หลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ์ สุขุม)
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ[1] นามเดิม ประดิษฐ์ สุขุม (1 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) เป็นเลขาธิการคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ เป็นผู้ก่อตั้ง การกีฬาแห่งประเทศไทย และการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ซึ่งปัจจุบันคือกีฬาซีเกมส์ นอกจากนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ | |
---|---|
เกิด | 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 จังหวัดสงขลา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 (63 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | อาจารย์ นักวิจัย |
คู่สมรส | ประจวบ สุขุมนัยประดิษฐ |
บุตร | 2 คน |
ประวัติ
แก้หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ที่จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 7 ของมหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม "ณ ป้อมเพชร") ชื่อเดิมของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ คือ “ประดิษฐ์” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ประทานให้ โดยตั้งให้คล้องกับพระนามเดิมของพระองค์ คือ “ดิศวรกุมาร” สมรสกับนางประจวบ สุขุมนัยประดิษฐ มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน[2]
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ สำเร็จการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ขณะอายุได้ 23 ปี ในการทำงานราชการ หลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นผู้วางรากฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ก.พ. คนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 และได้ดำรงตำแหน่งนี้อย่างยาวนาน จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2507 รวมเป็นระยะเวลาถึงกว่า 35 ปี
หลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานเสรีไทย อยู่ในสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยดูแลเกี่ยวกับด้านการโฆษณาและการกระจายเสียงทางวิทยุ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการเมื่อปี พ.ศ. 2488
หลวงสุขุมนัยประดิษฐถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 สิริอายุได้ 63 ปี[3]
- หลวงสุขุมนัยประดิษฐ มีพี่น้องร่วมมารดาดังนี้
- พระยาสุขุมนัยวินิต ( สวาสดิ์ สุขุม )
- คุณไสว สุขุม
- คุณแปลก สุขุม
- หลวงพิสิษฐ์สุขุมการ ( ประพาส สุขุม )
- พระพิศาลสุขุมวิท ( ประสบ สุขุม )
- นายประสาท สุขุม
- หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์
- นายประวัติ สุขุม
- คุณเล็ก สุขุม
- คุณหญิงประจวบ รามราฆพ(2453-2540:87 ปี) ภริยา เจ้าพระยารามราฆพ
- นอกจากนี้ยังมีพี่น้องต่างมารดาดังนี้
- หม่อมประยูร โสณกุล ณ อยุธยา ใน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
- คุณประยงค์ สุขุม
- คุณประนอม ณ นคร
- พลตำรวจตรีนิตย์ สุขุม
- คุณปอง นิติพน
- คุณประณีต ณ นคร
ท่านได้ทำการสมรสครั้งแรกกับคุณล้วน ( รัตนา ) สุขุม และต่อมากับคุณเพิ่มศิริ มีบุตร-ธิดา ดังรายนามต่อไปนี้
- นางสุมน กรรณสูต
- นางประจง สารกิจปรีชา
- นายประเดิม สุขุม
- นางประพาฬ รัตนกนก
- นางสาวสำเนา สุขุม
- นางสินี ช่วงสุวนิช
- นางประดิษฐา พรรธนะแพทย์
- นางสาวประดับ สุขุม
- นางปราณี การ์เนียร์
- นางสาวปาริชาติ สุขุม
- นางนฤพร เกรซ
- นางกิตติมา สังข์เกษม
การศึกษา
แก้หลวงสุขุมนัยประดิษฐเข้าศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 4 ขณะอายุได้ 13 ปี จึงไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเดินทางด้วยเรือชื่อ “กัวลา” พร้อมกับพี่ชายซึ่งต่อมาคือพระพิศาลสุขุมวิท ในครั้งนั้นมีผู้ร่วมเดินทางเที่ยวเดียวกันที่สำคัญคือ น.ส.สังวาลย์ ตะละภัฏ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกันเนอรี (Gunnery School) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงของรัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา และได้เป็นนักกีฬาตัวแทนโรงเรียนหลายประเภทจนถึงนายกสภานักเรียน และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าใหญ่ของโรงเรียน หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบอสตันจนสำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ
- สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธ)
- สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกันเนอรี (Gunnery School) รัฐคอนเนคติกัต ประเทศสหรัฐอเมริกา
- สำเร็จการศึกษาสูงสุด สาขา Business Administration จาก มหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
การทำงาน
แก้- เลขานุการสภาการฝิ่น
- เลขานุการส่วนพระองค์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ (15 ธันวาคม พ.ศ. 2468 - 27 เมษายน พ.ศ. 2474)
- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คนแรก
- อธิบดีกรมโฆษณาการ
- รองประธานการกีฬาแห่งชาติ
- ผู้ก่อตั้งองค์การกีฬาแห่งประเทศไทย (อ.ส.ก.ท.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก
- ผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ซึ่งต่อมาคือกีฬาซีเกมส์
- ผู้ดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2509
ผลงานด้านการกีฬา
แก้หลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นอดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล และเบสบอลชั้นแนวหน้าของสถาบัน ตั้งแต่ยังศึกษาที่โรงเรียน Gunnery เคยได้รับเสื้อสามารถ และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งบริหารองค์กรกีฬา
เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมารับราชการที่ประเทศไทย หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการกีฬาสากลของประเทศไทย โดยเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง หรือเซียพเกมส์ (South East Asian Peninsula Games - SEAP Games) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อวันที่ 12–17 ธันวาคม พ.ศ. 2502 และมีการจัดการแข่งขันต่อมาจนกระทั่งเป็นกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน
หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมการโอลิมปิกสากล และต่อมาเป็นผู้ดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9–16 ธันวาคม พ.ศ. 2509
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (อ.ส.ก.ท.) ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2507 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก ซึ่งปัจจุบันคือการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
ผลงานด้านดนตรี
แก้หลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นประธานชมรมดนตรีแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสมาคม เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังมีผลงานประพันธ์ทำนองเพลงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง นำมาบรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ จำนวน 7 เพลง ได้แก่[4]
การดำรงตำแหน่งอื่นๆ
แก้- เป็นกัปตันทีมฟุตบอลโรงเรียน Gunnery ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างโรงเรียน
- เป็นกัปตันทีมบาสเก็ตบอลและเบสบอลของโรงเรียน Gunnery
- ได้รับโหวตจากนักศึกษาให้ดำรงตำแหน่งเกียรติยศของโรงเรียน Gunnery หลายตำแหน่ง คือ
- เป็น President student Council , President Senior Class
- เป็น Vice President ของ Athletic Association หรือ นายกองค์กรกีฬา
- เป็น Business Manager of Dramatic Association
- เป็น President of Daita Beta Society
- เป็น Assistant Business Manager of Stray Shot
- เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน
- ได้รับเลือกเป็น Editor-in-Chiet (บรรณาธิการ) ของหนังสือ Syllabus หนังสือพิมพ์ Year Book ของมหาวิทยาลัยบอสตัน
- ประธานกรรมการสภาบริหารมูลนิธิการศึกษาฟุลไบร์ท
- ประธานกรรมการทุนการศึกษาเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ฯพณฯ จอห์น อี พิวรีฟอย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้หลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ์ สุขุม) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ท้ังไทยและต่างประเทศ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2503 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[5]
- พ.ศ. 2498 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[6]
- พ.ศ. 2502 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[7]
- พ.ศ. 2494 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[8]
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
- พ.ศ. 2500 – เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- สวีเดน :
- พ.ศ. 2489 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ดาวขั้วโลก ชั้นที่ 2
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์, เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๑๑, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๐
- ↑ "บันทึกเรื่องของข้าพเจ้าโดยย่อ งานพระราชทางเพลิงศพหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม) ม.ป.ช.,ม.ว.ม.,ท.จ. ณเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2510". 29 June 1967. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 28 June 2022.
- ↑ ซุปเปอร์แมน..จากแดนสยาม โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก มติชนออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2561
- ↑ "ตอนที่ 82 ประวัติและผลงานหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ์ สุขุม)". 19 November 2021. สืบค้นเมื่อ 28 June 2022.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๑๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๕ ง หน้า ๓๐๔๒, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๕๓ ง หน้า ๑๔๐๑, ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๗๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗๐, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๔