เอื้อ สุนทรสนาน
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
เอื้อ สุนทรสนาน (21 มกราคม พ.ศ. 2453 – 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นนักร้องและนักประพันธ์เพลงชาวไทย เคยเป็นหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ และผู้ก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[1]
เอื้อ สุนทรสนาน | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | ละออ สุนทรสนาน |
เกิด | 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 1 เมษายน พ.ศ. 2524 (71 ปี) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | อาภรณ์ สุนทรสนาน |
บุตร | อติพร สุนทรสนาน |
อาชีพ | นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2482 – 2523 (41 ปี) |
ใน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้รับการยกย่องในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ใน พ.ศ. 2552[2]
ประวัติ
แก้เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่ หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล "สุนทรสนาน" จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลำดับที่ 1978 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2457, นางเอื้อน แสงอนันต์, นายเอื้อ สุนทรสนาน
เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ใน พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า) และวิชาดนตรีทุกประเภท (ภาคบ่าย) ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์
หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่ามีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา
ชีวิตการทำงาน
แก้สองปีต่อมา เมื่ออายุได้เพียง 12 ขวบ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท เมื่อ พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ใน พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ สองปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป
ใน พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากรในสังกัดกองมหรสพ และใน พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน สองปีต่อมา
นอกจากรับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของ แม่เลื่อน ไวณุนาวิน และได้แต่งทำนองเพลง ยอดตองต้องลม ขึ้น นับเป็น เพลงแรกที่แต่งทำนอง (เฉลิม บุณยเกียรติ ใส่คำร้อง) ในปีเดียวกันนั้นได้ขับร้องเพลง นาฏนารี (คู่กับ นางสาววาสนา) กับวงนารถ ถาวรบุตร ซึ่งถือว่าเป็น เพลงแรกที่ได้ขับร้องบันทึกเสียง
จนอายุได้ 26 ปี ใน พ.ศ. 2479 มีโอกาสเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม "ถ่านไฟเก่า" สร้างโดยบริษัทไทยฟิล์ม (ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค) และยังได้ร้องเพลง ในฝัน แทนเสียงร้องของพระเอก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย
จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง แต่ต้องสลายตัวเมื่อไทยฟิล์มเลิกกิจการไปหลังจากนั้นเพียงปีเศษ
กรมโฆษณาการ
แก้ปีต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ นายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดี นายวิลาศ เห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร อันเป็นที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 (ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล)
ครอบครัว
แก้สมรสกับอาภรณ์ กรรณสูต ธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง สุนทรบุรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีบุตร 1 คน คือ นางอติพร เสนะวงศ์ (สมรสกับ พล.ต.ท. สันติ เสนะวงศ์) และมีบุตรชายอีกหนึ่งคนอันเกิดกับโฉมฉาย อรุณฉาน ชื่อว่า สุรินทร สุนทรสนาน
ตำแหน่งการงาน
แก้เมื่อคราวนำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน ใน พ.ศ. 2482 สุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในฐานะผู้จัด เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะหากนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกันว่าควรใช้ชื่อวงเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
ใน พ.ศ. 2495 ได้เป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศจนกระทั่งเกษียณใน พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานอย่างถาวรใน พ.ศ. 2516 ในปีนี้ ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสมัชชาแห่งชาติ (เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516)
ถึงแม้ไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงการราชการเท่าที่ควร แต่สิ่งสูงสุดคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กล่าวคือการได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
ในชีวิตการเป็นนักดนตรี ครูเอื้อได้ฝึกหัดลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ มัณฑนา โมรากุล,ล้วน ควันธรรม, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, วินัย จุลละบุษปะ, ศรีสุดา รัชตะวรรณ, จุรี โอศิริ, รวงทอง ทองลั่นธม, วรนุช อารีย์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, บุษยา รังสี, มาริษา อมาตยกุล, นพดฬ ชาวไร่เงิน, ศรวณี โพธิเทศ, ดาวใจ ไพจิตร และโฉมฉาย อรุณฉาน เป็นต้น
ถึงแก่กรรม
แก้ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนักและอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ครูเอื้อเริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะ ๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 ครูเอื้อเริ่มมีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ในช่วง พ.ศ. 2523 ครูเอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมนักดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย คือเพลง พรานทะเล
ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สุขภาพของครูเอื้อทรุดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ครูเอื้อก็ได้ถึงแก่กรรม สิริอายุ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบทองทราย และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุด้านทิศใต้ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2525
เกียรติยศ
แก้- โล่เกียรติยศพระราชทานในฐานะศิลปินตัวอย่าง (ผู้ประพันธ์เพลง) ในงานรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 ประจำ พ.ศ. 2523 – 2524 โดยมีนางอติพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน
- ใน พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเป็น "บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง" โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า "บูรพศิลปิน"
ภาพยนตร์
แก้- แต่งทำนองเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่น ศาสนารัก, ปรัชญาขี้เมา ใน "ศาสนารักนางโจร" (2493), ลอยเรือ ใน “สุภาพบุรุษเสือไทย” (2493), ชายชาติเสือ ใน "เสือดำ" กับ ลูกน้ำเค็ม ใน "สาวน้ำเค็ม" (2494), กลิ่นร่ำ ใน "นเรศวรมหาราช" (2500) ฯลฯ
- ปรากฏตัวพิเศษครั้งเดียวในชีวิตและร่วมขับร้องเพลง ร่มเกล้า ใน "เงิน เงิน เงิน" ของ บริษัทละโว้ภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2508
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2518 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[3]
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[4]
- พ.ศ. 2491 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)[5]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[6]
- พ.ศ. 2499 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[7]
- พ.ศ. 2497 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 5 (ภ.ป.ร.5)[8]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
ดูเพิ่ม
แก้- วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (วงดนตรีกรมโฆษณาการ)
- วงดนตรีสุนทราภรณ์
อ้างอิง
แก้- ↑ น้อยทิพย์ เฉลิมแสนยากร (มกราคม–เมษายน 2021). "ทิศทางสำหรับการขยายเครือข่ายดนตรี เพื่อสนับสนุน และพัฒนาดนตรีศึกษาในประเทศไทย" (PDF). วารสารวิพิธพัฒนศิลป์. โครงการบัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์. 1 (Inaugural Issue): 46. eISSN 2730-3640.
- ↑ "ยูเนสโก ยกย่อง "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์–ครูเอื้อ" เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 23 ตุลาคม 2009.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๒ ตอนที่ ๙๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔, ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๖, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๗๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘, ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-07-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๙๕๑, ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๓๒, ๒๓ มกราคม ๒๕๐๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๕๑ ง หน้า ๑๘๔๘, ๑๗ สิงหาคม ๒๔๙๗