เพลงไทยสากล
เพลงไทยสากล เป็นเพลงที่ขับร้องในภาษาไทย โดยเริ่มจากนำทำนองไทยเดิมใส่เนื้อร้องบรรเลงและขับร้อง โดยใช้มาตรฐานของโน้ตเพลงแบบสากล จนเป็นเพลงไทยแนวใหม่ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 มีละครเวที ละครวิทยุ และภาพยนตร์ไทย มีบทบาทสำคัญทำให้เพลงไทยสากลได้รับความนิยม จนในปัจจุบันแตกสาขาไปอีกหลากหลายแนวเพลง
ประวัติ
แก้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกหัดทหารตามแบบยุโรป ซึ่งมีการใช้ดนตรีบรรเลงประกอบการฝึกทหาร โดยใช้ดนตรีประเภทแตรวง จากบันทึกของ เทาเซนต์ แฮรีส ทูตชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทย กล่าวว่า “วงดนตรีของเขาแปลกใหม่ที่ดึงดูดความสนใจของคนไทยที่พบเห็นเป็นอันมา” และ คนไทยเริ่มคุ้นกับแตรวงหรือแตรฝรั่งตั้งแต่นั้น จนในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 Jacob Feit (ผู้เป็นบิดาของ พระเจนดุริยางค์) ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน เข้ามารับราชการเป็นครูแตรวงในพระราชสำนักของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) ปรับปรุงแตรวงทหารในปี พ.ศ. 2420 วงแตรวงทหารในเวลาต่อมาได้รับการเรียกชื่อใหม่ว่า “วงโยธวาทิต” (Military Band) [1] ในราชสำนักไทยมีการเล่นดนตรีสำหรับบรรเลงทั้งดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นผู้นำการแต่งทำนองเพลงตามมาตรฐานดนตรีสากลและในการประพันธ์เพลงสำหรับบรรเลงด้วยแตรวงโดยเฉพาะเพลงวอลซ์ปลื้มจิต ในปี พ.ศ. 2446 สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกในประวัติศาสตร์ดนตรีของเมืองไทย[2] เพลงต่าง ๆ เหล่านี้ทรงนิพนธ์โดยใช้โน้ตและจังหวะแบบสากล และจากพระปรีชาสามารถในการทรงประพันธ์เพลง จึงทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล” [3]
ละครร้องได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2451 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ซึ่งทรงดัดแปลงมาจากละครมลายูที่เรียกกันว่า “มาเลย์โอเปร่า” หรือ “บังสาวัน” และทรงตั้งชื่อละครคณะใหม่นี้ว่า “ปรีดาลัย” ลักษณะของเพลงมีเนื้อร้องมากเอื้อนน้อยและให้ลูกคู่เป็นผู้เอื้อนแทนนักแสดง ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงนั้น จนในปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างวงดนตรีในราชสำนักเรียกว่า “วงเครื่องสายฝรั่งหลวง” และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อสอนดนตรีทุกประเภทที่ชื่อ โรงเรียนพรานหลวง ที่สวนมิสกวัน นอกจากนั้นทรงสร้าง “กาแฟนรสิงห์” บริเวณมุมถนนศรีอยุธยาลานพระราชวังดุสิต ให้ประชาชนพักผ่อน มีสถานที่ขายอาหาร และยังจัดบรรเลงดนตรี วงดุริยางค์สากลและวงปี่พาทย์ให้ประชาชนฟัง ทุก ๆ วันอาทิตย์เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00-19.00 น.
จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ดนตรีตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ประชาชนอย่างกว้างขวางตามลำดับ ทรงส่งเสริมไห้มีการฝึกดนตรีตะวันตกในหมู่ข้าราชการบริพารและนักดนตรีไทย ซึ่งมีนักดนตรีที่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องอย่าง พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) และอีกบุคคลหนึ่งในวงเครื่องสายฝรั่งหลวง เป็นหัวหน้าวงกรมโฆษณาการนั่นคือ เอื้อ สุนทรสนาน[4]
เพลงไทยสากล อาจพูดได้ว่าที่มา เกิดจาก 2 สายคือ สายทางละครและสายทางภาพยนตร์ สายทางละครนั้นละครคณะปรีดาลัยเป็นต้นกำเนิด มีลักษณะเป็นเพลงไทยที่ร้องตามทำนองฝรั่ง ส่วนทางสายภาพยนตร์ สันนิษฐานว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่นำเข้ามาฉายในเมืองไทยราวปี พ.ศ. 2471 ในช่วงแรกเป็นภาพยนตร์เงียบ จึงมีการริเริ่มทำเพลงประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสสำหรับผู้ชม โดยใช้แตรวงบรรเลงก่อนการฉายและขณะทำการฉายหนัง เพลงที่บรรเลงเป็นเพลงสากลกับเพลงไทยเช่น เพลงแบล็คอีเกิ้ล และเพลงของทูลกระหม่อมบริพัตรคือเพลงมาร์ชบริพัตรและวอลซ์ปลื้มจิต
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ภาพยนตร์ตะวันตก ทำให้คณะละครที่มีชื่อเสียงต้องหยุดลงไป มีละครสลับรำ (คือมีร้องเพลงประกอบบ้าง) ได้รับความนิยมแทน แต่ละครเพลงเหล่านี้ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าภาพยนตร์ตะวันตก ความนิยมในละครประเภทนี้ก็ลดลงตามลำดับ[5] จนในปี พ.ศ. 2470 จวงจันทร์ จันทร์คณา (พรานบูรณ์) ผู้ประพันธ์เรื่องและเพลงของคณะละครศิลป์สำเริง (คณะละครของแม่เลื่อน) ประวัติ โคจริก (แม่แก้ว) ผู้ประพันธ์เรื่องและเพลงของคณะละครนครบันเทิง (คณะละครของแม่บุญนาค) และสมประสงค์ รัตนทัศนีย์ (เพชรรัตน์) แห่งคณะละครปราโมทย์นคร (คณะละครของแม่เสงี่ยม กลิ่นหอม)[6] ได้พัฒนาเพลงประกอบละคร “โดยการดัดแปลงจากเพลงไทยเดิมที่มีทำนองสองชั้นมาใส่เนื้อร้องแทนทำนองเอื้อนใช้ดนตรีคลอฟังทันหูทันใจ เป็นที่นิยมของประชาชนซึ่งเรียกกันว่าเพลงเนื้อเต็มหรือเนื้อเฉพาะแต่ยังคงใช้ปี่พาทย์บรรเลงเหมือนเช่นเดิมอยู่”[7]
เพลงไทยสากล ในสมัยของพรานบูรณ์ (2470-2472) มีลักษณะเป็น “เพลงไทยเดิมสากล” ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงไทยเดิม พรานบูรณ์ได้แต่งเพลงลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมาก และในปี พ.ศ. 2474 พรานบูรณ์และเพชรรัตน์แห่งละครคณะศรีโอภาสได้นำดนตรีสากลประเภทเพลงแจ๊ส (Jazz Band) หรือ รหัสดนตรี เป็นส่วนประกอบละครเรื่อง “โรสิตา” และนำทำนองเพลง “วอลซ์ปลื้มจิต” มาใส่เนื้อร้อง ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการเผยแพร่บทเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ 7 พี.เจ. ที่ศาลาแดง และมีการบันทึกแผ่นเสียง โดยห้างนายต.เง็กชวน[8] และในปีเดียวกันพรานบูรณ์ร่วมงานกับคณะละครจันทโรภาสก็โด่งดังที่สุดขั้นด้วยละครร้องเรื่อง”จันทร์เจ้าขา” ซึ่งมีสถิติการนำออกแสดงถึง 49 ครั้ง ติดต่อกันแทบทุกโรงมหรสพที่มีในพระนครและธนบุรี โดยพรานบูรณ์แต่งเพลงไทยสากล มีลีลาทำนองอ่อนหวานอาทิ เพลงจันทร์เจ้าขา จันทร์สวาท จันทร์ลอย จันทร์จาฟ้าจันทร์แฝงหมอก ขวัญของเรียม ในช่วงนั้นบทเพลงประกอบละครร้องเป็นที่นิยมแพร่หลายโดยทั่วไปตราบจนกระทั่งความนิยมละครร้องลดน้อยลงไป ในขณะที่ภาพยนตร์พูดเสียงในฟิล์ม เข้ามาได้รับความนิยมแทน ซึ่งทีบทขับร้องประกอบด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ความนิยมในภาพยนตร์ตะวันตกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีการสร้างศาลาเฉลิมกรุงในปี พ.ศ. 2474 สกุลวสุวัต ซึ่งมี มานิต วสุวัต หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) กระเศียร วสุวัต และการะแส วสุวัต แห่งศรีกรุงภาพยนตร์ทำภาพยนตร์เสียงในฟิล์มหรือภาพยนตร์พูดได้เป็นครั้งแรกชื่อเรื่องว่า “หลงทาง” ดนตรีประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ดนตรีสากลบรรเลงเพลงไทยแท้ มีเนื้อร้อง ทำนองที่มีเอื้อนเพียงเล็กน้อย ซึ่งได้แก่เพลงพัดชา บัวบังใบ ฯลฯ เป็นต้น และในปี พ.ศ. 2476 ภาพยนตร์เรื่อง “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” โดยมี ขุนวิจิตรมาตรา กำกับการแสดงและเรือโทมานิต เสณะวีนิน ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อว่า “เพลงลาทีกล้วยไม้” ซึ่งนับเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรก ในการแต่งทำนองตามหลักโน้ตสากลในประวัติศาสตร์เพลงของเมืองไทย ขับร้องโดย องุ่น เครือพันธ์ และมณี บุญจนานนท์ ขับร้องหน้าเวทีสลับการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้[9] ที่เรียกว่าเพลงไทยสากล น่าจะเพราะ เป็นเพลงไทยที่มีเนื้อร้องภาษาไทยแต่มีท่วงทำนองลีลาและจังหวะเป็นแบบสากล
ในปี พ.ศ. 2477 กระทรวงกลาโหมสร้างภาพยนตร์ “เลือดทหารไทย” มีเพลงประกอบ 3 เพลงคือ “มาร์ชไตรรงค์” “ความรักในแม่น้ำเจ้าพระยา” และ “มาร์ชเลือดทหารไทย” ประพันธ์โดยเรือโทมานิต เสนะวีณิน และยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ประพันธ์โดย เรือโทมานิต และขุนวิจิตรมาตรา เช่น ตะวันยอแสง จากเรื่อง“เลือดชาวนา” เพลงบวงสรวงจากเรื่อง “เมืองแม่หม้าย” ฯลฯ และหลังจากที่เรือโทมานิต เสนะวีณิน ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2479 ได้เกิดนักแต่งเพลงคนใหม่คือนารถ ถาวรบุตร มีเพลงเพลงที่เป็นที่นิยมมากมาย เช่น พลับพลึงไพร ชื่นชีวิต แสนอาลัย ใจสนองใจ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2478 ทางราชการได้แต่งเพลงขึ้นอีก 2 เพลงคือเพลงชาติและเพลงเถลิงรัฐธรรมนูญ และยังมีเพลงที่สำคัญ เช่น เพลงรักเมืองไทย เพลงเลือดสุพรรณ ศึกถลาง เพลงแหลมทอง เป็นต้น ส่วนเพลงเพื่อกองทัพนั้นได้รับความนิยมสูงมากจนถึงกับนำไปเป็นเพลงสัญลักษณ์ก่อนการฉายภาพยนตร์ และเมื่อสงครามระหว่างไทยกับอินโดจีนเกิดขึ้นเพลงปลุกใจก็ยิ่งมากขึ้น เช่นเพลงแนวรบแนวหลัง เพลงทหารไทยแนวหน้า เพลงมณฑลบูรพา เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2480 ได้มีการสร้าง เรื่อง “เพลงหวานใจ” โดยมีขุนวิจิตรมาตราเป็นผู้แต่งบทภาพยนตร์ คำร้องเพลงประกอบภาพยนตร์และกำกับการแสดง นารถ ถาวรบุตร เป็นผู้แต่งทำนองเพลง และในปีเดียวกัน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นหัวหน้าวงดนตรีมีนักดนตรีที่สำคัญในวงเช่น เอื้อ สุนทรสนาน เวส สุนทรจามร สริ ยงยุทธ สังเวียน แก้วทิพย์ จำปา เล้มสำราญ คีติ คีตากร (บิลลี่) ฯลฯ มีเพลงที่ได้รับความนิยมอย่าง “ลมหวน” และ “เพลิน” จากภาพยนตร์เรื่อง “แม่สื่อสาว”
ในปี พ.ศ. 2482 มีการจัดตั้งกรมโฆษณาการโดยมีวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดีคนแรก และมีการตั้งวงดนตรีของกรมโฆษณาการเพื่อบรรเลงเพลงส่งไปกระจายตามสถานีวิทยุและตามสถานที่ต่าง ๆ โดยมี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เวส สุนทรจามร เป็นผู้ช่วย นักร้องรุ่นแรก ๆ ที่สำคัญ เช่น มัณฑนา โมรากุล ล้วน ควันธรรม รุจี อุทัยกร สุปาณี พุกสมบุญ เลิศ ประสมทรัพย์ ชวลี ช่วงวิทย์ วินัย จุลละบุษปะ สุภาพ รัศมีทัต เพ็ญศรี พุ่มชูศรีจันทนา โอบายวาทย์ จุรี โอศิริ วรนุช อารีย์ ศรีสุดา รัชตะวรรณ สมศักดิ์ เทพานนท์ เป็นต้น โดยมีนักแต่งเพลงประจำวงที่สำคัญ คือเอื้อ สุนทรสนาน เวส สุนทรจามร ล้วน ควันธรรม สริ ยงยุทธ และ แก้ว อัจฉริยะกุล ร่วมกันแต่งเพลงออกมาจำนวนหนึ่งด้วยในปี พ.ศ. 2482 เช่นกัน และต่อมาได้ตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ขึ้น ลักษณะของวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นแบบตะวันตกโดยใช้เครื่องเป่าเป็นหลัก เช่น ทรัมเปต คาริเนต และมีเครื่องสายผสม เช่น ไวโอลิน เป็นวงแบบ Big Band กำเนิดวงดนตรี สุนทราภรณ์นี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงไทยสากลในยุคปัจจุบัน[10]
จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ขาดแคลนฟิล์มและสิ่งบันเทิง แต่ละครเวทีเป็นที่นิยมขึ้น ละครเกิดขึ้นอย่างมากมายที่สำคัญ เช่น คณะอัศวิน ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล คณะนาฎยากร ของ สด กูรมะโรหิต คณะศิวรมณ์ ของขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร คณะวิจิตร เกษม ของบัณฑูรย์ องค์วิศิษย์ เป็นต้น ซึ่งคณะละครได้แต่งเพลงไทยสากล เพื่อใช้ประกอบการแสดงละครและเพลงร้องสลับการแสดงขณะเปลี่ยนฉากไว้เป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2498 ประเทศไทยมีโทรทัศน์ใช้ครั้งแรก ในช่วงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการเพลงไทยสากล มีรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับเพลง นักร้องผันตัวไปแสดงละครโทรทัศน์ โดยในช่วงนี้มีนักร้องโด่งดังหลายท่สน เช่น รวงทอง ทองลั่นธม ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ มาริษา อมาตยกุล บุษยา รังสี อ้อย อัจฉรา อารีย์ นักดนตรี นงลักษณ์ โรจนพรรณ
ในปี พ.ศ. 2507 เพลงไทยสากลได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เพลงลูกกรุง และเพลงไทยลูกทุ่ง และในระยะเวลาไล่เลี่ยกันกระแสเพลงร็อกแอนด์โรลของทางฝั่งตะวันตกอย่างวง เดอะ บีทเทิลส์ ได้รับความนิยมอย่างมาก ในส่วนของประเทศไทยได้มีการประกวดเพลงไทยสากลแนวใหม่ชิงถ้วยพระราชทานนั่นคือ เพลงสตริงคอมโบ (ใช้เครื่องเป่าผสมกีตาร์เป็นหลัก) วงชนะเลิศคือวง ดิอิมพอสซิเบิ้ล ซึ่งเป็นวงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
ต่อมาในยุคที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเมือง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพลงไทยมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง สังคม และคนยากไร้ ใช้ดนตรีเรียบง่ายอย่างกีตาร์โปร่ง ที่รู้จักกันว่า "เพลงเพื่อชีวิต" มีวงที่มีชื่อเสียงอย่างวงคาราวาน ภายหลังปี 2521 เพลงแบบสตริงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เกิดวงดนตรีใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น แกรนด์เอกซ์ คีรีบูน บรั่นดี อัสนี-วสันต์ และ ฯลฯ และเพลงสตริงก็ยังเป็นที่นิยมในตลาดจนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันมีแนวเพลงเพิ่มขึ้นหลากหลายมากขึ้น กลุ่มผู้ฟังได้แยกแตกกระจายเป็นกลุ่มๆ ตามความชอบของผู้ฟัง โดยในแต่ละกลุ่มก็มีการมอบรางวัลให้นักร้อง นักแต่งเพลง สำหรับแนวเพลงที่เกิดมาในยุคหลังก็เช่น แร็ป ฮิปฮอป เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ พูนพิศ อมาตยกุล, ดนตรีวิจักษ์, กรุงเทพมหานคร : บริษัทรักลิปจำกัด, 2529
- ↑ จำนง รังสิกุล, สนทนาพาที, กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา, 2517
- ↑ พูนพิศ อมาตยกุล, ทูลกระหม่อมบริพัฒน์กับการ ดนตรี, กรุงเทพมหานคร : ธันวาพาณิชย์, 2514
- ↑ พระเจนดุริยางค์. ชีวประวัติของข้าพเจ้า, พระนคร : บางกอกซีเทรตาเรียลออฟฟิศ, 2512
- ↑ ทวีสิทธิ์ ไกรวิจิตร, ดนตรีสากลในประเทศไทยในสังคีตนิยม, กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, 2522
- ↑ "เปิดตำนานดาวตลกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-09-02.
- ↑ วราวุธ สุมาวงศ์, วิวัฒนาการของเพลงไทยสากลจากละครและภาพยนตร์, กรุงเทพมหานคร, ศักดิ์โสรักการพิมพ์, 2526
- ↑ สมาคมนักแต่งเพลง กฎหมายลิขสิทธิ์ ในเบื้องหลังเพลงดัง, กรุงเทพมหานคร : บริษัทสยามออฟเซท จำกัด, 2526
- ↑ ขุนวิจิตรมาตรา. ยุคเพลงหนังและละครในอดีต, กรุงเทพมหานคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2518
- ↑ กานท์ นิรนาม, พัฒนาการเพลงจากเพลงไทยถึงเพลงลูกทุ่ง, วิวัฒน์ 68 ( 15 – 21 ธันวาคม 2527) : 42 - 48