เวส สุนทรจามร หรือ ครูเวส นักประพันธ์เพลงที่มีผลงานแต่งทำนองให้กับวงสุนทราภรณ์ ร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูสุรัฐ พุกกะเวส เป็นจำนวนมาก เป็นครูเพลงที่มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงในวงการหลายคน เช่น วินัย จุลละบุษปะ, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ประพนธ์ สุนทรจามร, ธนิต ผลประเสริฐ เป็นต้น

เวส สุนทรจามร
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด5 เมษายน พ.ศ. 2442
จังหวัดราชบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต28 มีนาคม พ.ศ. 2526 (84 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสรัตติยา สุนทรจามร
สนธิ สุนทรจามร
บุตร4 คน
อาชีพนักแต่งเพลง นักดนตรี
ปีที่แสดงพ.ศ. 2481 - 2526

ประวัติ แก้

เวส สุนทรจามร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2442 ที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มารดาชื่อ นางทองคำ สุนทรจามร บิดาเป็นทหาร ย้ายตามบิดาเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ เรียนหนังสือที่วัดอนงคาราม พ.ศ. 2457 ขณะอายุได้ 15 ปี ก็สมัครเป็นทหารอยู่ที่ กรมทหารราบที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณกระทรวงกลาโหม และได้ฝึกหัดแตรวงอยู่กับครูฝึกชื่อ สิบตรีอั้น ดีวิมล และครูอั้นได้พาออกไปรับงานนอก เป่าแตรเพลงโฆษณารถแห่หนัง เป่าแตรหน้าโรงหนังก่อนหนังฉาย และเป่าเพลงเชิด เพลงโอด ประกอบภาพยนตร์

ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการยุบ ย้ายหน่วยทหาร จึงลาออกไปสมัครเป็นทหารในกองแตรวงทหารมหาดเล็ก จนกระทั่งถูกยุบวงเมื่อ พ.ศ. 2475 จึงไปเป็นนักดนตรีของวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ ภายใต้การดูแลของพระเจนดุริยางค์ และเล่นดนตรีแนวแจ๊สกับ เรนัลโด ซีเกร่า บิดาของแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ในเวลาเดียวกันก็ตั้งคณะละครวิทยุ ชื่อ คณะสุนทรจามร ประพันธ์เพลงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล บันทึกเสียงวางจำหน่าย

พ.ศ. 2481 หลวงสุขุมนัยประดิษฐก่อตั้ง บริษัทไทยฟิล์มร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และนายพจน์ สารสิน จัดตั้งวงดนตรีประจำบริษัทเพื่ออัดเพลงประกอบภาพยนตร์ จึงมาชวนไปอยู่ด้วย โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง และมีโอกาสได้อัดเพลงยอดฮิตหลายเพลง เช่น เพลงบัวขาว, ลมหวน ของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์

เมื่อบริษัท ไทยฟิล์มเลิกกิจการ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ จึงชวนให้ไปอยู่ที่วงดนตรีลีลาศกรมโฆษณาการที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นผู้ช่วยหัวหน้าวง โดยหัวหน้าวงคือครูเอื้อ สุนทรสนาน ในเวลาต่อมา จึงเปลี่ยนเป็นวงสุนทราภรณ์

ครูเวส เกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2506 และลาออกจากวงสุนทราภรณ์ไปทำงานกับบริษัท ส่งเสียงตามสาย ในระหว่างนี้ได้แต่งเพลงร่วมกับ แก้ว อัจฉริยะกุล, สุรัฐ พุกกะเวส ให้กับห้างแผ่นเสียงและประกอบภาพยนตร์

ในโอกาสที่วงสุนทราภรณ์มีอายุครบ 25 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีรับสั่งถามถึงครูเวส สุนทรจามร และทรงแนะนำให้เล่นดนตรีต่อ ครูเวสจึงได้กลับมาร่วมงานกับสุนทราภรณ์อีกครั้ง และเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จนอายุได้ 75 ปี จึงยุติบทบาทด้านการเล่นดนตรีลง แต่ยังคงแต่งเพลงเรื่อยมา โดยเพลงสุดท้ายที่แต่ง คือ เพลงความหวังแห่งโดม[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อ พ.ศ. 2526 กลุ่มลูกศิษย์ลูกหาของครูเวส ร่วมกันจัดงานฉลองวันเกิดครบ 7 รอบ 84 ปี ให้ในวันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่ครูเวสก็เสียชีวิตเสียก่อน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2526 ก่อนหน้าวันงานเพียงไม่กี่วัน หลังจากป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเรื้อรังมานานหลายปี

ผลงานประพันธ์ แก้

ผลงานเพลงของครูเวสที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ เพลง บุพเพสันนิวาส, พรหมลิขิต, ริมฝั่งน้ำ, กำพร้าคู่, ดอกฟ้าร่วง, สนต้องลม, กลิ่นดอกไม้, น้ำตาลใกล้มด, รักใครกันแน่, ชรอยบุญ, หนูเอย, รักอะไร, กังหันสวาท, ผู้ชายนี่น้า, ดอกไม้ใกล้มือ, สายลมครวญ, หงส์เหิร, ปรึกษารัก, ทาสน้ำเงิน, เงาอโศก, คู่เสน่หา, นางในฝัน, เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอื่น แก้