความรู้มากมาย
- งานลอยกระทง เทิดไท้องค์ราชันย์ มิ่งขวัญนเรศวร งานประเพณีลอยกระทงของมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นทุกปีในวันลอยกระทง โดยภายในงานจะมีขบวนแห่กระทงยักษ์ของแต่ละคณะ งานจัดร้านขายของและซุ้มเกมส์ของนิสิตแต่ละคณะ รวมทั้งงานแสดงมหรสพอีกมากมาย
- งานกีฬาเฮลธ์ไซนซ์ (Health Sciences Games) เป็นการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะ ในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ 7 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ของทุกปี
- เอ็นยู วอยซ์ มิวสิก คอนเทสต์ (NU. Voice Music Contest) งานประกวดการขับร้องเพลงไทยสากลและเพลงสากลประจำปีของมหาวิทยาลัย โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมหรือมกราคม ของทุกปี
- วงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Band การแสดงความสามารถด้านการร้อง การเต้น และการเล่นดนตรี ของนิสิต/นักศึกษา จากระดับปริญญาตรีคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งคัดเลือกนิสิต/นักศึกษาจากผู้มีความสามารถในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยจะพิจารณาจากด้านความสามารถพิเศษ ภายใต้ "โครงการผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปวัฒนธรรม (โครงการลูกพระฆเนศ)" และชมรมส่วนกลางของมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าร่วมวงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Band โดยวงดนตรีลูกทุ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Band ได้รับงานแสดงจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือการแข่งขันระดับอุดมศึกษาเวทีต่าง ๆ
- ดาวรุ่งลูกทุ่งนเรศวร เป็นการแข่งขันประกวดวงดนตรีลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง ระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ซึ่งทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
งานเทางามสัมพันธ์
แก้กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่าง ๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ แม้ว่าวิทยาเขตต่าง ๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี "เทา" ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า "งาม" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น "เทา-งามสัมพันธ์" ในปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ
ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือเทางามอย่างเป็นทางการ เป็นมหาวิทยาลัยที่ 6 ของกลุ่ม และปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในเครือทั้งสิ้น 6 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยพะเยา (อนึ่ง มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้ใช้สีเทาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒโดยตรงเหมือนอีก 4 แห่ง แต่แยกตัวมาจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวร)
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมภายในของแต่ละคณะ และกิจกรรมระหว่างคณะของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย
ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัย
แก้รายนามนายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร นับแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร | |||
---|---|---|---|
รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
1. ดร.อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 – 24 มกราคม พ.ศ. 2534 | ||
2. นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ | 25 มกราคม พ.ศ. 2534 – 13 มกราคม พ.ศ. 2545 | ||
3. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2545 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 | ||
4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547 – 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553 | ||
5. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ | 4 มีนาคม พ.ศ. 2554 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 | ||
6. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา | 12 กันยายน พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน |
ทำเนียบผู้บริหารและอธิการบดี
แก้รายนามผู้บริหารและอธิการบดีตั้งแต่สมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษาจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้[10]
วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก | |||
---|---|---|---|
รายนามผู้อำนวยการ | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
1. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ | กันยายน พ.ศ. 2510 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 | ||
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก | |||
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
1. ศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ | 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2526 | ||
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์ | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2526 – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 | ||
3. รองศาสตราจารย์ ฉัตรชัย อรณนันท์ | 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 | ||
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรง ศิริเจริญ | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 – 23 เมษายน พ.ศ. 2533 | ||
5. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง | เมษายน พ.ศ. 2533 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 (รักษาการ) | ||
มหาวิทยาลัยนเรศวร | |||
รายนามอธิการบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
5. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 – 24 มกราคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ) | ||
6. ศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ สุขสำราญ | 25 มกราคม พ.ศ. 2534 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2534 (รักษาการ) 25 มีนาคม พ.ศ. 2534 – 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 | ||
7. ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน | 1 เมษายน พ.ศ. 2535 – 19 มกราคม พ.ศ. 2536 (รักษาการ) 20 มกราคม พ.ศ. 2536 – 19 มกราคม พ.ศ. 2544 20 มกราคม พ.ศ. 2552 – 19 มกราคม พ.ศ. 2560 | ||
8. ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกร ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี | 20 มกราคม พ.ศ. 2544 – 19 มกราคม พ.ศ. 2552 | ||
9. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี | 20 มกราคม พ.ศ. 2560 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (รักษาการ) 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 (รักษาการ) [41] 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 [42] | ||
10. รองศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ | 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560 – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (รักษาการ) | ||
11. รองศาสตราจารย์ ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 (รักษาการ) [43] | ||
12. รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี | 25 มีนาคม พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน (รักษาการ) [44] |
การพักอาศัยของนิสิต
แก้เนื่องจากมหาวิทยาลัยตั้งอยู่นอกเขตตัวเมือง ทำให้นิสิตส่วนใหญ่ทั้งที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพิษณุโลก และนิสิตที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ มีความจำเป็นในการพักอาศัยในหอพักบริเวณมหาวิทยาลัย ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงได้สร้างหอพักนิสิตภายในมหาวิทยาลัย โดยมีนโยบายให้นิสิตชั้นปี 1 ทุกคณะ พักอาศัยอยู่ภายในหอพักนิสิตของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนนิสิตคณะอื่น ๆ ซึ่งหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งอยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยบริเวณข้างอ่างเก็บน้ำ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นอาคาร 4 ชั้น มีทั้งสิ้น 15 อาคาร โดยมี "อาคารขวัญเมือง" เป็นอาคารบริการและอาคารอเนกประสงค์ของหอพักนิสิต การพักอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายรายปี[45] และในส่วนของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ทางคณะมีหอพักให้สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 2 - 6 โดยเก็บค่าใช้จ่ายรายปี
สำหรับนิสิตชั้นปีอื่น ๆ สามารถเช่าหอพักเอกชนภายนอกมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งมีอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย[46]
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร
แก้นับแต่แรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยนเรศวร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประจำทุกปี
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงราชย์ สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรสืบมาจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้น ณ ห้องประชุมมหาราช ศูนย์แสดงนิทรรศการและจัดการประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร
ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง
แก้มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง ไว้เป็นชุดพิธีการสำหรับสำหรับใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ดังนี้
- ครุยวิทยฐานะ
- ครุยดุษฎีบัณฑิต เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีประจำมหาวิทยาลัย กว้าง 2 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้างและถัดมาอีกเป็นแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดเป็นพื้นสักหลาดสีดำ กว้าง 2 เซนติเมตร ที่ต้นแขนมีสำรดรอบต้นแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางมีแถบทับสีแสด กว้าง 1 เซนติเมตร จำนวน 3 แถบ โดยห่างจากแถบสีเทา 1 เซนติเมตร และระหว่างแถบสีแสดห่างกัน 0.5 เซนติเมตร
- ครุยมหาบัณฑิต มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่สำรดรอบต้นแขนพื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางมีแถบทับสีแสด กว้าง 1.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แถบ โดยห่างจากแถบสีเทา 1 เซนติเมตร และระหว่างแถบสีแสดห่างกัน 1 เซนติเมตร
- ครุยบัณฑิต มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่สำรดรอบต้นแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางมีแถบทับสีแสด กว้าง 2 เซนติเมตร จำนวน 2 แถบ โดยห่างจากแถบสีเทา 2 เซนติเมตร
- เข็มวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นตรามหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง และมีอักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ทำด้วยโลหะสีเงิน สูง 5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง
- ครุยประจำตำแหน่ง
- นายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้างถัดมาเป็นแถบสีเทา กว้าง 2 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง และถัดมาอีกเป็นแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีแถบทับสีแสด กว้าง 2 เซนติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง ทำด้วยโลหะสีทองสูง 5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง และมีสายสร้อยทำด้วยโลหะสีทอง พร้อมด้วยเครื่องหมายประจำคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยตามแบบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดประดับระหว่างตรามหาวิทยาลัยทั้งสองข้าง
- กรรมการสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี แต่ไม่มีสายสร้อยประดับ
- คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีดำ กว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง ถัดมาเป็นแถบทอง กว้าง 0.5 เซนติเมตร จำนวน 2 แถบ ทับทั้งสองข้าง ระหว่างแถบทองห่างกัน 0.5 เซนติเมตร ตอนกลางสำรดเป็นแถบสีประจำมหาวิทยาลัย ด้านในเป็นแถบทับสีเทา กว้าง 1 เซนติเมตร ด้านนอกเป็นแถบทับสีแสด กว้าง 1 เซนติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยซึ่งมีลักษณะเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพ ตอนล่างพระแท่นมีอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่ภายในป้ายชายธง ทำด้วยโลหะสีทอง สูง 5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง
-
แถบสำรด
ครุยคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย
และอธิการบดี -
แถบสำรด
ครุยคณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย -
แถบสำรด
ครุยวิทยฐานะ -
แถบสำรดรอบต้นแขน
ครุยดุษฎีบัณฑิต -
แถบสำรดรอบต้นแขน
ครุยมหาบัณฑิต -
แถบสำรดรอบต้นแขน
ครุยบัณฑิต
การเดินทางสู่มหาวิทยาลัย
แก้หากเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (นครสวรรค์ - พิษณุโลก) มหาวิทยาลัยนเรศวรจะตั้งอยู่ทางขวามือช่วงกิโลเมตรที่ 117 - 118 สำหรับการเดินทางจากภายในตัวเมืองพิษณุโลกมาที่มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น สามารถทำได้โดย
- รถโดยสารประจำทาง สาย 12 (สองแถวป้ายสีฟ้าและสีแดง) ซึ่งจะมีจุดจอดอยู่ที่ สถานีรถไฟและสถานีขนส่งพิษณุโลก
- รถสามล้อรับจ้าง
- รถแท๊กซี่รับจ้าง
ส่วนจุดจอดรถโดยสารประจำทาง สาย 12 ในมหาวิทยาลัยนั้นจะจอดที่ป้ายรถโดยสารประจำทางเยื้องหอพักอาจารย์ มน.นิเวศ 7,8
สำหรับการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยจะมี "โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร (ขสมน.) " ซึ่งเป็นรถประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าบริการรอบมหาวิทยาลัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 21.00 น.
- ดูเพิ่มเติม แผนที่เส้นทางเดินรถไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากเว็บไซต์โครงการขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บถาวร 2017-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร
แก้- ดูบทความหลักที่ รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวร
บุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เป็นคณาจารย์และผู้บริหารทั้งในอดีต และปัจจุบัน รวมทั้งศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก สมัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก จนกระทั่งถึงสมัยมหาวิทยาลัยนเรศวร มีหลากหลายตั้งแต่บุคคลสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง นักวิชาการ ศิลปิน ข้าราชการและคณาจารย์ เช่น
- ศ.ดร.สมยศ พลับเที่ยง นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2552 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
- รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2530
- ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- รศ.ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร
- ไกลก้อง ไวทยการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนสมาชิกพรรคพรรคอนาคตใหม่
- ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
การเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล
แก้การออกนอกระบบเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลของมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น มีที่มาตั้งแต่การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ต่อสภามหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2542 และผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2547[47] ต่อมาคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ได้มีมติเห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549[48]
หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ฉบับออกไป แต่ต่อมาภายหลังจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เรียบร้อยแล้ว ทางศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้เสนอนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 เพื่อพิจารณาให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับข้างต้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[48] จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สอบถามมายังสภามหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันการเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้ง ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้ทำการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีมติเห็นชอบและให้การสนับสนุนด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 7[49][50]
รัฐบาลจึงได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าบรรจุเป็นวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฉบับ ส่วนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ให้ชะลอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[47]
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ได้มีกลุ่มนิสิตของมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์แสดงความเคลือบแคลงสงสัยในขั้นตอนการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... โดยอ้างว่าทางมหาวิทยาลัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยน้อยเกินไป ทำให้นิสิตไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังขาดกระบวนการทำประชาพิจารณ์ที่ถูกต้อง โดยนิสิตที่เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวมีจำนวนน้อยเกินไป ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของนิสิตในการประชุมเสนอความเห็น เพียงแต่บอกข้อดี ข้อเสีย และความไม่โปร่งใสเนื่องจากมีการเข้าวาระการพิจารณาอย่างเร่งด่วน[51] และในวันเดียวกันนั้นได้มีนิสิตประมาณ 500 คนเดินขบวนประท้วงรอบมหาวิทยาลัยเพื่อต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย[52]
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มายื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วาระประชุมในสภา เพื่อขอให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... โดยให้เหตุผลว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้นิสิตมีส่วนร่วมในร่างนี้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับมาทำความเข้าใจตกลงร่วมกันกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันก่อน[50] ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกครั้งในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550[53] แต่ต่อมาได้ยกเลิกโดยให้เหตุผลว่าการทำความเข้าใจกับบุคลากรและนิสิตอย่างทั่วถึง จะต้องใช้เวลาพอสมควรหากจะดำเนินการในระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมาขึ้นอีกได้ จึงเห็นควรชะลอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ไปจนกว่าจะทำความเข้าใจกับประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรให้มีความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายจึงจะดำเนินการนำเสนอต่อไป[54][55]
จากนั้นในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากได้เลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ครั้ง[56]
ต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการบรรจุร่างพระราชบัญญัติปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในแผนนิติบัญญัติ โดยเป็นไปตามความสมัครใจของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554 มีมติไม่ประสงค์เสนอร่างพระราชบัญญัติการปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยดังกล่าว [57]
อ้างอิง
แก้- ↑ การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เก็บถาวร 2021-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ 3.0 3.1 "สถิติบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ วันที่ 21/10/2024". กองการบริหารงานบุคคล สำนักงานอธิการบดี. มหาวิทยาลัยนเรศวร. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สรุปจำนวนนิสิต แยกตามระดับ ประจำปีการศึกษา 2563
- ↑ "บทบาทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลกที่เกี่ยวกับนโยบายการลงทุน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
- ↑ 6.0 6.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2015-08-28.
- ↑ สรุปจำนวนนิสิต แยกตามระดับ ประจำปีการศึกษา 2563
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อสถิติบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ วันที่ 7/10/2021
- ↑ "ประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-23. สืบค้นเมื่อ 2007-07-27.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 รังสรรค์ วัฒนะ. อนุทินของการเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา, 2547.
- ↑ 11.0 11.1 สมาคมศิษย์เก่า มศว. (2501). หนังสือที่ระลึก ประสานมิตรบัณฑิต รุ่น 5.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. 2497, มาตรา เล่ม ๗๑ ตอนพิเศษ ๖๑ ประกาศใช้เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2497. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ กรมฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ (2535). แนวคิดและผลงานศาสตราจารย์บุญถิ่น อัตถากร. p. 139.
- ↑ สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (2554). "รวบรวมครูเทพศิรินทร์ตั้งแต่อดีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗, มาตรา เล่ม ๙๑ ตอนพิเศษ ๑๑๒ ประกาศใช้เมื่อ 28 มิถุนายน 2517. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561.
- ↑ 16.0 16.1 "เป้าหมายในการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
- ↑ "ประวัติมหาวิทยาลัยพะเยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
- ↑ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553
- ↑ "ประวัติโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
- ↑ "หน่วยงานของมหาวิทยาลัย - คณะ วิทยาลัย สถาบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖, ตอน ๑๖๔ ง, ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒, หน้า ๑
- ↑ ประวัติสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร[ลิงก์เสีย]
- ↑ "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 165 (8/2554)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-01-25.
- ↑ "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 176 (10/2555)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2012-11-21.
- ↑ Update on Thai Publications in ISI Databases (1999-2005)
- ↑ ระบบฐานข้อมูลงานวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร[ลิงก์เสีย]
- ↑ 27.0 27.1 คู่มือนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2551
- ↑ 28.0 28.1 คู่มือนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีการศึกษา 2551
- ↑ "ฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-20. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
- ↑ https://www.scimagoir.com
- ↑ [https://www.scimagoir.com/rankings.php?country=THA§or=Higher%20educ. SCImago Institutions Rankings
- ↑ https://www.scimagoir.com/rankings.php?country=THA§or=Higher%20educ
- ↑ https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2022/world-ranking#!/page/0/length/25/locations/THA/sort_by/rank/sort_order/asc/cols/stats
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-18. สืบค้นเมื่อ 2022-02-18.
- ↑ https://www.4icu.org/reviews/4496.htm
- ↑ Ranking web of universities: Thailand
- ↑ "ข้อมูลอาคาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกองอาคารสถานที่". office.nu.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-01.
- ↑ วารสาร ม.นเรศวรสัมพันธ์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 88 เดือนกรกฎาคม 2551
- ↑ "ประวัติพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-17. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
- ↑ "สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-20. สืบค้นเมื่อ 2008-04-04.
- ↑ สภามหาวิทยาลัยนเรศวร มติเห็นชอบให้ “ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี” นั่งอธิการบดี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ , เล่ม ๑๓๕, ตอนพิเศษ ๔๐ ง, ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑, หน้า ๑๐
- ↑ คำสั่งมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ 5/2565 เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
- ↑ "ม.นเรศวร จัดพิธีการรับส่งงานในหน้าที่ราชการอธิการบดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-24. สืบค้นเมื่อ 2022-03-25.
- ↑ "หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 2021-08-20.
- ↑ "รายชื่อหอพักเอกชนรอบบริเวณมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-15. สืบค้นเมื่อ 2008-02-26.
- ↑ 47.0 47.1 เอกสารชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... (ในกำกับของรัฐ) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2550
- ↑ 48.0 48.1 "แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ... เพื่อเปลี่ยนเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2550". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-15.
- ↑ "คณะกรรมการสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีมติสนับสนุนมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-01. สืบค้นเมื่อ 2008-03-15.
- ↑ 50.0 50.1 กม.ดัน ม.นเรศวร ออกนอกระบบชะงัก “วิจิตร” ขอถอนกลับไปตั้งหลักใหม่ เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2550
- ↑ "กลุ่มนิสิต ม.นเรศวร ยื่นแถลงการณ์คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 2008-03-15.
- ↑ กองทัพนิสิต มน. กว่าครึ่งพันเดินขบวนถามหาความโปร่งใส
- ↑ หนังสือ ศธ 0527.01.01/617 เรื่องขอเชิญร่วมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ...
- ↑ "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 133 (6/2550)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2007-10-17.
- ↑ กับดักร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ↑ ครม.ไฟเขียวถอนร่างพ.ร.บ.มน. ดันมช.-สจล.-จุฬาฯออกนอกระบบ
- ↑ "มติที่ประชุมโดยย่อ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 164 (7/2554)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2011-11-29.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทุกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- การรับบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนเรศวร
- สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร เก็บถาวร 2010-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์